หากพูดถึงเรื่องความผูกพันธ์อันลึกซึ้งของคนกับช้างแล้วคงต้องยกให้กับ แดนดินถิ่นอีสานใต้ที่เมืองสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมดี มากมีปราสาทหิน ผักกาดหวาน ข้าวสารหอมพร้อมวัฒนธรรม ทริปนี้เราพามาเที่ยวชมวิถีชีวิตของคนกับช้าง ที่หมู่บ้านช้าง ณ บ้านกระโพ-ตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งที่นี่ช้างไม่ได้เป็นแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ ช้างเปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งชีวิตของครอบครัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ของชาวส่วยโบราณหรือชาวกวย ที่ทุกบ้านต้องมีช้างเพื่อเป็นสิ่งมงคลให้กับบ้านเรือนของตนเอง และการเลี้ยงช้างให้อยู่กับบ้านนั้นเป็นสายสัมพันธ์ที่น่าทึ่งมาก ๆ จนกลายมาเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทุกครัวเรือนของหมู่บ้านแห่งนี้เลี้ยงช้างไว้แทบทุกหลัง ครับ เราเข้าไปหาช้างกันเลยที่ ศูนย์คชศึกษา แห่งบ้านตากลาง
ช้าง ๆๆๆ ๆ น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างนั้นเป็นสัตว์ประจำชาติของไทยเรานะครับ ซึ่งมีความผูกพันธุ์กับคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยอดีตช้างเป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกของกษัตริย์ ในการทำยุธหัตถีซึ่งเรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำในภาพวาดจิตรกรรมต่าง ๆ ดังนั้นช้างจึงเป็นสัตว์มงคลอีกชนิดหนึ่งที่เชื่อถือกันมาตั้งแต่โบราณ แม้ว่าปัจจุบันจำนวนช้างได้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีการอนุรักษ์ขยายจำนวนประชากรช้างให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ช้างไทยอยู่คู่กับเมืองไทยเราต่อไปครับ
หากเพื่อน ๆ เดินทางไปงานประเพณีในหลายจังหวัดก็จะมีการแห่ขบวนที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้ามาจังหวัดสุรินทร์ไม่ว่าจะเป็นงานบุญอะไรก็มักจะได้เห็นช้างเป็นอีกพาหนะสำคัญที่ต้องมีในขบวนแห่แทบทุกงาน ช้างที่จังหวัดสุรินทร์แห่งนี้จึงเป็นช้างเลี้ยงที่มีจำนวนมากในหลายพื้นที่แทบทุกอำเภอ โดยเฉพาะที่ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี และกิ่งอ.พนมดงรัก
บ้านตากลางหรือหมู่บ้านช้าง จังหวัดสุรินทร์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในด้านภาษาพูดและความเป็นอยู่รวมกันระหว่าง คนกับช้าง โดยคนในชุมชนจะยึดถือ ศาลปะกำ ช้างเป็นหลัก และยังเป็นชุมชนที่ยังหลงเหลือให้ดูเพียงหนึ่งเดียวในโลกคือ ชุมชนชาวกวยเลี้ยงช้าง คนและช้างเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวที่มีความผูกพันกันอย่างแนบสนิทตามฐานะอายุของช้างและคน ถ้าช้างมีอายุมากก็เปรียบช้างเสมือนพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย ถ้าช้างมีอายุน้อยก็เปรียบช้างเสมือนลูก-หลาน ตามธรรมเนียมชาวกวยช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่พระพุทธศาสนา มีคุณค่าต่อชาวโลกด้านวัฒนธรรมประเพณีมาทุกยุคทุกสมัย จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เช่น ประเพณีกราบไหว้ศาลปะกำประจำตระกูล วัฒนธรรมประเพณีลอดท้องช้าง วัฒนธรรมประเพณีบวชนาคแห่นาคด้วยช้าง วัฒนธรรมประเพณีการเคารพกฏ ระเบียบข้อปฏิบัติ ข้อห้ามของหมอช้างเป็นต้น กลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง
บ้านกะโพ –ตากลาง เป็นชุมชนชาวกวยขนาดใหญ่ที่มีเขตติดต่อกันหลายหมู่บ้าน บริเวณริมแม่น้ำมูลและลำน้ำชี หรือที่เรียกกันว่าชาวส่วยโบราณ(ภาษาส่วยไม่เหมือนภาษาเขมร) ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพหรือวิชาในการออกไปคล้องช้างป่า และนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือหนังประกำ ที่ใช้เป็นเชือกในการคล้องช้าง ใน อดีตชาวกวยจะออกไปจับช้างปีละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 2 – 3 เดือน การทำนาจะทำเป็นอาชีพรอง ซึ่งส่วนมากมักจะเดินทางไปจับช้างในดินแดนราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากปีพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา ประเทศกัมพูชาและลาวได้ปิดพรมแดนลง ชาวกวยที่มี่อาชีพหลักคือ การจับช้างป่า ไม่สามารถไปจับช้างป่าเหมือนในอดีตได้ ก็หันมาทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงช้างอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในหมู่บ้านแทบทุกหลังคาเรือนจะมีศาลประกำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน ศาลปะกำ ที่ชาวบ้านกราบไหว้บูชาเป็นวัตถุที่สมมุติใช้เรียกแทนบรรพบุรุษ ผู้ทรงคุณค่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสามารถทางคชศาสตร์ คชเวช คชลักษณ์ ในการปฏิบัติต่อกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความผูกพันกับช้างมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนิยมเลี้ยงช้างไว้แทบทุกครัวเรือนเปรียบเสมือนช้างเป็นหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิต ความเชื่อที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้การอยู่รวมกับของช้างกับคนของหมู่บ้านแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่น ๆ เพราะช้างคือหนึ่งชีวิตในครอบครัวที่ขาดไม่ได้ ทำให้คนกับช้างต้องอยู่คู่กันอย่างแยกไม่ออก
พิธีกรรมต่างๆในชุมชนคนเลี้ยงช้างของชาวกวยอาเจียง ทุกอย่างมักจะผูกพันเกี่ยวโยงถึงช้างหรือศาลปะกำเสมอ กล่าวได้ว่าช้างมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมจารีตประเพณีต่างๆ มาโดยตลอด ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีศูนย์คชศึกษา การอยู่ร่วมกันของช้างกับคนของที่นี่ก็เป็นไปแบบเรียบง่ายลักษณะแบบชาวบ้านโบราณ เมื่อถึงฤดูทำนาก็จะนำช้างออกไปเลี้ยงไว้ที่นาด้วย เย็นก็นำกลับมาผูกไว้ที่เสาบ้าน เมื่อเข้าหน้าแล้งการหาอาหารให้ช้างค่อนข้างลำบากเพราะอีสานเป็นเมืองแล้ง พืชพรรณต่าง ๆ ไม่ค่อยมี ชาวบ้านก็ขาดรายได้เมื่อทำนาเสร็จ ทำให้ต้องอพยพไปหาอาหารและหารรายได้ในถิ่นอื่น ทำให้ช้างในหมู่บ้านแห่งนี้เข้าไปหากินอยู่ในหลายจังหวัด จนมีการสร้างศูนย์คชศึกษาแห่งนี้ขึ้น ช้างที่รอนแรมในถิ่นอื่นก็หันกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด และได้เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเป็นจำนวนมาก นับเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอีกแห่งหนึ่ง
หนังปะกำ
หนังปะกำคืออะไร หลายท่านอาจไม่รู้จัก หนังปะกำคืออุปกรณ์สำคัญในการออกไปคล้องช้างป่า ทำมาจากหนังควายสดสามเส้น นำมาริ้วกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว มีความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไปแล้วฟั่นเป็นเกลียว นำไปตากให้แห้งสนิท จากนั้นนำหนังควายทั้งสามเส้นมาฟั่นเป็นเกลียวเข้าให้เป็นเส้นเดียวกัน ความยาวแล้วแต่จะกำหนดส่วนใหญ่ประมาณ 30-50 เมตร ปลายข้างหนึ่งทำเป็นห่วงเพื่อสอดผูกติดกับช้างต่อ ปลายอีกข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงบาศ เพื่อใช้คล้องเท้าช้างป่า และซึ่งมีความเชื่อกันว่าในสมัยก่อนได้มีการลงวิชาอาคมของหมอช้างในหนังปะกำด้วยและมีการบวงสรวงทุกครั้งก่อนออกคล้องช้างในป่า
การคล้องช้างป่านอกจากหนังปะกำแล้วก็ยังมีอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เช่นสายโยงเชือกที่ใช้ผูกช้างป่ากับช้างต่อหรือต้นไม้ , ซังหรือเสนงเกลอุปกรณ์ที่ใช่เป่าในการทำพิธีต่าง ๆ ,แผนกนำ ใช้ดึงส่วนท้ายของช้างต่อเวลาหมอช้างวิ่งขึ้นจะได้ไม่ตกและขึ้นได้ง่าย,ทาม คืออุปกรณ์ที่ใช้ผูกคอช้างป่าที่คล้องได้ทำจากหนังควายเช่นเดียวกับหนังปะกำ ทิงโทน คือโครงสามเหลี่ยมทำด้วยไม้ใส่บนหลังช้างแทนแหย่งในการขนสำภาระ และมีพิธีกรรมอีกหลายอย่าง กว่าจะออกป่าได้ต้องทำต้องดูให้ครบทุกขั้นตอนไม่งั้นก็ไม่สามารถออกได้ ชาวกวยหรือส่วยโบราณ เชื่อว่าหนังปะกำเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชนในอดีต ทำให้ชาวบ้านมีการนับถือหนังปะกำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าผีปะกำ เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาจันถึงปัจจุบัน
ภายในศูนย์คชศึกษาเป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลางและจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 100 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมาก ๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารักไม่ดุร้ายและสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน ภายในศูนย์ ดูเอเซีย.คอม คิดว่าเป็นความไม่ธรรมดา เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขแบบเหมือนพี่น้องเลยทีเดียวครับสุดยอดมาก ๆ เดินเข้าหมู่บ้านช้างทักทายกับช้างกันถึงเสาบ้าน ขึ้นนั่งคอช้าง จับงวง จับขา ลอดท้องช้าง ขี่ช้างเดินชมวิถีชีวิตแล้วพาช้างไปอาบน้ำที่วังทะลุคือจุดที่แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน บริเวณนี้เป็นจุดที่ช่วงเย็นควานช้างหรือเจ้าของช้างจะนำช้างมาลงอาบก่อนกลับเข้าไปในหมู่บ้าน สนุกสนานเพลิดเพลินอย่าบอกใครครับ คนที่ไม่เคยขึ้นนั่งคอหรืออยู่กับช้างแบบใกล้ชิดเข้ามาภายในศูนย์คชศึกษาแล้วรับรองว่า ได้สัมผัสกับช้างแบบตัวต่อตัวแน่นอนครับ
นอกจากที่เราจะได้ชมวิถีชีวิตของคนกับช้างแล้ว เรายังจะได้ชมการแสดงช้างที่ศูนย์คชศึกษาแห่งนี้อีกด้วย ซึ่งเราจะได้ชมความสามารถและความน่ารักของช้างแสนรู้ ซึ่งจะมีการแสดงในช่วงเวลา 10.00 น.และเวลา 14.00น.ของทุกวัน และภายในศูนย์คชศึกษายังมีสินค้าที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์จากช้าง มีสินค้าให้เลือกมากมายเหมาะเป็นของฝากให้คนทางบ้านครับ ภายในศูนย์มีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับช้างและวิถีชีวิตของหมู่บ้านช้างมีการจัดแสดงโครงกระดูกช้างของจริงและอุปกรณ์การคล้องช้างต่าง ๆ ของหมอช้างในอดีต เรียกว่าเข้ามาในศูนย์นี้แล้วได้รู้เรื่องช้างอย่างลึกซึ้งครับ เป็นการท่องเที่ยวแบบช้าง ๆ ที่สนุกสนานเสียจริง ๆครับ เพื่อน ๆ และคนที่นี่ใจดีเป็นกันเองกับทุกคนที่เข้าไปเที่ยวหมู่บ้านช้าง ชาวอีสานนี่น่ารักมาก ๆครับ
บนเส้นทางเที่ยวอีสานตอนล่างนอกจากมีหมู่บ้านช้างขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้วยังเป็นดินแดนแห่งปราสาทหิน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมโบราณหลายแห่งตั้งแต่ นครราชสีมาจนถึงจังหวัดสุรินทร์ อาทีเช่นปราสาทหินพิมายจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทหินอีกหลายแห่งในจังหวัดสุรินทร์เดินทางท่องเที่ยวกันได้ตลอดเส้นทางครับ
ศุนย์ศชศึกษาหรือหมู่บ้านช้างตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 044-514447 สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวไปได้เลยครับ
การเดินทางมายังหมู่บ้านช้าง
จากกรุงเทพใช้เส้นทาง กรุงเทพ- สระบุรี- นครราชสีมา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพแล้วแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข 206 เส้นทาง ไป อำเภอพิมายแยกซ้ายเข้าทางหมายเลข 2175 ไปชุมพวงผ่านอำเภอแคนดง-สตึก-ชุมพลบุรี จากชุมพลบุรีตรงไปยังอำเภอท่าตูมทางหมายเลข 2018 ประมาณ 12 กิโลเมตรจะมีทางเลี้ยวขวาลัดไปยังหมู่บ้านช้างบริเวณบ้านกระสังไปบ้านยางบภิรมย์แล้วตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านช้างหรือบ้านตากลาง เดินทางสะดวกเป็นทางลาดยางตลอดสาย มีป้ายบอกตลอดการเดินทางครับ
หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ถือว่าเป็นวิถีชีวิตช้างกับคนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เป็นชุมชนของช้างอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเราที่น่าเข้าไปเยี่ยมชมเป็นอย่างมากครับ หากเพื่อน ท่านไดมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวอีสานตอนล่างหรือมาเที่ยวที่จังหวัดสุรินทร์ก็อย่าลืมแวะเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนกับช้างที่หมู่บ้านช้างกันนะครับ รับรองว่าได้อยู่กับช้างแบบใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยมาก่อนอย่างแน่นอนสุด ๆ จริง ๆ