ดูเอเซียพาเที่ยวเชียงคานเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหล เมืองที่หลายๆคนอยากหาโอกาสไปเยือนกันซักครั้ง เพื่อชื่นชมบรรยากาศเก่าๆที่แสนสบายริมน้ำโขงยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวแล้วนั้นยิ่งโรแมนติกไปใหญ่ การเดินทางสะดวกสบายมาก แนะนำให้นั่งรถโดยสารประจำทางมาจะสะดวกกว่าแล้วก็ได้บรรยากาศอีกด้วย โดยสามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต2 ไปลงที่เชียงคานได้เลย แล้วนั่งรถสามล้อเครื่องต่อไปอีกไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะถึงถนนศรีเชียงคานถนนที่สวยงามเก่าแก่นับร้อยปี แต่ถ้าเพื่อนๆท่านไหนมาถึงแต่เช้าอากาศดีๆก็แนะนำให้เดินมาได้เลย เพราะไม่ไกลมากจะได้อีกรสชาติหนึ่ง เมื่อมาถึงแล้วแนะนำให้เช่าจักรยาน หรือมอเตอร์ไซด์จะสะดวกกว่าแล้วได้บรรยากาศกว่ามาก ไม่ต้องเหนื่อยขับรถมาเอง
ประวัติเชียงคาน เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เคยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรลาวมาก่อน เมืองเชียงคานเก่า หรือเมืองสานะคาม (ชนะสงคราม) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางยุทธศาสตร์สมัยราชอาณาจักรล้านช้าง ถูกก่อสร้างโดย ขุนคาม โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2250 ทางเวียงจันทร์ได้ตั้งเมืองเชียงคานเดิม ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่าน
พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทร์ ตีเวียงจันทร์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย แล้วได้กวาดต้อนผู้คนมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองขึ้นกับเมืองพิชัย
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมา เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย หลังจากปราบได้สำเร็จแล้ว ก็ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาอยู่เมืองปากน้ำเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปขึ้นกับเมืองพิชัย
ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองห ลวงพระบางและได้เข้าปล้นสดมภ์เมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก
ครั้นต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง “แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่” ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่อยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้
เมืองเชียงคาน ไม่ใช่แค่เมืองโบราณ.. บ้านไม้เก่าๆ ร้านกาแฟ มุมหนังสือเล็กๆ เท่านั้น แต่กลับมีนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เดินเที่ยวกันให้เต็มไปหมด อาจจะด้วยเพราะเมืองเชียงคานนี้เงียบสงบ บรรยากาศดี ด้วยการที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์แต่ผสมผสานกับความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่มากจนเกินไปได้อย่างลงตัวในแบบฉบับของเชียงคาน ผู้คนที่เชียงคานก็เป็นมิตร อัธยาศัยดี และการไปเที่ยวที่เชียงคานก็ไม่แพงจนเกินกำลัง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเชียงคานแห่งนี้ ก็จะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายๆ สิ่งที่เชียงคานอาจเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม เชียงคานจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราทุกคนยังคงช่วยกันรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ดำรงวิถีชีวิตในแบบของเชียงคานสืบไป ความเป็นเชียงคานที่คงความเป็นเอกลักษณ์ได้ยาวนานกว่าร้อยปี ก็จะเป็นเช่นเดิมตลอดไป..