สถานที่ท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถ้าใครผ่านมาเยือนหรือท่องเที่ยวที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะต้องมากราบนมัสการหลวงพ่อโต เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง ก็คือวัดป่าเลไลย์ ตามมาดูความวิจิตรงดงามภายในวัด และมากราบนมัสการหลวงพ่อโตกับดูเอเซียนะครับ
เข้ามาที่วัดป่าเลไลย์ก็ต้องแปลกใจเล็กน้อย เพราะตอนกลางคืนที่ดูเอเซียขับรถผ่านแถวหน้าวัดก็เหมือนมีงานวัด เพราะมีไฟประดับมากมาย มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันเต็มไปหมด ยังเสียดายที่ว่าไม่ได้ลงแวะเก็บภาพมาฝากดูเอเซีย แต่ตั้งใจแน่นอนว่าเช้าวันรุ่งขึ้นต้องมากราบนมัสการหลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลย์แห่งนี้แน่นอน แต่อย่างที่บอกนั่นแหละ พอเข้ามาที่วัดก็ต้องแปลกใจ เพราะยังคงมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกันอยู่เช่นเดิม เหมือนกับมีงานเทศกาลอะไรบางอย่าง ทนเก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ แอบถามแม่ค้าแถวนั้น ก็ได้ความว่าเป็นงานสมโภชหลวงพ่อโต ซึ่งทางวัดจะจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือในวันขึ้น 5 ค่ำ – ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 และวันขึ้น 5 ค่ำ – ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12ซึ่งถือเป็นงานสำคัญของทางวัดและจังหวัดสุพรรณบุรีเลยทีเดียวเดินเข้ามาภายในวิหารเพื่อเข้ามากราบนมัสการหลวงพ่อโตตามคำบอกเล่าของชาวสุพรรณบุรี พอเข้ามาถึงก็เห็นหลวงพ่อโตองค์ใหญ่มากประดิษฐานอยู่กลางวิหาร บริเวณหน้าองค์พระเต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามากราบนมัสการขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ยิ่งวันนี้มีงานสมโภชหลวงพ่อโตด้วย ก็ยิ่งทำให้มีคนมากราบนมัสการท่านเป็นจำนวนมาก ทำให้ดูเอเซียหามุมเก็บภาพมาฝากได้ค่อนข้างลำบาก เพราะจะไปตรงไหนก็มีแต่คนเต็มไปหมด แต่ก็พยายามหามุมถ่ายภาพมาให้จนได้ ก็ดูกันเลยแล้วกันนะครับ
วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมาย พระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบ สมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยที่ เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลัง พ.ศ. 1724 ที่วัดแห่งนี้ประชาชนนิยมมานมัสการ “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารสูงเด่น เห็นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิมีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระสูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า หลวงพ่อโตเดิมคงเป็นพระพุทธรูป ปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนพระพนัญเชิงในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน 36 องค์ หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
วัดป่าเลไลย์ตามในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนได้กล่าวไว้ว่า วัดป่าเลไลย์เป็นวัดที่ขุนแผนเมื่อครั้งยังเป็นเณรแก้วได้มาอาศัยบวชเรียนกับสมภารมี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ จนขุนแผนเทศน์ได้เก่งทั้งที่อายุยังน้อย เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ จะมีชาวบ้านมาทำบุญที่วัดป่าเลไลยก์มาก
นอกจากนี้ยังมีเรือนขุนช้าง ซึ่งทางวัดจัดสร้างไว้เป็นเรือนไทยหมู่ขนาดใหญ่ รอบ ๆ บริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้สวยงาม พื้นเรือนเป็นไม้สักขัดมันเงางาม มีหลายหลัง แต่ละหลังเชื่อมด้วยชาน ยกพื้นสูงมีบันไดขึ้นด้านหน้า ซึ่งเป็นมุขยื่นออกมาจากหอกลาง มีเรือนอีก ๓ หลังล้อมรอบหอกลางซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายในเรือนขุนช้างยังมีการจัดแสดงเครื่องทองเหลือง ชามสังคโลกที่หายากไว้ให้ผู้ที่มาเยือนได้ชมอีกด้วย
วัดป่าเลไลย์ยังได้ชื่อว่ามีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังนั้นจะอยู่บริเวณระเบียงคด หรือที่ดูเอเซียเข้าใจเอาเองว่าเป็นบริเวณกำแพงรั้วด้านนอกวิหาร เป็นเรื่องราวจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ซึ่งต้องบอกเลยครับว่าสวยงามมากรวมทั้งยังสามารถร้อยเรียงเรื่องราวในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนได้อย่างครบถถ้วน มีตั้งหลายตอนแน่ะครับ เช่น ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ขุนช้างตามนางวันทอง ขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นกบฏ ขุนแผนติดคุก กำเนิดพลายงาม ฯลฯ นี่แค่เล่าให้ฟังแค่ไม่กี่ภาพ ถ้าจะให้ซาบซึ้งจริงๆต้องมาดูเองกับตา รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆครับ
ขุนช้างขุนแผนก่อเกิดจากนิทานพื้นบ้านที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่อิงเหตุการณ์ และสถานที่สำคัญในยุคนั้นได้อย่างสนุกสนานชวนติดตาม มีการเล่าต่อกันมา แล้วนำเรื่องราวมาผูกเป็นกลอนเพื่อใช้ขับเสภา ภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ ๒ บทเสภาดั้งเดิมสูญหายไปมาก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการรวบรวมของเก่าและแต่งขึ้นใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ ร่วมกับกวีแห่งราชสำนักหลายคน รวมทั้งกวีเอกคือ สุนทรภู่ตัวเอกของเรื่องมี ๓ คน คือ ขุนช้าง ขุนแผน และนางพิมพิลาไลย ทั้ง ๓ คนเป็นเพื่อนเล่นที่เติบโตมาในละแวกเดียวกัน ขุนช้างเป็นลูกของขุนศรีวิชัย และนางเทพทอง อยู่บ้านรั้วใหญ่ นางพิมพิลาไลยหรือนางพิมเป็นลูกของพันศรโยธา และนางศรีประจันต์ อยู่บ้านท่าพี่เลี้ยง ส่วนขุนแผนเป็นลูกขุนไกรกับนางทองประศรี พื้นเพเป็นคนกาญจนบุรี แต่มารับราชการที่สุพรรณบุรี
เอาล่ะครับไหว้พระเป็นศิริมงคลกันแล้ว แถมยังได้ชมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามรวมถึงได้รู้จักบ้านขุนช้างอีกว่าเป็นอย่างไร มาวัดป่าเลไลย์ไม่เสียเที่ยวอิ่มบุญแล้วยังได้ความรู้กลับไปอีก ลองมาเที่ยวกันดูนะครับ
ขอบคุณภาพ www.suphan.biz