โคราชประตูสู่อีสาน วันนี้เราจะไปเที่ยวกันที่ปราสาทสินพิมายปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปราสาทหินพิมายเป็นสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณ ลักษณะพิเศษ คือ ตัวปราสาทจะหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทอื่นๆที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสันนิษฐานว่าเพื่อรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองโศธรปุระ เมืองหลวงของอณาจักรเขมรโบราณ ซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางทิศใต้
ประสาทหินพิมาย ตั้งอยู่ใน อ.พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเมืองที่มีโบราณสถานที่สำคัญและมีความสำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เนื่องจากมีขนาดใหญ่และสำคัญนี่เอง พระเจ้าแผ่นดินเขมรสมัยโบราณจึงต้องตัดถนนผ่านจากพระนคร (อังกอร์) ซึ่งเป็นเมืองราชธานีของเขมรมายังเมืองพิมายทิ่อยู่ทางใต้ ดังนั้นเมืองพิมายจึงหันหน้าไปทางทิศใต้เพื่อรับกับถนนเส้นสำคัญนี้ ไม่เหมือนกับประสาทเขมรอื่นๆ
ปกติชุมชนเขมรจะตั้งห่างจากแม่น้ำ แต่จะขุดสระน้ำเอาไว้ใช้ประโยชน์เอง ที่เรียกว่า บาราย แต่เมืองพิมายตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำมูล สันนิษฐานว่า เพราะเป็นชุมชนเก่ามาก่อนวัฒนธรรมเขมรจะเข้ามา มีการพบศิลปวัตถุแบบทวาราวดีด้วย เมืองเขมรน่าจะมาสร้างทับทวารวดีภายหลัง
บนถนนสายนี้นอกจากประสาทพิมายแล้วยังมีประสาทอื่นๆ อีกเช่น ประสาทเมืองต่ำ, ประสาทเขาพนมรุ้ง และยังมีลำน้ำเล็กๆ ขวางอยู่คือ ลำน้ำเค็ม เชื่อกันว่าเป็นลำน้ำที่ใช้ลำเลียงหินทรายจากที่ใกล้เคียงมาสร้างประสาท ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร สำหรับหินทรายที่ใช้ในการก่อสร้างปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามาจากที่ไหนบ้าง เนื่องจากแหล่งตัดหินทรายที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากประสาทหินพิมายถึง 70 กิโลเมตร ที่บ้านมอจะบก อ.สี่คิ้ว นครราชสีมา ซึ่งจะเห็นได้ตลอด 2 ข้างทางของถนนมิตรภาพ ทำให้เราไม่แน่ใจว่าหินที่สร้างประสาทจะมาจากที่นี่เพราะระยะทางไกลเกินไป น่าจะนำไปสร้างประสาทหินเล็กๆ ใกล้แถบนั้นมากกว่า
ถัดจากลำน้ำเค็มจะมีท่าน้ำอยู่เรียกว่า ท่านางสระผม ถัดจากท่าน้ำจะเป็นถนนตัดตรงขึ้นมาอีกจนถึงประตูเมืองทางทิศใต้ ถือว่าเป็นประตูเมืองที่สำคัญที่สุดอยู่ทางด้านหน้าเรียกว่า ประตูชัย ซึ่งทำด้วยศิลาแลงทั้งหมด ประตูถูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถ้าเราเห็นสิ่งก่อสร้างจากศิลาแลงให้ทำนายได้เลยว่า 90% เป็นศิลปะบายน จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อกว่า 10 ปี จะพบประติมากรรมเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร , นางปรัชญาปรมิตา ซึ่งเป็นศิลปะร่วมแบบบายน นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์แบบมหายาน
ในประสาทหินพิมาย จุดแรกที่สร้างคือ อาคารที่อยู่หน้าประสาท เรียกว่า คลังเงิน ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกภายหลัง เนื่องเพราะชาวบ้านได้พบเหรียญเงินสมัยอยุธยาที่นี่ ภายหลังจึงรู้ว่าที่นี่คือ พลับพลาเปลื้องเครื่อง เหมือนกับโรงช้างเผือกที่ประสาทพนมรุ้ง ที่คลังเงินพบทับหลังชิ้นหนึ่ง จำหลักภาพที่ตีความได้ว่าเป็น พิธีอัศวเมศ ในอินเดียสมัยก่อน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเสวยราชย์ ต้องมีการทดสอบเมืองขึ้นว่ายังจงรักภักดีอยู่หรือไม่โดยการปล่อยม้าไปยังเมืองเหล่านั้น
ถ้าเมืองไหนเปิดประตูรับม้าแสดงว่ายังอ่อนน้อมจงรักภักดีอยู่ แต่ถ้าปิดประตูแสดงว่าแข็งเมืองก็จะมีกองทัพตามม้าเข้าไปโจมตีเมืองนั้นทันที ถ้าม้าไปครบทุกเมืองแล้วก็จะกลับมายังราชธานี แล้วทำการบูชายัญม้าเพื่อให้ขึ้นสวรรค์ไป จากคลังเงินก็มาถึงสะพานนาคซึ่งเป็นสะพานที่อยู่ด้านหน้า มีแผนผังเป็นรูปกากบาทที่ขอบสะพานจะมีนาคเลื้อยอยู่โดยรอบ นาคจะมีรัศมีเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันเป็นศิลปะแบบนครวัด เป็นนาค 7 เศียร ที่สำคัญคือมีรัศมีเชื่อมต่อกันโดยรอบจะถือว่าเป็นศิลปะแบบนครวัด
สะพานนาคหมายถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ สมัยโบราณหลังฝนหยุดตกก็จะเห็นรุ้งกินน้ำ คนโบราณถือว่ารุ้งกินน้ำเป็นสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ สะพานนาคนี้เปรียบเสมือนรุ้งนั่นเอง ก่อนข้ามสะพานมา จะมีสิงโตยืนอยู่ 2 ตัว (สิงโตไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของเอเชียอาเนย์ ในป่าแถบนี้จะไม่พบสิงโตเลย ดังนั้นถ้าเห็นสิงโตที่ไหนแสดงว่าเป็นการรับอิทธิพลมาจากภายนอก ไม่อินเดียก็จีน) การที่สิงโตปรากฏในเขมรก็เพราะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียแล้วมาปรับให้เป็นสิงโตแบบเขมร ลักษณะของสิงโตที่เห็นมีวิวัฒนาการเจริญสูงสุดตรงกับสมัยพญานาคที่เป็นแบบนครวัด
สิงโตช่วงแรกจะนั่งบน 2 ขาหลังอย่างแท้จริง แต่สมัยนครวัด สิงโตจะยืนตรงบน 2 ขาหน้าและครึ่งนั่งครึ่งยืนบน 2 ขาหลัง ยืนลักษณะนั่งก็ไม่ใช่ ยืนก็ไม่เชิง เป็นนั่งแบบยงโย่ยงหยก เป็นเอกลักษณ์ของสิงโตแบบนครวัดที่งามที่สุดของวัฒนธรรมเขมร การนำรูปสิงโตมาตั้งไว้ทั้ง 2 ข้าง หมายถึงทวารบาล (ผู้เฝ้า ผู้พิทักษ์รักษาประตูทางเข้า หรือบันไดทางขึ้น) เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
สถานที่ตั้ง :
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายนั้น ก็ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือของโคราช เป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร ตามเส้นทาง ” สายมิตรภาพ โคราช – ขอนแก่น ” ปราสาทหินพิมาย เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์
การเดินทาง :
จากตัวเมืองนครราชสีมาไป ตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราขสีมา – ขอนแก่น) จนถึงหลัก กม.ที่ 49 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 อีกประมาณ 10 กม. ถึงปราสาทหินพิมาย รวมระยะทางจากตัวเมืองนครราชสีมา ถึงปราสาทหิน พิมายประมาณ 59 กม. สภาพทางหลวงหมายเลข 206 เป็นถนนลาดยาง อยู่ในสภาพดี จากตัวเมืองนครราชสีมา มีบริการรถประจำทาง รถขนส่งและรถ รับจ้าง บริการรับ – ส่งการคมนาคมสะดวก และปลอดภัย
สำหรับทริปนี้เราพาเพื่อนๆมาบุกหัวหาดอารยธรรม กันที่ประตูสู่ภาคอีสาน จังหวัดโคราชเพื่อมาชื่นชมปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวันครราชสีมา อย่าลืมแวะเวียนมาเที่ยวกัน