www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
พระอภัยมณี
ตอนที่
๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
ฝ่ายพระอภัย ชวนน้องรักศรีสุวรรณมาปรึกษาว่า จะเลิกทัพกลับเมือง แล้วจะแต่งวิวาห์สินสมุทกับพระบุตรีอรุณรัศมี
องค์ศรีสุวรรณก็เห็นด้วย พระอภัยจึงสั่งน้องให้เตรียมยกพลกลับในวันพรุ่งนี้เช้า
ฝ่ายพระอนุชาศรีสุวรรณตรัสบอกกับพระมเหสีเกษราว่า นางรำภามีครรภ์แล้ว
พี่จะใคร่ให้ของสำคัญไว้ |
แหวนกำไลปะวะหล่ำเครื่องทำขวัญ |
สำหรับผูกลูกเต้าเป็นเผ่าพันธุ์ |
จะได้กันครหาข้างหน้าไป |
นางทูลตอบขอบคุณทูลกระหม่อม |
ซึ่งโอบอ้อมเอื้อเฟื้อแก่เนื้อไข |
พระเอ็นดูกุมารประการใด |
น้องมิได้เขืองขัดเป็นสัจจา |
ฯลฯ
แล้วให้ไปตามนางรำภามาพบ
ค
มเหสีดีใจปราศัยทัก |
สงสารนักชันษาอ่อนกว่าฉัน |
ได้ร่วมคู่รู้จักจะรักกัน |
เหมือนพงศ์พันธุ์พี่น้องอย่าหมองใจ |
ฯลฯ
แล้วตรัสว่า เมื่อนางรำภามีโอรสก็จะได้เป็นน้องพระบุตรี แล้วถอดแหวนเพชรเจ็ดกะรัต
จากพระหัตถ์ให้นางรำภา นางรับไว้ด้วยไมตรีแล้วทูลว่า ที่ตนผิดพลั้งครั้งในสงคราม
ขอให้อภัยแก่นางด้วย
ค
นางรับคำร่ำว่าประสาซื่อ |
มิได้ถือสงครามตามวิสัย |
ไม่ดูถูกลูกผู้หญิงอย่ากริ่งใจ |
จะรักใคร่ให้เหมือนเพื่อนชีวี |
ฯลฯ
องค์อนุชาศรีสุวรรณตรัสบอก นางรำภาว่าพระองค์จะยกกองทัพกลับแล้ว จะชวนนางไปด้วย
จะชวนเจ้าเยาวลักษณ์ไปนัคเรศ |
จะถือเพศพุทธกิจหรือคิดไฉน |
หรือรักรีตกีดขวางเป็นอย่างไร |
ก็ตามใจใช่จะขัดอัธยา |
นางรำภาทูลว่านางเป็นชาติฝรั่งเกาะลังกา ไม่สันทัดในภาษาไทย อนึ่งเจ้าลังกาได้เมตตาเลี้ยงตนไว้
มีพระคุณเพียงแผ่นดิน ในชาตินี้ถ้าชีวิตยังไม่สิ้น ก็ตั้งใจจะอยู่เป็นข้าองค์ละเวง
เชิญพระองค์นงลักษณ์ไปนัคเรศ |
คือประเทศธานินทรถิ่นสถาน |
แต่หนหลังพลั้งผิดกิจการ |
โปรดประทานโทษาอย่าราคี
ฯ |
พระอนุชาศรีสุวรรณได้ฟังนางแล้ว ก็ตรัสตอบตามใจนาง แล้วประทานของรองพานให้นางและบุตร
สร้อยสังวาลบานพับสำหรับบุตร |
อย่าให้สุดสิ้นเชื้อเป็นเนื้อไข |
รำลึกถึงจึงค่อยพาลูกยาไป |
ชมเมืองไทยบ้างเถิดนางอย่างหมางเมิน |
ฯลฯ
ฝ่ายนางยุพาผกาเข้าไปขอสมาสินสมุท แล้วขอให้สินสมุทกรุณาลูกที่อยู่ในครรภ์
ความทุกข์ทนล้นเหลือแต่เมื่อคลอด |
จะได้รอดชีวาหรืออาสัญ |
ขอบุญญาฝ่าละอองช่วยป้องกัน |
อย่าให้อันตรายมีทางนี้เลย |
สินสมุทได้ฟังจึงตอบนางไปว่า คิดจะพานางไปเมืองด้วย แต่เกรงเผ่าพงศ์วงศ์วาน
จะว่าให้เป็นราคี เมื่อแคล้วคลาดกันแล้ว ถึงนางจะมีผัวใหม่ก็ไม่ห้าม
แต่ลูกเต้าเอามาให้ข้าเลี้ยง |
ตั้งชื่อเสียงตามข้าภาษาสยาม |
เป็นเชื้อไขไว้ยศให้งดงาม |
ได้ถือตามภาษาพาราเรา |
ฯลฯ
นางรำภาได้ฟังจึงทูลประชดตอบกลับไปว่า ที่ตนนอบน้อมยอมอยู่กับสินสมุท ก็เพราะรบแพ้
สำหรับฝรั่งนั้นไม่มีผัวสอง ดังนั้นที่โปรดให้ตนมีผัวใหม่นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้
ขอมีเพียงสินสมุทแต่ผู้เดียว ถ้าเป็นอย่างอื่นขอให้ลงอาญา
จะคอยจับปรับไหมขายฝรั่ง |
เฆี่ยนให้หลังลายส่งไปโรงสี |
ขอพึ่งบุญมุลิกาเป็นสามี |
พอไพรีรู้ทั่วได้กลัวเกรง
ฯ |
แล้วสินสมุทก็ถอดธำมรงค์บุษย์ให้นางเก็บไว้ให้ลูก แล้วพูดปลอบประโลมนาง
จะกลับมาหาเจ้าอย่าเศร้าสร้อย |
ไม่ขาดคอยลืมมิตรพิสมัย |
พลางลูบหลังตามเคยชะเลยใจ |
เหมือนเปลวไฟฝอยนิดก็ติดเชื้อ |
ฯลฯ
ฝ่ายพระอภัยจะไปสั่งลาองค์วัณฬา จึงออกปากกับพระมเหสี นางก็ไม่ขัดขวาง พระอภัยจึงเสด็จไปหาองค์ละเวงยังตึกทอง
ค
พระลูบโลมโฉมเฉลาเยาวรักษ์ |
ไม่สิ้นรักร่วมชีวิตพิสมัย |
ถึงตัวพี่นี้จะพรากจากเจ้าไป |
แต่จิตใจอยู่เฝ้าทุกเช้าเย็น |
ฯลฯ
แล้วเปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรงทั้งมงกุฎ |
ให้นงนุชนางวัณฬามารศรี |
สำหรับทรงองค์โอรสเครื่องยศนี้ |
เหมือนตัวพี่ผู้บิดาสถาวร
ฯ |
องค์วัณฬารับประทานแล้ว ใส่พานตั้งไว้บนบัลลังก์ริมสุวรรณบรรจถรณ์ แล้วคร่ำครวญอาลัยรัก
พระจากไปไหนจะมาเห็นหน้าน้อง |
เหมือนเดือนส่องภพไตรใครจะเหมือน |
จะนับปีมิได้กลับมาเยี่ยมเยือน |
ยิ่งกว่าเดือนลับฟ้าเหลืออาลัย |
จะแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าทุกเช้าค่ำ |
โอ้ว่ากรรมน้องสร้างแต่ปางไหน |
นางครวญคร่ำกำสรดระทดฤทัย |
สะอื้นไห้ไม่วายฟายน้ำตา
ฯ |
พระอภัยสั่งเสียและสมรักกับนางอยู่จนตีสิบเอ็ด จึงลานางกลับ
แล้วสั่งความทรามสงวนว่าจวนรุ่ง |
จะจากกรุงเตรียมองค์ตามวงศา |
แม่เนื้อคู่อยู่จงดีพี่ขอลา |
นางโศกากอดบาทไม่คลาดคลาย |
ทูลกระหม่อมจอมทวีปประทีปแก้ว |
จะลับแล้วเช้าเย็นไม่เห็นหาย |
ไม่มีท้องน้องจะขอเชือดคอตาย |
ไม่เสียดายชีวิตสักนิดเลย |
ฯลฯ
ถึงคนอยู่ผู้อื่นสักหมื่นแสน |
ไม่เหมือนแม้นทูลกระหม่อมจอมเกศา |
จะเย็นเยียบเงียบทั้งเกาะลังกา |
กินน้ำตาต่างข้าวทั้งเช้าเย็น |
ฯลฯ
พระอภัยรับขวัญองค์วัณฬา แล้วก็ไปสรง แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จแล้ว กลับมาหน้าพระลาน
พวกองค์วัณฬาตามมาส่งที่พลับพลาหน้าป้อม
มาตามส่งตรงพลับพลาที่หน้าป้อม |
ประณตน้อมยอกรให้พรผัว |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องให้หมองมัว |
จะทรงตัวมิใคร่ไหวฤทัยระทวย
ฯ |
ระหว่างทางพระอภัยให้อาลัยถึงองค์ละเวงยิ่งนัก พระมเหสีเข้ามาปลอบโยนให้คลายใจ
เมื่อไพร่พลเดินทางมาถึงฝั่งสมุทรเมืองลังกา พระอภัยก็ให้หยุดโยธาแล้วให้ยกโทษฝรั่ง
ทั้งระเด่นที่จับคุมขังเอาไว้ พร้อมทั้งคืนของข้าไทให้กลับคืนไป บรรดาแขกฝรั่งทั้งบ่าวนาย
ก็กราบถวายบังคมลาไปธานี
ค
ฝ่ายทุกองค์พงศ์กษัตริย์ต่างจัดทัพ |
ลงเรือกลับข้ามคุ้งไปกรุงศรี |
ต่างถึงเมืองเรื่องสำราญผ่านบุรี |
พอเดือนยี่ยามหนาวคราวเหมันต์
ฯ |
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์ สุดสาครกับหัสไชยกลับมาถึงเมือง พร้อมทั้งพราหมณ์เฒ่าก็เข้าไปเฝ้าองค์กษัตริย์
พระองค์ได้ตรัสถามถึงความหลัง พราหมณ์พฤฒาก็ทูลแถลงตั้งแต่ต้น จนถึงกลับมากรุงไกร
สุดสาครร้อนใจและกำสลดเศร้า ทูลว่าตนได้ทำผิดพลั้งเหมือนชีวิตจะปลิดจากกาย
เมื่อสิ้นธุระแล้วตนก็จะขอรองบาทไปจนตาย
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์ไม่ยอมอยู่ใกล้สุดสาคร ไปหมอบอยู่กับพวกแสนสาว แล้วถวายเพชรเตร็จแก้ว
ให้กษัตริย์ไปทั้งสององค์ต่อหน้าพราหมณ์ ทูลว่าเป็นโครเพชรเพราะยายพราหมณ์บอกให้ทราบ
ค
ฝ่ายปาโมกข์โลกเชษฐรู้เหตุใหญ่ |
จะเกิดไพรีเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
จึงทูลท้าวเจ้าเมืองตามเรื่องความ |
โทษยายพราหมณ์คราวนี้ถึงที่ตาย |
ฯลฯ
ด้วยเหตุที่ไม่ห้ามเสาวคนธ์แต่กลับแนะให้แกะเตร็จ ทำให้เพชรของเขาสูญหาย ชาวเมืองเคืองแค้นเสียดาย
จะตามมารบพุ่งถึงเมืองการะเกด
องค์กษัตริย์จึงตรัสว่าเป็นบุญกรรม ถ้าจะคืนเขาไปก็จะดูอดสูใจ จึงให้ประจุไว้ที่ภูผานอกเมือง
ให้ชื่อเขาเนาวรัตน์จัดสำเร็จ |
เมื่อเกิดเพชรจะได้ชมสมถวิล |
ฝ่ายพฤฒาลาท้าวเจ้าแผ่นดิน |
ไปสู่ถิ่นฐานพราหมณ์ตามสำราญ
ฯ |
ตอนที่
๔๗ อภิเษกสินสมุท
ฝ่ายพระอภัยให้อาลักษณ์จำลองสารไปนัดฤกษ์กับพระอนุชา เพื่อจัดงานวิวาห์ อีกฉบับหนึ่งมีไปยังเมืองการะเวก
ศรีสุวรรณอ่านสารมีความว่าขอพระราชบุตรีให้สินสมุท แล้วจะเสกให้ทั้งสองครองเมืองแทนพระองค์
ศรีสุวรรณทราบความในสารแล้ว ก็สมถวิลที่จินดาให้ทูตหยุดพักอยู่ก่อน แล้วเอาสารพระอภัยไปถวายอ่านให้
ท้าวทศวงศ์ทรงทราบ ท้าวเธอก็ชื่นชมสมประสงค์
มเหสีดีใจดังได้แก้ว |
เป็นรู้แล้วพ้นทุกข์ทั้งลูกหลาน |
แล้วสั่งสาวสรรค์พนักงาน |
ตระเตรียมการไว้เสียเจียวประเดี๋ยวนี้
ฯ |
ศรีสุวรรณทูลลาออกมาตอบสาร และให้บรรณาการมอบให้ทูตไป ทูตทูลลามาลงเรือไปกรุงการะเกด
ใช้เวลาครึ่งเดือน เมื่อถึงท่าแล้วก็แจ้งความให้ล่ามทราบ
ค
ฝ่ายเสนีสี่นายครั้นสายแสง |
ต่างตกแต่งตามกำหนดมียศถา |
แล้วเชิญเครื่องบรรณาการกับสารตรา |
ตามเสนานำเข้าไปในพระโรง
ฯ |
ค
กรมวังบังคมบรมนาถ |
ทูลเบิกราชทูตถือหนังสือสาร |
มาเฝ้าพร้อมน้อมประณตบทมาลย์ |
อาลักษณ์อ่านออกความตามกิจจา
ฯ |
ในสารมีความว่าพระเชษฐาเจริญราชไมตรีกับพระอนุชา ผู้ครองเมืองการะเวกได้กรุณาต่อสุดสาครเหมือนเป็นบิดา
เลี้ยงดูแทนตน ทั้งเสาวคนธและหัสไชยได้ตามไปช่วยรบเมืองลังกา สองพระธิดาสร้อยสุวรรณ
จันทรสุดา พระอนุชาก็ช่วยเลี้ยงเหมือนเป็นบุตรี ส่วนเสาวคนธ์และสุดสาครนั้น
ก็สุดแต่พระอนุชาจะปราณี ในเดือนสี่จะทำการวิวาห์สินสมุทกับอรุณรัศมี หลังจากนั้นเผ่าพงศ์วงศ์กษัตริย์จึงจะมาเมืองการะเกดของพระน้อง
เพื่อสมานไมตรี
ค
พระชื่นชมสมหวังสั่งอำมาตย์ |
ให้นำราชทูตาไปอาศัย |
แล้วจากอาสน์ยาตรย่างเข้าปรางค์ใน |
ตรัสบอกให้อัคเรศแจ้งเหตุการณ์ |
องค์จันทวดีก็เห็นด้วย และเห็นว่าหัสไชยอาสาไปทำศึกลังกานั้น เจ้าเมืองผลึกจะใคร่ได้เป็นเขย
เจ้าเมืองการะเกดจึงตรัสว่า พระองค์คิดที่จะให้ทั้งสองได้แต่งงานกัน เพื่อได้เป็นลูกจะปลูกฝัง
ครั้นรุ่งเช้าเจ้าเมืองการะเกดจึงให้ตอบสารเป็นข้อความมีไมตรี ให้ทูตถือกลับไปเมือง
เมื่อทูตมาถึงเมืองแล้ว ก็ถวายสารของสองเมืองแก่พระอภัย ในสารของพระอนุชาศรีสุวรรณตอบมาว่า
ไม่ขัดข้อง และขอเชิญพระเชษฐามาในงานวิวาห์ ส่วนสารของเจ้าเมืองการะเวกตอบมาขอบพระคุณ
และทูลว่าหลานน้อยสร้อยสุวรรณ
จันทร์สุดานั้น มีชันษาใกล้กับหัสไชย
ขอรับเลี้ยงเพียงบุตรสุจริต |
ถนอมสนิทเหมือนหนึ่งในเชื้อไข |
การวิวาห์ถ้าจะเลื่อนไปเดือนใด |
ตามพระทัยไม่ขัดพระอัชฌา
ฯ |
พระอภัยทราบความในสารแล้ว ก็ชื่นชมโสมนัสจึงตรัสสั่งบรรดาเสนาอำมาตย์ให้เตรียม
กำปั่นพันลำพร้อมผู้คน เครื่องเล่น พวกเต้นรำ รวมทั้งมวยปล้ำ และละคร โขน
ไปร่วมงานแต่งงาน
มาทอดท่าหน้าแพเรือแห่แหน |
อเนกแน่นในมหาชลาสินธุ์ |
บ้างร้องรำทำเพลงบรรเลงพิณ |
คอยท่าบนปถพีด้วยปรีดา
ฯ |
ฝ่ายองค์พระอภัยพร้อมพระมเหสีและโอรส แต่งองค์ทรงเครื่องแล้วพากันมาลงเรือ
ออกเดินทางไปเมืองรมจักร
พอออกจากปากน้ำก็ค่ำพลบ |
จุดเพลิงคบโคมรายขึ้นปลายเสา |
เป็นเดืนอสามยามหนาวลมข้าวเบา |
พัดเพลาเพลาพอได้ใช้ใบสบาย |
ลำที่นั่งดั้งกั้นเป็นหลั่นแล่น |
ไปตามแผนที่ทะเลคะเนหมาย |
ล้วนเคยคลื่นชื่นใจทั้งไพร่นาย |
นั่งสบายบังลมแลชมดาว |
ฯลฯ
บอกบุตรีชี้หัตถ์แล้วตรัสว่า |
ที่กลางฟ้าเรืองยาวนั้นดาวไถ |
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย |
ดาวลูกไก่เขาก็เรียกสำเหนียกนาม |
ฯลฯ
ไม่ขัดข้องล่องลมถึงรมจักร |
เสียงคึกคักฆ้องกลองแซ่ซ้องเสียง |
ทหารโห่โล้ล้อมมาพร้อมเพรียง |
เข้าทอดเคียงรายท่าหน้าธานี
ฯ |
ท้าวทศวงศ์ทรงจัดที่พักให้ฝ่ายพระอภัยตามฐานานุรูป
ค
หยุดสบายหลายคืนต่างชื่นแช่ม |
พอเดือนแรมฤกษ์ดีพิธีไสย |
ให้หมายเวรเกณฑ์บอกสมนอกใน |
ทั้งนายไพร่พร้อมพระวงศ์พงศ์ประยูร |
ปลูกโรงราชพิธีสิบสี่ห้อง |
มีมุขช่องมณฑปนภศูล |
ประดับเครื่องเรืองแอร่มแจ่มจำรูญ |
ที่พื้นพูนปูนลาดดาดศิลา |
ฯลฯ
ค
ฝ่ายพวกถูกปลูกโรงสำหรับเล่น |
บ้างลากเข็นล้อเกวียนบ้างเขียนแผง |
ผูกภูเขาเอาไม้ดัดขึ้นจัดแจง |
ต่างคิดแต่งต่างกันประชันโรง |
ฯลฯ
หุ่นละครมอญรำทำโรงงิ้ว |
เป็นแถวทิวสองข้างทางถนน |
เด็กผู้ใหญ่ไพร่ฟ้าประชาชน |
มาเกลือนกล่นกลาดกลุ้มประชุมกัน
ฯ |
ค
สมเด็จท้าวเจ้าบุรีรมจักร |
เห็นพร้อมพรักยินดีจะมีไหน |
ให้โหราหาฤกษ์เจริญชัย |
ประจวบได้เจ็ดคำเป็นสำคัญ |
ฯลฯ
ปุโรหิตติดเทียนคอยเวียนแว่น |
พลูคะแนนจันทน์เจิมเฉลิมศรี |
โหรคอยท่าหาฤกษ์เบิกบบัดพลี |
ระวังตีฆ้องสำคัญเป็นสัญญา
ฯ |
ฝ่ายองค์อรุณรัศมีมีความขุ่นข้องเมื่อรู้เรื่องการวิวาห์ ก็คิดถึงองค์เสาวคนธที่ได้ให้ทัณฑ์บนกันไว้
ที่วังเมืองลังกาว่าชาตินี้จะไม่มีคู่ แต่ก็กลัวพระบิดา และเชษฐา คิดจะมีดกรีดคอให้ตาย
แต่ก็ไม่กล้าทำ
จะต้องดื้อถือสัตย์ขัดรับสั่ง |
สู้ทนทั้งตีด่าประสาหญิง |
แกล้งทำหลับจับไข้ไม่ไหวติง |
บรรทมนิ่งนึกสะอื้นฝืนฤทัย
ฯ |
ฝ่ายองค์เกษราไม่เห็นอรุณรัศมีก็ไปตามเห็นลูกรักนอนอยู่จึงตรัสว่าเวลานี้กำลังตั้งพิธีวิวาห์อยู่ให้ไปเข้าพิธี
นางก็ทูลตอบว่าตนไม่สบาย เมื่อถูกคาดคั้นก็จำต้องทูลความตามจริงว่า ตนได้สาบานตัวกับเสาวคนธ์ว่าจะไม่มีคู่
ตัวสินสมุทเองก็มีเมียแล้วมีลูกอยู่ในท้อง
ทั้งลูกเต้าเล่าก็ยังอยู่ในท้อง |
จะไปต้องน้อยหน้าชาติทาสี |
มิขออยู่สู้ตายวายชีวี |
พระชนนีโปรดด้วยช่วยสักครา
ฯ |
องค์เกษราได้ฟังก็ทำเป็นโกรธพูดจาหว่านล้อมด้วยประการต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล
ค
ฝ่ายโหรนั่งตั้งนาฬิกากำกับ |
กำหนดนับนาทีสุริย์ฉาน |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องก้องกังวาน |
พนักงานสังข์แตรขึ้นแซ่ซ้อง |
ฯลฯ
พระอภัยเห็นผิดทำนองคงจะมีเหตุขัดข้องข้างในวัง ท้าวทศวงศ์เข้าไปต่อว่าพระมเหสี
พระนางจึงตามไปปรางค์ขององค์อรุณรัศมี เห็นองค์เกษรากริ้วข้าไทอยู่ ก็โกรธพระบุตรีที่ปล่อยให้ลูกเขยคอยท่าอยู่
พระธิดาก็ทูลบตอบว่าได้ปลอบนางแล้ว ไม่เชื่อขอให้พระมารดาไปถามเนื้อความดู
เมื่อนางพระยาเข้าไปพบหลานเศร้าหมองอยู่ก็ถามความ นางก็ตอบความให้ทราบ และยืนยันยอมตาย
ไม่ยอมทำการวิวาห์
ด้วยเกิดมาอาภัพให้ลับเสีย |
ไม่เป็นเมียน้อยหญิงชาวสิงหล |
จงโปรดให้ไปภิเษกเสาวคนธ์ |
เข้ามณฑลต่อทีหลังขอรั้งรอ
ฯ |
พระอัยกีตรัสว่า สุดสาครเป็นน้องต้องรอทีหลัง ตัวเป็นพี่ต้องตั้งก่อน ในที่สุดนางทนอ้อนวอนจากบรรดาพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่ไม่ได้
จึงยอมเข้าพิธีอย่างมีเงื่อนไข
แล้วทูลว่าถ้าหม่อมฉันทำขวัญแล้ว |
อย่าให้แผวพาลพบประสบสม |
ยายรับคำซ้ำว่าอย่าปรารมภ์ |
ให้นุ่งห่มขาวผ่องละอององค์ |
ฯลฯ
ค
เข้ามณฑลมณฑปอภิวาท |
ประยุรยาตรโยคีฤาษีไสย |
มโหระทึกกึกก้องทั้งฆ้องชัย |
พระอภัยน้อมประณตท้าวทศวงศ์ |
ฯลฯ
ปุโรหิตติดเทียนให้เวียนแว่น |
มาข้างแท่นถวายท้าวเจ้ากรุงศรี |
ท้าวทศวงศ์ส่งให้พระอัยกี |
สุมาลีเกษราธิดาดวง |
ฯลฯ
ถ้วนสำเร็จเจ็ดรอบได้ชอบโชค |
ดับเทียนโบกควันเฉลิมเจิมถวาย |
ให้สององค์ทรงตรารูปนารายณ์ |
เป็นที่ฝ่ายหน้าพระชนกา |
ต่างอำนวยอวยพรสุนทรสวัสดิ์ |
ทั่วกษัตริย์สุริยวงศ์เผ่าพงศา |
ส่วนสององค์ลงจากทองกองจินดา |
นางกัมลาหลีกไปเสียในวัง
ฯ |
เสร็จการอภิเษกแล้วท้าวทศวงศ์พร้อมพงศ์กษัตริย์ ออกมานั่งในพลับพลาหน้ากำแพงดูการเล่นต่าง
ๆ
พวกรำเต้นเล่นงานละครโขน |
เสียงตระโพนกลองประชันล้วนขันแข่ง |
พวกโม่งครุ่มทุ่มกลองเล่นกลางแปลง |
คุลาแต่งตัวดีเดินตีไม้ |
เล่นประชันกันกับวงพวกโหม่งครุ่ม |
เป็นกลุ่มกลุ่มกลางแปลงแทงวิสัย |
หกตะเมนเล่นหน้าพลับพลาชัย |
ขึ้นกระไดดาบทะลวงลอดบ่วงเพลิง |
บ้างขึ้นไต่ไม้สูงสามต่อตั้ง |
รำแพนทั้งโจนร่มตามลมเหลิง |
บ้างสรวลเสเฮฮาเสียงร่าเริง |
ทำชั้นเชิงรำเต้นเล่นประชัน |
ฯลฯ
เสียงกลองโยนโขนเมืองผลึกเล่น |
ทำเป็นบทละครด้วยช่วยฉลอง |
เล่นบุตรลบพลบค่ำต้องจำจอง |
ขึ้นขาหยั่งนั่งยองยองนองน้ำตา |
ฯลฯ
ผู้หญิงดูอยู่ข้างโขนเมืองผลึก |
บ้างก็นึกเวทนาน้ำตาไหล |
หุ่นละครมอญรำระบำไทย |
เพลงปรมไก่เทพทองร้องค้างคาว |
ฯลฯ
ค
ฝ่ายกระบี่มีคู่สู้กับดั้ง |
บังคมตั้งท่าเวียนทำเหียนหัน |
ต่างเยื้องกรายร่ายเรียวเข้าเคียวกัน |
ตั้งประจัญตามทำนองตีกลองแปลง |
ฯลฯ
ฝ่ายพระหน่อสินสมุททราบว่า องค์อรุณรัศมี เคืองด้วยเรื่องที่ผ่านมา ตั้งแต่เสร็จงานวิวาห์
ก็คอยท่าอยู่ถึงสิบห้าวันก็ไม่เห็นส่งองค์อรุณมาร่วมแท่น ก็ให้โศกเศร้ายิ่งนัก
และนึกอายผู้คน จนจับไข้เป็นลม บรรดาสาวสุรางค์จึงนำความไปทูลพระบิตุรงค์พระวงศ์วาน
พระอภัยได้ฟังหยั่งรู้ว่าอดสู จึงตรัสชวนพระมเหสีกับสองพระธิดาไปเยี่ยมสินสมุท
พระอนุชาศรีสุวรรณกับองค์เกษราทราบเรื่องก็รู้ว่านัดดาเป็นไข้รัก
อันยาดีมีสำหรับแก้กับโรค |
จะดับโศกนั้นไม่ได้ทั้งไตรจักร |
เมื่อหนุ่มสาวคราวเราก็เศร้านัก |
อันหลานรักนี้ก็เป็นเหมือนเช่นเรา |
ฯลฯ
พระอัคเรศเกษราสารภาพ |
พระไม่ทราบเหลือปัญญาจะว่าขาน |
เหมือนคเชนทรเจนขอเหลือหมอควาญ |
กระหม่อมฉานวอนว่าสารพัน |
ฯลฯ
แล้วพระศรีสุวรรณก็มายังห้องสินสมุท ได้พบพระอภัยที่มาอยู่ก่อนแล้ว ส่วนองค์เกษราไปเฝ้าพระชนนี
พบพระธิดาอยู่ด้วยจึงทูลขอให้ช่วยบังคับ องค์อรุณรัศมีไปเยี่ยมสุนสมุท
ค
ฝ่ายอรุณขุนหมองเพราะครองสัตย์ |
สู้ทูลทัดพจนาอัชฌาสัย |
เมื่อทำขวัญบัญชาให้คลาไตคล |
ก็ตามใจไม่ขัดพระอัชฌา |
ค
ฝ่ายโฉมยงองค์อรุณรัศมี |
เห็นพักตร์พี่เผือดลงก็สงสาร |
เพราะโศกเศร้าเปล่าใจอาลัยลาน |
นางรำคาญข้องขัดด้วยสัจจา |
ฯลฯ
ค
สินสมุทสุดชื่นระรื่นรส |
ด้วยโอสถเสน่หามารศรี |
สร่างประชวรสรวลสันต์ได้ทันที |
พระอัยกีดีใจกระไรเลย |
ฯลฯ
ค
ฝ่ายพระวงศ์พงศาคณาญาติ |
เห็นหน่อนาถอิ่มเอมเกษมศรี |
ต่างชื่นชมสมถวิลด้วยยินดี |
เห็นชอบทีกษัตราก็ลาไป |
ฝ่ายพระอภัยครั้นลูกรักสร่างโศกแล้ว ก็ปรึกษากับพระอนุชาว่าวันพรุ่งนี้เดือนหก
จะยกพลไปเมืองการะเวกเพื่อเสกโอรสทำการวิวาห์ พระอนุชาก็น้อมรับแล้วมาเตรียมพล
เพื่อออกเดินทาง
ค
ฝ่ายโฉมยงองค์อรุณรัศมี |
สถิตที่แท่นทองของเชษฐา |
ไม่พบพานมารดรและบิดา |
จนออกมาถึงทะเลว้าเหว่ใจ |
ฯลฯ
ค
จะยกหน่อนริทรสินสมุท |
ได้นงนุชมาด้วยกันก็หรรษา |
สถิตแท่นแสนสบายท้ายเภตรา |
คอยเวลาที่จะลอบไปปลอบนาง |
ฯลฯ
เข้านั่งแนบแอบน้องนางร้องหวีด |
ขยีบมีดเมินประคองของสงวน |
แล้วถอยถดลดเลื่อนเบือนกระบวน |
จะมากวนก่อกรรมให้จำตาย |
ฯลฯ
พระปิตุราชมาตุรงค์ก็ปลงให้ |
ควรหรือใจจึงมาเดือดไม่เหือดหาย |
มิเมตตาปรานีแล้วพี่ชาย |
จะได้ตายเสียด้วยกันขยันดี
ฯ |
นางได้ฟังคำก็ทูลตอบว่า เมื่ออยู่ที่วังลังกาได้พูดตกลงกับองค์เสาวคนธ์ เป็นทัณฑ์บนตัว
แล้วทูลความตามซื่อเพราะถือสัตย์ |
จึงข้องขัดข้อนี้ไม่มีผัว |
จะยอมอยู่คู่สองก็หมองมัว |
จะฆ่าตัวเสียให้ตายวายชีวา |
ฯลฯ
แล้วทูลว่า ถ้าสินสมุทรักใคร่อาลัยตน ก็ขอได้โปรดเป็นเหมือนเชษฐา ขอให้เมตตาอย่าให้ตนต้องตาย
ค
สินสมุทสุดซื่อกลดมือนิ่ง |
ประหลาดจริงใจหนอใจคอหาย |
แม้ขื่นใจเห็นไม่รอดจะวอดวาย |
จะลงร้ายว่าเราพามาฆ่าตี |
ฯลฯ
สินสมุทคิดสิ่งหนึ่งขึ้นมาได้ จึงกล่าวแก่นางว่า
ไปพาราการะเวกเสกพระน้อง |
เป็นคู่ครองศฤงคารตามสารศรี |
แม้ข้องขัดตัดใจไม่ใยดี |
ทำให้พี่อับอายเพียงวายปราณ
ฯ |
องค์อรุณรัศมีได้ฟังก็สงสารจึงยอมโอนอ่อนว่า ถ้าองค์เสาวคนธ์ยอมแต่งงานแล้ว
เขายอมอยู่คู่ครองแล้วน้องรัก |
จะเป็นอัคเรศพระเชษฐา |
นางวิงวอนผ่อนผันจำนรรจา |
ด้วยมารยาแยบคายให้ตายใจ
ฯ |
ตอนที่
๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
ค
จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก |
หวังภิเษกลูกรักเป็นศักดิ์ศรี |
ด้วยเดือนเจ็ดเสร็จพระอภัยมณี |
มาบุรีเริ่มงานการวิวาห์ |
พอถึงเดือนหกก็ตรัสสั่งให้แต่งวัง สำหรับให้เป็นที่ประทับของวงศาไว้สามแห่ง
ให้หน่อกษัตริย์หัสไชยไปกำกับงาน
ค
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลโฉม |
เป็นทุกข์โทมนัสในฤทัยถวิล |
แต่ทูตถือหนังสือมาถึงธานินทร์ |
นางทราบสิ้นศุภสารการวิวาห์ |
ฯลฯ
นางเห็นว่าครั้นจะอยู่สู้ดื้อด้วยถือสัตย์ ก็สุดที่จะขัดพระบิดาได้ นางจึงคิดเตรียมการเป็นความลับ
ลอบทำสำเภายาวเก้าเส้น สำหรับแล่นออกทะเลลึกเพื่อฝึกทหารได้ จัดเตรียมผู้คนและเสบียงไว้พร้อม
ฝ่ายพระอภัยแล่นเรือมาได้เดือนหนึ่ง ก็ถึงเมืองการะเวก เจ้าเมืองการะเวกก็ออกไปรับ
ค
ฝ่ายปิ่นปักนัคราการะเวก |
จึงสั่งเอกเสนาอัชฌาสัย |
จัดเกณฑ์แห่แตรสังข์เรือดั้งไว้ |
เราจะไปรับกษัตริย์ขัตติวงศ์
ฯ |
เมื่อมาถึงแล้ว ก็ให้การต้อนรับตามประเพณีอย่างครบถ้วน แล้วก็ทูลลาแยกย้ายไปยังวังที่จัดเตรียมไว้ให้ประทับ
เมื่อตอนใกล้พลบค่ำ
ค
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลสมร |
จะจำจรจากประเทศหนีเชษฐา |
คิดอาลัยในพระอนุชา |
ทั้งบิดามารดรจะร้อนรน |
ฯลฯ
จึงตรัสสั่งทั้งหลายฝ่ายข้าหลวง |
ให้ทั้งปวงปิดความใครถามหา |
บอกว่าเราเข้าบำเพ็ญภาวนา |
ไม่พูดจาว่าจะเสร็จสักเจ็ดวัน |
แล้งเขียนคำอำลาสมาโทษ กับเพลงยาวครั้งที่อยู่ลังกาไว้บนที่นอน แล้วปิดประตูใส่สลักไว้
พอใกล้พลบค่ำจึงหลบออกจากปราสาทไปลงเรือ แล้วใช้ขับแล่นไปทางทิศพายัพ หมายจะเข้าไปยังอ่าวสินธุ์มิดถิลา
ค
จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก |
จวนอภิเษกฤกษ์แรมอันแจ่มใส |
แต่บุตรีศรีสวัสด์กับหัสไชย |
ไปไหนไม่เห็นหายหลายเวลา |
ฯลฯ
เมื่อนางกษัตริย์ไปตามที่ห้องนางได้พบสารอ่านดูรู้ความแล้ว เสียใจจนสลบไป
พวกท้าวนางนำความไปทูลเจ้านครการะเกด พระองค์ได้อ่านสารทราบความแล้ว ก็เสียใจสลบไปอีกองค์หนึ่ง
พระอภัยพร้อมทั้งพระอนุชา พระมเหสี พระธิดา พระโอรส และหัสไชยพากันไปยังห้องเสาวคนธ์
เจ้าเมืองการะเกดให้อ่านสารของนางให้ทุกองค์ทราบ เมื่อจบแล้วก็ให้อ่านสารของสุดสาคร
ที่มีถึงเสาวคนธ์เมื่อครั้งอยู่ลังกา
ค
พอจบเรื่องเคืองจิตพระปิตุเรศ |
จึงว่าเหตุนิดหนึ่งมาหึงสา |
หนังสือนี้อีลีวันใช้ปัญญา |
ประดิษฐแต่งแกล้งว่าสุดสาคร |
ฯลฯ
ค
พระอภัยให้ระทดกำสรดเศร้า |
สงสารเสาวคนธ์น้อยละห้อยหา |
ทั้งพระน้องสองนางต่างโศกา |
เวทนานงเยาว์เสาวคนธ์ |
ฯลฯ
พระอภัยจึงทูลท้าวเจ้าเมืองการะเวกว่า พระองค์กับพระอนุชาจะออกตามหาองค์เสาวคนธ์เอง
กษัตริย์สุริโยทัยก็น้อมรับ และทูลว่าเมื่อตามพระธิดามาได้แล้ว ก็จะได้วิวาห์เสกสองให้ครองกัน
ค
สุดสาครถอนสะอื้นค่อยฝืนพักตร์ |
ทูลทรงศักดิ์ตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
อันหนังสือคืออีลาลีวัน |
กระหม่อมฉันมิได้ทรายที่หยาบคาย |
ฯลฯ
แล้วขอบังคมลาไปตามนางจนกว่าจะพบ แล้วจะไปฆ่าสุลาลีวันเอาศีรษะมาให้นาง สุดสาครคิดแค้นจนสลบไป
พระสุริโยทัยจึงไกล่เกลี่ยตรัสว่า อย่าไปโกรธฝรั่งที่ทำหนังสือนี้เพราะว่ามันเป็นกลศึก
อย่าเพ่อคิดติดตามคอยถามข่าว |
ได้เรื่องราวมั่นหมายจึงผายผัน |
อันฝรั่งลังกาอย่าฆ่าฟัน |
เสียสัตย์ธรรมทศพิธผิดโบราณ
ฯ |
สุดสาครร้อนอกถึงน้องรักที่ต้องจากไป
แม้พบปะจะได้ให้ความสัตย์ |
ศรีสวัสดิ์จะสร่างที่หมางหมอง |
ประการหนึ่งถึงมิอยู่เป็นคู่ครอง |
เป็นพี่น้องอยู่ด้วยกันจนวันตาย |
ฯลฯ
พระปิตุราชมาตุรงค์และวงศ์วาน ต่างพากันสงสารจึงให้โหรทำนาย โหรชำระพระชะตาของพระธิดาแล้ว
เห็นว่าเป็นคราวเคราะห์วิบัติ แล้วทูลความว่าพระธิดาไปทางทิศพายัพ เมื่อตามไปก็จะพบแต่มีเหตุกลับกลายหลายสถาน
ต่อเมื่อสิบสี่ปีแล้ว จึงจะได้กลับมา
กรุงกษัตริย์ได้ฟังคำทำนาย จึงตรัสให้แต่งกำปั่นไปเที่ยวตามหาพระธิดา สุดสาครบอกว่าตนจะขี่ม้ามังกรออกตามนางเอง
แล้วทูลลาท้าวการะเกดออกเดินทางไปโดยไม่รอช้า
ค
หน่อนรินทรสินสมุทก็สุดเศร้า |
แต่หมอบเฝ้าฟังรหัสเห็นขัดสน |
หมายว่าน้องสองสมรเขาผ่อนปรน |
จะพลอยพ้นทุกข์ด้วยก็ป่วยการ |
ฯลฯ
เมื่อเห็นว่าไม่สมคะเนแล้ว ก็โศกเศร้าจนเป็นลมนิ่งไป สามกษัตริย์แก้ไหขให้ฟื้นขึ้น
หน่อกษัตริย์หัสไชยก็ร้องไห้ถึงพี่ยา ทั้งอาลัยในธิดาเจ้าเมืองผลึก ฝ่ายองค์พระอภัยได้ทูลท้าวเจ้ากรุงการะเกดว่า
พรุ่งนี้จะลงเรือไป แล้วลากลับมาที่ประทับ ส่วนหัสไชยก็ไปพบสองพระธิดา
ค่อยสั่งสอนน้องน้อยละห้อยละเหี่ย |
ต่างสั่งเสียเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
นางให้ลูกตุ๊กตากับผ้าสไบ |
พระหัสไชยให้แหวนทดแทนกัน
ฯ |
ส่วนองค์สุวรรณมาลีเห็นสินสมุทเศร้าโศกเสียใจ จึงไปหาสินสมุทยังเรือกำปั่น
แล้วไต่ถามความใน เมื่อทราบความแล้ว จึงแกล้งตรัสเปรียบเปรยว่า
อันวิสัยใจจริงหญิงมนุษย์ |
รักบุรุษสุดรักสมัครหมาย |
ซึ่งมารยาพาทีเพราะมีอาย |
เขาไม่ตายจริงหรอกบอกให้รู้ |
ด้วยรุ่นราวสาวแส้แล้วแต่แรก |
เปรียบเหมือนแขกคิดเดียดด้วยเกลียดหมู |
ต่อเมื่อไรได้เป็นเหมือนเช่นชู้ |
จึงกลับรู้รักชายถวายตัว |
ฯลฯ
เมื่อฤกษ์ดีแล้ว ก็พากันออกเดินทางแยกย้ายกันไป พระอนุชาศรีสุวรรณไปเมืองรมจักร
พระอภัยก็ไปอีกทางหนึ่ง พบลูกค้าก็ไต่ถามถึงองค์เสาวคนธ์ แต่ก็ไม่ได้ข่าวคราวแต่อย่างใด
ฝ่ายสินสมุทระหว่างเดินทางมากลางน้ำได้ไปหาองค์อรุณรัศมี เข้ารับขวัญนางแต่ถูกนางบ่ายเบี่ยงตามสัญญา
ตอนนนี้องค์เสาวคนธ์หนีไปแล้วเป็นแคล้วกัน
ยังกลับมาหาสู่ทำจู้จี้ |
ประเดี๋ยวนี้ก็ได้วุ่นระหุนหัน |
มาทำเทียมเลียมเล่นเหมือนเช่นกัน |
ผิดก็ฉันเชือดคอให้มรณา
ฯ |
สินสมุทก็กล่าวแก้ด้วยเหตุผลว่า จะคอยอยู่ต่อไปคงไม่ได้ เพราะตนได้แต่งงานกับนางแล้ว
ตามที่รับสั่งประทานมาให้
มิเคียงคู่ตามความรับสั่ง |
เหมือนชิงชังจึงไม่ชมประสมสอง |
จะเคืองขัดอัธยาฝ่าละออง |
จึงจำต้องตามรับสั่งไม่ฟังกัน
ฯ |
นางได้ฟังเห็นว่าสินสมุทตีฝีปากได้ดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน หรือว่าใครสอนมาจึงคิดจะลองดูท่วงที
ซึ่งโปรดให้ใช่จะสั่งให้สังวาส |
ให้รับราชกิจการผ่านกรุงศรี |
จึงต้องตามความรับสั่งมาดังนี้ |
หมายพระพี่คงจะไม่ทำน้อง |
ฯลฯ
ไม่อ่อนน้อมยอมตามความรับสั่ง |
พี่ก็ยังมิให้เจ้าไปสวรรค์ |
แม้จะใคร่ได้ตายง่ายง่ายนั้น |
จงผ่อนผันพอได้หว่านเป็นว่านเครือ |
ฯลฯ
พระกอดเกยเชยปรางถืออย่างยอด |
เสียงฟอดฟอดเฟ้นซ้ายแล้วย้ายขวา |
ถนอมแนบแอบอรุณอุ่นอุรา |
เหมือนสายฟ้าแลบรอบขอบทะเล |
ฯลฯ
เมื่อเดิมทีพี่น้องร่วมห้องหับ |
แล้วก็กลับได้เสียเป็นเมียผัว |
นางน้องสาวคราวอ่อนวอนฝากตัว |
ฉันได้ชั่วดีด้วยช่วยเอ็นดู |
ฯลฯ
ฝ่ายองค์พระอภัยกับศรีสุวรรณ เกณฑ์กำปั่นออกไปติดตามองค์เสาวคนธ์ทุกทิศ แต่ยังไม่พบ
ตอนที่
๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤาษี
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์แปลงองค์เป็นพราหมณ์ มีบริวารติดตามไปพันร้อยคน แล่นเรือไปได้เดือนเศษเข้าเขตเมืองวาหุโลม
ทางขึ้นโรมวิสัย
อันเป็นเมืองใหญ่ของพวกพราหมณ์
เห็นเกาะเพลิงเริงแรงแสงสว่าง |
ลุกอยู่กลางเกาะเองน่าเกรงขาม |
ตีนสิงขรล่อนโล่งพลุ่มโพลงพลาม |
ยาวสักสามสิบเส้นล้วนเป็นไฟ |
ฯลฯ
เมื่อดูในแผนที่ก็รู้ว่าเกาะนี้ชื่อชุมเพลิงเชิงไศล มีเรื่องเล่าว่าที่เกาะใหญ่มีพระยานาคอยู่เป็นจำนวนมาก
ได้พ่นพิษดังเพลิงเป็นควันฟุ้งฟ้าดิน ถูกเทวดาสารพัดสัตว์ตาย พระนารายณ์รู้เรื่องจึงได้เข้ามาแก้ไข
มาปิดปล่องช่องชวากที่นาคผุด |
ถอนพิษภุชงค์ร้ายให้หายสูย |
เหลือเปลวปล่องตรงปล่องเหมือนกองกูณฑ์ |
เป็นไฟพูนสักเท่าเขาคิริน
ฯ |
ค
นางอ่านดูรู้โฉลกโลกเชษฐ์ |
ที่เขาเขตขวางแดงกระแสสินธุ |
ว่าไหลมาแต่สวรรค์ชั้นพระอินทร์ |
ผู้ใดกินแก้บาปอาบก็ดี |
ตายจะได้ไปกำเนิดเกิดสวรรค์ |
ลำน้ำนั้นมาแต่หน้าพาราณสี |
พวกถือไสยในจังหวัดปัถพี |
เอาซากผีนั้นมาทิ้งทั้งหญิงชาย |
ฯลฯ
นางอ่านดูรู้เรื่องแล้วจึงแปลงองค์ทรงหนังเสือเป็นฤาษี เปลี่ยนชื่อเป็นพระอัคคี
นำพวกข้าไทไพร่พลทั้งหญิงชายแปลงตนเป็นชีพราหมณ์
เปลี่ยนนามตามที่บวชทุกคน บอกว่าพวกตนเป็นชาวกบิลพัสดุ์
เที่ยวโปรดสัตว์ตามกิจของฤาษี แล้วเขียนสำเภาอักขระปลุกเสกเลขยันต์เอาเรือนั้นลอยลงในน้ำ
ใครตามมาก็จะเห็นเป็นสำเภาของนาง เพื่อให้สุดสาครเที่ยวหลงทาง แล้วให้นำเรือเข้าอ่าววาหุโลม
เห็นปากน้ำทำป้อมคร่อมภูเขา |
จำเพาะเข้าออกเดินเนินไศล |
แลพิลึกตึกกว้านสำราญใจ |
เข้าจอดใกล้เมืองด่านชานบุรี |
ฯลฯ
สังเกตเห็นผู้คนบนตลิ่ง ทั้งชายหญิงโพกผมนุ่งห่มด้วยผ้าสี พวกเจ้านายและเสนีแต่งเครื่องขาว
พวกไพร่นายฝ่ายทหารใส่เสื้อดำ ส่วนพลเรือนแต่งกายสีหมอก
ล้วนเสื้อกลีบจีบนุ่งคาดพุงทับ |
ไม่สลับสีไหนก็ให้เหมือน |
เห็นเรือจอดทอดท่าลงมาเยือน |
ดูเดินเกลื่อนตามตลิ่งทั้งหญิงชาย |
ฯลฯ
ฝ่ายนางด่านให้ล่ามเข้ามาถามว่าเรือที่มานี้จะมารบหรือมาค้าขาย ฝ่ายขอเฝ้าจึงแจ้งเป็นอุบายไปว่าพวกตนเป็นชาวเมืองกบิลพัสด์
รักษาศีลสัตย์เป็นฤาษีเที่ยวทำประโยชน์โปรดสัตว์ในแผ่นดิน ที่มานี้ก็เพื่อเที่ยวชมโรมวิสัย
แล้วถามล่ามว่าเมืองนี้เป็นเมืองใดใครเป็นเจ้าเมือง ล่ามตอบว่าเขตเมืองโรมวิสัยนั้นไกลมาก
เดินทางทีนี้ไปเวลาถึงปีเศษ ถึงเมืองวาหุโลมเป็นที่สิ้นเขตแดน
อันเมืองกลางทางไปทั้งใหญ่น้อย |
ก็นับร้อยพลโจษนับโกฏิแสน |
นับถือผู้รู้ไตรเพททุกเขตแคว้น |
บูชาแทนเทวดาเป็นอาจารย์ |
ฯลฯ
แล้วนับถือพระอาทิตย์ซึ่งมีคุณยิ่งนัก แล้วถามว่าฤาษีมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดจึงมาเที่ยวโปรดสัตว์
ฝ่ายฤาษีพี่เลี้ยงจึงบอกกับล่ามว่าคนที่รู้ตามตำรา ไม่ควรสรรเสริญให้เกินการ
เป็นเดรัจฉานวิชา พวกตนถือภูมิพุทธ รักษาศีล แก้วแหวนเงินทองนั้นเหมือนดิน
มีแล้วก็สิ้นสูญไป อันกุศลเป็นผลให้เป็นสมบัติ ใครถือธรรมจำศีลอภิญญาณ จะถึงนิพพาน
แม้จะใคร่ได้สดับรับโอวาท |
ทำธรรมาสน์พุทธเพทเทศนา |
จะให้ศีลภิญโญในโลกา |
ที่คิดสารพัดได้ดังใจปอง
ฯ |
ฝ่ายล่ามได้ฟังดังนั้นก็อยากใคร่จะได้ฟังจึงมาปรึกษากัน จะลองดูให้เห็นจริง
จึงจัดแจงแต่งธรรมาสน์ แล้วบอกพวกพ้องให้ไปฟังผู้วิเศษจะเทศน์ธรรม ศีลฤาษีผู้ใดได้รับแล้วดีกว่าทรัพย์สินทุกอย่าง
บรรดาชาวเมืองต่างสำคัญว่าเป็นของที่ต้องการ
บ้างแบกกระบุงถุงได้ไปใส่ศีล |
มาพร้อมสิ้นซ้ายขวาแน่นหน้าฉาน |
แล้วล่ามตรงลงเภตราว่าอาจารย์ |
นิมนต์ท่านเทศน์ธรรมเหมือนสัญญา
ฯ |
ค
ฝ่ายนงลักษณ์อัคคีฤาษีเอก |
อดิเรกรู้ธรรมคำสิกขา |
คิดประโยชน์โปรดทมิฬดังจินดา |
จึงครองผ้าผูกคาดราดประคต |
ฯลฯ
ฝ่ายพวกทมิฬไม่นับถือพระฤาษี ต่างมองดูไม่เห็นมีของที่ต้องการ จึงถามกันว่าศีลที่ฤาษีเอามาว่าจะให้นั้นไม่เห็นมี
องค์ฤาษีบอกอานิสงส์ศีลห้าว่าผู้ใดฟังทั้งหมดเมื่อตายแล้วบุญจะส่งไปสวรรค์ชั้นวิมาน
ได้เสวยอาหารทิพย์ ถ้าอุตสาห์สร้างกุศลผลทานก็จะถึงนิพพานมีความสุขทุกวัน
พอจบคำ พวกทมิฬ ก็หัวเราะเยาะเย้ยหยันว่าศีล มีขี้ปดหมดทั้งนั้น ลวงให้ตนเอากระบุงถุงย่ามมาใส่เป็นการล่อลวง
แล้วพากันขับไล่
ขุนด่านไล่ไพร่พลที่บนป้อม |
ลงพรักพร้อมนายไพร่ไล่ฤาษี |
ฝ่ายโฉมยงนงลักษณ์พระอัคคี |
เห็นเสียทีถอยมาริมสายชล
ฯ |
พวกในสำเภาเห็นชาวด่านไล่รบมาก็ฉวยอาวุธวิ่งขึ้นบกมาช่วยรุกรบ
พวกฤาษีชีพราหมณ์คุกคามขู่ |
ใครรบสู้ขืนขัดจะตัดหัว |
แม้ไม่สู้กูไม่ฆ่าดอกอย่ากลัว |
แล้วหามตัวนายด่านขึ้นศาลกลาง
ฯ |
พวกเหลือตายนายมูลหมื่นขุนนาง บ้างก็หลบหนีบ้างก็เข้ามาหาเป็นข้าไท พอจวนเย็นเห็นแต่พวกแก่เฒ่ามาขอพบพระฤาษีอัคคี
นางก็ออกไปต้อนรับ พวกเฒ่าแก่ทูลว่า เห็นทหารของท่านฆ่าตีชาวเมือง
จึงอุตสาห์มาห้ามตามขนบ |
ธรรมเนียมรบเมืองได้เหมือนใจหมาย |
แม้ครองแคว้นแดนด้าวเป็นเจ้านาย |
คนทั้งหลายก็จะมาเป็นข้าไท |
ฯลฯ
พระฤาษีอัคคีจึงตอบว่า ที่มาหานี้นั้นดีนักให้ช่วยไปบอกว่า ผู้ใดไม่ต่อสู้ฆ่าฟันทำอันตรายแล้ว
ก็ให้กลับมาทำมาหากินตามถิ่นฐานดังเดิม ส่วนพวกตนเมื่อพักผ่อนพอสบายแล้วก็จะลาไป
ประการหนึ่งซึ่งเราถือเป็นฤาษี |
ใครเห็นดีโดยจริงจงทิ้งไสย |
มาถือพุทธสดุดีไม่มีภัย |
อาวุธไม่ต้องตนเป็นมลทิน |
ฯลฯ
พอเวลากลางคืนมีเด็กชายหญิงสองคน มาที่ศาลากลางบอกว่าพ่อของตนถูกฆ่า
พวกตนจะขอตายตามแต่ขอพบศพบิดาก่อน พระอัคคีได้ฟังแล้วมีใจสงสารเห็นรูปร่างหน้าตาแปลกกว่าทมิฬทั้งหลาย
จึงเรียกมาไต่ถามได้ความว่าเป็นบุตรของนายด่าน พี่สาวอายุสิบเอ็ด น้องชายอายุได้เจ็ดปี
จึงคิดใคร่ได้เป็นลูก จึงกล่าวกับเด็กทั้งสองว่า
มาตามศพพบพ่อจะขอม้วย |
เราจะช่วยชุบชีวิตเหมือนคิดหมาย |
ให้พ่อฟื้นคืนรอดไม่วอดวาย |
จะถือฝ่ายพุทธหรือจะดื้อดึง
ฯ |
เด็กทั้งสองได้ฟังจึงตอบว่า ถ้าแม้พ่อของตนฟื้นขึ้นมาได้ แม้เลือดเนื้อของตนก็จะเถือให้ได้
จะนับถือฤาษีผู้วิเศษ |
จะฟังเทศน์ถือพุทธไม่มุสา |
ถ้าชุบขึ้นคืนชีวิตให้บิดา |
จะเป็นข้าพระฤาษีทั้งพี่น้อง
ฯ |
พระอัคคีดีใจที่จะได้ลูก จึงแก้ไขนายด่านที่ต้องศรสลบไปให้ฟื้นคืนมา นายด่านเห็นลูกทั้งสองมานั่งอยู่ด้วย
ในพวกพ้องข้าศึกก็นึกสงสัย จึงเรียกลูกมาไต่ถามครั้นรู้แจ้งแล้วก็คิดคุณ หมอบคำนับพระฤาษีที่มีน้ำใจดี
ช่วยชุบชีวิตให้ตน แล้วให้คำมั่นสัญญาว่า
จะทิ้งชาติศาสนาข้างวาหุ |
ขอสาธุถือศีลพระชินสีห์ |
อันพี่น้องสองราบุตรข้านี้ |
แม่ไม่มีอุปถัมภ์เหมือนกำพร้า |
ถวายไว้ในพระองค์จงช่วยบวช |
ให้รู้สวดศักราชพระศาสนา |
ทั้งข้านี้มิได้ขัดอัธยา |
พระสิทธาสั่งสอนจะผ่อนตาม
ฯ |
พระอัคคีรับคำนายด่านแล้ว จึงไต่ถามถึงประเทศขอบเขตคัน
ค
นายด่านเล่าว่าเจ้าวาหุโลมราช |
กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์มักกะสัน |
เลี้ยงนกไก่ไว้กินสิ้นทั้งนั้น |
สารพันสัตว์ที่มีปีกบิน |
ฯลฯ
แล้วเอาขนมาทำเป็นเครื่องประดับแต่งกาย มีเครื่องยกเหมือนนก เมื่อเอามาสวมองค์ก็บินได้ไกลร้อยเส้นเศษ
ได้ปราบประเทศทั้งร้อยเอ็ด มีอาณาเขตจรดเขตประเทศพราหมณ์
ข้าอยู่ด่านชานสมุทเป็นสุดถิ่น |
คุมทมิฬหมื่นเศษเฝ้าเขตขัณฑ์ |
ขึ้นไปนี้มีเมืองเนื่องเนื่องกัน |
ยี่สิบวันถึงพาราวาหุโลม |
แล้วทูลว่า เจ้าเมืองมีบุตร รู้พระเวทชื่อ วาโหม
บิดาใช้ให้ไปยอมอ่อนน้อมถึงเมืองโรมวิสัย จึงได้วิชามาอายุได้สิบสี่ปี ตัวอ้วนเป็นพ้อม
จะได้เป็นเจ้าเมืององค์ต่อไป สำหรับทางไปเมืองโรมวิสัยนั้นไกลมาก
จะบอกกล่าวราวเรื่องไปเมืองหลวง |
ตามกระทรวงทูลเหตุแจ้งเขตขัณฑ์ |
ขอเบิกด่านท่านให้เสร็จทั้งเจ็ดชั้น |
ได้ผายผันไปตามความสบาย
ฯ |
พระอัคคีได้ฟังแล้ว ก็ตอบขอบใจนายด่าน เมื่อเห็นว่าดึกแล้ว จึงพาบุตรทั้งสองพี่น้อง
ไปสั่งเมื่อคิดถึงจึงไปที่เรือ
ค
ฝ่ายทหารด่านแตกเมื่อแรกพบ |
ที่หลีกหลบเหล่าชายพลัดพรายหนี |
เที่ยวบอกเล่าเจ้าเมือง
เอกโทตรี |
ว่าโจรตีด่านได้นายใหญ่ตาย |
บรรดาด่านต่างก็บอกข่าวไปยังเมืองหลวง จะยกทัพไปจับโจร พอพวกนายด่านถือหนังสือมา
อ่านดูรู้ความเป็นที่ประจักษ์ใจ จึงรีบส่งม้าใช้ถือหนังสือไปเฝ้าเจ้าเมือง
ฝ่ายท้าวเจ้าวาหุโลม เป็นกษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์ มีชันษาได้ห้าสิบ มีโอรสชื่อ
วาโหม ครั้นรุ่งเช้าเสนาได้ทูลความตามหนังสือสองฉบับ มีความไม่เหมือนกัน ฉบับแรกบอกว่าฤาษีเข้าตีด่าน
ฉบับต่อมาบอกว่าฤาษีมีเวทมนต์ ชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นได้ มีคนนับถือไปทั่ว จะเดินทางไปเมืองโรมวิสัย
ค
พระทราบเรื่องเคืองขัดตรัสประภาษ |
มันสามารถมีหนังสือรับฤาษี |
สรรเสริญเกินสังเกตอันเหตุนี้ |
เห็นท่วงทีถ่ายเททำเล่ห์กล |
ฯลฯ
แล้วสั่งให้เสนาในบอกเมืองตะวัน ด่านชั้นสามไปปราบปรามด่านมหาชลาไหล ฆ่านายด่านสองหน้าเสียให้สิ้นโคตร
รวมทั้งฤาษีด้วยอย่าให้มีเหลือจะเป็นเชื้อต่อไป เสนาจึงมาสั่งเสมียนให้เขียนข้อรับสั่ง
ให้ม้าใช้ถือไปส่งทุกเมืองแจ้งเรื่องความ
ค
ฝ่ายเสนาราหูคนผู้เฒ่า |
ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตะวันด่านชั้นสาม |
รู้เวทมนตร์ทนคงเคยสงคราม |
ครั้นทราบความตามรับสั่งไม่รั้งรา |
ฯลฯ
ให้เกณฑ์ทหารสิบสี่หมื่น ยกออกไปจากเมืองด่านไปตามลำดับ
ฝ่ายองค์อัคคีพักอยู่ในด่าน คอยท่าผู้ถือหนังสือไปขอเบิกด่าน โดยมีบุตรนายด่านสองคนอยู่ปรนนิบัติ
นางให้นามคนพี่ว่า ธิดา คนน้องว่า โอรส รอฟังข่าวเจ้าประเทศอยู่สองเดือนเศษ
นายด่านก็ลนลานมาบอกว่า ม้าใช้ที่ถือหนังสือไปขอเบิกด่าน ถูกท่านว่าเป็นขบถ
ให้ยกทัพลงมา
ว่าราหูผู้เฒ่าจะเอาโทษ |
ให้สิ้นโคตรคนที่ถือพระฤาษี |
เป็นเคราะห์กรรมจำตายวายชีวี |
พระมุนีจะคิดอ่านประการใด
ฯ |
ค
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์รู้กลศึก |
ฉลาดลึกแหลมปัญญาอัชฌาสัย |
จึงเสแสร้งแกล้งตอบว่าขอบใจ |
ที่รักใคร่เจ้านายสู้วายปราณ |
แต่ตัวดีมิได้ผิดเขาคิดโกรธ |
จะฆ่าโคตรพลอยถูกทั้งลูกหลาน |
ไม่ไต่ถามความสัตย์ปฎิญาณ |
ผิดโบราณเรื่องราวท้าวพระยา |
แล้วบอกว่า ตนเป็นฤาษีไม่ฆ่าตีชีวิต จะต่อสู้ดูฝีมือให้ปรากฎ คิดรักษาครอบครัวอย่าไปกลัวมัน
ทำไมกับทัพทมิฬเหมือนริ้นล่อง |
มาเข้ากองไฟฟ้าจะอาสัญ |
นายด่านนั่งฟังยุพลอยดุดัน |
จริงกระนั้นคุณว่าไม่น่าตาย |
แล้วว่าน่าน้อยใจที่หาว่าเป็นขบถ จึงขอสู้ตายร่วมกับเท้าของฤาษี แล้วลามาเที่ยวตรวจดูทหารเตรียมป้องกันระวังภัย
ค
ฝ่ายราหูแม่ทัพกับทหาร |
มาถึงด่านแดนมหาชลาไหล |
ให้ตั้งค่ายรายเรียงเคียงกันไป |
ปักธงชัยเมืองตะวันเป็นสัญญา |
ฯลฯ
แล้วขี่กิเลนมาหน้าป้อมปืนร้องเรียกให้นายด่านออกไปพูดจากัน บอกว่าตนถือรับสั่งมาจะไกล่เกลี่ยให้ค่อยหายผิด
และเร่งเปิดประตูรับทัพของตนเข้าเมือง จะพ้นโทษไม่ตาย นายด่านได้ออกไปเจรจาบอกว่า
ถ้าราหูจะช่วยทูลเรื่องให้เจ้าเมือง หายขัดเคืองตนก็จะไปเฝ้า ราหูก็ตอบว่า
ถ้าจะเข้าเฝ้าตนก็จะช่วยส่งไปให้ นายด่านพาซื่อบอกว่าราหูปรานีตนเหมือนพี่น้อง
ตนของตรึกตรองดูก่อนสักเวลา แล้วไปถ้าดาบสส่งความให้ฟัง แล้วบอกว่าตนจะไปเฝ้าเจ้าเมืองหลวง
ถึงตนจะถูกฆ่าก็ตายคนเดียว
อันลูกหลานว่านเครือในเชื้อสาย |
ขอถวายไว้ธุระพระฤาษี |
ช่วยรักษาอย่าให้ตายวายชีวี |
วันพรุ่งนี้ข้าจะลาพระคลาไคล |
พระอัคคีเห็นอาเพศสมสังเกตก็ยินดียิ่งนัก จึงจับยามก็เห็นว่าไม่เป็นไร จึงว่าจะไปเฝ้าก็ไม่ห้าม
แต่ให้มีแยบคาย คิดรายคนเข้าปลอมอยู่ในเมืองสักยี่สิบคน คอยสังเกตดูเหตุผล
แล้วบอกให้นายด่านรู้การกล เมื่ออับจนจะได้แก้ไขกัน
นายด่านว่าสาธุสะพระคุณช่วย |
จะรอดด้วยกลเม็ดไม่เข็ดขาม |
แล้วเรียกบ่าวเหล่าสนิทมาคิดความ |
ให้ปลอมตามไปอยู่ทุกบูรี
ฯ |
ฝ่ายพระอัคคีเขียนบาลีให้กระเทยที่เคยใช้ปลอมไปด้วย เมื่อมีทุกข์ร้อนให้เอาอักษรมาดูเพื่อแก้ไข
ทหารดีที่กำกับไปนางก็สอนให้รู้ทั่วทุกตัวคน แล้วจัดแจงแปลงกายตามนายด่าน
กับพวกทหารร้อยเศษ พอรุ่งสายนายด่าน ก็นำไพร่พลตรงไปค่ายนายทัพ แล้วพูดกับราหูว่า
ตนเป็นคนถือมั่นกตัญญู ไม่สู้รบจะไม่เฝ้าเจ้าชีวิต
ทูลให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ |
ท่านช่วยโปรดผ่อนปรนให้พ้นผิด |
แม้ปลดปล่อยรอดตายไม่วายคิด |
พระคุณติดก็จะต้องสนองคุณ
ฯ |
ค
ฝ่ายราหูผู้เฒ่าคนเจ้าเล่ห์ |
สมคะเนหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
จะยกไว้ไม่ฆ่าด้วยการุณ |
ช่วยทำคุณขังกรงบอกส่งไป |
ฯลฯ
ยี่สิบวันบรรลุถึงเมืองหลวง |
ส่งกระทรวงกรมท่าเจ้าภาษี |
กราบทูลท้าวเจ้าจังหวัดปถพี |
เหมือนคำที่นายด่านให้การมา |
ฯลฯ
จอมกษัตริย์ตรัสว่าข้านอกเจ้า |
ชาติโฉดเขลาชาวทะเลเดรัจฉาน |
ช่างเชื่อถือฤาษีพวกชีพาล |
มาให้การสรรเสริญจนเกินดี |
ฯลฯ
นี่แกล้งบอกหลอกเจ้าข้าวนอกหม้อ |
กูไม่ขอคบฆ่าให้อาสัญ |
ตระเวณไปให้รอบขอบเขตคัน |
อย่าให้มันดูเยี่ยงทั้งเวียงชัย |
ให้ราหูผู้เป็นฝ่ายนายทหาร |
จับชาวด่านแดนมหาชลาไหล |
ที่นับถือฤาษีมีเท่าไร |
ฆ่าเสียให้สิ้นเสร็จสำเร็จการ
ฯ |
ค
มนตรีรับอภิวาทมาบาตรหมาย |
ตำแหน่งนายเพชรฆาตอันอาจหาญ |
ถือดาบแดงแซงสลอนนครบาล |
เอานายด่านปากน้ำมาจำจอง |
ติดคาข้อมือใส่ขื่อเล็ก |
สายโซ่เหล็กล่ามรั้งไว้ทั้งสอง |
พวกตรวจตรัดพัศดีเดินตีฆ้อง |
สอนให้ร้องโทษทัณฑ์ที่พันพัว |
ฯลฯ
ค
ฝ่ายมาลามาลัยไพร่ชาวด่าน |
เห็นเกินการแก้ไขก็ใจหาย |
ฉีกหนังสือฤาษีออกคลี่คลาย |
ได้แยบคายเข้าไปอยู่แทรกผู้คุม |
ฯลฯ
แล้วบอกอุบายนายด่านเป็นการลับ นายด่านจึงแกล้งร้องไห้ผู้คนที่มาดูให้รู้ว่า
เดิมให้ตนมาเฝ้าแล้วกลับมาเอาโทษ ไม่มีโจทก์แล้วจะจับตนฆ่าเสีย แล้วกล่าวท้าทายเจ้าเมืองอีกด้วยประการต่าง
ๆ
พวกผู้คุมรุมตีมิให้ว่า |
แกล้งเหวี่ยงคาตบปากแล้วลากขึง |
แต่ชายหญิงวิ่งฮือเสียงอื้ออึง |
จนทราบถึงองค์ท้าวเจ้านคร
ฯ |
ค
เจ้าพาราวาหุโลมเหงื่อโซมหน้า |
มันหยาบช้าแค้นจิตดังพิษศร |
แม้ฆ่าตายฝ่ายอำมาตย์ราษฎร |
จะขอค่อนว่ามันมาแล้วฆ่าฟัน |
ฯลฯ
ดำริพลางทางหาเข้ามาขู่ |
มึงจะสู้ฝีมือกูหรือไฉน |
ยังไม่ฆ่าถ้ากูจะปล่อยไป |
กลัวจะไม่ต่อตีจะหนีกู
ฯ |
ค
นายด่านเห็นเป็นต่อหัวร่อร่า |
ให้เหมือนว่าแต่สักหนจะบนหมู |
อย่าพักเย้ยเลยถ้าปล่อยจงคอยดู |
แม้ไม่สู้ภูวนัยไม่ใช่ชาย |
ฯลฯ
ท้าวเจ้าเมืองราหุโลมจึงให้มีหนังสือไปบอกว่า นายด่านแดนมหาชลาไหลคิดการขบถ
ผู้ใดจะเข้าด้วยนายด่านก็ไม่ห้ามปราม
แล้วเอาตรามาประทับคำรับสั่ง |
อย่ากักขังเข่นฆ่าให้อาสัญ |
แล้วปลดเปลื้องเครื่องพิฆาตราชทัณฑ์ |
ธงสำคัญส่งให้รีบไคลคลา
ฯ |
ค
นายด่านรับจับธงเดินตรงออก |
แกล้งโบกบอกหญิงชายทั้งซ้ายขวา |
เราจะไปให้ผู้รู้วิชา |
มาเข่นฆ่าโคตรท้าวเจ้าบุรี |
ฯลฯ
|