ความงามปลายฟ้า ที่เขาพนมเบญจา

0

อีกมุมหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในจังหวัดกระบี่ คือ ส่วนที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร ขุนเขา ป่าดง สายน้ำ และสรรพสัตว์ป่า อย่างยอดขุนเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดกระบี่  ที่มีนามว่า เขาพนมเบญจา มีความสูงถึง 1,397 เมตร จากระดับน้ำทะเลป่าเขาพนมเบญจา  มีเนื้อที่ครอบคลุมในเขตอำเภออ่าวลึก อำเภอเมือง อำเภอเขาพนม ของจังหวัดกระบี่ ชาวบ้านจะเรียกเขาแห่งนี้ว่า  “เขานม” เพราะสัณฐานของแนวเทือกเขาที่มองแต่ไกล จะมีรูปทรงคล้ายกับผู้หญิงนอนหงาย บนยอดเขาสูงสุดจะเป็นยอดนม 2 ยอด คั่นกลางส่วนหัวในบริเวณคอจะเรียกว่า  “คอนางนอน”  ถัดมาก็เป็นส่วนหัว หรือเรียกส่วนนั้นว่า “หน้าผากนางนอน”  ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างเชื่อว่าเป็นขุนเขาความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนตั้งชื่อ  เขาพนมเบญจา

เส้นทางในครั้งนี้จะเลือกเส้นทางจากบ้านหน้าเขา ทางด้านอำเภอเขาพนม มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นผู้นำทางที่เชี่ยวชาญป่ายอดเขาพนมเบญจาเป็นอย่างดีสภาพป่าเริ่มเปลี่ยนไปตามระดับความสูง ลักษณะของต้นไม้จะไม่สูงมากนัก ใบไม้จะมีขนาดเล็กเหมือนๆ กันหมด  ระหว่างทางก็พบกับกล้วยไม้สีเหลืองที่มีชื่อว่า “ใบพัดสิงโตเหลือง”  อยู่ในระดับแค่เอื้อมต่อจากนั้นอีกไม่ถึง 10 นาที เราก็มาทะลุที่โล่งในบริเวณร่องหุบเขา มองเห็นลานหินกว้างใหญ่ เป็นตำแหน่งของเทือกเขาที่เรียกว่า “คอนางนอน”

บริเวณลำห้วยที่มีน้ำไหลรินๆ มีร่องรอยการพักค้างแรมของนักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่า เราก็เคยมาพักที่จุดตรงนี้ แต่หนนี้ เราพยายามค้นหามุมใหม่ที่แห่งใหม่ ด้วยการเลือกไปพักที่บริเวณหน้าผากนางนอนผ่านสภาพป่าทึบมีลักษณะคล้ายป่าโบราณ เป็นป่าที่สวยมาก หากว่ามีหมอกลงมาแผ่คลุมสักหน่อย ก็จะเป็นภาพที่สวยงามอย่างมีมิติทีเดียว หนทางบางช่วงค่อนข้างยากลำบากต้องปีนป่ายหินผาชัน แต่ก็ไม่เกินความพยายามของพวกเราจนถึงสันเขาแคบๆ ที่ปกคลุมด้วยป่าแคระ บนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์หมู่เกาะอันดามันได้อย่างชัดแจ้ง หากว่าเป็นวันท้องฟ้าแจ่มใส รับรองเลยว่าจะเป็นจุดชมวิวที่งดงามที่สุดของเมืองกระบี่ทีเดียวเลยระหว่างทางได้พบ รองเท้านารีคางกบถิ่นใต้ ที่ชูช่อดอกขนาดใหญ่อวบอูมอวดโฉมความงามอย่างบริสุทธิ์ ท่ามกลางดงป่าแคระบนสันเขา

เราเลาะตามแนวสันเขาลงไปยังลานหินที่ปลายเขา อันเป็นบริเวณของส่วนหน้าผาก ที่มีลักษณะเป็นลานหินโล่งไปสุดแนวหน้าผาด้านตะวันออก ด้านทิศเหนือ และด้านตะวันออก พร้อมกันนี้เรายังได้แนวหน้าผาด้านตะวันตกที่ทอดตัวยาวอันเป็นรูปลักษณะตามสภาพภูมิประเทศเขาพนมเบญจาเราเลือกที่ชายป่าหน้าผากนางนอน เพื่อเฝ้ารอเวลายามเช้าตรู่ เพื่อชมแสงตะวันในยามเช้าได้เริ่มก่อตัวเป็นสีสันที่ทาบบนผืนฟ้า พร้อมกับสายหมอกที่ไหลเคลียคลอเรือนยอดไม้ในหุบป่าด้านล่าง พร้อมกับจังหวะแสงพระอาทิตย์ที่ขับออกมาจนกลายเป็นภาพที่สวยสดใสขานรับรุ่งอรุณยามเช้า

สายหมอกเริ่มเคลื่อนตัวไปตามไหล่เขา ที่เราได้เฝ้ามองการขับเคลื่อนสีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แสงตะวันที่สาดฉายทำให้ภาพความงดงามเกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าที่เราได้มองจากยอดเหลี่ยมผาที่หน้าผากนางนอน จนเมื่อแสงแดดจัดจ้ามากขึ้นจนสายหมอกละลายหายไป กิจกรรมในช่วงต่อมา ก็เป็นการค้นหาหมู่กล้วยไม้ที่เราได้เห็นในช่วงขามา และบางส่วนที่น่าจะเจอมากกว่า

เราย้อนกับมาทางคอนางนอน เพื่อพักแรมในจุดดังกล่าวอีกคืนหนึ่ง ระหว่างทางท่ามกลางป่าแคระ โดยเฉพาะตามแนวสันเขาแคบๆ เราได้ค้นหารองเท้านารีคางกบถิ่นใต้  ,สิงโตขยุกขยุย  ,เอื้องสายเสริตสั้นเมื่อเรามาถึงบริเวณแค้มป์พักที่คอนางนอน บริเวณแห่งนี้จะมีสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไหลตลอดทั้งปี มีลานหิน ทุ่งหญ้าที่เราได้พบกับหญ้าข้าวก่ำ เอื้องนวลจันทร์ ขึ้นอยู่บ้าง

หากข้ามไปฝั่งคอเขาที่เป็นลานหินอีกฟากหนึ่ง ตามบริเวณลานทุ่งหญ้า ป่าแคระ เราจะได้พบกับกล้วยไม้อีกหลากหลายชนิด ที่ซุกซ่อนอยู่ตามพงป่า อย่างเช่น สิงโตก้ามปูม้า , เอื้องเทียนหนู , สิงโตใบพัดเหลือง เป็นต้น อันเป็นความหลากหลากของหมู่กล้วยไม้ป่าแห่งยอดเขาพนมเบญจา

สายลมแห่งป่าเขาที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่ไม่ต้องหาซื้อที่ไหน เราจึงสูดลมหายใจธรรมชาติอย่างเต็มที่ หากมองขึ้นไปตามแนวสันเขาที่เป็นป่าดงดิบทึบ จะมองเห็นยอดสูงสุด จะเป็นจุดของยอดเขานมอันเป็นยอดสูงสุด

ความสวยสดของโลกสีเขียวที่พบว่าเรือนยอดไม้ที่ปกคลุมยอดเขาจะมีลักษณะเป็นป่าคล้ายต้นเสม็ดแดง กำลังแตกยอดใบอ่อนออกเป็นสีน้ำตาลแดง แซมสลับเบียดเสียดกับยอดสีเขียว จึงทำให้สภาพป่าบนยอดเขาช่างมีสีสันที่น่าชวนชม  ท่ามกลางเรือนยอดไม้สีเขียวที่ขึ้นแน่นขนัดแล้ว ยังพบว่ามียอดหวายเหิ้ง เป็นหวายป่าขนาดใหญ่ได้แทงเรือนเรียวยอดขึ้นมาเหนือแนวป่าจนสามารถมองเห็นได้ระยะไกล

ยามเช้าที่แค้มป์พักคอนางนอน เราได้พบพลังแสงยามเช้าที่ส่องลอดแนวหมอก จนกลายเป็นภาพสีทองซึ่งเป็นลีลาธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ธรรมชาติแห่งเวลาก็เปลี่ยนตาม ลำแสงที่ส่องสาดก็เกิดเป็นภาพที่สวยงามน่าทึ่งป่าเขาพนมเบญจา เป็นผืนป่าที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อการศึกษาธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านพืชพรรณไม้ สัตว์ป่า หมู่นก ตลอดจนการท่องเที่ยว ที่เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ขึ้นอยู่ว่าเราสามารถนำทรัพยากรเหล่านี้มาจัดการให้ถูกต้องตามแนวทางได้อย่างไรบ้าง และใช้สอยธรรมชาติได้คุ้มค่า เพราะว่าพื้นที่ป่านี้อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ไปจากผืนป่าอื่น

การติดต่อ    ควรติดต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา เป็นเวลาล่วงหน้าอย่างน้อย  7วัน เพื่อจัดเตรียมเจ้าหน้าที่นำทาง โดยเขียนจดหมายไปยัง อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ตู้ ปณ.26 อ.เมือง จ.กระบี่ 81000 โทร.0-7562-9031ค่านำทาง อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา คิดวันละ 800 บาท โดยกำหนดเจ้าหน้าที่นำทาง 1 คน ต่อนักท่องเที่ยว 5 คน คิดดูแล้วค่อนข้างแพงมากๆ  เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ มาครั้งก่อน วันละ 500 บาท ก็ยังแพงแล้ววันนี้ขึ้นไปเป็น 800บาทเส้นทางสายนี้ควรใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน

การเตรียมตัวเนื่องจากว่าเส้นทางเดินป่าเขาพนมเบญจา จะเหมาะกับรูปแบบการเดินป่าโดยเฉพาะ ฉะนั้นนักท่องเที่ยวต้องมีการเตรียมพร้อมหลายๆ อย่าง เริ่มจากการเตรียมสภาพจิตใจที่ต้องเหนื่อยยากลำบาก ต้องใช้ชีวิตกลางป่า ต้องเผชิญกับทากดูดเลือด ต้องเสียอารมณ์กับเห็บที่คอยกัดมีอาการคันๆ กว่าจะหายก็ใช้เวลาเป็นเดือนนอกจากนี้ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเป้ ถุงนอน เต็นท์ หรือเปลสนาม ฟลายชีทกันฝน เสื้อผ้า เสบียงอาหาร ไฟฉาย มีดเดินป่า กระติกน้ำ อุปกรณ์การดำรงชีพในป่า และอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเที่ยวป่าเขาเพนมเบญจา ควรเป็น 2 วัน 1 คืน หรือจะเที่ยวให้เต็มที่ก็ต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน

เชิญแสดงความคิดเห็น