ชมประเพณีแห่ต้นดอกไม้ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ความงามแห่งวัฒนธรรมสงกรานต์อิสาน
แม้ว่าเทศกาลสงกรานต์ของใครหลายๆคนจะกลายเป็นเทศกาลเล่นสาดน้ำระดับชาติ แต่ที่ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา บ้านแสงภา ตำบลนาแห้ว จังหวัดเลย ยังคงสืบสานความงดงามของประเพณีโบราณของท้องถิ่นมาตลอด 400 ปี ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันจัดประเพณีแห่ต้นดอกไม้ อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ทีมงานดูเอเซีย.คอม ได้รับเกียรติจาก ททท ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ไปร่วมงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ของวัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา และเก็บภาพมาฝากเพื่อนๆดูเอเซีย.คอม ให้ได้ร่วมชื่นชมวัฒนธรรมที่งดงามของประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จากความร่วมแรงร่วมใจของ ชาวบ้านตำบลแสงภา ที่หาดูได้ยากยิ่งกันจ้า
เช้าวันที่ 14 เมษายน เราเดินทางไปที่ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิจของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ในวันเทศกาลแห่ต้นดอกไม้ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ เป็นประเพณีโบราณที่สืบต่อกันมาประมาณ 400 ปี นิยมจัดกันหลายแห่งทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว แต่สำหรับที่วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา แห่งนี้ถือเป็นการจัดต้นดอกไม้ที่มีความสูงมากที่สุดในโลก บางต้นสูงถึง 15 เมตร กว้าง 3 เมตร และยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง การสร้างต้นดอกไม้ จะสร้างจากต้นไผ่ และดอกไม้โดยไม่ใช้ตะปู กาว หรือวัสดุอื่นๆที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ ต้นไผ่และดอกไม้ จะไม่มีการเตรียมวัสดุก่อนล่วงหน้า ทุกอย่างจะต้องเริ่มและเสร็จในวันนั้น โดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันของชาวบ้านเพื่อให้สำเร็จลุล่วงทันงานแห่ที่จะจัดขึ้นในตอนหัวค่ำ ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายหมู่บ้านที่จัดสร้างต้นดอกไม้ แต่จะไม่มีการแข่งขันกัน เพื่อรักษาวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีเอาไว้นั่นเอง
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ มีรากฐานมาจากความเชื่อในพุทธศาสนา ในการถวายดอกไม้ธูปเทียน การถวายดอกไม้ของวัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา พัฒนาจากการถวายดอกไม้เป็นดอก มาเป็นช่อ และขยายขนาดขึ้นไปเรื่อยๆ จนมีขนาดใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สำหรับที่ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ได้มีการจัดประเพณีนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 400 ปีแล้ว โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี
ในตอนเช้ามืด ชาวบ้านจะแบ่งกลุ่มกันเป็น 2 กลุ่มกลุ่มหนึ่งจะไปหาไม้ไผ่ในป่า อีกกลุ่มหนึ่งจะไปเก็บดอกไม้เพื่อมาประดับโครงต้นดอกไม้ การหไม้ไผ่มาทำต้นดอกไม้จะเลือกต้นไผ่ที่โตโต็มที่ และไม่แก่เกินไป เพื่อให้ไม้ไผ่มีความยืดหยุ่น เมื่อนำมาประกอบเป็นต้นดอกไม้แล้วจะทนทานต่อแรกบิดแรงโยกได้ดีโดยไม่หักโค่นลงมา
พอถึงตอนสายๆ ชาวบ้านผู้ชายก็จะออกมาช่วยกันก่อโครงต้นดอกไม้ โดยนำไม้ไผ่มาตัดแบ่งเป็นส่วนๆ บ้างก็ปอกไม้ไผ่ให้เป็นเส้นๆ เรียกว่าตอก เพื่อใช้ผูกยึดแท่งไม้ไผ่ทุกๆส่วนเข้าด้วยกัน
ส่วนประกอบของต้นดอกไม้มี 9 ส่วนคือ
1.คาน คือ ส่วนที่ใช้หาม
2.ขาธนู คือ ส่วนยึดคานเข้าด้วยกัน คานและขาธนูจะเป็นฐานของต้นดอกไม้
3.ง่าม คือ เสาด้านนอกของต้นดอกไม้
4.พ่ง คือ ส่วนที่รัดมุมทั้ง 4 ของต้นดอกไม้
5.ดวด คือ ส่วนรัดลำต้น
6.แกนกลาง คือแกนค้ำยัน
7.ลี้ก คือ ระแนงสานรอบต้น
8.คันกล่อง คือ ส่วนประกอบสำหรับห้อยสายมาลัย
9.แมงมุม คือ ส่วนประกอบยอดสูงสุด ด้านล่างจะปอกเป็นง่ามเพื่อประกอบเป็นโดมส่วนบนช่วงบ่าย ชาวบ้านส่วนที่เหลือก็จะออกมาช่วยกันประกอบต้นดอกไม้ส่วนที่เหลือ และประดับดอกไม้ลงบนต้น ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะมีการสาดน้ำเล่นสงกรานต์กันไปด้วย เป็นที่สนุกสนาน ของทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ คนหนุ่มสาว ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้อาวุโสของหมูบ้านก็ออกมาให้กำลังใจกัน มันเป็นภาพที่งดงามที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงรวมใจกันเพื่องานประเพณีประเพณีอันดีงาม เมื่อถึงตอนเย็น ชาวบ้านหมู่ไหนทำต้นดอกไม้เสร็จแล้วก็จะนำต้นดอกไม้มาตั้งไว้ข้างๆโบสถ์ที่วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภาให้ชาวบ้านและผู้ศรัทธาจุดเทียนประดับบริเวณคาน พระหลวงพี่ในวัดเล่าให้ฟังว่า การจุดเทียน ที่คานต้นดอกไม้ มีความเชื่อว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนาในสิ่งที่ทำเมื่อใกล้ถึงเวลาแห่ ชาวบ้านจะปีนขึ้นไปในต้นดอกไม้เพื่อจุดเทียนที่อยู่ด้านใน เพื่อจุดเทียนภายในต้นดอกไม้ในปีนี้ นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าฯ เลย พร้อมด้วยนางพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนศิริ ผอ.การภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น.ส.ยุภา ปานรอด ผอ.ททท.สำนักงานเลย นายจตุรศักดิ์ โกมลวิภาคนายอำเภอนาแห้ว จ.เลย ร่วมเปิดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ชาวบ้านอำเภอนาแห้ว จ.เลย เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนการแห่ต้นดอกไม้
เริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ เมื่อเสียงสวดมนต์เงียบลง เสียงดนตรีอันสนุกสนาน คึกคัก ก็เริ่มขึ้น ชาวบ้านจะร้องรำกันอย่างสนุกสนานไปพร้อมๆกับแห่ต้นดอกไม้ไปรอบๆโบสถ์ 3 รอบ เพื่อ เป็นการบูชา พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ จากนั้นก็จะวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบอุโบสถเพื่อบูชาพระรัตนไตร พอตอนเช้าก็จะนำต้นดอกไม้ไปซ่อมแซมและเปลี่ยนดอกไม้เพื่อใช้แห่ในคืนวันพระตลอดเดือนเมษายน