พาไปรู้จักกับประเพณีแข่งเรือยาวที่จังหวัดน่าน ที่มีชื่อเสียงภายใต้ชื่องาน “งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน (ปลอดเหล้า-เบียร์)” ปกติจะจัดในช่วงเดือนกันยายน-ต้นตุลาคม ณ แม่น้ำน่านเชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ ดูเอเซียขอเชิญชมประเพณีแข่งเรือนัดเปิดสนามอันยิ่งใหญ่ของชาวล้านนาน่านกันเลย….
วันนี้อากาศเป็นใจ แดดออกแต่เช้าเลย เมื่อมาถึงงานแข่งเรือดูครึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง คนเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เหล่าบรรดาแม่บ้านต่างหิ้วข้าวปลาอาหาร เครื่องดื่ม มาเติมกำลังให้เหล่าฝีพายของหมู่บ้านตนเองกันน่าดู และร้านค้าต่าง ๆ ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่มาจากต่างอำเภอและต่างต่างจังหวัดที่มาเที่ยวชมงานแข่งเรือ และสิ่งที่ถือเป็นของคู่งานแข่งเรือเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “ขนมถังแตกและขนมเบื้อง” คนเมืองน่านจะได้กินขนมประเภทนี้เมื่อมีงานประเพณีแข่งเรือเท่านั้น กินไป ดูเรือแข่งไป สุดจะบรรยายจริง ๆ ครับ
บรรยากาศในงาน ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีไหน ๆ และยิ่งปีนี้มีการรณรงค์ปลอดเหล้า-เบียร์ด้วยแล้ว ทำให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมต่างก็รู้สึกสนุกและปลอดภัยกันถ้วนหน้า และได้ทราบข่าวมาแว่ว ๆ ว่าถ้าซุ้มเชียร์ใดมีเหล้า-เบียร์ คณะกรรมการจะปรับให้กองเชียร์เหล่านั้นแพ้การประกวดกองเชียร์ในครั้งนี้ไปเลย ดูเอเซียขอชื่นชมครับดูแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ ลูกเล็กเด็กแดงล้วนแล้วแต่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็มาเชียร์ลูกหลาน ญาติหรือแม้แต่ผู้เป็นที่รักของตน เพราะการแข่งเรือในแต่ละปี เหล่าบรรดาฝีผายที่ทำงานอยู่ต่างอำเภอ หรือต่างจังหวัดก็จะต้องลากลับมาเป็นฝีพายของหมู่บ้านตนเอง ถือได้ว่าเป็นหน้าที่กันเลยทีเดียวครับ แต่เชื่อว่าเหล่าฝีผายเหล่านี้ต่างก็มาทำหน้าที่ของตนด้วยใจจริง ๆ ไม่น่าแปลกใจเลยใช่มั้ยล่ะครับที่ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านยิ่งใหญ่ได้เพียงนี้
ช่วง 8 โมงครึ่งของเช้าเป็นพิธีเปิดการแข่งขันได้เริ่มขึ้น เรือแข่งของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละอำเภอได้แยกจากพิธีเปิดเข้าประจำจุดแข่ง เพื่อเริ่มการแข่งขัน พิธีเปิดในแต่ละปีมีเรือที่ร่วมแข่งขันถึงกว่า 100 ลำเลยล่ะครับ เป็นเรือจากการคัดเลือกในการแข่งขันของแต่ละอำเภอเพื่อมาทำการแข่งขันระดับจังหวัด แต่จริง ๆ แล้วจำนวนของเรือในจังหวัดน่านจะมีมากกว่านี้ครับ มีมากกว่า 200 กว่าลำ เยอะมากเลยครับ แต่วันนี้เรามาดูบรรยากาศของงานที่สนุกสนานกันครับ เมื่อถึงรอบแข่งของหมู่บ้านใดแล้วล่ะก็จะสังเกตจากซุ้มกองเชียร์ได้ว่าลีลาของเหล่าแม่บ้านทั้งหลายจะดุเดือดไม่แพ้ฝีพายเลยทีเดียว และเหล่าบรรดาฝีพายก็จ้วงกันแบบสุด ๆ ไปเลย สนุกและมันส์จริง ๆ เลยครับ ส่วนเด็ก ๆ ก็มีความสุขกับการเล่นเครื่องเล่นหลากชนิดและของเล่นแปลกตามากมายที่ขนมาให้ชาวน่านได้ตื่นตา ตื่นใจ เธอช่างสนุกและมีความสุขเหลือเกิน
และในวันสุดท้าย ณ วัดช้างค้ำวรวิหาร มีการทำบุญตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อม ๆ กับงานแข่งเรือทุกปี นับเป็นสิ่งที่ชาวน่านทำคู่กันมาเป็นเวลายาวนานกว่า 800 ปี และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในประเพณีทั้งสองนี้ก็คือ การตีกลองสะบัดชัย นี่ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน เห็นแล้วรู้สึกปลื้มใจกับคนจังหวัดน่านเสียให้ได้ครับ เมืองว่าที่มรดกโลก
ตำนานประเพณีการแข่งเรือ
ขุนเขาก่อกำเนิดสายธารน้อยใหญ่ และก่อกำเนิดอารยธรรมมากมายบนสองฟากฝั่งของลำน้ำจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่า ภูเขาสูง มีความงดงามบริสุทธิ์ อยู่ในตัว ทั้งสภาพธรรมชาติ ตลอดจนวิสัยทัศน์ที่เรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติได้อย่างกลมกลืม
แม่น้ำน่าน เป็นสายน้ำแห่งชีวิตของคนน่าน มีต้นกำเนิดมาจากดอยขุนน้ำปาย บริเวณบ้านนากึ๋น ตำบลขุนน้ำน่าน อำเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน จากนั้นน้ำจะไหลย้อนขึ้นไป ทางทิศเหนือ เลาะเลียบไปตามแนวชายแดนไทย – ลาว สู่อำเภอทุ่งช้าง แล้วไหลลงใต้ ผ่านอำเภอทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว ท่าวังผา อำเภอเมือง เวียงสา และอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดน่าน ไปสู่ที่ราบลุ่มน้ำของจังหวัดภาคกลางตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ไปถึงนครสวรรค์
ดังนั้นคนเมืองน่านจึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่กับที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีระบบเหมืองฝาย ที่เป็นระบบชลประทานพื้นบ้าน ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกใบยาสูบ ตลอดจนการทำมาหากินตามแหล่งน้ำและแม่น้ำน่านวิถีชีวิตชาวน่านในอดีต ยังมีความเชื่อในเรื่องนาคราชว่า สามารถให้ ความอุดมสมบูรณ์
ตามตำนานพื้นบ้านพื้นเมือง ฉบับวัดพระเกิด 135 หน้าลานอายุ 423 ปี ได้บันทึกนามเมืองไว้ว่า “เทพพบุรี สรีศรีสวัสดิ์ นัคคราชไชยยบุรี ศรีนครน่าน” ในความหมายของนัคคราช หมายถึง นาคราช, นาคี, นาเคนทร์ หรือนาคินทร์ ได้กล่าวไว้ว่า ความเชื่อเรื่องนาค เป็นความผูกพันในวิถีชีวิตของคนเมืองน่านมานานแล้ว ซึ่งจะพบในวัดวาอารามทั่วไป และหัวเรือแข่ง และความเชื่ออีกอย่างก็คือ ในฤดูฝนแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะแห่พระอุปคุตไปหาแม่น้ำ แล้วทำพิธีทางศาสนา โดยฟังธรรมปลาช่อน หรือธรรมปลาก่อ จากนั้น จะนำเรือจากโรงเก็บเรือลงพายในแม่น้ำ เพื่อเป็นการขอฝน การทำเช่นนี้เป็นความเชื่อว่า เพื่อให้เทวดาได้เห็นว่ามีพญานาคราชมาเล่นน้ำแล้ว และจะได้ปล่อยน้ำฝน หรือปล่อยนาคอีกตัว มาพ่นน้ำให้ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นแก่ชาวโลก ในพุทธตำนาน นาค เป็นสัตว์ที่รับใช้พระพุทธเจ้า เป็นบันไดที่ให้พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดเหล่าเทพยดาบนสรวงสวรรค์ถึงโลกภูมิ โดยใช้บันไดนาคราช พอพระพุทธเจ้าเสด็จถึงโลกภูมิที่มีบรรดาข้าราชบริพาร สัตว์น้อยใหญ่มารอรับเสด็จพร้อมทั้งพญาครุฑด้วย เมื่อพญาครุฑเห็นนาคราชนิ่งไม่เคลื่อนไหว จึงบินเข้าไปงับ นาคราชจึงอ้าปากร้อง ทำให้สัตว์น้อยใหญ่สะดุ้งตกใจ (จนทำให้พญานาคอ้าปาก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ตราบทุกวันนี้) เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าลืมตาขึ้นมา จึงเรียกว่า “ปางเปิดโลก” ชาวน่าน มีความเชื่อว่า นาค เป็นสัตว์ที่ได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุด จึงได้นำเอารูปพญานาคมาปั้น ไว้ในวัดเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาในพุทธศาสนา และการขุดเรือให้มีหัวเป็นรูปพญานาค ก็เกิดจากความเชื่อดังกล่าว เหตุผลอีกหลาย ๆ ประการ คือ
ประการแรก การคมนาคมในสมัยก่อนไม่สะดวกจึงใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ใช้เป็นขบวนทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ประเพณีการทำบุญในทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะประเพณีทานสลากภัต หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วก็จะเอาเรือไปแข่งขันเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี สร้างความสามัคคีระหว่างคณะศรัทธา ตีฆ้อง กลอง ปาน เป็นที่สนุกสนาน โดยมีรางวัลน้ำใจเป็นผลไม้ อาหาร สุรา
ประการที่สอง ไว้เป็นพาหนะขนย้ายผู้คน สิ่งของเวลาน้ำท่วมบ้านเมือง
เล่าขานตำนานเรือแข่งเมืองน่าน
จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า มีเจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์หนึ่ง (ไม่ปรากฏหลักฐาน แน่ชัด) รับสั่งให้ขุดเรือจากต้นตะเคียนทองขนาดใหญ่ขึ้นลำหนึ่ง รอบตอของต้นตะเคียนทองที่ตัดแล้วสามารถวางสำรับข้าว (โก๊ะข้าว) ได้ถึง 100 สำรับ ชาวบ้านช่วยกันตัดและชักลากออกมาจากป่า รอยลากของท่อนไม้ลึกมากจนกลายเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ คือ ลำน้ำสมุน ในปัจจุบันเมื่อทำการขุดเรือจนสำเร็จก็ได้เรือขนาดกว้างใหญ่ และยาวมาก แต่ไม่มีหาง (ท้ายหล้า) ประกอบกับมีตาไม้เป็นสีทอง (ตาตอง) จึงตั้งชื่อให้ว่า “เรือท้ายหล้าตาตอง) เรือท้ายหล้าตาตอง เป็นเรือที่แม่ย่านางประจำเรือ (ผีเรือ) มีอิทธิปาฏิหาริย์มาก สามารถหนีออกไปเล่นน้ำในแม่น้ำน่านได้เอง ชาวบ้านต้องช่วยกันจับลากขึ้นมาบนฝั่ง สถานที่ชาวบ้านช่วยกันดึงช่วยกันเหนี่ยวรั้งเรือ (น้าว) ขึ้นฝั่งนั้น ปัจจุบันเรียกว่า “ท่าน้าว” ต่อมา เรือท้ายหล้าตาตองก็หนีออกไปอีก จนในที่สุดก็จมลงสู่ลำน้ำน่านบริเวณปากน้ำสมุน กลายเป็นวิญญาณมักจะปรากฎตัวเป็นงูใหญ่ มีหงอน (นาค) ให้เห็นในวันพระ และเข้าสิงในร่างผู้คนที่ผ่านไปมา (ผีตั้ก) เพื่อขอเครื่องสังเวยกิน ก่อนที่จะปรากฏกายให้เห็น ชาวบ้านแถบริมแม่น้ำ จะได้ยินเสียงฆ้อง กลอง ปาน (เครื่องตีคล้ายกับฆ้องขนาดใหญ่ แบน) ดังแว่วมาก่อนเชื่อกันว่าเป็นการแห่เฉลิมฉลองก่อนการออกเรือท้ายหล้าตาตอง
ต่อมา วิญญาณของเจ้าหลวงพญาผานอง (เจ้าเมืองวรนคร) นักรบผู้เก่งกล้า ได้แปลงร่างเป็นสามเณรอาสามาปราบผีเรือท้ายหล้าตาตอง โดยใช้กาบปลีกล้วยเป็นพาหนะต่อสู้กัน เรือท้ายหล้าตาตองสู้ไม่ได้หนีไปอยู่วังคำ (ทางทิศใต้ของลำน้ำน่าน)
นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองน่านได้สร้างสรรค์การละเล่นทางน้ำ (แข่งเรือ) เพื่อรำลึกถึงเรือท้ายหล้าตาตองขึ้น โดยการสร้างเรือแข่งที่มีหัวเรือเป็นรูปหัวพญานาค ต่อหางให้ยาว อ่อนช้อย สวยงาม (หางวรรณเรือ) ป้องกันไม่ให้ผู้คนดึงหรือเหนี่ยวน้าวจนหัก และก่อนจะนำเรือลงน้ำทุกครั้งก็จะมีการแห่เฉลิมฉลองด้วยฆ้อง กลอง ปาน ทุกครั้ง การแข่งเรือของ ชาวเมืองน่านจะแข่งในเทศกาลหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา เหมือนดังที่เรือท้ายหล้าตาตอง ปรากฏให้เห็น เช่น ช่วงเข้าพรรษา และออกพรรษา มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เล่าขานการสร้างเรือแข่ง
การเลือกไม้
นิยมใช้ไม้ตะเคียนทองลำเดียวตลอด เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน อยู่ในน้ำได้นาน ไม่ผุ ลำต้นตรง ไม่มีปุ่ม ไส้ไม่กลวง เปลือกไม้เป็นมันไม่แตกระแหง ไม่มีเห็ดหรือราขึ้น
ขั้นตอนการขุดเรือ
การตัดล้มไม้ เริ่มต้นด้วยการขุดโคนต้น ตัดราก เพื่อให้ล้มลงทั้งต้นไม่ให้แตกหรือ หักตรงกลางก่อน (ไม้เดียะ) ตัดปลาย ตัดโคน ถ้าหากสถานที่ที่ไม้ล้มนั้นอยู่ในสถานที่ที่ยากลำบากต่อการชักลากก็จะทำการตัดปีกไม้ออก (เปิดปีกไม้) ทำให้เป็นรูปร่างของเรือ ลดน้ำหนักในการชักลาก
สถานที่ที่แต่ละหมู่บ้านชักลากไม้มาไว้เพื่อทำการขุดเรือ มักจะเป็นลานกว้าง บริเวณรอบ ๆ วัด หรือที่ที่ประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมอื่น ๆ ของชาวบ้าน (ดงชาวบ้าน, ดงเสื้อบ้าน) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้คนในหมู่บ้านได้มาช่วยเป็นกำลังใจให้กับช่างที่ขุดเรือ (สล่า) ชาวบ้านคนไหนที่มี ฝีมือก็จะช่วยกันเหลาไม้จากแกนไม้ขี้เหล็กหรือไม้ไผ่สีสุก เป็นไม้กลมขนาดนิ้วชี้ยาว 8- 10 นิ้ว เรียกว่า แช่ หรือ จ๊าย เพื่อใช้เป็นสลักตอกยึดกาบเรือ (แผนเรือ) ให้ติดกับตัวเรือ ใช้ชัน (ขี้ขะย้า) ประสานช่วยยึดติดกับเรือ มีความยาวเท่ากับตัวเรือ หนาประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว กว้าง 10 – 12 นิ้ว เป็นเรือท้องแบนไม่มีกระดูกงู แต่จะมีไม้ประกบอยู่ในลำเรือ (แป้นต่อง) และที่นั่งสำหรับคนพายเรือ (ลูกขั้นนั่ง) ทำจากไม้ขนาดกว้าง 4 – 5 นิ้ว วางขวางตัวเรือ เฉพาะ บริเวณหัวเรือ กลางลำเรือ และท้ายเรือ จะยึดติดแน่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงมั่นคง ในยุคก่อน ๆ เรือแข่งจะใช้หวายหางหนูรัดตรึงให้ลำเรือแข็งกระด้าง พื้นเรือจะมีความหนามาก ท้องแบน ตรงข้ามกับเรือแข่งในยุคปัจจุบัน คือท้องกลมเหมือนอกไก่ บางมีน้ำหนักเบา
การทำหัว และหางเรือ
นิยมใช้ไม้ตอง ไม้ซ้อ หรือไม้สัก ทำเป็นหัว และหาง ขุดรูปตัวเรือ ท้ายเรียวเป็นรูปปลาช่อน ใช้ขวานอีแปะ (ขวานมะรู) ขุดเจาะ ใช้ขวาน (มุย) ถาก กบไสไม้ ตบแต่งทำส่วนหัว (หัวโอ้) ส่วนหาง (หางวรรณ) บริเวณข้อต่อส่วนหัวและส่วนหางมีชื่อเรียกว่า “กันยา” (กัน หมายถึงทำร่วมกัน ยา หมายถึงติด) ปัจจุบันเรียกว่า “โงนหัว โงนท้าย” ส่วนหัวประกอบด้วยหงอน หู แก้ม ลูกตา (หมะต๋า) จมูก (หมกขี้หมา) เขี้ยวแตและเขี้ยวฟอง (เขี้ยวธรรมดา และเขี้ยวที่ยาวยื่นออกมาสองข้างปาก) ใต้คาง (ปื้นกาง) ส่วนท้ายเรียกว่า “หางวรรณ” (วรรณ แปลว่าสีสัน) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หางสนุก” (สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า กนก) แกะสลักเป็นลวดลายพื้นเมืองเรียกว่า “ลายไอยราหางหงษ์” เป็นกนกเปลวไฟ ประดับด้วยลายดอกไม้พื้นเมืองมีไบเทศเกล็ดสิงห์ ดอกฝ้าย ดอกผักแว่น ลายปลาไหลเลื่อน ติดกระจกสี (แก้วตะกั่ว) แขวนกระดิ่ง (มะเด็งปั่นเมา มะหิ่ง รูเด็ง) และธงที่ตัดเป็นลวดลาย (ตุงไส้หมู)
เมื่อประกอบส่วนหัวและหางเข้ากับตัวเรือเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า “กระทายหัว กระทายท้าย” ถอดแยกชิ้นส่วนออกได้ มีสลักยึดบริเวณส่วนหัวและส่วนหาง เรียกว่า “เดือย หางเหย้” ก็ถึงขั้นตอนอุดรอยต่อและรอยรั่วของเรือด้วยขัน (ขี้ขะย้า) ถ้าบริเวณใดกว้างเกินไป ก็ใช้ผ้าชุดชันเหลวอุด (ตอกหมัน) หรือไม่ก็ใช้ชันเหลวอาบ ราด ไปทั่วทั้งลำเรือทั้งข้างนอกข้างใน เป็นวิธีที่ดีที่สุดป้องกันการรั่วซึมได้อย่างดี แต่ก็สิ้นเปลืองมาก เมื่อชันแห้งสนิทก็เขียนลวดลายประดับรอบ ๆ ตัวเรือ
เรือโบราณจะนิยมใช้สีเพียง 4 สี เท่านั้น คือ สีดำ สีแดง สีเหลืองแก่ และสีขาว ลวดลายจะมีอยู่ 2 แบบ คือลายดอกเป็นลายกระจังหรือลายกนกสามตัว คว่ำหงายติดต่อกันและลายเถาวัลย์ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีลายที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง (สล่า) ส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ (ตุ๊เจ้า) รับทำหน้าที่แทบจะทุกขั้นตอน รวมทั้งหาจุด สมดุลย์ของเรือ (หามอก) เพื่อให้เรือมีความคล่องตัว ได้ขนาดพอดี (จับมอก) และมีความเร็วสูง (เฮือไป เรือไป)
ประเพณีการแข่งเรือ
จะเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการตานสลากภัต เริ่มตั้งแต่ 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (เดือน 10 ภาคกลาง) จัดขึ้นที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
พร้อมกันนั้นอำเภอเวียงสา ได้ถือเอาการตานสลากภัตวัดบ้านแขม เป็นปฐมของการแข่งเรือเวียงสา หลังจากนั้นแต่ละหมู่บ้านจึงได้จัดให้มีการตานสลาก และการแข่งเรือต่อไป ซึ่งการตานสลากภัตจะทำกัน ในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะเป็นการแข่งขันเรือ ประกอบกับวัดช้างค้ำวรวิหารยกฐานขึ้นเป็น พระอารามหลวง จึงมีการทอดผ้ากฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี และในวันเดียวกันได้จัด ให้มีการแข่งขันการแข่งเรือ จนได้ถือเอาวันดังกล่าว เป็นประเพณีแข่งเรือประจำปีของเมืองน่าน
ทุกครั้งก่อนที่จะมีการนำเรือลงแข่งขัน และขึ้นจากน้ำ ต้องมีการทำพิธีสู่ขวัญ แม่ย่านางเรือ เพื่อเป็นสิริมงคล และชัยชนะในการแข่งขัน ฝีพายทุกคนทำความเคารพแม่ย่านางก่อนขึ้นเรือ พิธีการสู่ขวัญเรือจะจัดดอกไม้ ธูปเทียน ขนมหวาน ขันบายศรี ไข่ต้ม ข้าวสุก กล้วย อ้อย ผ้าขาวผ้าแดง
ตามความเชื่อว่า คนเกิดมาจากก้อนเลือดสีแดง มีความบริสุทธิ์คือ สีขาว ผ้าขาวและเสื้อ ซิ่น แว่น หวี มาเป็นเครื่องสักการะบูชา เมื่อเสร็จแล้วก็ทำการสู่ขวัญ “พญานางไม้” ซึ่งหมายถึง แม่ย่านางผู้สิงสถิตรักษาคุ้มครองเรือแต่ละลำ โดยอาจารย์จะเริ่มกล่าวพุทโธมังคละ 3 ครั้ง แล้วเริ่มคำสู่ขวัญ “นะจะนะนัยโยในวันนี้ เป็นวันศรีประเสริฐล้ำเลิศกว่าวัน และปี๋เดือนวันยามประมวล วันนี้ ภูมิผู้ข้า ผู้มีบุปผา ผลาดวง ข้าวตอกดอกไม้และเตียน และน้ำอบน้ำหอม คันโทมาคารวะไม้ทั้งหลาย อันมีนางไม้ รักษาอยู่เฝ้ายาม เมื่อเจ้าอยู่ในอรัญญากลางป่า มีกิ่งก้านใบเขียวชะอุ่ม………….ฯลฯ
เอกลักษณ์
เรือแข่งของจังหวัดน่าน มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเรือแข่งของจังหวัดอื่น กล่าวคือ หัวและหางจะมีลักษณะคล้ายพญานาค โดยเฉพาะส่วนหัว ประกอบด้วย ปาก จะมีเขี้ยวโง้ม จมูก มีสีดำ เรียกว่า หมกขี้หมาและดวงตากลมโต บนหัวมีหงอน ตรงคางแขวนด้วยกระดิ่ง ข้อต่อระหว่างคอกับลำตัว เรียกว่า หัวโอ้เรือ และช่วงลำตัว – หาง จะมีลายฉลุ ปลายหาง เรียกว่า หางวรรณเรือ ตลอดทั้งลำเรือจะนิยมใช้สีอยู่ 4 สี คือ สีดำ สีเหลืองแก่ สีแดง สีขาว
การแกะหัวหางวรรณเรือ ถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อน แสดงถึงความเป็นศิลปะ ผู้ที่ผลิตงานชนิดนี้ได้ต้องมีใจรัก มีความชำนาญ ฝึกฝนและสะสมประสบการณ์มาเป็นเวลายาวนาน จึงจะได้ผลงานที่มีความประณีตสวยงาม
กติกา
ทุกลำในเรือ ฝีพายจะถูกจัดให้นั่งประจำที่ มีหัวหน้าที่มาเป็นผู้กำหนดรหัสและจังหวะการพายเรือ เพื่อความพร้อมเพรียงซึ่งจะส่งผลให้เรือวิ่งเร็ว
วิธีการแข่งขัน
จัดเป็นคู่ ๆ แบบแพ้ คัดออก ตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการการแข่งขันเรือจะมี 3 คณะ คือ คณะกรรมการปล่อยเรือ คณะกรรมการกำกับร่องน้ำ คณะกรรมการตัดสินเส้นชัย วันเปิดงานแข่งเรือ ขบวนเรืออัญเชิญด้วยรางวัลพระราชทานเทียบท่า ข้าราชการ ผู้ใหญ่ รับถ้วยและอัญเชิญไว้ ณ ปะรำพิธี พระสงฆ์ประกอบพิธีทางศาสนา ขบวนพาเหรด เรือพายผ่านหน้าประธานในพิธีเป็นริ้วขบวนสวยงาม เคลื่อนไหวช้า ๆ สง่ายิ่ง เสียงกดกล้อง ถ่ายรูปดังกริ๊ก ๆ แกร๊ก ๆ เป็นระยะ เพื่อเก็บภาพพญานาคเลื้อยแช่มช้า ชูเศียร เชิดหน้า ท้าทายสายลม แสงแดดยามเช้า รางวัลอันทรงเกียรติ จากเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลและโล่ห์รางวัลการแข่งขัน ประเภทเรือแข่ง ประเภทเรือสวยงาม กองเชียร์ และเรืออนุรักษ์โบราณ ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2495 – 2497 เรือแข่งของบ้านบุญเรือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานธงรางวัลชนะเลิศ
หลังเปิดงาน โฆษกสนามจะประกาศให้เรือแข่งที่เป็นคู่เปิดสนาม นำเรือเข้าจุดเริ่มต้นการแข่งขัน คอยฟังเสียงสัญญาณ “ปัง” สายตาทุกคู่จะพุ่งมองไปยังเรือโดยมิได้นัดหมาย ช่วงที่ตื่นเต้นเห็นจะเป็นช่วงท้ายของการแข่งขัน ระยะทางที่ใช้ในการแข่งขันโดยทั่วไป จะใช้ระยะทาง 650 เมตร และทุก ๆ 100 เมตร จะมีทุ่นบอกระยะ การแข่งขันเป็นแบบแพ้คัดออกและต้องชนะสองในสามเที่ยว โดยพายตามน้ำ
การแข่งขันครั้งแรกจะมีการจับฉลากสายน้ำ และมีการสลับสายน้ำกันในรอบ 2 ส่วนรอบ 3 จะจับฉลากสายน้ำอีกครั้ง เรือลำใดชนะติดกัน 2 ครั้ง ถือว่าชนะ การตัดสินจะดูที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของหัวเรือ
ปัจจุบันใช้วิดีทัศน์ช่วยในการตัดสินใจ นอกจากมีการแข่งเรือเร็วแล้ว ยังมีการประกวดเรือสวยงาม ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเรือมีช่างฟ้อน ฆ้อง กลอง ปาน แล้วล่องเรือไปตามลำน้ำน่าน อวดโฉม โชว์ความสวยงามให้คณะกรรมการให้คะแนน การฟ้อน เป็นการแสดงเอกลักษณ์ของคนพื้นบ้านพื้นเมืองและเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
สองฝั่งแม่น้ำน่านยังมีกองเชียร์แต่ละคุ้มบ้าน ตกแต่งประดับประดากองเชียร์ของตนให้สวยงาม ซึ่งจะมีคณะกรรมการตัดสิน ความสวยงาม ความมีระเบียบ ความพร้อมเพรียง ความสามัคคี และท่ารำของกองเชียร์ว่าสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี
ขอขอบคุณภาพ http://qsna-nan.dld.go.th/ , http://nanlongboat.com