เรื่อง….. ผจญภัยแก่งโหดที่ลำน้ำเข็ก
เริ่มเข้าฤดูฝนกันแล้ว ด้วยสายฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องช่วยเติมระดับน้ำในแม่น้ำให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะในระดับน้ำที่เหมาะสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบการล่องแก่งผจญภัย ทุกๆ ปีข่าวสารการล่องแก่งจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักให้มาร่วมกิจกรรมที่กระตุ้นความตื่นเต้นมากขึ้น
แม่น้ำเข็ก จ.พิษณุโลก เป็นสายน้ำที่ไหลผ่านผืนป่าสมบูรณ์ มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ประกอบกับป่าต้นที่ยังสมบูรณ์ในป่าทุ่งแสลงหลวงจึงทำให้เป็นสายน้ำสายใหญ่จนกระทั่งไหลผ่านทางด้านเขาค้อ ออกสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) และไปบรรจบกับแม่น่านที่บางกระทุ่ม
ความโดดเด่นของแม่น้ำสายนี้ที่ไหลผ่านทางหลวงหมายเลข 12 ที่ปรากฏเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันน่าสนใจไม่ว่าจะเป็น น้ำตกแก่งโสภา อยู่ในช่วงกม.72, น้ำตกปอย ในช่วงกม.ที่ 60, น้ำตกแก่งซอง ในบริเวณกม.45 และยังมี น้ำตกสกุโณทยาน หรือ น้ำตกวังนกแอ่น ในบริเวณกม.ที่ 33 อีกแห่งหนึ่งด้วย
เริ่มต้นการบุกเบิกเส้นทางล่องแก่งสายนี้ ก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก หลายๆ คนมองเป็นเรื่องตลก บางคนไม่เชื่อ บางคนไม่เห็นด้วย จนกระทั่งผ่านความยากลำบากจนเข้าสู่ระบบเต็มที่แล้ว กิจกรรมการล่องแก่งน้ำเข็กได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งเดี๋ยวนี้มีผู้ประกอบการล่องแก่งหลายรายที่มีความเชี่ยวชาญกับสายน้ำเข็กโดยเฉพาะ
การล่องแก่งน้ำเข็กแต่ละครั้ง จะต้องมีการซักซ้อมการเตรียมตัว ล่องแก่งอย่างเคร่งครัด เพราะว่าสายน้ำแห่งนี้ประมาทไม่ได้เลย ชูชีพต้องสวมให้กระชับ ต้องมีสายรั้งขา หมวกกันน็อกต้องสวมกัน ทุกคน พร้อมกับฝึกวิธีการพายซ้าย พายขวา พายถอยหลัง ตามคำสั่งของกัปตันเพื่อให้การล่องแก่งดำเนินไปอย่างราบรื่น ฝ่าฟันแนวแก่งที่ดุดันออย่างแก่งซาง แก่งนางคอย แก่งยาว ที่นอกเหนือจากเป็นแก่งที่ลดระดับแล้ว ยังมีสายน้ำแบบ HYDRO ที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย
เริ่มจากท่าล่องแก่งด้านหลังโรงแรมทรัพย์ไพรวัลย์ สายน้ำที่ไหลนิ่งเฉื่อยกัปตันเรือจึงสั่งให้ลูกเรือพายซ้าย พายขวา พายทวน เพื่อฝึกซ้อมคำสั่งทำความเข้าใจให้ชัดเจน ก่อนที่จะเผชิญกับแก่งขนาดใหญ่ๆ ที่อยู่ข้างหน้า
“แก่งท่าข้าม” เป็นแก่งเล็กๆ พอที่ให้เราทุกคน ได้ฝึกซ้อมการพายไปในตัว ในความรู้สึกแรกที่อาจบอกว่ามันง่ายจริงๆ หรือออีกประหนึ่งให้เราคุ้นเคยกับสายน้ำและโขดแก่งในขั้นต้นก่อนที่จะไปเจอกับแก่งใหญ่ข้างหน้า
ต่อมาก็เป็น “แก่งไทร” เป็นแก่งขนาดใหญ่แก่งแรก ที่ทำให้เราต้องลุ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าเป็นแก่ง ที่มีความยากคาดว่าในระดับ 3-4
ทุกคนดูท่าทางตื่นๆ สักนิด เพราะรู้ว่าแก่งหน้านั้นไม่ธรรมดาเอาเสียเลย เมื่อเรือยางพุ่งเข้าตำแหน่ง ร่องน้ำได้อย่างสวยงาม
ดูเหมือนว่าความรู้สึกของแต่ละคน เริ่มมั่นใจมากขึ้น เพราะสามารถผ่านแก่งขนาดใหญ่ไปได้แล้ว และเริ่มคุ้นเคยกับสายน้ำมากขึ้น ผ่านพนาวัลย์รีสอร์ท จากนั้นแล้วเรือยางก็ล่องตามสายน้ำไปลงสู่ “แก่งมรดกป่า” เป็นง่ายๆที่สายน้ำผ่านร่มแมกไม้ปกคลุมลงมา ราวกับว่า เราล่องเรือผ่านแนวป่า
ต่อมากัปตันก็บอกล่วงหน้าว่าข้างหน้าคือ “แก่งปากยาง” แก่งนี้ก็ไม่ธรรมดานัก อยู่ในขั้นระดับ 2-3 แก่งปากยาง มีลักษณะเป็นแก่งยาวต่อเนื่องเป็นร้อยเมตร ทุกคนต้องออกแรงจ้วงพายกันสุดกำลังเพื่อนำเรือฝ่าฟันแนวคลื่นแก่งลงไปให้ได้ ต่อจากนั้นก็มาพบกับสายน้ำที่มีโขดแก่งขวางหน้าเป็นแนวยาว มีชื่อว่า “แก่งหินลาด” จะเป็นช่วงท้ายของแก่งปากยาง มีลักษณะคล้ายน้ำตกสูงราว 1 เมตร ช่วงน้ำเยอะๆ เรือจะกระแทกแก่งอย่างแรง ทำให้ท้ายเรือกระเด้งตามคลื่นที่ส่งขึ้น จนพวกเราบางคนต้องคอยจับเชือกที่เรือให้มั่นเหมาะ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสายน้ำเข็กจัดระดับความยากประมาณ 4-5 แต่ก็ไม่ควรประมาท แม้ว่าจะมีกัปตันฝีมือแข็งๆ แล้ว ก็มีการวางจุด Rescue ตามแก่งยากๆ ทุกแก่ง เพื่อไว้ช่วยกู้ภัย เวลาที่คนตกน้ำ เรือคว่ำ เพราะจะได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ได้อย่างทันที
ผ่านมาถึง “แก่งรัชมังคลา 1” จะเป็นลักษณะแก่งระดับ 3-4 จะมีสายน้ำแยกไปทางขวามือและคดเคี้ยวลัดเลาะตามโขดหินแมกไม้ และมาพบกับ “แก่งรัชมังคลา 2 ” เป็นแก่งที่คล้ายกับน้ำตกลดระดับลงมา ในบริเวณฝั่งด้านขวามือจะเป็นสวนมังคลาฯ เป็นสวนพักผ่อนริมลำน้ำเข็กที่มีชาวบ้านเข้ามาพักผ่อนในบรรยากาศสายน้ำ
แก่งซาง ส่งเสียงครางกระหึ่มอยู่ข้างหน้า เรามองเห็นโตรกผาสูงชันอยู่ทางด้านขวามือ เมื่อกัปตันให้ทุกคนคุม เรือชิดมาด้านซ้าย เพื่อบังคับเรือให้ลงแนวตรงๆ เพราะไม่ต้องการให้เรือหลุดเข้าทาง ด้านขวาที่อิงชิดกับหน้าผา เป็นจุดที่อันตรายมาก เมื่อเรือผ่านมาถึงหัวแก่ง กัปตันร้องสั่งให้ขวาพายหนักๆ จนเอาออกแรงจ้วงพายจนแขนล้า เรือไปทิศทางใดก็อยู่ที่คนคัดท้ายและคัดหัวเป็นสำคัญ ส่วนลูกเรือเป็นเพียงกำลังเสริมเร่งความเร็วของเรือให้เป็นไปในทิศทางที่กัปตันสั่ง
แก่งซาง เป็นแก่งขนาดใหญ่ ช่วงแรกจะเป็นช่องแคบที่โอบขนาบด้วยหน้าผาชัน จากนั้นสายน้ำก็แผ่กว้างขึ้น มีสายน้ำที่ดุเดือดดุดันมาก เห็นแล้วน่ากลัว และยังมีแก่งที่น่ากลัวอย่าง “แก่งโสภาราม” ที่อยู่ถัดลงมา เพราะว่าสายน้ำที่ประกอบด้วยโขดหินมากมาย เราต้องพายเรือเข้าร่องขวา อ้อมโขดหินมาด้านซ้าย เป็นลักษณะแก่งหักศอกเป็นตัว S และยังต้องหักขวาอีกครั้งก่อนที่จะลงสู่แนวแก่งที่เดือดพล่านอยู่ด้านล่าง
ระหว่างทางก่อนถึงแก่งใหญ่ก็มี “แก่งป่าสัก” เอาแค่ซ้อมเบาๆ เพื่อกระตุ้นหัวใจให้ฝ่อ ก่อนที่เราจะมาพบกับ “แก่งนางคอย” BIG RAPID ที่เลื่องลือของสายน้ำเข็ก หากเราพิจารณาลักษณะสภาพแก่งแห่งนี้แล้วก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากน้ำตกเลย มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีสายน้ำพุ่งตรงแนวกลางเป็นรูปตัววี ชาวเรือยางทุกคนย่อมรู้ดีว่า ตรงตำแหน่งนี้จะเป็นจุดที่ต้องหลีกเลี่ยง สายน้ำที่เกิดเป็น HYDRO หากนำเรือลงไปยังจุดกล่าวก็มีสิทธิ์คว่ำทั้งลำเรือถูกคลื่นสะบัดให้คนร่วงจากเรือได้ง่ายทีเดียว
เมื่อเรือยางกระโจนเข้าสู่แก่งคลื่นขนาดใหญ่ ในจังหวะนั้นเองเรารู้สึกว่าเรือยางได้ถูกกระชากลงอย่างแรงทำให้ทุกคนในเรือเสียหลักเซถลาไปข้างขวา และเรือเอียงวูบมาด้านขวา มือจับเชือกไว้แน่น คลื่นซัดตูมเข้ามาในเรือ จนเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
พอเรือยางเข้าหัวแก่งกัปตันตะโกนบอกให้ขวาพายหนักๆ จนเราแขนล้า ก็ยังพายลุยแก่งเข้าสู่ร่องน้ำด้านซ้าย ที่เห็นเกลียวคลื่นขนาดใหญ่พร้อมกับโขดหินใหญ่ตั้งขวางทางน้ำ แต่กัปตันเรือทั้งหัวท้ายสามารถคัดเรือเบี่ยงหลบไปหวุดหวิด สิ้นสุดแก่งยาวทุกคนก็หายใจอย่างโล่งอก เรารีบปล่อยพายให้เรือล่องไหลไปตามกระแสน้ำ ความอ่อนล้ายังจับที่กล้ามเนื้อแขนทั้งสอง และดูเหมือนว่าการผจญภัยกับแก่งขนาดใหญ่ระดับ 5 นั้นจะหมดไปแล้ว ต่อไปก็ยัง เหลือแก่งเด็กๆ อย่าง “แก่งวังน้ำเย็น” มีรีสอร์ทวังน้ำเย็น อยู่ทางด้านขวามือ ก่อนจะปิดท้ายด้วย “แก่งทับขุนไท”
ทุกคนก็มีเสียงหัวร่อกันสนุกสนานไปจนถึงปลายทางที่ “น้ำตกแก่งซอง” ปิดท้ายด่านที่ 18 ที่ไม่มีใครคนไหนกล้าเอาเรือลงไปที่น้ำตกขนาดใหญ่อย่างนี้ จบสิ้นที่น้ำตกแก่งซอง
การติดต่อล่องแก่ง
สามารถติดต่อล่องแก่งได้ที่ แค้มปิ้งไซด์เซ็นเตอร์ โทร. 081-318-9942
ฤดูกาลที่เหมาะสม
การล่องแก่งในแม่น้ำเข็ก สามารถล่องได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ต้นพฤศจิกายน แต่ต้องดูปริมาณน้ำที่เหมาะสมด้วย หรือติดต่อเช็กระดับน้ำจาก แค้มปิ้งไซด์ว่า ระดับอยู่ในเกณฑ์ที่จะล่องได้มากน้อยเพียงใด
ข้อแนะนำ
ในการล่องแก่งลำน้ำเข็ก แต่ละคนต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ ควรว่ายน้ำพอเป็นบ้าง พร้อมที่จะช่วยเหลือตนเองได้ ถ้าหากตกน้ำขึ้นมา และควรไม่ประมาทไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อฟังคำสั่งและกฎของการพายเรือจากกัปตันอย่างเคร่งครัด