ถ้าพูดถึงแหล่งศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน หลายคนคงต้องนึกถึงชุมชนวัดศรีสุพรรณ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ถนนวัวลาย” (ถนนคนเดิินวันเสาร์เชียงใหม่) เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมศาสตร์และศิลป์แขนงอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และถ่ายทอดออกมาสู่สายตาของมวลชนในนามของ “วัดศรีสุพรรณ” เพื่อฝากศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา
วัดศรีสุพรรณ ถือเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมช่างหล่อ ถนนช่างหล่อ และหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ถนนวัวลายแห่งนี้มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นจรรโลงพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชาวพุทธ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และเศรษฐกิจชุมชน จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน 508 ปี ตามหลักศิลาจารึกบนหินทรายแดง กล่าวถึงประวัติวัดศรีสุพรรณไว้อย่างชัดเจนว่า ราว พ.ศ. 2043 พระเมืองแก้วหรือพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช ร่วมกับพระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้า ให้ขุนหลวงจ่าคำ นำเอาพระพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาประดิษฐานแล้วสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เดิมเรียกชื่อว่า “ศรีสุพรรณ อาราม” ต่อมาได้สร้างมหาวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ พระอุโบสถหลังเดิม ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2052 พร้อมทั้งสร้างศาสนสถานอื่น ๆ แล้วมอบพื้นที่รอบกำแพงทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 20 วา ให้แก่วัด และมอบข้าทาสไว้ดูแลวัดอีก 20 ครอบครัว
อุโบสถเงินศาสนสถานแห่งแรกของโลก
รอบๆ อุโบสถเงินมีบาตรพระทำจากเงินวางไว้
“ศรีสุพรรณอาราม” กลายเป็นศูนย์กลางแหล่งศิลปวัฒนธรรม การศึกษาภูมิปัญญาล้านนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขินวัวลาย มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยของความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน รูปแบบการดำรงชีวิตแบบวิถีชาวพุทธ ภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมการหล่อพระพุทธรูป หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขินถนนวัวลาย แต่ทว่าปัจจุบันนี้นับวันจะเริ่มเสื่อมถอย ขาดผู้สืบทอดอย่างยั่งยืน ดังนั้นนี่คือปณิธานของวัดศรีสุพรรณ เพื่อฝากศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา
วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ ถนนช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขิน ถนนวัวลาย นับเป็นทุนทางสังคมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมากกว่า 200 ปี แต่ปัจจุบัน ทุนทางสังคมอันเป็นมรดกชิ้นนี้ นับวันจะสูญหายไปจากชุมชนย่านช่างหล่อ และย่านวัวลายอย่างปรากฏได้ชัดยิ่งขึ้น ดังนั้น พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ คณะกรรมการวัด ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดถึงศรัทธาประชาชนผู้ที่เห็นคุณค่าของมรดกชิ้นนี้ จึงได้พยายามสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ โดยการรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดตั้งเป็น กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ต่อมาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ขึ้นภายในวัด เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนขึ้น โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รับผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน
อุโบสถเงิน ศาสนาสถานหลังแรกของโลก ร่วมสร้างศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙ โดยอาศัยมิติทางพระพุทธศาสนาบูรณา และมิติด้านการอนุรักษ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมเครื่องเงิน บนถนนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมากกว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งปัจจุบันนับวันกำลังสูญหายไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ ประกอบกับอุโบสถหลังเดิมของวัดศรีสุพรรณ ชำรุดทรุดโทรมไม่สะดวกในการประกอบศาสนกิจ จึงเป็นเหตุผลและแนวคิดของการนำภูมิปัญญาล้านนาสู่สากลมาสร้างเป็นอุโบสถเงินบนฐานเดิม พัทธสีมาเดิม และที่สำคัญพระประธานองค์เดิม (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) อายุ ๕๐๙ ปี นำศิลปกรรม หัตถกรรมเครื่องเงินถนนวัวลาย อันเป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม มาเพิ่มเติมคุณค่าอุโบสถหลังนี้ โดยช่างภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานสลักลวดลายลงบนแผ่นเงิน บริสุทธิ์ เงินผสม อลูมิเนียม และวัสดุแทนเงิน ประดับตกแต่งทั้งภายนอกและภายในตลอดทั้งหลัง ซึ่งเป็นหลังแรก ที่ภูมิปัญญาชาวบ้านได้จัดสร้างขึ้น ตั้งแต่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยมีปณิธานร่วมกันเพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙”
เมื่อเข้าไปในอุโบสถเงินก็จะพบกับองค์พระประธาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๔ ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง มีตำนานเล่าขานสืบกันมาว่า พระประธานองค์นี้ แสดงพุทธปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างอุโบสถอยู่เป็นประจำ ประทานความสำเร็จสมปรารถนาสำหรับผู้มาอธิษฐานจิตกราบไหว้อยู่เนืองนิตย์ สถิตในจิตใจเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านศรีสุพรรณ และประชาชนทั่วไปตลอดมา ในสมัยพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้มีนักฝึกจิตชาวรัสเซีย ๒ ท่าน มีโอกาสมาฝึกปฏิบัติทางจิตในอุโบสถ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ ได้มีสัมผัสที่ ๖ (Six sense) แล้วกล่าวว่า พระประธานองค์นี้มีพลังหยิน – หยาง, พลังร้อน – เย็น และเป็นทอง – เงิน (เนื้อองค์พระเป็นทองสัมฤทธิ์ และประดิษฐานในอุโบสถเงิน) คู่กันอยู่ในองค์พระ ยิ่งเพิ่มพลังแห่งความสำเร็จสมปรารถนา สำหรับผู้มีศรัทธามากราบไหว้ ถวายสักการะ อธิษฐานจิต โดยเฉพาะท่านสุภาพสตรี จึงได้ถวายนามว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์ มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่
นอกจากตำนานดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องเล่าที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างก็เข้ามาพิสูจน์หลักฐานร่องรอยกระสุนปืนที่พระบาทขององค์พระประธาน สืบเนื่องมากจากในสมัยสงครามโลก บริเวณวักศรีสุพรรณแห่งนี้เป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่น โดยมีหอไตร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นหอบัญชาการรบของกองทัพญี่ปุ่น และปัจจุบันก็ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลาน เมื่อกองทัพญี่ปุ่นถูกโจมตี กระสุนปืนจึงโดนที่พระบาทของพระประธาน เป็นรอยบิ่นให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากพระประธานแล้ว จะเห็นว่าวัดศรีสุพรรณแห่งนี้ยังมีองค์พระพิฆเนศอยู่ ทั้งองค์ใหญ่ และองค์เล็กภายในอุโบสถเงิน หลายสิบองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพิฆเนศเป็นเทพที่มีผู้คนนับถือและเคารพมากที่สุด เนื่องจากเป็นเทพที่มีพระกรุณาเป็นหนึ่งในเทพทั้งหมด และถือเป็นปฐมเทพที่จะได้รับการบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ ดังนั้นวัดศรีสุพรรณจึงได้สร้างองค์พระพิฆเนศ บรมครูแห่งความสำเร็จ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๒๕ เมตร สูง ๑.๕0 เมตร ทรงเครื่องศิลปกรรมล้านนา และประกอบพิธีเทวาภิเษก ภายใน 1 วัน 1 คืน เพื่อประดิษฐานบนแท่นขันครูหลวง เป็นมิ่งขวัญของช่างสิบหมู่ล้านนา และสำหรับผู้มีจิตรศรัทธาไว้บูชา
พระบรมธาตุ
นอกจากนี้ยังมี พระบรมธาตุวัดศรีสุพรรณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม ตั้งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสีเหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหกพระบรมธาตุเจดีย์ได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว มีอายุประมาณเท่ากับพระวิหาร หรือหลังจากนั้นไม่นาน เพราะในพุทธศาสนาทางล้านนานั้น นิยมสร้างพระธาตุเจดีย์ไว้หลังพระวิหาร สำหรับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ มีข้อสังเกตอยู่หลายๆ อย่าง หากเพื่อน ๆ ได้เข้ามาเยี่ยมชมที่วัดศรีสุพรรณ ลองไปยืนมองดูใกล้ ๆ โดยยืนทางด้านทิศตะวันออก มุมองค์พระธาตุแล้วลองมองขึ้นไป จะสังเกตเห็นว่า พระธาตุองค์นี้เอียงตัว ส่วนในเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้นั้น ก็มีบ้างแต่ไม่ค่อยมีคนจดจำและบันทึกไว้ แต่ที่ได้ยินมาคือ ในช่วงเดือนเพ็ญ หรือขึ้น 15 ค่ำ มีชาวบ้านหลายๆ คน บอกว่าเห็นองค์พระธาตุจะส่องแสงวาววับและเคลื่อนตัวรอบ ๆ องค์พระธาตุเป็นรูปวงกลม อันนี้ก็เป็นแต่คำบอกเล่าสั้น ๆ เท่านั้น ผู้ใดปฏิบัติดี ผู้นั้นย่อมเห็นสิ่งที่ประเสริฐ ใครอยากเห็นก็ให้ปฏิบัติดี ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็คงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น
สุดท้ายคือ หลักศิลาจารึกประวัติ จารึกด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายแดง ข้อความในศิลาจารึกวัดศรีสุพรรณเป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดศรีสุพรรณศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว หรือพญาแก้วกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ( พ.ศ.2038 – 2068 ) ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาที่สืบต่อมาจากสมัยพระเจ้าติโลกราช ( พ.ศ.1984 – 2030 ) และพญายอดเชียงราย ( พ.ศ.2030 – 2038 ) ครั้งนั้นได้กัลปนาที่นาแปลงใหญ่และข้าว จำนวน 20 ครัวให้กับวัดศรีสุพรรณ จึงเริ่มต้นชุมชนวัดศรีสุพรรณอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา
รู้หรือไม่ว่า ความสำคัญแต่ละส่วนของพระวรกายองค์พระพิฆเนศ นั้นหมายถึงอะไร ?
1.พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
2.พระวรกายแสดงถึงการเป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
3.ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
4.เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า “โอม” ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยะจักรวาล
5.พระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้น พร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง
- พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและฟันฝ่าความยากลำบาก
7.มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์ มหาภารตะให้มหาฤษีเวทวยาสมุนี และเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละ
8.อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
9.ขนมโมณฑกะ หรือขนมหวานลัดดูในงวง เป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความหวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเอง เพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น ๆ
10.หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัด หมายความว่าท่านพร้อมที่จะรับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา
11.งูที่พันอยู่รอบท้องแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ
12.หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์ และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก