ดูเอเซีย.คอม พาเที่ยวเมืองปาย ไปชมหลวงพ่ออุ่นเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองปายมาช้านาน ประดิษฐานอยู่ที่วัดน้ำฮู ซึ่งชื่อวัดนี้ก็ได้มาจากการที่บนพระเศียรของหลวงพ่อ ซึ่งจะมีน้ำขังอยู่ โดยได้เคยมีการพิสูจน์กันมาแล้วว่า หลังจากที่ได้มีการตักน้ำออกจากพระเศียรของท่านจนหมดแล้ว ทำการปิดวิหาร ห้ามเข้าออก เมื่อมาเปิดดูในพระเศียรของท่านก็จะมีน้ำ ซึ่งแปลกมาก ชาวบ้านที่นั่งที่นั่นจะเล่าว่า พึ่งตักน้ำมาทำน้ำมนต์เมื่อเช้านี้เอง วันนี้ได้ไม่มาก เรื่องนี้แปลกจริงๆครับ
วัดน้ำฮูซึ่งมีพระพุทธรูปที่ชาวเมืองเรียกกันว่าหลวงพ่ออุ่นเมือง ซึ่งไม่เหมือนกับพระพุทธรูปใดๆ เพราะยอดพระเกศสามารถยกขึ้นได้เหมือนฝาผอบ ตัวพระเศียรเองภายในกลวง แต่ที่แปลกคือภายในจะมีน้ำซึ่งเกิดขึ้นเอง จากคำบอกเล่าของลุงที่เป็นคนดูแลบอกว่า ประมาณ 10 วันก็จะเต็ม น้ำที่ได้ในพระเศียรมีประมาณ 1 ขัน ทำให้ต้องตักน้ำลงมาผสมกับอ่างน้ำใหญ่เป็นน้ำมนต์สำหรับผู้ที่เข้าไปกราบนมัสการ
ผมคงไม่ขอออกความเห็นว่าจริงเท็จประการใดเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นได้เอง เพราะน้ำศักดิ์สิทธิ์ใดๆในโลก ก็ไม่สามารถช่วยให้ท่านพ้นทุกข์ได้ ถ้าท่านไม่ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธีด้วยตัวของท่านเองครับ แต่อย่างไรก็ตามได้เคยมีการพิสูจน์กันมาแล้ว โดยนายอำเภอกับประจักษ์พยาน ใช้วิธีตักน้ำออกและใช้สำลีซับน้ำออกจนแห้ง ปิดยอดพระเกศ หยอดครั่งประทับตรา ปิดโบถส์ ใส่กุญแจ หลังจากนั้นอีก 15 วันถ้าผมจำไม่ผิด ก็ไปเปิดดูพร้อมๆกัน ปรากฏว่ามีน้ำเกือบเต็ม วัดนี้จึงเป็นวัดที่ผู้คนที่มาอำเภอปายควรจะเข้ามากราบนมัสการ ”
สุดยอดวัดจากเมืองปาย น้ำจากเศียรพระหลวงพ่ออุ่นเมืองวัดน้ำฮูสุดยอด Unseen แห่งเมืองปายที่ใครๆอาจจะยังเข้าไม่ถึง การเกิดน้ำที่เศียรพระที่ลูกวัดต้องตักออกทุกวัน ดูเอเซีย พาเที่ยววัดน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
วิหารวัดน้ำฮู สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2474 โดยครูบาศรีวิชัย เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอุ่นเมือง ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุสำคัญคู่เมืองปาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ต่อมาวิหารหลังนี้ได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ไม่สามารถใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปอุ่นเมืองได้ คณะพุทธบริษัทจากกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอำเภอปาย โดยมีพลโทวิเชียร วิชัยวัฒนะ เป็นประธานดำเนินการ นายเกษม ไชยวงศ์ จากหน่วยศิลปากรที่ 4 กรมศิปลากร เป็นผู้ควบคุมแบบก่อสร้าง นายสมบูรณ์ เบ็ญมาตร์ นายอำเภอปาย เป็นผู้ประสานงาน ได้ร่วมกันบูรณะวิหารหลังนี้ โดยให้คงลักษณะสถาปัตยกรรมตามแบบเดิมให้มากที่สุด เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน เมื่อปีพุทธศักราช 2533 – 2534 และได้อัญเชิญพระพุทธรูปอุ่นเมืองประดิษฐานในวิหารหลังเดิม
วัดน้ำฮูเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองปาย หรือเมือง “ป้าย” ชื่อเดิมมาแต่สมัยโบราณ แต่ทุกวันนี้ที่เราๆเรียกกันว่า “ปาย” หรือ “เมืองปาย” เพราะว่าเรียกกันเพี้ยนจนมาเป็นเมืองปายหรืออำเภอปายในปัจจุบัน ปายคือสถานที่ที่ทุกคนไฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งต้องไปเที่ยวปายให้ได้ ก็เพราะความสงบร่มเย็นของเมืองปายแห่งนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางหลั่งไหลเข้ามาที่เมืองปาย วิถีชีวิตชาวบ้านเรียบง่าย สงบ ร่มเย็น ของเมืองปายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเมืองปายนี้เองก็มีฝรั่งมาเยอะมาก บางคนถึงกับมาตั้งรกรากที่ปายกันเลย และด้วยความที่เป็นเมืองปาย หรือเมืองป้าย วัฒนธรรมที่มีแต่ยาวนานทำให้มีวัดที่เก่าแก่อยู่หลายแห่ง แต่ละวัดก็จะมีประวัติที่แตกต่างกันไป แต่เมืองปายนี่เองที่มีอยู่หนึ่งวัดที่มีช่ออยู่ในคำขวัญด้วย นั่นก็คือ “วัดน้ำฮู”
ประวัติศาสตร์ของวัดน้ำฮูนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานมาควบคู่กับเมืองปาย หรือเมืองป้าย จากตำนานที่มีผู้บันทึกเป็นหนังสือพื้นเมือง และพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของอำเภอปาย สันนิษฐานว่าคงจะตั้งบ้านเมืองมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นมีการปกครองลักษณะเจ้าผู้ครองนคร เมื่อประเทศไทยได้ประกาศแบ่งเขตการปกครองในปี พ.ศ. 2443 ได้ประกาศให้เมืองปาย ขุนยวม เมืองฮ่องสอน ไปขึ้นกับมณฑลพายัพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ทางการได้แต่งตั้งให้หลวงเจริญ เขตเขลางค์นคร (สอน สุขุมินทร์) มาเป็นนายอำเภอปายคนแรก
จากหลักฐานที่ปรากฏเป็นโบราณวัตถุต่าง ๆ ตามวัดร้าง กำแพงวัด ซากเจดีย์ปรักหักพัง พระพุทธรูปที่ก่อด้วยอิฐถือปูน ก้อนอิฐเก่าแผ่นใหญ่และหนามาก สันนิษฐานได้ว่าเป็นที่อยู่ของพวกลั๊วะ พวกขอม และลำธาร ลำห้วย หลายแห่งเป็นที่ที่มีช้างป่าจำนวนมาก ต่อมามีพวกไทยใหญ่พากันอพยพมาจากเมืองปั่น เมืองพาย เมืองแสนหวี เชียงของ เชียงตุง หมอกใหม่ ลางเครือ ก้างยาม พม่า และมอญ มาด้วยบ้าง เมื่อมาถึงบ้านดอน (ปัจจุบันบ้านเวียงเหนือ) จึงตกลงใจกันอยู่ที่นั่น และยกขุนส่างปายขึ้นเป็นเจ้าเมืองจากนั้นช่วยกันขุดคูรอบเวียง เพื่อป้องกันสัตว์มารบกวน มีประตูสามด้าน ทางทิศใต้เรียกว่า “ประตูดำ” เป็นประตู ที่นำศพออกไปป่าช้า แล้วสร้างวัดในบ้านดอนทางทิศตะวันออก
จากหลักฐานที่ปรากฏบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าโหตรประเทศ พระราชาธิบดี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าแก้วเมืองมา ออกสำรวจชายแดนและคล้องช้างไว้ใช้ในราชการ เมื่อมาถึงเมืองปาย ได้แนะนำขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งอยู่ทางฝั่งขวา หรือทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปาย เพราะเป็นที่ราบกว้างขวางและทำเลดี เหมาะแก่การเพาะปลูก จะวางผังเมืองก็สวย (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตำบลเวียงใต้) เรียกเวียงใหม่นี้ว่า “เวียงใต้” เวียงเก่าเรียกว่า “เวียงเหนือ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 ได้มีการปรับปรุงบ้านเมืองปาย ตำบลเวียงใต้ จัดทำถนนหนทางขนาดใหญ่ 4 สาย มีรูปร่างเป็นตาราง มีตรอกมีซอยสวยงามมาก แล้วตั้งหอเทียบเท่าจวน เรียกว่า “หอเจ้าฟ้า” (ปัจจุบันเป็นที่ว่าการอำเภอปาย) เมื่อข่าวการสร้างเมืองใหม่แพร่ออกไป พวกไทยใหญ่ที่อพยพไปอยู่ที่บ้านเมืองแพร่ น่าน เชียงใหม่ ก็พากันกลับมาหาพี่น้อง เมื่อมีคนอพยพมาอยู่กันมากขึ้น จึงขยายออกเป็นตำบล หมู่บ้าน ไปเรื่อย ๆ
คำว่า “ปาย” มีที่มาได้ 3 ทาง คือ เป็นชื่อเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “ป้าย” ซึ่งเป็นคำไทยใหญ่ที่ใช้เรียกตัวเองที่อพยพมาจากพม่า มาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานที่ลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ นานเข้าเลยเรียกเพี้ยนมาเป็น “ปาย” อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนส่างปาย หัวหน้าไทยใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำการอพยพ มาสร้างเมืองใหม่นี้ เลยเรียกเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า “เมืองปาย” จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และเรียกชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านตามชื่อเมืองว่า “แม่น้ำปาย” ส่วนข้อสันนิษฐานสุดท้าย คือมาจากชื่อเรียกแม่น้ำ ซึ่งมีการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำเรื่อยมาว่า “แม่น้ำป้าย” (คำว่า “ป้าย” ในภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ถอยร่น”) ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ปาย”
พระเจดีย์ที่มีอัฐิสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
ในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ให้ “พะก่ากั่นนะ” มาเป็นเจ้าฟ้าเมืองปาย และมีผู้ครองเมืองปายสืบต่อมาอีกคนหนึ่งคือ ขุนส่างเนิง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2454 ตรงกับ ร.ศ.129 “เมืองปาย” ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบัน ปี 2548 รวมเป็นเวลาประมาณ 94 ปี มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอปาย รวม 29 คน พระพ่ออุ่นเมืองที่อยู่คู่มากับวัดน้ำฮูที่ทุกคนสักการะนับถือเป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม ปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 24นิ้ว สูง 30นิ้ว ส่วนพระเศียรกลวงมีพระเมาฬีครอบ ไม่มีประวัติบันทึกการสร้างอย่างชัดเจนสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่หลังวิหาร ได้รกร้างอยู่เป็นเวลานาน ในปี พ.ศ. 2468
ผู้ใหญ่ทอน และ นายเห็งพงษ์ พงษ์คำเต็ม พร้อมด้วยชาวบ้านน้ำฮู ได้สร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งอยู่โคนไม้พร้อมด้วยซากปรักหักพังของเจดีย์ ในปี พ.ศ.2474ครูบาศรีวิชัยนักบุญลานนาไทย ด้นำคณะศิษยานุศิษย์เดินธุดงค์มายังอำเภอปาย ได้มาเห็นสภาพทรุดโทรมของวัดและได้พบพระพุทธรูปดังกล่าว จึงได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังวิหาร 1 องค์
ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีพระธุดงค์จากต่างจังหวัดมาพักที่วัด ได้สังเกตเห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นโพรงพระโมฬีถอดได้ และในโพรงนั้นมีน้ำขังอยู่เต็ม จึงสอบถามชาวบ้านและเจ้าอาวาสก็ไม่มีใครทราบมาก่อน เป็นที่เล่าลือกันอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่มีใครกล้าพิสูจน์ความจริง
ในปี พ.ศ. 2516 ร.อ.ประเสริฐ เรียมศรี นายอำเภอปาย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการอำเภอปาย ได้ร่วมทำการอธิษฐานของพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยความร่วมมือจากเจ้าอาวาสและศรัทธาได้ตักน้ำออกจากพระเศียรทั้งหมด ใช้สำลีเช็ดจนแห้งสนิท ทำการปิดพระเศียรผูกเชือกประทับตราครั่ง ปิดหน้าต่าง ประตูทุกบาน ห้ามคนเข้าออก กำหนดเวลา 5 วัน เมื่อครบกำหนดได้ทำการเปิดต่อหน้าคณะทำการพิสูจน์ชุดเดิม ผลปรากฏว่ามีน้ำขังอยู่ในเศียรของพระพุทธรูปจริงนับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็มีประชาชนทุกสารทิศได้เข้ามากราบไหว้มิได้ขาด
ในปี พ.ศ. 2517 นายอาณัติ บัวขาว นายอำเภอปาย ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่ออุ่นเมือง” เป็นมิ่งขวัญให้ประชาชนอำเภอปายอุ่นอกอุ่นใจ
ในปี พ.ศ. 2526 คนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้ลักลอบขุดเจาะผนักวิหารทางด้านใต้ เข้าไปขโมยสิ่งของเงินทองในวิหาร ทางวัดและศรัทธาจึงได้นำขึ้นไปประดิษฐานไว้บนศาลาการเปรียญ เพราะเกรงขโมยจะลักเอาพระพุทธรูป อีกทั้งวิหารก็ชำรุดทรุดโทรม การย้ายมาอยู่ในที่ใหม่ทำให้น้ำในพระเศียรของพระพุทธรูปลดน้อยลง บางครั้งเหือดแห้งหายไป ประชาชนที่เคารพกราบไหว้ก็น้อยลง
ในปี พ.ศ. 2532 หลวงปู่สมบัติ คุเณสโก วัดก้ำก่อ และนายประมวล รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มาเยี่ยมอำเภอปายและได้มานมัสการหลวงพ่ออุ่นเมืองที่วัดนี้ เจ้าอาวาสและศรัทธาวัดได้แจ้งให้ทราบ หลวงพ่อสมบัติ จึงได้ตรวจสอบทางสมาธิ ทราบว่าการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปออกจากวิหารเดิม ผิดเจตนารมณ์ของครูบาศรีวิชัย แต่วิหารเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้มีมติให้รื้อถอนทำการปลูกสร้างวิหารใหม่ โดยคงรูปแบบวิหารของครูบาศรีวิชัยเดิม ได้รับจัดหาทุนดำเนินการก่อสร้าง ครั้งแรกมีผู้ร่วมบริจาคเป็นเงิน 80,000 บาท
ในปี พ.ศ. 2533 พลโทวิเชียร วิชัยวัฒนะ พร้อมด้วยครอบครัวและคณะรับเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างวิหาร โดยการนำกฐินมาทอดเพื่อเป็นทุนดำเนินการก่อสร้างวิหารใหม่จนสำเร็จ และได้หลวงพ่ออุ่นเมืองไปประจำในวิหาร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองปายต่อไป น้ำที่มีอยู่ในพระเศียรก็ยังคงมีอยู่เป็นที่น่าอัศจรรย์จนถึงปัจจุบัน
ศาลาพระสุพรรณกัลยา
และที่วัดน้ำฮูแห่งนี้มีพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาด้วย หากมองดูดีๆจะเห็นพระเจดีย์สีทองอยู่หลังวิหารหรือโบสถ์ของวัดน้ำฮูแห่งนี้ และมองออกไปข้างกันนั้นก็มีศาลาประดิษฐานที่มีรูปพระพี่นางอยู่เนืองแน่น พระเจดีย์นี้ไม่มีบันทึกประวัติการสร้างอย่างชัดเจน เชื่อกันว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ซึ่งได้เสด็จไปเป็นตัวประกันที่พม่าแทนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ต่อมาได้ถูกปลงพระชนม์ที่พม่านั่นเอง ภายในพระเจดีย์นี้ยังบรรจุเส้นพระเกษาของสมเด็จพระพี่นางฯ ไว้ด้วย สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาเป็นวีรสตรีไทยที่ประวัติศาสตร์ควรจำรึกไว้ หากไม่มีพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจไม่มีโอกาสกลับมากอบกู้เอกราช และอาจไม่ทรงทราบข่าวการเคลื่อนไหวของทัพพม่าก่อนทุกครั้ง ชาวไทยจึงควรระลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ และถวายสักการะดวงวิญญาณของพระองค์โดยทั่วกัน
ศาลาปลาหน้าวัดน้ำฮู
ส่วนหน้าวัดก็จะมีศาลาปลาให้ผู้คนมากราบไหว้ เนื่องจากว่าศาลาปลาของวัดน้ำฮูนี้มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและรูปปั้นสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาไหว้ให้สักการบูชาไดอีกด้วย