ผมเชื่อว่า หลายๆคนคงเคยได้ยินประวัติ เรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาช้านาน เรื่องเกี่ยวกับ พันท้ายนรสิงห์ กันแล้วแน่ๆเลย แต่จะทราบกันไหมครับว่า พันท้ายนรสิงห์มีตัวตนอยู่จริงในสมัยก่อน ผู้คนรุ่นก่อนๆต่างก็ยืนยันตามหลักพงศาวดารว่ามีความจริงมากถึง 70% และมีศาลที่สร้างไว้ให้เป็นอนุสรณ์สถานแก่คนรุ่นหลังได้เคารพบูชา ศาลพันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ บ้าน พันท้ายนรสิงห์ ตำบล พันท้ายนรสิงห์ อำเภอ เมือง จังหวัด สมุทรสาคร ประวัติโดยสังเขปพันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัยยิ่งชีวิต กล่าวถึงเหตุการณ์สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่๘ ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ด ด้วยเรือพระที่นั่งเอกไชย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขามคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวังแต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี จึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมยืนยันขอให้ตัดศรีษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย เป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดินและเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป พระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังบังคมกราบทูลยืนยันขอให้ประหารตน แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๘ จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฎิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล แล้วทรงพระราชดำริว่าคลองโคกขามคดเคี้ยวนักไม่สะดวกต่อการเดินเรือ บางครั้งชาวเมืองต้องเดินเรืออ้อมเป็นที่ลำบากยิ่ง สมควรจะขุดลัดตัดตรง เมื่อขุดเสร็จจึงได้รับพระราชทานนามว่า “คลองสนามไชย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คลองมหาชัย”ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้
เมื่อเราเข้าไปในบริเวณศาลเราจะพบกับรูปปั้นไก่มากมาย เรียงรายนับพันๆตัว อันเนื้องมาจากศาลนี้เป็นที่พึ่งทางใจของคนทั่วไปที่นิยมกันมาขอพร บนบานศาลกล่าวขอให้ตนประสบผลสำเร็จ เมื่อขอไปแล้วสัมฤทธิ์ผล ช่วงแรกคนจึงนำนวมชกมวยและไม้พายเรือ มาแก้บน เนื่องจากตามประวัติท่านพันท้ายนรสิงห์ชอบชกมวยและตีไก่ ต่อมาช่วงหลังๆจึงมีคนนำรูปปั้นไก่แก้วมาแก้บน ซึ่งตั้งคู่อยู่ตรงทางขึ้นก่อนเข้าประตูศาล เมื่อคนเห็นว่าบนแล้วประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่นิยมบนกันในเวลาต่อมา ทำให้มีรูปปั้นไก่ให้เห็นอยู่เรียงรายรอบศาล
บริเวณด้านหลังของศาลจะเป็นคลองโคกขาม และจะพบกับหลักประหารจริงที่ครอบแก้วไว้จะเหลือเพียงเสาไม้ต้นเดียวตั้งอยู่ และบริเวณนั้นก็จะมีศาลเพียงตาที่มีหัวเราที่หักอยู่บนศาลนั้นเอง และใกล้ๆกันก็จะมีศาลแม่ศรีนวลภรรยารักที่สร้างไว้คู่กันนั่นเอง