ดูเอเชียพาชมวัดพระธาตุจอมมอญ ที่มีปูชนียสถานเป็นเจดีย์เก่าแก่ ถือกันว่าเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้ว่าวัดพระธาตุจอมมอญ จะมีคำลงท้ายด้วยคำว่า “มอญ” แต่ ศิลปะที่ปรากฏภายในวัด กลับไม่ปรากฏศิลปะมอญเลย ส่วนใหญ่จะเป็นแบบจีนผสมล้านนาและพม่านิดหน่อย เพราะการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยพระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร ผู้เป็นกำลังอุปถัมภ์ในการหาทุนทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นญาติโยมคนไทย เชื้อสายจีน จึงทำให้สิ่งปลูกสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะจีน เช่น วิหารพระอวโลกิเตศวร พระสังกัจจายน์ ผสมด้วยศิลปะล้านนา เช่น พระอุโบสถ หอพระไตรปิฎก ที่วัดนี้ในเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะมีงานฉลองใหญ่ครับ
วิหารพระอวโลกิเตศวร
พระแม่กวนอิม
ประวัติวัดพระธาตุจอมมอญ
วัดพระธาตุจอมมอญ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่หลักฐานค้นพบที่ กู่คำ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ราชวงศ์มังราย โดยให้อุปราช เจ้าแสนคำ เป็นผู้สร้าง ประมาณ พ.ศ. 1935 อัฐิ เจ้าแสนคำ ได้บรรจุไว้ที่กู่คำ หรือกู่แสนคำ ตั้งอยู่บริเวณ อุโบสถในปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2143 ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กอบกู้บ้านเมืองได้เกลี้ยกล่อมชาวไทย ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ละว้า จากพม่าเป็นสมัครพรรคพวกให้มาขึ้นกับไทย ประกอบกับกษัตริย์มอญได้หนีข้าศึกทางพม่านุ่งห่มขาวลี้ภัยพร้อมด้วยบริวาร มาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ จึงได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญ กาลล่วงไปพระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่ซากปรักหักพังเป็นหลุม คล้ายปลักควาย ลุถึง พ.ศ. 2453 โดยการนำของตระกูลกะเหรี่ยง “พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล” สร้างครอบองค์เก่า ต่อมา พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้สร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้น เดิมบรรจุพระบรมธาตุพระหนุ (ส่วน คาง) และพระอูรุงคธาตุ มีการบรรจุพระธาตุเพิ่มโดยคุณรัตนาภร จงจิตรนันท์ ผู้อันเชิญพระธาตุแก้วเสด็จมาที่ห้องพระแล้วนำมาถวาย บรรจุในเจดีย์นี้ด้วย 1,000 องค์
ขับรถขึ้นมาทางด้านหลังวัดสูงมากครับ
พระธาตุจอมมอญ ที่สร้างครอบอันเดิมไว้
วิวมองลงมาจากพระธาตุเจดีย์
ฝูงแพะของชาวบ้าน
ก่อน การบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระธาตุจอมมอญจัดเป็นวัดร้างอยู่ในเขตป่ารกชัฏ มีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เมื่อชาวบ้านพะมอลอได้อารธนาพระภิกษุมาจำพรรษาจากวัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่พระสุพรหมยานเถร (พรหมา พฺรหฺมจกฺโก) พระภิกษุที่มาจำพรรษาในครั้งนั้นมีด้วยกัน 2 รูป คือ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร และ พระอาจารย์พิมล ชาตวีโร จากนั้นก็มีหลวงพ่อตาคำ สํวโร จากวัดน้ำจำ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มาสมทบ พระภิกษุทั้ง 3 รูปนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุจอมมอญ
การร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทางฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระ ธาตุจอมมอญ ทำให้เสนาสนะ ถาวรวัตถุ มีอยู่อย่างสัปปายะ พระอาจารย์สวัสดิ์ นริสฺสโร จึงได้ทำเรื่องไปยังกรมการศาสนาเพื่อยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย และกรมการศาสนาเห็นชอบได้ประกาศให้วัดพระธาตุจอมมอญขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 แต่งตั้งให้พระอธิการสวัสดิ์ นริสฺสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 1 ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2543 พร้อมกันนั้นทางวัดพระธาตุจอมมอญยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานการศึกษา ในปีเดียวกัน คือ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
พระแก้ว ในศาลาตงพิพัฒน์ประชาอุทิศ
ชาวอำเภอแม่สะเรียง เรียกขานชื่อวัดพระธาตุจอมมอญ ว่า วัดจอมมอญ และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพะมอลอ ตามชื่อหมู่บ้าน หลักฐานอะไรที่ทำให้เรียกชื่อวัดว่า วัดจอมมอญ เหตุเพราะศิลปะภายในวัดแทบจะไม่มีร่องรอยของศิลปะมอญอยู่เลย และ บริเวณวัดก็เป็นชุมชนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จึงอนุมานว่า สมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กอบกู้บ้านเมืองได้เกลี้ยกล่อมชาวไทย ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ละว้า จากพม่าเป็นสมัครพรรคพวกให้มาขึ้นกับไทย ประกอบกับกษัตริย์มอญได้หนีข้าศึกทางพม่านุ่งห่มขาวลี้ภัยพร้อมด้วยบริวาร มาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ จึงได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมมอญ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึง กาลต่อมาวัดจอมมอญถูกทิ้งให้ร้างเป็นป่ารกชัฏ จนมาถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งทางวัดจึงมีการทำเรื่องถึงกรมการศาสนา ยกวัดร้างขึ้นทะเบียนเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมีการเปลี่ยนชื่อวัด โดยการเพิ่มคำว่า “พระธาตุ” จาก วัดจอมมอญ เป็น “วัดพระธาตุจอมมอญ” (หลักฐานการเปลี่ยนชื่อวัด)
ลานหน้าวัด