ไหว้พระวัดในรัชกาลที่ 2 มีแต่ความรุ่งเรืองทุกคืนวันวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อครั้งอดีตกาลนั้นค่อนข้างที่จะมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับแม่น้ำลำคลอง อย่างแม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นเดียวกับลำน้ำสายอื่น ๆ ซึ่งมักพบเห็นพระอารามอยู่สองข้างลำน้ำตั้งแต่ จังหวัดนครสวรรค์เรื่อยมาจนถึงปากน้ำที่สมุทรปราการ พระอารามเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
ทริปนี้เรา พาทำบุญไหว้พระ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่ช่วยสร้างสีสันให้กับคุ้งน้ำเจ้าพระยากลางเมืองกรุงแห่งนี้ ก็คือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่รวบรวมศิลปกรรมหลายแขนงจากความศรัทธาที่มนุษย์มีต่อศาสนา ทั้งของประชาชนและช่างฝีมือหลายยุคหลายสมัยที่บรรจงสร้างสรรค์งานด้วยความประณีตในความงามวิจิตรนั้นแฝงความหมายของธรรมะและความเชื่อเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม และอีกมากมายและที่เป็นที่รู้จักก็คือ ยักษ์วัดแจ้ง ที่โด่งดังเรื่องความสวยงามและยิ่งใหญ่ และยังมีความเชื่อว่าถ้าได้เข้าไหว้พระที่วัดแจ้งแล้ว ชีวิตจะมีแต่ความรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน เราเข้าไปตามชมกราบไหว้และคันหาประวัติกันเลยครับ
ซุ้มประตูเข้าไปในอุโบสถ,วิหาร มียักษ์เฝ้าสองคน สวยงาม
วัดอรุณราชวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรี ในพ.ศ 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง และอาจสันนิษฐานได้ว่า วัดแจ้งมีมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี การปฏิสังขรณ์วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงกระทำมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และยังทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมนั้น ได้สำเร็จลงไปต้นปีมะโรง พ.ศ. 2363 สมัยรัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองแล้วพระราชทานชื่อวัดใหม่ ว่า วัดอรุณราชธาราม ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันจนถึงปัจจุบัน
วิหารสีขาวสวยและมีรูปปั้นแบบจีนรอบเลยครับ
กราบไหว้พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. 2496 ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ 4 องค์ บรรจุอยู่ในโกศ 3 ชั้น อยู่ในพระเศียร ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร
มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2401 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้ และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 70 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่ง หลังจากที่เราไหว้พระศักดิ์ในวิหารแล้ว เราก็ออกมาชมความงามและยิ่งใหญ่ของพระปรางค์ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าวัด
หมู่พระปรางค์ วัดอรุณครับ
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งดัดแปลงมาจากพระปรางค์ แต่เดิมเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อสักการบูชาในศาสนาพราหมณ์และฮินดู แต่สำหรับพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสืบเนื่องมาจากความศรัทธาในพุทธศาสนาผสมผสานไปกับศิลปกรรมแบบฮินดู วัตถุประสงค์หลักนั้นสร้างด้วยความศรัทธาในคตินิยมของพุทธศาสนาจึงอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งของพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามว่าเป็น พุทธปรางค์
พระปรางค์ ตั้งอยู่หน้าวัด ทางทิศใต้ หลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย เดิมสูง 8 วา เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาพลัยทรงมีพระราชศรัทธาจะเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่ทรงกระทำได้เพียงโปรดให้กะที่ขุดรากเตรียมไว้เท่านั้น การยังค้างอยู่เพราะสวรรคตเสียก่อน ถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่อีกครั้ง เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด เป็นต้น และทรงมีพระราชดำริเพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้เสริมสร้างพระปรางค์ใหญ่สูงถึง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 นิ้ว
ลักษณะของพระปรางค์ พระปรางค์ใหญ่ อยู่ภายในวงล้อมของวิหารคดและเก๋งจีน 3 ด้าน เว้นด้านหน้า มีประตูเข้า 9 ประตู บริเวณลานจากวิหารคดและเก๋งจีนถึงฐานพระปรางค์ชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องหิน มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ 1ระหว่างปรางค์ทิศและมณฑปทิศ ด้านละ 2 บันได รวม 4 ด้าน เป็น 8 บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นนี้เป็นฐานทักษิณชั้น 2 รอบฐานมีรูปต้นไม้ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เหนือขึ้นไปเป็นเชิงบาตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ใบไม้ มีบันไดขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ 2 ตรงหน้ามณฑปทิศ มณฑปละ 2 บันได คือทางซ้ายและทางขวาของแต่ละมณฑปรวม 8 บันได เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ 2 เป็นฐานของทักษิณชั้นที่ 3 มีช่องรูปกินรและกินรีสลับกันโดยรอบ เชิงบาตรมีรูปมารแบก และมีบันไดตรงจากหน้ามณฑปทิศแต่ละมณฑปขึ้นสู่ทักษิณชั้นที่ 3 อีกด้านละบันได รวม 4 บันได ที่เชิงบันไดมีเสาหงส์หินบันไดละ 2 ต้น เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ 3 เป็นฐานทักษิณชั้นที่ 4 มีช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ เว้นแต่ตรงย่อมุม 4 ด้าน เป็นรูปแจกันปักดอกไม้ เพราะเป็นช่องแคบ ๆ ที่เชิงบาตรมีรูปกระบี่แบก มีบันไดขึ้นไปยังทักษิณชั้นที่ 4 อีก 4 บันไดตรงกับบันไดชั้นที่ 3 ดังกล่าวแล้ว และมีเสาหงส์หินอยู่เชิงบันไดอีกด้านละ 2 ต้น เช่นเดียวกัน เหนือพื้นทักษิณชั้นที่ 4 เป็นช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ และตรงย่อมุมเป็นรูปแจกันปักดอกไม้ เชิงบาตรมีรูปพรหมแบบ เหนือชั้นไปเป็นซุ้มคูหา 4 ด้าน มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ในคูหาทั้ง 4 คูหา เหนือซุ้มคูหารูปพรอินทร์เป็นยอดปรางค์ขนาดย่อม และมีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแบบกพระปรางค์ใหญ่อยู่โดยรอบตอนสุดพระปรางค์ใหญ่ขึ้นไปเป็นนภศูลและมงกุฎปิดทอง
องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ อย่างงดงามประณีตบรรจง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับเหล่านี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว บางชิ้นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเข้าเป็นลาย และบางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายเป็นกระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอยและบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงาม ๆ เป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ เล็กบ้างใหญ่บ้างมาประดับสอดสลับไว้อย่างเรียบร้อยน่าดูน่าชมยิ่ง
ปรางค์ทิศ เป็นพระปรางค์องค์เล็ก ๆ อยู่บนมุมทักษิณชั้นล่างของพระปรางค์องค์ใหญ่ ตรงทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ ปรางค์ทิศทั้ง 4 องค์ รูปทรงเหมือนกันคือ มีช่องรูปกินนรกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเนยอดพระปรางค์ มีรูปครุฑจับนาคและเทพพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา องค์ปรางค์ทิศก่อด้วยอิฐถือปูนกับถ้วยกระเบื้องเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ และเหนือยอดพระปรางค์เป็นนภศูลปิดทองแต่ไม่มีมงกุฎปิดทองครอบ (จะมีเฉพาะพระปรางค์องค์ใหญ่เท่านั้น)
ซุ้มประตู มีรูปปั้นแบบชาวจีนอยู่ทั่วบริเวณ
มณฑปทิศ มีอยู่ 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ 2 ในระยะระหว่างปรางค์ทิศ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แต่จะเป็นปางใดบ้างนั้น ไม่พลหลักฐาน เมื่อปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 5 ตามรายงานของพระยาราชสงครามชี้แจงว่า มีแต่ฐานพระพุทธรูป องค์พระพุทธรูปไม่มี ตอนฐานของมณฑป แต่ละมณฑปมีช่องรูปกินรีและกินนร และเหนือช่องมีรูปกุมภัณฑ์แบก 2 มณฑป คือ ทิศเหนือกับทิศใต้ รูปคนธรรพ์แบก 2 มณฑป คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มณฑปก่อด้วยอิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่นเดียวกับองค์พระปรางค์ใหญ่ และปรางค์ทิศ
เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไปชั้นบนสุดของพระปรางค์องค์ใหญ่ก็สามารถมองเห็นวิวแม้น้ำเจ้าพระยาของเมืองหลวงได้สวยอีกมุมหนึ่งและมองเห็นวัดพระแก้วได้อีกด้วย ตัวปรางค์ใหญ่มาก ๆ และสวยงามจริง ๆ
มีศาลาริมน้ำแบบก๋งจีนครับ
รูปปั้นแบบชาวจีนในแบบต่าง ๆครับ
ภายในวัดอรุณแห่งมีสถาปัตยกรรมและสิ่งที่น่าสนใจมากมายที่ควรได้รู้ได้เห็น และเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ พระมหากษัตริย์ไทยมีใจรักและทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างดีตลอดมา ทำให้เราคนรุ่นหลังมีโอกาสได้เห็นและรับรู้ถึงฝีมืออันล้ำค่าว่าคนไทยเราก็มีดีเหมือนกัน และสมควรที่เราชาวไทยต้องเข้าเยี่ยมชมและสักการบูชาอย่างยิ่งครับ
หลังจากที่เราไหว้พระและชมความงามของวัดอรุณแล้วเรียบร้อยแล้วก็นี่เลยครับ ลูกชิ้นปลากายทอดกรอบ ของคุณป้า ปราณี อร่อยมาก ๆ ลูกชิ้นทอดออกมาแล้วกรอบไม่เหมือนที่อื่น น้ำจิ้มรสเด็ดมาก ถ้าหิวก็แวะเลย ป้าแกขายอยู่บริเวณหน้าวัดทางขึ้นมาจากท่าเรือ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนครับ
การเดินทาง
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๓๔ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
เดินทางมาได้โดยรถประจำทางสาย19,57 ท่าเรือข้ามฟากขึ้นจากท่าเตียน ขึ้นที่ท่าวัดอรุณฯ ได้เลย