ภูหลวง เป็นเทือกภูหินทรายที่มีระนาบหน้าตัด ทอดตัวยาวจากเหนือจรดใต้ ที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า 140 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่มากกว่าภูกระดึงเกือบสามเท่า มีสภาพสังคมป่าที่หลากหลายทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าไม้พุ่ม ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า ที่สำคัญก็คือบนพื้นที่ราบยอดตัดของภูหลวงมีสายน้ำสาย ยังมีภูเขาลูกใหญ่ตั้งตระหง่านซ้อนอยู่กลางที่ราบยอดตัดอีกสองลูกคือ ภูยองภู (1,562 เมตรจากระดับน้ำทะเล) กับ ภูขวาง (1,571 เมตรจากระดับน้ำทะเล)
ภูหลวงจึงจัดว่าเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของกล้วยไม้ป่าที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น (Endemic) อยู่มากมายหลายชนิด แม้กระทั่งในปัจจุบันและอนาคตที่มีการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก เป็นแหล่งพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของเมืองไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ที่สุด” ของเมืองไทยได้เลย ป่าภูหลวงมีชื่อเสียงกระฉ่อนนามว่า “มรกตแห่งอีสาน” กระทั่งมีการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเต็มรูปแบบทางด้านอำเภอวังสะพุง ต่อมาก็ได้ปิดอย่างเป็นทางการ จนเป็นที่น่าเสียดายสำหรับคนรักธรรมชาติ ที่พลาดโอกาสขึ้นไปชมความสวยงามทางด้านธรรมชาติและพืชพรรณของป่าภูหลวง
กระนั้นแล้วทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เข้มข้น ก็ยังจัดแบ่งพื้นที่ให้คนรักธรรมชาติได้เข้าไปศึกษาธรรมชาติได้ในเส้นทางหน่วยฯ โคกนกกระบา โดยให้เข้าไปได้ตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน และเป็นเส้นทางรถยนต์ที่เข้าไปถึงหน่วยฯ โคกนกกระบาด้วย ไม่ต้องเดินเท้าขึ้นเขาเหมือนกับเส้นทางอื่นๆหน่วยโคกนกกระบา มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นเส้นทางผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ ผาเตลิ่น และเส้นทางลานสุริยันต์ โคกกระบา ที่ถือว่าเป็นแหล่งพันธุ์ กล้วยไม้ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของผืนป่าภูหลวง ลักษณะความหลากหลายของกล้วยไม้ได้เกิดขึ้นช่วงฤดูกาล
ในเส้นทางไปยังผาเตลิ่น เราควรเริ่มจากช่วงเวลาเช้าตรู่ ด้วยการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาช้างผ่านหรือผาสมเด็จ ต่อมาก็เดินเท้าไปยังผาเตลิ่นที่ระหว่างทางเราจะพบกับทุ่ง กุหลาบขาว (Rhododendron lyi ) ที่ผลิบานสะพรั่งอยู่ทั่วลานภู และยังกล้วยไม้ที่น่าสนใจในช่วงแล้ง อย่างเช่น ครั่งแสด (Dendrobium Unicum) เอื้องตาเหิน ขึ้นอยู่ตามพุ่มไม้อยู่ด้วยจนถึงผาเตลิ่นเราจะพบกับสีสันธรรมชาติที่จัดจ้านอย่างดอก กุหลาบแดง (Rhododendron simsii) ที่ผลิบานเป็นพุ่มเป็นกอใหญ่อยู่ริมหน้าผา มีมุมมองที่สวยงามและลงตัวกับธรรมชาติมากที่สุด จนกลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสความสวยงามของผืนป่าภูหลวง แต่น่าเสียดายที่บางปีดงกุหลาบแดงที่ผาเตลิ่นกลับไม่สวยเท่าที่ควร
ขากลับเราจะแวะเที่ยวชมร่องรอยไดโนเสาร์ที่ปรากฏอยู่บนลานหินทรายเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ปรากฏอย่างชัดเจนอยู่เกือบสิบรอยทีเดียว แสดงให้เห็นป่าภูหลวงในยุคหลายล้านมานั้นก็ยังเป็นถิ่นของสัตว์ดึกดำบรรพ์อยู่ด้วย
ในห้วงฤดูหนาวบริเวณหน่วยโคกนกกระบา เราสามารถพบเห็น กุหลาบแดง(Rhododendron simsii) ได้เติมสีสันบรรยากาศอยู่รอบบริเวณหน่วย รองเท้านารีอินทนนท์ (Paphiopedilum vilosum ) เป็นกล้วยไม้หายากที่จะดูได้ง่ายก็เป็นบริเวณสำนักหน่วย เอื้องสำเภางาม (Cymbidium insigne) แทงช่อสูงจากพื้นขึ้นมาจนเห็นได้ชัด เอื้องกระดิ่งภู (Pleione maculata) ออกดอกเดียวใหญ่กลีบขาวปากลายสวยสุดๆ รองเท้านารีปีกแมลงปอ หรือรองเท้านารีสุขะกุล (Paphiopedilum sukhakulii) เป็นกล้วยไม้ดินที่เป็นภาพลักษณ์ของภูหลวง และ สิงโตสยาม และกลุ่มสิงโตชนิดต่างๆ อีกหลากหลายชนิดที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างไว้ตามช่วงฤดูกาลตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติสู่ลานสุริยันต์ที่เป็นศูนย์รวมกล้วยไม้ตามป่าหินป่าแคระที่เราจะพบกับ เอื้องตาเหิน (Dendrobium Infundibulum) ก็ทยอยดอกเด่นใหญ่สีขาวปากส้มสวยตลอดหน้าร้อน เอื้องขยุกขยุย (Bulbophyllum dayanum Rchb. f.) หลบตัวตามโขดหิน ไม่สังเกตดี ก็อาจผ่านสายตาไปได้
ครั่งแสด (Dendrobium Unicum) เป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กอวดดอกสีส้มแสดเด่นบนคบคาจนได้รับการขนานนามว่า ราชินีแห่งหน้าร้อน ส่วน เอื้องมอนไข่ (Dendrobium Thyrsiflorum) ก็ห้อยช่อโชว์ดอกขาวปากเหลืองสดเป็นพวงใหญ่ระย้าเต็มคบคาไม้น้อยใหญ่ เช่นเดียวกับ เอื้องคำ (Dendrobium Chrysotoxum) ให้ดอกเหลืองทองสวยเป็นช่อเป็นพวงเหลืองไปทั่วป่า ที่สวยสุดกลับเป็น เอื้องสายครั่งยาว (Dendrobium Litu ) ที่ให้ดอกม่วงครามเต็มสายที่ห้อยยาวลงมาจากคบคา เอื้องสายมรกต(Dendrobium Chrysanthum) ให้ดอกเหลืองปากแต้มกลมสีดำแข่งกับ เอื้องสายน้ำผึ้ง (Dendrobium Primulinum) ที่ให้ดอกสีชมพูอ่อนปากเหลืองงามสะพรั่งไปเป็นแนว ยังมีเจ้าสิงโต (Bulbpphyllum sp.) ในสกุล Racemoza ให้ดอกรูปร่างแปลกตาเป็นรวงยาวคล้ายรวงข้าว โดยจะมีความแตกต่างในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
ที่โคกนกกระบา จะมีเส้นทางเดินเที่ยวชมดอกไม้กล้วยไม้ทั้งเส้นทางผาเตลิ่นและเส้นทางลานสุริยันต์ และยังมีบ้านพักรับรอง ที่ต้องมีหนังสืออนุญาตจากรมอุทยานฯ นักศึกษาธรรมชาติสามารถเที่ยวชมดอกไม้และชมทิวทัศน์ของผืนป่าภูหลวงได้ส่วนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด ก็อย่าไปฝืน เพราะถ้าเจ้าหน้าที่เขาเห็นไปเด็ดหรือเก็บกล้วยไม้ ก็จะมีความผิดและเห็นผลของกฎอย่างทันที
ธรรมชาติที่สร้างสรรค์ไว้ตามเส้นทางธรรมชาติที่เราต้องเดินตามเส้นทางที่กำหนด เพราะธรรมชาติรอบๆ ตัวเรานั้น ล้วนเป็นความเปราะบางที่ไม่ควรเข้าไปเหยียบย่ำให้เกิดความบอบช้ำและเสียหายขึ้นมาได้ ดังนั้นแต่ละปีก็มีปิดพื้นที่เพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้น ให้ธรรมชาติปรับตัวขึ้นมาอีกครั้ง
ข้อมูลนักเดินทาง
การเดินทางสู่ภูหลวง ทางด้านหน่วยฯ โคกนกกระบา หรือทางด้านอำเภอภูเรือ สามารถเดินทางได้อย่างนี้
เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ -ชัยภูมิ -ชุมแพ – เลย ระยะทางประมาณ 560 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ – เพชรบูรณ์ – ด่านซ้าย – ภูเรือ – เลย ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร
เริ่มต้นจากจังหวัดเลยไปยังเขตฯ ภูหลวง ใช้เส้นทางสาย เลย – ภูเรือ ระยะทาง 36 กิโลเมตร จะถึงบ้านสานตม แล้วแยกซ้ายไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ ภูหลวง แล้วต่อขึ้นไปยังหน่วยโคกนกกระบาอีก 10 กม.
ถ้าหากเดินทางโดยเส้นทางที่ 2 ไม่ต้องเข้าตัวจังหวัดเลย เมื่อถึงภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านสามตม แล้วแยกขวาไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ ภูหลวง ต่อขึ้นไปยังหน่วยโคกนกกระบาอีก 10 กม.
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวขึ้นไปยังหน่วยโคกกระบา ควรเป็นรถยนต์ปิกอัพ หรือ รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ส่วนรถตู้ รถเก๋ง ก็ขึ้นได้ หากไม่โหลดเตี้ย
กรณีเดินทางด้วยรถทัวร์ประจำทาง ให้มาลงที่ อ.ภูเรือ แล้วหาเช่ารถเหมาขึ้นภูหลวง ได้ที่ตลาดภูเรือ
กรุงเทพฯ-เลย ติดต่อสอบถามสถานีขนส่งหมอชิต โทร.0-2936-2841-48, 0-2936-2852-66 ต่อ 448,611 จองตั๋วโดยสาร ต่อ 605
หรือสอบถามบริษัท แอร์เมืองเลย โทร.0-2936-0142, ชุมแพทัวร์ โทร.0-936-3842
กรุงเทพฯ-ภูเรือ ติดต่อบริษัท เพชรประเสริฐทัวร์ โทร.0-2936-3230
การติดต่อขออนุญาต
การขึ้นไปพักแรมที่ภูหลวงต้องติดต่อทำเรื่องขออนุญาตเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเวลาล่วงหน้า 15 วัน โทรติดต่อสอบถามที่ 0-2561-4292-3 ต่อ 706,707 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โทร.0-1221-0547
ที่พัก
ที่พักด้านบนภูหลวงจะมีจำนวนจำกัด ต้องทำเรื่องขออนุญาตมาก่อน จึงสามารถเข้าพักได้ที่หน่วยฯ โคกนกกระบา จะไม่อนุญาตให้กางเต็นท์ แต่จะมีโซนกางเต็นท์ได้ อยู่ที่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อยู่ก่อนถึงโคกนกกระบา 10 กม. นอกจากนี้ก็ยังมีบ้านพักในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านพักหรือรีสอร์ทที่ภูเรือ ซึ่งมีอยู่มากมาย สามารถติดต่อพักที่ภูเรือ แล้วขึ้นไปเที่ยวภูหลวง แบบไปเช้า-กลับเย็น ได้