เจอกันอีกแล้วครับสำหรับทริปนี้ที่ภาคเหนือ หลังจากก่อนหน้านี้ที่เราเคยมาตามรอยเจ้านางจามเทวีกันแล้วโดยเริ่มจากตาก ลำพูนและลำปาง เมื่อครั้งนั้นเราได้เห็นความสวยงามทางด้านสถานที่สิ่งต่างๆที่น่าสนใจที่จังหวัดลำพูนซึ่งมีหลายๆอย่างที่หลายคนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นกันมาก่อน วันนี้เราจึงกลับมาอีกครั้งเพื่อ ดูกันให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม เพื่อให้เพื่อนๆดูเอเซียได้เห็นในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่หลายคนยังไม่เคยรู้ หลายคนคงเดินทางมาเที่ยวภาคเหนือหลายต่อหลายครั้งแต่ส่วนมากก็จะมุ่งหน้าสู่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หรือแม่ฮ่องสอน โดยลำพูนเปรียบเหมือนเป็นแค่เส้นทางผ่านเท่านั้น แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าเส้นทางผ่านนั้นมีเรื่องราวต่างๆมากมายให้ได้ค้นหา รอการเปิดเผยให้เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ เป็นจังหวัดที่หลายคนมุ่งหน้าและตั้งใจที่จะมามากกว่าเป็นแค่เส้นทางผ่านเท่านั้น เรามารู้จักจังหวัดที่น่าสนใจนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
ลำพูน จังหวัดที่เล็กที่สุดของภาคเหนือ จะมีกี่คนที่รู้ว่าลำพูนเป็นจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤาษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตร หรือ ชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญ ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญชัย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวม แว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถึงแม้ว่า จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,505.882 ตร.กม. หรือประมาณ 2,815,675 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.85 ของพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน บริเวณที่กว้างที่สุดประมาณ 43 กม. และยาวจากเหนือจดใต้ 136 กม. จังหวัดลำพูนมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 4 สายคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำท่าแม่น้ำลี้ แบ่งการปกครองเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอแม่ท่า อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านธิ และอำเภอเวียงหนองล่อง
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอถิน จังหวัดลำปาง อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอห้างฉัตร อำเภอสบปราบ และอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอฮอด อำเภอจอมทอง อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
ลำพูนเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความเป็นเมืองเล็ก ๆ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายในตัวเมืองมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จึงพบเห็นวัดวาอาราม ถึกเก่า เรือนแถวโบราณ รายเรียงอยู่สองข้างทาง ถึงแม่จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานที่สุดในแผ่นดินล้านนา อาณาจักรหริภุญไชยเป็นอาณาจักรพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 600 ปีก่อน ก่อนที่พญาเม็งรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น ลำพูนเหมาะแก่การเที่ยวชมวัดวาอาราม ศิลปวัฒนธรรม และงานหัตถกรรม โดยเฉพาะความเก่าแก่ในเขต อ.เมือง ส่วนมากมีความเป็นมาย้อนหลังไปไกลถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ทริปนี้เราจะมาไหว้พระ 9 วัดกันที่จังหวัด ลำพูน เริ่มต้นกันที่วัดพระธาตุหริภุญชัยกันก่อน เพราะถือว่าเป็นพระธาตุหลักเมือง และเป็นพระธาตุประจำปีระกา
1.วัดพระธาตุหริภุญชัย สร้างในสมัยพญาอาทิตยราชยุคหริภุญชัย อายุกว่าพันปีตั้งแต่พ.ศ.1651 ในหนังสือตำนานวัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูนได้บันทึกไว้ว่าวิหารหลวงหลังเดิม สร้างในปี พ.ศ.2412 สมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เป็นวิหารพื้นเมืองทรงล้านนาที่สร้างได้สัดส่วนและฝีมือประณีตมาก ทุกคนยอมรับว่าเป็นวิหารที่สวยงามมากในยุคนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ.2458 ได้เกิดลมพายุครั้งใหญ่พัดวิหารหลวงพังไป ทางวัดและหน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมกันสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นใน ปี พ.ศ.2460 ในสมัยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เป็นผู้ครองนครลำพูน แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เป็นไปอย่างเชื่องช้า วิหารดังกล่าวจึงใช้เวลากว่า 12 ปีจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2472 ซึ่งเป็นรูปแบบและโครงสร้างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
2.วัดมหาวัน เป็นวัดต้นกำเนิดของพระรอดลำพูน หนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี(พระสมเด็จวัดระฆัง พระรอดมหาวัน พระนางพญา พระผงสุพรรณ และซุ้มของพระสกุลลำพูน)วัดมหาวันสร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวี ขึ้นครองนครหริภุญชัยในราว พ.ศ.1200 สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อคือ พระรอดมหาวัน แล้วเราก็จะเดินทางกันต่อไปที่วัดพระคงฤาษี
3.วัดพระคงฤาษี เป็นวัดพระคงฤาษี เป็นต้นกำเนิดของพระพิมพ์รุ่นพระคง และมีตำราของเมืองเป็นแหล่งชุมพระฤาษีทั้งห้าเพื่อร่วมสถาปนานครหริภุญชัยดังนั้นใครมีโอกาสไปไหว้พระคง ชีวิตจะมั่นคง เกียรติยศเป็นที่ปรากฏตลอดการ เมื่อเราได้กราบไหว้กันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาหาอาหารมาใส่ท้องกันแล้วเนื่องจากกองทัพต้องเดินด้วยท้องเราจึงย้อนกลับมากิน ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไยของดีเมืองลำพูนอยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยเดินผ่านกาดขัวมุงท่าสิงห์เข้าไปจนสุดก็จะเห็นป้ายร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไยทันทีเพื่อนๆลองแวะมาชิมกันได้อร่อยมากหลังจากลองชิมกันแค่คนละสองสามชามก็ได้เวลาเดินทางกันต่อตอนนี้เราจะเดินทางไปอำเภอลี้กันต่อเพื่อไปไหว้สาอัฐครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญล้านนาแห่งหริภุญชัย และไหว้สาสรีระครูบาชัยวงศาพัฒนาขอพรให้ได้รับความสำเร็จโชคดีมีชัยชนะตลอดกาล
4.วัดบ้านปาง เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกภายในบริเวณวัดนอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน ได้แก่ สบง จีวร หมอน กระโถน และแจกัน และอีกมากมายหลังจากนั้นเราเดินทางท่ามกลางสายฝนเพื่อมุ่งหน้าไปที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มกันต่อพอมาถึงฝนก็เริ่มจะหยุดพอดี
5.วัดพระบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 46 – 47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ ตามประวัติเล่าว่า มีชาวลัวะ 2 คน ชื่อแก้วมาเมือง และพยามาจากเมืองเถิน และพรานล่าเนื้อ 8 คน เข้าป่าล่าสัตว์ได้มาพบพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จมาโปรดพุทธบริษัทบริเวณนี้ จึงนำเนื้อสดที่ล่ามาได้ถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อ พวกพรานจึงนำข้าวและผักไปต้มที่ข้างห้วย พอสุกแล้วจึงนำมาใส่บาตร เมื่อฉันเสร็จแล้วพระพุทธเจ้าจึงเทศโปรดเมตตาให้พวกลัวะและพรานทั้ง 8 คนฟัง จนเกิดศรัทธาขึ้น จึงขออาราธนาพระพุทธเจ้าเหยียบหินให้เป็นรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธบริษัททั่วไป วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายในมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลง ที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม โดยครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังของทางภาคเหนือ เป็นผู้บูรณะก่อสร้างและจากศรัทธาของบรรดา ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบบริเวณวัด ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และทุกปีประมาณเดือนธันวาคม ชาวกะเหรี่ยงจะจัดงานชุมนุมชาวกะเหรี่ยงและ สืบสานวัฒนธรรม มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรมชาวดอย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือชาวกะเหรี่ยง บริเวณบ้านพระบาทห้วยต้ม
หลังจากเดินทางกันมาทั้งวันก็ถึงเวลาช๊าตแบตทังคนและกล้องกันแล้วเพื่อเตรียมพร้อมกันต่อสำหรับวันพรุ่งนี้เรายังมีสถานที่น่าสนใจให้ไปเก็บภาพเก็บเรื่องรามต่างๆกันต่อเมื่อเราพักผ่อนกันแล้วเช้าวันที่สองวันนี้เราจะออกเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแม่ปิงกันต่อ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัดด้วยกันคือ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.สามเงา จ.ตาก เรามาถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ได้ให้ความรู้ความเป็นมาเกี่ยวกับอุทยานกันพอสมควร ก็ได้เวลาลงเรือกันแล้ว วันนี้โชคดีมากที่ฝนไม่ตก แต่อากาศค่อนข้างจะร้อนถ้าเพื่อนๆจะมาแนะนำให้เตรียมหมวกครีมกันแดด แว่นตากันแดด เสื้อแขนยาวมาด้วยเพราะเราจะต้องใช้เวลาในการล่องเรือไปกลับก็ 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่เราล่องเรือกันมาซักพักเราก็มาแวะชมโรงเรียนที่อยู่ในเรือนแพกันก่อน เป็นโรงเรียนเล็กๆมีเด็กนักเรียนไม่ถึง10คนหลังจากนั้นเราก็มุ่งหน้าไปที่ถ้ำช้างร้องกันต่อ ถ้ำช้างร้องเป็นถ้ำขนาดเล็กที่มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันเป็นสถานที่สักการะของนักท่องเที่ยวและผู้สัญจรทางเรือในแม่น้ำปิง และมีพระภิกษุสงฆ์อาศัยจำวัดดูแลรักษาสถานที่รวมทั้งใช้ปฏิบัติธรรม ห่างจากแก่งก้อไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร หลังจากนี้เราจะมุ่งหน้าไปไหว้พระธาตุดวงเดียวกันต่อ
6.วัดพระธาตุดวงเดียว(เวียงเจดีย์) เป็นวัดขนาดเล็กอยู่บนเนินไม่ไกลจากตัวเมืองลี้มากนัก สิ่งปลูกสร้างในวัดรวมทั้งองค์ประธาตุล้วนสร้างขึ้นมาภายหลัง มีอายุไม่เกิน 80 ปีโดยสร้างขึ้นใหม่บนตำแหน่งเมืองโบราณเดิม การมาไหว้ขอพรที่นี่เพื่อขอให้เป็นที่หนึ่งเป็น เป็นหนึ่งเดียวในทุกเรื่องราว เสร็จแล้วเราไปพอพรให้ก้าวย่างของชีวิตพบแต่ความสุขที่งดงามกันต่อที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า
7.วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นวัดสำคัญของจังหวัด ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่าพระพุทธองค์ พร้อมด้วยสาวกได้เสด็จจาริกสั่งสอนไปตามที่ต่างๆ จนถึงที่แห่งนี้ได้รับสั่งให้นำจีวรที่ซักระหว่างทางออกมาตากกับหน้าผาหิน ซึ่งปัจจุบันยังมีรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้ จากนั้นทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน
หลังจากได้เดินทางกันมาทั้งวนแล้ว วันนี้ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ ที่เรายังไม่ได้เดินทางไปเนื่องจากเราใช้เวลาในการล่องเรือนานพาสมควรเพราะเราต้องทวนกระแสน้ำขึ้นมาบวกกับสมาชิกที่มากันหลายท่านกับเรือที่ไม่ใหญ่นักจึงต้องค่อยๆไปเพื่อความปลอดภัย สถานที่ที่เราต้องเลื่อนไปเป็นพรุ่งนี้คือหมู่บ้านดอนหลวงเป็นหมู่บ้านที่เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งพรุ่งนี้เราจะมาเก็บภาพบรรยากาศไปฝากกัน
เช้านี้เป็นวันที่สามแล้วของการเดินทาง ตื่นเช้ามาพร้อมกับสายฝนที่ค่อยๆตก สถานที่แรกที่เราจะไปกันในวันนี้คือ วัดจามเทวี ซึ่งเอยู่ไกลกับที่พักของเรามากเนื่องจากเมื่อคืนเราพักกันที่ลำพูน วิล เราจึงต้องรีบออกเดินทางกันแต่เช้าเมื่อเราขึ้นรถจากลำพูน วิล ใช่เวลาเดินทางประมาณ 1 นาทีก็มาถึงวัดจามเทวีกันแล้วไกลมากๆ.. จริงๆแล้วแค่เดินข้ามฝั่งมาก็ถึงแล้วเพราะว่าอยู่ตรงข้ามกันกับลำพูนวิล ที่เราพักแต่ว่าเช้านี้ฝนตกจึงต้องขึ้นรถมา
8.วัดจามเทวี แต่เดิมเรียกกันว่า วัดสังฆราม ต่อมาภายหลังเรียกว่า วัดกู่กุด เป็นวัดโบราณเก่าแก่และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์มากที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดลำพูน ใครเป็นผู้สร้างวัดจามเทวีและสร้างมาแต่ครั้งใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ส่วนใหญ่เป็นการสันนิษฐานจากเอกสารซึ่งปรากฏในภายหลังประกอบตำนานและนิยายปรัมปราบ้างเท่านั้นเนื่องจากโบราณสถานสำคัญในวัดจามเทวีที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างสับสนเพียง 2 แห่ง คือกู่จามเทวี หรือกู่กุด หรือสุวรรณจังโกฏเจดีย์ กับรัตนเจดีย์ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า เจดีย์แปดเหลี่ยม
ภายในวัดจามเทวีมีโบราณสถานที่สำคัญคือ สุวรรณจังโกฏเจดีย์ หรือ กู่จามเทวี หรือกู่กุด ลักษณะเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงถือปูนประดับลวดลายปูนปั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางประทานอภัย ชั้นละ 3 องค์ ทั้ง 4 ด้านด้านละ 15 องค์ รวมทั้งสิ้น 60 องค์ และที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์แต่ละชั้นมีเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็กประดับประจำทุกมุม ใหญ่เล็กลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในวัดใกล้ๆ กันมีเจดีย์เล็กชื่อว่า รัตนเจดีย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ขนาดย่อมรูปทรงแปดเหลี่ยมก่ออิฐไม่ถือปูนประดับลวดลายปูนปั้น มีพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานตามซุ้มเหลี่ยมละองค์ รวม8 องค์ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นภายหลังเจดีย์สุวรรณจังโกฏวัดจามเทวี วัดสำคัญเก่าแก่ของเมืองลำพูน มีประวัติความเป็นมาที่สามารถสืบค้นถึงการสร้างเมืองหริภุญชัยได้ ด้วยความที่วัดนี้มีโบราณสถานที่สำคัญจึงทำให้มีผู้คนจากที่ต่างๆ เดินทางมาสักการะเจดีย์กู่กุดและรัตนเจดีย์เป็นจำนวนมาก จนทำให้วัดจามเทวีกลายเป็นวัดสำคัญไม่แพ้วัดอื่นๆ ของจังหวัดลำพูน หลังจากนั้นเราก็ไปไหว้อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีกันต่อ อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีแห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญชัย ผู้ทรงมีคุณธรรม และเป็นนักปราชญ์ผู้กล้า เมื่อเราไหว้อนุสาวรีย์พระนางเจ้าจามเทวีและเก็บภาพกันทามกลางสายฝนจนเรียบร้อยเราก็เดินทางต่อไปที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนกันต่อ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ณ อาคารคุ้มเจ้าราชสัมพัธวงษ์(พุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่)เป็นอาคารเรือนไทยล้านนาชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงจั่วผสมปั้นหยา มุงด้วยกระเปื้องดินขอ(กระเบื้องดินเผาร้านเมือง) บริเวณจั่วและชายคาประดับด้วย”สาระไน่”หรือบางคนเรียกว่า”เรือนสาระไน่”สร้างเมื่อปี พ.ศ.2455 ในสมัยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่10 ปัจจุบันได้จัดำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองลำพูนในอดีต 100 กว่าปีที่ผ่านมาได้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ห้องคือ ห้องประวัติศาสตร์เมืองลำพูน 100 ปี ห้องประวัติคุ้มเจ้าสัมพันธวงศ์และห้องวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของชาวลำพูนในอดีต น่าสนใจมากยังไงอย่าลืมแวะมาเยี่ยมชมกันได้มีประโยชน์มากได้รับความรู้มากมายหลังจากได้รับความรู้กันแล้วจุดหมายต่อไปเราก็เดินทางต่อไปที่หมูบ้านดอนหลวงที่เราไปไม่ทันเมื่อวานนี้กันต่อ
หมู่บ้านดอนหลวง เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านในชุมชนกว่า 250 หลังคาเรือน จำนวนประมาณ 800 คน จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คู่กับทอผ้าฝ้ายเป็นหลักน้อยคนจะรู้ว่าสินค้าผ้าฝ้ายที่วางขายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ จะรับมาจากชุมชนแห่งนี้ เดิมชาวบ้านดอนหลวงเป็น ชาวยอง ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยอง ประเทศพม่า โดยชาวยองมีวัฒนธรรมการทอผ้าสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว ต่อมาเริ่มมีคนภายนอกมาสั่งซื้อ จนพัฒนาเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตและขายผ้าฝ้ายให้คนภายนอกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ หมู่บ้านดอนหลวงยังมีบริการการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์กว่า 20 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 200-300คน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวยอง หลังจากได้เดินชมผลิตภัณฑ์และซื้อของติดไม้ติดมือกันพอสมควรก็ได้เวลาออกเดินทางกันต่อสถานที่สำคัญที่ต่อไปก็คือ กู่ช้าง กู่ม้า
กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ชาวลำพูนนับถือมาก เพราะเชื่อว่าเป็นกู่ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากของพระยาช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นม้าออกศึกหากได้ไหว้กู่ที่นี่ ชีวิตก็จะก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง นำพาชีวิตไปในทิศทางที่ดีงาม
วัดสุดท้ายวัดที่ 9 ของทริปนี้ก็คือวัดพระยืน วัดพระยืน เราจะไปกราบไหว้ขอพร ให้อายุยืน ความรักยั่งยืน หน้าที่การงานมั่นคง ณ วัดพระยืน มีชื่อเดิมว่า วัดพฤทธมหาสถาน ซึ่งพระเจ้าธรรมมิกราช กษัตริย์หริภุญชัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1606-1611 พระเจดีย์เป็นทรงมณฑป มีพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศเครื่องบนประกอบด้วยเจดีย์ห้ายอด โดยมีเจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ ขนาดเล็กเป็นประธาน คล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม และพระเจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย
สถานที่ท้ายสุด สุดท้ายของทริปนี้ก็คือ หมู่บ้านทาป่าเปา หมู่บ้านท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล Tourism Award 2007 เรียนรู้ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนเข้มแข็งที่ได้นาเอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงการอนุรักษ์ป่าไม้อันเป็นที่หวงแหนของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลื้อ ซึ่งยังมีการสืบทอดวิถีการดำเนินชีวิต อาหารการกิน การประกอบอาชีพภาษาพูด การแต่งกายรวมถึงประเพณีที่สำคัญเอาไว้ อย่างสวยงามหลังจากชื่นชมกันเป็นเวลาพอสมควรก็ได้เวลาออกเดินทางกลับกันแล้วเป็นอันว่าทริปนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี แม้สภาพดินฟ้าอากาศบางช่วงจะไม่ค่อยเป็นใจซักเท่าไหร่แต่ก็ไม่เกินความสามารถของพวกเราที่จะนำเอาสีงดีๆ วัฒนธรรม ประเพณี ที่น่าสนใจมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆได้รับรู้และมาท่องเที่ยวกันกับสถานที่ๆมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ที่หลายคนมองข้ามไปอย่างจังหวัดลำพูน
สำหรับทริปนี้ดูเอเซีย.คอมต้องขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาคภาคเหนือ ที่เชิญดูเอเซียร่วมทริปไปเก็บภาพบรรยากาศสถานที่ต่างๆมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆดูเอเซียได้รับรู้และได้เป็นข้อมูลในการเดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดลำพูนจังหวัดที่มีความสำคัญ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนาน เที่ยวไทยสบายกระเป๋า อย่าลืมมาท่องเที่ยวลำพูนกันเยอะๆนะครับ เที่ยวไทยคึกครื้นเศรษฐ์กิจไทยคึกคัก