ย้อนวันวาน สู่ ยุคสุนทราภรณ์

0

สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัย คิดร้อนใจไปเปล่า

เกิดมาเป็นคน อดทนเถอะเรา อย่ามัวซมเซา ทุกคนเราทนมัน

ได้ยินเสียงเพลงจังหวะคึกคักแบบนี้ คงจะนึกถึงศิลปิน ผู้หนึ่งในเมืองไทย ที่เอ่ยชื่อไปใครๆ ก็รู้จักกันในนามของ วง สุนทราภรณ์ หรือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน  บรมครูแห่งวงสุนทราภรณ์ ได้มีโอกาสผ่านไปมาแถวโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์  ก็คงได้ยลห้องแถวไม้สีน้ำตาลส้ม ส่องแสงงามตา พร้อมเสียงเพลงสุนทราภรณ์ดังก้องในบริเวณนั้น บวกกับนักท่องเที่ยวที่พลุกพล่าน ทำให้ห้องแถวนั้นบริเวณนั้นดูคึกคัดไปถนัดตา

suntraporn

บ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งอยู่ริมคลองตลาดน้ำอัมพวา ใกล้กับโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ,, ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิสุนทราภรณ์ ก่อตั้งมาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยการนำอาคารไม้โบราณ ริมคลองอัมพวา อันเป็นถิ่นกำเนิดของครูเอื้อ สุนทรสนาน และสถานที่แห่งนี้ยังนับเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอัมพวา” ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ อีกด้วย

เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการประวัติผลงานของครูเอื้อ ศูนย์รวมข้อมูลสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจค้นคว้าเรื่องราวของเพลงสุนทราภรณ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เปิดให้แฟนเพลงเข้าไปนั่งฟังเพลง ค้นคว้า อ่านหนังสือ

นอกจากนี้ ภายในยังแสดงของใช้ส่วนตัวของครูเอื้อ และภาพเก่า ๆ ที่หาชมได้ยาก ทั้ง ข้าวของเครื่องใช้ของครูเอื้อ โต๊ะทำงาน และเรื่องราวของครูเอื้อทั้งหมด รวมถึงเรื่องราวต้นกำเนิดของวงสุนทราภรณ์ ภายในบ้านครูเอื้อ ยังจำหน่ายของที่ระลึก และผลงานเพลงของครูเอื้อ สุนทรสนาน ทั้งหนังสือ เสื้อ พวงกุญแจ ของที่ระลึก ,, หาซื้อได้ในบ้านครูเอื้อ ได้เลยค่ะ

ประวัติครูเอื้อ สุนทรสนาน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน (21 มกราคม พ.ศ. 2453 – 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลง อาทิ เพลงถวายพระพร เพลงวันลอยกระทง เพลงปลุกใจ เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด และผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

ครูเอื้อได้แต่งเพลงร่วมกับแก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงรำวงลอยกระทง เพลงรำวงเริงสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกเพลงไทยสากล ครูเอื้อเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกก็ได้ยกย่องครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

ชีวิตในวัยเด็ก ครูเอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ บ้านตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า “ละออ” ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น “บุญเอื้อ” และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “เอื้อ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

* หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน)

* นางปาน แสงอนันต์

* ครูเอื้อ สุนทรสนาน

ครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 พออ่านออกเขียนได้ บิดาจึงพาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท ครูเอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง ครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตรสุด อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีกอย่างหนึ่งด้วย และให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป

ชีวิตการทำงาน 2 ปีต่อมา ความสามารถของครูเอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น “เด็กชา” เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ “พันเด็กชาตรี” และ “พันเด็กชาโท” ในปีถัดไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ครูเอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา

นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ครูเอื้อ ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง “ยอดตองต้องลม” ขึ้น นับเป็นเพลงในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ ครูเอื้อให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง ครูเอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย

กรมโฆษณาการ ในปี พ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อว่า บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “ถ่านไฟเก่า” ครูเอื้อมีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง “ในฝัน” แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย

จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง เอื้อ สุนทรสนาน จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ “ไทยฟิล์ม” ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย

จากนั้นอีก 1 ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของครูเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของครูเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร

และนี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีครูเอื้อเป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8

ครอบครัว ครูเอื้อพบรักกับสุภาพสตรีเจ้าของนาม อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง กรรณสูด เมื่อปี พ.ศ. 2480 และได้เข้าสู่พิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตร-ธิดา ดังนี้

* นางอติพร สุนทรสนาน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ ร.ต.อ. สันติ เสนะวงศ์

ตำแหน่งการทำงาน ครูเอื้อได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็น ผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของ ราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับครูเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นครูเอื้อตกหลุมรักคุณอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์

ครูเอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ ครูเอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516

ถึงแม้ครูเอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่ครูเอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512

ปัจฉิมวัย ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติครูเอื้อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อระหว่างที่ป่วยอยู่นั้น ครูเอื้อได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมถึง 2 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ครูเอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ท่านก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523 – 2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี คุณอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทนถ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนคลองอัมพวา ก็ลองแวะไปฟังเพลงเบาๆ จังหวัดคึกคักๆ ที่บ้านครูเอื้อ…อัมพวา กันนะคะ เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 11.00-20.00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สำนักประชาสัมพันธ์มูลนิธิชัยพัฒนา

โทร. 0 2282 4425 ต่อ 116, 117, 0 2252 9881

และมูลนิธิสุนทราภรณ์  โทร. 0 2241 0974 แฟกซ์ 0 2241 3535,

www.websuntaraporn.com  

e-mail: soontaraporn@gmail.com

ขอบคุณภาพ Suntaraporn Foundation

เชิญแสดงความคิดเห็น