วัดเขานางบวช (วัดเขาขึ้น) สุพรรณบุรี

0

ได้ไปเยี่ยมเยือน จังหวัดสุพรรณบุรี ถิ่นคนสำเนียงเหน่ออันเป็นเอกลักษณ์ หลายครั้งหลายหน .. ทั้งงานประเพณี กิจกรรม สงกรานต์ ฯลฯ เราก็ไปเก็บบรรยากาศมาให้ได้ชมกันบ้างแล้ว รอบนี้ จะพาไปกราบไหว้ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดสุพรรณบุรีอีกหนึ่งแห่ง ที่หากใครได้มาที่จังหวัดสุพรรณบุรี แล้ว .. ต้องมาแวะ กราบสักการะ พระอาจารย์ธรรมโชติ พระสงฆ์ผู้เป็นศูนย์รวมขวัญ และกำลังใจให้ประชาชน นักรบในสมัยสงคราม .. ถือว่า เป็นวัดที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีร่องรอยเกี่ยวกับเรื่องราวสงครามในสมัยก่อนให้เราได้เห็นกันอยู่ภายในวัน วัดเขานางบวช (วัดเขาขึ้น) สุพรรณบุรี

“วัดเขาขึ้น” หรือ “วัดเขานางบวช” อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 51 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 138-139 เมื่อเข้าไปถึงบริเวณวัดจะพบกับสระน้ำขนาดใหญ่ ที่มีจุดจำหน่ายอาหารปลา หารายได้ทำนุบำรุงวัด เลยจากศาลาพระอาจารย์ธรรมโชติจำลอง มีทางลาดยางขึ้นไปบนยอดเขานางบวช ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด หรือจะเดินขึ้นบันได เกือบ 300 ขั้น ไปจนถึงยอดเขาก็ได้

บริเวณวัดตั้งอยู่บนเขานางบวช มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และเป็นวัดสำคัญที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเรื่องราวราวเล่าขานที่น่าสนใจย้อนไปใน พ.ศ.2308 สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ในขณะที่พม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ ชาวบ้านบางระจันได้รวมตัวกันต่อสู้กับพม่า ที่บ้านบางระจัน เมืองสิงห์บุรี ซึ่งมีผู้นำสำคัญของชาวบ้านและปรากฏชื่อ 12 ท่าน คือ พระอาจารย์ธรรมโชติ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายทองแก้ว นายดอก นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายทองเหม็น ขุนสรรค์ และพันเรือง ชาวบ้านบางระจันได้ต่อสู้กับพม่า และสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ถึง 7 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8 ชาวบ้านบางระจันจึงพ่ายแพ้ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2309 รวมเวลาที่ไทยรบกับพม่าทั้งสิ้น 5 เดือน คือตั้งแต่เดือน 4 ปลายปีระกา พ.ศ.2308 ถึงเดือน 8 ปีจอ พ.ศ.2309

ตามประวัติกล่าวว่า พระอาจารย์ธรรมโชติ พระสงฆ์ผู้เป็นศูนย์รวมขวัญ และกำลังใจให้ชาวบ้านบางระจัน ในระหว่างทำสงครามกับพม่า เดิมท่านชื่อ “โชติ” ขณะบวชได้ฉายาทางพระว่า ธรรมโชติรังสี บวชครั้งแรกที่ “วัดยาง” บ้านแสวงหา จังหวัดอ่างทอง แต่จำพรรษา ณ วัดเขาขึ้น อยู่ที่เขานางบวช สุพรรณบุรี ท่านมีความรู้ด้านวิชากสิณ ด้านวิชาอาคม ต่อมาชาวบ้านบางระจันได้อาราธณาไปพำนักอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น จังหวัดสิงห์บุรี ด้วยเหตุที่พระอาจารย์ธรรมโชติมีวิทยาอาคมสูง จึงได้ลงอาคมกับ ผ้าประเจียด (ผ้าลงเลขยันต์ และอักขระ ถือกันว่าเป็นเครื่องรางคุ้มกันตัว ใช้ผูกต้นแขนหรือคล้องคอ นิยมทำจาผ้าดิบสีแดง ตัดเป็นผืนสามเหลี่ยม อักขระเลขยันต์ที่เขียนลงบนผืนผ้า และกำหนดว่ามีอาถรรพ์ อำนาจทางไสยศาสตร์นั้นเป็นวิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด กำบังตัว คุ้มกำลัง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างรวมกัน) ตะกรุดพิสมร (เครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง) แจกจ่ายให้กับนักรบค่ายบางระจัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในหนังสือไทยรบพม่าว่า พระอาจารย์ธรรมโชตินั้นได้หายสาบสูญไป หรือจะมรณภาพในเวลาเสียค่ายพม่า หรือหนีรอดไปได้หาปรากฏไม่ แต่ความเชื่อของชาวจังหวัดสุพรรณบุรีว่า น่าจะมามรณภาพที่วัดเขานางบวชนี้

เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดเขานางบวชนั้น มีตำนานเล่าว่า ราวปี 1826 มีหญิงชื่อชบา เป็นสนมแห่งพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงออกบวชละทางโลกเข้าจำพรรษารักษาศีลอยู่ในถ้ำบนยอดเขาแห่งนี้ คนทั้งหลายจึงเรียกเขาแห่งนี้ว่า “เขานางบวช” (ถ้ำอยู่ด้านหลังศาลา) ปัจจุบันปากถ้ำทรุดไม่สามารถเข้าไปได้ เล่ากันว่าภายใจถ้ำมีข้าวของ เครื่องประดับจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นของพวกที่ติดตามนางสนมชบา แต่ของเหล่านั้นได้สูญหายไปเมื่อ พ.ศ.2402 และวัดแห่งนี้เคยกลายเป็นวัดร้างในบางปีด้วย เครื่องประดับชิ้นสุดท้ายที่พบบริเวณปากถ้ำ เมื่อ พ.ศ.2539 เป็นกำไลหยกหัวพญานาค แต่ผู้พบมิได้ถวายเป็นสมบัติวัด

ภายในบริเวณวัดเขานางบวชมีสถานที่สำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้เยี่ยมชม และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังนี้ คือ อุโบสถพระอาจารย์ธรรมโชติ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์ เปลี่ยนหลังคาจากมุงแฝก เป็นมุงกระเบื้อง ภายในมีเสาขนาดใหญ่ ข้างละ 4 เสา ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย รวม 13 องค์ ล้วนแต่ถูกคนร้ายตัดเศียรไปหมดแล้ว ได้บูรณะสร้างเศียรขึ้นมาใหม่โบสถ์หลังนี้ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แปลกกว่าโบสถ์ทั่วไป คือมีประตู่เข้าออกเพียงประตูเดียว และไม่มีหน้าต่างเลยแม้แต่บานเดียว สมัยโบราณเรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุตม์” ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นเสมาธรรมจักร หินสีเขียวขนาดใหญ่ 5 แผ่น สูง 37 นิ้ว กว้าง 22 นิ้ว ไม่มีลวดลายใด ๆ ทั้งสิ้น ถัดจากเสมาธรรมจักรมีหินวางเป็นแนวสันนิษฐานว่าเป็นแนวกำแพง แต่เดิมนี้ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อแก่นจันทร์ พระพุทธรูปไม้ที่สร้างขึ้นในสมัยพระอาจารย์ธรรมโชติ แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการสร้างมณฑปขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระอาจารย์ธรรมโชติ จึงได้ย้ายหลวงพ่อแก่นจันทร์เข้าไปประดิษฐาน ณ มณฑปใหม่ด้วย

วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ ภายในเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท มีหลุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนได้โยนเหรียญลงไปทำบุญ ในวิหารด้านหลังมีร่องรอยการเจาะผนังวิหารทะลุไปยังองค์เจดีย์ที่ก่อด้วยแผ่นหินบาง ๆ วางซ้อนเป็นรูปเจดีย์ขนาดไม่สูงมาก เจดีย์สร้างติดกับผนังวิหาร ก่อนที่ค่ายบางระจันแตก ชาวบ้านนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติให้หนีไป แต่ท่านไม่หนีจนในที่สุด หัวหน้าชาวบ้านบางระจันบอกว่า มีอาจารย์คนเดียวเป็นพระ จะได้กลับมาทำศพพวกเรา ท่านถึงยอดออกจากหลังค่ายหนีไป หลังจากนั้น 3 วัน ค่ายบางระจันก็แตก พระอาจารย์ธรรมโชติ ก็นำคนมาช่วยเก็บศพทำบุญให้ หลายคนเข้าใจว่า ท่านใช้วิชากสิณชั้นสูง กลับไปวัดเขานางบวชแล้วหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใต้วิหาร เป็นอุโมงค์ที่กว้างพอจะเข้าไปอยู่ได้สัก 5 -6 คน เรื่องเหล่านี้อาจารย์ธรรมโชติท่านบันทึกไว้ทั้งหมด เพราะท่านเป็นพระที่รู้หนังสือ

ศาลาหลวงปู่ธรรมโชติ เป็นทีประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางห้ามสมุทร (เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าเสมอพระอุระ (อก) เป็นกริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น อายุประมาณ 600 700 ปี และรูปหล่อพระอาจารย์ธรรมโชติ ใกล้ ๆ กับศาลานั้นมีตนโพธิ์ที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น ณ วัดเขานางบวช เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2451 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า “เขานางบวชนี้ เป็นที่ราษฎรนับถือมาก มีกำหนดขึ้นไหว้พระกันในกลางเดือน 4 มาแต่หัวเมืองอื่น ๆ ก็มาก ใช้เดินทางบกทั้งนี้น คราวนี้ย่อมทำให้รู้ว่า หลังสงครามไทยพม่าสงบลงแล้ว พระอาจารย์ธรรมโชติน่าจะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่เขานางบวชอีกจริง จนกระทั่งมรณภาพ เพราะเกียรติคุณของท่าน ประชาชนจึงศรัทธาเรื่อยมา หาไม่เช่นนั้นประชาชนจะศรัทธาด้วยอะไร ถ้าไม่มีใครคนหนึ่งคนใดเป็นหลักให้เขานับถือ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า พระอาจารย์ธรรมโชติกลับมาวัดเขานางบวชจริง”

และพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลมในมุทราแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอัน เป็นเอกลักษณ์ของวัด และมีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีพุทธศาสนิกชนมากราบไหว้ และขอพรอยู่เสมอ ตามคำบอกเล่า หลังจากที่ได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จแล้ว ทางวัดได้นิมนต์เกจิอาจารย์ มาร่วมพิธีปลุกเสกด้วย

การเดินทางไปวัดเขานางบวช

จากตัวเมืองสุพรรณบุรี ประมาณ 51 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 138-139 หากกลัวหลง ก็ดาวโหลด NOSTRA MAP เนวิเกเตอร์นำทางอัจฉริยะ ที่มีติดตัวแล้วไม่ต้องกลัวหลง

เชิญแสดงความคิดเห็น