อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกแห่งสยาม
“โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ
อิฐเก่าๆเพียงแผ่นเดียวก็มีค่าควรที่รักษาไว้
ถ้าเราขาด สุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว
ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทริปนี้ดูเอเซีย.คอมจะพาเพื่อน ๆ มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่อุทยานประวัติสุโขทัย หรือ เมืองเก่าสุโขทัยนั่นเองครับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก้ให้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” ภายในบริเวณอุทยานมีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย ซึ่งควรค่าแก่การทำนุบำรุงรักษาไว้เพื่อเป็นเกียรติของชาติอย่างยิ่งครับ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยตามหลวงหมายเลข 12 ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร มีถนนหลวงตัดผ่านกลางเมืองฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตก เมื่อผ่านเข้าไปในเขตเมืองเก่าก็จะเห็นยอดพระเจดีย์แบบต่าง ๆ อันสง่างาม และวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วน กำแพงเมืองสุโขทัยตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะเป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น โดยการขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง ส่วนพื้นดินที่ขุดนั้นก็จะเป็นคูน้ำสำหรับใช้สอย และเป็นกำแพงน้ำอีก 2 ชั้นครับ กำแพงเมืองด้านทิศเหนือจดทิศใต้มีความยาวประมาณ 2,000 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ 1,600 เมตรเมืองเก่าจะมีประตูเมืองอยู่ทั้งหมด 4 ประตูครับ โดยประตูด้านทิศเหนือเรียกว่า “ประตูศาลหลวง” ประตูด้านทิศใต้เรียกว่า “ประตูนะโม” ส่วนประตูด้านทิศตะวันออกเรียกว่า “ประตูกำแพงหัก” และประตูด้านทิศตะวันตกเรียกว่า “ประตูอ้อ”
ภายนอกกำแพงเมืองเก่าในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำคัญประมาณ 70 แห่ง ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้นไว้ในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ โดยได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร และได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยก็ถือเป็นเกียรติอันภาคภูมิของชาวไทย และเปรียบดั่งสมบัติอันล้ำค่าที่พึงทำนุรักษาไว้สืบลูกชั่วหลานครับ โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญและน่าสนใจ ซึ่งตั้งอยู่ทั้งภายในกำแพงเมืองเก่า และภายนอกกำแพงเมืองเก่า มีมากมายครับ เพื่อน ๆ พร้อมหรือยัง ? ถ้าพร้อมแล้วไปชมกัยเลย
เริ่มจากวัดมหาธาตุกันก่อนนะครับ วัดมหาธาตุเป็นวัดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอิทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่าง ๆ ถึง 200 องค์ นับเป็นวัดที่สำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้เป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือปรางศิลาแลง ตั้งอยู่ที่ทิศทั้งสี่ และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกา ก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านทิศตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดสุทัศน์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ส่วนด้านเหนือและด้านใต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า พระอัฎฐารศ และด้านใต้ยังพบแท่งศิลาหิน เรียกว่า ขอมดำดิน อีกด้วยครับ
มาต่อกันที่วัดพระพายหลวงครับ ซึ่งวัดแห่งนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ วัดพระพายหลวงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากวัดมหาธาตุ วัดแห่งนี้มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ทำด้วยศิลาแลง เป็นศิลปะแบบลพบุรี ยังคงเห็นลายปูนปั้นที่ปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าปรางค์มีฐานวิหารเจดีย์ที่ปรักหักพัง ส่วนประติมากรรม ก็มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่าง ๆ เช่น ยืน นั่ง เดิน นอน ส่วนใหญ่ชำรุดแล้ว ประดิษฐานที่มณฑปและซุ้มเจดีย์
ต่อไปที่วัดศรีชุมครับ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตกประมาณ 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ส่วนวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายในได้ และสามารถเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้บนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ไว้ประมาณ 50 ภาพ
เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหาร ซึ่งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองเก่าสุโขทัยโดยรอบ เพื่อน ๆ ทราบมั้ยว่าวัดศรีชุมนั้นมีความเร้นลับซ่อนอยู่ เพราะจากการพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงค์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปลุกปลอบใจทหาร และด้านอื่น ๆ เพราะจากการสร้างผนังด้านข้างขององค์พระอจนะจะมีช่องเล็ก ๆ อยู่ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องเหล่านี้และเปล่งเสียงพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารก็จะนึกว่าพระอจนะนั้นพูดได้ เพราะเสียงพูดนั้นกังวานน่าเกรงขามมากครับ
วัดตระพังเงิน คำว่าตระพังนั้นหมายถึงสระน้ำ หรือหนองน้ำครับ วัดนี้ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก มีเจดีย์ทรงพุ่มข้างบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน บริเวณเรือนธาตุจะมีชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นวิหาร 7 ห้อง ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บริเวณตรงกลางตระพังเป็นเกาะขนาดเล็กมีดอกบัวขึ้นอยู่รอบสระ และเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ
วัดสะพานหิน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ยสูงประมาณ 200 เมตร ทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบาง ๆ จนถึงบริเวณลานวัด มีวิหารก่อด้วยอิฐ เสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปรางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ
ส่วนนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกก็จะมีวัดช้างล้อม มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วยปูนปั้นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้าฐานวิหารก้อด้วยอิฐ และมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐถือปูน นอกจากนี้ก็ยังมีวัดตระพังทองหลางที่มีศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา ทั้งหมดนี้ถือเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัยครับ
ส่วนนอกกำแพงเมืองด้านใต้ก็จะมีวัดเจดีย์สี่ห้อง มีฐานลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ขี่ช้าง รูปเทวดาผู้หญิง ผู้ชายถือแจกันดอกไม้ ลวดลายวสยงามมากครับ นอกจากนี้ก็จะมีวัดเชตุพนซึ่งมีมณฑปสร้างด้วยหินชนวนประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อริยาบถ คือ พระพุทธรูปแบบนั่ง ยืน เดิน นอน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หิน ชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง และมีการพบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกในปี พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้
ค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จะเสียคนละ 20 บาท หากนำยานพาหนะ 4 – 6 ล้อ เข้าไปในเขตอุทยานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 30 บาท ส่วนพาหนะเกิน 6 ล้อไม่อนุญาตให้นำเข้าไปครับ สำหรับเพื่อน ๆ ที่จะไปเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชม ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055 – 613241 ครับ