สืบเรื่องราวเมืองรถม้า ณ วัดไหล่หิน จ.ลำปาง

0

ทริปนี้ดูเอเซียจะพาเพื่อนๆ  เดินทางไปค้นหา แหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย นั่นก็คือ เมืองรถม้า จังหวัดลำปางจังหวัดลำปาง เมืองรถม้าพาหนะคู่เมือง ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง วัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่คงความบริสุทธิ์สวยงาม มีอุทยานแห่งชาติที่มีการจัดการที่ดี และควบคู่กันไปกับเมืองที่เคยเป็นแหล่งทำไม้ในอดีต ช้างที่เคยทำหน้าที่ลากซุงจึงเป็นสัตว์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง เครื่องปั้นดินเผาที่ทำจากดินขาวขึ้นชื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้นครลำปาง กลายเป็นจุดหมายที่นักเดินทางมักแวะมาเยี่ยมชมกันอย่างไม่ขาดสาย

แต่วันนี้ ดูเอเซียจะพาเพื่อน ๆเดินทางไปชมเรื่องราวประวัติศาตร์ อารยธรรมของเมืองลำปางกันที่  วัดไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง กันครับ

วัดเสลารัตนปัพพตาราม หรือ วัดไหล่หิน ตำบลไหล่หิน มีพระวิหารเก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุงเป็นศิลปะแบบล้านนาไทย ประดับลวดลายงดงามทั้งหลัง โดยเฉพาะส่วนหน้าบัน และซุ้มประตูที่มีการก่ออิฐถือปูนประดับรูปปั้นสัตว์ศิลปะล้านนาแท้ ภายในวิหารนอกจากจะมีพระประธานแล้วยังมี รูปปั้นพระมหาเกสระปัญโญภิกขุ ขนาดเท่าตัวจริงซึ่งปั้นด้วยฝีมือของท่านเอง พระเจดีย์ของวัดไหล่หินก่อสร้างแบบศิลปะล้านนาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คันทวยที่โรงธรรมเป็นแบบล้านนา คือเป็นรูปคล้ายแผ่นไม้สามเหลี่ยมขนาดใหญ่แล้วฉลุลายให้โปร่งลอยตัวเป็นรูปต่าง ๆ กันออกไป เช่น รูปนาค รูปหนุมาน รูปลายเครือเถา

ความสำคัญของวัดไหล่หินนอกเหนือจากเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางแล้วนั้น ยังเป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาศึกษาและคัดลอกกัน ปัจจุบันคัมภีร์ส่วนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายไป แต่ยังมีบางส่วนที่คงสภาพดีและได้เก็บรักษาไว้ในโรงธรรมของวัด คัมภีร์โบราณของวัดเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดไหล่หินในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพระธรรมในสมัยโบราณ พบว่ามีเอกสารโบราณที่มีอายุเก่ากว่า 700 ปีเศษ จารเป็นภาษาบาลี ตัวอักษรล้านนา ซึ่งจารไว้เมื่อปี จ.ศ.601 (พ.ศ. 1782 ชื่อคัมภีร์ “สกาวกณณี” มีทั้งสิ้น 7 ผูก จำนวน 364 หน้า)

ในวัดไหล่หินยังมีโบราณสำคัญต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิหารโถง โบสถ์ เจดีย์ ซุ้มประตูโขงและโรงธรรม ซึ่งนับเป็นโบราณสถานสำคัญทั้งในด้านความเก่าแก่และมีคุณค่าทางด้านศิลปะที่แสดงออกถึงความสามารถในเชิงช่าง การสร้างสรรค์ความงามในด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งตามคติความเชื่อและการใช้ประโยชน์ของชุมชน

โดยเฉพาะในส่วนของ ศูนย์นิทรรศกาล วิถีชีวิตคนไหล่หิน ที่เป็นเรือนไม้สองชั้น ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงธรรมที่ได้เก็บรวบรวมเอา วิถีชีวิตของคนไหล่หินมาจำลองให้ได้ชมกัน เพราะชุมชนหันมาให้ความสำคัญและเกิดความตระหนักในมรดกอันมีค่าของตัวเอง ซึ่งก็คือ วัดไหล่หิน พิพิธภัณฑ์ฯ ที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ รวมไปถึงวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับจารีตประเพณีอันดีงาม ซึ่งได้นำสิ่งของโบราณที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อาทิ หมวกจิกโบราณ พานไม้เก่าของใช้สำหรับศาสนกิจ ไม่ว่าจะเป็น ตุงกระด้าง อาสนะ และตาลปัตร เป็นต้น โดยนำมาเก็บรวมรวบไว้ที่วัดพร้อมกับจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น ณ วัดไหล่หิน วัดเก่าแก่ ของชุมชนที่มีศิลปะล้านนาที่งดงาม

นอกจากจะเป็นวัดที่เต็มไปด้วยคัมภีร์เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองลำปางแล้วยังเป็นแหล่งรวบรวมความเป็นวิถีชีวิตชาวล้านนาเอาไว้ให้ได้ศึกษากันอีกด้วย,, ใครที่ผ่านมา ลองแวะเข้ามาชมคัมภีร์ล้านนา ประวัติศาสตร์และอารยธรรมชาติไทย ทางภาคเหนือกันดู ที่วัดไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง

การเดินทางจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาเข้าทางเดียวกับวัดพระธาตุลำปางหลวง ๑ กิโลเมตร และแยกซ้ายอีก ๖ กิโลเมตร

ขอขอบคุณภาพถ่ายสวย ๆ (บางส่วน) จากพี่ใหญ่ พันทิพย์ เพื่อนร่วมทางของดูเอเซียในครั้งนี้ครับ

เชิญแสดงความคิดเห็น