ดูเอเซียเดินทางไปยังชุมชนของชาวไทลื้อ ที่จังหวัดสุดเขตแดนประเทศไทยอีกฝากฝั่งทางภาคเหนือ ชุมชนแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวมากมายมาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย เพราะคนที่นี่มีวิถีชีวิตที่สงบสุข แถมยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีความและเป็นเอกลักษณ์อย่างมากมาย วันนี้ดูเอเซียจะพาไปดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว และชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ที่จ.น่าน
วัดหนองบัวตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา ไปตามเส้นทางถนนสาย อ.เมืองน่าน-ท่าวังผา เลี้ยวซ้ายที่ กม.40 ก่อนถึงทางเข้าโรงพยาบาลท่าวังผาที่อยู่เยื้องไปข้างหน้าด้านขวามือ เข้าไปอีก ประมาณ 4กิโลเมตร ถึงวัดหนองบัวจะมีที่จอดรถอยู่ด้านหน้าวัด ซึ่งสามารถจุได้เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน แต่ช่วงหน้าหนาวดูเอเซียไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะพอรึป่าว เพราะช่วงหนาวๆนี่แหละ คนแห่ขึ้นเหนือกันเยอะ
เข้ามาภายในบริเวณวัดก็คงไม่แตกต่างจากวัดทั่วๆไปที่มีความสงบและร่มรื่น เพียงแต่ว่าวัดหนองบัวและวัดในระแวกนี้ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตามแบบของสถาปัตยกรรมของไทลื้อ ก็แน่ล่ะสิครับ..ที่นี่เป็นชุมชนไทลื้อนี่นา จากคำสันนิษฐานวัดไทลื้อแห่งนี้สร้างราวพ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และที่ทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมอย่างมากมายก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ ได้เล่าเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และยังมีภาพของเรือกลไฟ และดาบปลายปืนซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5
หลายๆรูปที่ผู้วาดได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลหรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม ภาพวาดที่นี่นับได้ว่ามีคุณค่าทางศิลปะ และความสมบูรณ์ของภาพของวัดหนองบัวยังใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน และยังมีการสันิษฐานถึงการวาดภาพนี้ด้วยว่า เป็นการวาดก่อนการวาดที่วัดภูมิทร์ หรือเป็นภาพวาดที่มีอายุมากกว่าภาพวาดภายในวัดภูมินทร์เสียด้วย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดนี้ มีการสันนิษฐานว่าวาดโดย “ทิดบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ (เจ้าเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ. 2395-2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง นอกจากนั้นยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนจนเสร็จ นอกจากภาพจิตรกรรมแล้วภายในยังมีที่ฐานพระประธานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปล้านนาองค์เล็กอยู่หลายองค์ และยังมีบุษบกสมัยล้านนาอยู่ด้วย
หลังจากเยี่ยมชมภายในวิหาร หลายๆคนคงจะเตรียมตัวกลับ แต่ดูเอเซียอยากให้ลองไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่อยู่ภายในบริเวณวัด โดยจะอยู่บริเวณด้านหลังพระวิหาร ทางวัดได้จัดให้มีการสร้างบ้านของชาวไทลื้อไว้ให้เยี่ยมชมกัน
โดยด้านบนจะจัดแสดงความเป็นอยู่ต่างๆทั้งด้านในห้องนอน และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวไทลื้อ ด้านบนนี้ยังได้จำหน่ายผ้าทอไทลือ และของที่ระลึกอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนด้านล่างใต้ถุนบ้านจะเป็นการทอผ้า กลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านหนองบัวได้ทอผ้ากันที่นี่และขายในราคาผืนละ 350บาท ถัดออกไปข้างๆจะมีกลุ่มที่ทำอาหารขาย ดูเอเซียได้แวะชิม “แอ๊บบอน” หรือ “ห่อหมกใบบอน” (ห่อหมกในลักษณะห่อแบนๆ ในทางภาคเหนือเค้าเรียกว่า แอ๊บ) ป้าๆยายๆที่นี่น่ารักมากครับ ให้ชิมทุกอย่างเลย ทั้งแอ๊บบอน ทั้งข้าวต้มมัด แถมยังหาน้ำหาท่าให้เสร็จสรรพ (พอดีมื้อเที่ยงด้วย..เลยไม่ต้องหาทานอีกแล้ว)
พูดถึง แอ๊บบอน ก็แปลกดีครับ ไม่เคยทานมาก่อน เค้าเอาใบบอนมาตำรวมกับเครื่องปรุงต่างๆ รสชาติออกจะเผ็ดนิดหน่อย ตอนยังไม่ปิ้งจะมีกลิ่นเขียวๆบ้างนิดหน่อย แต่พอปิ้งสุกแล้วกลิ่นหอมหวลชนกินมากเลยครับ คงเป็นเพราะกลิ่นของใบตองด้วยล่ะครับ ส่วนข้าวต้มมัดป้าเค้าก็แกะมาให้ชิม เรียกว่าชิมจนจุกอ่ะครับ.. อร่อยดีครับข้าวต้มมัด อ่อ..ข้าวต้มมี 2ใส้ คือใส้ถั่ว กะใส้กล้วย ราคาขายข้าตัมก็ 3ชิ้น 5บาท ราคา แอ๊บบอน ก็อันละ 10บาท ป้าเค้าไม่ยอมเก็บตังค์ค่าข้าวต้ม ดูเอเซียต้องขอขอบคุณผ่านหน้าเว็บอีกครั้งล่ะกันนะครับ ว่างๆผมจะกลับไปเยี่ยมอีก ล่ะก็ แอ๊บบอน ที่ซื้อมาด้วย ผมให้หลายๆคนทานแล้ว ทุกคนบอกว่า “รำแต้ๆเน้อ”
ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ
การอพยพ
เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า “ลือแจง” ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ.1579-1583(พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อมาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองเจ้าไต)
ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง
ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตรวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน
ขอบคุณภาพ oknation.nationtv.tv