ดูเอเซียพาเที่ยววัดสำประซิววัดชื่อดังอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี วัดสำประซิวเป็นวัดเก่าแก่และยังเป็นที่ฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ มีรูปโดราเอม่อนแฝงอยู่เนื่องจากว่าจิตกรต้องการสื่อให้เห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นก้าวทันโลกทันยุคทันสมัยอยู่เสมอไว้ว่าจะยุคสมัยใดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังดันต่อโลกที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นการทำให้เด็กๆสนใจ เรียกว่าเป็นกุศโลบายให้ผู้คนมาเข้าวัด กันมากขึ้น
วัดสำปะซิว สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๕๗ ยุคสมัยประวัติศาสตร์ (อยุธยาตอนต้น) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช ๑๘๖๐ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๑ หมู่ ๓ ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่เศษ
ความเป็นมาของวัดสำปะซิว
ตามประวัติ ตำนานที่มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานต่อๆกันมาว่า เดิมสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ ที่กองทัพไทย ใน “ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ” ได้มาหยุดพักรบ เพื่อตรวจสอบบัญชีจำนวนทหารในกองทัพว่า มีจำนวนทหารที่สูญหายจากการทำศึกเท่าใด และมีจำนวนทหารเหลืออยู่เท่าใด ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ สางบัญชี “ จึงตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “ วัดสางบัญชี ” เนื่องจากสาเหตุอันใดไม่ทราบ ได้ทำให้การเรียกชื่อวัดแห่งนี้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จากชื่อว่า “ วัดสางบัญชี ” เป็น “ วัดสำปะซิว ” มาจนถึงทุกวันนี้
ตามประวัติของท่าน “สุนทรภู่” กวีเอกของไทยในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เดินทางไปเมืองสุพรรณบุรี เพื่อหาแร่ต่างๆ และยาอายุวัฒนะ ในขณะที่ตัวเองเป็นเพศบรรพชิต ได้เดินทางโดยทางชลมารค โดยใช้เรือแจวจากกรุงเทพมหานคร มาตามลำน้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๙ ได้เดินทางผ่านวัด หมู่บ้าน และสถานที่ต่างๆ ที่ได้ปลูกสร้างตามริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีเรื่อยไป ได้พบเห็นสถานที่แห่งหนตำบลใด ที่เป็นจุดเด่น ก็จะจดบันทึก ไว้ด้วยภาษาของนักกวี เป็นโคลงสี่สุภาพ “ โคลงนิราศเมืองสุพรรณ ” มีตอนหนึ่งประพันธ์ไว้ดังนี้
สำปะทิวงิ้วง้าวสะล้าง กร่างไกร
ถิ่นท่าป่ารำไร ไร่ฝ้าย
เจ็กอยู่หมู่ไทยมอญ ทำถั่วรั้วเอย
ปลูกผักฟักกล้วยกล้าย เกลื่อนทั่วทางขจร ( ๑๕๕ )
“สำปะทิว” ก็คือ “สำปะซิว” ในสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะการเรียกเพี้ยนมาจนเดี๋ยวนี้ ที่เชื่อเช่นนั้นเพราะ ท่านสุนทรภู่ ได้พรรณนาถึงวัดกับบ้าน และบางต่างๆ เรื่อยมาตามลำน้ำสุพรรณบุรีก่อนที่จะถึงบ้านสำปะซิว ได้กล่าวถึง โพคลาน (โพธิ์คลาน) ศรีษะเวียง (หัวเวียง)โพหลวง(พลูหลวง) ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้อยู่ใต้บ้านสำปะทิวและมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นช่วงๆ จึงไม่มีปัญหากับคำว่า “สำปะทิว“ก็คื “สำปะซิว“นั่นเอง
สถานที่ที่มีการขุดพบพระเครื่อง และพระบูชานั้น เป็นเขตติดต่อกับเขตวัดสำปะซิว ซึ่งบังเอิญมีผู้ขุดพบกรุพระเครื่องกรุนี้ขึ้น คนที่ขุดพบกรุพระนี้ชื่อ นายดี หรือ นายจิระ มาแสง ซึ่งที่ตั้งของกรุพระนี้อยู่ริมรั้วบ้านเหนือของวัดสำปะซิวเพียงไม่ถึงเส้น แต่มีพระกรุอีกจำนวนมาก ที่ขุดค้นพบในเขตวัด ส่วนทางทิศใต้ของเขตวัดนั้น ได้มีการขุดพบพระเครื่องสมัยลพบุรีนับสิบครั้ง เมื่อมีผู้ใดมาถามว่าพบกรุพระที่ไหน ผู้ตอบมักตอบว่า พบกรุพระที่ “ วัดสำปะซิว “ จึงมีการเรียกกันต่อไปว่า “พระวัดสำปะซิว” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ที่ถูกควรจะเรียกว่า “ ย่านสำปะซิว “ ถึงจะชัดเจนมากกว่า ส่วนพระพิมพ์นี้ ต่อมาได้พบที่ เจดีย์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
แต่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระครูสุวรรณคุณสาร (อดีตเจ้าอาวาส) ได้พบพระกรุขึ้นอีก ตรงบริเวณเจดีย์เก่า ที่มีตราครุฑประดิษฐานหน้าเจดีย์ (สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่กษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ทรงสร้างไว้) หน้าวิหารฐานสำเภา ที่สร้างสมัยอยุธยา ที่มีแห่งเดียวในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี คือ “พระนางพญา” พิมพ์คะแนน และ “พระสมเด็จ” พิมพ์คะแนน ที่มีความสวยงามอย่างยิ่งขององค์พระ และความสวยงามของเนื้อพระ โดยค้นพบเป็นจำนวนไม่มากนัก
แหล่งโบราณคดีวัดสำปะซิว
เป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาภาชนะดินเผา ( ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา )ซึ่งเตาเผาอิฐเป็นแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้นซึ่งสามารถเผาภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบและแบบไม่เคลือบได้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนทั้ง๒ฝั่งเพราะสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบต่างๆทางเรือนับว่าเป็นสินค้าส่งออกลักษณะของดินเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่ถูกการเคลื่อนย้ายพัดพามาจึงทำให้ดินมีคุณภาพดีเหมาะสำหรับในการทำภาชนะดินเผาเคยขุดค้นพบเศษเครื่องสังคโลกและเครื่องถ้วยจีนซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างในการผลิตประเภทถ้วยชามส่วนหม้อไหมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอง
ใครเอ่ย…..
หลักฐานจากการสำรวจได้พบ
๑. เตาอิฐเป็นแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น เป็นเตาที่พัฒนามาจากเตาดินขุด ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แบบเป็น ๓ ส่วน คือ
๑) ห้องบรรจุเชื้อเพลิง ๒) ห้องบรรจุภาชนะ ๓ ) ปล่องไฟ
๒. เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เป็นภาชนะประเภทหม้อปากผาย มีลวดลายเป็นลายขุด
๓. เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูง มีทั้งชนิดเคลือบสีน้ำตาล และชนิดไม่เคลือบสี ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาไห ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายจุด
๔. เครื่องถ้วยจีน เนื้อค่อนข้างละเอียด เขียนลายน้ำเงินใต้เคลือบสีขาว ลวดลายเป็นลักษณะภาชนะสมัยราชวงศ์เหม็ง ซึ่งเป็นภาชนะประเภทโถ กระปุก และชาม
๕. เครื่องสังคโลก พบน้อยกว่าเครื่องถ้วยจีน เคลือบสีเขียวทั้งด้านใน และด้านนอก เป็นภาชนะประเภทชาม
ขอคุณข้อมูลจาก http://www.suphan.net