ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันเถอะ : อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
ทริปนี้ดูเอเซียจะพาไปเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพลังงานกันครับ อย่างที่รู้กันดีนะครับว่า จังหวัดเพชรบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งหาดชะอำ ความสวยงามของทะเลที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก ทั้งนาเกลือ เสน่ห์ที่ไม่มีวันหมดจากวิถีชีวิตชาวอำเภอบ้านแหลม ป่าชายเลน อ่าวบางตะบูน วิถีชีวิตชาวประมงที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย
ทริปนี้ ต้องเป็นนักเที่ยวมีสาระเพราะนอกจากการท่องเที่ยว พักผ่อน ในวันเบาๆ เป็นการเที่ยวเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เพียงอย่างเดียว วันนี้ เรามาเที่ยวกันแบบมีสาระกันดีกว่าครับ เราจะพาไปชม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์รวมความรู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน นอกจากจะได้ความเพลิดเพลิน แล้ว ที่นี่ยังให้ความรู้มากมาย โดยเฉพาะ การอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานช่วยโลกของเรา ด้วยวิธีง่ายๆ ที่เราก็สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันครับ
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เป็นสถานที่รวบรวมความรู้ตามรอยพระยุคลบาทในการฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการท่อง เที่ยวเชิงนิเวศ จึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับสากล
ความเป็นมาของ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ได้ร่วมกันจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ ในปีพุทธศักราช 2546 และได้รับพระราชทานนามว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The Sirindhorn International Environmental Park) โดยมีแนวทางในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานในบริเวณค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้อุทยานเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึง เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก
ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานซึ่งมุ่งเน้นเป็นศูนย์การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน จัดทำค่ายฝึกอบรมด้านการประหยัดพลังงาน และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน บริหารศูนย์ข้อมูลพลังงานและห้องสมุด
ภายในอาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดนิทรรศการในลักษณะของ “การสื่อสาร 2 ทาง (Two Ways Communication)” โดยนิทรรศการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 8 สถานี ซึ่งนิทรรศการในแต่ละสถานีจะเป็นการนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป อาทิ แบบจำลอง หุ่นจำลอง การสาธิต และการทดลองทำ เป็นต้น
สถานีที่ 1 : พลังงานคืออะไร ให้ความรู้พื้นฐานด้านพลังงาน เช่น พลังงานคืออะไร รูปแบบของพลังงาน ชนิดและแหล่งพลังงาน การนำพลังงานไปใช้ประโยชน์
สถานีที่ 2 : ไฟฟ้ามาจากไหน ? ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ความหมายและที่มา หน่วยวัดพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ การจัดส่ง การใช้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้า
สถานีที่ 3 : สถานการณ์พลังงาน การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในประเทศ ทั้งในด้านความต้องการและการจัดหา รวมทั้งแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต ปริมาณสำรองพลังงานในประเทศ การนำเข้าจากต่างประเทศ
สถานีที่ 4 : วิกฤตสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการใช้พลังงาน เช่น ภาวะโลกร้อน ภาวะฝนกรด ภาวะน้ำท่วมโลก อากาศเป็นพิษ ฯลฯ โดยจะเน้นถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
สถานีที่ 5 : อยู่อย่างประหยัด ให้ความรู้ความรู้เกี่ยวกับบ้านประหยัดพลังงาน การออกแบบและก่อสร้าง การเลือกใช้วัสดุ เครื่องใช้ในบ้าน รวมทั้งการบำรุงดูแลบ้านและอุปกรณ์เครื่องใช้ การลดการสูญเสียพลังงานในบ้านที่อยู่อาศัย
สถานีที่ 6 : เดินทางหารสอง นำเสนอความรู้เกี่ยวกับการเดินทางคมนาคม และการขนส่งการอนุรักษ์พลังงาน แนวทางและทางเลือกในการเดินทางที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลเสียของการสูญเสียพลังงานจากการเดินทาง เกณฑ์ในการเลือกใช้พาหนะการเดินทางที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม วิธีการใช้รถยนต์ที่ถูกต้องเหมาะสมและช่วยอนุรักษ์พลังงาน
สถานีที่ 7 : สำนักงานและโรงเรียนหารสอง การออกแบบและการจัดพื้นที่ใช้สอย การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การอนุรักษ์พลังงานในสำนักงาน การจัดห้องเรียน การเลือกใช้หลอดไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ การมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู ภารโรงและยาม ในการร่วมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การจัดทำสำนักงานและโรงเรียนหารสอง ลักษณะการสูญเสียพลังงานในสำนักงานและในโรงเรียน และการสูญเสียพลังงานจากพฤติกรรมการใช้ที่ไม่เหมาะสม วิธีการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์และอุปกรณ์การสอนต่าง ๆ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และบทบาทของครู นักเรียน และบุคลากรอื่น ๆ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
สถานีที่ 8 : 1A 3R แนวทางและการจัดการขยะด้วยวิธีที่ถูกต้อง คือ หลีกเลี่ยง ใช้ซ้ำ ใช้น้อย ใช้ใหม่ และผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม
สถานีที่ 9 : พิพิธภัณฑ์พระบิดาพลังงาน นำเสนอพระราชกรณียกิจและโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยเฉพาะการพัฒนาด้านพลังงาน อาทิ พลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ เพื่อลดพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า พลังงานชีวภาพ ได้แก่ โครงการวิจัยการผลิตเอทานอล โครงการดีโซฮอล์ ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ พลังงานน้ำ ได้แก่ โครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ และปฏิบัติการฝนหลวง ตลอดจนพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้มีการปลูกป่าพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปลูกทั้งไม้ผล ไม้ใช้สอย และไม้รักษาต้นน้ำลำธาร ตลอดจนเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ผสมผสานความเป็นอยู่อย่างสอดคล้องร่วมกันของคนกับป่า อันเป็นแนวทางที่ดีในการอนุรักษ์แหล่งน้ำลำธาร ฟื้นฟูสภาพป่าและดิน เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทั้งมวล
นอกจากนี้ภายในค่ายการอนุรักษ์พลังงานยังมีสถานที่พักแรมสำหรับการเข้าค่ายพักแรมทั้งเป็นหมู่คณะและบุคคลทั่วไปที่สนใจการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วยกิจกรรมห้องเรียน ธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน ป่าชายหาดและป่าบก การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หอดูนก การสาธิตการสูบน้ำโดยใช้พลังงานลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น การเรียนรู้เหล่านี้ ทุกคนจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป
ถ้าเพื่อนๆ คนไหนได้มีโอกาสแวะไปเที่ยว ที่ชะอำเภอชะอำ ก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี กันนะครับ แล้วเพื่อนๆ จะรู้ว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ทำได้ง่ายๆ เลยล่ะครับรับรองว่า มาเรียนรู้ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ไม่น่าเบื่อเหมือนตำราเรียนแน่นอนครับ
การเดินทาง
ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 จากหัวหิน ประมาณ 9 กิโลเมตร บนถนนเพชรเกษม ทางเข้าพระราชนิเวศน์ฯ ถ้าออกจากหัวหิน อยู่ทางขวามือ นำรถเข้าไป แลกใบขับขี่หรือบัตรประชาชน กับ ตชด. หน้าประตู แล้วขับตรงเข้าไป อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จะอยู่ทางขวามือ
หมู่คณะที่สนใจเข้าชม ติดต่อล่วงหน้าได้ที่
มูลนิธิ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โทร. 0 3250 8396, 0 3250 8411