เถ้าฮงไถ่กับโครงการ ART normal

0

“ ร้านโชว์ห่วยไม่ได้ขายแค่ของชำ ร้านอาหารไม่ได้มีแค่ของกิน รถเมล์ไม่ได้แค่ส่งผู้โดยสาร และศิลปะไม่ได้อยู่แค่หอศิลป์ เพราะทุกบ้านคือแกลเลอลี่ ทุกที่คือหอศิลป์” คำกล่าวนี้ดูมีพลังและสามารถถ่ายทอดได้จริงด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงงานศิลปะที่ไร้พรหมแดน กับโครงการ “ปกติศิลป์ ART normal” ที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างจินตนาการให้กับทุชุมชน ดูเอเซียดอทคอมได้มีโอกาสมาเยือน “เถ้าฮงไถ่” โรงงานโอ่งมังกร แห่งแรกในราชบุรี อีกครั้ง และครั้งนี้มีความพิเศษแปลกออกไปตรงที่ เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมด้วยศิลปะขึ้นชื่อว่าโครงการ “ART NORMAL” มีน้อง ๆ วัยรุ่นและชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดราชบุรี ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่าง ๆ ให้อยู่ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านในชุมชน แต่กว่าจะกำเนิดโครงการนี้ได้ ถ้าไม่มี “เถ้าฮงไถ่” ก็คงไม่เกิดโครงการนี้ กว่าจะมาเป็น “เถ้าฮงไถ่” ได้นั้น

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ 2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย ได้มาพบแหล่งดินที่จังหวัดราชบุรี จึงได้ชวนพรรคพวกมาตั้งโรงงานผลิตไหน้ำปลา โอ่งน้ำไม่มีลาย กระถางต้นไม้ เป็นโรงงานแรกของราชบุรี และต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กว่า 75 ปีแล้วที่ เถ้าฮงไถ่ เกิดขึ้นมาพร้อมกับเรื่องราวของเซรามิกเมืองราชบุรี กิจการสืบทอดมาสู่รุ่นลูก ซึ่งแม้จะเข้าเมืองกรุงไปร่ำเรียนจนจบปริญญาตรี แต่ก็ตัดสินใจกลับมารับช่วงขยับขยายโรงโอ่งจนกลายเป็นที่รู้จัก กระทั่งปัจจุบัน พี่ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งพาชื่อ เถ้าฮงไถ่ เข้าสู่ตลาดของ Modern Ceramics อย่างเต็มตัว จากไหน้ำปลาและโอ่งธรรมดาที่ไม่มีลวดลาย ก็เริ่มมีการเพิ่มมูลค่าโดยการทำลวดลายต่างๆ บนโอ่ง ซึ่งมีการสั่งดินขาวจากประเทศจีนมาทำเป็นลวดลาย ซึ่งไม่ได้มีแค่ลายมังกร แต่ยังมีลายดอกไม้ ลายเรือพระที่นั่ง ฯลฯ แต่ว่าที่คุ้นตาผู้บริโภคมากที่สุดอาจเป็นลายมังกร ทำให้คนเรียกโอ่งราชบุรีจนติดปากว่า โอ่งมังกร ซึ่งสมัยนั้นโอ่งมังกรของราชบุรียังถูกลำเลียงลงเรือล่องไปตามแม่น้ำแม่กลองไปขายยังจังหวัดต่างๆ อีกด้วย

เมื่อมาถึงรุ่นที่สอง พ่อและลุง ของ พี่ติ้ว วศินบุรี ก็รับช่วงกิจการโรงงานเซรามิก แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านเซรามิกเลย ขณะที่โรงโอ่งในราชบุรีสมัยนั้นก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีรูปแบบการใช้สอยที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่น อ่างบัว กระถางต่างๆ สภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น จากหนึ่งโรงงาน กลายเป็น 2, 3, 4, 5 จนถึง 20 กว่าโรง ภายในช่วงเวลา 30 ปีแรก มีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะโอ่งล้นตลาด อีกด้านหนึ่งก็มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค มีน้ำประปาที่เปิดจากก๊อกได้ทันที ทั้งยังมีวัสดุอื่นๆ อีก จึงทำให้ความจำเป็นในการใช้โอ่งเก็บน้ำลดลงไ

จากนั้นมา เถ้าฮงไถ่ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นซึ่งก็ไม่ได้มีเพียงสีน้ำตาลอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์ต่างๆเริ่มมีสีสันขึ้นอย่างเช่น สีเขียวไข่กา หรือเขียวใส น้ำเงิน-ขาว เป็นต้น ทำให้สามารถเพิ่มฐานลูกค้าเป็นกลุ่มที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลุ่มสถาปนิก โรงแรมและรีสอร์ท ที่เริ่มเข้ามาก่อสร้าง แต่สีสันก็ยังไม่หลากหลายเหมือนอย่างในปัจจุบัน

ซึ่งในปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ของ”เถ้าฮงไถ่” ก็มีมากมายหลายอย่าง โดยแบ่งเป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. เครื่องปั้นดินเผาแบบที่โรงงานต่างๆ ในราชบุรีผลิต

2. เครืองปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบดินสีแดงตามรูปแบบของไทย

3. เครื่องปั้นดินเผาแบบกวางตุ้งของจีนซึ่งมีทั้งสีเดียวและหลายสีในชิ้นเดียวกัน

4. เครื่องปั้นดินเผาแบบปังโคย โดยเขียนสีน้ำเงินหรือลายสีใต้เคลือบ

5. เครื่องปั้นดินเผาแบบเมืองกังไส มีทั้งชนิดแตกลายงาและแบบไม่แตกลายงา เป็นต้น

ปัจจุบันมนุษย์ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่นจนศาสตร์ทางด้านศิลปะคอย ๆ จางหายไปจากสังคมและจิตใจวัยรุ่นยุคใหม่ “เถ้าฮงไถ่” จึงเล็งเห็นคุณค่าความสามารถของวัยรุ่นยกใหม่ โดยปลูกฝังงานศิลปะให้แก่วัยรุ่นเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังเป็นการฝึกจิตใจ สามาธิ จินตนาการ อีกด้วย ศิลปะเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกชุมชน เพราะศิลปะคือสิ่งที่สร้างจินตนาการและจรรโลงจิตใจ ดูเอเซียดอทคอมจึงอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ ดูเอเซีย ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับศิลปะ และความสวยงามของศิลปะ สมัยใหม่ จากวัยรุ่นยุคใหม่

เชิญแสดงความคิดเห็น