มาถึงจังหวัดสุพรรณบุรีทั้งที ก็ต้องมาไหว้สักการะ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ประจำจังหวัดสุพรรณบุรีกันเสียหน่อย เพราะดูเอเซียเองเป็นคนที่เดินทางบ่อย เวลาเดินทางไปเก็บภาพที่ไหนๆ ผ่านจังหวัดไหน ถ้ามีโอกาสได้ไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดนั้นแล้วล่ะก็ จะรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองอย่างยิ่ง ทริปนี้มาจังหวัดสุพรรณบุรีก็เช่นเดียวกัน ตามดูเอเซียมาไหว้สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองของจังหวัดสุพรรณบุรีกันนะครับทีแรกดูเอเซียเองก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ของจังหวัดสุพรรณบุรีน่ะอยู่ตรงไหน รู้แค่เพียงว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจและน่าท่องเที่ยว และเป็นที่เคารพบูชาของชาวสุพรรณบุรีรวมไปถึงชาวจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย แต่พอขับรถไปเรื่อยๆตามถนนมาลัยแมน ตามอย่างที่สอบถามจากชาวบ้านแถวนั้น ก็หาไม่ยากเลยครับเพราะจะเห็นมังกรพันเสาสูงประมาณ 22 เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณปากทางเข้าศาลเจ้าพ่ออย่างสวยสดงดงาม
เลี้ยวเข้ามาตามทาง ถนนที่จะวิ่งเข้าสู่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็กว้างขวางและถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้สามารถเห็นความงดงามและยิ่งใหญ่อลังการของมังกรยักษ์ มังกรที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ในระยะไกลๆ แต่ก่อนที่เราจะไปทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างมังกรยักษ์นั้น ดูเอเซียคงต้องพามิตรสหายไปไหว้สักการะเจ้าพ่อหลักเมืองก่อนแล้วกัน
“เจ้าพ่อหลักเมือง” เป็นประติมากรรมสลักหินนูนต่ำ ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เป็นศาสนาที่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบต ญวณ และเขมรนับถืออยู่ แบบศิลปเขมรอายุราว พ.ศ.1185–1250 หรือประมาณ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรียกกันว่า พระนารายณ์สี่กร เป็นที่สักการะบูชาทั้งชาวไทยและชาวจีน ตามประวัติกล่าวว่า ประมาณ 150 ปีมาแล้วมีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินจมโคลนอยู่ริมคลองศาลเจ้าพ่อ จึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบนพร้อมกับสร้างศาลเป็นที่ประทับ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลักเมืองและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาข้างหน้าเป็นแบบเก๋งจีน หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพิ่มเติมในราว พ.ศ. 2480 และต่อมาภายหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมลง นายบรรหาร ศิลปอาชาพร้อมด้วยคณะกรรมการจึงได้ปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองให้กว้างขึ้น โดยให้นายช่างที่มีฝีมือสร้างอาคารแบบจีนคลุมองค์ศาลเก่า และยังได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองถวายเพิ่มอีก 7 ไร่ และในทุกๆปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของจีน จะมีพิธีงานประเพณี “ทิ้งกระจาด” (หรือ พิธีทิ้งทาน) จัดที่สมาคมจีน ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายใช้สอยและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มาแจกแก่ผู้ยากจน
นอกจากนั้นภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยังมี “อาคารทรงมังกร” ซึ่งเป็นอาคารที่มีมังกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ด้านบนตัวอาคาร เป็นอาคารที่ดูเอเซียได้พูดถึงไปแล้วตั้งแต่ข้างต้น ว่าตั้งแต่เลี้ยวรถเข้ามาก็เห็นความสง่างามและความอลังการของตัวมังกรที่ต้องบอกเลยว่า ใหญ่ ยักษ์มาก มีความยาวถึง 135 เมตร สูง 35 เมตร กว้าง 18 เมตร ซึ่ง ณ. วันที่ดูเอเซียไปเก็บภาพ เค้ายังไม่ได้เปิดให้เข้าชมในตัวอาคาร คาดว่าน่าจะเปิดให้เข้าชมเร็วๆนี้ แต่ได้ข้อมูลมาว่าจะจะจัดสร้างเป็น “พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร” ซึ่งภายในห้องจะจัดแสดงประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาวจีน ย้อนหลังไปถึง 5 พันปี จะอธิบายตั้งแต่ การกำเนิด แนวคิด และคติชีวิตของชาวจีน รวมไปถึงประวัติโดยย่อของราชวงศ์ต่างๆ ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล ตามความเชื่อของจีน เช่น ราชวงศ์ผานกู่ , หวงตี้ , เหยียนตี้ , เซี่ย , ชาง , โจว , จิ๋น , ฮั่น , สามก๊ก ,สุย , ถัง , ซ่ง , หยวน , หมิง และ ราชวงศ์ชิง นอกจากนั้นยังรวบรวมความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทย ที่ทั้งหมดจะดำเนินเรื่องผ่านการจำลองเหตุการณ์ พร้อมมีป้ายและคำบรรยายทั้งหมด 3 ภาษาด้วยกัน
ด้านในสุดของบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยังมีศาลากลางน้ำ 7 ชั้น ซึ่งตอนที่ดูเอเซียไปเก็บภาพก็ยังทำการบรูณะปรับปรุงกันอยู่ กำลังทาสีกันใหม่และเอาปลาคาร์พที่เลี้ยงอยู่บริเวณรอบๆขึ้นเพื่อทำการเปลี่ยนน้ำใหม่ แต่ก็ยังสามารถเข้าไปเก็บภาพภายในมาฝากมิตรสหายกันได้ ศาลากลางน้ำ 7 ชั้น สูง 27 เมตร กว้าง 14 เมตร ในแต่ละชั้นจะมีเซียนประจำอยู่ เช่น ฮก ลก ซิ่ว , เซียนในวรรณคดีไซอิ๋ว และอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย
นอกจากนั้นทางคณะกรรมการยังมีแผนปรับปรุงก่อสร้างเป็นสวนหลักเมือง ซึ่งจะเป็นสวนสุขภาพเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนแก่ประชาชน หรืออาจจะพูดได้ว่าในอีกไม่นานนี้ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถ้าเราได้ไปเยือนแล้ว จะสามารถให้เราได้ทั้งความรู้ ความบันเทิง และความผ่อนคลายอีกแห่งหนึ่งก็ว่าได้
“ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) บนถนนมาลัยแมน หรืออยู่ฝังตรงกันข้ามกับวัดป่าเลไลย์