|
www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
สารานุกรมไทยฉบับย่อ
เล่ม
๑๕ ธรรมวัตร - นิลเอก
ลำดับที่ ๒๖๖๖ - ๒๙๑๗
หน้า ๙๑๗๗ - ๙๘๓๖
๒๖๖๖. ธรรมวัตร
มีบทนิยามว่า "ลักษณะเทศน์ทำนองธรรมดาอย่างหนึ่งที่แสดงอยู่ทั่วไป ไม่ใช่ทำนองแบบเทศน์มหาชาติ
การเทศน์ของพระมีทำนองเทศน์อยู่สองแบบด้วยกันคือ เทศน์ทำนองอย่างหนึ่ง และเทศน์ธรรมวัตรอีกอย่างหนึ่ง
อีกสำนวนหนึ่งเรียกกันว่า สำนวนกลอนเทศน์ เป็นคำร้อยกรองประเภทร่ายยาว
หน้า ๙๑๗๗
๒๖๖๗. ธรรมศักดิ์มนตรี - เจ้าพระยา
(ดูครูเทพ - ลำดับที่ ๙๐๓)
หน้า ๙๑๘๑
๒๖๖๘. ธรรมศาสตร์
๑. เป็นชื่อคัมภีร์ เรียกว่า
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายที่นักปราชญ์ พราหมณ์ผู้หนึ่งในชมพูทวีปเป็นผู้แต่งไว้หลายพันปีมาแล้ว
ผู้แต่งมีนามว่า "มนู" ในทางสากลเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายมนู
หรือธรรมศาสตร์ฮินดู
เนื้อหาของคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของท่านมนูนั้นกล่าวกันว่า เกี่ยวกับการสร้างโลก
และสภาพของวิญญาณเมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว และเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีและสังคมอินเดียสมัยนั้น
เช่นหน้าที่ของวรรณะหรือชนชั้นต่าง ๆ การศาสนาและอื่น ๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นกฎหมายที่ดีและมีอิทธิพลยิ่งในสมัยนั้น
และสมัยต่อมา
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับฮินดู คาดว่ามีขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๑๔๓ - ๓๔๓
ในประเทศไทยได้ใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สืบมาแต่โบราณ หลักกฎหมายนี้สันนิษฐานว่า
เข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนา สมัยเมื่อชาวอินเดียได้พากันอพยพเข้ามายังสุวรรณภูมิ
ระหว่างปี พ.ศ.๒๗๐ - ๓๐๐ ชาวอินเดียได้นำศิลปวิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนศาสนาพราหมณ์
และหลักพระธรรมศาสตร์เข้ามาด้วย ดังจะเห็นว่าศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ก็มีร่องรอยวัฒนธรรมฮินดูอยู่
ในสมัยอยุธยาไทยได้ใช้กฎหมายนี้อย่างบริบูรณ์ ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า
ต้นฉบับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สำหรับศาลหลวงก็สาบสูญไปหมด ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมกฎหมายขึ้นไว้เรียกว่า
กฎหมายตราสามดวง
พระธรรมศาสตร์เป็นลักษณะหนึ่งปรากฎอยู่ในกฎหมายดังกล่าว
๒. เป็นชื่อมหาวิทยาลัย
เดิมชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เรียกชื่อว่า ม.ธ.ก. ก่อตั้งโดย
พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.๒๔๗๖
๒๖๖๙. ธรรมาธิกรณาธิบดี - เจ้าพระยา
เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) หน้า
๙๑๙๔
๒๖๗๐. ธรรมาภิมณฑ์ - หลวง
นามเดิมถึก จิตรตถึก เป็นครูกวีและนักแต่งตำราการประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมากในรัชกาลที่ห้า
และรัชกาลที่หก ท่านเกิดในรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี
เดิมเป็นครู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ หลวงธรรมาภิมณฑ์
มีตำแหน่งในกรมราชบัญฑิต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ย้ายมาเป็นพนักงานฝ่ายหนังสือไทย
ในหอพระสมุดวชิรญาณ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๐ จึงลาออกจากราชการและถึงแก่กรรม เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๑
ท่านได้แต่งบทประพันธ์ร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น โคลงนิราศวัดรวก (พ.ศ.๒๔๒๘)
สิทธิศิลปคำฉันท์ (พ.ศ.๒๔๓๔) เพชรมงกุฎคำฉันท์ (พ.ศ.๒๔๔๕) กฎาหกคำฉันท์
(พ.ศ.๒๔๕๖) ประชุมลำนำเป็นตำราสำหรับแต่งกลอน - กานต์
หน้า ๙๑๙๗
๒๖๗๑. ธวัชบุรี
อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่งและป่าละเมาะ ทางตอนใต้
อ.ธวัชบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น ต.ธวัชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ คงเรียกชื่อว่า อ.ธวัชบุรี
ถึง พ.ศ.๒๔๕๗ ย้ายไปตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.มะอี แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า
อ.แซงบาดาล แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ธวัชบุรี ตามเดิมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
หน้า ๙๒๐๐
๒๖๗๒. ธัญชาติ
มีบทนิยามว่า "เป็นคำรวมเรียกข้าวต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก และข้าวสาลี ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา
พร้อมทั้งสูจิ ว่ามีเจ็ดอย่างคือ ๑.ข้าวไม่มีแกลบ ๒.ข้าวเปลือก
๓.หญ้ากับแก้ ๔.ข้าวละมาน ๕.ลูกเดือย ๖.ข้าวแดง ๗.
ข้าวฟ่าง"
คำ ธัญชาติ มักรู้จักกันในความหมายว่า ธัญพืชมากกว่า
หน้า ๙๒๐๐
๒๖๗๓. ธัญบุรี
อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ทั่วไป
หน้า ๙๒๐๓
๒๖๗๔. ธาตุ ๑ - ยา
เป็นยาผสมด้วยตัวยาหลายอย่างเข้าด้วยกัน ใช้บริโภคเพื่อบำรุงธาตุให้ดีขึ้น
เพื่อเจริญอาหาร จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน
หน้า ๙๒๐๔
๒๖๗๕. ธาตุ ๒
ในทางปรมัตถธรรม หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมเรียกว่า ธาตุสี่ประการ
หน้า ๙๒๐๕
๒๖๗๖. ธาตุ ๓
ในวิชาเคมี กำหนดว่า ธาตุ คือ สารเนื้อเดียวซึ่งประกอบด้วยอะตอม ที่เหมือนกันทุกประการ
บรรดาธาตุเท่าที่ค้นพบแล้ว มี ๑๐๕ ธาตุ ธาตุสุดท้ายที่ค้นพบคือ ธาตุฮาห์เนียม
ธาตุหนึ่ง ๆ เมื่อเกิดปฎิกิริยาทางเคมี เข้ารวมตัวกับธาตุอื่นแล้ว ผลที่ได้จะเป็นสารประกอบ
ธาตุที่ค้นพบแล้วทั้งสิ้นนั้น มีปรากฎอยู่ทั้งสามภาวะคือ ของแข็ง ของเหลว
และก๊าช
ในบรรดาธาตุทั้งหมดนั้น จัดแบ่งออกกเป็นสองพวกใหญ่ คือ พวกโลหะ และพวกอโลหะ
ธาตุออกซิเจน มีมากที่สุดในโลกคือ มีอยู่ถึงร้อยละ ๔๙.๘๕ และธาตุซิลิคอน มีมากเป็นที่สองคือ
ร้อยละ ๒๖.๐๓
หน้า ๙๒๑๑
๒๖๗๗. ธาตุพนม ๑ - พระ
ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
อันเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศลาว
องค์พระธาตุเป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยม วัดโดยรอบ ๔๙.๓๖ เมตร สูงจากพื้นดิน ๕๓
เมตร (พ.ศ.๒๔๘๒) มีฉัตรปักอยู่บนยอดอีก ๔ เมตร
สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนมสมัยโบราณเรียกว่า ภูกำพร้า
หรือดอยกำพร้า เป็นเขตแขวงของเมืองศรีนครโคตรบูร
เมืองนี้อยู่ใต้ปากเซบั้งไฟ ในประเทศลาว ห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงเข้าไปประมาณ
๕ - ๖ กม. ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า เมืองขามแท้
พระธาตุพนมเป็นพระเจดีย์เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าสร้างในปี พ.ศ.๑๐๐๗
ลักษณะลวดลายและรูปภาพอิฐจำหลัก เป็นศิลปทวารวดีตอนต้น
หน้า ๙๒๓๓
๒๖๗๘. ธาตุพนม ๒
อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ
ตอนใต้มีป่าบ้างเล็กน้อย
อ.ธาตุพนม ตั้งอยู่ใกล้วัดธาตุพนม จึงมีนามตามนั้น
หน้า ๙๒๔๑
๒๖๗๙. ธิเบต
(ดู ทิเบต - ลำดับที่ ๒๕๔๑)
หน้า ๙๒๔๒
๒๖๘๐. ธีบอ หรือสีปอ
เป็นชื่อเจ้าชายในราชวงศ์อลองพญา เป็นพระราชโอรส พระเจ้ามินดง และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ครองประเทศพม่า
เมื่อเสียเอกราชแก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑
หน้า ๙๒๔๒
๒๖๘๑. ธุดงค์
มีบทนิยามว่า "องคคุณเครื่องกำจัดกิเลส ชื่อ วัตรปฎิบัติของภิกษุ ๑๓ อย่าง
เช่น การถือบริโภคอาหารหนเดียว การอยู่ป่า การอยู่โคนไม้ "
การถือธุดงค์นี้ สำเร็จด้วยการสมาทานคือ อธิษฐานด้วยใจ หรือแม้ด้วยเปล่งวาจา
หน้า ๙๒๕๑
๒๖๘๒. ธุรกิจ
มีความหมายที่ใช้คลุมกระบวนการทั้งหมด ของการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเปลี่ยนสภาพ
โดยมนุษย์และเครื่องจักร เป็นสินค้าแล้วเก็บรักษาไว้ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อ
หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจ หมายถึง การปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการผลิต และการซื้อเพื่อไว้ขายโดยหวังผลกำไร
ฉะนั้น ธุรกิจจึงรวมทั้งการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
ธุรกิจมิได้ก่อให้เกิดเฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่ยังคลุมถึงการสนองความต้องการเกี่ยวกับการบริการอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของธุรกิจคือ การแสวงหากำไร โดยที่เห็นว่าผลกำไรนั้น คุ้มค่ากับความอุตสาหะ
และการลงทุน
หน้าที่ทางธุรกิจ อาจแยกเป็นหน้าที่สำคัญได้สี่อย่างคือ การผลิต การขาย หรือการตลาด
การเงิน และการเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลากร
ปัจจุบันปรัชญาทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อาจแบ่งระบบเศรษฐกิจได้เป็นสามประเภทใหญ่
ๆ ด้วยกันคือ ระบบเสรี ระบบวางแผน และระบบผสม
ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะมีโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย
ๆ โดยที่มีส่วนได้เปรียบทางเศรษฐกิจมากกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
หน้า ๙๒๕๓
๒๖๘๓. ธุวดารา
มีนิยามว่า ดาวเหนือ คำนี้มาจากภาษาบาลี
ชาวอินเดียคุ้นเคยกับดวงดาวในท้องฟ้ามาแล้วแต่โบราณ พราหมณ์ผู้ประกอบศาสนพิธีจะต้องศึกษาคัมภีร์ต่าง
ๆ หลายคัมภีร์ โดยเฉพาะต้องศึกษาคัมภีร์พระเวท ในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ มีเวทางคู้เป็นคัมภีร์ประกอบที่สำคัญ
แยกออกเป็นหกสาขา คัมภีร์สาขาสุดท้ายเป็นวิชาว่าด้วยดวงดาวในท้องฟ้า ทำให้อินเดียเป็นชาติที่มีความรู้เกี่ยวกับดวงดาวดีที่สุดชาติหนึ่งในสมัยโบราณ
การที่ดาวธุวดาราหรือดาวเหนือ เป็นดาวที่เห็นอยู่ประจำที่และมีดาวดวงอื่น
ๆ หมุนไปรอบ ๆ ย่อมทำให้ชาวอินเดียโบราณถือว่าดาวธุวดารานี้เป็นดาวพิเศษ บางคัมภีร์กล่าวว่าดาวธุวดารานี้เป็นแกนกลางของสากลจักรวาล
แกนนี้หมุนรอบตัวเองและพาดวงดาวต่าง ๆ หมุนไปตามแกนนั้นด้วย แดนของดาวธุวดาราเป็นแดนแห่งวิษณุบรมเทพ
อยู่เหนือโลกสาม เป็นดาวที่พยุงดาวพระเคราะห์ และกลุ่มดาวนักษัตรทั้งหลาย
หน้า ๙๒๖๐
๒๖๘๔. ธูป
มีบทนิยามว่า "ของหอมชนิดหนึ่ง ทำด้วยผงกระแจะพอกกับไม้ยาว เป็นเครื่องจุดบูชาคู่กับเทียน
ลักษณะนามเรียกว่า ดอก"
ธูปเป็นคำสันสกฤตและบาลีแปลว่า กลิ่นหอม เครื่องหอม ธูปที่เป็นก้านไม้เล็ก
ๆ อย่างที่เห็นอยู่เป็นของคิดขึ้น เป็นวิธีของชาวตะวันออกมีจีนเป็นต้น ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็กล่าวแต่เผาเทียน
ไม่กล่าวถึงธูปเลย
หน้า ๙๒๖๔
น.
๒๖๘๕. น.พยัญชนะตัวที่ยี่สิบห้าของพยัญชนะไทย
นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวสุดท้ายของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน และเป็นตัวสะกดพยางค์สุดท้ายในคำสันสกฤตที่ออกเสียง
อันและอิน ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกโฆษะคือมีเสียงก้อง และออกเสียงเช่นเดียวกับ
ณ หน้า
๙๒๖๖
๒๖๘๖. นก
เป็นสัตว์เลือดอุ่นพวกหนึ่ง ตามตัวปกคลุมด้วยขนแบน ๆ มีตีนหน้าที่วิวัฒนาการมาเป็นปีกสำหรับบิน
มีตีนหลังสำหรับเดินหรือเท้ากิ่งไม้ ปากแหลมมากน้อยผิดกัน นกในปัจจุบันไม่มีฟัน
สืบพันธุ์ด้วยการวางไข่
นกส่วนมากชอบบินย้ายถิ่นไปอยู่และหากินตามท้องถิ่นไกล ๆ ในฤดูต่าง ๆ กัน นกที่พบเห็นในประเทศไทยไม่น้อยกว่า
๒๐๐ ชนิด ที่ทำรัง วางไข่ในประเทศแถบหนาวเหนือ ในฤดูร้อนแล้วพากันบินย้ายถิ่นฐานเข้ามาหากินในประเทศไทยในฤดูหนาว
นกบางชนิดพากันบินย้ายถิ่นรวม ๆ กันไปเป็นหมู่ใหญ่ ๆ แต่บางชนิดชอบบินไปตัวเดียวโดด
ๆ นกส่วนมากเคยบินย้ายถิ่นมาที่บริเวณไหน ปีต่อมาก็จะบินมาหากินตรงที่เดิม
หรือที่ต้นไม้ต้นเดิม และเมื่อบินกลับไปทางประเทศหนาวเหนือ เพื่อวางไข่ก็จะไปถูกที่ที่ทำเลเดิม
และทำรังในที่เดิม
หน้า ๙๒๖๖
๒๖๘๗. นกแก้ว - ปลา
จัดอยู่ในวงศ์ปลานกแก้ว ตัวป้อมและแบนข้าง มีอยู่ด้วยกันราวสี่ชนิด และทุกชนิดพบในกรุงเทพ
ฯ ทั้งสิ้น
หน้า ๙๒๘๔
๒๖๘๘. นกกระจอก - ปลา
จัดอยู่ในวงศ์นกกระจอก มีรูปร่างค่อนข้างยาว ตัวแบนกลม ริมปากเท่ากัน มีครีบอกแผ่กว้างเป็นแผ่นใหญ่
ซึ่งใช้เป็นเครื่องร่อนได้ในระยะสั้นหรือยาว สุดแต่ชนิดของปลา เป็นปลาอยู่ในทะเลเขตร้อน
หน้า ๙๒๘๔
๒๖๘๙. นกกระจิบ โนรา - ปลา
เป็นปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อ มีรูปร่างสูงและแบนข้างมาก อยู่ในทะเลเขตร้อน
หน้า ๙๒๘๕
๒๖๙๐. นกนางแอ่น
เป็นชื่อโรคติดต่อร้ายแรงอย่างหนึ่ง อยู่ในจำพวกไข้กาฬ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ไข้กาฬนกนางแอ่น
เป็นโรคติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ติดต่อกันได้โดยทางเสมหะ
เพราะผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ในบริเวณจมูกและคอ ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคนี้แล้วจะมีอาการของโรคภายใน
๒ - ๑๐ วัน
ผลตามหลังจากการเป็นโรคนี้ในรายที่รอดตาย อาจเกิดโรคหรือภาวะพิการได้หลายประการ
เช่น หูหนวก จากการที่ประสาทหูเกิดอันตราย ตาบอด ศีรษะโต
หน้า ๙๒๘๖
๒๖๙๑. นกหก
เป็นนกแก้วพวกหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กและหางสั้น มีขนาดโตกว่านกกระจอกเล็กน้อย
ชอบเกาะกิ่งไม้ ห้อยหัวนอนอย่างค้างคาว
หน้า ๙๒๘๗
๒๖๙๒. นกุล
เป็นชื่อเจ้าชายองค์ที่สี่ในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ แห่งราชสกุลจันทรวงศ์
ในเรื่องมหากาพย์ มหาภารตะ
นกุล เป็นเจ้าชายที่มีรูปโฉมงดงามอย่างยิ่งและชื่นชมในความงามของตนว่าล้ำเลิศยิ่งกว่าใครหมด
ความงามของนกุลเป็นที่จับจิตจับใจผู้หญิงทั้งหลาย ทำให้เกิดวุ่นวายบ่อย ๆ
ในบรรดาเจ้าชายปาณฑพพี่น้องทั้งห้า นกุลได้ชื่อว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมทางดาบ
และมีความสามารถยอดเยี่ยมในวิชาอัศวศาสตร์หาผู้เสมอมิได้
หน้า ๙๒๘๘
๒๖๙๓. นครกัณฑ์
เป็นชื่อกัณฑ์ที่ ๑๓ ซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้ายในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อจบกัณฑ์นี้เป็นอันจบนิบาตชาดก
ซึ่งมีจำนวน ๕๕๐ เรื่อง แต่คงปรากฎมีเพียง ๕๔๖ เรื่อง ขาดไปสี่เรื่อง เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสุดท้าย
จึงนับเป็นเรื่องที่ ๕๔๖
หน้า ๙๒๙๐
๒๖๙๔. นครชัยศรี
อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ยาวไปตามลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ทั้งสองฝั่งเป็นทุ่งนาตลอด
ตามริมฝั่งมีไร่และสวนบ้าง
อ.นครชัยศรี เป็นเมืองเก่า ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ยังมีซากเมืองปรากฎอยู่
นครชัยศรีคงเป็นเมืองตลอดมาจนในรัชกาลที่ห้า จึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่พระปฐมเจดีย์เรียกว่านครปฐม
ลดเมืองนครชัยศรีลงเป็น อ.นครชัยศรี
หน้า ๙๒๙๑
๒๖๙๕. นครไชยศรีสุรเดช - กรมหลวง
พระนามเดิมเจ้าชายจิรประวัติวรเดช เป็นพระราชโอรสองค์ที่เจ็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ ประสูตด้วยเจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นใหญ่
ซึ่งขณะทรงพระเยาว์มีอยู่ด้วยกันสี่พระองค์ ครั้นพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์
ทรงพระเจริญทั้งพระชันษา และวิทยาการแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาเพิ่มเติม
ณ ประเทศอังกฤษ อันเป็นกิจที่เริ่มปฎิบัติขึ้นเป็นครั้งแรก
เฉพาะกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเดนมาร์ก จนสำเร็จวิชานายทหารปืนใหญ่
แล้วได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าฝึกราชการในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งปลัดทัพบก
เป็นเสนาธิการ และบังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ด้วย ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่น
ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ แล้วเลื่อนยศทหารเป็น นายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น
นายพลโท และนายพลเอก เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทรงจัดปรับปรุงกิจการฝ่ายทหารหลายประการ
เช่น การออก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร วิธีฝึกหัดทหารแบบยุโรป และได้ทรงเลื่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
และยุบตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงรับสถาปนาเป็น
กรมหลวง ต่อมาได้เลื่อนพระยศขึ้น จอมพล สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖
หน้า ๙๒๙๒
๒๖๙๖. นครไทย
อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศโดยมากเป็นป่าเขา มีลำห้วย ลำธาร อยู่ทั่ว
ๆ ไป มีที่ราบบ้างแต่ในส่วนกลาง
หน้า ๙๒๙๘
๒๖๙๗. นครธม
เมืองพระนครธม หรือเมืองพระนครหลวง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้าย
แห่งอาณาจักรขอม (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ทรงสร้างขึ้นซ้ำที่กับเมืองพระนคร ซึ่งพระเจ้ายโศวรมันที่
๑ ทรงสร้างเมื่อราว พ.ศ.๑๔๕๐ แต่มีขนาดเล็กกว่า
เมืองนครธม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีกำแพงล้อมรอบ กว้าง ยาว ด้านละ
๓ กม. กำแพงนี้ก่อด้วยศิลาแลงสูงเกือบ ๘ เมตร มีเชิงเทินอยู่ภายใน และมีคูกว้างประมาณ
๑๐๐ เมตร ล้อมรอบภายนอก มีอาคารเล็ก ๆ เรียกว่า ปราสาทจรุง อยู่ที่มุมกำแพงทั้งสี่มุม
มีปราสาทบายน เป็นจุดศูนย์กลาง
เมืองนครธม ได้เป็นราชธานีของขอมอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๗๔ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาที่สอง
(เจ้าสามพระยา) ทรงตีเมืองนครธมได้ในปีนั้นแล้ว พวกขอม หรือเขมรจึงย้ายราชธานีไปอยู่ที่อื่น
หน้า ๙๒๒๙
๒๖๙๘. นครนายก
เป็นจังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา ทิศตะวันออก
จด จ.ปราจีนบุรี ทิศใต้จด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตก จด จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศตอนเหนือ
เป็นเนินสูง แล้วลาดต่ำลงไปทางใต้ แถบนี้เป็นป่าไม้ และภูเขา ตอนกลางและตอนใต้
เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ตลอด
จ.นครนายก เดิมเรียกว่า บ้านนา
มีเมืองโบราณสมัยขอมเมืองหนึ่ง มีเทวสถานฝีมือขอมปรากฎอยู่ ตัวเมืองตั้งอยู่ใน
ต.ดงละคร ชาวบ้านเรียกกันว่า เมืองลับแล
ยังมีแนวเป็นเนินดิน และคูปรากฎอยู่ ภายหลังย้ายมาตั้งใหม่ ที่ฝั่งขวาแม่น้ำนครนายก
สันนิษฐานว่า คงจะย้ายมาในสมัยอยุธยาตอนต้น เพื่อตั้งเป็นเมืองหน้าด่าน ทางทิศตะวันออก
เดิมมีกำแพงป้อมคูแข็งแรง และมารื้อเสียในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คราวเดียวกับเมื่อรื้อกำแพงเมืองสุพรรณ
และเมืองลพบุรี
หน้า ๙๓๐๐
๒๖๙๙. นครปฐม
จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันออก จด พระนครศรีอยุธยา
จ.นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้ จด จ.สมุทรสาคร ทิศตะวันตก จด จ.ราชบุรี ภูมิประเทศยาวไปตามลุ่มน้ำนครชัยศรี
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ดอนมีป่าไม้เบญจพรรณ และป่าโปร่ง
นครปฐม เป็นเมืองเก่า เมืองหนึ่งในประเทศไทย มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัย
เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงสุพรรณภูมิ แต่จากการขุดค้นโบราณวัตถุ ปรากฎว่ามีศิลปวัตถุสมัยคุปตะ
(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒) ทั้งบนศิลาจารึกต่าง ๆ ที่ขุดได้ทางแถบนี้ มักเป็นอักษรคฤนต์
ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ก่อนนี้อาจตกอยู่ในอาณาจักรโคตรบูร ซึ่งจีนเรียกว่า
ฟูนัน ก็เป็นได้) ครั้นถึงราว พ.ศ.๑๕๔๔ กษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย มีอำนาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นเอกราช แล้วแผ่อาณาเขตมาครองทวารวดี
และประเทศเขมร นครปฐมจึงตกอยู่ในอำนาจนครศรีธรรมราช แล้วเลยตกเป็นของเขมร
ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ครั้นต่อมาราว พ.ศ.๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุธมหาราช
(อโนรธามังช่อ) มาตีละโว้ของเขมรได้ จึงน่าจะยกมาตีเอาบริเวณเมืองนครปฐมไปด้วย
ต่อมาปรากฎว่า อาณาจักรที่มีเมืองนครปฐมนี้ ได้ตกเป็นของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
ผู้สืบเชื้อพระวงศ์จากพระเจ้าพรหม และเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ ฉะนั้น เมืองนครปฐม จึงถูกทิ้งร้างในคราวเมื่อพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่
๑ ต้องย้ายไปตั้งราชธานีที่เวียงเหล็ก
ต่อมา ไม่ค่อยปรากฎเรื่องราวเมืองนครปฐม นอกจากว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
โปรดให้แบ่งท้องที่เมืองราชบุรี กับเมืองสุพรรณบุรีมารวมตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีขึ้น
ที่คลองบางแก้ว ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จมาทางนครชัยศรี
ทรงเห็นพระสถูปเจดีย์ ซึ่งขอมสร้างสวมพระสถูปเดิม ซึ่งมีรูปเป็นสถูปอย่างอินเดีย
ทรงสันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานครั้งสมัยเมื่อพระพุทธศาสนา เข้ามาประดิษฐานในแถบนี้
จึงทรงตั้งนามว่า เมืองนครปฐม ครั้นเสด็จขึ้นเสวยราชย์ จึงโปรด ฯ ให้ตั้งต้นปฎิสังขรณ์
แต่มาทำเสร็จในรัชกาลที่ห้า
หน้า ๙๓๐๑
๒๗๐๐. นครพนม
จังหวัดภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.หนองคาย ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง ทิศใต้
จด จ.ยโสธร ทิศตะวันตก จด จ.สกลนคร ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน ตอนใต้มีเทือกเขา
นอกนั้นเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นป่าและห้วยหนองบ้าง
จ.นครพนม อยู่ชายแดนตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของประเทศลาว เป็นเมืองด่าน และชุมทางสำคัญทั้งทางบก
และทางน้ำ เป็นท่าเรือติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ตามฝั่งแม่น้ำโขง มีสิ่งสำคัญคือ
พระธาตุพนม
อยู่ที่ อ.ธาตุพนม
๒๗๐๑. นครราชสีมา
จังหวัดภาคอีสานเรียกกันเป็นสามัญว่าโคราช
ตั้งอยู่ตอนต้นของแม่น้ำมูล มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น
ทิศตะวันออกจด จ.บุรีรัมย์ ทิศใต้จด จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก ทิศตะวันตกจด
จ.สระบุรี และจ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าดงและเขามาก
จ.นครราชสีมา สร้างในสมัยอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ช่างฝรั่งเศสเป็นผู้ให้แบบอย่าง
เป็นเมืองมีป้อมปราการ มีคูเมืองล้อมรอบ กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๗๐๐ เมตร
มีสี่ประตู ประตูด้านเหนือเรียกประตูพลเเสน ด้านตะวันออกเรียกประตูพลล้าน
ด้านใต้เรียกประตูชัยณรงค์ ด้านตะวันตกเรียกประตูชุมพล ข้างนอกเมืองทางทิศตะวันออกมีบึงใหญ่
สำหรับขังน้ำไว้เลี้ยงสัตว์เรียก หัวทะเล
จ.นครราชสีมา เดิมเป็นหัวเมืองชั้นโท ภายหลังยกเป็นหัวเมืองเอก เมื่อราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ เพราะเป็นหัวเมืองสำคัญในการปกครอง พระราชอาณาจักรทางด้านตะวันออก ด้วยเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ต้นทาง
ที่จะไปมาระหว่างหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองทั้งหลายในลุ่มแม่น้ำโขง
ชื่อเมืองนครราชสีมานั้นรวมมาจากชื่อเมืองเก่าสมัยขอมสองเมืองคือ เมืองโคราช
ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเหนือลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง) และเมืองเสมา
ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง)
หน้า ๙๓๐๕
๒๗๐๒. นครวัด - ปราสาท
เป็นปราสาทก่อศิลาทราย เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้ทรงสร้างขึ้นระหว่างปี
พ.ศ.๑๖๕๐ - ๑๗๐๐ อุทิศถวายแด่พระนารายณ์ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ผิดกับปราสาทขอมอื่น ๆ ที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
บริเวณปราสาททั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑,๐๒๕
๘๐๐ เมตร และมีคูกว้าง ๑๙๐ เมตร ล้อมรอบอยู่ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง นับเป็นศาสนสถานขอมที่มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุด
ปราสาทนครวัด ตั้งอยู่ภายในเมืองพระนคร
หรือยโสธรปุระ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสร้างทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นปราสาทที่สง่างามที่สุดในศิลปะขอม และอาจสร้างเพื่อหมายถึง เขาพระสุเมรุ
ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตัวปราสาทมีฐานสามชั้นมีระเบียงวางล้อมรอบทุกชั้น
มีปราสาทอยู่ที่มุมทุกมุม และมีซุ้มประตูซุ้มทำเป็นทางเข้าทุกทิศ มีบรรณาลัย
หรือหอสมุดสี่หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกบนฐานเป็นชั้น ชั้นที่หนึ่งสองหลัง
และชั้นที่สองสองหลัง บนชั้นยอดสุดมีปราสาทห้าหลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสี่หลังอยู่ที่สี่มุม
หลังคาปราสาทเป็นรูปพุ่ม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลไปจากปราสาทหินพิมาย นอกจากนี้ยังมีระเบียงตัดกันเป็นรูปกากบาทสองแห่ง
แห่งหนึ่งเชื่อมปราสาท ข้างบนห้าหลังเข้าด้วยกัน และอีกแห่งหนึ่งเชื่อมระเบียงชั้นที่หนึ่ง
เข้ากับระเบียงชั้นที่สอง
ทางเดินปราสาทนครวัด ปูด้วยแผ่นศิลาทรายยาว ๓๕๐ เมตร กว้าง ๙.๔๐ เมตร มีรูปนาคสลักเป็นราวลูกกรงอยู่ทั้งสองข้างทางเดินนี้
มีหอประชุมที่เรียกกันว่า บรรณาลัย ตั้งอยู่สองข้าง หลังจากนั้นจึงมีสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
อยู่สองข้างของทางเดิน ด้านหน้าประตูทางเข้าที่สำคัญคือ ทิศตะวันตกมียกพื้นสูงสองชั้น
รูปกากบาท ซึ่งอาจใช้เป็นเวทีสำหรับการฟ้อนรำ หรือเป็นที่ประทับของพระราชา
เวลามีงานพิธีก็ได้
ระเบียงชั้นที่หนึ่ง ซึ่งมีภาพสลักอยู่บนผนังด้านในโดยรอบ มีขนาด ๑๘๗ x ๒๑๕
เมตร แต่ระเบียงชั้นที่สองมีขนาดเพียง ๑๐๐ x ๑๑๕ เมตร หลังคาระเบียงเหล่านี้มีเพดานไม้สลักเป็นรูปดอกบัวปิดอยู่
ในระเบียงชั้นที่สองนี้มี "พระพันองค์" คือ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลังปราสาทนครวัด
เก็บรวบรวมไว้ บนผนังระเบียงชั้นที่สองมีรูปเทพธิดา ในศิลปะแบบนครวัด ระเบียงชั้นบนสุดมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง ต้องดูโดยการเวียนซ้ายที่น่าสนใจคือ ปีกใต้ด้านตะวันตก
ยาว ๙๐ เมตร เป็นภาพการยกทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ซึ่งมีกองทัพไทย (สยามก๊ก)
อยู่ทางด้านขวาสุด (ทิศตะวันออก) ภาพสลักด้านนี้สลักเป็นแนวซ้อนกันอย่างมีระเบียบ
สรุปแล้ว ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง อาจแบ่งออกได้เป็นสามสมัยคือ สามภาพที่สลักปะปนกันอย่างยุ่งเหยิง
ไม่เป็นระเบียบจัดเป็นสมัยแรก สามภาพสลักอย่างมีระเบียบเป็นแนวขนานซ้อนกัน
จัดเป็นสมัยที่สอง สองสมัยนี้สลักขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง อีกสร้างภาพสลักขึ้นที่หลังในราวปลายพุทธศตวรรษที่
๒๑ หน้า
๙๓๐๗
๒๗๐๓. นครศรีธรรมราช
จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุราษฎร์ธานี และตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออก
ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้ จด จ.พัทลุง จ.ตรัง และ จ.สงขลา ทิศตะวันตก จด จ.กระบี่
และ จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศตอนตะวันตกประกอบด้วย ภูเขาและเนิน มีที่ราบระหว่างภูเขา
ตอนกลางส่วนมากเป็นที่ราบ ตอนตะวันออกเป็นพื้นที่ระหว่างที่ราบตอนกลางกับทะเล
ตอนที่เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนริมทะเลเหมาะแก่การทำสวนมะพร้าว
นครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในแหลมมลายู มีชื่อเรียกตามศิลาจารึกว่า
ตามพรลิงค์
และมีชื่อเรียกตามตำนานต่าง ๆ เช่น นครดอนพระ ศรีธรรมนคร ศิริธรรมราช เป็นต้น
ตัวเมืองเดิมเล่ากันว่า ตั้งอยู่ที่เขาวัง ต.ลานสะกา อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช
ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่หาดทรายแก้ว
ในสมัยก่อนสุโขทัย เมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั้งหลายคือ
บางครั้งก็มีอำนาจมาก มีหัวเมืองใหญ่น้อยฝ่ายใต้ตลอดแหลมมลายู อยู่ในปกครองเป็นจำนวนมาก
มีกษัตริย์ปกครองโดยอำนาจสิทธิขาด บางครั้งก็เสื่อมอำนาจ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น
เช่น ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น
ในตอนที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจมากนั้นได้แบ่งการปกครองเมืองขึ้นเป็นทำนองสิบสองนักษัตร
ตามปูมโหร ให้ใช้ตรารูปสัตว์ประจำปี เป็นตราของเมืองนั้น ๆ คือ
๑. เมืองสาย (บุรี) ถือตราหนู (ชวด)
๒. เมืองปัต (ตานี) ถือตราวัว (ฉลู)
๓. เมืองกลันตัน ถือตราเสือ (ขาล)
๔. เมืองปะหัง ถือตรากระต่าย (เถาะ)
๕. เมืองไทร (บุรี) ถือตรางูใหญ่ (มะโรง)
๖. เมืองพัทลุง ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง)
๗. เมืองตรัง ถือตราม้า (มะเมีย)
๘. เมืองชุมพร ถือตราแพะ (มะแม)
๙. เมืองบันไทยสมอ ถือตราลิง (วอก)
๑๐. เมืองสอุเลา ถือตราไก่ (ระกา)
๑๑. เมืองตะกั่ว ถลาง ถือตราหมา (จอ)
๑๒. เมืองกระ (บุรี) ถือตราหมู (กุน)
ในสมัยสุโขทัย ปรากฎตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราช
ขึ้นกรุงสุโขทัย ถึงสมัยอยุธยาปรากฎว่า ในกฎมณฑียรบาลว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองชั้นพระยามหานคร
โดยแยกเอาเมืองอยองตะหนะ เมืองมะละกา เมืองมลายู เมืองวรวารี ออกจากแคว้นยกขึ้นเป็นเมืองกษัตริย์
ถวายต้นไม้เงินทอง เมืองนคร ฯ จึงเป็นเพียงเมืองหน้าด่านคุ้มครองดินแดนส่วนต่าง
ๆ ทางใต้
ต่อมาปรากฎในศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งตราในปี พ.ศ.๑๙๑๙ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอก
เทียบเท่าเมืองพิษณุโลก
ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร พระองค์ได้เสด็จไปปราบแคว้นลานนาไทย แล้วโปรดให้อพยพครอบครัวลานนาไทย
ลงไปไว้เมืองนคร ฯ และหัวเมืองทางปักษ์ใต้สองครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๑๗๓ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเสวยราชย์
แล้วใช้อุบายให้พระยาเสนาภิมุข (ยามาดา นากามาซา) ให้เป็นเจ้าพระยานคร
ฯ คุมพวกอาสาญี่ปุ่นทั้งกรมลงไปครองเมืองนคร ฯ ต่อมาเจ้าพระยากลาโหม
ฯ ได้ปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมืองปัตตานีไม่ยอมอ่อนน้อม
ทัพกรุงยกมาชุมนุมที่เมืองนคร ฯ ปราบเมืองปัตตานีสำเร็จ จึงโปรดให้เมืองนคร
ฯ และเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง ขึ้นสมุหพระกลาโหม ในปี พ.ศ.๒๑๗๘
ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมืองนครราชสีมา และเมืองนคร ฯ เป็นขบถ ทัพกรุงต้องยกไปปราบ
พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้หนีไปพึ่งพระยารามเดโช เจ้าเมืองนคร ฯ สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรด
ฯ ให้พระยาสุรสงคราม คุมทัพยกไปตีทัพบกพระยายมราช (สังข์) แตก และให้พระยาราชวังสัน
คุมทัพเรือไปตีทัพเรือฝ่ายนคร ฯ แตก แล้วทัพทั้งสองก็เข้าล้อมเมืองไว้ พระยารามเดโชเห็นว่า
จะสู้ไม่ได้จึงมีหนังสือไปถึงพระยาราชวังสัน ขอให้ช่วยให้หนีได้ เพราะเคยเป็นสหาย
และเป็นเชื้อแขกด้วยกัน
พระยาราชวังสันจึงจัดเรือให้พระยารามเดโชหนีไปได้ พระยาราชวังสันจึงต้องโทษประหารชีวิต
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้งนั้น พระปลัดผู้รักษาเมืองนคร
ฯ ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้านคร ครองเมืองนคร ฯ
อยู่ได้สามปี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จยกทัพไปตีได้เมืองนคร ฯ แล้วนำตัวเจ้านคร
เข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี และโปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์ ไปอยู่ได้ไม่ช้าก็ถึงแก่พิราลัย
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงโปรดให้เจ้านครกลับไปครองเมืองนคร ฯ อีก เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๑๙ ได้รับสุพรรณบัฎ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ลดบรรดาศักดิ์เจ้านคร
ลงเป็นเจ้าพระยานคร และให้ลดตำแหน่งเสนาบดีเมืองนคร ฯ ลงเป็นกรมการ
เหมือนหัวเมืองขึ้น
ถึงแม้เมืองนคร ฯ จะได้ลดฐานะลงเป็นชั้นเมืองพระยามหานคร แล้ว แต่ก็ยังได้รับการยกย่อง
ทำนองประเทศราช โดยโปรดให้ส่งต้นไม้เงินทองมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓
จึงได้เลิก
เมืองนคร ฯ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหัวเมืองขึ้นตั้งแต่เมืองชุมพร
ไปจนถึงเมืองสะลังงอ เขตแคว้นมลายู ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๕ แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองนคร
ฯ ให้ปกครองเมืองปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ส่วนเมืองนคร ฯ ให้ปกครองเมืองไทรบุรี
และหัวเมืองตกมหาสมุทรอินเดีย ทั้งหมด
เมืองนคร ฯ ตั้งอยู่ในย่านกลางที่ชาวต่างประเทศอาศัยผ่านไปมา จึงเป็นเมืองที่มีความเจริญมาแต่โบราณ
มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก
หน้า ๙๓๑๐
๒๗๐๔. นครสวรรค์
จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร ทิศตะวันออก
จด จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลพบุรี ทิศใต้ จด จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท ทิศตะวันตก
จด จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ภูมิประเทศตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำปิง น้ำยม
น้ำน่าน เป็นที่ลุ่ม นอกนั้นเป็นป่าดง มีเขามาก
จ.นครสวรรค์ เป็นเมืองโบราณ ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า เมืองพระบาง
ตั้งอยู่ในที่ดอน มีเขตตั้งแต่ชายเขาขาด ลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวกำแพงปรากฎอยู่
ต่อมาย้ายที่ทำการไปตั้งทางฝั่งซ้ายใต้เมืองเก่าลงมา ๘ กม. ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ จึงย้ายไปตั้งทางฝั่งขวาอีก
เมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในการสงคราม มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับกรุงสุโขทัย
ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เป็นที่ตั้งรบทัพพม่า ซึ่งยกมาทางทิศเหนือ
ปากน้ำโพ เป็นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน มาสบกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
และเป็นชุมทางการค้า บึงบรเพ็ดเป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลา ถนนข้ามบึงหูกวาง สร้างครั้งพระเจ้าเสือครองกรุงศรีอยุธยา
หน้า ๙๓๑๖
๒๗๐๕. นครสวรรค์วรพินิต
เป็นพระนามจอมพล และจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
ทรงเป็นองค์ที่ ๓๓ ในบรรดาพระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ และทรงมีพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นพระมารดา ประสูติเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ และเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบก
ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก
ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรีราชองค์รักษ์พิเศษ นอกจากนั้นยังได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เสด็จไปสดับตรับฟังราชการแผ่นดินเป็นครั้งคราว ที่กรมราชเลขาธิการ พระองค์จึงทรงมีโอกาสรอบรู้ราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายทหาร
และพลเรือนพร้อมกัน
ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงมียศเป็นนายพลเรือโท
ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายโดยการสร้างกำลังทางเรือมีกำหนดเวลา ๑๖ ปี
ใช้เงิน ๑๖๐ ล้านบาท แต่ในที่สุดไม่สามารถปฏิบัติตามโครงการนี้ได้ เพราะงบประมาณแผ่นดินไม่เพียงพอ
พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเป็นพระองค์แรก
พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นจอมพลเรือ
พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล
ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี
พ.ศ.๒๔๖๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พ.ศ.๒๔๖๙ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ใน พ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งในเวลานั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร
ประธานอภิรัฐมนตรี และประธานเสนาบดีสภา รวมสามครั้ง สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นต้นตระกูล "บริพัตร ณ อยุธยา"
หน้า ๙๓๑๗
๒๗๐๖. นครโสเภณี
มีบทนิยามว่า "หญิงงามเมือง หญิงคนชั่ว หญิงแพศยา"
หญิงโสเภณี มักอยู่กันเป็นกลุ่มในสถานการค้าประเวณีที่เรียกกันว่า ซ่องโสเภณี
หรือตามกฎหมายเก่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เรียกว่า "โรงหญิงนครโสเภณี"
จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเซียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาพระแม่เจ้า ผู้มีนามเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้น ก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก
โดยถือกันว่าแขกแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และจะนำโชคลาภมาสู่ตน บางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน
บางท้องที่นักบวชหญิงร่วมกัน จัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา
เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้
โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า
ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณี เพื่อสะสมทุนสำหรับสมรส
และถือกันว่าหญิงที่ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้ว เป็นแบบอย่างของเมีย และแม่ที่ดี
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ
ยกเลิกการค้าประเวณีต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้มีการประชุมกันร่างอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น
ประเทศไทยก็ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย
หน้า ๙๓๒๕
๒๗๐๗. นครหลวง
อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศตอนตะวันออกของแม่น้ำป่าสักเป็นที่ดอน
ส่วนทางตะวันตกเป็นที่ลุ่ม
อ.นครหลวง สมัยอยุธยาร่วมการปกครองอยู่ในแขวงขุนนคร
เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา
แล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนครเป็นแขวงนคร ต่อมาในรัชกาลที่สามได้แยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งแขวงนครตอนใต้เป็น อ.นครกลาง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖
เปลี่ยนชื่อ อ.นครกลาง เป็น อ.นครหลวง ตามชื่อที่ประทับเดิม
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.๒๑๗๔ เขมรซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระมาแต่ต้น
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้กลับมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก จึงโปรดให้สร้างพระนครหลวงขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักฝั่งขวา
เป็นที่ประทับร้อนตามระยะทางไปท่าเรือพระพุทธบาท
หน้า ๙๓๓๗
๒๗๐๘. นครอินทร์
เป็นชื่อขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายมอญผู้หนึ่ง เดิมชื่อมะสะลุม เป็นทหารเอกของสมิงสามพลัด
เจ้าเมืองแปร ผู้ซึ่งยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช ต่อมามะสะลุมได้มีเรื่องบาดหมางกับสมิงสามพลัด
จึงเข้ามาถวายตัวต่อพระเจ้าราชาธิราช มีตำแหน่งเป็นทหารรักษาพระองค์มีฝีมือ
มะสะลุมได้แสดงฝีมือครั้งแรก เมื่อมะกราน เจ้าเมืองกรานยกทหารมาตีปล้นกองทัพพระเจ้าราชาธิราช
มะสะลุมทำอุบายออกไปตัดศีรษะมะกรานมาถวาย จึงได้ไปกินเมืองคล้า และให้เป็นเจ้าสมิงนครอินทร์
พระเจ้าราชาธิราชทรงโปรดสมิงนครอินทร์ว่าเป็นผู้มีฝีมือ ต่อมาสมิงนครอินได้รบชนะ
มังมหานรธา แม่ทัพพม่า พระเจ้าราชาธิราช ไปรดพระราชทานเงินรางวัลเป็นอันมาก
ต่อมาสมิงนครอินทร์ได้ลอบเข้าไปในที่บรรทมของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องในตอนกลางคืน
แต่ไม่ฆ่าพระองค์ เพียงแต่เอาพระแสงกับพานพระศรีที่ข้างพระบรรทม มาถวายพระเจ้าราชาธิราช
การกระทำของสมิงนครอินทร์ทำให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสมพระทัย จึงมีพระราชสาน์ขอดูตัว
พระองค์ทรงชมว่าสมิงนครอินทร์รูปงาม สมควรเป็นทหารมีลักษณะซื่อสัตย์ หาผู้เสมอยาก
แล้วพระราชทานพระธำมรรค์ปัทมราชกับเครื่องม้าทองคำสำรับหนึ่ง
สมิงนครอินเป็นกำลังของพระเจ้าราชาธิราชในการรบกับพม่ามาตลอด จนกระทั่งพม่ากับมอญเป็นไมตรีกันเป็นเวลา
๒๒ ปี ต่อมามังกะยอฉะวา ราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เริ่มทำสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชอีก
และได้คิดอุบายจับสมิงนครอินทร์ได้ และถึงแก่ความตายในสามวันต่อมา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดตั้งโกศให้สมิงนครอินทร์แบบโกศกษัตริย์
แล้วใส่เรือขนานลอบไปให้พระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชทรงจัดการพระราชทานเพลิง
เก็บอิฐิใส่ผอบทองประดับพลอยไปบรรจุที่พระมุเตา แล้วให้หล่อรูปสมิงนครอินทร์ด้วยสำริด
แล้วยกไปตั้งไว้บนตำหนัก ทำผลีกรรมบวงสรวงทุกวันมิได้ขาด
หน้า ๙๓๓๘
๒๗๐๙. นครินทราธิราช - สมเด็จพระ
ทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระอินทราธิราช เป็นเจ้าแห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ
เป็นพระราชนัดดาของ สมเด็จพระบรมราชาที่หนึ่ง เป็นโอรสของพระอนุชาและเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีมาก่อน
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่หก ครองราชย์อยู่ระหว่างปี
พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗
พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระองค์แรกที่ได้เสด็จไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีน
แห่งราชวงศ์เหม็ง ณ เมืองนานกิง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ ในรัชสมัยของพระองค์โปรดให้แต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี
ถึงเมืองจีนหลายครั้ง และชาวจีนได้มาตั้งภูมิลำเนาไปมาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น
ได้มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชามใน จ.สิงห์บุรี เป็นเตาแบบเดียวกับที่เมืองสุโขทัย
และสวรรคโลก
พระองค์มีราชโอรสสามองค์ ให้ไปครองเมืองต่าง ๆ กันคือ เจ้าอ้ายพระยา ครองเมืองสุพรรณบุรี
เจ้ายี่พระยา ครองเมืองแพรก และเจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท
หน้า ๙๓๔๑
๒๗๑๐. นนท์
เป็นชื่อยักษ์ ในหนังสือเทศน์ภาคอีสาน เรื่อง "รามชาดก" ซึ่งเปรียบเหมือนรามเกียรติ์ภาคอีสาน
หรือบางทีเรียกว่า รามายณลาว นนท์เป็นยักษ์มีหน้าที่เฝ้าประตูเมืองของพญาไอศวร
(พระอิศวร) ปู่พระยารามราช มีนิ้วเพชรศักดิ์สิทธิ์ ชี้ใครต่อใครตายไปเป็นอันมาก
นางทิพโสต ลูกสาวคนธรรพ์ต้องมาปราบ โดยชวนให้รำกับนาง เมื่อนางเอานิ้วชี้เข้าที่ตัวเอง
นนท์ก็ชี้ตามเลยถึงแก่ความตาย (ดู นนทุก - ลำดับที่ ๒๗๑๓... ประกอบ)
หน้า ๙๓๔๓
๒๗๑๑. นนทบุรี
จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ทิศตะวันออก
จด จ.ปทุมธานี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้จดกรุงเทพ ฯ ทิศตะวันตก จด จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ราบโดยมากเป็นส่วนใหญ่
ไม้ยืนต้น ทางทิศตะวันตก ตลอดขึ้นไปทางเหนือเป็นทุ่งนา หน้าน้ำ น้ำท่วมตลอด
ในจังหวัดนี้ มีชาวไทยเชื้อสายมอญอยู่มากแถว อ.ปากเกร็ด ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ คราวหนึ่ง กับเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ อีกคราวหนึ่ง เรียกว่า มอญใหม่
โปรดให้แบ่งครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง
ชาวไทยอิสลามตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ต.บางกระสอ และที่บ้านตลาดแก้ว ใน ต. บางตะนาวศรี
อ.เมือง ฯ มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ไทยอิสลามที่
ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด เป็นเชื้อสายชาวไทรบุรี เข้ามาอยู่ในรัชกาลที่สาม
ชาวไทยเมืองตะนาวศรี เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ตะนาวศรี อ.เมือง ฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร
พ.ศ.๒๓๐๒ ครั้งทัพไทยไปตั้งรวมพลอยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทย ต้นน้ำตะนาวศรี
พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรี ก็หนีเข้ามา
จ.นนทบุรี ตั้งในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ราวปี พ.ศ.๒๐๙๒ คือ ยกบ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี
ตัวเมืองเดิมบัดนี้เรียก ต.บางกระสอ อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๑๗๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้ขุดคลองแต่ปากน้ำ อ้อมมาทะลุปากคลองบางกรวย
ยาว ๕ กม. ภายหลังกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นไว้ตรงปากคลองแม่น้ำอ้อม
ในปี พ.ศ.๒๒๐๘ แล้วย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้ง ณ ที่นั้น อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองนนทบุรีคนแรกไปจอดแพอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา
จึงเลื่อนศาลากลางไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อฝั่งใต้ ที่เป็นท่าเรือตลาดขวัญบัดนี้
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๑ จึงย้ายศาลากลางมาอยู่ที่บางขวาง
จ.นนทบุรี มีสิ่งสำคัญคือ วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดเขมา
วัดปรมัยยิกาวาส ที่ ต.ปากเกร็ด เดิมชื่อวัดปากอ่าว
เป็นวัดโบราณ วัดชัยพฤกษ์ เป็นวัดโบราณ
ร้างอยู่จึงได้รื้อเมื่อรัชกาลที่หนึ่ง
หน้า ๙๓๔๓
๒๗๑๒. นนทรี
เป็นไม้ต้นใหญ่ แผ่กิ่งก้านไพศาลเปลือกมีรสฝาดมาก ใบคล้ายใบหางนกยูง หรือใบกระถิน
แต่โตกว่า ดอกออกเป็นช่อใหญ่บ้างเล็กบ้าง กลีบดอกชั้นในสีเหลืองสด งามมาก
ฝักเป็นรูปโล่ห์ สีเหลือบทองแดง
หน้า ๙๓๔๖
๒๗๑๓. นนทุก หรือนนทก
เป็นชื่อยักษ์ นับอยู่ในอสูรเทพบุตร มีเรื่องปรากฎในรามเกียรติ์ของไทยว่า
เป็นยักษ์ที่ถูกพระนารายณ์ฆ่าตาย แล้วกลับชาติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ คือ ราพนาสูร
เจ้ากรุงลงกา ทำให้พระนารายณ์ ต้องอวตารลงมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบปรามอีกครั้งหนึ่ง
หน้า ๙๓๔๖
๒๗๑๔. นนทุกปกรนัม
เป็นหนังสือรวมนิทานโบราณ ๒๕ เรื่อง ดำเนินเรื่องแบบนิทานซ้อนนิทาน เช่น หิโตปเทศ
หนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
นิทานต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานสันสกฤตบ้าง นิทานชาดกภาษาบาลีบ้าง
และเป็นนิยายพื้นบ้าน พื้นเมืองของอินเดีย หรือที่อื่นบ้าง
หน้า ๙๓๔๘
๒๗๑๕. นพเคราะห์ ๑
เป็นดาวเคราะห์ทั้งเก้า ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตามลำดับคือ
พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน และพลูโต คนบนโลกสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ด้วยตาเปล่า
เว้นดาวยูเรนัส เนปจูน และพลูโต
ดาวเคราะห์เป็นดาวพเนจร และเป็นบริวารส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ ทางโคจรเป็นวงรี
เมื่ออยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เร็วกว่า เมื่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ โลกจึงเคลื่อนตัวเร็วที่สุด
ในต้นเดือนมกราคม และเคลื่อนช้าที่สุด ในต้นเดือนกรกฎาคม
หน้า ๙๓๔๙
๒๗๑๖. นพเคราะห์ ๒
เป็นคำเรียกดาวเก้าดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์
และเสาร์ ในทางโหราศาสตร์มีชาวเคราะห์ชั้นเดิมเพียงแปดดวง เรียกว่า "อัฐเคราะห์"
ต่อมามีดาวที่คำนวณแบบใหม่ ตามคัมภีร์สุริยาตรอีกสองดวงคือ ดาวเกตุ และดาวมฤตยู
รวมเป็นสิบ แบ่งย่อยออกเป็นสองพวกคือ ฝ่ายใหญ่คุณ เรียกว่า ศุภเคราะห์ ฝ่ายให้โทษ
เรียกว่า บาปเคราะห์ ดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรเป็นอุตราวัฎ แต่ราหูกับเกตุเดินสวนทางเป็นทักษิณาวัตร
๒๗๑๗. นพบุรี
ในเรื่องรามเกียรติ์ว่าเป็นเมืองใหม่ ที่พระรามสร้างประทานพญาอนุชิตคือ หนุมาน
เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว เมืองนี้เดิมเป็นที่ภูเขาเก้ายอด เรียกว่า นพคีรี เมื่อพระรามแผลงศรหาที่สร้างเมืองให้หนุมาน
ศรตกลงตรงนี้ ทำลายภูเขาทั้งเก้านั้นเตียนราบหมด พญาอนุชิตก็ลงไปเอาหางกวาดให้เป็นกำแพงกั้นเขตแดนไปทั่วทิศ
เรื่องเมืองนพบุรีนี้ ในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่ง กล่าวถึงเมืองลพบุรี
มีความหมายคล้าย ๆ กันว่า เมืองลพบุรีเดิมเรียกว่า นพบุรี เพราะมีเขาเก้ายอด
อนึ่ง เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นชื่อเดิมของเมืองเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวความตอนหนึ่งว่า
เชียงใหม่ เป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย เดิมชื่อเมืองระเมิง ตำนานบางเล่มเรียกเมืองนพบุรี
เข้าใจว่าอยู่บริเวณวัดเจดีย์เจ็ดยอด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ พระเจ้าเมงราย
ได้สร้างขึ้นอีกเมืองหนึ่งต่อจากเมืองระเมิง มาทางใต้เรียกว่า เมืองเชียงใหม่
หน้า ๙๓๖๐
๒๗๑๘. นพพวง
เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขของไทย
( ดู โคศัพท์ - ลำดับที่...)
หน้า ๙๓๖๒
๒๗๑๙. นพพัน
เป็นวิธีฝึกหัดเลขโบราณอย่างหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนโคศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีหารเลขอย่างหนึ่งของไทย
(ดู โคศัพท์... ลำดับที่...)
หน้า ๙๓๖๒
๒๗๒๐. นพมาศ - นาง
เป็นชื่อสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสนมของพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย
นางเป็นธิดาของพราหมณ์ มีตำแหน่งเป็นที่พระศรีมโหสถ ได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีจากบิดา
จนนับได้ว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดรู้ ปราชญ์ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม
นางได้เป็นพระสนม เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี พอถึงการพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญ
เดือนสิบสอง เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศคิดทำโคมลอยตกแต่งให้งามกว่าของผู้อื่น
เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชดำรัสว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์
วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท
อุทิศสักการะพระพุทธบาท ที่นัมมนานที ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ลอยกระทงทรงประทีป
หน้า ๙๓๖๐
๒๗๒๑. นพรัตน์
คือ แก้วเก้าอย่าง อันได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดาหาร
เพทาย ไพฑูรย์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ (ดู เครื่องราชอิสิรยาภรณ์ - ลำดับที่...)
หน้า ๙๓๖๔
๒๗๒๒. นม ๑
เป็นคำนำมาใช้ผสมกับคำอื่นแล้ว ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ สุดแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย
แยกได้เป็นสองนัยด้วยกันคือ พันธุ์ไม้มีดอก หรือผล ลักษณะสัณฐานคล้ายเต้านมของมนุษย์
หรือสัตว์ อย่างหนึ่ง กับพันธุ์ไม้เถา ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เป็นมัน หรือไม่ก็ใบหนาค่อนข้างจะอวบน้ำ
แล้วน้ำยางสีขาวคล้ายสีน้ำนม อีกอย่างหนึ่ง
หน้า ๙๓๖๔
๒๗๒๓. นม ๒
อวัยวะของร่างกายอยู่บริเวณหน้าอก มีสองเต้า เรียกเต้านม เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กหนุ่มนมจะตีขึ้น
เรียกว่า นมแตกพาน
เด็กสาวเมื่อเริ่มมีประจำเดือน นมจะมีการเจริญเติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัด เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
เต้านมจะมีขนาดเล็กลง
หน้า ๙๓๖๔
๒๗๒๔. นมควาย
เป็นพันธุ์ไม้พุ่มรอเลื้อย เมื่อเลื้อยแล้วกลายเป็นไม้เถาใบใหญ่ ดอกออกเป็นช่อ
ตามซอกใบ หรือตามกิ่งใกล้ ๆ ใบ รูปร่างดอกคล้ายนมสัตว์
หน้า ๙๓๖๗
๒๗๒๕. นมชะนี
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกระดังงาจีน และการะเวก
(ดู การะเวก - ลำดับที่... และกระดังงาจีน - ลำดับที่...) เป็นไม้เถามีหนามแข็ง
ใบเป็นมัน ดอกเวลาตูม มีรูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ
หน้า ๙๓๖๗
๒๗๒๖. นมช้าง
เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาใหญ่ และอยู่ในสกุลเดียวกับนมควาย แต่ใบใหญ่กว่านมควายมาก
ดอกค่อนข้างโต มองดูคล้ายเต้านมเต่ง ๆ ผลเป็นช่อเวลาสุก ดูคล้ายกล้วยหวีเล็ก
ๆ บริโภคได้
หน้า ๙๓๖๗
๒๗๒๗. นมตำเรีย
(ดู นมตำเลีย - ลำดับที่ ๒๗๒๘)
หน้า ๙๓๖๘
๒๗๒๘. นมตำเลีย
เป็นไม้เถา ลำเถากลม ใบหนาอวบน้ำเกิดตรงกันข้าม มีน้ำยางสีขาว ดอกออกเป็นช่อ
ตามซอกใบ ช่อคล้ายดอกผักชี
หน้า ๙๓๖๘
๒๗๒๙. นมนาง - หอย
ใหญ่กว่าหอยนมสาว เปลือกเป็นมุกงามมาก นิยมทำทำเป็นเครื่องประดับ
หน้า ๙๓๖๘
๒๗๓๐. นมพิจิตร
เป็นพันธุ์ไม้เถา เอามาปลูกเก็บผลบริโภคได้
หน้า ๙๓๖๘
๒๗๓๑. นมแมว
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกิ่งก้านมากจนทึบ ใบยาวรี ออกเฉลียงกัน ดอกออกเดี่ยว
ๆ ใกล้ ๆ ช่อใบ หรือซอกใบสีน้ำตาลอ่อนเกือบนวล รูปคล้ายเต้านมเล็ก ๆ บานเวลาเย็นมีกลิ่นหอม
หน้า ๙๓๖๘
๒๗๓๒. น.ม.ส.
เป็นนามปากกาของกวีเอก นักประพันธ์และปาฐก ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย คำว่า
น.ม.ส.ย่อจากพระนามของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส
ผู้เป็นต้นสกุล "รัชนี" มีพระอิสริยศักดิ์เป็น พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๒๒ ในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ห้า
ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ สิ้นพระชนม์ปี พ.ศ.๒๔๘๘
น.ม.ส. โดยเสด็จรัชกาลที่ห้า ในการเสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้ศึกษาต่อ
ณ ประเทศอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเสด็จกลับในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มาช่วยราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามเดิม
ได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นตามลำดับที่สำคัญคือ ปลัดกรมธนบัตร ต่อมาทรงเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ
ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี (ต่อมาเปลี่ยนเป็น
กรมบัญชีกลาง)
ในรัชกาลที่หก ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าทรงกรม
เป็นพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ศักดินา ๑๑,๐๐๐ พ.ศ.๒๔๕๘ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชยและสถิติพยากรณ์
ได้ทรงตั้งการสหกรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น รองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
ในปี พ.ศ.๒๔๖๔
ในรัชกาลที่เจ็ด ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปนายกกรรมการ หอพระสมุด สำหรับพระนคร
ต่อมาได้รวมเข้ากับกรมศิลปากร เปลี่ยนชื่อเป็น ราชบัณฑิตสภา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐
ทรงได้รับเลือกให้เป็น นายกสภาองคมนตรี รวมเวลารับราชการ ๔๐ ปี
พระนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายอันนับว่าเป็นผลงานดีเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของ น.ม.ส.คือ
กวีวัจนะเรื่อง สามกรุง
เป็นงานร้อยกรองที่รวมประเภทต่าง ๆ ของคำประพันธ์ร้อยกรองทุกชนิดเข้าไว้ในเล่มเดียวกัน
นิพนธ์จบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
หน้า ๙๓๖๙
๒๗๓๓. นมสวรรค์
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ - ๒ เมตร ใบใหญ่ ออกตรงข้ามกัน ช่อดอกออกทางยอด
ตั้งตรงยาว ๑๕ - ๓๐ ซม. มีรูปทรงแบบสามเหลี่ยม แตกกิ่งแขนงโปร่งสีแดง ตัวดอกเป็นหลอดเรียงยาว
๑.๕ - ๒ ซม. ผลเล็กมีเนื้อหนาเล็กน้อย
หน้า ๙๓๗๖
๒๗๓๔. นมสาว - หอย
มีรูปร่างม้วนเป็นวง ตอนปากใหญ่ปลายแหลม ขนาดเล็กกว่าหอยนมนาง เปลือกเป็นมุก
ใช้ทำกระดุม
หน้า ๙๓๗๗
๒๗๓๕. นฺยายะ
เป็นชื่อปรัชญาอินเดียสาขาหนึ่ง จัดอยู่ในปรัชญาสายพระเวท หกสำนัก
คำว่า นฺยายะ แปลว่า นำไปสู่ธรรม คือ ความแท้จริง หมายถึง วิธีการหาเหตุผล
เพื่อพิสูจน์ความแท้จริง ชื่อและเนื้อหาของปรัชญานี้ มาจาก "นฺยายสูตร"
ของมหาฤาษีโคดม ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญานี้ขึ้น เมื่อราวต้นพุทธกาล
หรือก่อนนั้นเล็กน้อย
หน้า ๙๓๗๗
๒๗๓๖. นรก
มีบทนิยามว่า "โลกเป็นที่ลงโทษผู้ทำบาปเมื่อตายไปแล้ว" ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นอบายภูมิ
ข้อที่หนึ่ง ในอบายภูมิสี่ (นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน) ลักษณะนามเรียกว่า
ขุม นรกมี ๔๕๗ ขุม คือ มหานรก ๘ ขุม อุสสุทนรก ๑๒๘ ขุม ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม โลกันตนรก
๑ ขุม
หน้า
๙๓๘๖
๒๗๓๗. นรกาสูร
อสูร ชื่อ "นรก" เป็นพญาอสูรที่ร้ายกาจตนหนึ่ง มีเรื่องปรากฎทั้งในมหาภารตะ
และคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ตลอดจน หริว ํศ
หน้า ๙๓๘๙
๒๗๓๘. นรรมทา
เป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของอินเดีย ถือกันว่าเป็นแม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างอินเดียภาคเหนือ
หรือฮินดูสตาน กับอินเดียภาคใต้ ตั้งแต่ที่ราบสูงเดคกันลงมา ต้นกำเนิดจากทิวเขาไมกลา
ในมัธยมประเทศ แล้วไหลผ่านหุบผาระหว่างทิวเขาวินธัย กับทิวเขาสัตปุระ มุ่งไปทิศตะวันตกลงสู่อ่าวบอมเบย์
รวมความยาว ๑,๒๘๐ กม.
แม่น้ำนี้ได้รับความนับถือจากชาวฮินดู ว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับสองรองจากแม่น้ำคงคา
ในวรรณคดีบาลีแม่น้ำนัมมทา จัดอยู่ในประเภทกุนนที หรือแม่น้ำน้อย แต่มีความสำคัญเพราะบนพื้นทรายแห่งหนึ่ง
ที่ท้องน้ำมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ มีกล่าวอ้างถึงในหนังสือเรื่องนางนพมาศ
หน้า ๙๓๙๐
๒๗๓๙. นรสิงห์
เป็นบุรุษครึ่งคนครึ่งสิงห์ เป็นอวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ ในสมัยกฤดายุค
ซึ่งเป็นยุคแรกในสี่ยุคของโลก เพื่อปราบพญาอสูรชื่อ หิรัญยกศิปุ
หน้า ๙๓๙๓
๒๗๔๐. นรสิงหาวตาร
อวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ (ดู นรสิงห์ - ลำดับที่ ๒๗๓๙)
หน้า ๙๓๙๔
๒๗๔๑. นราธิปประพันธ์พงศ์ - พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๖
ในรัชกาลที่ห้า และเจ้าจอมมารดาเขียน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ทรงมีพระนามว่า
พระองค์เจ้าชายวรวรรณากร ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้ทรงรับราชการสืบต่อมา จนได้ดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
ในรัชกาลที่หก พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น กรมพระ ทรงศักดินา
๑๕,๐๐๐ พระองค์ทรงมีโอรส และธิดา รวม ๓๔ พระองค์ ทรงเป็นต้นสกุล
"วรวรรณ" และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ พระชนมายุ ๖๙ พรรษา ทรงเชี่ยวชาญในการประพันธ์หนังสือ
บทความเรื่องสั้น และบทละครทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมทั้งที่เป็นสารคดี
และบรรเทิงคดี นอกจากนี้ยังทรงแปลและดัดแปลงหนังสือภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยอีกด้วย
รวมทั้งสิ้นราวร้อยเรื่อง
หน้า ๙๓๙๔
๒๗๔๒. นราธิปพงศ์ประพันธ์ - พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหมื่น ทรงเป็นบุคคลสำคัญของเมืองไทยและของโลก
ทรงเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ นักการทูต และนักเขียน
พระองค์มีพระนามเดิม หม่อมเจ้า วรรณไวทยากร ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ในรัชกาลที่สี่ ได้เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ในวิชาการทูต
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทูตที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์ ณ กรุงปารีส
เสด็จกลับมารับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี รับปรึกษาราชการในส่วนพระองค์ ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๓ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ
เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ในเวลาเดียวกัน ทรงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
ไปร่วมประชุมสมัชชาสันนิบาตชาติ ที่นครเจนีวา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงกลับเข้ารับราชการ
ในกระทรวงการต่างประเทศดังเดิม
พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และในปี พ.ศ.๒๔๘๖
ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงประสบผลสำเร็จในการเจรจาให้ประเทศไทย ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทรงกลับเข้ารับราชการตามเดิม ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย
ประจำกรุงวอชิงตัน และผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระองค์เป็น เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า
"พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ และในปีต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น
พลตรี
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ ทรงรับตำแหน่งเป็นประธานสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ
พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๑๐ ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพระองค์ทรงมีพระชนมายุเกือบ
๘๐ พรรษา พระองค์ก็ยังทรงรับใช้ประเทศชาติอยู่ตลอดมา พระองค์ทรงเป็นนายกราชบัณทิตยสถานคนแรก
และได้เป็นต่อมาอีกหลายสมัย จนพระชนมายุได้ ๘๔ พรรษา และสิ้นพระชนมม์เมื่อ
ปี พ.ศ.๒๕๑๙ พระชนมายุได้ ๘๕ พรรษา
หน้า ๙๓๙๘
๒๗๔๓. นราธิวาส
จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย
ทิศใต้จดรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกจด จ.ยะลา ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและเขา
จังหวัดนี้เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นเมืองสายบุรี แล้วโอนไปขึ้นเมืองระแงะ
ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ย้ายศาลากลางเมืองระแงะ ไปตั้งที่ อ.บางนรา เรียกว่า
เมืองบางนรา แล้วตั้งเมืองระแงะเป็นอำเภอ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเมืองนราเป็นนราธิวาส
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘
หน้า ๙๔๐๙
๒๗๔๔. นรินทร์ธิเบศร์ - นาย
เป็นบรรดาศักดิ์ของมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวร นายนรินทร์ธิเศร์ ผู้นี้มีนามเดิมว่า
"อิน" อยู่ในรัชกาลที่สอง ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร นายนรินทร์ธิเบศร์
(อิน) ได้แต่งโคลงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ "โคลงนิราศนรินทร์"
แต่งขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า
ซึ่งยกมาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อต้นรัชกาลที่สอง
หน้า ๙๔๑๐
๒๗๔๕. นริศรานุวัตติวงศ์ - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า
กรมพระยา เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๒
ในรัชกาลที่สี่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายหลังลาผนวชสามเณรในปี พ.ศ.๒๔๑๙
แล้วได้เข้ารับราชการเป็น "คะเด็ดมหาดเล็ก" หรือนักเรียนนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก
สำเร็จการศึกษาออกรับราชการเป็นนายทหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ต่อมาทรงเป็นเสนาบดีสี่กระทรวง
ทรงเป็นนักการทหาร นักการโยธาและก่อสร้าง ผู้นำและวางรากฐานกิจการรถไฟของชาติ
นักการคลัง และผู้นำทางวัฒนธรรมและระเบียบประเพณี อภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาสูงสุด
อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบุรุษผู้ทรงพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยม นักวิชาการหลายด้านทั้งอักษรศาสตร์
ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ยอดศิลปิน ปรมาจารย์และจอมปราชญ์แห่งศิลปะหลายสาขา
พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการเป็นพระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงเลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ
ฯ - นครราชสีมา พระองค์ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ.๒๔๓๕ -
๒๔๓๗) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม (พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๙) แล้วย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในปี
พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงกลับมาเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมอย่างเดิม แล้วทรงย้าายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง (พ.ศ.๒๔๔๘ - ๒๔๕๓)
พ.ศ.๒๔๔๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศักดินา
๕๐,๐๐๐
ในรัชกาลที่เจ็ด พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี และทรงดำรงตำแหน่งนี้
จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จไปประเทศต่าง ๆ ในยุโรป
ตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จ ฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ พระองค์ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ ฯ พรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ พระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา
หน้า ๙๔๑๑
๒๗๔๖. นเรศวร - สมเด็จพระ
ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ประสูติเมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๘ ณ เมืองพิษณุโลก
สงครามคราวขอช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ ซึ่งเป็นสงครามกับพม่าครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ์
ไทยต้องยอมรับเป็นไมตรีกับพม่า ครั้งนั้นพระเจ้าบุเรงนองได้ขอพระนเรศวรไปอยู่
ณ กรุงหงสาวดี เพื่อทรงเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม พระนเรศวรต้องประทับ ณ กรุงหงสาวดีเป็นเวลา
๖ ปี จึงได้กลับมาเมืองไทย ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครังแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
พระองค์มีพระชันษาได้ ๑๕ ปี
เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนอง โปรดให้ทำพิธีปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
แทนสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกาศอิสระภาพของไทย
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงครองราชย์ ต่อมาจนสวรรคตในปี
พ.ศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ และได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช
โดยทรงยกย่องให้มีเกียรติเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระนเรศวร ฯ ต้องเผชิญสงครามกับพม่าหลายครั้ง แต่พม่าพ่ายแพ้ไปทุกครั้งคือในปลายปี
พ.ศ.๒๑๒๗ ไทยรบชนะพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณบุรี
พ.ศ.๒๑๒๘ ไทยรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
พ.ศ.๒๑๒๙ พระเจ้านันทบุเรงยกกองทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ต้องล่าถอยกลับไป
ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดาบพระแสงดาบคาบค่าย นำทหารเข้าตีค่ายพระเจ้าหงสาวดี
พ.ศ.๒๑๓๓ พระมหาอุปราชาคุมทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรี
สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงดักซุ่มตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
พ.ศ.๒๑๓๕ พระเจ้านันทบุเรงให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่บริเวณหนองสาหร่าย
แขวงเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์
หน้า ๙๔๒๐
เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวร ฯโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง
ณ ที่นั้น ปัจจุบันเรียกว่า อนุสรณ์ดอนเจดีย์
ณ
ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ จะยกทัพไปตีพม่าเป็นการตอบแทนพร้อมกับขยายอาณาเขตของไทย
พระองค์โปรดให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือขึ้นดังเดิม และปราบเสี้ยนหนามศัตรูให้ราบคาบ
ทรงเห็นว่าเขมรเป็นศัตรูที่ลอบยกกองทัพมาเบียดเบียนบุกรุกหัวเมืองไทยหลายครั้ง
ในขณะที่ไทยต้องทำศึกสงครามด้านอื่น ๆ พระองค์จึงยกทัพไปตีเมืองละแวกราชธานีเขมรในเวลานั้น
เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมั่นคงแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพไปตีพม่าสองครั้งคือ
ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๓๘ พระองค์ทรงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี ตั้งล้อมอยู่สามเดือนแต่ตีไม่ได้
ต้องเลิกทัพกลับ
ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ซึ่งเป็นราชบุบตรพระเจ้าบุเรงนอง
ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ฝ่ายเมืองยะไข่และเมืองตองอูตกลงกันที่จะสกัดกั้นกองทัพสมเด็จพระนเรศวร
ฯ มิให้ยกไปยังกรุงหงสาวดี พระเจ้าตองอูถือโอกาสเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน
พร้อมทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู ส่วนพวกยะไข่
ภายหลังที่ค้นคว้าสมบัติที่เหลืออยู่และเผาปราสาทราชวัง
วัดวาอารามไฟไหม้ไปทั่วเมือง แล้วหลบหนีไปก่อนที่สมเด็จพระนเรศวร
ฯ จะเสด็จยกทัพไปถึงกรุงหงสาวดีแปดวัน สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงขัดเคืองจึงนำทัพติดตามไปยังเมืองตองอู
ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทาง ๒๔๐ กม. มีภูเขาเป็นเขตคั่นมั่นคง กองทัพไทยได้ล้อมเมืองตองอู
แล้วขุดเหมืองไขน้ำในคูเมืองให้ไหลออกลงสู่แม่น้ำสะโตง ซึ่งชาวเมืองเรียกว่า
"เหมืองอโยธยา"
หรือ "เหมืองสยาม"
แต่ก็ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อปี
พ.ศ.๒๑๔๓
ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคุมทัพกลับจากเมืองตองอูมาทางเมืองเมาะตะมะ
ทรงตั้งพระยาทะละเป็นเจ้าเมืองนี้ให้ปกครองหัวเมืองมอญทั้งปวง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้แบ่งกองทัพยกมาทางเมืองเชียงใหม่
เพื่อระงับเหตุวิวาทระหว่างเจ้าเมืองเชียง
ใหม่กับพระยารามเดโช
ข้าหลวงไทยที่เมืองเชียงแสน ในระหว่างนั้นบรรดาเจ้าเมืองไทยใหญ่เช่น เมืองนาย
เมืองแสนหวี มาสวามิภักดิ์ขึ้นอยู่แก่ไทย
ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ พระเจ้าอังวะ ฟื้นตัวได้ทำพิธีราชาภิเษกทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา
แล้วแผ่อำนาจออกไปทางแคว้นไทยใหญ่จนถึงเมืองนายและจะตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวร
ฯ จึงยกทัพไปตีเมืองอังวะทางเมืองเชียงใหม่ และทรงให้พระเอกาทศรถยกทัพขึ้นไปทางเมืองฝาง
ครั้นพระองค์ยกทัพไปถึงเมืองหางก็ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง
เมื่อวันจันทร์ เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา
สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงแผ่พระเดชานุภาพไปในแหลมอินโดจีน สามารถปราบข้าศึกได้ทุกสารทิศ
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น ที่ยกกองทัพไปตีพม่า
หน้า ๙๔๒๐
๒๗๔๗. นโรดม
เป็นพระนามของกษัตริย์เขมร มีทั้งสิ้นสามองค์คือ นโรดม นโรดม สุรามริต และนโรดม
สีหนุ
นโรดม (พ.ศ.๒๓๗๘ - ๒๔๔๗) เป็นพระโอรสของนักองค์ด้วง
ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระองค์ต้องลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๐๔
เนื่องจากนักองค์ ศรีวัตถา พระอนุชา ก่อการจลาจลและได้กลับไปครองเขมรใหม่
ปี พ.ศ.๒๔๐๕ โดยการช่วยเหลือของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในเขมร
ระหว่างนั้น เขมรยังเป็นประเทศราชของไทย แต่ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองอินโดจีนได้แล้ว
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๕ มีนโยบายที่จะยึดครองเขมร เพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่การยึดครองลาว
และหาทางไต่เต้าไปตามลำแม่น้ำโขง เพื่อแข่งขันกับอังกฤษชิงตลาดการค้าในยูนนานของจีน
ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๐๖ ฝรั่งเศสจึงได้ใช้กำลังบังคับให้เจ้านโรดม ลงนามในสนธิสัญญามอบเขมร
ให้เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส โดยที่ประเทศไทยไม่มีส่วนรู้เห็น เจ้านโรดมตกลงที่จะเดินทางมาประกอบพิธีบรมราชาภิเษก
ที่ประเทศไทยตามประเพณี แต่โบราณแต่ฝรั่งเศสพยายามขัดขวาง โดยส่งทหารเข้ายึดพระราชวังที่เมืองอุดรมีชัยไว้
แล้วฉวยโอกาสสวมมงกุฎให้เจ้านโรดม ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๐๗ แม้ทางไทยจะประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศส
ในเรื่องนี้ก็ตาม ในที่สุดไทยจำต้องลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ รับรองว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน บังคับให้เจ้านโรดมลงพระนามสนธิสัญญากับฝรั่งเศส
ให้เขมรเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสในปีต่อมา
การเคลื่อนไหวนี้ดำเนินไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐
ผู้แทนฝรั่งเศสในเมืองพนมเปญ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาเสนาบดีเขมร เป็นการริดรอนอำนาจและอิทธิพล
ของพระเจ้านโรดม และพระองค์ได้สวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๔๗
นโรดม สุรามริต
เป็นพระราชบิดาของเจ้านโรดม สีหนุ ขึ้นครองเขมรแทนเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นโอรส
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทรงครองเขมรอยู่จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๕๐๓
นโรดม สีหนุ (พ.ศ.๒๔๖๕ - ) หลังจากพระเจ้านโรดมองค์แรกสวรรคต
ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ แล้ว เจ้าชายศรีสวัสดิ์ พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์แรกสวรรคต
ทรงพระนามว่า กษัตริย์โสวาส จนถึง พ.ศ.๒๔๗๐ จากนั้น เจ้าชายมณีวงศ์ ซึ่งเป็นพระโอรสได้ขึ้นครองเขมรสืบต่อมา
จนสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ผู้เป็นกษัตริย์ต่อมาคือ นโรดม สีหนุ
พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงพระราชสมภพที่เมืองพนมเปญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้านโรดมองค์แรก
พระราชบิดาคือ เจ้านโรดม สุรามริต
ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นจึงล้มอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส
ในอินโดจีนโดยสิ้นเชิง พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงฉวยโอกาสนี้ ปลดแอกฝรั่งเศสและประกาศเขมร
เป็นเอกราชระหว่างนั้น นักการเมืองเขมรแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีพระเจ้านโรดม
สีหนุ ทรงเป็นผู้ดำเนินนโบายร่วมมือกับฝรั่งเศสต่อไปก่อน อีกกลุ่มหนึ่งคือ
ขบวนการเขมรอิสระมี ซันง๊อก ทันห์ เป็นผู้นำ มีนโยบายเป็นปฎิปักษ์ กับฝรั่งเศสและต่อต้านการกลับมา
มีอำนาจของฝรั่งเศสในเขมร
ครั้นฝรั่งเศสกลับมามีอำนาจใหม่ในเขมรภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสก็บังคับให้พระเจ้านโรดม
สีหนุ ลงพระนามในสนธิสัญญารอมชอมกับตน ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ยอมรับว่าเขมรเป็นเพียงรัฐอิสระ
ในสหภาพฝรั่งเศส พระเจ้านโรดม สีหนุ จึงถูกเขมรอิสระโจมตีว่าเป็นเครื่องมือของฝรั่งเศส
และในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองทหารเขมรอิสระได้ปะทะกับทหารฝรั่งเศส ใกล้เมืองเสียมราฐ
ฝรั่งเศสจึงกล่าวหาว่าไทยให้การสนับสนุน และใช้เป็นข้อบังคับไทยให้คืนเสียมราฐและพระตะบอง
ให้ฝรั่งเศสไปในปลายปีนั้น พวกผู้นำเขมรอิสระจึงหนีเข้ากรุงเทพ ฯ และประกาศตั้งรัฐบาลเขมรอิสระขึ้นที่กรุงเทพ
ฯ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระเจ้านโรดม สีหนุ ประกาศยุบสภาแล้วเสด็จมาอยู่ประเทศไทย และทรงเรียกร้องของความเห็นใจจากประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลก เพื่อเอกราชของเขมร ในที่สุด ๑๔ ประเทศ ที่เกี่ยวข้องเสนอให้เปิดการประชุมที่นครเจนีวา
ที่ประชุมได้ลงมติให้ฝรั่งเศส มอบเอกราชโดยสมบูรณ์ให้แก่เขมร เวียดนาม และลาว
พระเจ้านโรดม สีหนุ ทรงถือว่าพระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดเอกราชแก่เขมร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาได้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้พระองค์ต้องสละราชบัลลังก์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ เจ้านโรดม สุรามริต ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแทน เจ้านโรดม สีหนุ
ตั้งพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อพระเจ้านโรดม สุรามริต สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเป็นประมุขแห่งรัฐอีก
และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แล้วเริ่มเรียกร้องความเป็นกลางให้นานาชาติรับรอง
เขตแดนเขมรซึ่งนำไปสู่การพิจารณาตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ถึงสองครั้งจนในที่สุดไทยต้องเสียเขาพระวิหารให้แก่เขมร
ตามคำตัดสินของศาลโลก ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เจ้านโรดม
สีหนุ หันไปผูกไมตรีกับจีน และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ รัฐสภาเขมรได้ปลดกพระองค์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง นายเชงเอง
ประธานรัฐสภา เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งประมุขของรัฐ และแต่งตั้ง นายพลลอนนอล
เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้านโรดม สีหนุ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศจีน ประเทศต่าง
ๆ ในกลุ่มคอมมิวนิสต์อีก ๑๘ ประเทศ รับรองต่อจากจีน และประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลลอนนอล
เขมรได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐเขมร ลอนนอลได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ในปี พ.ศ.๒๕๑๕
กองทัพเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองเขมรได้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เจ้านโรดมได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของรัฐตลอดชีพ
แต่อำนาจแท้จริงคือ นายเขียว สัมพันธ หัวหน้าเขมรแดง ทำให้เจ้านโรดม สีหนุ
ต้องลาออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙
หน้า ๙๔๓๑
๒๗๔๘. นล ๑
เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งนิษัธ มีเรื่องใน นโลปาขยานัม อันเป็นเรื่องแรกในกาพย์มหาภารตะ
เรื่องนี้เป็นนิทานสอนใจให้กล้าหาญไม่ย่อท้อสิ้นหวัง จนสามารถกอบกู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียไปให้กลับคืนมาได้ทั้งหมด
เป็นเรื่องราวที่ฤาษีพฤหทัศวะ เล่าให้กษัตริย์ปาณฑพและนางเทราปทีฟังเป็นตัวอย่าง
ในคราวที่กษัตริย์ปาณฑพเสียบ้านเสียเมือง ให้แก่ทุรโยชน์ และถูกเนรเทศถึง
๑๓ ปี
หน้า ๙๔๓๙
๒๗๔๙. นล ๒
เป็นพญาลิง ทหารเอกผู้หนึ่งของพระราม ในรามายณะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพระราม
เพื่อปราบพญายักษ์ชื่อ ราวณะ (ทศกัณฐ์) เทพต่าง ๆ ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ก็ให้โอรสของตน
มาช่วยพระรามทำศึก
นล เป็นโอรสของพระวิศวกรรมเทพศิลปิน ได้เป็นกำลังช่วยเหลือพระราม ในการสร้างถนนจากแผ่นดินใหญ่
ทอดไปถึงเกาะลงกา ถนนนั้นได้ชื่อว่า รามเสตุ (ถนนพระราม) นลได้ชื่อว่า
มีฤทธิ์มาก
หน้า ๙๔๔๓
๒๗๕๐. นวด
เป็นวิธีรักษาโรคอย่างหนึ่ง ในแขนงวิชากายภาพบำบัด หมดนวดที่ดีจะต้องทราบและเข้าใจอย่างถ่องแท้
ในเรื่องกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิสภาพ ตลอดจนการดำเนินของโรค
สำหรับการนวดแผนโบราณของไทยนั้น รู้จักกันทั่วไปว่า "จับเส้น" เพื่อให้เลือดลมเดินได้สะดวก
ซึ่งตรงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
หน้า ๙๔๔๓
๒๗๕๑. นวนิยาย
หมายถึง เรื่องที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเพื่ออ่านให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
รูปแบบของนวนิยายสมัยนี้ได้มาจากประเทศฝ่ายตะวันตก เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า
ฯ แต่เดิมมามีเพียงนิทานที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ เช่น นิทานชาดก นิทานอิงพงศาวดารจีน
มอญ และนิทานพื้นเมือง พื้นบ้าน ที่มีรูปแบบเหมือนฟังการเล่านิทาน
หน้า ๙๔๕๐
๒๗๕๒. นวรัตนกวี
หมายถึง นักปราชญ์เก้าคนในราชสำนักของท้าววิกรมาทิตย์ จักรพรรดิ์องค์หนึ่งของอินเดีย
สมัยโบราณผู้ครองราชย์ ณ กรุงอุชเชนี
ในจำนวนนักปราชญ์เก้าคนนี้ ถ้าจะนับที่เป็นกวีจริง ๆ ก็น่าจะมีเพียงสองคนคือ
กาลิทาส และฆฎกรรบร นอกจากนั้นเป็นนักแต่งตำรา เช่น นักไวยากรณ์ นักดาราศาสตร์
ฯลฯ แต่ละคนล้วนอยู่ต่างยุคต่างสมัยกันแทบทั้งสิ้น
หน้า ๙๔๕๒
๒๗๕๓. นวลจันทร - ปลา
เป็นปลามีเกล็ด ในวงศ์ปลาตะเพียน อยู่ในน้ำจืดเป็นปลาขนาดกลาง มีอยู่ด้วยกันสามสกุล
หน้า ๙๔๕๖
๒๗๕๔. นวโลหะ
คือ โลหะเก้าชนิดหลอมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว มีบทนิยามว่า "โลหะเก้าชนิดคือ
เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เพียงนี้เรียกว่า เบญจโลหะ
ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ เจ้า (เจ้าน้ำเงินว่าเป็นแร่ชนิดหนึ่ง) และสังกะสี เรียกว่า
สัตตโลหะ
ถ้าเติมอีกสองชนิดคือ
ชิน บริสุทธิ (ทองแดงบริสุทธิ) เรียกว่า นวโลหะ"
หน้า ๙๔๕๗
๒๗๕๕. นวอรหาธิคุณ, นวารหาธิคุณ
คำว่า นวอรหาธิคุณ แปลว่า พระคุณของพระพุทธเจ้าเก้าประการ มีบทว่า "อรหํ"
เป็นต้น คำว่า นวารหาธิคุณ แปลว่า พระคุณอันยิ่งของพระอรหันต์เก้าบท
พระพุทธคุณเก้าบทนั้น มีโดยย่อดังนี้
๑. อรห ํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือ กิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
๒. สมฺมาสมฺ พุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
๓. วิชฺชา จรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ
๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดูแล้ว
๕. โลก วิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษ พึงฝึกได้ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งไปกว่า
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสาน ํ เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว
๙. ภควา เป็นผู้มีโชค
หน้า ๙๔๕๙
๒๗๕๖. นวังคสัตถุศาสน์
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ มีองค์เก้าคือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ
๑. สุตตะ
ได้แก่ ระเบียบคำที่ยกข้อธรรมขึ้นแสดง แล้วบรรยายข้อธรรมนั้นๆ ให้ประจักษ์
๒. เคยยะ ได้แก่
ระเบียบคำที่เป็นไวยากรณ์ เป็นคาถาบ้าง ปนกัน จะกล่าวว่าเป็นคำร้อยแก้วบ้าง
ร้อยกรองบ้างปนกันก็ได้
๓. เวยยากรณะ
ได้แก่ ระเบียบคำที่เป็นร้อยแก้วล้วน ไม่มีคาถาปน
๔. คาถา ได้แก่
ระเบียบคำที่ผูกขึ้นให้งาม และไพเราะด้วยอักขระอันประกอบด้วยลักษณะคำเป็นคณะ
จำกัดด้วย ครุ ลหุ ทั้งที่เป็นวรรณพฤติ และมาตราพฤติ เป็นคาถาล้วน
๕. อุทาน
ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงเปล่งออกเป็น ไวยากรณ์ ก็มี แต่ส่วนมากเป็นคาถา
๖. อิติวุตตกะ ได้แก่
ระเบียบคำที่ทรงยกธรรมบทใดบทหนึ่งขึ้น ตั้งเป็นประธานไว้แล้วตรัสอธิบายความในข้อธรรมนั้น
ๆ สุดท้ายตรัสเป็นคำนิคม (คำสรุปท้าย) กำกับไว้อีก
๗. ชาดก
ได้แก่ ระเบียบคำที่ทรงแสดงถึงบุรพจริยาคือ ความประพฤติที่เคยทรงทำมาแต่ปางก่อน
รวมถึงบุรพจริยาของพระสาวกด้วย
๘. อัพภูตธรรม
ได้แก่ ระเบียบคำอันแสดงถึงเหตุที่อัศจรรย์อันไม่เคยมี
๙. เวทัลละ
ได้แก่ ระเบียบคำถามและคำตอบ ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง ซึ่งผู้ถามและผู้ตอบให้ความรู้แจ้ง
และความยินดีเป็นลำดับขึ้นไป
หน้า ๙๔๖๒
๒๗๕๗. น่อง - ยาง
เป็นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง ๔๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือรูปกระสวยกลาย ๆ ค่อนข้างแน่นทึบ
ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวติดเวียนสลับตามกิ่ง ใยรูปขอบขนานหรือมน ดอกเพศตัวผู้ดอกเล็ก
รวมกันเป็นก้อนกลม ออกตามง่ามใบ อาจเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก
ๆ ละ ๑ - ๓ ช่อ ดอกเพศเมียออกตามง่ามใบเช่นกัน และมักอยู่สูงกว่าดอกเพศผู้ในกิ่งเดียวกัน
รูปทรงรี ๆ แล้วจะเจริญกลายเป็นผลต่อไป
เนื่องจากยางน่องมีสารบางอย่างที่เป็นพิษถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ ชาวพื้นเมืองสมัยก่อนจึงนิยมไปชุปปลายลูกธนู
หรือหอก ไว้ยิงสัตว์หรือศัตรู
หน้า ๙๔๖๕
๒๗๕๘. นอต
เป็นหน่วยแสดงอัตราเร็ว หรือความเร็วของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามระบบการเดินเรือซึ่งเท่ากับหนึ่งไมล์ทะเล
(๑.๘๕๒ กิโลเมตร ) ต่อชั่วโมง
หน้า ๙๔๖๗
๒๗๕๙. น้อย ๑ - พระยา
เป็นชื่อของกษัตริย์แห่งเมืองพะโค (หงสาวดี) พระยาน้อย เมื่อปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว
ได้รับเฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าราชาธิราช"
มีเรื่องกล่าวอยู่ในหนังสือ "ราชาธิราช" ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
หน้า ๙๔๖๗
๒๗๖๐. น้อย ๒
เป็นชื่อแม่น้ำแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากแพรกในท้องที่ อ.เมือง ฯ จ.ชัยนาท
แล้วไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาในท้องที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำน้อยกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๔๕ กม. มีน้ำตลอดปี
หน้า ๙๔๗๑
๒๗๖๑. น้อยหน่า
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒ - ๓ เมตร ใบบางยาวรี ประมาณ ๕ - ๑๕ ซม. กว้าง ๓
- ๖ ซม. ดอกมักออกเดี่ยว แต่อาจออกเป็นกระจุก ๑ - ๔ ดอก ก็ได้สีเหลืองแกมเขียว
ผลเกือบกลม โตเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ ซม. สีเขียวด้าน ๆ ผิวนูนเป็นตา ๆ เวลาสุกจะน่วม
เนื้อในผลหนา หยาบ สีขาวแกมเหลือง รสหวาน เมล็ดมีมาก สีดำ ฝังจมในเนื้อ
หน้า ๙๔๗๒
๒๗๖๒. น้อยโหน่ง
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูง ๔ - ๖ เมตร ใบออกเรียงสองข้างกิ่ง สลับกัน
รูปใบมนยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้าง ๔ - ๗ ซม. ดอกสีเหลืองแกมเขียว มักออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก
๑ - ๔ ดอก
ผลเกือบกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ - ๑๒ ซม. เปลือกบางแต่เหนียว ผิวเปลือกเรียบ
สีเขียวจาง ๆ มีแดงเรื่อ ๆ ปน เนื้อในผลหนา สีขาว หยาบ รสหวาน เมล็ดมีมาก
สีดำ ฝังจมในเนื้อ
หน้า ๙๔๗๓
๒๗๖๓. นอร์ติก
เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะยาว ผมสีแดง ตาสีทอง และผิวขาว
ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรสแกนดิเนีเวีย และเขตใกล้เคียงของทวีปยุโรป ชนเผ่านี้ถือกันว่าเป็นพวกบริสุทธิ์
ได้แก่ ชาวสวีเดน ฟินแลนด์ ถัดมาชาวนอร์เว เดนมาร์ก ชาวอังกฤษ ในภาคเหนือของประเทศ
และหมู่เกาะตะวันตก ของสกอตแลนด์
หน้า ๙๔๗๓
๒๗๖๔. นอร์มัน
เป็นพวกนอร์ส ที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงมอบให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นนอร์มังดี
ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในปี พ.ศ.๑๔๕๔ พวกนอร์สใช้ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้ยกกองทัพไปตีอังกฤษ และส่วนหนึ่งของเวลส์ และไอร์แลนด์
ดังปรากฎในปี พ.ศ.๑๖๐๙ พระเจ้าวิลเลียม วิชิตราชตีอังกฤษได้และสถาปนาราชวงศ์ปกครองประเทศนั้นสืบต่อมา
พวกนอร์มันยังได้กระจายไปอยู่ในสกอตแลนด์ และตีได้ภาคใต้ของอิตาลี ซิซิลี
และมอลตา นอกจากนี้ยังได้แสดงบทบาทเด่นพวกหนึ่งในสงครามครูเสด ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่
๑๙ พวกนอร์มันที่ตั้งหลักแหล่งในประเทศใด ก็กลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้น
หน้า ๙๔๗๔
๒๗๖๕. นอร์สหรือนอร์สเมน
เป็นพวกไวกิง สังกัดชนเผ่านอร์ดิกในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ถิ่นเดิมของพวกนอร์สคือนอร์เว
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗ ได้แล่นเรือไปปล้นสะดมหรือตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ ไอร์แลน
ฝรั่งเศสและไอซ์แลนด์ บางพวกได้อพยพไปอยู่ในรุสเซีย และกรีนแลนด์
หน้า ๙๔๗๔
๒๗๖๖. นักขัตฤกษ์ มีบทนิยามว่า
"งานรื่นเริงตามฤดูกาล" คำนี้หมายความว่าการเล่นรื่นเริง ที่ประชาชนในถิ่นนั้น
ๆ กำหนดขึ้นในฤดูกาลนั้น ๆ ที่เหมาะแก่ถิ่นนั้น ๆ แล้วถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาไม่ขาดสาย
หน้า ๙๔๗๔
๒๗๖๗. นักคุ้ม เป็นชื่อนายทหารคนหนึ่ง
มีลักษณะเป็นคนซื่อตรง ใจกล้า รักษาวาจา มีชื่อปรากฎในหนังสือพงศาวดารเหนือ
ของพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ว่า "นักคุ้ม คุมเกวียน ๕๐ เล่ม กับไพร่ ๑,๐๐๐
มาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์"
ชื่อนักคุ้มนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ได้ทรงนำมาใช้ในเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน
ให้เป็นข้าหลวงของพระเจ้าพันธุมสิริยวงศ์ไปทวงส่วยน้ำที่เมืองละโว้ ในราวปี
พ.ศ.๑๗๘๐ หน้า
๙๔๗๕
๒๗๖๘. นักธรรม
มีบทนิยามว่า "ผู้รู้ธรรม ผู้สอบความรู้ได้ตามหลักสูตรที่กำหนดสามชั้นคือ
ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก" คำนักธรรมเดิมหมายถึงนักบวชทั่วไปซึ่งมีมาแต่ก่อนพุทธกาลที่รู้จักกันว่าฤษีชีไพร
ฤาษีถ้าได้สำเร็จณานก็เรียกว่านักสิทธิวิทยาธร ที่เรียกกันว่าเพทยาธร ก็เป็นนักบวชทั้งนั้น
หน้า ๙๔๗๖
๒๗๖๙. นักษัตร ๑
เป็นคำสันสกฤต แปลว่ากลุ่มดาวหรือดวงดาว แต่ในที่นี้นักษัตรเป็นคำเรียกเวลารายปี
โดยมีกำหนด ๑๒ ปีเป็นหนึ่งรอบ แต่ละปีมีรูปสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำเช่น
นักษัตร หรือปีชวดมีหนูเป็นเครื่องหมาย เป็นต้น
ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียหลายประเทศ มีวิธีนับปีหรือกำหนดปี โดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย
เครื่องหมายเหล่านี้มีสิบสองเหมือนกัน เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน (หรือใกล้เคียงกัน)
และมีลำดับก่อนหลังอย่างเดียวกัน ประเทศและชนชาติดังกล่าวได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา
มอญ เวียดนาม จาม จีน ญี่ปุ่น และทิเบต
มีหลักฐานว่าไทยใช้ปีนักษัตรมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่
๑ ด้านที่ ๓,๔ มีกล่าวถึงปีมะโรง ปีกุน และปีมะแม
วิธีคำนวณว่า พ.ศ.ใด จะตรงกับปีนักษัตรใด ให้เอาปี พ.ศ.ตั้งหารด้วย ๑๒ แล้วเอาเศษมาเทียบดังนี้
เศษ ๑ ปีนั้นตรงกับปีมะเมีย เศษ ๒ ปีมะแม เศษ ๓ ปีวอก เศษ ๔ ปีระกา เศษ ๕
ปีจอ เศษ ๖ ปีกุน เศษ ๗ ปีชวด เศษ ๘ ปี ฉลู เศษ ๙ ปีขาล เศษ ๑๐ ปีเถาะ เศษ
๑๑ ปีมะโรง ลงตัวไปเหลือเศษปีมะเส็ง
คนโบราณใช้วิธียืดรอบ ๑๒ ปีนี้ออกไปโดยอาศัยรอบ ๑๐ ปี มาประกอบกับรอบ ๑๒
ปี จะทำให้การนับปีไม่ซ้ำกันจนครบรอบ ๖๐ ปี พงศาวดารไทยใช้วิธีนับรอบ ๑๒ ปี
คู่กับ ๑๐ ปี อย่างนี้มานาน วิธีเรียกชื่อปีนักษัตร ตามแบบของไทยนั้น เอาปีนักษัตรขึ้นต้นแล้วตามด้วยเลข
๑ ถึง ๐ ซึ่งในกรณีของไทยนั้น ได้เอามาจากเลขสุดท้ายของปีจุลศักราช ชื่อเลขสุดท้ายของจุลศักราชที่ใช้ในการเรียกชื่อปีนั้น
ใช้ศัพท์บาลี สันสกฤต ดังต่อไปนี้ เอกศก โทศก ตรีศก จัตวาศก เบญจศก ฉศก สัปตศก
อัฐศก นพศก และสัมฤทธิศก
หน้า ๙๔๗๗
๒๗๗๐. นักษัตร ๒
ได้แก่ กลุ่มดาวที่อยู่ตามเส้นทางโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งมีอยู่ ๒๗ กลุ่มด้วยกันอย่างหนึ่ง
และตามวิชาโหราศาตร์ของอินเดีย ซึ่งหมายถึงระยะของจักรราศีในท้องฟ้าที่มีอยู่
๒๗ ช่วงด้วยกัน เรียงตามลำดับจากตะวันออก แต่ละช่วงกว้าง ๑๓ องศา ๒๐
ลิบดา อีกอย่างหนึ่งตามความหมายหลังนี้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่าง
ๆ จะโคจรผ่านระยะต่าง ๆ เหล่านี้ในอัตราความเร็วต่าง ๆ กันไป
รายขื่อกลุ่มดาวนักษัตรที่สมบูรณ์เท่าที่ทราบในปัจจุบันมีอยู่สามรายชื่อด้วยกันได้แก่ของอินเดีย
ของอาหรับ และของจีน
ชาวอินเดียโบราณนั้นเห็นว่าดวงจันทร์โคจรไปจากกลุ่มดาวนี้ในคืนนี้และไปอยู่ในบริเวณของกลุ่มดาวกลุ่มต่อไปในวันรุ่งขึ้น
จึงเกิดความคิดว่า กลุ่มดาวหรือนักษัตรแต่ละกลุ่ม ควรจะมีพื้นที่หรือขอบเขตขยายออกไปให้กว้างขวางกว่าเดิม
จึงได้มีการแบ่งจักรราศีของท้องฟ้าออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนให้ชื่อเรียกว่า
นักษัตรทั้งหมด มี ๒๗ ส่วนด้วยกัน เหตุที่มี ๒๗ ช่วงนั้น เพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบจักรราศีครบ
๓๖๐ องศา ในเวลา ๗ วัน นั้นประการหนึ่ง และเพราะว่าการแบ่งจักรราศีออกเป็น
๒๗ ส่วน ย่อมทำให้แต่ละส่วนมีระยะกว้างคิดเป็นมุมได้ลงตัวพอดี (คือ ๘๐๐ หรือ
๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา) นั้นอีกอย่างหนึ่ง
ดวงจันทร์โคจรผ่านนักษัตรต่าง ๆ ทั้ง ๒๗ นักษัตร (๓๖๐ องศา ของจักรราศี) ในเวลา
๒๗ วัน ๗ ชั่วโมง ๔๓ นาที ๑๑.๕ วินาที เมื่อเป็นเช่นนี้ดวงจันทร์ในเวลาแต่ละปีจึงไม่เต็มดวง
ในนักษัตรที่เป็นชื่อของเดือน แต่จะล้าหลังตามไม่ทันปีละ ๑๐.๗ องศา ซึ่งจะห่างเพิ่มขึ้นตามลำดับในแต่ละปี
กว่าจะกลับมาครบรอบก็ต้องใช้เวลาถึง ๓๐ ปีเศษ
หน้า ๙๔๘๖
๒๗๗๑. นั่งเกล้า
(ดูเจษฎาบดินทร์ ลำดับที่ ๑๔๙๘)
หน้า ๙๔๙๕
๒๗๗๒. นันทบุเรง - พระเจ้า
มีพระนามเดิมว่ามังชัยสิงห์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง และดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา
ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระองค์ทรงตั้งมังกะยอชวา พระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชา
ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพไปตีพม่า ณ กรุงหงสาวดี ครั้งที่สอง
พระเจ้าตองอู ทูลเชิญพระเจ้านันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพตามไปเมืองตองอู
แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ครั้นเสบียงอาหารขาดแคลนจึงยกทัพกลับ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๓
ฝ่ายพระสังกะทัต (นัตจิงหม่อง) ราชบุบตรและรัชทายาทพระเจ้าตองอู เห็นว่าตราบใดที่พระเจ้านันทบุเรงประทับอยู่
ณ เมืองตองอู สมเด็จพระนเรศวร ฯ คงจะกลับมาตีเมืองตองอูอีก จึงหาทางกำจัดพระองค์โดยลอบวางยาปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง
ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ ภายหลังจากที่ได้เสด็จไปอยู่เมืองตองอูได้แปดเดือน
หน้า ๙๔๙๕
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้านันทบุเรง เจ้านายพม่าที่เคยเป็นประเทศราชก็ได้เป็นอิสระรบชิงอำนาจกัน
ในที่สุดเจ้าชายนะยองสาม ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง สามารถปราบคู่แข่งได้หมดแล้ว
ทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา
หน้า ๙๕๑๐
๒๗๗๓. นันทวัน
เป็นชื่อสวนสวรรค์ของพระอินทร์ในชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกในสวนนั้นมีสระโบกขรณีใหญ่
ชื่อ นันทาโบกขรณี สวนนันทวันเป็นสวนสวรรค์คู่บารมีของสุนันทาเทพธิดา ผู้เป็นมเหสีองค์ที่สามของพระอินทร์
หน้า ๙๔๙๙
๒๗๗๔. นันทะ
เป็นชื่อราชวงศ์อินเดีย มีกษัตริย์สืบวงศ์เก้าองค์ครองราชย์ ณ กรุงปาฏลีบุตร
(ปัตนะในปัจจุบัน) เป็นใหญ่อยู่ในชมพูทวีป เมื่อประมาณก่อน พ.ศ.๒๒๐
ประวัติของราชวงศ์นันทะเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์โมริยะอันเป็นราชวงศ์ยิ่งใหญ่ของราชาจันทรคุปต์
พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช
ความมีว่า มีผู้กล้าหาญคนหนึ่งชื่อมหานันทิน เป็นใหญ่อยู่ในขอบเขตกรุงปาฏลีบุตร
มีลูกน้องคู่ใจชื่อมหาปัทมะมาจากตระกูลต่ำ แต่เป็นคนฉลาดและมีฝีมือ ต่อมาเกิดมีโจรมาปล้นทรัพย์เศรษฐีในกรุงปาฏลีบุตร
มหาปัทมะได้แสดงความสามารถปราบโจรได้ ประชาชนพากันยกย่อง ในที่สุดก็ได้ประกาศยกตนขึ้นเป็นกษัตริย์เปลี่ยนนามใหม่ว่ามหาปัทมานันทะ
ตั้งราชวงศ์นันทะขึ้นมาแต่ครั้งนั้น ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง กษัตริย์มหาปัทมานันทะครองราชย์จนพระชนมายุได้
๖๐ พรรษา ทรงเห็นภัยในราชสมบัติอันเกิดจากความรังเกียจของพวกพราหมณ์ ที่เห็นว่าพระองค์มาจากตระกูลต่ำ
และไปยกย่องนักพรตเชนซึ่งเป็นข้าศึกของพราหมณ์ จึงทรงสละราชสมบัติออกเป็นสันยาสีแสวงธรรม
พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็ถูกชิงบัลลังก์ โดยน้ำมือของจันทรคุปต์
แล้วตั้งวงศ์โมริยาขึ้นใหม่
หน้า ๙๕๐๐
๒๗๗๕. นันทา
เป็นชายาท้าวคนธรรม์นุราช เจ้าเมืองดิศศรีสินในเรื่องรามเกียรติ์มีโอรสชื่อท้าววิรุฬพัท
หน้า ๙๕๐๓
๒๗๗๖. นันโทปุนันทสูตร
เป็นชื่อวรรณคดีเรียกเต็มว่า นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระราชนิพนธ์เล่มหนึ่งของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ฯ (กุ้ง) เป็นวรรณคดีเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื้อเรื่องเดิมอยู่ในคัมภีร์อรรถกกา
แห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีของธรรมปาล) พระองค์แต่งจบเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่
ณ วัดโคกแสง วิธีแต่งทรงเลียนแบบมหาชาติคำหลวง คำประพันธ์ที่ทรงใช้เป็นร่ายยาวโดยตลอด
เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวก จำนวน
๕๐๐ องค์ เสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยเหาะข้ามศรีษะพญานาคที่มีชื่อว่า
นันโทปนันทนาคราช ทำให้พญานาคโกรธจึงเนรมิตกายให้มีขนาดใหญ่โตเข้าพันเขาพระสุเมรุปิดกันทางไปยังดาวดึงส์เสีย
พระโมคคัลลานะอาสาต่อสู้กับพญานาคด้วยฤทธิ์จนในที่สุดพญานาคยอมแพ้แล้วพามาเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อได้ฟังคำสอนแล้วยอมตนเป็นสาวก และตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ตั้งแต่นั้นมา
หน้า ๙๕๐๓
๒๗๗๗. นา
มีบทนิยามว่า "พื้นที่ราบทำเป็นคันสำหรับปลูกข้าว" โดยนัยนี้นาก็คือพื้นที่ราบมีคันดินกั้นไว้โดยรอบเป็นกระทง
ๆ สำหรับขังน้ำไว้หล่อเลี้ยงต้นข้าว
แต่เดิมนา หมายถึง ที่ปลูกข้าวอย่างเดียว ในปัจจุบัน คำ "นา" ได้ขยายความหมายออกไปและใช้กันแพร่หลายว่า
นากุ้ง นาผักกระเฉด และนาอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
นามีหลายอย่าง เช่น นาคู่โค นาดำ นาปรัง นาปี นาฟางลอย นาเมือง นาสวน นาหว่าน
หน้า ๙๕๐๔
๒๗๗๘. นาก ๑
เป็นโลหะผสมสีทองปนแดง เกิดจากการเอาโลหะทอง เงิน และทองแดง มาผสมเข้าด้วยกัน
ประโยชน์ของนากใช้ทำรูปพรรณเครื่องประดับต่าง ๆ
หน้า ๙๕๐๖
๒๗๗๙. นาก ๒
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ชอบอยู่และหากินในน้ำ นากชอบอยู่ในโพรงดินตามริมฝั่ง
นากรู้จักย้ายถิ่นไปหากินตามลำน้ำใกล้เคียง ส่วนมากชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ระหว่างพ่อแม่และลูก
ๆ
นากในประเทศไทยมีอยู่สี่ชนิดคือ นากเล็กเล็บแบน นากใหญ่ธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ
และนากใหญ่ขนหนวด
หน้า ๙๕๐๖
๒๗๘๐. นากลาง อำเภอขึ้น
จ.อุดรธานี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาประมาณร้อยละ
๔๐ นอกนั้นทำไร่
อ.นากลาง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขึ้น อ.หนองบัวลำภู ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒
หน้า ๙๕๐๗
๒๗๘๑. นาแก
อำเภอ ขึ้น จ.นครพนม ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นโคกหินแร่มีป่าและเขา เดิมตั้งที่ว่าการที่
ต.หนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ครั้นยุบเมืองมุกดาหารเป็นอำเภอไปขึ้น จ.นครพนม
จึงย้ายอำเภอนี้จาก ต.หนองสูง ไปตั้งที่ ต.นาแก แล้วเปลี่ยนชื่อตำบลตามที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
หน้า ๙๕๐๗
๒๗๘๒. นาค ๑
เป็นชื่อมนุษย์เผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาชื่อเดียวกัน อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัสสัม
มนุษย์เผ่านาค มีอยู่หลายสาขา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน มีจำนวนทั้งหมดไม่เกินหนึ่งล้านคน
แผ่นดินที่ชนชาวเผ่านาคเข้าครอบครอง ได้รับการยกฐานะจากรัฐบาลอินเดีย ขึ้นเป็นรัฐที่
๑๔ เรียกว่านาคาแลนด์ มีอำนาจปกครองตนเองเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๕ หน้า
๙๕๐๘
๒๗๘๓. นาค ๒ - มหา
เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ที่วัดภูเขาทอง และมีบทบาทในการช่วยทำนุบำรุงการป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้แข็งแรงมั่นคงยิ่งกว่าแต่ก่อน
ในระหว่างที่กองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๐๙๑
มหานาคได้ลาสิกขาออกมาช่วยราชการ โดยชักชวนญาติโยมและศิษย์ เป็นกำลังร่วมมือกันขุดคลองคูพระนครทางด้านเหนือเพื่อให้ไกลจากระยะปืนใหญ่
ที่ข้าศึกอาจใช้ยิงวังหลวง คนทั่วไปเรียกคลองนั้นว่า คลองมหานาค
หน้า ๙๕๑๐
๒๗๘๔. นาค ๓
เป็นสัตว์ในนิยาม บางท่านกล่าวว่า นาคเป็นตัวเดียวกับเงือก
เพราะในภาษาไทยอาหมแปลคำเงือกว่า
นาคน้ำ ภาษาไทยขาวแปลว่า
งู ตามนิยายอยู่ตามห้วย
ภาษาไทยปายีในประเทศจีนแปลว่ามังกร แต่ภาษาไทยภาคอีสานคำว่าเงือกเป็นบริวารของนาคซึ่งจำแลงแปลงตัวได้ต่าง
ๆ เช่นเดียวกับนาคซึ่งเป็นใหญ่ ทางภาคพายัพถือว่าเงือกคือ งูหงอน
หน้า ๙๕๑๒
๒๗๘๕. นาคทวีป
เป็นดินแดนตอนเหนือของประเทศศรีลังกา เคยเป็นราชธานีของพวกชนเผ่านาค ซึ่งเป็นชาวศรีลังกาดั้งเดิมมาก่อน
ประเทศศรีลังกาดั้งเดิมเรียกกันโดยทั่วไปว่า เกาะลังกา
ประชาชนชาวลังกาดั้งเดิมมีเผ่าสำคัญสองเผ่าคือ
เผ่ายักษ์ เผ่าหนึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในที่สูงจึงมักอยู่ข้างตอนกลางของเกาะ มีราชธานีที่ผู้เป็นใหญ่ของพวกยักษ์ปกครองเรียกว่า
ลังกาบุรี
อีกพวกหนึ่งเรียกว่าพวกนาค
นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่ำ เรียกชื่อราชธานีว่านาคทวีป
หน้า ๙๕๑๓
๒๗๘๖. นาคบาศ
เป็นชื่อศรของอินทรชิตในเรื่องรามเกียรติ์ และชื่อบ่วงของพาณาสูรราชาแห่งโสณิต
ศรนาคบาศเป็นศรที่พระพรหมประทานให้อินทรชิต เมื่อยังเป็นท้าวรณพักตร์
หน้า ๙๕๑๖
๒๗๘๗. นาคปรก
เป็นชื่อปางพระพุทธรูปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคปรก"
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอยู่เบื้องบนพระเศียรมีอยู่สองแบบคือ
แบบหนึ่ง ประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในขนดพญานาค
พระพุทธรูปปางนี้มีตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธเจ็ดวันแล้ว
พระองค์ได้เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ชื่อว่ามุจลินท์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้
บังเอิญในเวลานั้นเกิดมีฝนตกพรำตลอดเจ็ดวัน พญามุจลินท์นาคราชออกจากพิภพมาทำขนดล้อมพระวรกายเจ็ดชั้น
แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกันฉัตรถวาย ครั้นฝนหายขาดแล้วจึงคลายขนดออกแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนอัญชลีกราบนมัสการพระพุทธองค์
ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นใจความว่า
"ความสงัดเป็นสุขของบุคคล ผู้มีธรรมอันสดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างไรความเป็นคนไม่เบียดเบียนคือ
ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้
เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวคนให้หมดได้นี้เป็นสุขในโลก"
พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันเสาร์
หน้า ๙๕๑๖
๒๗๘๘. นาคปุระ
เป็นชื่อเมืองศูนย์กลางการปกครองของเขตนาคปุระ และสาขาอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์
ตอนกลางของประเทศอินเดีย เป็นนครโบราณที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนาค
หน้า ๙๕๒๐
๒๗๘๙. นาคราช
เป็นชื่อที่ใช้เรียกเฟิน หลายชนิดซึ่งมีลักษณะลำต้นเลื้อยเป็นเถา เกาะติดตามต้นไม้ตามหิน
ตามดิน ฯลฯ และมีเกล็ดรอบลำต้น ดูคล้ายเกล็ดงู
หน้า ๙๕๒๑
๒๗๙๐. นาคเสน
เป็นชื่อพระเถระรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์อินเดีย
ระหว่างปี พ.ศ.๔๕๐ - ๕๕๐
ในคัมภีร์มิลินทปัญญากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่บ้านกชังคลคามเป็นบุตรพราหมณ์
เมื่อเรียนจบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์อิติหาสะและนิคัณฑุศาสตร์ และได้ศึกษาศิลปะสิบแปดประการมีความรู้ความชำนาญแต่ยังหนุ่ม
เมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้ช่วยบิดามารดาทำกิจการ ประพฤติตนเรียบร้อย มีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง
เอื้อเฟื้อเพื่อแผ่แก่คนทั่วไป เป็นที่รักใครของบิดา มารดาญาติมิตร เป็นผู้สติปัญญาเฉียบแหลมว่องไว
พูดจาไพเราะชอบแสดงลัทธิของตน ต่อมาได้พบกับพระโรหนเถระ
ผู้เป็นพระอรหันต์ได้ถามปัญหาในเรื่องไตรเพทเวทางคศาสตร์
ท่านแก้ได้ไม่ติดขัด พระโรหนเถระถามปัญหาในพุทธมนต์ นาคเสนกุมารตอบไม่ได้จึงขอเรียน
พระโรหนเถระว่าต้องบวชจึงจะสอนให้ได้ เมื่อบวชเป็นสามเณรพระโรหนเถระฝึกหัดเบื้องต้นให้
เมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุได้อุปสมบทในสำนักพระโรหนเถระ เมื่อได้เรียนรู้ในคันถธุระแล้ว
ก็ได้ฝึกสอนในวิปัสนาภูมิต่อไป พระนาคเสนพยายามฝึกตนจนได้บรรลุอรหันต์แล้ว
อาจาย์และอุปัชฌายะได้ส่งไปพบพระยามิลินท์
ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาติอินโด - กรีก (ดูเรื่อง มิสินท์ - ลำดับที่....) ยกเข้ารุกรานอินเดีย
จะเอาอินเดียทั้งหมดไว้ในปกครอง แต่จะไม่ใช้วิธีรบ จะใช้วิธีทำลายลัทธิโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ในที่ต่าง
ๆเข้ามาถึงเมืองปาฏลีบุตร ไม่มีผู้ใดจะแก้ได้
ในที่สุดได้เสด็จมาพบพระนาคเสน ได้ปุจฉาวิสัชนากันในปัญหาพระพุทธธรรม ทรงพอพระทัยและเลื่อมใสในพระนาคเสน
ยอมมอบพระองค์เป็นศิษย์ ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกคนสำคัญพระองค์หนึ่ง
ทรงเป็นธรรมราชาทรงปกครองโดยธรรม ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า
ในหนังสือชินกาลมาลินี ฉบับหอพระสมุดกล่าวว่า พระนาคเสนกับพระยามิสินท์เป็นผู้เริ่มสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่าแบบคันธารราฐ
เป็นศิลปะอินเดียยุคแรก
หน้า ๙๕๒๒
๒๗๙๑. นาคารชุน เป็นพระมหาเถรรูปหนึ่ง
ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หนึ่งในจำนวนสิบสี่รูป ในประวัติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
เป็นผู้ประกาศธรรมสายกลางตามชื่อของนิกายว่า มัธยามิกะ
ซึ่งอยู่ในสายของปรัชญาสุญวาท
(ดูคำสุญวาท - ลำดับที่... ประกอบ...)
พระนาครชุนเกิดในวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองวิทรรพ์, ในอินเดียตอนใต้ ตามตำราฝ่ายจีนเล่าว่า
ตระกูลของท่านเป็นชาวอินเดียตะวันตก เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๗๐๐ ได้เล่าเรียนคัมภีร์พระเวทจนจบ
ต่อมาได้ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนากับท่านกษิมาลา ผู้เป็นศิษย์คนโปรดของท่านอัศวโฆษ
ปฐมาจารย์ฝ่ายมหายาน บำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นพญางูและได้นามว่า
"นาคารชุม" เพราะนิมิตนี้ ท่านได้อุปสมบทในสำนักของอาจารย์ และมีชื่อเสียงมากในการโต้ปัญหาปรัชญา
สุญวาทกับบรรดาพราหมณาจารย์ในอินเดียภาคใต้เป็นพระเถระองค์แรก ที่ประกาศทิฐิว่าด้วยอมิตาภพุทธเจ้า
และเป็นปฐมาจารย์ผู้ตั้งทรรศนะมัธยามิกะ (ดูมัธยามิกะ-ลำดับที่ ...ประกอบ)
พระนาคารชุนปฏิเสธคำสอนในศาสนาพราหมณ์อันเกี่ยวกับสุญตาข้างสุดโต่งทั้งสองข้าง
เป็นฝ่ายประนีประนอมตามสายกลาง โดยแสดงทรรศนะว่า วิญญาณสูญหรือไม่สูญไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
วิญญาถาวรหรือไม่ถาวรไม่ใช้ทั้งสองอย่าง เมื่อความตายเกิดขึ้นและจะว่าวิญญาณดับ
หรือไม่ดับก็ไม่ใช้ทั้งสองอย่าง ท่านอธิบายถึงความไร้แก่นสารของสิ่งทั้งหลาย
แม้แต่อาตมันตามคติของพราหมณ์ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นนามหรือรูปจึงตกอยู่ที่สูญ
(สุญตา) ทั้งหมด สุญตาจึงไม่ใช้ทั้งภาวะและอภาวะ
พระนาคารชุนรจนาคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ไม่น้อยกว่าร้อยเล่มที่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากได้แก่
อรรถกกาแห่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร และอรรถกกาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร
(ดูสัทธรรมปุณฑริกสูตร-ลำดับที่... ประกอบ)
ประวัติเกี่ยวกับพระนาคารชุนในตอนหลังยกย่องเป็นทางอิทธิปาฏิหาริย์ถึงกับยกย่องว่าท่านเป็นมหาโพธิสัตว์
หรือพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
ตำนานฝ่ายจีนกล่าวว่า ท่านมีศิษย์สำคัญองค์หนึ่งชื่อ อารยเทพ ศิษย์คนต่อมาชื่อพุทธปาลิต
เป็นผู้สืบต่อปรัชญาของอาจารย์
หน้า ๙๕๒๔
๒๗๙๒. นาคาวโลก
เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า "ปางนาคาวโลก" อยู่ในพระอิริยาบทยืน
พระหัตถ์ซ้ายห้อยยื่นมาข้างหน้า ประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปรกติ
เอี้ยวพระกายผินพักตร์เหลียวไปข้างหลัง เป็นกิริยาทอดพระเนตรนครไพศาลีผิดปรกติ
ตามสามัญชอบพวกว่า "ดูสั่ง"
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์รับสั่งกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีของพระองค์เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
แล้วเสด็จไปประทับยังกูฎาคารศาลา ไปป่ามหาวันสถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตร
พร้อมกับรับสั่งเป็นนิมิตรเช่นนั้น เป็นเจดียสถานอันสำคัญ เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"
คำว่า นาคาวโลก แปลว่าดูอย่างช้าง หน้า
๙๕๒๖
๒๗๙๓. นาคู่โค
(ดูคู่โค-ลำดับที่ ๑๐๙๐)
หน้า ๙๕๓๐
๒๗๙๔. นางกวัก
เป็นไม้ล้มลุกต้นเตี้ย ใบงอกเป็นกระจุกรอบโคนแบบต้นบุกขอน ทั่วไปก้านใบหนา
ตัวใบรูปไข่เกือบกลม ช่อดอกเป็นก้านชูขึ้นไป มีดอกที่ปลายดอกทำนองชีร่ม จำนวน
๒ - ๑๕ ดอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อนรูปไข่หรือเกือบกลม
ส่วนพรรณไม้ที่ทางกรุงเทพฯ เรียกว่า "ว่านนางกวัก"นั้น หาใช่ชนิดเดียวกับต้นนางกวักไม่
หน้า ๙๕๓๐
๒๗๙๕. นางนพมาศ
เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เชื่อกันว่าผู้แต่งคือ นางนพมาศ มีตำแหน่งเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ
พระสนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย หนังสือเรื่องนี้สันนิฐานว่า เนื้อเรื่องบางตอนคงจะเป็นของเดิมที่แต่งมาแต่สมัยสุโขทัย
เช่น ตอนที่กล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ และมีข้อความที่แสดงว่าเป็นสำนวนใหม่
ที่แต่งซ่อมแซมขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ความตอนที่กล่าวถึงชนชาติต่าง
ๆ มีกล่าวถึงชนชาติฝรั่ง มะริกันและบางตอนกล่าวถึงปืนใหญ่ ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีใช้
เนื้อเรื่องมีความตอนต้นกล่าวถึงมนุษย์ชาติต่าง ๆ ต่อมาเป็นประวัติศาสตร์สมัยพระร่วง
โดยสังเขป ประวัตินางนพมาศตั้งแต่ก่อนถวายตัว และความตอนท้ายกล่าวถึงพิธีพราหมณ์ต่าง
ๆ ที่ทำในแต่ละเดือนเริ่มตั้งแต่พิธีจองเปรียง ซึ่งทำในเดือนสิบสองและไปจบลงในพิธีอาศยุธเดือนสิบเอ็ด
หน้า ๙๕๓๒
๒๗๙๖. นางนวล - นก
แบ่งออกเป็นสองวงศ์ย่อย คือ พวกนกนางนวลใหญ่ และพวกนกนางนวลชนิดเล็กลงมา ซึ่งมักเรียกกันว่านกนางนวลแกลบ
นกในวงศ์นี้มีกระจัดกระจายอยู่ในท้องทะเล และมหาสมุทรแทบทั่วไปทุกแห่งในโลก
นกนางนวลใหญ่มีในโลกนี้ ๔๓ ชนิด ในน่านน้ำไทยมีเพียงสองชนิด ส่วนนกนางนวลแกลบมีในโลกนี้
๓๙ ชนิด มีในน่านน้ำไทย ๑๒ ชนิด
หน้า ๙๕๓๒
๒๗๙๗. นางนูน เป็นไม้เถาพบขึ้นปกคลุมต้นไม้ตามป่าชื้น
และป่าดิบทั่วไป รากเป็นหัว และโคนเป็นเถามักมีเนื้อแข็ง ใบเป็นแบบธรรมดา
รูปใบมักเปลี่ยนแปลงตามอายุของต้นไม้ ช่อดอกสั้นมีดอกหนึ่งถึงหลายดอก ปลายช่ออาจกลายเป็นมือยึดเกาะได้
ดอกแยกเพศอยู่ต่างดอกกัน ผลมีเปลือกหนาแข็ง เวลาแก่แตกออกเป็นสามซีก เมล็ดสีดำ
ช่อดอกและผลอ่อนบริโภคได้
หน้า ๙๕๓๗
๒๗๙๘. นางพระกำนัล คือกุลสตรีสาวที่ยังไม่ได้สมรส
ถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทรับใช้ใกล้ชิด และมีหน้าที่ตามเสด็จ ฯ องค์พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์
มีมาแต่โบราณกาล เป็นราชประเพณีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาล
หน้า ๙๕๓๘
๒๗๙๙. นางไม้ เป็นเจ้าผีผู้หญิงที่สิงอยู่ตามต้นไม้
คตินี้ถือร่างต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นที่อยู่ของผีสางเทวดาที่เรียกกันว่ารุกขเทวดา
หรือนางไม้
หน้า ๙๕๓๙
๒๘๐๐. นางแย้ม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก
สูง ๑ - ๑.๕ เมตร กิ่งสี่เหลี่ยมมีปลูกตามบ้านทั่วไป ใบออกตรงข้ามกัน รูปไข่อย่างกว้างปลายใบแหลม
โคนใบเว้าแบบหัวใจ ช่อดอกสั้นแน่น กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอนโคนเป็นหลอดสั้น
ๆ สีขาวหรือสีชมพูเรื่อ ๆ กลิ่นหอม
หน้า ๙๕๔๐
๒๘๐๑. นางรอง อำเภอขึ้น
จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศทางตอนใต้เป็นที่ราบสูงมีป่า และเขามาก ตอนกลางและตอนเหนือเป็นที่ราบสูง
มีห้วยลำธารหลายสาย
อ.นางรองเป็นเมืองเก่าสมัยขอม มีโบราณสถานสมัยนั้นปรากฏอยู่หลายแห่ง มีปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ พระยานางรองเป็นกบฏไปคบคิดกับเจ้าอินเจ้าโอเมืองจำปาศักดิ์ถึงต้องยกทัพไปปราบ
เป็นเหตุให้ได้เมืองจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย และเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดง เมืองตะลุง
เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ด้วย
หน้า ๙๕๔๑
๒๘๐๒. นางรำ
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๕๐ - ๑๒๐ ซม. บางท้องถิ่นเรียกว่า ช้อยนางรำ ช้องนางรำ
(กลาง) ว่านมีดพับ (ลำพูน) ฯลฯ
โดยที่ใบข้างของไม้ชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา จึงได้ชื่อดังกล่าว ใบเป็นแบบใบผสมมีสามใบ
ช่อดอกสั้นออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง แตกแขนงยาว รูปดอกแบบดอกถั่วขนาดเล็ก กลีบดอกสีม่วงอ่อน
เปลี่ยนเป็นสีส้มเวลาแก่ ฝักเล็ก ยาว ๑ - ๔ ซม.งอโค้ง
หน้า ๙๕๔๒
๒๘๐๓. นางเล็ด
เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำเป็นแผ่นกลมโรยน้ำตาลจัดเป็นขนมแห้งมีรสหวานมันกรอบ
หน้า ๙๕๔๒
๒๘๐๔. นางสนองพระโอษฐ์ เป็นสตรีอันมีศักดิ์ที่พระอัครมเหสี
ทรงโปรดเกล้าให้มีหน้าที่รับพระราชเสาวนีย์ไปปฎิบัติ หรือเชิญพระราชเสาวนีย์ไปติดต่อข้อราชการตามพระราชประสงค์
แจ้งต่อข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า เพราะตามราชประเพณีโบราณนั้น นางพระกำนัลจะติดต่อหรือแจ้งพระราชเสาวนียแก่ข้าราชการฝ่ายหน้านั้นไม่ได้
หน้า ๙๕๔๔
๒๘๐๕. นางสิบสอง
เป็นชื่อลูกสาวเศรษฐีและเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิราช แห่งเมืองกุตารนคร
ในเรื่องนิทานชาดกส่วนปัญญาสชาดก
เรื่องนางสิบสองนี้ในตำนานเมืองพระรถ มีนิทานพื้นบ้านคล้ายกับในนิทานชาดกนี้
หน้า ๙๕๔๖
๒๘๐๖. นางหงส์ เป็นชื่อของวงปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง
ใช้สำหรับบรรเลงในงานศพ นอกจากนั้นยังเป็นชื่อเพลงดนตรี ซึ่งบรรเลงประกอบกันขึ้นเป็นชุดเรียกว่า
เพลงชุดนางหงส์อีกด้วย ใช้บรรเลงแต่เฉพาะในงานศพเช่นเดียวกัน
หน้า ๙๕๕๒
๒๘๐๗. นาเชือก
อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
อ.นาเชือกแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๓ โดยยก ต.นาเชือกใน อ.พยัคฆภูมิพิสัยเป็นกิ่งอำเภอ
ขึ้น อ.บรบือ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
หน้า ๙๕๕๓
๒๘๐๘. นาฎกรรม
หมายความถึง การฟ้อนรำ หรือการละคร การฟ้อนรำ
หมายถึงการร่ายรำที่ใช้แขนและมือเป็นส่วนสำคัญมีศรีษะ
หน้า ลำตัว ขา และเท้า เป็นส่วนประกอบ การละคร
หมายเฉพาะแต่การแสดงที่ดำเนินเป็นเรื่องเป็นราวอาจใช้ท่าร่ายรำซึ่งเรียกว่า
ละครรำ หรือการแสดงที่ไม่ใช้ท่ารำใช้เแต่ท่าสามัญชนก็ได้
หน้า ๙๕๕๔
๒๘๐๙. นาฎบุตร
เป็นชื่อเจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวนหกคนที่เรียกว่า
ครูทั้งหก ในสมัยพุทธกาล ชื่อเต็มที่เรียกกับทางพระพุทธศาสนาคือ
นิคัณฐะ นาฏปุตตะ หรือนิครนถ์ นาฏบุตร
นิครนถ์ นาฏบุตร เป็นคนเดียวกับศาสดามหาวีระ
แห่งศาสนาเช่น มีนายเดิมว่า วรรธมานะ เป็นโอรสพระเจ้าสิทธารถ
ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่ากษัตริย์ตระกูลนักฟ้อน พระมารดาเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าเชตกะ
หัวหน้าเผ่าลิจฉวี
นาฏบุตรแก่กว่าพระพุทธเจ้าและผนวชก่อนพระพุทธเจ้า
นิครนถ์ นาฏบุตรดับขันธ์ที่เมืองปาวา และหลังจากนั้นไม่นานสาวกของท่านได้แตกออกเป็นสองพวก
(ดูนิครนถ์ - ลำดับที่ ๒๘๘๙ ประกอบ)
หน้า ๙๕๕๙
๒๘๑๐. นาฏราช
หมายถึง เจ้าแห่งการฟ้อนรำ เป็นสมญานามที่แพร่หลายนามหนึ่ง ของพระศิวะหรือพระอิศวร
ในฐานะที่ทรงเป็นเทพผู้ประทานกำเนิดการฟ้อนรำในโลก
หน้า ๙๕๖๕
๒๘๑๑. นาฏศิลป์ ๑ หมายถึง
ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ หรือศิลปะแห่งการแสดงละคร
หน้า ๙๕๗๒
๒๘๑๒. นาฏศิลป์ ๒ - วิทยาลัย
เป็นชื่อสถานศึกษาของกรมศิลปกรซึ่งสอนวิชาสามัญ และวิชาร้องรำทำเพลง เปิดเรียนเมื่อ
พ.ศ.๒๔๗๗ ในชื่อว่าโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์
สอบวิชาสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการกับวิชานาฏศิลป์ไทย
ดุริยางค์ไทย และคีตศิลป์ไทย ถึงชั้นมัธยมปีที่แปด ต่อมากรมศิลปกรได้รับโอนข้าราชการกรมมหรสพจากกระทรวงวัง
ซึ่งสามารถเป็นครูได้ทั้งทางนาฏศิลป์และช่าง จึงขยายกิจการโรงเรียนขึ้นเป็นสองแผนก
ชื่อว่า โรงเรียนศิลปากรแผนกนาฏดุริยางค์กับแผนกช่าง
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๘๕ โรงเรียนศิลปกรแผนกนาฏดุริยางค์ปรับปรุงหลักสูตรและชั้นเรียนใหม่ให้หนักไปในวิชาศิลปะ
เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสังคีตศิลป์ ปี
พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีการปรับปรุงโรงเรียนอีกครั้งให้มีวิชาเรียนเป็นหกสาขา คือ นาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์สากล (บัลเล่ย์) ดุริยางค์ไทย ดุริยางค์สากล สังคีตศิลป์ไทย และสังคีตศิลป์สากล
กำหนดเรียนเป็นสามชั้น คือ ชั้นต้น หกปี (เทียบ ม.๖) ชั้นกลางสามปี (เทียบ
ป.ป.ช.) ชั้นสูงสองปี (เทียบ ป.ม.ช.) เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น
โรงเรียนนาฏศิลป์ ต่อมาได้รับยกวิทยฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย
ชื่อ วิทยาลัยนาฏศิลป์
หน้า ๙๕๗๖
๒๘๑๓. นาดำ
มีบทนิยามว่า "นาที่มีคันน้ำขังได้ เมื่อไถดะ ไถแปรและคราด ทำเทือกแล้วจึงเอาต้นกล้ามาดำ"
โดยนัยนี้นาดำเมื่อไถดะ ไถแปร และคราดแล้วจะต้องตกกล้าเสียก่อนแล้วจึงถอนกล้าไปปักดำในแปลงนี้จะปักดำโดยทำเป็นขั้นตอนคือ
ทำเป็นร่องตื้น ๆ ห่างกันประมาณ ๑ - ๑.๒๕ เมตร ให้แปลงยาวไปตามทิศทางลม เพื่อให้อากาศบริเวณแปลงตกกล้าถ่ายเทได้สะดวก
ปรับหน้าแปลงให้สม่ำเสมอไม่ให้เป็นแอ่งน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลลงร่องที่เบิกไว้ทั้งหมด
เมื่อปรับหน้าแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงหวานปุ๋ยแล้วจึงหว่านข้าว ที่ได้แช่หนึ่งคืนหุ้มสองคืน
โดยโรยลงบนหลังแปลงไม่เกินแปดถังต่อเนื้อที่หนึ่งไร่ เมื่อกล้าเริ่มตั้งหน่อได้แล้วจึงค่อยๆ
ระบายน้ำเข้าไปในแปลง รักษาระดับน้ำในแปลงตกกล้าให้พอดี อย่าให้ลึกเกินไปหรือน้ำแห้ง
กล้าที่ดีควรมีลำต้นโต ใบค่อนข้างสั้นแต่กว้าง
เมื่อกล้าอายุได้ ๒๕ - ๓๐ วัน ก็ถอนไปปักดำ
หน้า ๙๕๗๗
๒๘๑๔. นาทวี อำเภอ
ขึ้น จ.สงขลา ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ต.นาทวีเคยเป็นที่ตั้ง อ.จะนะมาก่อน
มีอาณาเขตทิศใต้จดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย
ภูมิประเทศทางตะวันออก ทิศใต้และทางตะวันตกเป็นป่ามีภูเขาล้อมรอบ
หน้า ๙๕๗๘
๒๘๑๕. น่าน จังหวัดภาคเหนือ
มีอาณาเขตทิศเหนือ และทิศตะวันออกจดประเทศลาว ทิศใต้จด จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันตกจด
จ.เชียงราย จ.ลำปางและจ.แพร่ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขาทั่ว ๆ ไป
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระธาตุแช่แห้ง ประชากรในจังหวัดนี้นอกจากไทยแล้ว
ยังมีพวก ทิ่น ฮ่อ ขมุ แม้ว เย้า ผีตองเหลือง รวมอยู่ด้วย
จ.น่าน ในพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า ท้าวผากองราชวงศ์ภูคา เมืองปัวเป็นผู้สร้าง
เมื่อปี พ.ศ.๗๓๐ ราชวงศ์ภูคาครองเมืองต่อมาได้ ๑๖ ชั่ว ในระยะเหล่านี้ เมืองน่านได้มาฝักใฝ่อยู่กับพญาเชลียงจึงเสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราช
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๓ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้วอำนาจเชียงใหม่เสื่อมลงจนตกไปเป็นของพม่า
เมืองน่านก็ขึ้นแก่พม่าต่อมา บางคราวเมื่อไทยมีอำนาจก็กลับได้ลานนาไทยคืนมา
จนถึงสมัยพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อลานนาไทยมาขึ้นแก่ไทยแล้ว เมืองน่านก็มาสวามิภักดิ์ต่อไทยด้วย
หน้า ๙๕๗๙
๒๘๑๖. นานกิง เป็นชื่อนครใหญ่แห่งหนึ่งของจีน
เป็นเมืองหลวงของมณฑลเกียงสู ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแยงซี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและคมนาคม
ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน
นานกิงเดิมมีชื่อว่า จินหลิง เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานกว่า ๒,๐๐๐
ปี และมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามยุคสมัย เป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง
(พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๗) ในปี พ.ศ.๑๙๑๑ พระเจ้าไท่จู่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงทรงขนานนามเมืองหลวงนี้ว่ายิ่งเทียน
ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าเฉินจู่ รัชการที่สามแห่งราชวงศ์หมิงได้ย้ายราชสำนักไปตั้ง
ณ กรุงปักกิ่ง (นครหลวงเหนือ) ในปี พ.ศ.๑๙๖๔ เมืองยิ่งเทียนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหนันจิ่ง
(เมืองหลวงใต้) และยังคงเป็นเมืองหลวงแฝดต่อไป เมื่อพวกแมนจูเข้ามายึดครองประเทศจีน
ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็นเจียงหนิง แต่ก็ยังคงนิยมเรียกนานกิงสืบต่อมา
เมืองนานกิงเป็นที่ลงนามในสนธิสัญญานานกิง ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ซึ่งยุติสงครามฝิ่น
เป็นผลให้จีนต้องเปิดเมืองท่าสำคัญห้าเมือง สำหรับการค้ากับต่างประเทศ
เมื่อเกิดขบถไต้เผง (ไท่ผิง) นานกิงเป็นเมืองหลวงของฝ่ายขบถ ตั้งปี พ.ศ.๒๓๙๖
ถึง พ.ศ.๒๔๐๗ และเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิง
ในระหว่างการปฏิวัติของจีน เมืองนานกิงถูกกองทัพปฏิวัติของ ซุนยัดเซ็นยึดได้ในปี
พ.ศ.๒๔๕๔ และใช้เป็นที่ตั้งชั่วคราวของรัฐบาลปฏิวัติในปี พ.ศ.๒๔๗๑ นานกิงเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ก
ในสงครามจีน - ญี่ปุ่น เมืองนานกิงตกเป็นของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลังจากที่รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมือง
จุ้งชิ่ง เมื่อญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนแก่จีนในกรุงนานกิงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว
รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่เมืองนานกิงอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๙
ต่อมาเมื่อนานกิงถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลจีนได้กลับไปใช้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่ง
หน้า ๙๕๘๐
๒๘๑๗. น่านเจ้า
เป็นชื่ออาณาจักรไทย วีรบุรุษไทยผู้หนึ่งชื่อสินุโลได้รวบรวมแคว้นต่าง ๆ ของชาวไทยรวมหกแคว้นตั้งเป็นอาณาจักรน่านเจ้า
(เจ้าฝ่ายใต้) ใกล้เมืองหว่าติงใบ มณฑลยูนนาน อาณาจักรน่านเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๑๑๙๗
พระเจ้าสินุโล
(พ.ศ.๑๑๙๔ - ๑๒๑๗) ได้แต่ทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนแห่งราชวงศ์ถัง
พระเจ้าพีล่อโก๊ะ
(พ.ศ.๑๒๗๑
- ๑๒๙๑) เป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพได้โค่นอำนาจเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหกเข้ามาอยู่ในอำนาจของพระองค์โดยตรง
พระองค์ได้รับความยกย่องจากจีนเป็นอันมาก เคยเสด็จไปสู่ราชสำนักจีน ช่วยจีนทำศึกกับทิเบต
ตลอดจนปราบขบถและโจรผู้ร้ายตามหัวเมือง พระเจ้าโก๊ะล่อฝง
พระราชโอรสพระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๒๙๑ ทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่
เมืองหนองแส หรือตาลีฟู
ในมณฑลยูนนาน
มีสาเหตุให้พระองค์กลายเป็นศัตรูกับจีน นำทัพเข้าตีดินแดนจีน กองทัพจีนพ่ายแพ้ถึงสองครั้ง
ต่อมาพระองค์ได้ไปผูกไมตรีกับทิเบตเพื่อเพิ่มกำลังไว้สู้กับจีน กองทัพจีนบุกรุกดินแดนน่านเจ้าอีกครั้งในปี
พ.ศ.๑๒๙๗ แต่ถูกตีล่าถอยกลับไป
ในปี พ.ศ.๑๓๒๑ พระเจ้าอิโมสุน ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าโก๊ะล่อฝงได้ครองน่านเจ้าระหว่างปี
พ.ศ.๑๓๒๑ - ๑๓๕๑ พระองค์ทรงเปิดฉากโจมตีจีนโดยอาศัยกองทัพทิเบตแต่ถูกตีโต้ล่าถอยกลับมา
ต่อมาพระเจ้าอิโมสุมได้เห็นว่าน่านเจ้าไม่ได้ประโยชน์จากการเป็นไมตรีกับทิเบตจึงมีพระราชสารถึงพระเจ้ากรุงจีนว่า
น่านเจ้าดูเหมือนจะเสียเปรียบในความสัมพันธ์กับทิเบต พอดีเวลานั้นพระเจ้าไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง
โปรดให้เจ้าเมืองเช็งตูเป็นทูตมาทาบทามขอเป็นไมตรีด้วย พระองค์จึงรับเป็นไมตรีกับจีน
ต่อมาในปี พ.ศ.๑๓๓๗ ทิเบตแต่งกองทัพไปตีจีน และขอให้น่านเจ้าส่งกองทัพไปช่วย
แต่กองทัพน่านเจ้ากลับตีกองทัพทิเบต เกิดการบกันที่แม่น้ำสาละวิน กองทัพทิเบตแพ้และเสียเมืองใหญ่น้อยหลายเมืองแก่กองทัพน่านเจ้า
ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าอิโมสุนแล้วมีกษัตริย์ครองน่านเจ้าอีกห้าองค์ น่านเจ้ากลับไปเป็นปรปักษ์ต่อจีน
ครั้นถึงปี พ.ศ.๑๔๒๐ พระเจ้าลุงชุนขึ้นครองราชย์ รู้จักกันโดยพระนามว่า "พระเจ้าฟ้า"
(พ.ศ.๑๔๒๐ - ๑๔๔๐) พระองค์โปรดให้ทำไมตรีกับจีน พระราชโอรสของพระองค์ได้พระราชธิดาเจ้ากรุงจีนเป็นพระชายา
ยังผลให้น่านเจ้ากับจีนสนิทสนมกันยิ่งขึ้นพระเจ้าฟ้า ถูกขันทีลอบปลงพระชนม์
พระเจ้าชุนวาเชง พระราชโอรสของพระเจ้าลุงชุนก็ถูกลอบปลงพระชนม์เช่นเดียวกัน
บ้านเมืองเริ่มเสื่อมลง ฝ่ายจีนแทรกซึมมีอำนาจปกครองเหนือน่านเจ้าขึ้นเป็นลำดับ
ในเวลาเดียวกันชาวจีนสาขาต่าง ๆ เช่น พวกโลโล้ได้อพยพเข้าไปอยู่ในน่านเจ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๖ กองทัพพระเจ้ากุบไลข่านหรือง่วนสีโจ๊วฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หงวนได้เข้าตีอาณาจักรน่านเจ้าได้
น่านเจ้าจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
อาณาจักรน่านเจ้ามีการปกครองเป็นระเบียบ การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็นเก้ากระทรวง
เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสำมะโนครัว
และกระทรวงวังหรือราชประเพณีเป็นต้น อาณาจักรน่านเจ้าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น
๑๐ มณฑล แต่ละมณฑลมีเมืองเอก เมืองโท เมืองตรีและเมืองจัตวา แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองและข้าราชการแผนกต่าง
ๆ ลดหลั่นกันลงมาเป็นสี่ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรีและชั้นจัตวา ข้าราชการได้รับพระราชทานที่นาสำหรับทำกิน
เพื่อหารายได้มากน้อยตามฐานะคล้ายระบบศักดินาของไทย ราษฎรมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของที่ดินตามที่ทางราชการกำหนดไว้
เหมือนกับข้าราชการ และเสียภาษีเป็นสิ่งของ
หน้า ๙๕๘๒
๒๘๑๘. นาน้อย อำเภอขึ้น
จ. น่าน ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบ นอกนั้นเป็นป่าและเขา ในเขต อ.นาน้อย
เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ หลายเมือง คือ เมืองศรีษะเกษ เมืองหิน เมืองสี มีพ่อเมืองปกครองขึ้นนครน่าน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ทางราชการได้ตั้งข้าหลวงไปควบคุมการปกครองเรียกว่า ข้าหลวงประจำบริเวณ
ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ เลิกตำแหน่งนี้แล้วรวมเมืองสามเมืองเข้าเป็นอำเภอเรียกว่า
อ.ศรีษะเกษ ตั้งที่ว่าการที่ ต.นาน้อย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.นาน้อย เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๖
หน้า ๙๕๘๖
๒๘๑๙. นานักคุรุ
เป็นศาสดาผู้ประกาศศาสนาซิกองค์ปฐม (ดูคำ "ซิก" - ลำดับที่ ๑๘๔๓ ประกอบ) ท่านนานักคุรุ
(พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๘๑) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๒ ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งชื่อตัลวันที
ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นานักนคร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลาฮอร์
เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ประมาณ ๔๘ กม. ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ท่านอยู่ในตระกูลพราหมณ์
ท่านมีนิสัยเสียสละมาแต่เดิม เวลาเดินไปไหนจะสำรวม บางครั้งชอบพาเพื่อนเด็ก
ๆ ออกไปในที่สงบเงียบ แล้วชวนให้นั่งสมาธิสวดมนต์ด้วยกัน มีนิสัยชอบสมณะและพราหมณ์
สงสัยสิ่งใดก็ไต่ถามแสวงหาความรู้จนหมดสงสัย จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลายมาแต่เยาว์
เมื่ออายุได้เจ็ดปี ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน ท่านได้แสดงปัญญาสามารถ ไต่ถามความรู้เรื่องพระเจ้าต่ออาจารย์
มีความรู้แตกฉานในคัมภีร์ไตรเพท ตั้งแต่อายุเก้าปี มีความเพียรแรงกล้า ปรารถนาเรียนรู้ศาสนศาสตร์ของเพื่อนบ้าน
จึงศึกษาภาษาเปอร์เซีย (อิหร่าน) เพื่อเรียนรู้ศาสนาปาร์ซี
(ดูคำ "ปาร์ซี-ลำดับที่... ประกอบ) จนเจนจบในวิทยาการนั้น ๆ จนสามารถปุจฉาวิสัชนาได้ในระหว่างคณาจารย์แห่งศาสนาอื่น
ชาวซิกเชื่อกันว่าคัมภีร์ของศาสนาซิกที่เรียกว่า ครันถ์
ได้หลักหลายหลักมาจากคัมภีร์ในศาสนาปาร์ซี
ที่ยังจารึกเป็นภาษาเปอร์เซีย อยู่ก็มีและเชื่อว่าปฐมศาสดาของตนสั่งสอนได้ตั้งแต่อายุเก้าปี
ครูของท่านมีสี่คนมีทั้งที่เป็นพราหมณ์ มุสลิม
นานักได้มีโอากาศเดินทางไกลได้ศึกษาภูมิประเทศ และชีวิตคน และได้แต่งงานเมื่อมีวัยสมควร
นานักตั้งตัวเป็นซิก มุ่งหน้าแต่การศึกษา เมื่อถึงเวลาจะสั่งสอนคนอื่นได้ก็ตั้งตัวเป็นครู
เที่ยวสั่งสอนคนตั้งแต่เป็นแพทย์เที่ยวพยาบาลคน และเที่ยวแนะนำให้คนทั้งหลายอยู่ในความยุติธรรม
ก่อนหน้าที่นานักจะละบ้านเรือนเที่ยวสั่งสอนคน มีประวัติประกอบเป็นสองเรื่องด้วยกัน
เรื่องหนึ่งคือ ระหว่างนั้นเกิดความขัดแย้งแข่งดีกันขึ้น ระหว่างพวกนับถือศาสนาฮินดูกับพวกนับถือศาสนาอิสลาม
มุสลิมใช้อำนาจการเมืองเข้าข่มขี่ชาวฮินดูทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง
ประกอบกับชีวิตครอบครัวไม่ปรกติสุข นานักจึงหลีกหนีไปหาความสงบอยู่ในป่าเมื่ออายุ
๓๖ ปี นานักได้รับปรากฏการณ์ทางจิต ว่ามีผู้ศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่งให้ดื่มน้ำอมฤต
และบอกว่าจะอยู่กับนานักให้นานักทำให้โลกสะอาดเป็นผู้มีเมตตา เป็นผู้สะอาด
ทำใจเป็นสมาธิ และให้นานักเป็นคุรุ (ครู) ของคนทั้งหลาย หลังจากนั้นนานักก็สละสมบัติส่วนตัวทั้งหมด
ท่องเที่ยวไปด้วยเครื่องแต่งกายชุดเดียว
นานักมุ่งแก้ไขความขัดแย้งทุกทางด้วยการยอมตัวเป็นทั้งฮินดูและมุสลิมเพื่อน้อมนำศาสนิกทั้งสองฝ่ายให้ได้คติเป็นกลาง
ท่านสอนว่าซิกเป็นศาสนาของคนทั้งหลาย พระเจ้าเป็นผู้ปราศจากภัย ปราศจากเวร
เป็นผู้สร้างไม่ใช่เป็นผู้ทำลาย ไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิม ไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวฮินดู
เรามีพระเจ้าหนึ่งเดียว ผู้เป็นเจ้าโลก ไม่โปรดวรรณะ หรือลัทธิอันแยกบัญญัติไปแต่ละอย่าง
พระเจ้าไม่มีความเกลียด ไม่มีการแช่งสาป เหมือนพระเจ้าองค์อื่น
ในขณะที่ชาวฮินดูกับมุสลิมวิวาทกันด้วยเรื่องเชื้อชาติและศาสนา ท่านกลับมุ่งมั่นให้ฮินดูกับมุสลิมเลิกรังเกียจเดียจฉันท์กัน
ตามประวัติปรากฏว่าท่านได้เดินทางไปเทศนาออกไปทั้งสี่ทิศ กำหนดเป็นเมืองใหญ่ได้หลายเมืองมีเดลี
โครักขฆาต พาราณสีเป็นต้น และตลอดลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร อันเป็นแหล่งกลางของศาสนาฮินดู
ขึ้นไปถึงแคว้นแคชเมียร์ ท่านใช้เวลาอยู่ในดินแดนเหล่านี้อยู่ ๑๒ ปี แล้วออกเดินทางไปสู่อินเดียภาคใต้ลงไปถึงแคว้นมัทราส
อันเป็นศูนย์กลางของศาสนาเชน ข้ามไปเกาะลังกา และตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย
และออกไปถึงแคว้นอาหรับ เข้านครเมกกะศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม ไปถึงเมืองเมตินะและนครแบกแดดในอิรัก
นานักได้รับการยกย่องเป็นศาสดา (คุรุ) คนแรกในจำนวนสิบคนของศาสนาซิก
หน้า ๙๕๘๗
๒๘๒๐. นาปรัง มีบทนิยามว่า
"นาที่ต้องทำนอกฤดูทำนา เพราะในฤดูทำนาน้ำมักจะมากเกินไป" โดยนัยนี้นาปรังก็คือนาข้าวที่ทำนอกฤดูกาลจากนาปี
ข้าวที่ใช้ทำนาปรังเป็นข้าวที่แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก หรือมีน้อยมากซึ่งเรียกว่า
ข้าวไม่ไวแสง เป็นข้าวที่ออกดอกตามอายุ ข้าวนาปรังนี้นำไปปลูกในฤดูนาปีได้
ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำได้ เพราะข้าวนาปรังส่วนใหญ่มักจะต้นเตี้ย ถ้าน้ำมีระดับสูงเกินไปจะท่วมเสียหาย
หน้า ๙๕๙๔
๒๘๒๑. นาปี
คือ ข้าวที่ทำในระหว่างเดือน เมษายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูทำนาตามปรกติ
พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวันและเดือนที่ค่อนข้างตายตัว เนื่องจากช่วงของแสงต่อวันบังคับ
ข้าวที่ปลูกในนาปีเมื่อกลางวันยาวขึ้นก็จะเจริญทางลำต้น ไม่ออกรวงหรือถ้าออกรวงได้ก็จะออกรวงไม่พร้อมกันในต้นเดียวกัน
เมื่อช่วงของกลางวันเริ่มสั้นลง ข้าวพวกนี้จะเจริญทางพันธุ์ ดังนั้น การทำนาล่า
เช่น ปักดำในเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะเตี้ย แตกกอน้อย รวงเล็ก เพราะข้าวยังไม่เจริญทางลำต้นก็ต้องมาเจริญทางพันธุ์เสียแล้ว
หน้า ๙๕๙๕
๒๘๒๒. นาฟางลอย (ดูนาเมือง
- ลำดับที่ ๒๘๒๕)
หน้า ๙๕๙๖
๒๘๒๓. นามธารี เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในศาสนาซิก
เกิดขึ้นภายหลังสิ้นโควินทสิงห์คุรุคนที่สิบ ซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้าย แต่นิกายนามธารีตั้งข้อนิยามว่า
ศาสนาซิกต้องมีศาสดาเป็นผู้นำสืบศาสนาต่อไป คุรุองค์ที่ ๑๑ มีนามว่าคุรุบาลักสิงห์
คุรุองค์ที่ ๑๒ ชื่อศรีสัตยคุรุรามสิงห์องค์ที่ ๑๓ ชื่อศรีสัตยคุรุหริสิงห์คือองค์ปัจจุบัน
เฉพาะพวกนามธารีไม่เกี่ยวกับซิกนิกายอื่น
หน้า ๙๕๙๖
๒๘๒๔. นามบัตร
เป็นแผ่นชื่อพิมพ์บนกระดาษแข็งอย่างบางขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด
๔ x ๖ ซม. จะเล็กกว่าหรือใหญ่กว่านี้ก็ได้ มักจะใช้กระดาษสีขาว กระดาษสีไม่เป็นที่นิยมและไม่ใช้ในวงราชการ
กล่าวกับว่าการใช้นามบัตรหรือสิ่งในทำนองเดียวกันมีมาตั้งแต่กาลดึกดำบรรพ์ในประเทศจีน
ส่วนในยุโรปมีการใช้นามบัตรในประเทศเยอรมนี มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑
นามบัตรส่วนตัวมีสามลักษณะคือ นามบัตรที่มีชื่ออย่างเดียว นามบัตรคู่สามีและภริยา
และนามบัตรสองลักษณะที่กล่าวมานี้ แต่แจ้งที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ไว้ด้วย
หน้า ๙๕๙๙
๒๘๒๕. นาเมือง มีบทนิยามว่า
"เรียกข้าวเปลือกที่มีเมล็ดสิ้นเนื้อฟ่ามว่าข้าวนาเมือง" โดยนัยนี้นาเมืองก็คือ
นาที่เรียกว่า นา "ข้าวขึ้นน้ำ" ซึ่งข้าวประเภทนี้มักใช้วิธีหว่านสำรวย เนื่องจากมีรากยาว
ถอนยาก ข้าวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือสามารถหนีน้ำที่บ่ามาได้รวดเร็ว สามารถแตกแขนงตามข้อได้
และตามข้อมักจะมีรากออกมา ดังนั้นข้าวพวกนี้แม้จะขาดลอยจากโคนต้นเดิมแล้ว
ก็ยังสามารถหาอาหาร และออกรวงได้ตามปรกติข้าวฟางลอย หรือข้าวขี้นน้ำจะปลูกในท้องที่ซึ่งมีระดับน้ำสูงตั้งแต่
๑ เมตรขึ้นไปถึง ๔ เมตร หรือกว่านั้น ข้าวนาเมืองไม่ว่าจะตื้นหรือลึกจะล้มทั้งนั้น
หน้า ๙๖๐๒
๒๘๒๖. นายกเทศมนตรี
คือ หัวหน้าคณะเทศมนตรี ในสมัยโบราณนายกเทศมนตรีในยุโรปส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลหรือราชการฝ่ายปกครอง
นายกเทศมนตรีของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่สภาเทศบาลเป็นผู้เลือก โดยเลือกจากสมาชิกสภาเทศบาลนั้นเอง
แต่ในสวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อเมริกา และนิวซีแลนด์ นายกเทศมนตรีได้รับเลือกโดยประชาชนในท้องถิ่นนั้นเลยทีเดียว
ประเทศไทยมีระบบเทศบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมี พ.ร.บ. ระเบียบเทศบาล
พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นกฏหมายฉบับแรกจำแนกเทศบาลออกเป็นสามประเภทคือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง
และเทศบาลนคร
เมื่อมีเทศบาลทำหน้าที่ปกครองท้องถิ่นแล้ว หน้าที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านย่อมมารวมอยู่ในหน้าที่ของคณะผู้บริหารคือคณะเทศมนตรี
หน้า ๙๖๐๓
๒๘๒๗. นายกรัฐมนตรี คือ
ผู้นำคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะผู้บริหารของประเทศที่เรียกว่า คณะรัฐบาล ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้
มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศษ เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒
นายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นประมุขแห่งรัฐ แต่อยู่ภายใต้ประมุขแห่งรัฐซึ่งอาจเป็นกษัตริย์
ประธานาธิบดี หรือประธานผู้นำองค์กรการปกครองสูงสุดของประเทศนั้น ๆ แต่นายกรัฐมนตรีบางประเทศเป็นประมุขแห่งรัฐด้วย
นายกรัฐมนตรีของบางประเทศเลือกตั้งโดยประชาชน บางประเทศแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง
เว้นแต่กรณีรัฐบาลผสม หน้า
๙๖๐๖
๒๘๒๘. นายแก้วนายขวัญ ๑ เป็นชื่อพี่เลี้ยงของพระลอในวรรณคดีเรื่องพระลอ
มีตำแหน่งเป็นขุนแก้วและหมื่นขวัญ ในข้อความบางตอนใช้ว่า "สองขุน" และบางตอนก็ใช้ว่าสองนาย
หน้า ๙๖๐๘
๒๘๒๙. นายแก้วนายขวัญ ๒ เป็นพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
ฯ ทรงใช้เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องชุดนิทานนายทองอิน
หน้า ๙๖๐๙
๒๘๓๐. นายทุน - ระบบเศรษฐกิจ คือ
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งเอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกชนิด และมีเสรีภาพในการที่จะติดต่อค้าขายกับผู้อื่น
และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจตามที่เขาเป็นผู้เลือกโดยมีกำไรเป็นเครื่องจูงใจ
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้กลไกตลาดจะเป็นเครื่องตัดสินชนิดของสินค้าที่จะผลิต ปริมาณสินค้าเหล่านั้น
และราคาที่จะซื้อขายกัน อุปสงค์ของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า จะเป็นเครื่องกำหนดว่าสังคมนั้นควรจะผลิตสินค้าชนิดใดบ้าง
ในปริมาณเท่าใดและราคาควรเป็นเท่าใด อย่างไรก็ตามระบบเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง
นั้นล้วนแต่มิได้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ครบถ้วนตามทฤษฎี มักจะเป็นเศรษฐกิจแบบผสม
เพราะทรัพย์สินบางชนิดรัฐยังเป็นเจ้าของ นอกจากนี้รัฐยังมีบทบาทเข้ามาดำเนินการในกิจการบางประเภทที่เห็นว่า
จะกระทบกระเทือนต่อความอยู่ดีกินดี และความมั่นคงปลอดภัย เช่นกิจการสาธารณูปโภคต่าง
ๆ หน้า ๙๖๐๙
๒๘๓๑. นารท ๑ เป็นชื่อเทพฤาษีองค์หนึ่งในวรรณคดีสันสกฤต
มีชื่อเสียงเลื่องลือในสมัยพระเวท (๓,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี) เรื่อยมาจนถึงสมัยมหากาพย์
และปุราณะมีประวัติว่ามเป็นโอรสประเภทที่เก่งจากใจองค์หนึ่งของพระพรหม ซึ่งมีอยู่สิบองค์เป็นประชาบดี
เพื่อให้ทำหน้าที่สร้างเผ่าพันธุ์ เทพ มนุษย์ อสูร สัตว์และอื่น ๆ พระนางทฤาษีเป็นผู้เดียวที่ไม่ทำตามหน้าที่ของตน
และเห็นว่าวิถิทางแบบพระพรหมไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องดำเนินตามพระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระวิษณุ)
พระพรหมโกรธจึงสาปพระนางทฤาษีให้เป็นทาสของอารมณ์มัวเมา ลุ่มหลงสตรี พระนางทฤาษีจึงสาปต่อไปว่า
ให้พระพรหมลุ่มหลงมัวเมาในกามกิเลส และสาปต่อไปว่าตั้งแต่นี้สืบไปให้พระพรหมเสื่อมจากความเคารพนับถือของบุคคลทั้งหลาย
มหาภารตเล่มที่ ๙ หรือศัลยบรรพ บรรยายรูปลักษณะของพระนางทฤาษีไว้และว่าเป็นเจ้าแห่งวิชาดนตรี
และการฟ้อนรำ และยินดีในการทะเลาะวิวาท ในวรรณคดีสันสกฤตมักจะมีเรื่องพระนางทฤาษีแทรกอยู่แทบทั้งสิ้น
หน้า ๙๖๑๒
๒๘๓๒. นารท ๒ เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่งในนิบาตชาดก
ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรคกกาแห่งชาดกนั้น นับเป็นชาติที่แปดในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
ตามเรื่องมีว่าพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนารทมหาพรหม ได้แปลงเพศเป็นบรรพชิต
เหาะมาจากเทวโลก มากล่าวสรรเสริญคุณธรรมของเจ้าหญิงรุจาราชกุมารี พระราชธิดาของพระเจ้าอังคติราช
ผู้ครองราชย์ในมิถิลานคร แคว้นวิเทหรัฐ แล้วแสดงธรรมให้พระเจ้าอังคติราชทรงละมิจฉาทิฐิ
กลับพระทัยมั่นในสัมมาทิฐิ เหมือนเดิม
หน้า ๙๖๑๕
๒๘๓๓. นารอท
เป็นชื่อฤาษีโบราณมีอ้างในนิยาย หรือตำนานทางภาคเหนือของไทยในเมืองไทยชื่อฤาษีนารอท
คงจะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณแล้ว และมีชื่อปรากฏในโคลงฤาษีดัดตนวัดพระเชตุพน
ฯ (วัดโพธิ)
หน้า ๙๖๑๘
๒๘๓๔. นารายณ์ - พระ เป็นชื่อเทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ของศาสนาพราหมณ์และฮินดูรู้จักกันในนามว่า
วิษณุ โดยมากถือกันว่าเป็นผู้ถนอมโลก แต่คนอินเดียที่นับถือนิกายไวษณพ
ซึ่งยกย่องพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุดแต่องค์เดียว ถือว่าพระองค์เป็นทั้งผู้สร้าง
ผู้ถนอมและผู้ทำลายโลก คำว่านารายณ์มาจากคำว่านารา (น้ำ) กับ อยน (การเคลื่อนไหว)
รวมความว่าเป็นผู้เคลื่อนไหวไปในน้ำ คำนี้เดิมเป็นคำเรียกพระพรหม
พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่มีน้ำพระทัยดีมีเมตตากรุณาเป็นลักษณะที่เด่นชัดและสำคัญที่สุด
รูปร่างของพระองค์ในรูปวาด และรูปปฏิมามีลักษณะเป็นเทพสี่กร พระหัตถ์ขวาด้านหน้าถือสังข์
ด้านหลังถือจักร พระหัตถ์ซ้ายด้านหน้าถือดอกบัว ด้านหลังถือคทา
ที่ประทับของพระนารายณ์คือ สวรรค์ชั้นไวกูณฐ์
ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของทะเลน้ำนม หรือเกษียรสาคร
บรรทมอยู่บนอาสนะในวงขนดของพญาอนันดนาคราช มีพระชายาคือ
พระศรี หรือลักษมี
นั่งปฏิบัติอยู่ โดยเหตุที่พระนารายณ์ประทับในทะเลน้ำนมเป็นปรกติ รูปพระนารายณ์แบบนี้จึงเรียกกันว่า
นารายณ์บรรทมสินธุ์
พาหนะของพระนารายณ์คือ
ครุฑ ภาพพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นภาพที่แพร่หลาย ในศิลปกรรมของไทยอย่างยิ่ง
|