ความศรัทธาของเหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชนที่มีศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย ยังคงเหนียวแน่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน และยังคงเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาขึ้นมากมาย และทริปนี้ดูเอเซีย.คอมก็จะพาเพื่อน ๆ มาเที่ยวชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเช่นกัน “ที่วัดเด่นสะหลีเมืองแกน”
วัดเด่นสะหลีเมืองแกน ตั้งอยู่ที่ ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดบ้านเด่นเฉย ๆ ตั้งแต่ท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จากที่ ไม่เคยมีต้นโพธิ์เลยสักต้นเดียว ก็มีต้นโพธิ์ขึ้นมากมาย และด้วยความที่ชาวเมืองเหนือเรียกต้นโพธิ์ว่า “ต้นสะหลี” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นมงคลดี ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อวัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัด อีกทั้งวัดตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าในสมัยโบราณที่ชื่อว่าเมืองแกน ชาวบ้านก็เลยเรียกชื่อวัดนี้เต็ม ๆ ว่า “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน”
วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ เกิดจากแรงศรัทธาในเรื่องของศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้ที่มาเยือนและผู้พบเห็น สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล เกจิดังแห่งภาคเหนือที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จึงพัฒนาจากวัดเล็ก ๆ ให้มีความใหญ่โตสวยงาม ทรงคุณค่าในงานพุทธศิลป์ถิ่นล้านนา
ท่านครูบาเจ้าเทือง มีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพนับถือมากมาย ทั้งชาวไทย จีน ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง และชาวเขาหลายเผ่า เป็นที่เรียกขานว่า เป็นเกจิสหายหรือครูบาสองพี่น้อง คู่กับกับครูบาบุญชุ่ม เกจิดังแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งหากรูปใดรูปหนึ่งมีงานบุญสำคัญก็จะไปร่วมงานกัน และมีประชาชนที่ทราบข่าวแห่กันไปร่วมกราบไหว้ขอพรอย่างเนืองแน่นเสมอ จึงมีชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธานำเงินมาถวายเป็นปัจจัยในการทำบุญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งตัวท่านครูบาเจ้าเทืองเอง ก็ไม่ต้องการจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ ประกอบกับคิดอยากจะสร้างอนุสรณ์แห่งบุญที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา จึงได้มีการปรับปรุง ก่อสร้างวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนเสียใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2534 บนพื้นที่กว่า 80ไร่ ของวัด ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินสูง สามารถมองเห็นวิวทุ่งนา และบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงอย่างชัดเจน
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างนั้น เป็นแบบล้านนาประยุกต์ ที่ผสมผสานกับแนวคิดของท่านครูบาเจ้าเทืองเอง ที่ครูบาเรียกว่า “แนวสถาปนึก” คือคิดจะใส่อะไร ก็ใส่ จะทำอะไร ก็ทำ และต้องมีความมั่นคง ท่านครูบาเจ้าเทืองต้องการให้เป็นการผสมผสานระหว่าง วัดบ้านกับวัดป่า เพราะมีความเชื่อที่ว่าศาสนาอยู่ได้เพราะปฏิบัติ การแบ่งแยกไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยยึดหลักการสร้างตามบุญ คงเพราะการสร้างตามบุญนี่เอง ที่ทำให้จนกระทั่งทุกวันนี้ วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน จึงมีขนาดสิ่งปลูกสร้างใหญ่และยังคงสร้างไม่แล้วเสร็จในหลาย ๆ ส่วน
พระประฐานในอุโบสถ
จากซ้ายไปขวา: หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครง | หลวงพระศรีศากยสิงห์ | หลวงพ่อพระพุทธชินราช
แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ก็ตาม แต่ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยว มาแวะชมความใหญ่โต มโหฬารของวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนอยู่บ่อยครั้ง ความวิจิตรอันร่วมยุคสมัยนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมาทางสิ่งปลูกสร้าง อาทิเช่น พระอุโบสถอันอ่อนช้อยงดงาม มีพระประธานที่มีสีทองอร่ามประดิษฐานอยู่ มีรูปหล่อท่านครูบาเจ้าเทือง องค์สีทองอร่าม ผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปแกสลักจากไม้ ประดิษฐานเรียงรายตามเสาพระอุโบสถ
และอีกหลายส่วนในบริเวณวัดก็โดดเด่นด้วยการลงรักปิดทองที่เสาต้นใหญ่ พระพุทธรูปไม้ของเหล่าเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทย หอพระธรรม ที่ยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพียงแค่เห็นภายนอกก็ไม่เสียใจที่ได้มาชม ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถานที่ตั้งของพระธาตุ 12 ราศีจำลองที่ตระหง่านเป็นสีขาวขาวเด่นน่ากราบไหว้ ถือว่าเป็นการรวบรวมองค์พระธาตุ 12 ราศีมาไว้ที่วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน แห่งนี้ ในอนาคตถ้าสร้างแล้วเสร็จ นักท่องเที่ยวก็สามารถมากราบไหว้บูชาพระธาตุประจำปีเกิดได้ที่วัดแห่งนี้
ส่วนบริเวณด้านข้างฝั่งซ้ายของพระอุโบสถ ก็เป็นที่ตั้งของกู่อัฐิที่ท่านครูบาเจ้าเทืองสร้างเตรียมไว้สำหรับตัวท่านเองเมื่อท่านมรณภาพ ถัดออกไปก็จะเป็นศาลาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่ม่ชื่อเสียงจากวัดชื่อดังทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครง หลวงพ่อพระพุทธชินราช หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน หลวงพ่อพระศรีศากยสิงห์ หลวงพ่อพระพุทธสีหิงห์ หลวงพ่อพระนาคปรก หลวงพ่อพระพุทธจักรพรรดิราช หลวงพ่อวัดไร่ขิง และหลวงพ่อพระพุทธโสธร เรียกได้ว่าใครที่กำลังมองหาโอกาสที่จะไปกราบนมัสการหลวงพ่อท่าน ก็มาที่วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ ก็ได้กราบนมัสการครบทุกองค์
ครูบาเทือง
สำหรับเรื่องที่น่าเหลือเชื่ออีกอย่างหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวชมวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ ต่างก็ต้องการจะทราบเหตุผลและบอกต่อว่า เชื่อหรือไม่ว่า บนพื้นที่อันใหญ่โตมโหฬารแห่งนี้ เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง แต่มองทั่ววัดก็หาภิกษุสงฆ์ และสามเณรได้ยากยิ่ง นั่นก็เป็นเพราะทั้งวัดมีพระจำพรรษาอยู่ คือ ท่านครูบาเจ้าเทืองเพียงรูปเดียวเท่านั้น จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ในศรัทธาที่ก่อให้เกิดความงดงามได้อีกเรื่องหนึ่ง หลายคนคงสงสัยว่าวัดแห่งนี้ใหญ่โตมโหฬารมาก แต่ทำไมถึงไม่มีพระภิกษุสามเณรท่านอื่น ๆ เลย
การเดินทาง
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่ – ฝาง ผ่านสามแยกแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จากนั้นให้สังเกตป้ายทางเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลทางด้านขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปไม่ไกลมาก จะเจอซุ้มยินดีต้อนรับสู่เทศบาลเมืองแกน เมื่อลอดซุ้มแล้วให้เลี้ยวซ้ายซอยเล็ก ๆ ก่อนถึงสนามกีฬา แล้วก็ตรงไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ