ทริปนี้ดูเอเซียดอทคอมขอพาเพื่อน ๆ ไปเข้าวัดเข้าวากันซะหน่อย ไม่ได้ไปทำบุญอย่างเดียวน่ะ ถ้าไปกับหมุหินของเรา รับรองว่าต้องไม่ธรรมดาแน่นอน ทริปนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปศึกษาประวัติศาสตร์จากภาพเขียนจิตกรรมฝาผนังและศึกษาโบราณสถานต่าง ๆ ของ วัดมอญ หรือ “วัดไทรอารีรักษ์” เป็นวัดมอญที่อยู่ใต้สุดของ วัดมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง นับจากเขตบ้านโป่งลงมา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฟากตะวันออก อยู่ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม ทางทิศเหนือ ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมี ใบเสมาคู่ปรากฏอยู่ที่โบสถ์ ทำให้สันนิษฐานกันว่า อาจจะมีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่โบสถ์นี้ได้มาสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5
วัดไทรอารีรักษ์ เป็นวัดมอญ วัดเดียวของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ที่มีทั้ง โบสถ์ และวิหาร โดยตัวโบสถ์สร้างขึ้นในปีเดียวกับการเขียนภาพจิตกรรมฝาผนังที่งสี่ด้านภายใน คือราวปี พ.ศ.2450 ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมแบบประเพณี แต่แสดงภาพแนวตะวันตก อาทิ เครื่องแต่งกายของผู้คน อาคารสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ความโดดเด่นอยู่ที่ ด้านบนจะเป็นภาพเขียนอดีตพระพุทธเจ้า ต่ำลงมาเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนแห่พระบรมศพโดยมีหีบศพแบบมอญ ที่เรียกว่า “ลุ้ง” ตั้งอยู่ในราชรถ
ด้านหน้าโบสถ์ มีรูป 12 นักสัตว์ ครบทุกนักสัตว์ แต่ที่แปลกคือ หาปีกุน-หมู ไม่เจอเพราะช่างได้เขียนเป็นรูปช้าง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า คนเขียนอาจจะเป็นช่างจากภาคเหนือ เพราะทางเหนือ ปีกุน คือ ช้าง รอบโปสถ์ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ในกำแพงแก้วทรงเป็นแบบพื้นบ้าน ส่วนนอกกำแพงแก้วนั้น มีเจดีย์ใส่กระดูก มีทั้งทรงระฆัง และทรงอื่น ๆ ยังมีที่ดูคล้าย ธาตุลาว ด้วยคงจะเป็นที่บรรจุอัฐิของชาวลาวที่อยู่ในชุมชนมอญนี้มาแต่เดิม
หอระฆัง เดิมเป็นเครื่องไม้ทั้งหมด แต่ด้วยเสาไม้ผุพัง จึงเปลี่ยนเป็นเสาคอนกรีตแทน แต่ยังงรูปทรงเพรียวดั้งเดิมไว้ได้ระดับหนึ่ง หลังคาเป็นแบบกรุงเทพ ที่น่าสนใจคือ มีงานไม้แกะสลักลายประดับเป็นระบายที่ชายคา เรียกว่า ลายขนมปังผิง ฝ้าเพดาน จำหลักไม้ปิดทองสวยงามอย่างสุดวิเศษ
วิหาร มีนักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า รูปทรงของวิหารวัดไทรอารีรักษ์ มีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมเป็นแบบลาว ซึ่งอาจจะเป็นชาวลาวสร้างมาก่อนก็เป็นได้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวิหารนี้คงมีมาก่อนโบสถ์ และเกี่ยวเนื่องไปถึงพระประธานที่เป็นปางป่าเลยไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าแกนในคงสร้างด้วยศิลาแลง และเชื่อกันว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปองค์แรก ๆ ของโพธาราม อาจจะมีอายุย้อนหลังไปกว่า 200 ปี สิ่งโดดเด่นภายในวิหาร คือ “เก๋งจีนขนาดใหญ่” สร้างเป็น มณฑปครอบรอยพระพุทธบาทโลหะ ซึ่งมีรอยสนิม ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าพระพุทธบาทโลหะนี้น่าจะเคยอยู่กลางแจ้งมาก่อน
เก๋งจีน คือ สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่กินเนื้อที่ถึง 1 ใน 3 ของวิหาร สูงราว 5 เมตรครึ่ง มีรูปทรงแบบจีนแต่มีหลังคาลดชั้นที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะไทย มีภาพกิจกรรมเรื่อง “สามก๊ก” ประดับอยู่บนฝาผนังสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสมานฉันท์ กลมเกลียวของทุกชนชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตโพธาราม เพราะมีเก๋งจีนสร้างครอบรอยพระพุทธบาท อยู่ในวิหารทรงลาว สร้างในวัดมอญ
เห็นไหมครับว่า สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมในสมัยเก่าได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้เข้าใจในความหมายของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม ไม่ว่าภาษา การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีจะต่างกันแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ทริปนี้นอกจากได้บุญกับไปแล้วยัง ได้ความรู้ใหม่ ๆ ของการสร้างวัดในสมัยก่อน ถ้าเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองโพธาราม ก็อย่าลืมแวะเวียนมาทำบุญและชมความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังได้ที่ “วัดไทรอารีรักษ์” แห่งนี้