ทริปนี้พาไปชมประเพณีปอยส่างลองที่มีมาแต่ช้านาน ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนครับ งานปอยส่างลอง จัดขึ้นในช่วงวันที่ 3-6 เมษายน 2557 ผมจึงได้เก็บภาพบรรยากาศการบวชหมู่ที่สนุกสนานมีสีสันอย่างมากแต่ก็แฝงไปด้วยวัฒนธรรมอีกแบบของชาวพุทธ โดยเฉพาะตอนที่มีการแห่ขบวนส่างลอง ที่จัดเป็นริ้วขบวน โดยส่างลองจะนิยมขึ้นขี่บนบ่าของตะเป่ส่างลอง หรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของส่างลอง มีการเปิดเพลงเต้นไปตามจังหวะระหว่างแห่ และในปีนี้พิเศษหน่อยครับ มีม้าบางส่วนให้ส่างลองขี่ด้วย และจะแห่แหนไปตามวัดและซอกซอยของชุมชน เพื่อไปขอขมาผู้ใหญ่ผู้ใหญ่ของชุมชน มีการแต่งตัวให้กับตัวส่างลองอย่างสวยงาม ขบวนแห่เป็นที่สนใจของผู้พบเห็นและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
งานปอยส่างลองนั้นจัดขึ้นหลายๆ จุดในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ แต่ทริปนี้ผมพามาชมที่วัดศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ของอำเภอแม่สะเรียง สร้างแบบศิลปะพม่าผสมไทยใหญ่สร้างประมาณ พ.ศ. 2450 เดิมชื่อว่าวัดจองหมากแจง ภาษาไทยใหญ่แปลว่าต้นมะขาม เป็นวัดที่มีพื้นที่ไม่กว้างมากแต่เก่าแก่ครับ ที่วัดนี้ได้จัดให้มีการบรรพชาสามเณร หรือปอยส่างลอง ของเยาวชนชาวเผ่า มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ศึกษาวิชาสามัญและพุทธศาสนา ร่วมทั้งการจัดเตรียมงานพิธีการแต่งหน้าแต่งตัวให้กับตัวส่างลองก็ทำที่วัดศรีบุญเรืองนี้ด้วย
ทำความรู้จักกับประเพณี ปอยส่างลอง
ประเพณี ปอยส่างลอง หรือที่เรียกว่า “งานบวชลูกแก้ว” เป็นงานประเพณีประจำของชาวไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งได้มีการจัดสืบทอดกันมายาวนาน คำว่า ปอย แปลว่า งาน ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ ส่าง แปลว่า พระ-เณร และ ลอง มาจาก คำว่า อะลอง แปลว่า กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบวชเป็นพระเณรของเด็กที่แต่งดาเป็นกษัตริย์หรือราชานั่นเอง
โดยงาน “ปอยส่างลอง” นี้ จะนิยมจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้น หลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรในไร่นาแล้วเสร็จ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมปิดภาคเรียนของเด็กๆ สาเหตุที่ชาวไทยใหญ่ได้จัดงานนี้ก็เพราะต้องการให้บุตรหลานได้มีโอกาสบรรพชา เป็นพระภิกษุสามเณรเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าชายชาวไทยใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา ล้วนจะได้ผ่านการบวชเป็นพระหรือสามเณรจากงานประเพณีปอยส่างลองนี้กันมาแทบ ทั้งสิ้น
ขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลอง
ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานตั้งแต่ 3 – 5 – 7 วัน ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย
ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบวช ไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบวช รวมถึงการกราบไว้ และก่อนจะเป็นส่างลอง เด็กซึ่งเป็นผู้ชายจะต้องโกนผม และอาบน้ำสะอาด หรือ น้ำเงิน น้ำทอง น้ำเพชร น้ำพลอย เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ อย่างอลังการ มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง ดูสวยงามเสมือนเจ้าชายซึ่งมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป
วันแรก หรือ ที่เรียกกันว่า “วันรับส่างลอง” หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ
วันที่สอง หรือ “วันรับแขก” ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่างๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน
วันที่สามหรือสุดท้าย คือ “วันบวช” พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 – 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นพระภิกษุ – สามเณรอย่างสมบูรณ์
ก่อนเข้าพิธีบวชหนึ่งวัน ส่างลองจะได้เข้าพิธีเรียกขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลด้วย ซึ่งงานประเพณีปอย
ส่างลองนี้ แต่ละแห่งจะมีการจัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลำดับขั้นตอนของที่นั้นๆ โดยเฉพาะกำหนดวัน ซึ่งที่ที่มีการจัดงานมากกว่า 3 วัน จะเลื่อนวันรับแขกออกไปวันอื่น และในช่วงการจัดงานจะมีการนำส่างลองไปเยี่ยมบ้าน หรือ ไปคารวะวัดและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่างๆ ที่ขาดไม่ได้คือ ตลอดงานจะต้องมีการแห่ส่างลอง รอบวิหารของวัดพร้อมมีการรับศีลทุกเช้าเย็น ที่สำคัญตลอดงานส่างลองจะต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ซึ่งหากจำเป็นจะไปไหนมาไหน ผู้เป็น ตะแป หรือ พ่อส้าน จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และจะมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา
องค์ประกอบงานบวช “ปอยส่างลอง”
1. ชุดส่างลอง (เครื่องแต่งกายต่างๆ)
2. ร่มทอง (สำหรับกางให้ส่างลอง)
3. ตะแป – พ่อส้าน แม่ส้าน (ผู้คอยปรนนิบัตร)
4. จีวร
5. อัฐบริขาร (ประกอบด้วย เครื่องใช้ต่างๆ)
6. ต้นเงิน
7. สังฆทาน
8. ต้นข้าวตอก หรือ ต้นข้าวแตก
ขอขอบคุณข้อมูล www.khonkhurtai.org