เปิดให้นมัสการตั้งเวลา 07.00-18.00 น.ภายในจะพบกับหลวงพ่อมงคลบพิตรเก่าแก่ วิหารพระมงคลบพิตรอยู่ติดกับพระราชวังโบราณนะครับ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาถึงแล้วก็มักจะเข้าไปชมพระราชวังโบราณด้วย บริเวณหน้าวิหารพระมงคลบพิตร จะมีร้านค้าร้านอาหารไว้บริการหลายร้าน ส่วนใหญ่ขายของพื้นเมือง อาหาร ขนม และของฝาก หากเพื่อนๆ มีโอกาสผ่านมานมัสการพระมงคลบพิตรกันสักครั้งนะครับ
ประวัติวิหารพระมงคลบพิตร
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์องค์ใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย เดิมอยู่ทาง ทิศตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ย้ายมา ไว้ทางด้านตะวันตก ที่ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้
ครั้นถึงแผ่นดิน ของสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปเกิดไฟไหม้เพราะอสุนีบาต ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดให้ก่อสร้างใหม่ แปลงเป็นพระวิหารแทน เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตร ได้ถูกไฟไหม้ พระวิหารและองค์พระพุทธรูปได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ ฝีมือ ไม่งดงามอ่อนช้อยเหมือนเก่า บริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออก เดิมเป็น สนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย และเจ้านายเช่นเดียวกับ ท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ
วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟเผาผลาญ ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310 จนเครื่องบนของพระวิหารพังลงมา ถูกพระเมาฬีและพระกรขวาขององค์พระชำรุด พระยาโบราณราชธานินทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้บูรณะซ่อมแซมให้คืนดี สำหรับพระวิหารที่ชำรุดหักพังเกือบจะโดยสิ้นเชิงนั้น ได้บูรณะขึ้นใหม่อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2499 โดย นายอูนุ นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในขณะนั้น ได้บริจาคเงินจำนวนสองแสนบาท ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลไทยอีกสองแสนห้าหมื่นบาท
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ที่ ถ.คลองท่อ ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
การเดินทาง
หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32) เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าอยุธยา ตรงเข้ามาตาม ถ.โรจนะจนสุดถนน เลี้ยวขวาตรงศาลากลางเก่าไปจนถึงวงเวียน ให้เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานปรีดี-ธำรง (ข้ามแม่น้ำป่าสัก) ตรงไปจนสุดทางประมาณ 500 เมตร จะเจอสามแยกให้เลี้ยวขวา แล้วเจอวงเวียนเล็กๆ ให้ตรงไป จะเห็นวิหารพระมงคลบพิตรอยู่ซ้ายมือ