จังหวัดเพชรบูรณ์นั้นมีของดีของดังตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของอร่อย ไก่ย่าง มะขามหวาน หรือจะเป็น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แต่ที่สำคัญก็คือ ยังเป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาในอดีต สืบเนื่องมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่งในประเทศไทยเลยทีเดียว ดังที่คำขวัญกล่าวไว้ “เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำ หนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง” ศรีเทพเมืองเก่า หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นสถานที่ที่ดูเอเซียไม่พลาด ต้องไปให้ได้ ไปเที่ยวที่ไหน ก็ต้องไปให้มันลึกถึงแก่นจริงมั้ยล่ะเพื่อนๆ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีเทพ ชื่อเดียวกับอุทยานเลยครับ ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรี ประมาณ 25 กิโลเมตร เลยไปอีกนิดเดียวก็เจอย่านของอร่อย ไก่ย่างวิเชียรบุรีแล้ว แต่อดใจไว้ก่อน แวะมาเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ซะก่อน จะได้อิ่มทั้งสมอง อิ่มทั้งท้องไปในคราวเดียว แอบบอกก่อนเลยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ นั้นเคยได้รับรางวัล Thailand Tourism Award มาแล้วในปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โบราณสถานยอดเยี่ยม และรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเตอร์เนทดีเด่น
อุทยานฯ มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “เมืองอภัยสาลี” สร้างขึ้น ในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี รุ่นราวคราวเดียวกับ เมืองพิมาย ลพบุรี และจันทบุรี มีลักษณะ เป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ตั้งอยู่ในชุมทางที่ สามารถติดต่อกับภาคอื่นๆได้สะดวก จึงได้รับอิทธิพลทางศิลปะวัฒนธรรมจากเมืองข้างเคียงอย่าง เขมร หรือ ขอม และศิลปะทวารวดี มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,889 ไร่ เห็นว่ากว้างใหญ่ขนาดนีเพื่อนๆอย่าเพิ่งท้อ กลัวจะต้องเดินลากขา กันน่องโต เพราะว่าเค้ามีบริการรถรางพร้อมวิทยากรพาชมภายในอุทยานฯ ถึงแม้เมืองจะโบราณ แต่บริการยัง ทันสมัยนะเนี่ย
ก่อนจะขึ้นรถราง ต้องมาติดต่อที่ศูนย์บริการข้อมูลซะก่อน เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม คนละ 20 บาทเท่านั้นเอง คุ้มจิงๆ ซึ่งในศูนย์นี้ไม่ใช่ศูนย์ธรรมดาๆ เค้ามีการจัดนิทรรศการเล็กๆ เกี่ยวกับประวัติความเป็น มาของเมืองศรีเทพ ให้ชมกันก่อนจะเข้าไปเจอกับของจริงกัน และยังมีของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จาก ชุมชนมาจำหน่ายกันอีกด้วย
นั่งรถรางปล่อยให้ลมปะทะกับหน้าอยู่นั้น วิทยากรก็จะคอยบรรยายพร้อมกับชี้ให้ดูพื้นที่รอบๆ สองข้างทาง ที่ดูเอเซียเห็นก็มีซากปรักหักพังเล็กๆน้อยที่เหลือให้เห็นเฉพาะฐาน ต้นไม้ต่างๆ รวมทั้งแหล่งน้ำ หลายแห่งที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้อุปโภคกัน บางแห่งตอนนี้แห้งจนไม่เหลือน้ำแล้ว เหลือเพียงหลุมดินเปล่าๆก็มี แต่มีสระอยู่สองแห่งที่มีน้ำขังตลอดปี คือ สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และ สระขวัญ อยู่ในบริเวณ เมืองส่วนนอก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณ มาจนถึงปัจจุบัน
และแล้วรถรางก็หยุดจอดให้ดูเอเซียได้ลงไปชมโบราณสถานแห่งแรก คือ อาคารแหล่งขุดค้นทาง โบราณคดี ซึ่งได้ขุดพบหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นร่องรอยของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เก่าแก่มั่กมาก สิ่งที่พบคือโครงกระดูกมนุษย์พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ ดูเอเซียแอบรู้มาว่ามนุษย์ผู้นี้นั้นเป็น ผู้หญิงซะด้วย และโครงกระดูกช้างโบราณ สภาพที่เหลืออยู่อาจจะดูไม่เหมือนช้างเท่าไร่ แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะมัน ก็ผ่านมาตั้งสองพันปีแล้วนี่เนอะ
หลังจากดูโครงกระดูกเสร็จแล้ว ดูเอเซียก็นั่งรถรางต่อมาจนถึงปรางค์ศรีเทพ เป็นปราสาทที่หันหน้า ไปทางทิศตะวันตกแบบเขมร ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟักยกพื้นขนาดใหญ่ที่ทำด้วยศิลาแลง ซึ่งฐานบัวลูกฟักนี้ได้ มาจากเขมรอีกเช่นกัน ตัวเรือนธาตุก่อด้วยอิฐ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในปรางค์เคยเป็นที่ประดิษฐาน รูปเคารพของศาสนาฮินดู แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว พี่วิทยากรบอกว่าถูกขโมยไป ฮือๆ ใจร้ายจัง ภายหลังพบว่ามีการ ซ่อมแซมในพุทธศตวรรษที่ 18 และได้ทำการขุดค้นเพิ่มเติมบริเวณหน้าพระปรางค์ พบซากอาคาร และสระน้ำ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าตัวปราสาท ถูกถมทับอยู่ข้างใต้
ถัดมาจากปรางค์ศรีเทพอีกหน่อยเดียว จะเห็นปรางค์ที่หน้าตาคล้ายๆกัน คือ ปรางค์สองพี่น้อง เป็น ปรางค์สององค์ตั้งคู่กัน ฐานศิลาแลง เรือนก่อด้วยอิฐ และหันไปทางทิศตะวันตก เป็นศิลปะแบบเขมรเหมือน กับปรางค์ศรีเทพ ปัจจุบันที่หลังเล็กมีทับหลัง “ อุมามเหศวร ” ประดับอยู่สันนิษฐานว่า เคยเป็นเทวาลัยใน ศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
ในบริเวณเดียวกันใกล้ๆกับปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง คือ โบราณสถานเขาคลังใน ซึ่งเหลือ เพียงส่วนฐานที่ก่อด้วยอิฐศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ประมาณ พันกว่าปีมาแล้ว ตอนมองอยู่ไกลๆเห็นมีแต่ฐานใหญ่ๆไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจ แต่สังเกตเห็นว่าที่รอบๆฐานมี หลังคากันสาดอยู่ด้วย ดูเอเซียก็สงสัยว่ามันคืออะไร พอเดินเข้าไปใลก้ๆจึงรู้ว่าเค้ามีทีเด็ดอยู่ที่ฐาน ที่ฐานข้างล่าง นั้นมีภาพปูนปั้นประดับ เป็นรูปคนแคระและสัตว์ต่างๆ เช่น ลิง สิงห์ ควาย ช้าง ทำท่าเหมือนกำลังช่วยกันแบก ฐานทั้งอันไว้ เรียงแถวกันอยู่รอบๆฐาน เป็นศิลปะแบบทวารวดี ซึ่งพบเห็นในลักษณะเช่นนี้ แห่งเดียวใน ประเทศไทย โอโฮ อะเมซซิงจริงๆ
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานย่อยๆ อีกมากมายภายในเมืองศรีเทพนี้ที่น่าสนใจ อย่างเช่น ศาลเจ้าพ่อ ศรีเทพ ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองทางทิศตะวันตก ทุกปีในวันขึ้น 2 – 3 ค่ำ เดือน 3 จะใช้เป็นที่จัดงานบวงสรวง เจ้าพ่อศรีเทพ อันเป็นประเพณีที่สำคัญ ตามความเชื่อของคนท้องถิ่น
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดริการให้เพื่อนๆได้เข้าชมตั้งแต่ 08.00 – 16.30 น. ทุกวัน
การเดินทาง
ถ้ามาทางรถยนต์ก็ขับมาตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) จนถึงกิโลเมตรหลักที่ 102 ก็จะ เจอทางแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ขับไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้ายทางเข้าอุทยานฯอยู่ทางขวา มือแล้วล่ะ
ผมเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ต่างๆได้นับครั้งไม่ถ้วนแล้ว แต่ยังคงรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับแห่งใหม่ๆ ที่ได้สัมผัสอยู่ทุกครั้งไป ผมจึงรับรองกับเพื่อนๆได้เลยว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออย่างที่ใครหลายๆ คนเค้าบอกกันเลยสักนิด
ขอบคุณภาพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ