ดูเอเซียได้มีโอกาสเยี่ยมชมงานเทศกาลโลกของกว่างที่จังหวัดน่าน เพราะได้ทราบข่าวมาว่าที่จังหวัดน่านได้จัดงานกว่างขึ้นทุกปีประมาณเดือนกันยายนครับ ปีนี้ดูเอเซียตามไปถึงขอบสนามกันเลย จังหวัดน่านเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยเลยล่ะครับที่มีการจัดงานชนกว่าง และสืบต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ ถือได้ว่าการชนกว่างเป็นประเพณีของชาวล้านนาอีกประเพณีหนึ่งไปแล้วล่ะครับ และในงานจะมีผู้คนที่นิยมแมลงชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ และยิ่งกว่านั้นนักเล่นกว่างจากทั่วภาคเหนือตอนบนถึงกับต้องเหมารถตู้กันมาเลยครับ
ขอขอบคุณภาพทั้งหมด จาก FB: กว่าง นักสู้แห่งขุนเขา อ.ปัว จ.น่าน
พวกเขาเหล่านี้ต่างก็นำกว่างที่ว่าสวย ละเก่งมาประชันกันถ้วนหน้า งานนี้ใครที่ว่าเด็ดกว่ากันก็ต้องลองมาประชันด้วยการแข่งชนกว่างและแข่งความสวยงามของกว่าง แต่ว่ากันว่ากว่างที่สวยที่สุดในประเทศคงจะต้องยกให้ กว่างที่อำเภอดอยหล่อ เชียงใหม่ แต่งานนี้ไม่ได้มีเพียงการแข่งชนกว่างเท่านั้นครับ ภายในงานยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเปตอง การประกวดไม้ผั่นกว่าง และการแข่งขันวาดภาพกว่าง น่าชื่นชมนะครับสำหรับการวาดภาพ เป็นสิ่งเสริมสร้างจินตนาการของเด็กและทำให้ผู้คนสนใจที่จะอนุรักษ์กว่างและอนุรักษ์วิถีชีวิตล้านนาให้เข้ากับเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมด้วยการลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้มีกว่างสืบไปยังชั่วลูกชั่วหลาน เพราะตอนนี้กว่างเริ่มลดจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วล่ะครับ
เมื่อก่อนคนที่สะสมกว่างจะสั่งกว่างทีละสอง-สามร้อยตัว เพื่อจะนำไปสตาฟเก็บไว้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วครับ อย่าว่าแต่หลักร้อยเลย หลักสิบก็หาได้ยากแล้วครับ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วผมขอชวนพวกเราช่วยกันอนุรักษ์กว่างกันนะครับ
ดูเอเซียได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกว่างและการชนกว่าง ก็ได้รู้ถึงเกมกีฬาที่ถือได้ว่าหยามกันไม่ได้เลยทีเดียวครับ โอ้โห ! สนุกแน่เลยครับ ช่วงเก้าโมงงานเทศกาลโลกของกว่างเริ่มต้นผู้คนเริ่มทยอยกันมาจากทั่วทุกแดนไกล คนที่นำกว่างมาต่างก็ต้องนำกว่างมาลงทะเบียนกันก่อน ประมาณสิบเอ็ดโมงเห็นจะได้
การชนกว่างคู่แรกเริ่มขึ้น และก็ทยอยแข่งกันไปเรื่อย ๆ จวบจนกระทั่งบ่ายสองโมงจึงได้ทราบผลการประกวดกว่างสวยงาม แต่การชนกว่างจะเริ่มชนอีกครั้งตอนหัวค่ำครับ ช่วงบ่าย ๆ แบบนี้เค้าว่ากันว่ากว่างจะไม่ค่อยสู้ พอพลบค่ำเท่านั้นแหละครับ เสียงกว่างร้องกันระงมเลยครับ กว่างเริ่มชนกันอีกครั้งถึงสองสามทุ่มกันเลยล่ะครับ ยอมกันไม่ได้จริง ๆ เรื่องของกว่างเนี่ย ตัวที่แพ้การแข่งในรอบเช้าก็จะนำมาขายราคาก็จะแตกต่างกันไปมีราคาตั้งแต่ตัวละ 20 บาทถึงหลักพันกันเลยครับ
วัดกันที่ความสวยงามและความแข็งแรงของแต่ละตัว เรื่องความสวยงามก็จะดูกันที่เขากว่าง ว่าจะใหญ่และได้รูปสวยงามขนาดไหน ส่วนความแข็งแรงก็ต้องวัดด้วยการชนกันล่ะครับ ตัวที่ว่าแข็งแรงก็งัดคู่ต่อสู้จนตัวลอยเลยครับ และทุก ๆ ปีจะมีการประกวดธิดากว่างด้วยครับ หรือ นางงามกว่าง สร้างสีสันและบรรยากาศในเทศกาลชนกว่างให้สนุกสนานกันครับ
ดูเอเซียได้ข้อมูลดี ๆ จากงานวิจัยกว่างชนเชิงพาณิชย์ ของสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา น่าน ที่นี่ได้ทำการวิจัยกว่างชนได้ละเอียดยิบเลยครับ ขอออกปากชมว่า เยี่ยมมากครับ ทำให้เราได้รู้จักกว่างได้ดียิ่งขึ้น และทำให้อยากลดภาวะโลกร้อนขึ้นมาทันทีเลยล่ะครับ
กว่าง
กว่าง เป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง ในทางอนุกรมวิธานแมลงได้จัดกว่างให้อยู่ในวงศ์ไดแนสตินี่ วงศ์สคาราบิอิดี้ อันดับโดลีออพเทอร่า ชั้นอินเซ็คต้า หรือเฮกซาโปด้า ส่วนชื่อสามัญนั้นมักเรียกต่างกัน เช่น ด้วงกว่าง ด้วงแรดและด้วงเฮอร์คูลีส หรืออาจมีชื่อเรียกตามชนิดของกว่าง เช่น กว่างซาง กว่างซางเขาใหญ่ กว่างชน
กว่างในเมืองไทย ในประเทศไทย พบหลายชนิดซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาค ตัวเต็มวัยอาศัยพืชและผลไม้หลายชนิดเป็นอาหาร คนไทยในถาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมนำตัวเต็มวัยของกว่างมาทำเป็นอาหาร นำมาเป็นสัตว์เลี้ยง เลี้ยงไว้เพื่อการชนกว่าง นำมาเป็นของที่ระลึก และเก็บสะสม
ชนิดของกว่างที่พบในประเทศไทย
- กว่างชน (กว่างโซ้ง แมงคาม) แหล่งที่พบ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
- กว่างซางเหนือ (กว่างห้าเขา กว่างซาง) แหล่งที่พบ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง
- กว่างซางสยามหรือซางอีสาน แหล่งที่พบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขาใหญ่
- กว่างซางเมืองกาญจน์หรือซางพม่า แหล่งที่พบ ระนอง กาญจนบุรี ตาก
- กว่างสามเขาเขาใหญ่ แหล่งที่พบ กาญจนบุรี เขาใหญ่ จันทบุรี ตราด น่าน ภาคใต้
- กว่างสามเขาจันทร์ แหล่งที่พบ จันทบุรี ภาคใต้
- กว่างญี่ปุ่น แหล่งที่พบ ภาคเหนือ (อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย)
- กว่างกอก แหล่งที่พบ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ความสำคัญของกว่าง
กว่างเป็นศัตรูพืช กว่างเป็นแมลงที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ โดยธรรมชาติของกว่างตัวเต็มวัย จะเป็นศัตรูพืชหลายชนิด เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ไผ่ แต่ระยะตัวเต็มวัยของกว่างอยู่ในช่วงเวลาสั้นประมาณ 2-3 เดือน โอกาสที่จะทำลายพืชจึงมีน้อย ประกอบกับถูกมนุษย์ล่าเอากว่างมาเป็นอาหารหรือขาย
กว่างเป็นอาหารของมนุษย์ คนไทยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้กว่างเป็นอาหาร เช่น กว่างจี่ กว่างทอด แกงกว่างผักพื้นบ้าน น้ำพริกกว่าง กว่างคั่ว อู่กว่าง เป็นต้น
กว่างใช้ทำเครื่องประดับและของที่ระลึก ในปัจุบันมีการนำซากกว่างมาจัดรูปร่างบรรจุกล่องขายเป็นของที่ระลึกและเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังเกิดการผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกว่างอีกมากมาย
กว่างกับระบบนิเวศ ในระยะหนอนของกว่างไม่ทำลายพืช หนอนจะอาศัยกัดกินเศษซากพืชที่เน่าเปื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกอไผ่ที่ตายมากมายในป่า เมื่อถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายเน่าเปื่อยแล้ว หนอนของกว่างจะช่วยกินกอไผ่ผุ แล้วถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารสูงลงสู่ดิน เป็นประโยชน์แก่พืชต่อไป จะเห็นได้ว่ากว่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและเป็นแมลงที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์
กว่างเป็นสัตว์เลี้ยง คนไทยนิยมกว่างมาเพาะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เพลิดเพลินและยังก่อให้เกิดประเพณีการเล่นชนกว่างขึ้นมา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการประดิษฐ์อุปกรณ์เกี่ยวกับกว่างขึ้นมา เช่น ไม้ผั่นกว่าง คอนชนกว่าง เป็นต้น
กว่างชนนักสู้แห่งขุนเขา
กว่างชน (Fighting beetle : Xylotrupesgideon) เป็นแมลงปีกแข็งที่พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งแต่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ตัวเต็มวัยถูกนำมาเป็นอาหารของคนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่างชนมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนล้านนา โดยกว่างชนถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความสวยงาม และเลี้ยงกว่างชนเพื่อนำมาต่อสู้กัน จนเกิดเป็นประเพณีการชนกว่างตามจังหวัดต่าง ๆ ในถิ่นล้านนาไทย
ลักษณะเด่นของกว่างชน กว่างเพศผู้มีเขา 2 เขา ปลายเขามีลักษณะเป็นสองแฉก มีความแตกต่างกันด้านโครงสร้างของลำตัว โดยมี 3 ขนาด ได้แก่ กว่างโซ้ง กว่างแซมและกว่างกิ ส่วนกว่างเพศเมียไม่มีเขา
วงจรชีวิต กว่างชนมีอายุขัย 318-355 วัน โดยมีระยะไข่ 16-20 วัน ระยะหนอน 206-255 วัน ระยะดักแด้ 30-40 วัน และระยะตัวเต็มวัย 50-70 วัน เพศเมียวางไข่ได้ 20-60 ฟองต่อตัว วางไข่ตามกองปุ๋ยหมัก ขี้เลื่อย ไม่ผุ แกลบผุหรือกอไผ่ผุ หนอนอาศัยกินอินทรียวัตถุดังกล่าวและเข้าดักแด้ในดินบริเวณที่หนอนอาศัย ก่อนออกเป็นตัวเต็มวัยบินหาอาหารต่อไป
อาหารและแหล่งอาศัยของกว่าง กว่างชนตัวเต็มวัย อาศัยกินน้ำเลี้ยงบนกิ่งและลำต้นพืช เช่น มะค่า ครามป่า เกาฮกฟ้า หน่อไผ่รวก หน่อไผ่ซาง หางนกยูง ไมยราบยักษ์ น้ำหวานจากผลไม้ ลำไย ลิ้นจี่ กล้วย อ้อย ส่วนหนอนของกว่างจะอาศัยตามกองอินทรีย์วัตถุ เช่น กอไผ่ผุ กองขี้เลื่อยผุ ซังข้าวโพดและแกลบผุ ซึ่งเป็นอาหารของหนอนกว่าง
ไม่ผั่นกว่าง มีการเรียกชื่อต่างกันไป เช่น ไม่ผัดกว่าง ไม้หริ้ง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ประดู่ แดง มะค่า ซึ่งมีความแข็งแกร่ง ไม่หักง่ายขณะเคาะลงบนคอนชนกว่าง ตัวไม้ผั่นกว่างอาจมีการแกะสลักลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีการใช้แผ่นโลหะพวกสังกะสีหรือทองเหลืองประกอบลงบนไม้ผั่นกว่างเพื่อทำให้เกิดเสียงดัง ไม้ผั่นกว่างอาจทำจากวัสดุอื่น เช่น เขาควาย กระดูกและพลาสติก
ไม้ผั่นกว่าง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการชนกว่าง ใช้ปั่นหน้ากว่าง แตะลำตัวให้หันซ้าย-ขวา เดินหน้า ใช้ปั่นและเคาะกับคอยชนกว่างทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กว่างเกิดการตื่นตัวเพื่อทำการต่อสู้กัน
คอนชนกว่าง เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ในการชนกว่าง อาจทำจากวัสดุง่าย ๆ ที่ให้กว่างเกาะเกี่ยวเพื่อการต่อสู้ มักทำด้วยไม้ท่อนเดียว มีกว่างตัวเมียผูกติดเพื่อล่อกว่างตัวผู้หรือใช้วิธีเจาะช่องบนคอนให้หลังกว่างตัวเมียโผล่ออกมา เดิมเจาะรูให้กว่างตัวเมียบนคอนเพียงรูเดียว ต่อมามีการประยุกต์เจาะเพิ่มเป็น 2-3 รู
ด้วงอ่อนก่อนจะเป็นตัวกว่างยอดนักสู้ ช่วยกันอนุรักษ์นะครับ
หลักผูกกว่าง เป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงกว่างไว้บนอ้อย ผู้เลี้ยงจะผูกเชือกที่เขากว่าง แล้วนำมาผูกติดหลักผูกกว่าง เพื่อไม่ให้กว่างบินหนี มีการออกแบบตกแต่งหลักผูกกว่างให้สวยงาม นำมาประชันกันในลานชนกว่าง
หลักผูกกว่างภูมิปัญญาน่านแบบดั้งเดิมทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้อ่อน โน้มไปมาได้ ผูกเชือกบริเวณปลายหลักซึ่งมีขุยไผ่ (ขี้ฝอย)
การเพาะเลี้ยงกว่าง
“กว่าง” เป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีขา 6 ขา เพศผู้มีเขา เพศเมียไม่มีเขา ขยายพันธุ์โดยการวางไข่ลงในดินที่มีอินทรีวัตถุหรือเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยหรือปุ๋ยหมัก ตัวเต็มวัยจัดเป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่ง ทำลายผลสุกของลำไย ลิ้นจี่ และฝรั่ง
ในประเทศไทยมีรายงานพบกว่างหลายชนิดได้แก่ กว่างชนหรือกว่างโซ้ง กว่างซางเหนือ กว่างซางอีสานหรือกว่างซางสยาม กว่างซางเมืองกาญจน์หรือกว่างซางพม่า กว่างสามเขาเขาใหญ่ กว่างสามเขาจันทร์ กว่างญี่ปุ่น และกว่างในกลุ่มด้วงแรด
จ.น่าน พบกว่าง 5 ชนิดคือ กว่างชน กว่างซางเหนือ กว่างสามเขาเขาใหญ่ กว่างญี่ปุ่น และกว่างกอก(ด้วงแรด)
วิธีการเพาะเลี้ยง
1.เตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ ที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม วัสดุเพาะและภาชนะหรือบ่อเพาะ
นำพ่อ-แม่พันธุ์ มาผสมพันธุ์กันประมาณ 2-3 ครั้ง/ตัว (กว่างตัวเมียจะมีถุงเก็บน้ำเชื้อกว่างตัวผู้ไว้ในระบบสืบพันธุ์ เมื่อจะวางไข่จึงปล่อยน้ำเชื้อตัวผู้ออกมาผสมกับไข่ก่อนปล่อยไข่ลงสู่ดิน) วัสดุเพาะอาหารเลี้ยงหนอน ใช้ขี้เลื่อยหลังเพาะเห็ดหรือขี้เลื่อยผุ เศษใบไม้ผุ หรือไม้ผุที่เน่าเปื่อยดีแล้ว ผสมดินร่วนเล็กน้อย ภาชนะหรือบ่อใช้พลาสติก ฝาเจาะรูหรือใช้บ่อซีเมนต์หรืออาจขุดบ่อดินก็ได้ แต่ควรมีฝาปิดกันฝนหรือหลังคากันฝน
2.การเพาะพันธุ์
นำว่างตัวเมียที่ผ่านการผสมพันธุ์แล้ว ปล่อยลงในถังหรือบ่อเพาะที่ใส่วัสดุเพาะลงไปแล้ว ปล่อยให้วางไข่ 2-3 วัน สังเกตดูจะพบกว่างตัวเมียขึ้นมาจากดิน ควรนำกว่างตัวเมียมากินอาหาร (อ้อย,กล้วย) แล้วปล่อยลงไปอีก หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน ไข่ก็จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน (แมงกั่นตู่) หนอนกวางจะกินอาหารที่เตรียมไว้ สังเกตขี้หนอนถ้ามีมากก็ให้ร่อนออกแล้วเติมอาหารลงไปใหม่ เลี้ยงหนอนไปจนถึงเดือนสิงหาคม หนอนก็จะเข้าดักแด้ ถึงต้นเดือนกันยายน ก็จะออกมาเป็นตัวเต็มวัยของกว่าง
ข้อควรระวัง วัสดุเพาะเลี้ยงหนอนจะต้องเน่าเปื่อยหรือสลายตัวแล้ว ขี้เลื่อยสด ซังข้าวโพดหรือเปลือกถั่วจะต้องหมักให้ผุก่อน ระวังมดง่ามเข้าบ่อกัดกินหนอน ฤดูแล้งควรรดน้ำเพื่อรักษาความชื้นของวัสดุเพาะเลี้ยง ฤดูฝนควรมีหลังคากันฝนไม่ให้น้ำท่วมขังตัวหนอน
ขอขอบคุณ : ข้อมูลงานวิจัยของสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ที่ทำให้รู้จักวิถีชีวิตของกว่างได้ดีขึ้นและใครที่อยากเพาะกว่างชนก็ลองนำข้อมูลดังกล่าวไปลองเพาะเลี้ยงกันดูครับหรือสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อได้ที่ สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน 59 หมู่ที่ 13 ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน 55000 โทร. 054-710259 ต่อ 1121 แล้วอย่าลืมนะครับ ! มาช่วยกันลดภาวะโลกร้อนกันนะเถอะครับ
ขอขอบคุณภาพทั้งหมด จาก FB: กว่าง นักสู้แห่งขุนเขา อ.ปัว จ.น่าน