พาไปตะเวนราตรีไปรู้จักกับตลาดวโรรส หรือที่รู้จักกันในนาม “กาดหลวง” ของเมืองเชียงใหม่ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดเปิดตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายท่านมักมาแวะที่ตลาดแห่งนี้หาซื้อของฝากก่อนกลับบ้าน
กาดหลวง (ตลาดวโรรส) ในส่วนที่เป็นตึกด้านใน เค้าเปิดให้จับจ่ายซื้อของกันในช่วงเวลากลางวัน ถึงค่ำๆ .. เท่านั้น วันนี้ผมไมได้พาเข้าไปเที่ยวชมในตลาดหรอกนะครับ แต่พาเที่ยวชม ตลาดบริเวณรอบ ๆ ของกาดหลวงกันครับ ดูบรรยากาศร้านค้าทั่วไป
ตลาดวโรรส (กาดหลวง) ตั้งอยู่ที่ ต. ช้างม่อย อ. เมือง จ. เชียงใหม่ ทิศเหนือติดถนนช้างม่อย ทิศใต้ติดตรอกเล่าโจ๊ว ทิศตะวันออกติดถนนวิชยานนท์ และ ทิศตะวันตกติดถนนข่วงเมรุ
ที่นี่ ยามค่ำคืน คึกคักไม่เบาเลยล่ะครับ ด้านล่าง ฝั่งด้านในของตลาดวโรรส ก็จะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ขายของมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา กิ๊ฟช็อป สินค้าสวยงาม ล่อตาล่อใจสาวๆ นักช็อป
เดินออกมาด้านนอก ก็เช่นเดียวกันครับ แลดู คล้ายๆ กับโต้รุ่ง ปิดถนนให้ขายของที่จะมีพ่อค้าแม่ค้า นำอาหารมาขายกันแบบนี้ทุกค่ำคืน โดยจะมีเลนสำหรับรถวิ่งได้เพียง 1 เลน เท่านั้น
ภายในก็จะเต็มไปด้วย อาหาร ขนม เครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมือง คาว หวาน จะซื้อกลับไปทาน หรือสะดวกทานก็ได้ทันทีเลยครับ แล้วที่เห็นเด่นชัด ก็คงจะเป็นร้านขนมจีนที่นักท่องเที่ยว จะต้องมาหยุดทานที่นี่เป็นประจำ .. เป็นเก้าอี้เล็ก ๆ ตั้งเรียงกัน รองรับนักท่องเที่ยว ทานขนมจีนที่มีน้ำยาให้เลือกตามใจชอบ .. หากได้มาแล้วก็อย่าพลาดนะครับ .. ขนมจีนที่กาดหลวง (ตลาดวโรรส) เค้าว่า เด็ดจริง อร่อยจริงๆ
ข้อมูลทั่วไปของตลาดวโรรส
ตัวตลาดด้านใน(ขายของฝาก)เปิดทำการตั้งแต่ 6.00 น. – ประมาณ 19.00 น.
บริเวณรอบตลาด(หลังตึกแถว) เปิดประมาณ 7.00 น.- ก่อนเที่ยงคืน
ประวัติตลาดวโรรส
ที่ตั้งตลาดวโรรสในปัจจุบันเดิมทีเป็นที่ข่วงเมรุ หรือที่ปลงพระศพและเป็นที่เก็บพระอัฐิของเจ้าเชียงใหม่ทั้งหลาย แต่หลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ เสด็จกลับมาเยี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้มีพระราชดำริให้ย้ายพระอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดสวนดอกและได้รวบรวมเงิน ส่วนพระองค์และเงินจากเจ้าอินทวโรรสฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้นมาลงทุนสร้างตลาดขึ้นในบริเวรข่วงเมรุนั้น และได้พระราชทานชื่อว่า “ตลาดวโรรส” ตามพระนามของเจ้าอินทวโรรส และชาวบ้านก็ได้เรียกกันในชื่อว่า “กาดหลวง” (ซึ่งอาจจะหมายความว่า ตลาดใหญ่หรือว่าตลาดของเจ้าหลวงก็ได้)
หลังจากเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2476 เจ้า แก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาจัดการบริหารตลาดวโรรส โดยมีชื่อว่าบริษัท เชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด และได้เป็นบริษัทของเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ตลอดมา จนถึงเมื่อเกิดสงครามเอเชียอาคเนย์ขึ้น เจ้านายบางท่านจึงได้โอนขายหุ้นบางส่วนให้ห้างหุ้นส่วนอนุสาร เชียงใหม่ เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาและบริหารงานตลาดให้มีความทันสมัยมากขึ้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทางผู้ถือหุ้นก็ได้มอบหมายให้ ศ. อัน นิมมานเหมินท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทออกแบบต่างชาติเข้ามาทำการค้นคว้าและออกแบบ สร้างตลาดวโรรสให้เป็นตลาดเต็มรูปแบบและมีความทันสมัย โดยพัฒนาคู่กับตลาดต้นลำไยที่อยู่ข้างกัน โดยเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ. 2492 และทำให้ทั้งสองตลาดนี้เจริญเฟื่องฟูและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ได้ เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่และทำให้ทั้งสองตลาดนี้วอดวายไปเสียหมด ถือเป็นการสิ้นสุดของตลาดวโรรสในยุคแรก หลังจากนั้นทางเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ก็ไม่ได้มีความประสงค์จะลงทุนทำตลาดอีกต่อไปจึงได้โอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่และบริษัทอนุสาร จำกัด ทางบริษัทจึงได้มอบหมายให้ ศ. อัน นิมมานเหมินท์ ผู้ออกแบบตลาดในครั้งแรก เป็นผู้ออกแบบตลาดขึ้นมาใหม่โดยทำเป็นตลาดแนวสูงเพื่อการใช้พื้นที่ให้คุ้ม ค่าสูงสุด โดย ศ. อัน ได้ศึกษาดูงานจากตลาดต่างประเทศทั้งที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง และได้สร้างตลาดให้ตรงกลางโปร่งโล่งและมีโครงหลังคาแบบฟันเลื่อยเพื่อให้รับ แสงสว่างธรรมชาติได้เต็มที่พร้อมกับมีการระบายอากาศให้ถ่ายเทตลอดเวลา ซึ่งในสมัยนั้นตลาดวโรรสนับเป็นตลาดที่สวยงามและทันสมัยที่สุดของจังหวัด เชียงใหม่และภาคเหนือ อีกทั้งเป็นตลาดเดียวที่มีบันไดเลื่อนตรงกลางตลาด (ปัจจุบันใช้งานไม่ได้แล้ว)
ตัวตลาดวโรรสใหม่นี้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2515 และได้เป็นที่จับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
ตลาด วโรรส (กาดหลวง)
สถานที่ตั้ง ถนนวิชยานนท์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
การเดินทางโดยรถประจำทาง
- รถสองแถวแดง ซึ่งเป็นรถรับจ้างไม่ประจำทาง สามารถโบกเรียกรถได้จากทุกที่ในเมืองเชียงใหม่
- รถตุ๊กตุ๊ก ราคาแล้วแต่ต่อรอง