ปากน้ำโพเป็นชื่อเรียกติดปากของจังหวัดนครสวรรค์ ปากน้ำโพคือจุดที่แม่น้ำสี่สายไหลมาบรรจบกัน น้ำวังไหลมารวมกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก น้ำยมไหลมารวมกับแม่น้ำน่านที่จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำทั้งสองสายต่างไหลทอดยาวมาที่ปากน้ำโพ เมือแม่น้ำทั้งสองสายไหลมารวมกันที่ ต.ปากน้ำโพ จึงกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนมากมาย ครอบคลุมกินพื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย จึงกลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนมากมาย
ทริปนี้ดูเอเซีย.คอม มาที่เมืองสี่แควนครสวรรค์ดูแม่น้ำสองสีที่ปากน้ำโพ ทำไมจึงเป็นสองสี วันนี้เราไปเจอกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่คุ้มน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่เด็ก คุณป้าสร้อยบอกว่าแม่น้ำทั้งสองสายที่เป็นสองสีก็เพราะดินที่อยู่ใต้น้ำไม่เหมือนกัน ดินทางแม่น้ำน่านจะอุดมสมบรูณ์ด้วยแร่ธาตุต่างๆมากกว่าน้ำจึงเป็นสีเหลืองขุ่นและปลาจะชุมมากกว่าสายแม่น้ำปิง วันนี้เราเลยอาศัยเรือป้าสร้อยนำทัวร์ปากน้ำโพและตามหาชาวประมงแห่งคุ้มแม่น้ำนี้ เพื่อจะได้ดูว่าปลาที่อาศัยอยู่ในคุ้งแม่น้ำนี้มีปลาอะไรบ้าง
เรือล่องผ่านจุดบรรจบของแม่น้ำสองสีเห็นชัดเจนมาก(ตรงปลายแหลมที่เกาะกลาง) มีรูปมังกรตั้งเด่นชัด สายน้ำทอดยาวไปเรื่อยๆจนน้ำทั้งสองสายรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้สายน้ำอันเชียวกราดแห่งนี้ ยังมีชีวิตอีกหลายๆชีวิตที่ต้องอาศัยสายน้ำอันเชียวกราดแห่งนี้เพื่อดำรงชีพอยู่ในวิถีที่เขาเรียกว่า ชาวประมง
ชีวิตของพวกเขาอยู่ในแพลอยน้ำบนแม่น้ำสายนี้ เขาอยู่ได้ยังไงแต่ด้วยอาชีพแล้วพวกเขาถือว่าเป็นชีวิตปกติ เพราะชีวิตประมงต้องนอนและกินอยู่บนสายน้ำตลอดเวลา ตามสายน้ำน่านจากส่วนแยกที่ปากน้ำโพ ตามริมน้ำจะเห็นแพของชาวประมงทอดยาวประมาณ 5-10 กิโลเมตร ด้านบนฝั่งก็จะเห็นบ้านโบราณแบบเสาสูงเพื่อป้องกันเวลาน้ำขึ้น วิถีชีวิตของชาวปากน้ำโพก็ยังใช้เรือในการเดินทางอยู่เป็นประจำและคงเป็นอย่างนี้ไปอีกน่านเท่าน่าน
และเราก็มาพบชาวประมงที่หาปลาอยู่ในคุ้งน้ำแห่งนี้ อุปกรณ์หาปลาก็เป็นแบบชาวบ้าน แห ตาข่าย ลอกรอย ซึ่งเป็นอุปกรณ์หาปลาตั้งแต่ดั้งเดิมวิธีที่นิยมที่สุดคือการปล่อยตาข่ายให้ไหลไปกับสายน้ำแล้วมัดปลายสายไว้ที่เรือปล่อยเรือให้ไหลไปตามสายน้ำยาวไปประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วจึงกู้ขึ้นมาบนเรือและกลับเข้าฝั่งเพื่อทำความสะอาดตาข่ายและนำปลาออกจากตาข่าย ก่อนที่จะออกไปหาปลาในรอบต่อไป วันหนึ่งออกจะหาปลาประมาณ 10-15 รอบ รอบหนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปลาที่หาได้ส่วนมาก คือ ปลากาดำ ปลาตะโกง ปลาแดง ฯลฯ ช่วงนี้จะออกหาปลาเฉพาะกลางวัน แต่ในช่วงฤดูหนาวปลาจะชุมมาก บางทีก็ต้องหาตอนกลางคืนด้วย วันๆหนึ่งได้หลายกิโลกรัมตอนเช้าหรือเย็นก็จะมีแม่บ้านนำปลาไปขายในตลาดถือว่าเป็นชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิมที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่นหาดูได้ยากในทุกวันนี้
ทริปนี้เอาใจชาวไทยเชื้อสายจีนกันหน่อยที่ปากน้ำโพแห่งนี้มีศาลเจ้าที่เก่าแก่อยู่คู่กับปากน้ำโพมานานกว่า 150 ปี วันนี้พามาไหว้ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-ศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ชาวนครสวรรค์หมั่นแวะเวียนกันเข้ามาเพื่อกราบไหว้บูชาในทุกๆวัน และในช่วงตรุษจีนของทุกปีจะมีการทำบุญใหญ่นะศาลเจ้าแห่งนี้ จะมีการเชิดสิงโตขนาดใหญ่เพื่อบูชาเทพเจ้าซึ่งมีซื่อเสียงโด่งดังไปทั่วว่าเป็นการเชิดสิงโตที่ใหญ่แห่งหนึ่ง ถือว่าเป็นศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวปากน้ำโพอย่างแท้จริง
ภายในศาลเจ้าสร้างไว้อย่างสวยงามมีเครื่องสักการะตามแบบชาวจีนอย่างครบครัน ด้านข้างศาลเจ้าจะเห็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ชีวิตอยู่แบบดั้งเดิมเป็นห้องแถวเรียงรายอยู่ข้างศาลเจ้า ด้านหน้าศาลเจ้าจะมองเห็นปากน้ำโพเป็นแม่น้ำสองสีอย่างชัดเจนที่สุดเมื่ออยู่บนฝั่งถือว่าเป็นศาลเจ้าที่สวยงามแห่งหนึ่งของเมืองไทย
นอกจากเป็นต้นน้ำเจ้าพระยาแล้วยังประกอบไปด้วยสิ่งทีน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งชีวิตแบบชาวแพชาวประมงการดำรงชีวิตของคนริมฝั่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างเข้มแข็งและยาวนาน ซึ่งในทุกันนี้วัฒนธรรมอาจถูกครอบงำจากโลกภายนอกบ้างแต่พวกเขาเหล่านี้ก็ยังใช้ชีวิตอยู่กับคุ้งน้ำปากน้ำโพอย่างนี้ตลอดไป
ปากน้ำโพตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำโพตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ ที่หน้าอำเภอมีเมนูพิเศษไว้ให้ชิมอย่างมากมายหลายร้าน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง ขนมจีน ฯลฯ หลังจากเที่ยวชมแม่น้ำสองสีแล้วก็หาแวะชิมกันได้หรือถ้าอยากซื้อของฝากก็จะมีตลาดติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีสินค้ามากมายให้เลือกชมและเลือกซื้อกันตลอดเส้นทางเดินเท้า
การเดินทาง
ก็ไม่ยากครับจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่งก็ถึง โดยใช้เส้นทางสายเอเชียมุ่งตรงมาที่จังหวัดนครสวรรค์ ข้ามสะพานเดชาติวงศ์แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนสวรรค์วิถี ไปจนถึงที่ว่าการอำเภอให้เลี้ยวขวาก็จะเห็นปากน้ำโพครับถ้าใครมีโอกาสผ่านมาที่นครสวรรค์สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยคือ ไปดูแม่น้ำสองสีที่ปากน้ำโพ ชมชีวิตชาวประมงบนแพลอยน้ำและยังได้ไหว้ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ปากน้ำโพรับรองว่าคุ้มแน่นอนครับ. เอาไว้ทริปหน้าจะหาสถานที่ดี ๆ แบบนี้มาฝากกันนะครับ