www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
พระอภัยมณี
ตอนที่
๕๐ นางเสวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
ฝ่ายชาวบ้านด่านสมุทรนับถือพระฤาษีเป็นที่สุด ส่วนนางโฉมยงอัคคีก็ขึ้นไปอยู่ที่ป้อมทุกคืนวัน
บรรดาพี่เลี้ยงคาดว่านายด่าน ไปเมืองหลวงเห็นทีจะถูกเจ้าเมืองฆ่า การที่นางไม่ห้ามไว้นั้น
จะเป็นกลศึกหรืออย่างไร นางจึงตอบว่า
ถึงเจ้าเมืองเคืองขัดจะตัดหัว |
ตายแต่ตัวนายกองกรรมของเขา |
ฝ่ายพวกพ้องต้องโทษทั้งโคตรเค้า |
จะช่วยเรารบรุดจนสุดมือ |
ฯลฯ
อันนายด่านฉันให้ไปมิได้ห้าม |
ด้วยจับยามเห็นว่ายังไม่สังขาร |
ให้หนังสือถือไปมาลัยมาลา |
ใช้ปัญญาดูสักครั้งจะอย่างไร |
ฯลฯ
ฝ่ายนายด่านเกลี้ยกล่อมผู้คนได้หลายร้อย กลับมาถึงด่านแล้วเข้าพบพระอัคคี
เล่าความทั้งปวงให้ทราบ แล้วกล่าวชมพระอัคคี
ช่างฉลาดคาดแน่เหมือนแลเห็น |
หรือพระเป็นเทวดาในราศรี |
โปรดประหารผลาญท้าวเจ้าบุรี |
ขึ้นนั่งที่แทนกษัตริย์ขัตติยา
ฯ |
พระดาบสกล่าวว่าไม่นิยมสมบัติของกษัตริย์ เพราะมุ่งหมายแต่โสดาแดนสวรรค์ชั้นวิมาน
แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าไม่ช่วยก็สงสารศิษย์ และบรรดาไพร่พลโยธา ถ้าเขามารบก่อนจึงจะเข้ารบ
จงหัดให้ไพร่พลรู้กลรบ |
ที่หลีกหลบไล่ล้อมพร้อมกันหมด |
เดินกระบวนส่วนเดียวไม่เลี้ยวลด |
ชื่อว่าทศโยธาแสนยากร |
ฯลฯ
นายด่านก็ไปเตรียมการตามสั่ง
เป็นสิบหมู่รู้กันสำคัญฆ้อง |
ให้ตีกลองว่องไวทีไล่หนี |
สงบให้เขามารบราวี |
จึงตามตีติดพันเหมือนสัญญา
ฯ |
ฝ่ายราหูรู้ข่าวว่า ท้าวเจ้าเมืองปล่อยคนโทษ พร้อมทั้งมีตราสั่งกำชับมาให้จับเป็น
เห็นว่าเป็นการวิปริต ไม่เคยมีมาก่อน จะทำให้ราษฎรได้ทุกเข็ญ แต่จำเป็นต้องฉลองคุณ
จึงให้เตรียมกำลังรบ ยกมาล้อมป้อมปราการไว้ แล้วร้องประกาศให้นายด่านออกรบ
แน่นิ่งอยู่กูจะเข้าไปเอาโทษ |
ให้สิ้นโคตรคนถือพระฤาษี |
ใครนับถือซื่อต่อเจ้าธรณี |
มาภักดีจะโปรดที่โทษกรณ์
ฯ |
ฝ่ายพวกพลบนเชิงเทินหอเนินรบ ก็ร้องด่าว่าราหูที่หลอกลวงให้นายของตน ออกไปหาแล้วจับตัวส่งเมืองหลวง
ราหูได้ฟังก็โกรธขับทหารเข้าหักด่าน ฝ่ายองค์อัคคีเห็นได้ท่วงทีก็ยกกำลังทั้งสิบทัพ
ออกจากประตูเมืองไปเข้าตีกองทัพของราหู
พวกด่านห้อมล้อมรุมกลุ้มสกัด |
ต่างพุ่งซัดศัสตราดังห่าฟน |
ถูกราหูสู้ดำรงด้วยคงทน |
ถึงอับจนคนเดียวสิ้นเรี่ยวแรง
ฯ |
นายด่านชานสมุทรออกรบกับราหู จับราหูไว้ได้มัดตัวเอาไว้ กองทัพราหูก็แตกหนีไป
พวกโยธาราหูไม่สู้รบ |
ลงนอบนบนั่งไหว้ยอมให้จับ |
พระอัคคีตีกลองเรียกกองทัพ |
ต่างคืนกลับเกลื่อนมาหน้าปราการ
ฯ |
พระอัคคีเห็นราหูก็คิดสงสาร ให้แก้มัดแล้วบำรุงบำเรอต่าง ๆ ให้เป็นไมตรี บอกว่าตนเป็นฤาษีคิดโปรดสัตว์
หมายจะไปชมเมืองโรมวิสัย แต่เจ้าเมืองใหญ่ใช้ราหูมาไล่ฆ่าคน จึงจำต้องสู้แล้วบอกว่า
เราจับได้ให้สงสารท่านราหู |
อย่าไปอยู่แปดปนกับคนผิด |
จะยกโทษโปรดให้ไว้ชีวิต |
จะสัตย์ซื่อหรือจะคิดบิดเบือนไป
ฯ |
ราหูได้ฟังก็พลอยเห็นชอบ เห็นพระคุณของพระฤาษียอมอยู่เป็นข้าจนตาย พระอัคคีจึงให้ราหูช่วยกำกับเป็นทัพหน้า
ไปปราบปรามเมืองทมิฬทั้งหลาย ราหูก็ลามาเตรียมไพร่พลได้ห้าหมื่น พอได้ฤกษ์ก็ตีฆ้องกลองสำคัญ
ยกกำลังออกไป
ฝ่ายพระอัคคี เมื่อทัพหน้ายกออกไปได้ค่อนวัน แล้วก็ยกกำลังออกจากด่าน
รีบเดินทางกลางวันได้พันเส้น |
ครั้นจวนเย็นทำพลับพลาอยู่อาศัย |
ครั้นเช้าตามทัพหน้าเคลื่อนคลาไคล |
ตลอดไปตามทางหว่างคีรี
ฯ |
ฝ่ายราหูเมื่อเข้าเขตด่าน ก็ห้ามชาวบ้านไม่ให้หนีไปไหน แล้วบอกเล่าเจ้าเมืองเอก
โท ตรี ว่าพระมุนีมีบุญกรุณา
เมืองเล็กน้อยพลอยเป็นเช่นราหู |
ไม่รบสู้สามิภักดิ์นั้นหนักหนา |
คอยรับทัพคับคั่งตั้งบูชา |
ล่วงด่านมาห้าชั้นไม่อันตราย
ฯ |
กล่าวถึงเมืองด่านมีทหารเอกชื่อ ตรีเมฆ
คุมเหล่าทมิฬทั้งสิ้นอยู่ ครั้นรู้ว่าราหูคบผู้ร้าย แล้วมาชวนตนให้ไปเข้าด้วย
จึงคิดช่วยเจ้าทำการปราบปรามราหู แล้วยกกำลังออกนอกด่านเป็นจำนวนสี่หมื่น
เมื่อเผชิญหน้ากับราหูจึงร้องว่าไปว่า เหตุใดจึงไปเข้านับถือพระฤาษี เสียแรงที่เจ้าเมืองประทานบ้านเมือง
และเครื่องยศให้ เหตุไฉนจึงคิดคด ยกกำลังมาราวี
ฝ่ายราหูจึงเล่าเรื่องเดิมให้ฟัง แล้วบอกว่าฤาษีมีประโยชน์จะโปรดสัตว์ ตนนำหน้ามาแถลงให้แจ้งการณ์ว่า
ไม่ได้จะทำการรุกรานผู้ใด ขอให้ตรีเมฆ ยกทัพกลับไปแล้วทูลเจ้าเมืองให้ภักดีต่อพระดาบส
จะก่อศึกฮึกหาญเป็นการชั่ว |
จะร้อนทั่วทุกประเทศทั้งเขตขัณฑ์ |
ท่านกับเราเล่าก็มีไมตรีกัน |
จะผ่อนผันพอให้ควรอย่าลวนลาม
ฯ |
ตรีเมฆว่าราหูคบผู้ร้าย |
คิดอุบายเบียดเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
เป็นข้าครอกนอกเจ้าข้าวนอกชาม |
ช่วยติดตามรบราญด่านเข้ามา |
ฯลฯ
แล้วให้ราหูถอยทัพกลับไปให้พ้น พร้อมกับขู่จะตัดเอาศีรษะเสียบประจาน
ฯ ราหูได้ฟังก็โกรธด่าว่าตรีเมฆ แล้วก็ขับกิเลนเข้ารบกับตรีเมฆ ไพร่พลของทั้งสองฝ่ายก็เข้ารบกัน
พอนายด่านชานชลายกตามมาทันก็เข้าช่วยรุมรบ ตรีเมฆเสียทีตกจากหลังแรด ทหารจับตัวมัดไว้ได้
พอทัพของพระอัคคีมาถึงที่รบก็ให้ตั้งพลับพลา ทั้งสองทัพจับได้ชาวด่านมาได้ประมาณสามหมื่น
ราหูนำตรีเมฆมาให้หมอบตรงหน้าพระอัคคี แล้วทูลความการสู้รบที่ผ่านมา พระอัคคีสั่งให้แก้มัดตรีเมฆออก
แล้วบอกว่าตนถือศีลจินตนารักษากิจ เจ้านายของตรีเมฆไม่ควรทำลวนลาม นายด่านห้ามก็ไม่ฟัง
จะฆ่านายด่านทั้งโคตร ตนจึงจำต้องช่วย แล้วหมายจะมาว่ากล่าวกับท้าวเจ้าเมือง
ให้ถือธรรมจำศีลสิ้นมานะ |
แล้วเราจะขึ้นไปชมโรมวิสัย |
ท่านซื่อตรงจงบำรุงเจ้ากรุงไกร |
ให้อยู่ในศีลสัตย์สวัสดี
ฯ |
ตรีเมฆได้ฟังก็น้อมประณตนับถือพระฤาษี และขอให้เป็นที่พึ่งของตน แล้วบอกว่าตนจะไปด้วยช่วยส่งถึงเมืองหลวง
จะขอให้เปิดด่านชั้นเจ็ด แล้วจะไปทูลท้าวเจ้าแผ่นดินให้หายดุร้าย ไม่ทำบาปและรักษาศีล
ให้ไพร่ฟ้าได้เย็นใจ และจะได้ภิญโญยศปรากฎไป จากนั้นก็เชิญพระอัคคีเข้าไปในด่าน
ป่าวร้องให้ชาวด่านแต่งสำรับ ข้าวและเหล้ายามาเลี้ยงไพร่พลของพระอัคคี บอกให้เหล่าทมิฬทั้งสิ้นมานับถือพระฤาษี
แล้วบอกว่าพรุ่งนี้เช้า ตนจะเป็นที่ทัพหน้าเดินทางล่วงหน้าไปก่อน
ไปบอกเล่าเจ้านครเขื่อนเพลิงนั้น |
ให้ด่านชั้นเจ็ดแจ้งแถลงไข |
เปิดทางทัพรับพระองค์ให้ตรงไป |
เห็นจะได้ด้วยเป็นมิตรสนิทกัน
ฯ |
พระอัคคีได้ฟังก็ดีใจ ให้ตรีเมฆทำตามความคิดของตน ตรีเมฆจึงขึ้นนั่งหลังแรด
พาทหารชาวด่านหมื่นห้าคน ออกเดินทางไป พระอัคคีให้ราหูยกกำลังตามไป พอตะวันบ่ายนายด่านปากน้ำ
ก็ยกทัพนำเสด็จไป
ฝ่ายพระกาลชาญสมร
เจ้านครเขื่อนเพลิง
อยู่เชิงเขา คุมทหารอยู่ชั้นในเมื่อรู้ข่าวว่าราหูกับตรีเมฆคิดคบขบถ จึงเขียนจดหมายไปทูลเจ้าเมือง
แล้วเตรียมกำลังไพร่พล เพื่อคอยรับทัพศึก
ให้ลงขวากลากปืนเข้าอกช่อง |
ทุกหมวดกองเกณฑ์กำลังล้วนขันแข็ง |
หอรบรายค่ายป้อมให้ซ่อมแปลง |
รีบจัดแจงอาวุธยุทธนา
ฯ |
ฝ่ายตรีเมฆไปถึงนครเขื่อนเพลิง แล้วจึงให้ตั้งค่ายที่ชายทุ่ง พอย่ำรุ่งให้เสมียนเขียนอักษรแล้ว
ให้บ่าวเอาไปเมืองแจ้งเรื่อง เจ้าเมืองรับสารมาอ่านมีความว่า ตนคือราหูได้ออกต้านตีจนกองทัพของตน
ต้องแตกได้รับความอับอาย พระอัคคีจับได้ไม่ฆ่า เห็นว่าฤาษีนี้มีฤทธิ์ ใครเข้าสู้รบด้วยจะอันตราย
คนทั้งหลายก็เลื่อมใส
จงรู้เถิดเปิดด่านให้ท่านด้วย |
จะได้ช่วยโปรดให้ไปสวรรค์ |
เราบอกตามความจริงทุกสิ่งอัน |
แม้ป้องกันกีดฤาษีจะมีภัย
ฯ |
พระกาลได้ฟังข้อความในสารก็โกรธ แต่แกล้งตอบว่าขอบใจที่ชักชวนมา ทั้งบอกเล่าเรื่องให้รู้เหตุ
ถ้าเป็นจริงดังนั้น ก็บอกให้ตรีเมฆมาพูดจากัน
ฝ่ายผู้ถือหนังสือลับกลับมาค่าย |
บอกความนายตามจริงทุกสิ่งสรรค์ |
ตรีเมฆฟังนั่งรำพึงอยู่ครึ่งวัน |
คิดพรั่นพรั่นเพื่อนเราจะเผาเรือน |
ฯลฯ
แล้วเห็นว่า ถ้าไม่ไปก็เหมือนขี้ขลาด เมื่อพระกาลให้บ่าวมาเตือนตรีเมฆจึงเรียกบ่าวสามคน
เข้าเมืองด่าน ฝ่ายพระกาลจึงให้จับตรีเมฆลงเหล็กไว้
แล้วถามว่าตัวเป็นข้าได้ยศศักดิ์ เคยถือน้ำทำสัตยปฎิญาณ
ให้ไปกินเมืองด่าน
เหตุใดจึงทรยศเป็นขบถต่อเจ้านคร แล้วมาชวนตนให้เข้าด้วย เคยเป็นมิตรกันมาทำอย่างนี้
ผิดวิสัยจะเอาตัวเข้ากรงส่งไป จะว่าไรก็ให้เร่งว่ามา
ตรีเมฆฟังคั่งแค้นแหงนหัวร่อ |
กูไม่ง้อขอชีวิตไม่คิดหนี |
นึกว่าเพื่อนเหมือนเขาว่าเพราะปราณี |
มึงกลับตีเอาเรือไม่เชื่อฟัง |
ฯลฯ
ฝ่านราหูเมื่อยกทัพหน้ามาใกล้นครเขื่อนเพลิง จึงให้หยุดทัพอยูหลังเขา ให้ม้าใช้ไปฟังข่าวทราบว่า
ตรีเมฆถูกจับไปขังกรงไว้ จึงสั่งการให้ไพร่พลคอยดูค่ายชาวเมือง ถ้าพระกาลยกทหารออกมาให้เข้าห้อมล้อมเอาไว้
แล้วไพร่พลของฝ่ายตนจะเข้าตี เห็นจะชิงเมืองได้
ฝ่ายพระกาลปรึกษากับพวกขุนนาง เห็นว่าไพร่พลของตรีเมฆไม่ออกมาอ่อนน้อม เห็นจะรอรบเพื่ออยู่คอยท่ากองทัพ
จึงคิดไปล้อมจับเสียก่อนในวันนี้ แล้วยกพลสี่กองออกรบสมทบกัน
ฝ่ายราหูรู้ว่าคนออกปล้นค่าย ก็ขับไพร่พลเข้าตีกระทบร่วมกับไพร่พลของตรีเมฆ
ฝ่ายพระกาลเห็นข้าศึกล้อมทหารฝ่ายตน ก็ยกทัพออกจากเมือง ตนเองขี่โลโต ออกขับไพร่พลออกรบ
พอทัพของพระอัคคีกับพี่เลี้ยง ได้ยินเสียงการรบอยู่เซ็งแซ่ ก็เร่งทหารเข้าแซงสกัดลัดทางข้างพระกาล
เข้าฆ่าฟันชาวด่านล้มตายเกลื่อนกลาดดาษดา
ฝ่ายพวกพ้องของฤาษีทั้งยี่สิบคน คอยอยู่ในด่าน ปลอมตนดูผู้คนอยู่บนเสมา เห็นกองทัพของพระอัคคียกมาก็เปิดประตู
ออกไปรับพระฤาษีเข้ามาในเมือง ไล่ฆ่าตีรี้พลบนกำแพงเมือง ฝ่ายพระกาลเห็นศึกเหลือกำลัง
จึงขับโลโตหนีไปเมืองหลวง พระอัคคีก็ถอดตรีเมฆอออกจากจองจำแล้ว ตั้งเป็นเอกอำมาตย์
กล่าวถึงท้าววาหุโลม รู้ข่าวเมืองพระกาลเสียด่านหกก็ตกใจ คิดจะออกไปรบเอง
พอพระกาลหนีมาถึงแล้ว เข้าไปเฝ้าทูลเรื่องราวการรบจนเสียด่านเมืองหลวง ท้าวเจ้าเมืองได้ฟังก็เดือดดาล
ด่าว่าราหูกับตรีเมฆแล้วให้จัดทัพจำนวนสองแสนออกไปรบ แล้วขี่หลังพยัคฆ์เคลื่อนพลออกจากเมือง
ฝ่ายพระอัคคีอยู่ที่ด่านฝึกฝนทหารไว้เตรียมรบ แล้วเรียกราหู ตรีเมฆกับนายด่าน
ให้ไปบอกนายรองกองร้อยให้รู้ความ เป็นคบสามสิบกองคอยป้องกัน
จะล่วงหน้าพากันไปแม้ใครรบ |
เลี้ยวตลบล้อมทัพให้ขับขัน |
คอยวงเวียนเปลี่ยนผลัดสกัดฟัน |
ชื่อ
กลกันโขลงช้างจับกลางแปลง |
พวกนายทัพทูลลาแล้ว พากันออกไปจัดทัพให้พวกปากน้ำนำหน้า พวกตรีเมฆยกหนุนไปให้ห่างกันร้อยเส้น
พอเห็นกัน แล้วราหูเป็นทัพหลัง ทัพพระอัคคีคุมพลสี่หมื่น ยกตามกันไป
เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายพบกัน พระกาลเข้ารบกับนายด่าน เจ้าวาหุโลมขับเสือเข้ารุกไล่
เห็นนายด่านปากน้ำก็ร้องด่า และท้าให้มาสู้กัน นายด่านแกล้งลวงล่อให้ท้าวเจ้าเมืองไล่ตาม
แล้วให้ไพร่พลเข้าล้อมหุ้ม ท้าวเจ้าเมืองเห็นหน้าราหูก็ร้องด่าว่า แล้วขับเสือเข้ารบกับราหู
แต่ราหูก็สู้หนี แล้วแกล้งรบรับขับทหารเข้าต่อต้าน พอมาพบตรีเมฆเข้ามาขวางหน้าไว้
ร้องทูลว่าฤาษีนี้ประเสริฐนัก ตั้งใจทำบุญไม่ต้องการสมบัติพัสถาน โปรดแต่จะไปสวรรค์
เดี๋ยวนี้เล่าเขาก็ล้อมไว้พร้อมพรั่ง |
เหมือนเสือขังกรงสิ้นดิ้นไม่ไหว |
มิโอนอ่อนผ่อนปรนให้พ้นภัย |
จะเสียไพร่เสียองค์พระทรงยศ
ฯ |
ท้าวเจ้าเมืองได้ฟังก็ชี้หน้าด่าว่าตรีเมฆ พลางเข้าโถมตีตรีเมฆ แต่ตรีเมฆก็คอยปัดป้องและนำทหารปิดทางไว้
เจ้าพาราวาหุโลมจะออกด้านไหน ก็ไม่ใคร่พ้น บรรดาไพร่พลก็รวนเร จนพลบค่ำก็เห็นคบล้อมอยู่พร้อมพรั่ง
จะออกไปทางไหนก็ไม่ได้
พระอัคคีมีจิตคิดสงสาร |
ให้ทหารเรียกพหลพลขันธ์ |
ใครออกมาหาเราเข้าด้วยกัน |
ไม่ทำอันตรายสบายดี
ฯ |
บรรดาพวกไพร่พลได้ฟังต่างก็พากันมานอบนบนับถือพระฤาษี ฝ่ายเจ้าพาราวาหุโลมเที่ยวขับเสืออยู่องค์เดียว
จนรุ่งเช้าไปพบกับพระกาล ไม่มีทหารเหลืออยู่เลย จึงถามพระกาลว่า จะคิดอ่านทำประการใด
พระกาลทูลว่าให้พระองค์ตีหักออกไป ถึงกรุงแล้วเตรียมทัพกลับมารบ
จะขับเคี่ยวเดี๋ยวนี้แม้มิถอย |
เหมือนน้ำน้อยดับไฟไม่สงบ |
ด้วยข้าศึกฝึกฝนพลสมทบ |
จึงรุมรบครั้งนี้ได้มีชัย
ฯ |
พระได้ฟังก็เห็นชอบแล้วขอหยุดพักอยู่ใต้พุ่มไม้ ส่วนพระกาลคอยเฝ้าระวังรักษาอยู่
ฝ่ายพระอัคคีครั้นรุ่งเช้า เห็นไพร่พลพร้อมอยู่ แต่ไพร่พลของท้าวราหุโลมนั้นตายอยู่เกลื่อนกลาด
ตรีเมฆกับพระราหูพร้อมทั้งนายด่านชานชลามาทูลว่า จะใส่ปีกบินหนีไปเมืองแล้วคิดมารบใหม่
จึงให้กองตระเวณไปสกัดตามทางระหว่างภูเขา เมื่อเหนื่อยก็จะลงพักในป่า ให้ไล่ต้อนตามจับมา
ฝ่ายท้าวเจ้าวาหุโลมจะหักทัพกับพระกาล จึงใส่ปีกกับสองกร แล้วแต่งองค์ขึ้นทรงพยัคฆ์
นำพระกาลออกฝ่าวงล้อมจนอาวุธหลุดจากหัตถ์ แล้วจึงกระพือปีกบินขึ้นไปบนท้องฟ้า
พวกไพร่พลก็พากันติดตามไป ฝ่ายพระกาลรบจนหมดกำลังเป็นลมล้มลง ตรีเมฆจึงให้ไพร่พลผูกมัดมา
ฝ่ายท้าวเจ้าเมืองบินหนีไปถึงเนินผา ให้เหนื่อยอ่อนจึงร่อนลงริมป่า พวกทัพซุ่มก็รุมจับไว้ได้
มัดแล้วนำตัวเข้าไปยังที่อยู่ของพระมุนี พระนักสิทธิ์พิศดูแล้ว เห็นท่วงทีท้าวเจ้าพารานับถือตัว
ไม่กลัวตายแต่ก็สงสาร จึงให้แก้มัดเชิญให้นี่งแท่นแผ่นศิลา แล้วอภิปรายปราศรัยเป็นไมตรี
บอกว่าตนสร้างพรตเพราะว่า ถือเป็นฤาษีไม่นิยมสมบัติในแผ่นดิน ที่มานี้นึกจะใคร่ให้ได้บุญ
แต่เป็นเพราะเคราะห์กรรมต้องทำศึก ที่จับได้มานี้จะไม่ฆ่า และจะทำคุณคืนไพร่พลให้
จะปล่อยให้ไปสำราญผ่านสมบัติ |
รักษาสัตย์สืบสร้างทางกุศล |
ถือศีลธรรมกรุณาประชาชน |
จะได้พ้นภัยพาลสำราญใจ
ฯ |
ท้าวทมิฬได้ยินคำค่อยหายโกรธ จึงตรัสตอบว่าขอบใจ แต่ตนกลัวตาย ด้วยเสียทัพไปให้คิดอดสู
ขอให้ฆ่าตนเสีย พระอัคคีมีจิตสังเวชจึงตรัสเทศนาว่า ธรรมดาสามัญคำโบราณว่าไว้
อันต่อตีมีแต่แพ้ชนะ |
มิใช่จะเสียชาติวาสนา |
เราจับได้ไม่สังหารผลาญชีวา |
ท่านจะมาชิงตายเสียดายนัก |
ฯลฯ
ท้าวทมิฬจึงตรัสตอบตามวิสัย น้ำใจหาญ ว่าเป็นชายชาญตามจามรี
สงวนศักดิ์รักยศสู้ปลดปลิด |
รักชีวิตเหมือนไม่รักยศศักดิ์ศรี |
ซึ่งร่ำปลอบขอบคุณพระมุนี |
เราจะมีหนังสือให้ถือไป |
ฯลฯ
ให้วาโหม ผู้เป็นพระลูกยาเข้าใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วให้พระกาลถือหนังสือไปแจ้งการให้ทราบ
จากนั้นก็เอามีดกรีดศอเชือดคอตาย พระอัคคีมีจิตสงสารจึงให้ทำมณฑปศพท้าวเจ้าเมือง
ให้พระกาลด่านในไพร่ทั้งหลาย |
ที่เหลือตายหลายหมื่นคืนไปหมด |
ต่างรับสั่งพรั่งพร้อมน้อมประณต |
จากบรรพตหมายมุ่งไปกรุงไกร
ฯ |
พระกาลเดินทางสองวันครึ่งก็ถึงเมืองวาหุโลม เข้าไปเฝ้าวาโหม ผู้เป็นหน่อท้าวเจ้าพารา
ทูลเรื่องราวให้ทราบ วาโหมอ่านสารที่สไบ ที่พระบิดาเขียนมามีความว่า พระบิดาไปรบแล้วแพ้พระฤาษีไม่ได้คิดฆ่า
แต่จะต้องตายด้วยขายพระพักตร์ ขอให้ลูกยาขึ้นครองเมือง
อย่ารบพุ่งมุ่งร้ายเมื่อภายหลัง |
จงเชื่อฟังนับถือพระฤาษี |
อุปถัมภ์ทำบุญกับมุนี |
เอาเป็นที่พึ่งพาข้างหน้าไป |
ฯลฯ
วาโหม อ่านสารรู้ความก็เศร้าโศกเสียใจ อาลัยในพระบิดายิ่งนัก คร่ำครวญถึงพระบิดาด้วยประการต่าง
ๆ เมื่อพระชนนีทราบเรื่องก็กันแสงโศกา ครวญคร่ำร่ำไห้ด้วยความอาลัยจนสลบไป
เมื่อสร่างโศกแล้ว นางกษัตริย์จึงให้จัดรถ พร้อมเครื่องยศแหนแห่ พระนางพร้อมพระวงศ์พงศาเสนาใน
ก็ออกเดินทางจากกรุงไกร มายังพลับพลาหน้ามณฑป ไปนอบนบนับถือพระฤาษี ฝ่ายพระอัคคีเห็นเทวีวาโหม
มาหาก็ยินดีตรัสปราศัยถึงความเป็นมาให้พระนางทราบ
วันนี้วงศ์พงศาพวกเข้าเฝ้า |
มาถึงเรายินดีจะมีไหน |
เชิญขึ้นบนมณฑปชักศพไป |
ทำบุญให้ได้สวรรค์ชั้นพิมาน
ฯ |
นางกษัตริย์ได้ฟังก็ตรัสว่าสาธุ แล้วนิมนต์พระอัคคีไปยังกรุงวาหุโลม ทูลว่าพระลูกยายังเยาว์
ขอให้พระสิทธาเมตตาการุญ ช่วยสั่งสอนเหมือนอย่างบุตร แล้วจูงกรลูกยาให้มาไหว้พระอัคคี
พระอัคคีถามวันชันษา ก็ทราบว่ามีชันษาได้สิบสี่ปี
นางกษัตริย์ตรัสให้เชิญพระศพ |
จากมณฑปใส่โกศขึ้นรถา |
มีจามรชอนตะวันเป็นหลั่นมา |
มยุราฉัตรพัชนีวี |
โยงผ้าขาวดาบสขึ้นรถชัก |
พิงพนักอ่านหนังสือพระฤาษี |
ออกจากเนินเดินทางหว่างคีรี |
พระอัคคันำหน้าเคลื่อนคลาไคล |
ฯลฯ
เมื่อถึงเมืองวาหุโลมแล้ว
แล้วขุดหินศิลาปลูกปราสาท |
ประชุมญาติยกศพไปกลบฝัง |
คอยนะบีมีบุญกรุณัง |
จะมาสั่งบุญบาปจึงทราบความ
ฯ |
แล้วเชิญพระอัคคีให้อยู่ที่ปรางค์รัตน์ บรรดาขอเฝ้าและลูกศิษย์ต่างก็ได้รับความสุขทั่วทุกตัวคน
แต่พระอัคคียังมีกังวลกลัวว่า จะไม่พ้นจากการตามหาของพระเชษฐาสุดสาคร จึงปรึกษาพี่เลี้ยง
อันแว่นแคว้นแดนทมิฬถิ่นประเทศ |
มีขอบเขตข้างเหนือนั้นเหลือหลาย |
ล้วนถือไสยใจบาปทั้งหยาบคาย |
ไม่กลัวตายร้ายกาจชาติทมิฬ |
คิดว่าจะไปชมโรมวิสัยก็เห็นว่า ยังอยู่ไกล และไม่มีผู้ศรัทธารักษาศีล ก็จะมาสมทบรบสู้กับเราทุกเมือง
ศึกครั้งนี้ยังต้องใช้เวลาถึงหนึ่งไป รู้สึกระอาใจ จะคิดแก้ไขอย่างไรดี พระพี่เลี้ยงจึงให้ความเห็นว่า
แม้ว่าไปพบเหล่าชาวทมิฬ แล้วต้องรบกันก็อาจเสียทีไพร่พลล้มตาย
โบราณว่าสี่เท้ายังก้าวพลาด |
เป็นนักปราชญ์แล้วก็ยังรู้พลั้งผิด |
อันทำศึกเหมือนสู้กับงูพิษ |
จงทรงคิดใคร่ครวญให้ควรการ |
แล้วทูลแนะนำให้กลับไปสำเภา แล้วเที่ยวชมบรรดาบ้านเมืองในถิ่นต่าง ๆ ก็จะพ้นจากพาลไพรี
แต่นางตรัสตอบว่า เรื่องอื่น ๆ นั้นไม่ยาก เพราะมีที่หลีกหลบ แต่เกรงว่าพระพี่ยาสุดสาครจะตามมาพบ
ค
พี่เลี้ยงว่าน่าสมเพชพระเชษฐา |
จะตรึกตราโกรธขึ้งไปถึงไหน |
แต่ดาบตัดกัทลียังมีใมย |
หรือตัดใจขาดเด็ดไม่เมตตา
ฯ |
ฯลฯ
นางได้ฟังก็ไม่ตรัสว่าขานประการใด ให้อักอ่วนป่วนใจอัดอั้นอาดูร เศร้าพระทัยไม่สบาย
จนซูบผอม นางพระยาวาโหมก็พลอยทุกข์ใจ ให้มดหมอมาพยาบาลอยู่นานหลายเดือน
ตอนที่
๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
กล่าวถึงสุดสาครตามพระกนิษฐาเสาวคนธืมาถึงอ่าวสินธุ์ถิ่นนาคา เห็นเหล่านาคขึ้นไล่กินกุ้งปลา
ก็รู้ว่าเป็นปล่องนาค จึงข้ามไปเสีย แลเห็นสำเภาที่เสาวคนธ์ทำด้วยมนต์ เพื่อให้หมายว่าเป็นลำที่นางทรงอยู่
จึงออกไล่ติดตามอยู่สามวัน เห็นสำเภาอยู่ข้างหน้า ข้างหลังบ้าง เห็นผิดที
จึงลงเลขเสกเป่าไม้เท้าทิพย์ |
ชื่อมนต์นิพพาวนาแก้อาถรรพ์ |
ชี้สำเภาเป่าไปเป็นไฟกัลป์ |
สำเภานั้นหายวับไปกับตา
ฯ |
หลังจากนั้น ก็ไปพบเกาะยาวใหญ่ ขวางทางอยู่จึงขับม้าขึ้นไปบนเกาะนั้นมีชื่อว่า
เกาะค้างคาว พบผู้เฒ่ามีผู้หญิงสาวอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ประมาณร้อยคนจึงเข้าไปถามความ
ผู้เฒ่าเล่าว่าตนเป็นชาวเมืองสาวัตถี เมื่อหนุ่มไม่มีภรรยา เมื่อไปเกี้ยวผู้หญิงก็ถูกด่าทอ
จนขอสู่ผู้ใหญ่ยกให้พร้อม |
ยังไม่ยอมเป็นเมียต้องเสียหอ |
อายมนุษย์สุดกำลังไม่รั้งรอ |
จะผูกคอเสียให้ตายวายชีวา |
ต่อมาไปได้ลายแทงจึงทราบถึงเล่ห์เสน่หา จนมีผู้หญิงมามีจิตพิสมัยตนเป็นจำนวนมาก
เมื่อรู้ถึงท้าวเจ้าเมืองก็คิดเคืองตน แกล้งหาว่าตนเป็นกาลี จึงเอาตนมาปล่อยอ่าวเมืองสาวัตถี
สุดสาครได้ฟังก็ใคร่จะได้วิชาดังกล่าว จึงเล่าความตามเรื่องที่เคืองข้อง ผู้เฒ่าก็รับสอนให้
จากนั้นสุดสาครก็ถามว่า ได้เห็นเรือแล่นผ่านมาทางนี้หรือไม่ ผู้เฒ่าก็ตอบว่าเห็นเรือแล่นผ่านมา
ตั้งแต่เดือนสี่ปีกลาย แล่นขึ้นไปทางเหนือ เป็นเรือใหญ่กว่าเรือสินค้าทั้งหลาย
สังเกตดูตามแผนที่จะแล่นไปทางฝั่งเมืองวาหุโลม แล้วจับยามทำนายว่า ถ้าตามไปก็จะได้พบ
สุดสาครได้ฟังก็บอกลาผู้เฒ่า แล้วออกเดินทางไปข้างทิศอุดร เมื่อเดินทางไปได้สิบห้าวัน
ก็แลเห็นด่านมีปราการคร่อมภูเขาอยู่ และสำเภาจอดอยู่ริมท่า ก็แน่ใจว่านางเสาวคนธ์มาเรือลำนี้
เมื่อแรกทำจำได้ทั้งใบเสา |
ผิดสำเภาชาวเมืองมีเครื่องสี |
ขับม้าทรงตรงมาในราตรี |
ก็ถึงที่ฝั่งทะเลขึ้นเภตรา |
ฯลฯ
ได้พบคนรู้จักจึงซักถามได้ความตั้งแต่จากเมืองมา จนถึงชิงชัยได้เมืองวาหุโลม
สุดสาครทราบเรื่องแล้วก็คิดจะลองวิชา ของครูเฒ่า
แม้นสมนึกสึกชีเหมือนอิเหนา |
ไม่ปลอบเปล่าเปลื้องที่อดสู |
จะบวชตามทรามวัยลอบไปดู |
มิให้ผู้อื่นแจ้งจะแพร่งพราย |
ฯลฯ
จึงแปลงองค์ทรงนุ่งหนังเสือเหลือง พอรุ่งแจ้งจึงสั่งนายพวกที่เฝ้าสำเภาทรงให้จ้างชาวด่านบ้านปากน้ำ
ได้คนนำทางแล้วขึ้นหลังม้านิลมังกร เดินทางเข้าแดนบ้านป่า
กล่าวถึงพระอัคคีไม่หายจากโรคที่เศกเศร้า ด้วยมีพระชันษาได้ยี่สิบห้าปี พี่เลี้ยงปรึกษากันเห็นว่า
เป็นคราวพระเคราะห์เพราะว่าพระราหู |
มาสมสู่สุริยาในราศี |
อังคารถึงซึ่งพฤหัสบดี |
ต้องตกที่ช้างฉันทันต์อันตราย |
จงสึกหาลาพรตให้ปลดเปลื้อง แล้วแต่งเครื่องพลีกรรมถวายเป็นการสะเดาะพระเคราะห์ร้าย
นางเชื่อคำจึงอำลาพรตแล้ว ทรงเครื่องอย่างพราหมณ์จึงค่อยฟื้นองค์ พอตกกลางคืนได้ยามสามก็ทรงสุบิน
ว่าองค์พระอนันตนาคราช |
เผ่นผงาดมาทางลำแม่น้ำสินธุ์ |
เข้ารัดนางกลางคืนจะกลืนกิน |
ร้องจนสิ้นเสียงสะดุ้งพอรุ่งราง |
จึงตรัสเรียกสี่พี่เลี้ยงมาเล่าความฝันให้ฟัง พี่เลี้ยงทำนายฝันพระพี่สุดสาครผูกใจอยู่กับตัวนาง
ไม่ใช่เป็นเรื่องของศึกเสือเหนือใต้ แต่อย่างใด นางได้ฟังก็ให้ขวยเขินรัญจวนปั่นป่วนใจ
กล่าวถึงสุดสาครเดินทางได้ยี่สิบวัน ก็ถึงกรุงวาหุโลม แล้วก็ตรงไปหน้าวัง
หยุดนั่งอยู่หน้าศาลาลัย พอพวกขอเฝ้าของนางมาพบสุดสาคร ก็ไต่ถามถึงนางเขาก็ทูลตอบให้ทราบทุกประการ
อันฤาษีที่เป็นหมอพวกขอเฝ้า |
เคยเดินเข้าออกได้ดังใจหวัง |
เชิญพระองค์ตรงไปเข้าในวัง |
อย่าให้ทั้งปวงแจ้งจะแพร่งพราย
ฯ |
เมื่อฤาษีสุดสาครมาพบเสาวคนธ์ก็เข้านั่งประคอง แล้วลองตำราจากครูเฒ่า นางแกล้งผลักใสแล้วว่า
เป็นฤาษีไม่กลัวบาปหรือ สุดสาครจึงปลดเปลื้องเครื่องครองออก แล้วเข้ารับขวัญเสาวคนธ์
อันตัวพี่นี้เหมือนแมงภู่ผึ้ง |
มาพบซึ่งเสาวรสอันสดใส |
สุดจะห้ามความรักหักฤทัย |
พลางรูปไล้โลมน้องประคองเชย |
ฯลฯ
พอสมเชิงเริงรื่นชูชื่นแช่ม |
ต่างยิ้มแย้มหย่อนตามไม่ห้ามหวง |
มณฑาทิพย์กลิ่นหุ้มเป็นพุ่มพวง |
ขยายดวงเด่นกระจ่างเมื่อกลางวัน |
ฯลฯ
พระคลึงเคล้าเย้ายวนให้ป่วนปลื้ม |
นางกลับลืมหลงเล่ห์เสน่หา |
พระเอนแอบแนบชิดวนิดา |
อุ่นอุราพลอยหลับระงับไป
ฯ |
ทั้งสององค์อยู่ร่วมรักกันจนลืมทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเวลาหลายเดือน อยู่มาวันหนึ่งองค์เสาวคนธ์คิดอายพวกทมิฬ
ถ้ามีผู้รู้ความแพร่งพรายออกไป ทั้งคิดถึงเรื่องที่จะทรงครรภ์ จึงแจ้งเหตุให้เชษฐาว่า
ตัวนางต้องเป็นมุนีออกนั่งที่แท่นสุวรรณ เสร็จธุระแล้วจะได้ไปเสียให้ลับ
ครั้นรุ่งขึ้นองค์เสาวคนธ์ก็ทรงพรตเป็นฤาษี ออกนั่งที่แท่นรัตน์ชัชวาล พร้อมเสนาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์แล้ว
พระอัคคีก็ดำรัสตามโบราณ มอบสมบัติให้โอรสองค์วาโหมครองเมืองวาหุโลม นางธิดาอายุสิบห้าปี
ให้เป็นที่อัคเรศเกศกำนัล นายด่านชานชลาเป็นอุปราช ราหูเป็นเจ้าเมืองตะวีน
ตรีเมฆเป็นมหาเสนาบดี พระกาลด่านให้เป็นผู้รั้งด่านชานกรุง นอกนั้นบรรดาที่ช่วยรบให้แทนที่ตรีเมฆ
ราหู เป็นผู้รั้ง บุตรชายนายด่านอายุได้สิบปี เป็นผู้รั้งเมืองด่านชานชลา
แล้วพระอัคคีก็สั่งวาโหม ให้อุปถัมภ์บำรุงชาวกรุง ให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม
ปรึกษาความตามบทในกฎหมาย |
อย่ากลับกลายว่ากล่าวให้ก้าวเฉียง |
ผู้ใดดีมีวิชาเอามาเลี้ยง |
จึงต้องเยี่ยงอย่างกษัตริย์ขัตติยา |
คิดกำจัดศัตรูโจรผู้ร้าย |
ให้หญิงชายชื่นจิตทุกทิศา |
มีโทษกรณ์ผ่อนผันกรุณา |
ให้เย็นใจไพร่ฟ้าประชาชน |
หนึ่งม้ารถคชสารทหารรบ |
ให้รู้จบเจนศึกเฝ้าฝึกฝน |
แม้มีผู้ยุยงอย่างหลงกล |
อย่าคบคนสอพลอทรลักษณ์ |
ใครข้องขัดทัดทานอย่าหาญฮึก |
ค่อยตรองตรึกชอบผิดคิดหน่วงหนัก |
แม้มีผู้รู้มาสาพิภักดิ์ |
ให้ยศศักดิ์สมควรอย่าชวนชัง |
แล้วบอกลาวาโหมกลับไปลงเรือเดินทางต่อไปในทะเล เพื่อโปรดสัตว์ต่อไป วาโหมได้ฟังก็อาลัยในพระอัคคี
จึงทูลตนคิดว่าพระอัคคีเป็นเหมือนพระบิดา เมื่อเดินทางไปเป็นที่สบายสิ้นกังวลแล้ว
ก็ขอนิมนต์กลับมายังธานี พระอัคคีรับคำแล้ว พอเวลาโพล้เพล้ก็ออกเดินทาง
พระอัคคีมิได้ลาสิกขาบท ส่วนพวกขอเฝ้าพากันสึก สุดสาครก็อดใจรออยู่จนสามเดือน
ในที่สุดก็เข้าไปไต่ถามองค์เสาวคนธ์
จะบวชไปให้เป็นขรัวใช่ตัวเปล่า |
เป็นเมียเขาเจ้าของยังครองหวง |
เหมือนเป็นหนี้มิใช่น้อยเขาคอยทวง |
จะลุล่วงไปได้หรือเขาดื้อดึง |
ฯลฯ
สุดสาครเข้าเล้าโลมจนองค์เสาวคนธ์ต้องลาพรต สุดสาครถามนางว่า ที่หนีมานั้นหมายจะไม่กลับเมือง
สิ้นอาลัยในชนกชนนีแล้วหรือ ตนจะได้ลานางไป นางก็ตอบว่าเป็นเพราะเคราะห์กรรมที่ทำไว้
จะกลับไปเฝ้าก็แสนอาย อยู่ไปก็แสนอายจึงขอลาก้มหน้าตาย สุดสาครก็ปลอบประโลมนางบอกว่า
ตนแกล้งว่าเล่นเพื่อหยอกนาง แล้วบอกว่าเดิมทีมิได้ตรึก ให้ลึกซึ้งจะกลับไปพระบิดาพระมารดา
คงยังขัดเคืองอยู่
ถ้าหากว่าฝ่าละอองสองกษัตริย์ |
เกิดวิบัติแปรปรวนประชวรไข้ |
หรือธานีมีศึกนึกจะไป |
ทำชอบให้หายผิดที่ติดพัน
ฯ |
สุดสาครจึงให้แต่งเรือน้อยคอยเหตุไปคอยเฝ้าคอยเหตุ ถ้ามีอันตรายมาถึงเมืองก็จะไปช่วย
เพื่อทดแทนความผิดที่คิดหนีมา
ตอนที่
๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
กล่าวถึงเรื่องเมืองลังกา ตั้งแต่ผัวกลับกองทัพไปต่างครองครรภ์รัดทนสลดจิต
จนครรภ์ได้สิบเดือน องค์ละเวงวัณฬาคลอดหน่อนาถเป็นชายเหมือนพระบิดา พระมารดาให้ชื่อว่า
พระมังคลา
นางรำภาสะหรี่มีโอรส เหมือนพระศรีสุวรรณชื่อ วลายุดา
นางยุพามีบุตรเหมือนสินสมุทชื่อ วายุพัฒน์
นางสุลาลีมีบุตรเหมือนสุดสาครชื่อ หัสกัน
พระมังคลากับวลายุดา อยู่กับบาทหลวง วายุพัฒน์กับหัสกันอยู่กับพระปีโป
ตั้งพากเพียรเรียนหนังสือถือฝรั่ง |
อาจารย์สั่งสอนสิกขาเยวาโห |
ดูตำราฟ้าดินค่อยภิญโญ |
ไม่มีโรคาพานสำราญใจ
ฯ |
กล่าวถึงเจ้าเมืองการะเวก ครั้นผู้เกี่ยวดองยกทัพกลับไปแล้ว พระหัสไชยก็สร้อยเศร้าเปล่าใจ
คิดคะนึงถึงลูกสาวเจ้าเมืองผลึก สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา
แต่ดิ้นโดยโหยหวนคร่ำครวญคิด |
มิรู้ลืมปลื้มจิตกนิษฐา |
จำจะคิดบิดผันจำนรรจา |
ลาบิดาชนนีตามพี่นาง |
ฯลฯ
แล้วจะได้ไปเมืองผลึกได้พบกับสองน้องนาง พอรุ่งสว่างโสรจสรงทรงเครื่องแล้ว
ก็ไปเฝ้าพระชนนี กรุงกษัตริย์ตรัสถามพระโอรสว่า มีทุกข์ร้อนเรื่องใด พระโอรสทูลว่า
พระพี่นางออกเดินทางไปโดยไม่ทราบเหตุ พระเชษฐาตามไปก็หายสูญไปด้วย จึงขอทูลลาเที่ยวตามหาทั้งสององค์
พระฟังคำห้ามบุตรสุดสวาท |
เขาตัดขาดเชื้อสายจึงหน่ายหนี |
อย่าตามไปให้ลำบากยากโยธี |
อยู่บุรีเช้าค่ำให้สำราญ
ฯ |
พระหัสไชยได้ฟังก็ทูลตอบว่า ตนมีความอาลัยพระพี่นางยิ่งนัก ด้วยเห็นพบเห็นพระพักตร์กันสองพี่น้อง
ทั้งพระพี่นางก็เป็นหญิง ไม่รู้ว่าจะผินหน้าไปหาใคร พระปิตุรงค์ได้ฟังก็สงสาร
รำคาญใจจึงตรัสว่า
จึงว่าพ่อไม่ห้ามตามแต่จิต |
เมื่อขืนคิดรักใคร่ก็ไปหา |
ตามลำพังพี่น้องกันสองรา |
แต่อย่าว่าข้าใช้ให้ไปตาม
ฯ |
พระหัสไชยได้ฟังก็ทูลลาพระบิดามาเตรียมตัวออกเดินทาง โดยทางเรือใช้เรือกำปั่นมีคนประจำหนึ่งพันคน
พอรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางตั้งเข็มจะไปเข้าอ่าวเมืองผลึก ระหว่างทางได้ชมฝูงปลา
และบรรดาสัตว์น้ำต่าง ๆ ในทะเลไปตามลำดับ และรำพึงถึงพระพี่นางกับลูกสาวเจ้าเมืองผลึก
ทั้งกุ้งกั้งมังกรสลอนสล้าง |
บ้างดำบ้างผุดฟูเป็นคู่สอง |
พวกเหราม้าน้ำคล่ำคะนอง |
บ้างพ่นฟองฟุ้งฟ้าฝูงปลาวาฬ |
ฯลฯ
เงือกมนุษย์ผุดกลุ้มทั้งหนุ่มสาว |
ล้วนผมยาวประบ่ามีตาหู |
บ้างเหมือนแพะแกะกายกลายเป็นงู |
ขึ้นฟ่องฟูคลื่นเสียงครื้นเครง |
ฯลฯ
คิดคะนึงถึงพี่เป็นที่รัก |
เคยพร้อมพักตร์ปรีดิ์เปรมเกษมสรวล |
เคยคิดบอกดอกสร้อยน้องคอยทวน |
เคยชี้ชวนชมฟ้าดาราราย |
ฯลฯ
แล้วรำพึงถูกลูกสาวเจ้าผลึก |
จะรำลึกถึงพี่มั่งหรือทั้งสอง |
ฝาแฝดคู่ดูดีทั้งพี่น้อง |
ประไพพริ้มยิ้มย่องละอองนวล |
ฯลฯ
ดูเรือช้ากว่าทุกครั้งสั่งคนใช้ |
ให้แทรกใบซ้ายขวาผูกผ้าขึง |
ทุกคืนค่ำร่ำใช้ใบตะบึง |
จนเข้าถึงอ่าวผลึกดึกสองยาม |
ให้เรือจอดทอดสมออยู่หน้าด่าน ทหารเห็นรู้จักด้วยมีความเกี่ยวดองของทั้งสองเมือง
จึงปล่อยให้เข้าไปวัง
กำปั่นจอดทอดท่าหน้าฉนวน |
ขุนนางชวนกันมารับคอยคับคั่ง |
พระทรงอาสน์ราชสุวรรณบัลลังก์ |
เข้าในวังคอยเฝ้าเจ้านคร
ฯ |
พระอภัยเรียกหัสไชยเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสถามถึงสองกษัตริย์และข่าวคราวของพระพี่นาง
หัสไชยทูลว่า สองกษัตริย์พร้อมทั้งเสนาใน และไพร่พลอยู่พร้อมดีบริบูรณ์ แต่พระพี่นางกับพระเชษฐาหายสูญไป
ไม่ทราบว่าดีร้ายประการใด พระอภัยได้ฟังจึงตรัสว่า พระองค์ก็ไม่ได้นอนใจ ให้เวียนไปสืบเรื่องยังทุกเมือง
แต่เรือใช้ใหญ่น้อยสักร้อยเศษ |
คอยฟังเหตุเช้าเย็นก็เห็นหาย |
หมอดูดีที่ไหนก็ให้ทาย |
ว่าไม่ตายแต่จะมายังช้านาน |
แล้วตรัสชวนให้พระหัสไชยคอยฟังข่าวอยู่ที่เมืองผลึก เมื่อใครไปพบก็จะพากันไปตามพระพี่นาง
ฝ่ายพระมเหสีได้พบพระหัสไชยก็ดีพระทัย ตรัสว่ารำลึกถึงอยู่เสมอ เพราะเคยเพื่อนชีวิตที่สนิทสนม
พระหัสไชยทูลตอบว่า น้ำใจของตนนั้นมีความผูกพันกับพระมเหสี เหมือนเป็นพระชนนีผู้ให้กำเนิด
ตนออกตามพระพี่นางมิได้แจ้งกิจจา จึงแวะมาอภิวาทบาทบงส์ พระมเหสีจึงเรียกพระบุตรีพี่น้องทั้งสององค์
ให้มาอัญชลีพระพี่ยาหัสไชย แล้วจัดให้หัสไชยพักอยู่ปราสาทเดียวกัน
พระหัสไชยสองพระบุตรีร่วมเสวย แต่ทั้งสองนางแกล้งหนีออกนอกฉากไปจากห้อง พระหัสไชยตรัสร้องเรียกก็ไม่กลับไปหา
พระหัสไชยไม่ยอมเสวยเลยหลับไป พระมเหสีเห็นเครื่องอานพานตั้งอยู่ค้างอยู่
จึงถามนางกำนัลในได้ความแล้ว จึงไปว่ากล่าวสองพระธิดา ทั้งสองนางไม่อาจขัดจึงหักความอาย
แล้วไปปลุกหัสไชยให้มาเสวยด้วยกัน พระหัสไชยต่อว่าสองนางที่ไม่ทำตัวเหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่ลังกา
สองนางก็กล่าวแก้ตัวด้วยประการต่าง ๆ ในที่สุดก็ทูลว่า
น้องก็รู้ในจิตว่าสิทธิ์ขาด |
เป็นข้าบาทบทเรศพระเชษฐา |
ฆ่าก็ตายขายก็ขาดตามอาชญา |
จงเมตตาอย่างให้น้องนี้ต้องตี
ฯ |
พระหัสไชยให้สองนางร่วมเสวยด้วย และไต่ถามนามกับข้าว สองนางก็ทูลชี้ถวายต่างต่างกัน
ไก่พะแนงแกงเผ็ดกับเป็ดหั่น |
ห่อหมกมันจันลอนสุกรหัน |
ทั้งแกงส้มต้มขิงทุกสิ่งอัน |
กุ้งทอดมันม้าอ้วนแกงบวนเนื้อ |
ฯลฯ
พระหัสไชยคิดรำพึงถึงสองพระธิดาตั้งแต่ครั้งเมื่อยังเยาว์ มาจนถึงปัจจุบัน
ดูทำนองสององค์พระนงนุช |
ยังซื่อสุจริตรักเราหนักหนา |
แต่คราวเคราะห์เพราะมาพ้องกันสองรา |
ต้องเกี้ยวฝาแฝดคู่อยู่จริงจริง |
ฯลฯ
ฝ่ายพระสินสมุทเป็นอุปราชเมืองผลึก ทราบว่าหัสไชยมาถึงเมืองก็ชวนอรุณรัศมีไปถามข่าวเสาวคนธ์
จึงพากันไปเฝ้าพระชนนี ได้พบสองพระธิดากับหัสไชย จึงตรัสถามหัสไชยถึงองค์เสาวคนธ์
พระหัสไชยก็ทูลความให้ทราบว่า
เที่ยวสืบถามตามรอบทุกขอบเขต |
ทั่วประเทศใหญ่น้อยร้อยภาษา |
ไม่ได้ข่าวหราวที่พระพี่ยา |
ทั้งเชษฐาสูญความไปตามกัน
ฯ |
พระสินสมุทได้ฟังจึงตรัสว่า ที่เป็นดังนั้นเพราะเทวีเสาวคนธ์มีเวทมนต์ขยัน
คนอื่นจึงตามไปไม่ทัน แต่สุดสาครตามไปคงจะพบ อีกไม่นานก็คงได้กลับคืนมา จึงขอให้หัสไชยอยู่ชมบ้านเมืองของตน
ให้ปรีดาก่อนแม้ว่าประสงค์จำนงใด ก็จะหามาให้สมมาดปรารถนา ฝ่ายอรุณรัศมีบอกว่า
ถ้ารู้ว่าองค์เสาวคนธ์คิดหนีตนจะขอไปด้วย เพื่อสร้างพรตบวชเรียนสวดมนต์ สินสมุทได้ฟังจึงว่า
สินสมุทว่านี่แน่แม่อรุณ |
อยากได้บุญง่ายดอกจะบอกให้ |
ถือศีลห้าอย่าหึงโกรธขึ้งใคร |
ก็จะได้โสดาไม่ช้าที |
ฯลฯ
กลับกล่าวถึงท้าวสุทัศน์เจ้าเมืองรัตนา พระชนม์ได้ร้อยยี่สิบปี
มีพระอาการลืมหลง เป็นลมปะทะพระหทัยแล้ว สวรรคตเมื่อเวลาไก่ขัน พระมเหสีเห็นพระสามีสวรรคตก็โศกกำสรดสิ้นกำลัง
ประกอบกับทรงชราภาพจึงสวรรคตไปอีกองค์ ฝ่ายเสนาบดีจึงแต่งสารทูลเรื่องราวไปยังพระโอรส
อำมาตย์ผู้ถือสารเดินทางโดยเรือสำเภาใช้เวลาสามเดือนครึ้งถึงเมืองรมจักร แล้วถวายใบบอกกษัตริย์ศรีสุวรรณ
ได้ทรงทราบแล้วก็พระทัยวับ เศร้าโศกยิ่งนักจึงซักถามว่า
อ้ายพวกแพทย์พิทยาโหราศาสตร์ |
มันไม่คาดชันษาอยู่หาไหน |
หนึ่งแสนสาวท้าวนางพวกข้างใน |
ทำไมไม่รู้ที่จะนิพพาน
ฯ |
ฝ่ายอำมาตย์ก็ทูลตอบให้ชอบใจด้วยประการต่าง ๆ
เมื่อวันพระจะนิพพานสำราญรื่น |
จนเที่ยงคืนฟังศัพท์เหมือนหลับไหล |
เงียบสงัดตัดบ่วงไม่ห่วงใย |
ทั้งเวียงชัยชมบุญมุลิกา
ฯ |
พระศรีสุวรรณจึงสั่งให้อำมาตย์ผู้ถือสารไปทูลมูลเหตุ เชิญพระเชษฐารีบเดินทางแล้วให้ทูลว่า
พระองค์พร้อมเหล่าพหลพลนิกาย จะถวายบังคมลาล่วงหน้าไปก่อน
ครั้นถึงเวลาเช้าพระศรีสุวรรณกับพระมเหสีเกษรา พร้อมเสนีสนมกรมในลงกำปั่นออกเดินทาง
เป็นเวลาสามเดือนก็ถึงเมืองรัตนา เข้าไปอภิวาทพระศพครวญคร่ำรำพันถึงพระชนกชนนี
ด้วยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก เมื่อบรรเทาโศกแล้ว จึงตรัสสั่งเสนาในให้ทำพระเมรุ
และเตรียมการต่าง ๆ ไว้คอยท่าพระเชษฐา
ฝ่ายทูตถือหนังสือถึงเมืองผลึก พวกเสนาพาเข้าเฝ้าพระอภัยแล้ว ให้อ่านสารมีความว่า
พระชนกชนนีนั้นเมื่อ
เดือนแปดปีวอกตะวันสายัณห์ค่ำ |
สิบเอ็ดค่ำพุธวันขึ้นบรรจถรณ์ |
ฤกษ์อรุณทูลกระหม่อมจอมนิกร |
สองภูธรท้าวสวรรค์ครรไล |
จึงจัดแจงแต่งพระศพครบเยี่ยงอย่าง |
ไว้บนปรางค์ปราสาททองอันผ่องใส |
ต้องขึ้นป้อมล้อมวงระวังภัย |
จงทราบใต้บาทบงส์พระทรงยศ
ฯ |
พระอภัยได้ฟังสารแล้ว ดังหนึ่งใจจะขาดมีความโศกกำสรดยิ่งนัก แล้วตรัสสั่งสินสมุทให้เตรียมพหลพลขันธ์ออกเดินทาง
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เกณฑ์กำปั่นไปยี่สิบลำ จากนั้นจึงเสด็จไปบอกพระมเหสีบอกให้อยู่ดูแลเมืองแทนพระองค์
พระมเหสีได้ฟังก็สังเวช และขอติดตามไปด้วยจะได้ช่วยการ
แม้ให้อยู่ดูเหมือนเฉยแกล้งเลยละ |
ข้างฝ่ายพระอนุชาจะว่าขาน |
ขอให้ได้ประณตบทมาลย์ |
ส่งสักการภูวเรศเหมือนเกศรา
ฯ |
ค
พระโลมเล้าโฉมเฉลาว่าเจ้าพี่ |
พระชนนีชรานักอยู่รักษา |
ทั้งลูกน้อยสร้อยสุวรรณ
จันทรสุดา |
เหมือนมณฑามาลีซึ่งมีรส |
ภูมรินปิ่นเคล้าแม่เจ้าของ |
ไม่ปกป้องดอกดวงจะล่วงหมด |
อันน้ำตาลหวานวางไว้ข้างมด |
มดจะอดได้หรือน้องตรึกตรองดู |
แต่เท้ามีสี่เท้ายังก้าวพลาด |
จะเสียชาติเสียยศได้อดสู |
คำโบราณท่านว่าไว้เป็นครู |
เจ้าจงอยู่สอนสั่งระวังระไว |
พระมเหสีทูลว่า หน่อกษัตริย์หัสไชยนั้นเมื่อครั้งรบลังกา มีความจงรักภักดีเป็นที่สุด
เหมือนเป็นบุตรสุดสวาท หาไม่แล้วสองธิดาคงจะไม่รอดกลับมา อนึ่งเจ้าเมืองการะเวกก็หวังอภิเษกหน่อไทสุดสาครเป็นเขย
จึงไม่ได้ห้ามให้เป็นไปตามบุญ ด้วยคุ้นเคยกัน และเห็นว่าสองลูกน้อยสร้อยสุวรรณ
จันทรสุดานั้นไม่ผ่าเหล่า และว่า
จะดูวัวชั่วดีก็ที่หาง |
จะดูนางดูแม่เหมือนแลเห็น |
แม้ลูกยางห่างต้นหล่นกระเด็น |
ก็จะเป็นตามเหล่าตามเผ่าพันธุ์
ฯ |
พระอภัยได้ฟังจึงตรัสว่า พระองค์ก็รักหัสไชยมากจะหวงลูกไว้ทำไม แต่จะใคร่ให้งามตามกษัตริย์มอบสมบัติ
และจัดการอภิเษกให้ ขณะนี้หัสไชยก็ได้มาอยู่ในเมืองผลึกด้วย แล้วถ้าพาพระธิดาไปก็จะเหมือนว่า
แกล้งพรากจากกันก็จะเกิด ความรัดทดเศร้าหมอง จะให้ลูกอยู่ก็เหมือนเป็นใจ จะแกล้งให้ลูกยาเป็นราคี
แล้วสรุปว่า
เจ้าอยู่ด้วยช่วยบำรุงกรุงผลึก |
ทั้งข้าศึกเกรงสง่ามารศรี |
จัดแต่เหล่าสาวสรรค์พวกขันที |
ไปกับพี่แต่พอให้ช่วงใช้การ
ฯ |
ฝ่ายสินสมุทจัดแต่งกำปั่นยี่สิบลำ ปืนประจำลำละร้อยกระบอก เมื่อทั้งหมดพร้อมแล้ว
พอลมส่งก็ออกทะเลลึก ตั้งเข็มข้างทิศเหนือ ใช้เวลาเจ็ดเดือนก็ถึงเมืองรัตนา
แล้วเข้าไปอัญชลีพระศพพระชนกชนนี
ค
หน่อนรินทรสินสมุททั้งนุชน้อง |
ก้มกราบสองพระศพซบเกศา |
ทั้งสี่องค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา |
ชลนานองตกซกกระเซ็น
ฯ |
|