หลังจากได้มีโอกาสเดินทางไปที่จังหวัดลำปาง(อีกแล้ว) และ ทริปก่อนๆ ดูเอเซียก็พาเพื่อนๆ ไปกราบไหว้ศาลหลักเมืองของลำปาง ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง ในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ ดูเอเซียก็จะพาเพื่อน ๆมา รู้จัก และกราบไหว้พระพุทธรูปที่สำคัญมากของเมืองไทย นั่นก็คือ คือ พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ “พระพุทธรูปสี่มุมเมือง” ที่ถูกสร้างขึ้น เพียง 4 องค์ และได้นำไปประดิษฐาน ณ จังหวัดสี่ทิศทั่วประเทศไทย
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ “พระพุทธรูปสี่มุมเมือง” ซึ่งมีอยู่ 4 องค์ ถูกจัดสร้างขึ้นตามความเชื่อและโบราณประเพณีของบ้านเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่จะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องขอบขัณฑสีมาทั้งสี่ทิศ โดยการสร้างพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศนั้นเป็นการสร้างพระพุทธรูปแบบ “จตุรพุทธปราการ” กล่าวคือ เป็นการนำเอาวัดหรือพระพุทธรูปเป็นปราการทั้งสี่ด้าน เพื่อปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างดวงชะตาแก่บ้านเมืองและคุ้มครองพสกนิกรทั้งมวลให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ หลวงพ่อดำ (จังหวัดลำปาง)ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบจตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดลําปาง เป็นพระพุทธรูป สร้างด้วยโลหะผสมร่มดําทั้งองค์ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อดํา จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ.2511 มี 4 องค์ เพื่อนําไปประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ โดยทางทิศเหนือได้นํามาประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดลําปาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์ โดยสาธุชนที่มานมัสการ
ประวัติการจัดสร้าง
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ ถูกจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2511 โดยกรมการรักษาดินแดน กองทัพบก กระทรวงกลาโหม นำโดยพลโทยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมการรักษาดินแดนในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนื่ยวจิตใจและปกป้องคุ้มภัยให้กับประชาชนทุกทิศ ตามความเชื่อแต่โบราณ โดยได้นำต้นแบบมาจาก “พระพุทธนิรโรคันตราย” พระพุทธรูปประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระผู้ทรงมีพระราชทานก่อตั้งกรมการรักษาดินแดน อีกทั้งเมื่อพิจารณาความหมายของพระนามของพระพุทธรูป อันหมายถึง “การปราศจากซึ่งภยันตรายทั้งปวง” นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสถาปนาให้เป็นพระสี่มุมเมืองของไทย
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททอง ณ กรมการรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2511 และได้โปรดเกล้าฯพระราชทานแก่ตัวแทนจากทั้ง 4 จังหวัด เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำทิศทั้งสี่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511
พระพุทธลักษณะ
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบตามแบบศิลปะสุโขทัย โดยมีพระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูน โครงสร้างสร้างคาเป็นเครื่องไม้มุงทับด้วยกระเบื้องอย่างไทยโบราณ บานประตู หน้าต่าง และหน้าลงรักปิดทองทั้งสี่ด้าน
สถานที่ประดิษฐาน
ปัจจุบันพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศทั้ง 4 องค์ ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ ตามทิศทั้งสี่ของประเทศไทย ดังนี้
ทิศเหนือ – ศาลหลักเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง (บนซ้าย)
ทิศใต้ – จังหวัดพัทลุง (บนขวา)
ทิศตะวันออก – วัดศาลาแดง จังหวัดสระบุรี (ล่างซ้าย)
ทิศตะวันตก – เขาแก่นจันทน์ จังหวัดราชบุรี (ล่างขวา)
ในบริเวณใกล้เคียง ก็จะมีศาลหลักเมือง และหลวงพ่อเกษม เขมโก อยู่ด้วย หากได้มีโอกาสไปกราบไหว้หลวงพ่อดำทั้งที ก็ต้องไปให้ได้ครับ