อุทยานลิลิตพระลอ

0

ทริปนี้ดูเอเซียพาท่าน ๆ มารำลึกความเป็นไทยกันอีกครั้ง…เราพามาเที่ยวงานทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดพระธาตุพระลอ และมาดูวรรณคดีอมตะรักหรือที่รู้จักกันในนามลิลิตพระลอ มาดูกันว่าความรักของคนไทยในอดีตเป็นเช่นไร และมาเที่ยวชมงานวัดของชาวอำเภอสอง  จังหวัดแพร่พร้อม ๆ กันเลยครับ

phalaw

อำเภอสอง  ห่างจากตัวเมืองจังหวัดแพร่ประมาณ  40  กิโลเมตร เป็นอำเภอที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน มาที่นี่ไปได้หลายเส้นทางครับ ไม่ว่าจะเป็นเส้นไปอำเภองาวจังหวัดพะเยา เส้นตำบลสะเอียบ (แก่งเสือเต้น) ไปอำเภอบ้านหลวงจังหวัดน่าน  การเดินทางที่นี่ถนนหนทางเค้าดีนะครับ แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คงไปทางโค้งที่ต้องใช้ความระมัดระวังกันหน่อย

“อุทยานลิลิตพระลอ”  หาไม่ยากครับ  เมื่อถึงตัวอำเภอสองจะมีป้ายบอกทางให้เห็นเด่นชัด อยู่หน้าเทศบาลอำเภอสองกันเลย และเลี้ยวขวาไปตามป้ายบอกทางจากถนนใหญ่เข้าสู่ถนนในหมู่บ้านคุ้มครองธรรมไปประมาณ  1  กิโลเมตร  เราจะเห็นอุทยานลิลิตพระลอก่อน ส่วนวัดและพระธาตุพระลอต้องขับรถเลยไปอีก  300  เมตร ไม่ไกลกันหรอกครับ

วันนี้ที่วัดพระธาตุพระลอเค้ามีงานทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคีครับ  และวันนี้แดดจะค่อนข้างแรงทีเดียว อากาศร้อน  แต่บรรยากาศในวัดครึกครื้นไปด้วยผู้คน และเสียงดนตรีพื้นบ้านบรรเลง ผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมทำบุญ และที่ดูเป็นสีสันของงานนี้เลยก็ว่าได้ คงจะเป็นตามซุ้มต่าง ๆ ในวัดที่จัดให้แต่ละตำบลในอำเภอสองนำเอาขนมพื้นบ้าน  ขนมไทย  ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน  ไม้แกะสลัก  เครื่องจักรสาน  สมุนไพรพื้นบ้าน และอีกมากมาย มาให้คนที่มาเที่ยวงานได้เลือกชิม  เลือกชม และเลือกซื้อกันตามใจชอบ มาถึงซุ้มแรก ลุงเค้ากำลังซอกันอยู่เลยครับ  ลุงเปิ้น(ท่าน)ดีดพิณ  คุณป้าเค้าสีซออู้ และซอด้วงอยู่ข้าง ๆ ส่วนคุณยายก็ฟ้อนรำแบบเมืองเหนือ ส่วนคนซอ (คนขับร้อง) ก็ขับกล่อมเหล่าบรรดาแม่บ้านให้สนุกไปตาม ๆ กัน  แหม!!เข้าซุ้มแรกก็ครึกครื้นกันขนาดนี้แล้วครับ

ขนมพื้นบ้านและขนมไทยเค้ามีให้ชิมกันไม่อั้นเลยครับ ดูเอเซียชิมทุกซุ้มกันเลย  ไม่ว่าจะข้าวแดง  ข้าวโพดคั่วเมือง (เค้าใส่น้ำอ้อยครับ)  ซุ้มถัดมาเป็นกล้วยทอดที่ทำจากกล้วยส้ม มีทั้งรสหวานและเค็ม  ถัดมาก็เป็นซุ้มของขนมชั้น  ข้าวแต๋น  ข้าวแต๋นของซุ้มนี้เค้าทำมาจากแก้วมังกร และน้ำแตงโม หอมหวานมัน สีสวยแบบธรรมชาติด้วยครับ  ถัดมาก็เป็นซุ้มของขนมหม่าแปบ และขนมจ๊อกและขนมเทียน

ซุ้มสุดท้ายครับ ทีแรกผมตกใจเพราะเห็นไทยมุง นึกว่าเกิดเรื่อง แต่ใช่ซะเมื่อไหร่กันก็ซุ้มนี้เค้าทำขนมปาดทำกันสด ๆ ในวัดเลยครับ  กลุ่มพ่อบ้านเค้าใช้ดินเหนียวหรือที่นี่เค้าเรียกว่าดินจอมปลวก นำมาปั้นเป็นเตาขนาดเท่ากระทะใหญ่ ส่วนวันนี้เค้าจะทำหรือที่นี่เค้าเรียกว่าคนขนมปาดกันทั้งหมด  3  กระทะใหญ่  แท้จริงแล้วไทยมุงทั้งเค้ารุมรอขนมปาดร้อน ๆ กันต่างหากล่ะครับ  กระทะแรกผ่านไปก็เลี้ยงคนได้เกือบทั้งวัดแล้ว  ผมได้ลิ้มรสขนมปาดสด ๆ จากเตาร้อน ๆ อร่อยมาก หวาน  หอมน้ำอ้อยเป็นหลัก ขนมชนิดนี้จะได้กินกันก็ต่อเมื่อมีงานบุญเท่านั้นครับ

เค้าให้ผมชิมทุกซุ้มเลย  แถมยังห่อกลับบ้านให้ด้วย  ชาวบ้านที่นี่เค้าใจดี มีความเป็นมิตรและอัธยาศัยดีมาก ๆ เลย   เอ่อ…แต่ตอนนี้อิ่มจังครับ เหอๆๆ  ได้ขนมกลับไปกินที่บ้านด้วย   สนุกและอิ่มครับ  อิ่มแล้วก็เดินย่อยด้วยการพาท่าน ๆ ไปดูบรรยากาศในวัดกันดีกว่า

ของพื้นบ้านอร่อย ๆ แบบนี้หาทานได้ยากครับ  และของที่นำมาแสดงก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานแฮนด์เมคทั้งนั้น  นั่นแน่!! มีซออู้  ซอด้วงขายกันด้วยครับ ราคาย่อมเยาแถมต่อรองได้อีกแน่ะ!  ดูเอเซียก็ซื้อมาสีกล่อมคนที่บ้านทั้งซออู้และซอด้วงกันเลยครับ

มาถึงใต้ต้นโพธิ์ กลางลานวัด ซอพื้นเมืองคณะสมศักดิ์  ช่อแก้ว กำลังซออย่างสนุกสนานเลยครับ มีช่างซอ (ที่นี่เค้าเรียกกัน) ทั้งหญิงและชาย ดูเอเซียเลยขอเก็บภาพและนั่งฟังซอใต้ร่มโพธิ์ให้หายร้อนกันหน่อย  ช่างซอเค้าเก่งมากเลยครับ  เห็นอะไรเค้าก็เอามาร้องเป็นเพลงหรือซอได้หมดเลยครับ  สีหน้าตอนขับร้องซอเค้าสนุกสนานจังครับ ดูเอเซียฟังแล้วก็ยิ้มตามเค้าไปด้วย  เพลงซอช่างมีเสน่ห์ซะจริง ฟังแล้วสนุก และต้องชื่นชมคนขับร้องด้วยครับ เพราะเค้าต้องใช้สมองและไหวพริบขับร้องสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้าออกมาให้เป็นเพลงซอให้ได้  คงต้องไปหาซีดีมาฟังซะแล้วครับ

มาถึงพระธาตุพระลอกันครับ…พระธาตุพระลอในปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุพระลอแห่งนี้  มีรูปปั้นพระลอ  พระเพื่อน  พระแพงตั้งอยู่ติดกับพระธาตุ  ดูเอเซียจึงได้กราบไหว้บูชาและสำรวจพื้นที่โดยรอบ จึงทราบประวัติของวัดนี้ว่า “วัดพระธาตุพระลอเป็นวัดที่ก่อตั้งเมื่อ  พ.ศ.2300  บริเวณที่ตั้งของวัดเป็นพื้นที่ของชุนเมืองสรองโบราณ  มีองค์พระธาตุเก่าแก่  อายุกว่า  400  ปี  มีความเชื่อว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักอมตะของพระลอแห่งนครแมนสรวงกับพระเพื่อน  พระแพง พระธิดาของเมืองสรอง เป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ  ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นสุดยอดของบทร้อยกรองประเภทลิลิตของชาติไทย นอกจากนั้น  รอบ ๆ บริเวณกำแพงเมืองสรองโบราณยังมีแนวกำแพงดินสามชั้นให้ได้เดินชมทัศนียภาพอันสวยงาม  แต่วันนี้ด้วยอากาศที่แดดร้อนจัดและบริเวณแนวกำแพงดินดังกล่าวหญ้าขึ้นรกดูเอเซียเลยไม่ได้เก็บภาพมาฝากท่าน ๆ

“พระธาตุพระลอ” ปรากฏในทะเบียนวัด  ระบุว่าได้ประกาศให้เป็นวัดเมื่อปีพ.ศ.2300  ได้รับพระราชทานวิสุคามสีมาเมื่อปีพ.ศ.2325  ซึ่งตรงกับปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  จากการเล่าสืบต่อกันมา องค์พระธาตุหินส้มในอดีต “พระธาตุพระลอ” เดิมทีชื่อว่า “ธาตุหินส้ม” ซึ่งอยู่ในบริเวณเวียงเก่าชื่อว่า “เวียงหินส้ม” จากการบอกเล่า สภาพภูมิประเทศแบ่งออกเป็นสองเวียง ด้วยคู่ร่อง (กำแพงดิน) แวดล้อมอยู่คือ “เวียงเหนือ” (สถานที่วัดพระธาตุพระลอ และโรงเรียนบ้านธาตุพระลอในปัจจุบัน) และอีกเวียงหนึ่ง คือ “เวียงใต้” (สถานที่บ้านต้นผึ้งในปัจจุบัน)  ซึ่งเวียงสองนี้เรียกว่า “เวียงหินส้ม” จะมีกำแพงดินสามชั้นล้อมรอบมองเห็นเป็นตระหง่าน แต่เดิมเจดีย์หินส้มที่ว่านี้พังทลายลงเนื่องจากมีคนมาลับลอบขุดเจาะหาสมบัติในปีพ.ศ.2458-2459  ได้มีศรัทธาเข้ามาบูรณะซ่อมแซมแผ้วถางอยู่มาไม่นานได้มีนายสว่าง  บุญปถัมน์ มาเป็นนายอำเภอสอง จึงได้ชักชวนข้าราชการ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  คณะศรัทธาร่วมกันบูรณะแผ้วถางใหม่ และเปลี่ยนชื่อว่า “พระธาตุพระลอ”  โดยถือเอาวันขึ้น  15  ค่ำ เดือน  7  เหนือ (ตรงกับเดือน  5  ใต้)หรือช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นวันประเพณีขึ้นธาตุและสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ดูเอเซียมาเยือนอำเภอสองแล้วจะไม่มีความเป็นมาของที่นี่กับลิลิตพระลอได้ยังไงกันครับ  เมืองสองหรืออำเภอสองเป็นชื่อที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวรรณคดีลิลิตพระลอเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  นิรุกศาสตร์และวรรณคดีจะพบว่ามีความเชื่อมโยงกันจนทำให้มีบุคคลสำคัญหลายคนมีความเชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองของพระเพื่อน  พระแพง ตามตำนานพงศาวดารของโยนก

จากการศึกษาค้นคว้าทางเอกสาร และข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ สรุปได้ว่าเรื่องราวของลิลิตพระลอได้ประพันธ์บันทึกไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นโดยนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์จากทางเหนือไปเป็นโครงเรื่องสังเกตพบว่ามีภาษาพื้นเมืองดั้งเดิมของคนเมืองสองผูกซ่อนไว้ในลิลิตพระลอจำนวนหลายคำ

เมืองสองในอดีตเจ้านครปกครองมาก่อนมีสถานที่ชุมชนเมืองโบราณตั้งอยู่  หมู่ที่  1  ตำบลบ้านกลางลักษณะตัวเมืองชุมชนโบราณเป็นกำแพงดินล้อมรอบสามชั้นอบู่บนเนินสูง  มีธาตุพระลอ มีศาลปู้เข้าสมิงพรายจำนวน  2  แห่งในพื้นเดียวกันและมีที่สาธารณะอยู่ในบริเวณกำแพงเมือง  ดังนั้นทางอำเภอสอง  จังหวัดแพร่  จึงได้ร่วมใจกันเสนอโครงการจัดสร้างอุทยานลิลิตพระลอ  โดยได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2548  เป็นต้นมาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษา  ค้นคว้า ทางวรรณคดีลิลิตพระลอและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

คุณค่าของลิลิตพระลอ

วรรณคดีสโมสรได้พิจารณามีมติให้ลิลิตพระลอเป็นยอดของลิลิต  เพราะลิลิตพระลอมีอรรถรสที่มีความสมบูรณ์ครบทุกด้าน  ทั้งความบันเทิง และปรัชญาที่สะท้อนวิถีชีวิต  ซึ่งมีลักษณะเด่น  แสดงออกถึงความมีอำนาจ  ความมีฤทธิ์  ความกตัญญู  ความรัก  ความหลง  ความจงรักภักดี  ความผูกอาฆาตพยาบาท  ความเศร้าโศก และความตายอันเป็นกฎอนิจจังจากหลักฐานจึงสรุปได้ว่าเรื่องพระลอเป็นตำนานเล่าขาน  มีโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่ใช้อ้างอิงและสนับสนุนสอดคล้องตามเนื้อเรื่อง  โดยเฉพาะอรรถรสทางภาษาและสาระของวรรณคดีลิลิตพระลอมีความสมบูรณ์ เป็นอมตะรักแฝงคติธรรม  แนววิถีชีวิตของมนุษย์ในลักษณะพุทธปรัชญา  อวสานลงด้วยอนิจจัง  ทุกข์  อนัตตา…

เรื่องย่อ วรรณคดีลิลิตพระลอ… ลิลิตพระลอ เป็นลิลิตสุภาพที่มีร่ายสุภาพและโคลงสุภาพเป็นส่วนใหญ่ วรรณคดีสโมสรยกให้เป็นยอดลิลิต  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับหนังสือลิลิตว่า  วรรณคดีลิลิตพระลอแต่งในสมัยอยุธยาเป็นนิทานเรื่องทางอาณาเขตล้านนา (คือมณฑลพายัพ) แผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระราชโอรสแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวในระหว่าง พ.ศ.1991  จนถึง พ.ศ.2026 ลิลิตพระลอเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่าง  2   เมืองคือเมืองสรวงเจ้าครองเมืองชื่อว่าท้าวแมนสรวงและพระนางบุญเหลือมีโอรสพระองค์หนึ่งรูปงามมาก นามว่า “พระลอ” ส่วนอีกเมืองหนี่งคือเมืองสรองเจ้าเมืองชื่อท้าวพิมพิสาคร โอรสชื่อ ท้าวพิชัยพิษณุกร ซึ่งมีธิดา  2  พระองค์จากชายาชื่อ พระนางดาราวดี คือ “พระเพื่อน” และ “พระแพง”  ในคราวหนึ่งท้าวแมนสรวงได้ยกทัพไปตีเมืองสรอง  ท้าวพิมพิสาครสิ้นชีพ  ท้าวพิชัยพิษณุกรนำพระศพเข้าเมือง และขึ้นครองเมืองสืบต่อจากพระบิดา  โดยมีพระเพื่อนและพระแพงทำหน้าที่ปรนนิบัติเจ้ายู้เคยเป็นชายาท้าวพิมพิสาคร  ส่วนทางเมืองสรวง  ท้าวแมนสรวงได้ไปขอพระนางลักษณาวดีให้แก่พระลอ เมื่อท้าวแมนสรวงสิ้นพระชนม์ พระลอก็ได้ครองราชย์สมบัติ  สืบต่อมาความงามของพระลอเลื่องลือไปทั่ว  พระเพื่อน  พระแพง ได้ทราบข่าวเกิดการหลงรักขึ้นทันที  มีอาการกินไม่ได้โศกเศร้าอยากเห็นหน้าพระลอให้ได้  จนนางรื่น นางโรยเกิดความสงสาร  ติดต่อหมอผีทำเสน่ห์หลายคนแต่ไม่สำเร็จ  สุดท้ายไปให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วย  ปู่เจ้าได้เล็งญาณแล้วทราบว่าบุคคลทั้ง  3  ต้องมาชดใช้กรรมกันในชาตินี้  จึงรับช่วยโดยการทำเสนห์  ครั้งแรกใช้ลูกลมลงอาคมติดเหนือยอดยางเจ็ดคนโอบ ไม่สำเร็จ  ทำซ้ำโดยใช้ธงสามชายลงอาคมปักขึ้นยอดตะเตียนใหญ่  เก้าคนโอบเมืองสรวงได้หมอสิทธิชัยช่วยแก้ได้ก็ไม่สำเร็จอีก  ครั้งสุดท้ายเสกหมากสลาเหิรให้พระลอหยิบขึ้นมาเคี้ยว  สัมฤทธิ์ผล  พระลอยกพลออกจากเมือง  ข้ามแม่น้ำกาหลง  พร้อมกับอธิษฐานจิตเสี่ยงน้ำปรากฏว่าน้ำไหลวน  สีแดงเป็นลางร้าย แต่ด้วยขัติยะมานะไม่ถอยกลับ และปู่เจ้าได้คัดเลือกไก่ที่สวยงามและเสกผีเข้าสิงไก่ให้พระลอหลงตามเข้ามาในสวนของพระเพื่อน  พระแพง  พระลอได้ส่งคนสนิทคือนายแก้ว  นายขวัญ ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวชื่อ นายรัตน์  นายราม เข้าตีสนิทนางรื่น  นางโรย  จนเกิดรักใคร่ได้เสียกัน และพาพระลอไปพบกับ  พระเพื่อน  พระแพงในสวน พบรักกันพร้อมกับหลบซ่อนลอบรักอยู่ในที่ประทับของพระเพื่อน  พระแพงได้ครึ่งเดือน  ความทราบถึงท้าวพิชัยพิษณุกรผู้เป็นบิดา  ลอบดูเหตุการณ์เมื่อเห็นพระลอเกิดความรักและเมตตา ทรงอภัยให้และตรัสว่าเมื่อได้ฤกษ์งามยามดีจะทำพิธีอภิเษกให้  แต่เจ้าย่ารู้ข่าวเกิดความแค้นและผูกใจเจ็บ  สั่งทหารกำจัดพระลอเสีย  โดยอ้างว่าท้าวพิชัยพิษณุให้สิทธิ์โดยดำเนินการเป็นความลับ  ตกดึกให้ทหารล้อมจับพระลอ  พระลอคิดสู้  ทุกคนยอมตาย  พระเพื่อน  พระแพง  นางรื่น  นางโรย แต่งกายคล้ายชายถือดาบเข้ารบกับทหารพร้อมกับหนีไปด้วย  สุดท้ายถึงประตูประสาทไม่อาจต้านทานกำลังทหารได้  ทหารยิงหน้าไม้อาบยาพิษใส่พระลอ  พระเพื่อน  พระแพง  จนทั้งสามสิ้นใจทั้ง ๆ ที่ยังยืนอิงกันหันหน้าสู้อยู่จนดูเหมือนกับว่ายังไม่ตาย  ท้าวพิชัยพิษณุกรทราบข่าวสั่งให้จับทหารและเจ้าย่าเลี้ยงของพระเพื่อน  พระแพง ไปประหารพร้อมกับแจ้งข่าวไปยังเมืองแมนสรวง  พระนางบุญเหลือแต่งทูตพร้อมเครื่องบูชาศพเดินทางไปยังเมืองสรอง เมื่อถวายเพลิงศพแล้วก็ให้สร้างสถูปขึ้นสามองค์ เพื่อบรรจุอัฐิอังคารสามกษัตริย์และพระพี่เลี้ยงนับแต่นั้นมา เมืองสรวงและเมืองสรองกลับมามีไมตรีต่อกัน

เป็นไงบ้างครับตำนานความรักอันยิ่งใหญ่   และที่อุทยานลิลิตพระลอแห่งนี้จะจัดกิจกรรมในการจดทะเบียนสมรสในวันแห่งความรัก  14  กุมภาพันธ์  ทางอำเภอสองได้จัดกิจกรรมทุกปี  โดยนำคู่สมรสที่จดทะเบียนในวันแห่งความรักนี้มาสักการะขอพรจากอนุสรณ์รัก  พระลอ  พระเพื่อน  พระแพง ณ อุทยานลิลิตพระลอ และที่อาคารประชาสัมพันธ์ ณ อุทยานลิลิตพระลอ เค้ามีโชว์วัตถุโบราณที่ขุดพบภายในบริเวณอุทยานลิลิตพระลอและบริเวณโดยรอบส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ของชาวเมืองสองยุคก่อนนั้น  จากการค้นพบเราสามารถสันนิษฐานได้ว่า ชาวเมืองสองสมัยนั้นมีอาชีพการทำยาสูบดังจะเห็นได้จากการค้นพบเครื่องใช้ดินเผาที่มีรูปร่างคล้ายกล้องยาสูบเป็นจำนวนมากและเป็นสินค้าที่ชาวอำเภอสองนำไปแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นระหว่างเมืองด้วยกัน ถ้าใครสนใจเยี่ยม แวะไปชมได้เลยครับ ที่นี่เค้าไม่เก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของถนนก่อนถึงทางขึ้นอุทยานฯ นั่นคือศาลปู่ “เจ้าสมิงพราย” ที่เป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดให้กับพระเพื่อน  พระแพง เพื่อให้พระลอมาหลงรัก  ศาลปู่เจ้าสมิงพรายแห่งนี้เค้าว่ากันว่า “หากใครไม่มีคู่ เมื่ออธิษฐานแล้ว ก็จะได้คู่  ใครไม่มีลูก เมื่ออธิษฐานก็จักได้ลูกสมดั่งคำอธิษฐาน”

อย่าพลาดนะครับ  ถ้าท่านใดที่ตั้งใจมาก็ดีหรือผ่านมาที่นี่ก็ดี  เชิญแวะมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสอง  จังหวัดแพร่กันให้ได้นะครับ

ขอบคุณภาพ   อุทยานลิลิตพระลอ

เชิญแสดงความคิดเห็น