ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > สารานุกรมไทยฉบับย่อ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๑๙ ปิงคละ - ฝ้าย            ลำดับที่ ๓๕๒๖ - ๓๗๐๙   หน้า ๑๑๘๓๗ - ๑๒๕๐๘

            ๓๕๒๖. ปิงคละ - พระเจ้า  เป็นราชาแห่งชาวกาสี ปกครองแผ่นดินโดยไม่เป็นธรรม ราษฎรเดือดร้อนไปทั่วหน้า ไม่มีความกรุณาปรานี จึงไม่เป็นที่รักของผู้ใดทั้งสิ้น ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชโอรสของพระองค์ เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ประชาชนชาวเมืองพาราณสี และบรรดาข้าราชการพร้อมกัน ถวายอภิเษกพระโพธิสัตว์ ในรชสมบัติทรงปกครองบ้านเมือง โดยทศพิธราชธรรมประเพณี ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ก็เจริญมั่งคั่งสมบูรณ์ องค์พระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล จนตราบสิ้นอายุขัย            หน้า ๑๑๘๓๗
            ๓๕๒๗. ปิงปอง  เป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมแพร่หลายของประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก มีลักษณะและวิธีการเล่นคล้ายกับกีฬาเทนนิสมาก จะต่างกันเพียงแต่กีฬาปิงปองนั้น เล่นบนโต๊ะที่จัดขึ้นมาเท่านั้น จึงมีชื่อเป็นทางการว่า เทเบิลเทนนิส คือ กีฬาเทนนิสที่เล่นบนโต๊ะ            หน้า ๑๑๘๓๙
            ๓๕๒๘. ปิณโฑล ภารทวาช  เป็นพระเถระพุทธสาวก ชั้นพระอสีติมหาสาวก ได้รับเอตทัคคะ คือ เลิศในทางบันลือสีหนาท ท่านเกิดในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาศิลปวิทยาการ ได้ศึกษาไตรเพทเวทวคศาสตร์ จบเป็นอาจารย์บอกมนต์แก่มาณพจำนวนมาก มีผู้เคารพนับถือมาก ถึงนิมนต์ให้รับอาหารบิณฑบาตเหมือนพระภิกษุพุทธสาวก ภารทวาธนาณพ เที่ยวแสวงหาอาหารบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระภิกษุ คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า ปิณโฑล ภารทวาช
                เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชนอยู่นั้น วันหนึ่งท่านได้ฟังธรรม แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา ทูลขอบรรพชาอุปสมบท หลังจากนั้นก็ได้เรียนพระกรรมฐาน ไม่นานเท่าใดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหันต์ ท่านก็บันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในมรรคก็ดี ในผลก็ดี ผู้นั้นจงมาถามท่านเถิด พระพุทธองค์จึงประกาศยกย่องท่านว่า เป็นยอดของภิกษุผู้บันลือสีหนาท
                ต่อมาในสมัยหนึ่ง มีเศรษฐีในกรุงราชาคฤห์คนหนึ่งไปได้ปุ่มไม้จันทน์แดงมาปุ่มหนึ่ง จึงให้ช่างกลึงเป็นบาตร แล้วก็คิดต่อไปว่า มีคนพูดกันว่าในโลกนี้ มีพระอรหันต์มาก ยังไม่ประจักษ์แก่ตาเราเลย จึงให้คนเอาลำไม้ไผ่ลำยาว ๆ มาปักต่อกันสูงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วให้คนเอาบาตรไม้จันทน์ ไปแขวนไว้บนยอดเสาไม้ไผ่นั้น แล้วให้ประกาศว่า ใครเป็นพระอรหันต์ให้เหาะไปเอาบาตรนี้ มารับบิณฑบาต
                กาลล่วงไปหกวัน ยังไม่มีใครเหาะเอาไปได้ ในเช้าวันที่เจ็ด พระมหาโมคคัลลาน จึงบอกแก่ท่านว่า คำกล่าวนี้หมายถึง พระพุทธศาสนาด้วย จึงขอให้ท่านเหาะไปเอาบาตรดังกล่าว ท่านจึงเข้าฌานสมาบัติแล้วเหาะไปเอาบาตร เมื่อกลับลงมาแล้วเศรษฐีก็ตักบาตรท่านด้วยจตุมธุรสเต็มบาตร คนทั้งหลายที่ไม่ทันได้เห็นปาฎิหารย์ของท่าน จึงต่างมาขอร้องให้ท่านทำอีก กลายเป็นเสียงอึกทึก พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว จึงโปรดให้ท่านเข้าเฝ้า ตรัสติท่านโดยเอนกปริยายว่า การแสดงอุตริมนุษยธรรมด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ไม่เป็นการสมควรเลย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุทั้งหลายทำปาฎิหารย์ ถ้าภิกษุใดทำ ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ
            ๓๕๒๘. ปิ่น  เป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายขนเม่นใช้สำหรับปักมุ่นผม ผมจุก หรือผมมวย มิให้ผมรุ่ยหลุด
                ปิ่น มีทั้งทำด้วยขนเม่น ไม้ เขาสัตว์ งาช้าง และโลหะมีค่าชนิดต่าง ๆ เช่น เงิน นาก และทองคำ            หน้า ๑๑๘๔๕
            ๓๕๒๙. ปิ่นเกล้า  คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ห้าสิบ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑ ได้ทรงรับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ ในรัชกาลที่สี่ พระราชทานบวรราชาภิเษก เป็น สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘
                ในรัชกาลที่สี่ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่การแต่งตั้งพระองค์ให้ทรงดำรงตำแหน่งนี้ แตกต่างไปจากสามรัชกาลแรก ด้วยเหตุว่า โปรดให้เป็นพระมหาอุปราช เทิดทูนพระเกียรติยศเสมอเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชอนุชา จึงโปรดให้แก้ไขประเพณีการฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้สมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินหลายประการ กล่าวโดยย่อเป็นการเติมคำ "บรม" เป็นฝ่ายพระราชวังหลวง และคำ "บวร" เป็น ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล คู่กัน
                พระองค์ทรงปฎิบัติราชการในหลายหน้าที่กล่าวคือ กำกับกรมทหารปืนใหญ่ กรมกองแก้วจินดา กรมทหารแม่นปืนหน้า แม่นปืนหลัง ญวนอาสารบ แขกอาสาจาม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพเรือไปรบญวน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๔ ทรงแปลตำราปืนใหญ่ฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ทรงพยายามแสวงหาความรู้ ในวิทยาการแบบตะวันตกหลายอย่าง            หน้า ๑๑๘๔๗
            ๓๕๓๐.  ปินโต เฟอร์นันโด เมนเดส  ในสมัยที่พวกเติร์ก ยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้น ชาวโปร์ตุเกส และสเปน ซึ่งเคยอาศัยเส้นทางนี้เป็นทางผ่าน ไปติดต่อค้าขายกับทวีปเอเชีย จำต้องแสวงหาเส้นทางใหม่ จึงแข่งขันกันแสวงหาเส้นทางเดินเรือไปยังอินเดีย เฟอร์นันโด เมนเดส ปินโต เกิดในปี พ.ศ.๒๐๕๒ ได้เป็นไปกลาสีเรือ ปี พ.ศ.๒๐๖๗ เสปนได้ค้นพบทวีปอเมริกา ปินโตสนใจเรื่องนี้มาก จึงมีความปรารถนาจะเดินทางท่องเที่ยวโดยทางเรือ ไปตามประเทศต่าง ๆ เหตุนี้เขาจึงเดินทางโดยทางเรือเป็นเวลาเกือบ ๒๕ ปี
                ในปี พ.ศ.๒๐๘๐ ปินโต ตั้งใจจะเดินทางไปยังอินเดียให้ได้ โดยเดินทางมากับกองเรือโปร์ตุเกสจนถึงเมืองดิอุใกล้กับบอมเบย์ แล้วถูกส่งตัวไปสำรวจของเรือรบของเติร์ก ซึ่งขณะนั้นกำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามาสู่อินเดีย เขาผจญภัยอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นสันนิษฐานว่าเขาเดินทางไปประเทศจีน เขาผจญภัยไปตามที่ต่าง ๆ เช่น พม่า มอญ สยาม และชวา พร้อมกับเขียนเล่าเหตุการณ์ และประสบการณ์แปลก ๆ ต่อมาได้เดินทางไปญี่ปุ่นและเดินทางกลับโปร์ตุเกสในปี พ.ศ.๒๑๐๑ หลังจากไปเกือบ ๓๕ ปี เขาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๖ อายุได้ ๗๕ ปี            หน้า ๑๑๘๕๗
            ๓๕๓๑. ปิยทัสสี  เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าองค์ที่สิบสามในจำนวนพระพุทธเจ้ายี่สิบห้าพระองค์ นอกจากนี้ยังเป็นพระนามของพระราชาหลายองค์ และเป็นชื่อของบุคคลสำคัญหลายคน            หน้า ๑๑๘๖๐
            ๓๕๓๒. ปิรามิด  เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยหินที่มีขนาดใหญ่มหึมา เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของอียิปต์โบราณ สถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันนี้ พบบ้างใน เมกซิโกและนูเบีย ปิรามิดคือหลุมฝังศพ ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางสุสานโบราณ
                ปิรามิดของอียิปต์ทั้งหมด ตั้งเรียงรายอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์ จากกิเซห์ (ตะวันตกของกรุงไคโร) ลงไปทางใต้เป็นระยะทางประมาณ ๙๖ กม. ปิรามิดมีอยู่ประมาณ ๖๐ ลูก สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ ๒๒ - ๑๗ ก่อนพุทธกาล ปิรามิดเหล่านี้อยู่ในสภาพดีอยู่ประมาณ ๓๐ ลูก ที่เหลือเป็นซากปรักหักพัง
                ปิรามิดลูกแรกสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๒๒ ก่อนพุทธกาล เรียกว่าปิรามิดขันบันไดแห่งซักการา ปิรามิดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือกลุ่มปิรามิดที่กิเซห์ ประกอบด้วยปิรามิดใหญ่สามลูก ลูกใหญ่ที่สุดคือ ปิรามิดของฟาโรห์คีอคุปส์หรือคูฟู มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปิรามิดใหญ่ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่มนุษย์เคยสร้างมา ฐานของปิรามิดแต่ละด้านยาว ๒๓๐.๔ เมตร สูงในแนวตั้งฉาก ๑๔๖.๖ เมตร คลุมพื้นที่ประมาณ ๓๒ ไร่ครึ่ง มีผู้กล่าววว่าปิรามิดแห่งนี้ใช้คนสร้างถึงหนึ่งแสนคน ใช้เวลายี่สิบปี จำนวนหินที่ใช้ ๒,๓๐๐,๐๐๐ ก้อน แต่ละก้อนเฉลี่ยหนักสองตันครึ่ง ปริมาตรของหินทั้งหมด ๔๓ ล้านลูกบาศก์เมตร
                ปิรามิดเป็นที่ฝังศพเฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น ปิรามิดลูกหนึ่งจะบรรจุร่างของผู้ตายแต่เพียงร่างเดียว            หน้า ๑๑๘๖๓
            ๓๕๓๓. ปิรันยา - ปลา  เป็นปลามีฟันที่ดุร้าย กลุ้มรุมกัดกินสัตว์ที่รุกล้ำลงไปในแหล่งน้ำ อันเป็นที่อยู่อาศัยของมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้            หน้า ๑๑๘๖๕
            ๓๕๓๔. ปิศาจปกรณัม  เป็นชื่อหนังสือที่รวมนิทานโบราณเล่มหนึ่ง คงจะแปลจากต้นฉบับเดิมในอินเดีย แล้วมาเรียบเรียงตกแต่งเพิ่มเติมใหม่ในภาคไทย เป็นหนังสือที่มีมาแต่ครั้งอยุธยา
                การแต่งเรื่องปิศาจปกรณัม ก็เป็นแบบเดียวกับปักษีปกรณัม เวตาลปกรณัม นนทกปกรณัม และหิโตปเทศวัตถุปกรณัม กล่าวคือในการดำเนินเรื่องนั้น จะมีการเล่านิยายแทรกเข้าไปเป็นตอน ๆ ทำนองนิทานซ้อนนิทาน
                ปิศาจปกรณัมในพากย์ภาษาไทย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่แต่งเป็นร้อยแก้ว แต่บางตอนแต่งเป็นกลอนสุภาพและกาพย์ฉบัง            หน้า ๑๑๘๖๗
            ๓๕๓๕. ปี  หมายถึง วระยะเวลาที่โลกเดินไปรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งหรือรอบหนึ่ง ซึ่งทางคำนวณกะประมาณกันว่ามีราว ๓๖๕ วัน คิดเป็นมาตรฐานเดือน ปีมี ๑๒ เดือน ตามระบบสุริยคติปีปฏิทิน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมไปถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม นับเป็นหนึ่งปี นี้กล่าวความตามเกณฑ์ปรกติ ถ้าจะกล่าวโดยหลักวิชาปีหนึ่งมี ๓๖๕ วันก็มี และมี ๑๓ เดือนก็มีในบางปี อธิบายหลักประกอบคือ
                        ๑. อธิกมาส  เรียกเดือนที่เพิ่มขึ้นในปีนั้นเพิ่มเดือนขึ้นอีก หนึ่งเดือนจากสิบสองเดือนปรกติ เป็นสิบสามเดือน เป็นปีอธิกมาสเรียกว่า ปีมีเดือนแปดสองแปด
                        ๒. อธิกวาร  เรียกวันที่เพิ่มขึ้นทางปีจันทรคติคือ ในปีนั้นเดือนเจ็ดซึ่งตามปรกติมี ๒๙ วัน เป็นเดือนขาด วันแรมสิบสี่ค่ำเป็นวันดับ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวันเป็นเดือนมี ๓๐ วัน แรมสิบห้าค่ำเป็นวันดับ เดือนขาดกลับเป็นเดือนถ้วนไป
                        ๓. อธิกสุรทิน  เรียกวันทางสุริยคติที่เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์อีกวันหนึ่ง ซึ่งตามปรกติเดือนกุมภาพันธ์มี ๒๘ วัน เพิ่มขึ้นจาก ๒๘ วันเป็นเดือนมี ๒๙ วัน
                            (ดูปฏิทินตอนว่าด้วยปี - ลำดับที่ ๓๒๕๘  ประกอบด้วย)            หน้า ๑๑๘๖๙
            ๓๕๓๖. ปี่  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าลมที่ใช้ลิ้นอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนขลุ่ย ซึ่งถึงจะเป็นเครื่องเป่าลมเหมือนกัน แต่ก็ไม่ไม่ได้ใช้ลิ้น คือใช้เป่าหรือผิวลมลงไปในตัวขลุ่ยโดยตรงทีเดียว
                ปี่ที่ใช้ในวงการดนตรีไทยมีอยู่หลายชนิด ถ้าเรียกว่า "ปี่" เฉย ๆ หมายถึง ปี่ไทยที่ใช้กันอยู่ในวงปี่พาทย์อันได้แก่ ปี่นอก ปี่นอกต่ำ ปี่กลาง และปี่ใน นอกจากนั้นยังมีปี่อ้อ ซึ่งเคยใช้อยู่ในวงเครื่องสายไทยมาก่อน แต่ต่อมาได้เลิกใช้ เพราะเอาขลุ่ยเพียงออกับขลุ่ยหลีบเข้ามาใช้แทนอีกด้วย
                ทางภาคเหนือมีปี่ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ปี่ซอ" หรือ "ปี่จุม" หรือ "ปี่พายัพ" ใช้เล่นกับวงดนตรีพื้นเมืองที่เรียกว่าวง "ซอเมือง"
                นอกจากปี่ที่เป็นของไทยดังกล่าวแล้ว ยังมีปี่ที่ได้แบบอย่างมาจากประเทศเพื่อบ้านเช่น ปี่ไฉน ปี่ชวา และปี่มอญ เป็นต้น
                ปี่ทุกชนิดที่กล่าวมามีลักษณะเหมือนกันหมด เพียงแต่มีขนาดสั้นยาวผิดกัน และตั้งเสียงไว้ต่างกันเท่านั้น ปรกติแล้วจะทำตัวปี่ด้วยไม้แก่น มีไม้ชิงชันและไม้พยุง เป็นต้น ที่ทำด้วยงาและทำด้วยหินทั้งเลาก็มี ตัวปี่หรือเลาปี่นั้น กลึงให้เป็นรูปป่องตรงกลาง และบานหัวท้ายออกข้างละเล็กน้อยพองาม ภายในเลาปี่เจาะรูกลวงตลอด ตั้งแต่หัวถึงท้าย โดยตอนหัวเจาะกว้างเล็กน้อย พอให้เอากำพวดปี่ปักลงไปแน่นพอดี โดยทั่วไปถ้าเป็นปี่ใน ก็เจาะกว้างราว ๗ มม. ตอนกลางปี่จะเจาะรูไว้หกรูด้วยกัน มีไว้สำหรับใช้นิ้วปิดลงไปเป็นเสียงต่าง ๆ กว่ายี่สิบเสียงด้วยกัน            หน้า ๑๑๘๗๔
            ๓๕๓๗. ปีก - ปลา  เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์เดียวกันกับปลาตะเพียน มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนขาว มีลำตัวกว้างมาก และแบนข้างมากด้วย มีอยู่ทั่วไปทางลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง            หน้า ๑๑๘๙๘
            ๓๕๓๘. ปีกแดง - ปลา  ชาวบ้านเรียกว่า ปลาสร้อย หรือปลาดอกงิ้ว เป็นปลาน้ำจืด มีอยู่ด้วยกันประมาณ ๑๕ ชนิด ตามรายงานที่พบในประเทศไทยและเรียกกันว่า ปลาสร้อย เกือบทั้งนั้น รูปร่างลำตัวค่อนข้างยาว ลำตัวกว้างไม่มาก พบอยู่ทั่วไปในลุ่มน้ำ และอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง             หน้า ๑๑๙๐๐
            ๓๕๓๙. ปี่แก้ว - งู  มีอยู่หลายชนิดในประเทศไทยพบถึง ๑๒ ชนิด งูในสกุลนี้ไม่มีพิษ แต่มีนิสัยดุ จะกัดเมื่อไปถูกตัวเข้า            หน้า ๑๑๙๐๑
            ๓๕๔๐. ปีเตอร์ - นักบุญ  ชาวไทยคริสต์ฝ่ายคาทอลิกเรียกว่า นักบุญเปโตร ส่วนฝ่ายโปรเตสแตนต์เรียกว่า ท่านเปโตร
                ปีเตอร์ เป็นชาวยิว เกิด ณ ตำบลเบทโซดา ริมทะเลสาป กาลิเล ทางตอนเหนือของประเทศปาเลสไตน์ ในขณะนั้น ปีเตอร์ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าของการประมงขนาดกลาง ออกจับปลาเป็นประจำในทะเลสาบกาลีเล ทั้งปีเตอร์และน้องชายมีความใฝ่ฝันเหมือนชาวยิวจำนวนมาก ในขณะนั้นว่า จะได้มีส่วนร่วมมือกับทูตของพระเจ้า ในการกอบกู้อิสรภาพจากอำนาจปกครองของชาวโรมัน ทั้งสองจึงสมัครเป็นศิษย์ของท่านโยฮัน นักพรตแห่งแม่น้ำจอร์แดน ครั้นท่านโยฮันชี้แจงว่า พระเยซูเป็นทูตของพระเจ้าทั้งสองก็หันมาสนใจพระเยซู จนกลายเป็นสาวกของพระเยซูในที่สุด และปีเตอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าของสาวกทั้งหลาย เมื่อพระเยซูล่วงลับไปแล้ว ปีเตอร์ก็ออกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในที่ต่าง ๆ ในอาณาจักรโรมัน และถูกประหารชีวิตในกรุงโรม ตามพระราชกฤษฎีกาห้ามนับถือคริสต์ศาสนาของจักรพรรดิ์เนโร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๐๗ ตำนานเล่าว่าถูกประหารโดยตรึงกางเขน แต่ปีเตอร์ขอร้องเพชรฆาตให้เอาศีรษะลง เพื่อมิให้เหมือนพระเยซู
                มีปัญหาถกเถียงกัน ระหว่างนิกายโรมันคาทอลิกฝ่ายหนึ่งกับ นิกายออร์โทดอกซ์ และนิกายโปเตสแต้นต์ฝ่ายหนึ่งว่า ตำแหน่งของปีเตอร์ ในฐานะของประธานของคณะสาวก และประมุขของคริสตจักร มีการถ่ายทอดสืบตำแหน่งได้หรือไม่ ฝ่ายแรกยืนยันว่า ตำแหน่งบิชอป แห่งกรุงโรม เป็นตำแหน่งสืบต่อจากปีเตอร์ จึงสืบตำแหน่งประมุขของคริสต์จักรด้วย  ซึ่งต่อมาเรียกตำแหน่งนี้ว่า สันตะปาปา ฝ่ายหลังอ้างว่า ไม่เคยมีหลักฐานการมอบหมายตำแหน่งดังกล่าว ตำแหน่งประมุขของคริสต์จักร จึงสิ้นสุดลงพร้อมกับมรณกรรมของปีเตอร์
                ปีเตอร์ นิพนธ์จดหมายไว้สองฉบับที่เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นจดหมายถึงลูกศิษย์ เพื่อตักเตือนให้ยึดมั่นในศรัทธาต่อพระเยซู            หน้า๑๑๙๐๒
            ๓๕๔๑. ปีโตรเลียม ปิโตรเลียม คือ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ แก๊สธรรมชาติเหลว สารพลอยได้ และสารประกอบไฮโครคาร์บอนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และอยู่ในสภาพเป็นอิสระ แต่ไมีรวมถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หรือหินอื่น ที่สามารถนำมากลั่นเพื่อแยกเอาน้ำมัน ด้วยการใช้ความร้อนหรือกรรมวิธีทางเคมี
                ปีโตรเลียม เป็นสารจำพวกเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติถูกกักเก็บอยู่ในชั้นหิน ใต้พื้นดินในสภาพ ก๊าส ของเหลว ของหนึด หรือของแข็ง ในทางเคมีถือว่าปีโตรเลียมเป็นสารประกอบ พวกไฮโดรคาร์บอน ที่มีไนโตรเจน ออกซิเจน และกำมะถัน เป็นสิ่งเจือปนอยู่บ้างเรียก ปีโตรเลียมเหลวว่า น้ำมันดิบ ส่วนที่เป็นแก๊สเรียก แก๊สธรรมชาติ ที่เป็นของหนึด ได้แก่ สารจากแอสฟัลต์
                มนุษย์รู้จักปีโตรเลียมครั้งแรกในรูปของแอสฟัลต์ ที่ไหลขึ้นมาสู่ผิวดิน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ต่อมาการใช้ประโยชน์ของปีโตรเลียม ได้แพร่หลายไปเรื่อย ๆ จนถึงเริ่มต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้มีการประดิษฐ์เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในขึ้น จึงทำให้อุตสาหกรรมปีโตรเลียมเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
                    การกำเนิดปีโตรเลียม  ปีโตรเลียมมีกำเนิดจากสารอินทรีย์ ที่สะสมรวมกับตะกอนในอดีต เป็นเวลาหลายๆ ล้านปี
                    ประโยชน์และผลิตภัณฑ์จากปีโตรเลียม  แหล่งผลิตปีโตรเลียมที่สำคัญของโลก มีอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศแถบทะเลแคริบเบียน และสหภาพโซเวียต
                      ปีโตรเลียม ที่ขุดขึ้นมาจากบ่อ จะต้องนำไปกลั่นแยกเสียก่อน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์นานาชนิด            หน้า ๑๑๙๐๓
            ๓๕๔๒. ปีทากอรัส  (ประมาณ ๓๗ ปี ก่อน พ.ศ.- พ.ศ.๔๓)  เป็นปรัชญาเมธีและนักคณิตศาสตร์ของกรีก คำสอนของท่านมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิชาคณิตศาสตร์ ยิ่งกว่านั้นท่านยังได้เป็นผู้ค้นพบหลักสำคัญ ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในสาขาวิชาดนตรี ซึ่งต่อมาได้วางรากฐานเป็นหลักทฤษฎีของวิชาศิลปะ ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศีลธรรม และการประพันธ์
                ปีทากอรัส ได้นำหลักวิทยาศาสตร์ และความลี้ลับของศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงกัน ท่านเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อพลาโต และโพลตินุสมาก ท่านได้ท่องเที่ยวไปอย่างกว้างขวาง ในกลุ่มประเทศตะวันออกคือ อาระเบีย ซีเรีย ฟินิเซีย คาลเดีย อินเดีย และกอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์
                ปีทากอรัส ได้ตั้งสำนักขึ้น เพื่อสอนลัทธิความเชื่อของท่านเอง เกี่ยวกับเรื่องอมฤตภาพและการเกิดใหม่ เพราะท่านระลึกชาติได้ ท่านจึงเชื่อว่า หลังจากที่คนเราตายไปแล้ว ดวงวิญญาณแต่ละดวง จะเข้าไปสิงสถิตอยู่ในร่างคนอื่น หรือบางครั้งเข้าไปอยู่ในสัตว์ได้
                นอกจากลัทธิว่าด้วยการเกิดใหม่ ซึ่งเป็นวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นถึงการทำใจให้บริสุทธิ์ หรือปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายแล้ว เราก็ไม่สามารถเข้าใจหลักเกณฑ์สำคัญในลัทธิของท่านได้ละเอียดนัก
                ปีทากอรัส เป็นผู้หนึ่งในบุคคลกลุ่มแรกที่เชื่อกันว่า โลกและจักรวาลมีสัณฐานกลม ท่านเชื่อว่าโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ต่างก็โคจรไปตามจักรราศี และต่างก็เป็นอิสระในตัวเอง
                หลักคำสอนในสำนักปิทากอรัส ประกอบด้วยคำสอนที่สำคัญเจ็ดข้อได้แก่
                    ๑. ความเป็นจริงพื้นฐานของโลก มีโครงสร้างแน่นอนตายตัว และคำนวณได้ตามสูตรคณิตศาสตร์
                    ๒. โครงสร้างเหล่านี้ มิเป็นเพียงพื้นฐานที่ดีกว่าโครงสร้างอื่น ๆ เท่านั้น หากยังมีความงามทางด้านสุนทรียะมากกว่า แสดงให้เห็นง่าย ๆ ความมีระเบียบ และความสอดคล้องตามอัตราส่วน ทางด้านคณิตศาสตร์ดีกว่าอีกด้วย
                    ๓. โครงสร้างที่มีรายละเอียดต่างกันอย่างผิวเผิน อาจมีพื้นฐานอย่างเดียวกันก็ได้ ความจริงในระหว่างสิ่งที่มีชีวิต กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตและระหว่างจิตของมนุษย์กับเอกภพทั้งมวลนั้น จะมีสัมพรรคภาพ หรือความรู้สึกร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง ที่แพร่คลุมซึมซาบทั่วไปหมด
                    ๔. ความรู้สึกร่วมกันทั่วเอกภพนี้ ได้เปิดโอกาสให้สามารถปรับปรุงศีลธรรมให้มีขึ้น โดยการปรับจิตแต่ละดวง ให้ดำเนินไปตามระเบียบของเอกภาพได้
                    ๕. ความรู้สึกร่วมกันทั่วเอกภาพ ยังบันดาลให้มนุษย์เรามีความหวัง ที่จะก้าวหน้าไปสู่ชีวิตระดับอภิมนุษย์ และแม้แต่อมฤตภาพ ก็อาจบรรลุถึงได้ โดยอาศัยกรรมวิธีในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ในทำนองเดียวกันมนุษย์ก็อาจตกสู่ระดับชีวิตที่ต่ำกว่ามนุษย์ได้
                    ๖. เราจะบรรลุถึงความรู้หรือความเข้าใจได้ ก็โดยอาศัยการเข้าสมาธิเท่านั้น
                    ๗. การศึกษาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อความเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจ           หน้า ๑๑๙๑๐
            ๓๕๔๓. ปีนัง - เกาะ  มีอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหมาก เป็นเกาะเล็กๆ อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตก ของคาบสมุทรมลายูไปประมาณ ๕ กม. และอยู่ที่ตอนเหนือสุดของช่องแคบมะละกา เป็นส่วนหนึ่งของรัฐปีนัง ซึ่งเป็รัฐหนึ่งของมาเลเซีย มีขนาดยาวประมาณ ๒๔ กม. กว้างประมาณ ๑๕ กม. พื้นที่ประมาณ ๒๘๐ ตาราง กม.
                ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเนินเขามีที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
                เกาะปีนัง เป็นเมืองท่าที่สำคัญของประเทศมาเลเซีย มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ บริษัทอิสต์ อินเดีย จึงมาจับจองเกาะนี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ อังกฤษได้ปกครองเกาะปีนังอย่างเป็นทางการ โดยทำสัญญากับสุลต่านแห่งรัฐไทรบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๔๓ อังกฤษได้ผนวกดินแดนส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่เข้ากับเกาะปีนังด้วย ถึงปี พ.ศ.๒๓๖๙ มีการรวมปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ เข้าด้วยกันมีชื่อว่า สเตรตส์เซตเติลเมนต์ และดินแดนส่วนนี้ได้รวมเข้ากับสหพันธรัฐมลายู ในปี พ.ศ.๒๔๙๑
                เมื่ออังกฤษเข้าปกครองปีนัง ในตอนแรกเรียกชื่อเกาะนี้ว่า เกาะพรินซ์ ออฟ เวลส์ มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ เกาะปีนังมั่งคั่งร่ำรวยจากการค้ามาก มีผู้อพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่ง มีพวกจีน อินเดีย สุมาตรา และพม่า พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งทำการค้า พวกมลายูเป็นชาวนากับชาวประมง            หน้า ๑๑๙๒๓
            ๓๕๔๕. ปีบ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๒๐ - ๒๕ เมตร ลำต้นตั้งตรงและกิ่งก้านมักจะทอดลง ใบเป็นใบประกอบซึ่งมีใบย่อยเล็กหลาย ๆ ใบ ดอกออกตามปลายกิ่งเป็นช่อ และห้อยลงกลิ่นหอมเย็น และบานกลางคืน ตอนเช้าร่วงหล่นอยู่ที่โคนต้น ฝักแบนหัวท้ายแหลม ขนาด ๒ x ๓๐ ซม. เมล็ดแบนปีกบางปลิวได้ไกล ออกดอกเดือนมกราคมถึง มีนาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือชำ จากลำต้นใต้ดิน ชำโดยการปักชำกิ่ง หรือการตอน
                ปีบ เป็นไม้ถิ่นเอเชียเขตร้อนโตเร็ว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้อาจจะใช้ทำเครื่องเรือนได้ ดอกใช้ผสมกับยาสูบมวนบุหรี่ ทำให้ชุ่มคอและมีกลิ่นหอม อาจจะใช้สูบแก้หืดได้ รากใช้ประกอบยาไทย บำรุงปอด และรักษาวัณโรค           หน้า ๑๑๙๒๓
            ๓๕๔๖. ปี่พาทย์  เป็นชื่อวงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง ที่ประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี อันได้แก่ ระนาด และฆ้องชนิดต่างๆ กับเครื่องทำจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัพ กลองแขก และกลองสองหน้า  เป็นต้น
                วงปี่พาทย์ มีอยู่หลายชนิดและหลายชนิด เช่น วงปี่พาทย์ธรรมดา (ปี่พาทย์ไทย)  วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้น ส่วนขนาดนั้นก็มักแบ่งออกเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่
                วงปี่พาทย์ธรรมดา หรือปี่พาทย์ไทย นั้น คงมีปี่พาทย์เครื่องห้า มาแต่สมัยสุโขทัยซึ่งประกอบด้วย ปี่ หนึ่งเลา ระนาด (เอก)  หนึ่งราง ฆ้องวง (ใหญ่)  หนึ่งวง ตะโพน หนึ่งใบ และกลองทัด หนึ่งลูก
                สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อได้มีการสร้างเครื่องปี่พาทย์ เพิ่มเติมขึ้น แล้วจึงได้เกิดมีปี่พาทย์เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ขึ้น ปี่พาทย์เครื่องคู่นั้น ประกอบด้วยเครื่องที่ทำทำนองเป็นคู่ คือ ปี่คู่หนึ่ง (ปี่นอก, ปี่ใน)  ระนาดคู่หนึ่ง (ระนาดเอก และทุ้ม )  ฆ้องวงคู่หนึ่ง (ฆ้องวงใหญ่ และเล็ก)  ส่วนเครื่องทำจังหวะนั้น ประกอบด้วยกลองทัดคู่หนึ่ง (ลูกเสียงสูง เรียกว่า ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียกว่า ตัวเมีย)  ตะโพนหนึ่งลูก ฉิ่งหนึ่งคู่ ฉาบเล็ก และฉาบใหญ่ อย่างละหนึ่งคู่ โหม่ง หนึ่งใบ กลองสองหน้า (บางทีใช้กลองแขกหนึ่งคู่แทน)
                ปี่พาทย์ เครื่องคู่นี้มีบรรเลงกันแพร่หลาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม ครั้นถึงรัชกาลที่สี่ได้มีการคิดสร้างระนาดทอง (ระนาดเอกเหล็ก) และระนาดทุ้มเหล็ก ขึ้นอีก จึงได้มีการเติมระนาดทั้งสองชนิดนี้เข้าไปในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เลยกลายเป็นปี่พาทย์เครื่องใหญ่ไป
                ส่วนวงปี่พาทย์มอญ  นั้นแต่เดิมเป็นของชาวรามัญนำเข้ามา ของเดิมมีเพียงปี่มอญ ฆ้องมอญ ฉิ่ง ฉาบ ตะโพนมอญ และเปิงมาง เท่านั้น วงปี่พาทย์ดังกล่าว มีสำเนียงเศร้า ๆ เย็น ๆ เหมาะแก่การบรรเลงในงานศพ
                สำหรับวงปี่พาทย์นางหงส์  ก็ใช้บรรเลงในงานศพเช่นกัน และใช้กันมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบแล้ว วงปี่พาทย์นางหงส์ แบ่งออกเป็นสามขนาด เช่นเดียวกับปี่พาทย์ไทย
                ส่วนวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ นั้น เป็นวงพิเศษที่สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์ ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์เท่านั้น ท่านต้องการให้มีน้ำเสียงไพเราะนุ่มนวล และฟังเย็นหูจึงได้ตัดเอา เครื่องดนตรีประเภทที่มีเสียงแหลม และเสียงอึกทึกครึกโครมออกเสีย คงเหลือไว้แต่เครื่องบรรเลงที่มีเสียงเย็นนุ่มหู ฟังไพเราะเท่านั้น          หน้า ๑๑๙๒๕
            ๓๕๔๗. ปีศาจ, ปิศาจ  ปลา   เป็นปลากระดูกอ่อนพวกหนึ่ง มีชื่ออื่นคือ ปลาราหู หรือปลากระเบนราหู อยู่ในทะเลเขตร้อน และเขตอบอุ่น ชอบอยู่ในน้ำค่อนข้างลึก ตัวไม่ใหญ่มาก ขนาดครีบหูที่แผ่ออกไปประมาณ ๖๐ ซม. ส่วนชนิดที่พบในทะเลเขตอบอุ่น จะมีขนาดใหญ่โตมาก ขนาดกว้างของครีบหู ที่แผ่ออกไปกว้างถึง ๖.๗ เมตร           หน้า ๑๑๙๓๐
            ๓๕๔๘. ปึ่ง - แมลง   (ดู ปั่ง - ลำดับที่ ๓๑๔๕)          หน้า ๑๑๙๓๒
            ๓๕๔๙. ปุณเถระ - พระ   เป็นพระเถระองค์หนึ่ง มีประวัติว่า มีกฎุมพีคนหนึ่งชื่อ ปุณณะ อยู่ในแคว้นสุนาปรันตปะ ได้นำสินค้าไปขายต่างเมือง ไปถึงกรุงสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดศรัทธาอยากจะบวช จึงขอบวชในสำนักของพระพุทธองค์ เมื่อได้บวชแล้วก็มุ่งหน้าต่อพระกรรมฐาน แต่พระกรรมฐานไม่ปรากฎแก่ท่าน จึงประสงค์จะกลับไปยังแคว้นสุนาปรันตปะ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอโอวาทตามสมควรแก่ตน
                พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาท แล้วตรัสถามพระปุณณะว่า ชนชาวสุนาปรันตปะ ดุร้าย ถ้าพวกเขาด่าเธอ ขู่เธอ จะมีอุบายที่จะแก้ไขอย่างไร
                พระปุณณะ ทูลว่า จะคิดในข้อนั้นว่า พวกเขาช่างดี ที่ไม่ประหาร
                พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ถ้าพวกเขาจะช่วยกันทุบตีเธอ จะมีอุบายอย่างไร
                พระปุณณะ ทูลว่า ถ้าพวกเขาจะฆ่าเราเสีย ก็จะคิดว่ามีพวกสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นด้วยเรานี้อึดอัด ระอา เบื่อหน่ายเกลียดร่างกาย และชีวิต บางคนต้องเที่ยวหาศัสตรามาฆ่าตัวให้ตายไป บางคนก็หาวิธีตายด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ตัวของเราไม่ต้องอย่างนั้นเลย
                พระพุทธเจ้าจึงประทานสาธุการว่า ดีแล้ว เธอมีความสงบ มีความข่มใจ เธอไปยังสุนาปรันตปะ ได้
                พระปุณณะ ได้เดินทางไปยังแคว้นสุนาปรันตปะ จำพรรษาอยู่ใน มกุฬการาม ได้บรรลุ วิชชาสาม ภายในพรรษานั้นเอง ดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แล้วนิพพาน ณ แคว้น นั้น           หน้า ๑๑๙๓๓
            ๓๕๕๐. ปุณทาสี  เป็นคนรับใช้ของผู้มั่งมี ในบาลีมีข้อที่ควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ คนรับใช้ที่เรียกกันว่า ทาส หรือ ทาสี ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงชื่อ ปุณ ทั้งนั้น ผู้ชายชื่อ ปุณณะ ผู้หญิงชื่อ ปุณณา แต่ละคนปฎิบัติเคร่งครัดในหน้าที่ของตน
                ในที่นี้ จะกล่าวถึง นางปุณทาสี คนรับใช้ของราชคหเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งนางรับข้าวเปลือกมาตำมากไปหน่อย ซ้อมอยู่ทั้งวันยังไม่หมด ต้องจุดไฟสว่างซ้อมอยู่จนกลางคืน สมัยนั้น พระทัพมัลบุตร รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปูลาดเสนาสนะในสงฆ์ฟังธรรม ตามไฟสว่างไม่ได้จำวัด ต่างคนต่างก็เดินไปมา จึงกำหนดใจว่าเราถูกความยากจนทรมาน จึงไม่หลังในเวลานี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเหล่านี้จำวัดไม่ได้ เพราะอะไร
                ครั้นรุ่งขึ้นเช้านางทำขนมแป้งปิ้งไฟ ตั้งใจจะกินที่ทางไปท่าน้ำ ระหว่างทางได้พบพระพุทธเจ้า จึงถวาย ฯ นมแป้งนั้น แล้วกราบทูลว่า ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้วจงสำเร็จแก่ตนด้วยเถิด พระพุทธองค์อนุโมทนาว่า ขอความปรารถนาของนางจงสำเร็จทุกประการเถิด ฝ่ายทางปุณทาสีก็คิดว่า พระพุทธองค์ทรงรับขนมของเรา แต่คงจะไม่เสวย พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของนางจึงทรงทำภัตกิจ พอเสวยเสร็จก็ตรัสเรียกนางมาตรัสถามว่า เธอว่าอะไรสาวกของเรา นางทูลว่าตนเองไม่ได้นอนเพราะความยากจนของตนทรมานตนเอง แต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่จำวัดเพราะอะไร
                พระพุทธองค์จึงจรัสว่า สาวกของเราไม่ได้จำวัดเพราะประกอบความเพียรในการตื่นอยู่ เมื่อประกอบความเพียรเช่นนั้น ศึกษาไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา น้อมใจเข้าหานิพพาน อาสวะทั้งหลายย่อมถึงซึ่งความสิ้นไป พอเทศน์จบ นางปุณทาสีได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา          หน้า ๑๑๙๓๕
            ๓๕๕๑. ปุ๋ย  คือสารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดิน เพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช          หน้า ๑๑๙๓๘
            ๓๕๕๒. ปุราณกัสสป  เป็นชื่อรวมชฎิลสามคนพี่น้องเป็นเผ่าพงศ์กัสสปโคตร ผู้เป็นพี่ใหญ่ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ผู้เป็นน้องคนที่สองชื่อนทีกัสสป ผู้เป็นน้องคนที่สามชื่อ คยากัสสป อาศัยอยู่ในอุรุเวลาประเทศ ชฎิลผู้พี่ใหญ่มีบริวาร ๕๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ ณ บริเวณตำบลอุรุเวลา ต้นทางของแม่น้ำเนรัญชรา ชฎิลผู้น้องคนที่สองมีบริวาร ๓๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำเนรัญชรา ชฎิลผู้เป็นน้องคนที่สามมีบริวาร ๒๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่ปลายแหลมสุดใต้ลงไปในแม่น้ำ
                พระพุทธองค์ประทับอยู่ทรมานปุราณกัสสป ณ ที่นั้นประมาณสองเดือน ต้องทรงแสดงปาฎิหาริย์ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมายหลายวิธี อุรุเวลกัสสปหัวหน้าใหญ่จึงยอม แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พร้อมทั้งบริวารแล้วลอยบริขารชฎิล และเครื่องบำเรอพรตตามลัทธิของชฎิล พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทให้ เมื่อบริขารของพวกอุรุเวลกัสสปลอยไปตามน้ำถึงอาศรมนทีกัสสป นทีกัสสปเห็นเข้าก็ตกใจคิดว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายจึงชวนกันรีบมา เมื่อเห็นพี่ชาย และบริวารประพฤติพรหมจรรย์ และบอกว่าดี จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขอประพฤติพรหมจรรย์ในพระองค์ พระพุทธองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสมบทให้ คยากัสสปก็ทำนองเดียวกัน
                หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จพร้อมด้วยภิกษุชฎิลทั้งหมดไปประทับ ณ ตำบลคยาสีสะ ทรงแสดงอาทิตยปริยายสูตร แก่ภิกษุปุราณชฎิลทั้งหมดนั้น จนทำให้บรรลุพระอรหันเป็นพระอรหันต์สิ้นทั้งหมด          หน้า ๑๑๙๔๐
            ๓๕๕๓. ปุราณะ  เป็นคัมภีร์ประเภทหนึ่งของผู้นับถือลัทธิฮินดู แต่งเป็นคำประพันธ์ ร้อยกรองแบบโศลก บางทีได้รับยกย่องว่าเป็นพระเวท คัมภีร์ที่ห้าของศาสนานั้น ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับสวดฟังแล้วได้บุญ คัมภีร์นี้เป็นเรื่องทำนองตำนานที่เล่าสืบกันมา เป็นเรื่องของเผ่าพันธ์มนุษย์ วงศ์กษัตริย์ ฤาษี ลัทธิ วิทยาธร คนธรรพ์ ทวยเทพ และอสูร ตลอดจนสัตว์ในนิยายเช่นครุฑ นาค หงส์ ราชสีห์ ฯลฯ และย้อนขึ้นไปถึงเรื่องการสร้างโลก นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่รวมของเรื่องปลีกย่อยนานาประการ เช่นเรื่องดาราศาสตร์ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ เพชรนิลจินดา ฯลฯ จนดูราวกับว่าเป็นสารานุกรมแห่งความรู้ทั้งมวล
                การแต่งคัมภีร์นี้ใช้เวลานาน บางเล่มใช้เวลามากกว่าร้อยปี แต่โดยนประเพณีนิยมที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ กล่าวกันว่าฤาษีวยาส หรือกฤษณไทวปายน เป็นผู้รจนาแต่ผู้เดียว ทั้งสิบแปดคัมภีร์ เมื่อแต่งเสร็จได้มอบให้ลูกศิษย์คนหนึ่งนำไปสวดเผยแพร่แก่คนทั่วไป จนเป็นที่รู้จักและท่องจำกันได้แพร่หลาย ในสมัยต่อมา
                คัมภีร์ปราณะเล่มเก่าแก่ที่สุดคงจะแต่งก่อนพุทธกาลเล็กน้อย และเล่มหลังสุดแต่งไม่เกินคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คัมภีร์ปุราณาสิบแปดเล่ม มีดังนี้
                    ๑. พรหมปุราณะ เป็นเล่มแรกสุด จึงมีอีกชื่อว่า อาทิปุราณะ หรือปุราณะ เล่มแรกมีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงพระพรหม แสดงคำสอนแก่พระทักษประชาบดี มีเนื้อเรื่องตอนหนึ่งแสดงเทวประวัติ
                    ๒. พรหมาณฑปุราณะ มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงความเป็นมาของจักรวาล ตามคำบอกเล่าของพระพรหม
                    ๓. พรหมไววรรตปุราณะ มีความยาว ๑๘,๐๐๐ โศลก บรรยายคำสอนของพระนารทฤาษี ซึ่งแสดงแก่สาวรรณิกปุราณะ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างจักรวาล
                    ๔. มารกัณฑยปุราณะ มีความยาว ๙,๐๐๐ โศลก มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์ พระสูรย และพระอัคคี อย่างละเอียด
                    ๕. ภุริษยปุราณะ มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงเรื่องอันจะเกิดมีในอนาคต เป็นคำกล่าวของพระสูรยะต่อพระมนูผู้เป็นมนุษย์ และกษัตริย์องค์แรกของโลก
                    ๖. วามนปุราณะ มีความยาว ๑๐,๐๐๐ โศลก มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับวราหปุราณะมากที่สุด กล่าวถึงอวตารปางต่าง ๆ ของพระวิษณุ ตั้งแต่ปางเป็นวามนะเรื่อยมาถึงอวตารปางสุดท้าย
                    ๗. วิษณุปุราณะ  มีความยาว ๒๓,๐๐๐ โศลก จัดว่าเป็นปุราณะที่สำคัญเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องส่วนใหญ่พรรณาถึงอวตารทั้งสิบสมัย (ปาง) ของวิษณุ โดยเหตุที่เล่มนี้เป็นคัมภีร์เก่าแก่ และมีค่าสูงสุดจึงได้ชื่อว่าเป็น ปุราณรัตนะ
                    ๘. ภาควตปุราณะ  มีความยาว ๑๘,๐๐๐ โศลก เป็นปุราณะที่มีความแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่จับจิตใจของบรรดาไวษณพ (ผู้นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด) มากที่สุด คัมภีร์เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของอินเดียวแทบทุกภาษา
                    ๙. นารทียปุราณะ  มีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องที่พระนารทฤาษี เล่าแก่สนัตกุมาร เกี่ยวกับธรรมทั้งหลายในพฤหัตกัป
                    ๑๐. ครุฑปุราณะ  มีความยาว ๘,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวที่พระวิษณุทรงสั่งสอนแก่ครุฑ มีเรื่องดาราศาสตร์ อายุรศาสตร์ ไวยากรณ์ และเรื่องกำเนิดของเพชร รวมฟังคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ครึ่งหลังแสดงความคิดทางปรัชญาว่า ชีวิตหลังความตาย
                    ๑๑. ปัทมปุราณะ  มีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นหกตอน นอกจากเนื้อเรื่องจะบรรยายถึงความสำคัญของเดือนต่าง ๆ แล้ว ยังมีเรื่องแทรกที่สำคัญคือ เรื่องศกุนตลา กับเรื่องพระราม
                    ๑๒. วราหะปุราณะ  มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงพระวิษณุอวตารปางที่สาม เป็นวราหะ (หมู) เพื่อปราบอสูรร้าย และบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันมีชื่อเสียง
                    ๑๓. วายุปุราณะ  มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก พระวายุ เป็นผู้เล่ามีข้อความสดุดีพระเกียรติคุณ ของพระศิวะเป็นส่วนใหญ่
                    ๑๔. ลิงคปุราณะ  มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก บรรยายถึงคำสอนของพระศิวะผู้สถิตอยู่ในรูปของลิงคะ (เครื่องหมายเพศชาย)  และยังกล่าวถึง พระศิวะในรูปแบบอื่น ๆ อีก ๒๘ รูป
                    ๑๕. สกันทปุราณะ  มีความยาว ๘๔,๐๐๐ โศลก พระสกันทะ (โอรสพระศิวะ)  เป็นผู้เล่ามีเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง พระสกันทะกุมาร กับ ตารกาสูร
                    ๑๖. อัคนิปุราณะ  มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางศิลปวิทยาการสาขาต่าง ๆ ที่เทพเจ้าอัคคี เล่าแก่พระวสิษพรหมฤาษี เช่น ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัตนศาสตร์ กาพยะลังการนาฎกะ (วิชาการละคร การตกแต่งคำ และกาพย์กลอน) และอื่น ๆ มีกล่าวถึง อวตารสองปางของพระวิษณุคือ รามจันทราวตาร และกฤษณาวตาร
                    ๑๗. มัตยปุราณะ  มีความยาว ๑๓,๐๐๐ โศลก  เป็นเรื่องที่มตสยะ (ปลา)  หรือพระวิษณุ อวตารปางที่หนึ่ง เล่าให้พระมนูปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ฟัง และยังมีเรื่องอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เช่น เรื่องของพระไชนมตะ (ศาสนาเชน)  พุทธมตะ (ศาสนาพุทธ)  นาฎยศาสตร์ และอานธรราชวงศ์ (เรื่องราวของกษัตริย์ ในแคว้นอานธระทางภาคใต้ของอินเดีย) ฯลฯ
                    ๑๘. กูรมปุราณะ  มีความยาว ๘,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวของพระวิษณุ สมัยอวตารเป็นกูรมะ (เต่า)  เป็นผู้เล่าที่บาดาลเกี่ยวกับอินทรยุมน์ และกล่าวถึงภูมิศาสตร์ของโลกโบราณว่า ประกอบด้วยทวีปทั้งเจ็ด มหาสมุทรทั้งเจ็ด และดินแดนภารตะ (อินเดีย)  ตั้งอยู่ท่ามกลางทวีปทั้งหลาย มีชื่อว่า ชมพูทวีป              หน้า ๑๑๙๔๒
            ๓๕๕๔. ปุโรหิต  เป็นตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์ ผู้เป็นประธาน หรือผู้อำนวยการในการทำยัญพิธี ในราชสำนักของกษัตริย์ ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียและประเทศต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์
                ตำแหน่งปุโรหิต ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายพราหมณ์ มีอำนาจและอิทธิพลเคียงคู่กับตำแหน่งกษัตริย์ ในอินเดียมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์ ของชนชาติอารยันอินเดีย มีหลักฐานอ้างถึงในคัมภีร์พระเวท ประมาณ ๓,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว และถือกันว่าเป็นตำแหน่งที่มีมาในแดนสวรรค์ และโลกมนุษย์ ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด ของศาสนาพราหมณ์คือ คัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงพระเจ้ารุ่นแรกสององค์คือ พระอัคนี กับพระพฤหัสบดี ว่าเป็นเทวปุโรหิตของทวยเทพทั้งหลาย
                อำนาจและหน้าที่ของปุโรหิต โดยหลักใหญ่มีอยู่สองประการคือ ประการแรกในยามที่บ้านเมืองสงบ ปราศจากสงคราม ปุโรหิตมีหน้าที่เป็นประธานในการทำพิธีต่างๆ เพื่อพระราชา เพราะทวยเทพย่อมไม่รับเครื่องสังเวยจากพระราชาผู้ไม่มีปุโรหิต ประการที่สอง ในยามศึกสงคราม ปุโรหิตช่วยเหลือพระราชาในการพิธีทำลายล้างข้าศึก และนำชัยชนะมาสู่แว่นแคว้นของตน
                ปุโรหิตต้องเป็นพราหมณ์ที่เรียนจบ และมีความเชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวททั้งสี่ อันได้แก่ คัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท ซึ่งโดยปรกติพราหมณ์ทั่วไป ย่อมเลือกเรียนคัมภีร์พระเวทเล่มใดเล่มหนึ่ง           หน้า ๑๑๙๕๑
            ๓๕๕๕. ปู  เป็นสัตว์ที่มีกระดองปกคลุมลำตัว และมีก้ามเป็นอาวุธป้องกันตัว ปูมีสิบขา ก้ามปูก็เป็นขาคู่หนึ่ง สัตว์ที่มีสิบขานี้ ก็ยังมีพวกกุ้ง และจักจั่นทะเล
                ปูทั่วโลก มีมากกว่าพันชนิดมีขนาดแตกต่างกัน หลายชนิดอาศัยอยู่ในทะเล มีน้อยชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด บางชนิดอาศัยหากินบนบก
                ปูส่วนมากกินเนื้อสัตว์ที่เน่าเปื่อย และสัตว์เป็น ๆ บางชนิดกินพวกสาหร่ายสีเขียว          หน้า ๑๑๙๕๗
            ๓๕๕๖. ปูจ๋า  เป็นชื่อรายการอาหารใช้เนื้อปูปรุงตำรับหนึ่ง เมื่อปรุงแล้วบรรจุไว้ในกระดองปูม้า หรือกระดองปูทะเลแล้วจึงนึ่งให้สุก           หน้า ๑๑๙๖๑
            ๓๕๕๗. ปูจาก  ปูแป้น หรือปูแปะ ก็เรียก เป็นปูน้ำเค็มอาศัยอยู่ตามชายทะเล หาดโคลนหรือป่าชายเลน ตามปากแม่น้ำนิยมเอาไปทำเป็นปูเค็ม เช่นเดียวกับปูเเสม           หน้า ๑๑๙๖๒
            ๓๕๕๘. ปู่เจ้า ๑  เป็นชื่อเทพเจ้าประจำภูเขาใหญ่แห่งหนึ่ง ในป่าใกล้เมืองสอง ซึ่งเป็นเมืองของพระเพื่อน พระแพง ในเรื่องพระลอ มีนามเต็มว่า "ปู่เจ้าสมิงพราย"          หน้า ๑๑๙๖๖
            ๓๕๕๙. ปู่เจ้า ๒  เป็นชื่อแหลมใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเตาหม้อ แหลมปู่เจ้าก็เรียก มีศาลบรรจุพระอัฐิของกรมหลวงชุมพร ฯ ที่ยอดเขาบนแหลมนี้มีกระโจมไฟ สูงทั้งกระโจมไฟ ๑๖๘ เมตร          หน้า ๑๑๙๖๗
            ๓๕๖๐. ปูชนีย - แปลว่า น่านับถือ น่าบูชา ควรบูชา สิ่งที่น่าบูชา ที่ควรบูชานั้นมีสามอย่างคือ  บุคคลที่ควรบูชา เรียกว่า ปูชนียบุคคล วัตถุที่น่าบูชาเรียกว่า ปูชนียวัตถุ สถานที่ที่ควรบูชา เรียกว่า ปูชนียสถาน          หน้า ๑๑๙๖๘
            ๓๕๖๑. ปูด - นก  เรียกเต็มว่า นกกะปูด          หน้า ๑๑๙๖๙
            ๓๕๖๒. ปูทะเล  เป็นปูวงศ์เดียวกับปูม้า อาศัยอยู่ในทะเลโดยเฉพาะตามหาดโคลนที่เป็นป่าโกงกาง หรือป่าแสม ปูทะเลเป็นชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไป ชื่อตามท้องถิ่นเรียกตามลักษณะ หรือสีส้น เช่น ปูทองโหลง ปูทองหลาง ปูทองแดง ปูทองดำ ปูขาว ปูสีน้ำตาล ปูดำ ปูเขียว แม่กระแชง และปูหนามเตย ปูกะเทย เป็นต้น           หน้า ๑๑๙๖๙
            ๓๕๖๓. ปูน ๑ - เถาวัลย์  เป็นไม้เถาเลื้อย ใบขนาด ๙ - ๑๒ x ๕ - ๗ ซม. เป็นรูปหัวใจ มีมือจับเพื่อพยุงลำต้น ช่อดอกมีก้านขอบยาว ยาว ๕ - ๑๐ ซม. แยกออกเป็น ๓ - ๕ ช่อ จากจุดเดียวกัน หรือแตกตามข้อของลำต้น ดอกมีก้านสั้น และออกจากจุดเดียวกัน ผลเป็นฐานแคบ แต่ปลายกว้างคล้ายรูปลูกข่าง ผลเป็นช่อคล้ายผลองุ่น
                เถาวัลย์ปูน มีสรรพคุณทางยา ใบสดใช้ผสมกับปูนใช้พอกแผลสด ส่วนเถาใช้เข้ายา เป็นยาขับปัสสาวะ หรือขับเสมหะ          หน้า ๑๑๙๗๔
            ๓๕๖๔. ปูน ๒  คือ สิ่งที่ได้จากการเผาหินปูน หรือเผาสารที่มีเนื้อสารเกือบทั้งหมดเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต เช่น เปลือกหอย หินปะการัง เปลือกไข่ ให้สลายตัว วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปูนเป็นอุตสาหกรรมก็คือ หินปูน ซึ่งมีหลายชนิด โดยปรกติจะเป็นหินสีขาว มีปรากฎอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ และอาจปรากฎอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น หินอ่อน ดินสอพอง ชอล์ก           หน้า ๑๑๙๗๕
            ๓๕๖๕. ปูนา ๑  เป็นปูน้ำจืด ขุดรูอยู่ตามท้องทุ่งท้องนา หรือในที่น้ำขังชื้นแฉะ ออกมาให้เห็นตอนต้นฤดูฝน ชาวบ้านนำปูนามาเป็นอาหาร ปูนาเป็นศัตรูต่อการทำนาข้าวมาก เพราะชอบกัดกินต้นข้าว ต้นกล้า           หน้า ๑๑๙๗๘
            ๓๕๖๖. ปูนา ๒  เป็นเมืองใหญ่ลำดับสาม ในรัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ด้านในของฆาต (ภูเขา) ด้านตะวันตก ที่แม่น้ำมุทากับแม่น้ำมุลา ไหลมาบรรจบกัน
                ปูนา มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของพวกมราฐะ ซึ่งมีอำนาจปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ภายหลังที่ราชวงศ์มุฆัล สิ้นอำนาจลงในประเทศอินเดีย พวกมราฐะตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษโดยสิ้นเชิง ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ อังกฤษใช้เมืองนี้เป็นที่ทำการรัฐบาลแคว้นบอมเบย์ ในฤดูร้อน           หน้า ๑๑๙๘๔
            ๓๕๖๗. ปูป่า  เป็นปูน้ำจืดชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามเนินดินตามชายป่า ขุดรูลึก ๑ - ๑.๕๐ เมตร โดยเฉพาะตามริมน้ำ พบในบริเวณป่าเขาแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
                ปูป่า มีลักษณะคล้ายปูแป้ง โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่ กว้าง ๔๓ มม. ยาว ๓๒ มม. หนา ๒๒ มม.  ชาวบ้านบางรายนำมาเผากิน           หน้า ๑๑๙๘๖
            ๓๕๖๘. ปูแป้ง  เป็นปูน้ำจืดชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามชายป่าริมน้ำ ขุดรูลึกประมาณ ๑ - ๑.๕๐ เมตร มีรายงานพบอยู่แห่งเดียวที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี รูปร่างคล้ายปูนา           หนา ๑๑๙๘๙
            ๓๕๖๙. ปูม้า  อาศัยอยู่ในทะเล ชาวไทยนิยมนำมาประกอบอาหารหลายชนิด ปูม้ามีลักษณะกระดองสะดุดตา โดยเฉพาะหนามข้างกระดอง ซึ่งยื่นแหลมยาวไปทั้งสองข้าง และมีกระดองสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่สีเขียวถึงสีน้ำเงิน แต่มีจุดขาวประทั่วไป          หน้า ๑๑๙๙๒
            ๓๕๗๐. ปูแสม  รู้จักกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า ปูเค็ม อาศัยอยู่ในป่าชายเลนในระดับน้ำขึ้นลง ขุดรูอยู่ตามรากต้นโกงกาง กระดองเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านกว้างมากกว่าด้านยาวเล็กน้อย มีกลุ่มขนสั้น ๆ กระจายอยู่บนกระดอง ๆ มีสีน้ำตาล ถึงสีม่วง          หน้า ๑๑๙๙๖
            ๓๕๗๑. เป้ง - ต้น  เป็นพืชพวกปาล์ม ลำต้นตรง มีหน่อเกิดที่โคนต้น ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนก ใบยอ่ยอยู่ที่ตรงโคน ใบเปลี่ยนเป็นหนามแข็ง โคนก้านใบเป็นเส้นใยแผ่เป็นกาบซ้อนกัน เป้งแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกออกที่ซอกใบเป็นช่อใหญ่ ดอกย่อยเกิดห่าง ๆ กัน ผลมีเนื้อนุ่ม และมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด
                เป้ง ในไทยมีอยู่สามชนิดคือ เป้งบก หรือปุ่งเป้ง เป้งดอย และเป้งทะเล          หน้า ๑๒๐๐๑
            ๓๕๗๒. เป็ด ๑  เป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่ง ปากแบน ตีนแบนเป็นแผ่น ขนาดเล็กกว่าห่าน ว่ายน้ำได้ มีหลายสี เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ และไข่ มีหลายชนิด           หน้า ๑๒๒๐๑
            ๓๕๗๓. เป็ด ๒ - เรือ  เป็นเรือลูกมาด และเสริมกาบ หัวแบนท้ายแบน กลางป่อง ดูรูปร่างเหมือนเป็ด จึงเรียกว่า เรือเป็ด ตามปรกติใช้แจว แต่ถ้ามีลมก็สามารถใช้แล่นใบได้ หางเสือติดประจำอยู่ท้ายเรือ ในยามจอดพักถอดออกได้           หน้า ๑๒๐๐๕
            ๓๕๗๔. เป็ด ๓ - ผัก  เป็นไม้ล้มลุกข้ามฤดู ลักษณะต้นเกลี้ยง ใบเปลี่ยนได้หลายรูป และหลายขนาด ตั้งแต่ใบแคบแหลม ถึงใบรูปไข่ ขนาด ๐.๗๕ - ๖๕ x ๐.๒๕ ซม. ดอกออกเป็นกระจุกกลม
                ผักเป็ด เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๑,๒๕๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มักขึ้นตามทุ่งนา ผลแห้งเล็กมักจะลอยตามน้ำ         หน้า ๑๒๐๐๗
            ๓๕๗๕. เป็ดก่า - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่...)           หน้า ๑๒๐๐๗
            ๓๕๗๖. เป็ดคับแค - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่...)           หน้าที่  ๑๒๐๐๘
            ๓๕๗๗. เป็ดน้อย  เป็นชื่อตัวละครหนึ่งในเรื่องราชาธิราช  บิดาชื่อสมิงเลิกพร้า  เป็นเจ้าเมืองมองมะละ เป็ดน้อยนับเป็นพระญาติของพระเจ้าราชาธิราช เป็นคนมีน้ำใจกล้าหาญ และมีอาวุธพิเศษ คือ ดาบโพรงแก้ว เมื่อพระเจ้าราชาธิราชยกกองทัพมาตีเมืองมองมะละ เป็ดน้อยขออาสาชนช้างกับพระเจ้าราชาธิราช ผลปรากฏว่าช้างทรงของพระเจ้าราชาธิราช เสียทีเป็ดน้อยก็ชักดาบโพรงแก้วออกจะฟันแต่ด้วยบุญบารมีของพระเจ้าราชาธิราช เป็ดน้อยไม่สามารถชักดาบออกจากฝักได้ ได้แต่ฟาดดาบทั้งฝักไปถูกพระพักตร์พระเจ้าราชาธิราชแตกไปหน่อยหนึ่ง แล้วพระเจ้าราชาธิราชก็เอาชนะเป็ดน้อยได้และเก็บดาบโพรงแก้วไวเป็นพระแสงต้น   ส่วนเป็ดน้อยนั้นเห็นว่าตนได้ทำการอาจหาญเกินเลยไปจึงขอลาตาย           หน้า ๑๒๐๐๘
            ๓๕๗๘. เป็ดน้ำ - นก  เป็นนกที่มีลักษณะปาก และตีนคล้ายเป็ดบ้าน ว่ายน้ำดำน้ำได้เก่งบินแข็งชอบหากินพืชแะสัตว์ในน้ำ ตามบึงหนอง และท้องนาที่น้ำท่วมถึงบางครั้งลงไปหากิน  หรือลอยอยู่ตามชายทะเล บางชนิดหากินพืชบนพื้นดิน  ชอบอยู่และหากินกันรวมกันเป็นฝูง  แต่งพอถึงฤดูผสมพันธุ์ก็แยกพวกกัน ไปยังที่ที่ของตัวเคยทำรังส่วนมากทำรังใกล้ๆน้ำ  มีหลายชนิดบินย้ายถิ่นตามฤดูกาลได้ไกลๆ
                เป็ดน้ำทั่วโลกมี  ๑๔๗ ชนิด เคยพบในประเทศไทยถึง ๑๖ ชนิด เป็ดน้ำแบ่งเป็นพวกๆ ด้วยวิธีหากินของพวกมัน  คือ
                        ก. พวกนกเป็ดน้ำที่หากินตามผิวน้ำ  มีเป็ดทอมหรือเป็ดหางแหลม เป็ดปีกเขียว นกเป็ดเทา เป็ดแกดวาล เป็ดปากสั้น เป็ดลาย และเป็ดปากพลั่ว
                        ข. พวกเป็ดน้ำที่ชอบดำน้ำหากิน  มีเป็ดดำหลังขาว เป็ดดำหัวสีน้ำตาล เป็ดดำหัวดำ เป็ดเปีย
                        ค. พวกเป็ดน้ำที่ทำรังในโพรงไม้สูง  มีนกเป็ดแดง นกเป็ดคับแค นกเป็ดพม่า เป็ดหงษ์ เป็ดก่า           หน้า  ๑๒๐๐๙
            ๓๕๗๙. เป็ดผี ๑   เป็นชื่อที่ใช้เรียกตั๊กแตนหนวดยาวกลุ่มหนึ่งซึ่งทำเสียงหวิดหวิวในเวลากลางคืน           หน้า ๑๒๐๑๕
            ๓๕๘๐. เป็ดผี ๒ - นก  เป็นนกที่ดูเผิน ๆ คล้ายเป็ดน้ำ แต่มีปากแหลมไม่เเบนเหมือนนกเป็ดน้ำทั่วไป มีขนาดเล็กเท่ากำปั้นของคนผู้ใหญ่ หางสั้นมาก ตีนไม่แบนอย่างตีนเป็ด นิ้วตีนแบนเป็นพาย แต่ละนิ้วแยกจากกัน มีทั่วโลก ๑๘ ชนิด แต่มีชนิดเดียวในประเทศไทย ทำรังวางไข่บนจอกแหนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ พบตามบึง สระ และทุ่งนาที่น้ำท่วมทั่วไป           หน้า ๑๒๐๑๘
            ๓๕๘๑. เปรตพลี  (ดูพลี - ลำดับที่...)           หน้า ๑๒๐๑๘
            ๓๕๘๒. เป็ดหงษ์ - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่...)           หน้า ๑๒๐๑๘
            ๓๕๗๓. เปรต  ในคติของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนานั้นมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน จะต่างกันก็แต่ในเรื่องความเชื่อถือแต่ละฝายกล่าวไว้เท่านั้น  มีข้อรวมกันอยู่ที่ว่า ผู้ตายไปแล้วไปเกิดในคตินั้น ๆ คอยรับผลทานของผู้ทำบุญอุทิศส่งไปให้
                พวกพราหมณ์เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วนั้น ย่อมไปเกิดในคตินั้น ๆ คอยรับผลทานที่ลูกหลานทำบุญเลี้ยง พราหมณ์ผู้เป็นปฏิคาหกของเขาแล้วอุทิศผลส่งไปให้ ซึ่งเรียกว่าทำ พิธีศราทธ์ ส่วนในคติของพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่า เปรต หมายถึง ผู้ตายไปเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์คอยบริโภคผลทานที่ทายกทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ ผู้เป็นปฏิคาหกแล้วอุทิศผลส่งไปให้ซึ่งเรียกว่า ทำบุญทักษิณานุประทาน           หน้า  ๑๒๐๑๘
            ๓๕๘๔. เปรสไบทีเรียน  ได้รากศัพท์จากภาษกรีก แปลว่า ผู้อาวุโส หมายถึง ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนด์ ลัทธิเปรสไบทีเรียน ผู้ใช้ชื่อลัทธิเช่นนี้เป็นคนแรก ได้แก่ จอห์น  น็อกซ์ (ค.ศ.๑๕๑๓ - ๑๕๗๒ หรือ พ.ศ.๒๐๕๖ - ๒๑๑๕)  นักปฎิรูปศาสนาคริสต์ชาวสก๊อตที่ใช้คำนี้ เพราะจอห์น  น็อกซ์ ต้องการชักชวนชาวคริสต์แบบดั้งเดิมที่สุด คือ ระหว่างคริสต์คตวรรษที่หนึ่ง (พุทธศตวรรษที่หก)
                ผู้ค้นคิดจริง ๆ คือ จอห์น แคลวิน (พ.ศ.๒๐๕๒ - ๒๑๐๗) ชาวฝรั่งเศส ผู้ปฎิรูปคริสต์ศาสนาในสวิสเซอร์แลนด์ แคลรินชี้ให้เห็นว่าสมัยแรกของคริสต์จักร คริสต์ชนทุกคนมีเสรีภาพในการเข้าในพระคัมภีร์ ไม่มีคณะบาดหลวงคอยชี้ขาด ครั้นคริสต์จักรพัฒนาการปกครองไปเป็นระบบบาดหลวง โดยมีสันตปาปาเป็นประมุข ปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับการปกครองก็เกิดขึ้นเป็นลำดับ แคลวินเห็นว่าควรมีการปกครองโดยคณะกรรมการ ซึ่งคริสต์ชนแต่ละกลุ่มเลือกกันขึ้นมาเอง
                คริสต์จักรเปรสไบทีเรียนได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ ที่นับว่าสำคัญได้แก่ หมอบรัดเล ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวาร์ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ศาสนาจารย์แมค ฟาร์แลนด์ได้สร้างสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง เช่น รร.กรุงเทพคริสเตียน  โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนปรินซ์รอแยลวิทยาลัย และวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวาร์ ซึ่งพัฒนาเป็นวิทยาลัยพายัพ เป็นต้น ได้สร้างโรงพยาบาลที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลมิชชัน และโรงพยาบาลโรคเรื้อน ที่เชียงใหม่ ขณะนี้สมาชิกและกิจการทั้งหมดในประเทศไทย สังกัดอยู่ในสภาพระคริสต์แห่งประเทศไทย           หน้า ๑๒๐๒๗
            ๓๕๘๕. เปราะ  เป็นไม้ล้มลุกที่ไม่มีลำต้นแต่มีเหง้าและรากที่ค่อนข้างอวบน้ำจำนวนมากอยู่ใต้ต้น เหง้าและรากเหล่านี้มีอายุยาวนาน ก้านใบอวบน้ำและมักจะซ้อนอยู่ใต้ดิน ใบโผล่เหนือดินและแบนราบไปบนดิน ใบกลางรีหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมี ๖ - ๘ ดอก ผลมีสามช่องภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ
                เปราะ ใช้ทำยากลั้วคอ ทำยาแก้ไอและขับลม ใบและเหง้าใช้ประกอบอาหาร           หน้า ๑๒๐๓๑
            ๓๕๘๖. เปรียง  เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะเรียกควบลักษณะของไม้เลื้อยว่า เถาวัลย์เปรียง เป็นไม้เลื้อยที่มีเถาใหญ่โตแข็งแรง เถามักจะเรียบ และมีจุดสีน้ำตาลอ่อนกระจายอยู่ทั่วไป เถาวัลย์เปรียงมักจะชอบขึ้นปกคลุมพุ่มไม้อื่น ๆ พบมากตามชายป่า ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย ๖ - ๘ คู่ ช่อดอกประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ ดอกมีลักษณะเหมือนดอกถั่วช่อหนึ่งยาง ๒๐ - ๓๐ ซม. ดอกสีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผลเป็นฝัก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด           หน้า ๑๒๐๓๒
            ๓๕๘๗. เปรียญ  เป็นระดับความรู้ทางพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย มีหลักสูตรกำหนดเป็นชั้น ๆ ผู้สอบได้ตามหลักสูตรที่กำหนดนั้นเรียกว่า เปรียญ มีสามชั้น เรียกเปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก จัดเป็นประโยคมีเก้าประโยค เรียกรวมยอดว่า เปรียญบาลี ใช้อักษรย่อว่า ปบ. ต่อมาตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้น ต้องสอบนักธรรมเป็นบุพภาคแล้วถึงสอบบาลีตามเรียกผู้สอบได้ว่า เปรียญธรรม ใช้อักษรย่อว่า ป.ธ. ปัจจุบันมีแต่เปรียญธรรม
                พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น จึงเกิดความคิดแตกต่างกัน ประเทศข้างเหนือมีทิเบตและจีน เป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตน ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียน ก็เลยสูญสิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือนั้นก็ผันแปรวิปลาสไป ส่วนประเทศทางข้างใต้มีลังกาทวีป เป็นต้น ตลอดมาถึงไทย พม่า มอญ ลาว และเขมร เหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่น ทิ้งภาษาเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ ดังนั้นการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจึงต้องเล่าเรียนภาษาบาลี
                เพราะเหตุดังกล่าว พระราชาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมาจึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียน พระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณร ที่เรียนรู้ให้มีฐานันดรพระราชทานราชูปถัมภ์ต่าง ๆ จึงเกิดมีวิธีสอนพระปริยัติธรรม เมื่อปรากฎว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนดก็ทรงยกย่องให้เป็นมหาบาเรียน
                เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเล่าเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎก การสอบความรู้ผู้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย มีหลักสูตรตั้งไว้ ได้ความว่าครั้งสมัยอยุธยา กำหหนดไว้เป็นสามระดับ คือ เปรียญตรี แปลคัมภีร์พระวินัยปิฎกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด เปรียญโท แปลคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด เปรียญเอก แปลคัมภีร์พระอภิธรรมปฎิกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่สองได้แก้ไขปรับปรุงใหม่แบ่งระดับทั้งสามเป็นระดับละสามประโยค รวมเป็นเก้าประโยค คือ
                    ประโยคที่ ๑ - ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบทต้องสอบได้ในคราวเดียวกันทั้งสามประโยค จึงนับว่าเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
                    ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีขั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี
                    ประโยคที่ ๕ สอบคัมภีร์มุตถวินัย วินิจฉัยสังคหะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคัมภีร์สารัตถสังคหะสอบได้นับเป็นเปรียญโท
                    ประโยคที่ ๖ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีขั้นปลาย สอบได้คงเป็นเปรียญโทอยู่
                    ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญเอกสามัญ
                    ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็นเปรียญเอกมัชฌิมา
                    ประโยคที่ ๙ สอบคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็นเปรียญเอกชั้นเอกอุดม
                    ปัจจุบันระบบเก่านี้เลิกหมดมานานแล้ว คณะสงฆ์ได้แบ่งการศึกษาออกเป็นสองแผนก คือแผนกนักธรรมและแผนกบาลี เมื่อสอบได้ตามหลักสูตร ตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปจึงเรียกว่าเป็นเปรียญ           หน้า ๑๒๐๓๒
            ๓๕๘๘. เปล้า ๑  เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นสูง ๑๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปร่างใบเป็นใบป้อมค่อนข้างยาว ขนาด ๑๔.๒๙ x ๘.๑๐ ซม. ดอกแยกเพศมีก้านสั้น ๆ ดอกเกิดบนก้านรวมยาวเป็นช่อ ๆ ดอกตัวเมียมักอยู่ที่โคนช่อ ดอกตัวผู้อยู่ที่ส่วนปลาย ผลเป็นสามพู เมื่อแก่แตกเป็นสามช่องแต่ละช่องมีหนึ่งเมล็ด
                เปล้า ใช้ทำยาโดยใช้ใบ และรากตำพอกแผล, ฝี หรือแช่น้ำอาบ           หน้า ๑๒๐๔๙
            ๓๕๘๙. เปล้า ๒ - นก  นกพวกนี้โดยมากมักมีสีเขียว ชอบอยู่เป็นฝูงใหญ่ ๆ มักชอบลงกินเกลือ และกรวดทรายตามดินโป่ง           หน้า ๑๒๐๕๐
            ๓๕๙๐. เปลี่ยวดำ  เป็นชื่อโรคอย่างหนึ่ง ซึ่งแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า เกิดจากทางที่ร่างกายถูกความเย็นจัดอยู่นาน
                อาการเหมือนกับอาการของตะคริว แต่รุนแรงกว่า ผู้ป่วยมีสีหน้าเขียวคล้ำเพราะหายใจไม่สะดวก มีอาการหอบรู้สึก อึดอัดในท้อง เพราะมีลมคั่งอยู่ในลำใส้ ปวดท้องแบบลำใส้ถูกบิด และปวดเมื่อยตามลำตัว
                การรักษาแพทย์แผนโบราณให้ผู้ป่วยกินยาที่ให้ความร้อนแก่ร่างกายประกอบด้วย พริกไทย ดีปลี และขิง เป็นต้น ส่วนแพทย์แผนปัจจุบัน จะให้การรักษาตามอาการ           หน้า ๑๒๐๕๓
             ๓๕๙๑ เปิงมาง  เป็นชื่อกลองชนิดหนึ่งที่ใช้กันอยู่วงปีพาทย์มอญมาตั้งแต่เดิม ตัวกลองทำด้วยไม้จริง รูปร่างเป็นทรงกระบอก แต่ป่องกลางเล็กน้อย เข้าใจว่าคนไทยได้นำเอามากลองเปิงมางเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยสมัยอยุธยาแล้ว
                เดิมที่เดียวท่านใช้เปิงมางสำหรับตีนำกลองชนะในกระบวนพระพยุหยาตรา หรือไม่ก็ใช้ตีประโคมในงานพระบรมศพ หรือพระศพเจ้านายต่างๆ ต่อมาได้นำมาใช้ในวงปีพาทย์สำหรับตีจัดจังหวะกับตะโพน           หน้า ๑๒๐๕๔
            ๓๕๙๒  เปิดโลก  หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์ เผยโลกทั้งสามโลกให้เห็นถึงกันหมด คราวเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์มายังมนุษย์โลกที่เมืองสังกัสนคร ต่อมาไทยอาศัย พระพุทธจริยาควาวนั้นจึงนิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเรียกว่า ปางเปิดโลก พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระกิริยาบถยึน ห้อยพระหัตต์ทั้งสองปรกติเหมือนปางประทับยึน แต่แบพระหัตถ์ทั้งสองแบไปข้างหน้าเป็นกิริยาเปิด           หน้า  ๑๒๐๕๘
            ๓๕๙๓. เปีย ๑  เป็นคำเรียกผมที่ปล่อยให้ยาวพอสมควรแล้วถักไข้วกันเป็นเปียห้อยยาวลงทางเบื้องหลังศีรษะ และห้อยลงทั้งสองข้างใบหูก็มี
                   คตินิยมในการไว้ผมเปีย เป็นคติเก่าแก่นิยมกันในหมู่ชนชาวเอเซียหลายชาติด้วยกัน การไว้เปียที่ปรากฏ หลักฐานเก่าแก่ มีปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในที่ฝังศพแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ เขียนเมื่อประมาณ ๑๐๓๗ - ๕๔๒ ปีก่อนพุทธกาล มีภาพทั้งเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิงไว้ผมเปียบนกระหม่อม และโกนผมรอบกระหม่อมทิ้ง กับมีภาพผู้หญิงสาวไว้ผมยาว และถักเปียทั้งเป็นสายรอบศีรษะและถักเป็นเส้นเดียวห้อยยาวลงด้านหลัง
                ชนชาวจีนก็เป็นชาติเก่าแก่ที่นิยมไว้ผมเปีย เป็นประเพณีแต่เดิมที่นิยมไว้กันในหมู่ชาวฮั่น และชนชาวมองโกลเผ่าหนึ่ง ต่อมาพวกแมนจูได้เลียนแบบการไว้เปียไปจากชาวฮั่น แต่นิยมโกนผมทางด้านหน้าศีรษะขึ้นไปทางกลางกระหม่อม           หน้า ๑๒๐๖๕
            ๓๕๙๔. เปีย ๒ - ขนม  เป็นขนมของจีนชนิดหนึ่งมีเเป้งเป็นชั้น ๆ มีไส้ข้างใน มีผู้เล่าว่าสมัยก่อนที่จีนยังไว้ผมเปีย แล้วทำขนมนี้ขึ้นมาคนทั่วไปจึงเรียกว่า ขนมเปีย ซึ่งปัจจุบัน คือ ขนมเปี๊ยะนั่นเอง           หน้า  ๑๒๐๖๗
            ๓๕๙๕. เปียโน  เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในประเภทเครื่องคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีประเภทนี้มีแถวลิ่มนิ้ว (คีย์บอร์ด) สำหรับให้ผู้บรรเลงสัมผัสให้เกิดเสียง เสียงที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นกำเนิดจากแหล่งสองแหล่งที่แตกต่างกัน คืออย่างหนึ่ง เมื่อผู้บรรเลงกดลิ่มนิ้ว (คีย์) ลงไปก็จะมีเครื่องกลไกไปบังคับลม ให้ดันแทรกผ่านลิ้นทำให้เกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้แก่ ออร์แกน, ฮาร์มอเนียม และแอกคอร์เดียน เป็นต้น
                อีกอย่างหนึ่งเมื่อผู้บรรเลงกดลิ่มนิ้วลงไปก็จะมีเครื่องกลไกไปกระทบสายที่ขึงตึงทำให้เกิดเสียงขึ้นมา เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้แก่ คลาวิคอร์ด ฮาร์ปสิคอร์ด และเปียโน เป็นต้น
                ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้มีผู้ดัดแปลงฮาร์ปสิคอร์ดหลังหนึ่งเป็นเปียโนหลังแรกของโลกขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๒
                ระบบการเกิดเสียงของเปียโนจัดเป็นแบบกลไกลูกค้อน คือเมื่อผู้บรรเลงเคาะนิ้วลงบนลิ่มนิ้วของเปียโน ลูกค้อนที่เชื่อมโยงด้วยกลไกจากลิ่มนิ้ว จะกระดกไปเคาะเส้นลวดทำให้เกิดเสียง แล้วกระดกกลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้เกิดเสียงเป็นไปอย่างอิสระ และเสียงก็ยังดังกังวานอยู่ เมื่อต้องการให้เสียงกังวานหยุด ก็เอานิ้วออกจากลิ่มนิ้ว ทำให้แคมเปอร์ (ชิ้นระงับเสียง) ซึ่งเป็นกลไกอยู่ภายใน จะกระดกไปประกบสายไม่ให้สั่นเสียงกังวานนั้น ก็จะเงียบลงทันที
                ปัจจุบันเปียโนมาตรฐานมี ๘๘ ลิ่มนิ้ว มีกระเดื่องเหยียบสองอัน อันซ้ายเมื่อเหยียบจะทำให้เสียงเบาลง อันขวาเมื่อเหยียบจะทำให้เสียงดังกระหึ่มและมีกังวานยาวขึ้น ปัจจุบันมีหลายบริษัทผู้ผลิตเปียโนได้เพิ่มกระเดื่องเหยียบอีกหนึ่งอันคือ อันกลาง เมื่อเหยียบจะทำให้เสียงของตัวโน๊ตเฉพาะที่ต้องการดังกังวานยาว
                กล่าวโดยทั่วไปเปียโนปัจจุบันมีอยู่สองระบบคือ
                        อัพไรต์เปียโน  เป็นเปียโนที่เส้นลวดตั้งฉากกับพื้น ส่วนมากเป็นเปียโนที่ใช้บรรเลงกันตามบ้าน การวางเปียโนชนิดนี้นิยมให้ด้านหลังของเปียโนติดกับฝา หรือผนังห้อง
                        แกรนด์เปียโน  เป็นเปียโนที่เส้นลวดขนานกับพื้น มีหลายขนาดด้วยกัน
                        เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย สามารถบรรเลงเพลงได้ทุกชนิด ทุกประเภท เหมาะที่จะใช้บรรเลงเดี่ยว สามารถเล่นรวมกับเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เหมาะที่สุดเป็นเครื่องมือสอนทฤษฎีวิชาดนตรี นักประพันธ์เพลงแทบทุกคน ใช้เปียโนเป็นเครื่องมือในการประพันธ์เพลง           หน้า ๑๒๐๖๙
            ๓๕๙๖. เปี้ยว - ปู  ปูลมก็เรียก เป็นปูน้ำเค็มชนิดหนึ่งของอาศัยอยู่ตามหาดทรายชายทะเลเป็นปูวงศ์เดียวกับปูก้านดาบ ขุดรูอยู่ในระดับน้ำขึ้นเต็ม ที่ในประเทศไทยพบมีอยู่ทุกจังหวัดชายทะเล           หน้า ๑๒๐๗๙
            ๓๕๙๗. แป้ง ๑  เป็นอินทรีย์จำพวกคาร์โบไฮเดรตประเภทโพลีแซกคาไรต์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพืชสีเขียว แหล่งกำเนิดสำคัญของแป้งได้แก่ ข้าวชนิดต่าง ๆ และเผือก มัน ถั่ว กลอย แป้งเป็นอาหารหลักสำคัญประเภทหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ ในธรรมชาติที่มีสะสมอยู่เป็นจำนวนมากในพืชจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว รูปทรงกลม หรือ รูปไข่หรือรูปเลนส์นูนหรือรูปอื่นได้
                องค์ประกอบหลักของแป้งได้แก่ กลูโคสชนิดแอลฟา ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตพวกน้ำตาลประเภทโมโนแซกคาไรด์คือ กลูโคสหลาย ๆ โมเลกุลเชื่อมโยงกันเป็นโมเลกุลใหญ่
                เมื่อบริโคอาหารประเภทแป้งเข้าไปจะเกิดการย่อยแป้งให้แปรสภาพเป็นสารอื่น ปฎิกิริยาในการย่อยแป้งจะเกิดขึ้นหลายขั้นตอน และสลับซับซ้อนมาก การย่อยผลสุดท้ายเป็นกลูโคส ซึ่งผนังลำไส้ดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป คือ นำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานแห่งหนึ่งของร่างกาย และสร้างสารต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการ เช่น ร่างกายนำกลูโคสไปสร้างไกลโคเจน แล้วเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ ร่างกายเก็บไกลโคเจนไว้เป็นอาหารสำรองเพื่อนำมาใช้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังใช้ไปสร้างไขมันกรดนิวคลีอิกและอื่น ๆ อีกมาก
                แป้งเป็นสารที่มีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านโภชนาการและอุตสาหกรรม           หน้า ๑๒๐๘๓
            ๓๕๙๘. แป้ง ๒  ในด้านโภชนาการใช้เป็นอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพวกธัญพืช พืชประเภทหัวจะมีการสะสมแป้งไว้มาก แป้งต่างชนิดกันจะมีส่วนประกอบต่างกัน โดยทั่วไปแป้งจะมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด รองลงมาคือ โปรตีน ไขมัน เซลลูโลส วิตามิน สารสี และเอนไซม์ ความชื้นหรือน้ำ           หน้า ๑๒๐๘๘
            ๓๕๙๙. แป้น - ปลา  มีอยู่ด้วยกันมากชนิด มีชื่อเรียกตามลักษณะ และขนาดของตัวปลา ปลาแป้นอยู่รวมเป็นฝูง ลูกปลามักหากินอยู่ผิวน้ำ ปลาแป้นเป็นปลาทะเลอยู่ในทะเลเขตร้อน ลำตัวสั้นแบบรูปไข่ ตัวแบนข้าง ปากปลายืดหดได้มาก           หน้า ๑๒๐๘๙
            ๓๖๐๐. แปบ ๑ - ปลา  มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป ชอบอยู่ในที่มีน้ำไหล มีขนาดแตกต่างกันไปแต่ละชนิด
                ปลาแปบจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาซิว หรือปลาหมู เป็นต้น แต่อยู่ต่างวงศ์ย่อยกัน ลักษณะสำคัญของปลาแปบคือ มีลำตัวค่อนข้างยาว ตัวแบนข้างมาก           หน้า ๑๒๐๙๑
            ๓๖๐๑. แปบ ๒ - ถั่ว  (ดูถั่ว - ลำดับที่ ๒๓๕๘ ว่าด้วยถั่วแปบ)           หน้า ๑๒๐๙๓
            ๓๖๐๒. แปลงชาติ  เป็นการเปลี่ยนแปลงสัญชาติของบุคคลจากสัญชาติเดิมที่ถืออยู่ไปเป็นอีกสัญชาติหนึ่ง
                การกำหนดเงื่อนไขในการขอแปลงชาติของคนต่างด้าวนั้นเป็นสิทธิของแต่ละประเทศตามนโยบายภายในของตน กฎหมายระหว่างประเทศ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ก็แต่เป็นแนว ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหาร แต่มีบางประเทศให้อำนาจดังกล่าวแก่ศาลยุติธรรม โดยให้ฝ่ายบ้านเมือง (อัยการ) เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
                การแปลงชาติตามกฎหมายไทยมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ชื่อว่า พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๑๗ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องอนุญาต ให้พระดิฐการภักดีผู้มีชื่อแต่กำเนิดว่า เซเลสตีน มาเรีย ซาเวีย แปลงชาติเป็นไทย
                ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ จึงได้มีกฎหมายแปลงชาติใช้กับบุคคลทั่ว ๆ ไป ชื่อว่า พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศ ต่อมาได้มี พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖  พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งสองฉบับได้ถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๙๕           หน้า ๑๒๐๙๓
            ๓๖๐๓. โป เป็นชื่อการพนันมีอยู่สองอย่างคือ โปกำและโปปั่น
                    โปกำ  มีวิธีเล่นคือ เจ้ามือเอาเบี้ย โดยมากเป็นเบี้ยจั่นกองไว้ข้างหน้าโดยให้ลูกค้าเห็นกองเบี้ยนั้น เพื่อล่อให้คาดคะเนแต้มแล้วเอาถ้วยครอบ กวาดเบี้ยที่ไม่ครอบไปหมดออกไปกองไว้ข้างหนึ่ง เมื่อลูกค้าแทงเสร็จเจ้ามือจะเปิดถ้วยออกแล้วใช้ไม้เขี่ยเบี้ยนั้นออกทีละสี่เบี้ย จนกว่าจะหมดเบี้ยในกอง เรียกว่า แจงเบี้ย ถ้าแจงครั้งสุดท้ายเหลือเบี้ยอยู่เท่าไรถือว่าโปออกประตูนั้น ถ้าเหลือสี่เบี้ย เรียกว่า ออกครบ
                    ที่เรียกว่า โปกำนั้น เพราะมีวิธีเล่นเช่นเดียวกับถั่ว แต่ใช้วิธีแทงเช่นเดียวกับ โปปั่น จึงถือว่าโปกำเป็นทำนองพันทางระหว่างถั่วกับโป
                    โปปั่น  มีวิธีเล่น คือ มีทองเหลืองรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า "โป" มีฝาครอบปิดเหมือนกับกล่องที่ตัวโปมีช่องสี่เหลี่ยมพอใส่ลิ้นโปลงโปเต็มพอดี ไม่ให้ลิ้นโปพลิกได้ ลิ้นโปมีรูปร่างเหมือนลูกบาศก์สลักทั้งหกด้าน ทาสีขาวซีกหนึ่ง สีแดงซีกหนึ่งเหมือนกันทั้งหกด้าน เจ้ามือเอาลิ้นใส่ลงไปในโปไม่ให้คนแทงเห็น ปิดฝาโปแล้วตั้งให้แทง ก่อนแทงยอมให้คนแทงปั่นโปไปตามใจชอบจนตกลงกันว่า จะตั้งตลับโปให้ด้านไหน ตรงกับแต้มไหนแล้วจึงเปิด ถ้าลิ้นโปซักขวาตรงกับช่องแต้มไหนก็นับว่าโปออกแต้มนั้น มีประตูแทงสี่ประตู เช่นเดียวกับโปกำ
                    การเล่นโปเป็นของจีนคิดขึ้นเล่นในเมืองจีนก่อน เมื่อจีนเดินทางไปค้าขายยังต่างประเทศก็นำเอาการเล่นโปไปเล่นในประเทศนั้น ๆ การเล่นโปในประเทศไทยได้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่สอง หรือที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
                    ปัจจุบันโปกำ และโปปั่นจัดอยู่ในบัญชี ก. ทาง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๘           หน้า ๑๒๐๙๙
            ๓๖๐๔. โป่ง ๑  เป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นแหล่งของเกลือโซเดียม และแคลเซียม ที่สัตว์ประเภทกินพืชกินเข้าไปแล้วมีประโยชน์ในการเจริญเติบโต และเสริมสร้างกระดูก โป่งแยกออกเป็นสองประเภท คือ
                        โป่งน้ำ  ได้แก่ บริเวณแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่ลุ่มหรือบริเวณน้ำซับที่มีเกลือสะสมอยู่ในบริเวณสูง อาจเป็นเพราะเกลือโซเดียม ซึ่งสามารถละลายน้ำได้ดี
                        โป่งดิน ได้แก่ บริเวณพื้นดินที่เป็นพื้นที่แคบที่มีปริมาณเกลือโซเดียม และเกลือแคลเซียมสูง           หน้า ๑๒๑๐๗
            ๓๖๐๕. โป่ง ๒ - ผี  ตามคติชาวบ้านทั่ว ๆ ไปว่า เป็นผีที่อยู่ตามป่าที่มีดินโป่ง พวกพรานที่ไปนั่งโป่งหรือนั่งห้างคอยดักยิงสัตว์ป่าที่มากินดินโป่งรู้จักดี บางทีผีโป่งนี้แปลงเป็นสัตว์มาลวงพราน หรือคนนั่งห้างด้วย           หน้า ๑๒๑๐๘
            ๓๖๐๖. โป่งข่าม - แก้ว  เป็นคำที่ใช้เรียกรัตนชาติตระกูลควอร์ตซ์ เดิมที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นแก้วธรรมชาติ ซึ่งได้มาจากเมืองเถิน ถือกันว่าเป็นของขลังแคล้วคลาดภยันตราย และนำโชคดีมาให้
                โป่งข่าม ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแก้วใสโปร่งตา หรือโปร่งแสง ภายในอาจมีลวดลายสีสันสวยงามต่าง ๆ กัน เมื่อเจียรไนแล้ว จะทำให้ปรากฎเป็นรูปวิวทิวทัศน์สวยงาม แก้วโป่งข่ามเป็นที่รู้จักกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว ชาวเถินเรียกกันว่า แก้วเมืองเถิน ต่อมาเรียกว่า แก้งแม่แก่งบ้าง แก้วโป่งข่ามบ้าง           หน้า ๑๒๑๑๒
            ๓๖๐๗. โป่งน้ำร้อน  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศกัมพูชา ภูมิประเทศด้านตะวันตก และใต้เป็นภูเขา ด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นป่าและเขา มีกลุ่มชนเรียกว่า ชอง อยู่ในอำเภอนี้
                อ.โป่งน้ำร้อนเดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียก กิ่ง อ.ท่าหลวง ขึ้น อ.ท่าหลวง เปลี่ยนเป็น กิ่ง อ.กัมพุช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.โป่งน้ำร้อน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓           หน้า ๑๒๑๑๗
            ๓๖๐๘. โป๊บ  ชาวไทยคริสต์เรียกว่า "สันตะปาปา" หมายถึงประมุขของคริสต์จักรนิกายโรมันคาทอลิก เดิมเรียกกันว่า บิชอปแห่งกรุงโรม ฝ่ายนิกายโรมันคาทอลิกถือว่า ตำแหน่งนี้สืบทอดมาจากปีเตอร์ จึงเป็นตำแหน่งประมุขของคริสต์จักรสืบต่อเรื่อยมา แต่ฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายออร์โทดอกซ์ถือว่า ตำแหน่งของปีเตอร์ถ่ายทอดไม่ได้ บิชอปแห่งกรุงโรม จึงเป็นตำแหน่งเสมอกับตำแหน่งบิชอปของเมืองอื่น ๆ (ดูปีเตอร์ - ลำดับที่ ๓๕๔๐)
                วิธีเลือกสันตะปาปาแต่เดิมเลือกโดยเสียงสนับสนุนของคริสต์ชนในกรุงโรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๐๙๘ (ค.ศ.๕๕๕) ต้องได้รับการอนุมัติจากจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๓๖๗ ต้องได้รับอนุมัติจากจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตำแหน่งสันตะปาปา กลายเป็นตำแหน่งช่วงชิงกันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ของอิตาลี ในปี พ.ศ.๑๕๘๙ สันตะปาปาเคลเมนต์ที่สอง จึงตกลงกับจักรพรรดิเฮนรีที่สาม แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ว่า ต่างฝ่ายต่างต้องได้รับการอนุมัติจากกัน ในปี พ.ศ.๑๗๒๒ สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่สาม กำหนดให้คาร์ดินัลเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงเลือกสันตะปาปา โดยมีเสียงนิยมไม่น้อยกว่าสองในสามของผู้ออกเสียง และจะเลือกคริสต์ชนคนใด
ก็ได้ เคยปรากฏว่าในปี พ.ศ.๑๗๔๗ เลือกได้ฆราวาสคือ จอห์นที่สิบเก้า เมื่อได้คะแนนเสียงครบแล้วประธานการเลือกจะถามความสมัครใจว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ เมื่อตอบว่าข้าพเจ้ารับก็ถือว่าเป็นพระสันตะปาปาทันที
                อำนาจของสันตะปาปาก็คือ แต่งตั้งสมณศักดิ์ทุกระดับ ลงพระนามาภิไธยในเอกสารสำคัญ ๆ  และแต่งตั้งสมณฑูต  เป็นต้น
                สมณศักดิ์รองจากสันตะปาปาคือ คาร์ดินัล ปัจจุบันมี ๑๒๐ รูป มีสิทธิและหน้าที่เลือกสันตะปาปาองค์ต่อไป และมีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจที่สันตะปาปามอบหมายให้
                    อาร์ชบิชอป  เป็นตำแหน่งบิชอปของคณะบาทหลวงในเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ
                    บิชอป  เป็นประมุขของคณะบาทหลวง (ดูบิชอป - ลำดับที่ ๓๑๓๗ ประกอบ)           หน้า ๑๒๑๑๘
            ๓๖๐๙. โปมะยุง่วน  เป็นชาวพม่าที่ได้รับแต่งตั้งจากพระจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ไปครองเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สองไม่นานนัก
                เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสรรคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนเห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ฝ่ายไทยรักษาเมืองไว้ได้ และตีกระหนาบกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
                สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ยกทัพขึ้นไปช่วย แต่เมื่อเสด็จไปถึงกลางทางทรงทราบว่า พวกเจ้าเมืองภาคเหนือช่วยกันตีพม่าแตกกลับไปแล้ว จึงทรงตัดสินพระทัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เสียเลย เมื่อตอนต้นปี พ.ศ.๒๓๑๔ โดยกองทัพไทยตั้งประชุม พลที่เมืองพิชัย รวบรวมไพร่พลได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน เจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ เป็นแม่ทัพหน้าคุมพลหัวเมืองเหนือยกขึ้นไป พวกเมืองเหนือในอาณาจักรล้านนาไทยได้มาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย โปมะยุง่วนตั้งรับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยมีกำลัง และเสบียงไม่เพียงพอต้องถอยทัพกลับพระนครหลังจากล้อมเชียงใหม่อยู่เก้าวัน โปมะยุง่วนถือโอกาสส่งกองทัพเข้าตามตีแต่ถูกทัพไทยตีกอบหนีไป
                สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.๒๓๑๙ โดยเกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒๐,๐๐๐ คน ไปรวมกำลังที่บ้านระแหง แขวงเมืองตากและเกณฑ์กำลังพลจากกรุงธนบุรีและหัวเมืองชั้นใน ๑๕,๐๐๐ คน เป็นกองทัพหลวงไปประชุมทัพที่เมืองระแหง โดยยกไปทางเรือแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์คุมทัพหลวงคงตั้งอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยฟังข่าวการเคลื่อนทัพของพม่า ที่เมืองเมาะตะมะและเมื่อได้ทรงสั่งการให้กองทัพไปตั้งรับพม่าที่บริเวณลำน้ำไทรโยคแล้ว กับให้อีกส่วนหนึ่งคอยสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาทางเมืองตาก แล้วพระองค์ก็ทรงยกกองทัพหลวงขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่
                กองทัพไทยเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ตั้งตามรอบเมือง ๓๔ ค่าย ชักปีกกา ตลอดกันถึงสามด้านเหลือเฉพาะทางด้านเหนือที่ยังลงค่ายไม่เสร็จตลอดด้าน พวกเมืองเชียงใหม่ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าและที่อยู่ในตัวเมืองก็พากันเล็ดลอดมาเข้ากับกองทัพไทยจนมีจำนวนเพิ่มถึง ๕๐,๐๐๐ คน
                กองทัพไทยตีค่ายพม่าด้านใต้ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกได้ โปมะยุง่วนและโปสุพลาต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ออกไปทางประตูช้างเผือกทางด้านเหนือ กรุงธนบุรีจึงได้เมืองเชียงใหม่  เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๗ เป็นต้นมา
                ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้มีคำสั่งให้โปมะยุง่วน และโปสุพลาที่คอยหนีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ในฤดูฝน เพื่อเตรียมเรือรบ เรือลำเลียง รวมทั้งเสบียงอาหารส่งมายังกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่จะเข้ามาตีเมืองไทยในต้นฤดูแล้ง แต่ต้องถอยกลับไปเชียงแสน เมื่อทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปป้องกันเมืองเชียงใหม่
                ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ พระเจ้าจิงกูจา ราชโอรสพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์ต้องการได้แว่นแคว้นล้านนาไทย ๕๗ หัวเมืองไว้ในอำนาจ จึงแต่งกองทัพมาสมทบ กับกองทัพของโปมะยุง่วนที่เมืองเชียงแสน เข้าตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๓๑๙ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องทิ้งเมืองอพยพผู้คนมายังเมืองสรรคโลก เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือ ไปสมทบกับพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า โปมะยุง่วนต้องถอยทัพกลับไปเมืองเชียงแสนอีก
                ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พระเจ้าปดุงยกกองทัพใหญ่มาปราบปรามหัวเมืองประเทศราชทางเหนือคือ เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง โปมะยุง่วนคุมกำลังจากเมืองเชียงแสน มาช่วยตีเมืองฝางด้วย เมื่อตีได้แล้วก็กลับมาเมืองเชียงแสน แต่ถูกเจ้าเมืองต่าง ๆ ในแว่นแค้นล้านนา รวมกำลังเข้าขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน และถูกจับตัวได้ที่เมืองเชียงรายแล้วถูกส่งตัวมายังกรุงเทพ ฯ รัชกาลที่หนึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ซักถามโปมะยุง่วนเกี่ยวกับข้อราชการต่าง ๆ ภายหลังได้รวบรวมเป็นเรื่องเรียกว่า "คำให้การชาวอังวะ" หรือ "คำให้การมะยิหวุ่น"           หน้า ๑๒๑๒๐
            ๓๖๑๐. โป๊ยเซียน  เป็นไม้พุ่ม บางครั้งคล้ายเลื้อย มีหนามตามลำต้นทั่วไป และแตกกิ่งก้านสาขา อาจสูงหรือยาวได้ ๑ - ๓ เมตร ใบออกรอบลำต้น และมักจะอยู่ที่ปลายยอด ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับ ดอกเป็นกระจุกเล็ก ๆ อยู่ภายในกาบรองดอก มีสีขาว ชมพู ส้ม แดง ช่อดอกมักจะออกตรงข้าม และมีก้านช่อดอกรวมยาวมาก           หน้า ๑๒๑๒๙
            ๓๖๑๑. โปรดเกศเชษฐาราม - วัด  เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคลองวัดหลวง ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ชาวบ้านเรียกว่า วัดปากคลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ พระยาเพชรพิไชยเป็นผู้สร้าง           หน้า ๑๒๑๓๐
            ๓๖๑๒. โปรดสัตว์ - วัด  เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ ต.ท่าขนอน อ.บางปะอิน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา และอยู่ใต้วัดทำเลไทยโดยมีกำแพงคั่นเท่านั้น
                วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มากคือ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๐๓๑) แต่หลักฐานโบราณคดีบางอย่างชี้ให้เห็นว่า อาจเป็นวัดเก่าเลยสมัยอยุธยาตอนต้น           หน้า ๑๒๑๓๓
            ๓๖๑๓. โปรตอน  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เออร์เนสต์รัทเทอร์ฟอร์ด นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษได้ค้นพบว่ามวลของอะตอมของธาตุอัดรวมกันอยู่ในบริเวณเล็ก ๆ เรียกว่า นิวเคลียส และในปี พ.ศ.๒๔๖๒ รัทเทอร์ฟอร์ดได้ค้นพบว่า อนุภาคโปรตอนเป็นผลที่ได้มาจากการแตกสลายของนิวเคลียสของอะตอม จึงทำให้สรุปได้ว่า อนุภาคโปรตอนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิวเคลียสของอะตอมของธาตุ นับจากนั้นก็ได้มีการวิจัยอีกมากมายเกี่ยวกับการสร้างของอะตอมของธาตุ ผลการวิจัยยืนยันได้แน่นอนว่าโปรตอนเป็นอนุภาคมูลฐานชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏอยู่ที่นิวเคลียสของอะตอมของทุกธาตุ เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าบวก นอกนี้ทุกอะตอมของธาตุจะต้องมีโปรตอน และนิวตรอนปรากฏอยู่ด้วยกันที่นิวเคลียสเสมอ
                ธาตุชนิดเดียวกัน จะมีจำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของแต่ละอะตอม เป็นจำนวนเท่ากันเสมอ และธาตุต่างชนิดกัน จะมีจำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของอะตอมแตกต่างกันไป จำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของแต่ละอะตอมเรียกว่า เลขอะตอมิก ส่วนผลบวกของจำนวนโปรตอน และนิวตรอนที่นิวเคลียสของแต่ละอะตอมเรียกว่า เลขมวล ในการเรียงลำดับที่ของธาตุที่ตารางพีริออดิกในปัจจุบันเรียงตามเลขอะตอมิก โดยเริ่มต้นจากธาตุไฮโดรเจน ซึ่งมีค่าเลขอะตอมิกเป็น ๑ เรื่อยไปจนถึงธาตุฮาห์เนียม ซึ่งมีค่าเลขอะตอมิกเป็น ๑๐๕
                ในธรรมชาติโปรตอนมีบทบาทสำคัญมากเกี่ยวกับปฎิกิริยานิวเคลียส ซึ่งให้พลังงานออกมามากมายยิ่ง พบกันว่าในดวงอาทิตย์ และในดาวฤกษ์อื่นบางดวงปรากฏมีปฎิกิริยาโปรตอน - โปรตอน เป็นปฎิกิริยานิวเคลียส ซึ่ง ๔ โปรตอนหลอมรวมกันเป็น ๑ อะตอมของธาตุฮีเลียม เชื่อกันว่าปฎิกิริยานี้ เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญแหล่งใหม่ของพลังงานในดาวฤกษ์เหล่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่าประมาณร้อยละ ๙๐ ของอนุภาคที่มีในรังสีคอสมิก คือ อนุภาคโปรตอนที่มีพลังงานสูงมาก
                ในทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ใช้อนุภาคโปรตอนเป็นกระสุนในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ไประดมยิงนิวเคลียสของอะตอม เพื่อสร้างอนุภาคมูลฐานอื่น ๆ ที่ไม่เสถียรสำหรับศึกษาถึงสมบัติต่าง ๆ ของอนุภาคเหล่านั้นต่อไป           หน้า ๑๒๑๓๗
            ๓๖๑๔. โปรตุเกส (โปร์ตุเกส - เพิ่มเติม)  เป็นประเทศเก่าแก่ประเทศหนึ่งในยุโรป มีแนวพรมแดนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๔๐ โปร์ตุเกสตั้งอยู่สุดทางด้านตะวันตกของทวีปยุโรป บนคาบสมุทรไอบีเรียทางตะวันออก และทางเหนือ ติดต่อกับประเทศสเปนทางตะวันตก และทางใต้ติดต่อกับมหาสมุทรแอคแลนติก หรือฝั่งออกไปทางตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้มีหมู่เกาะอะซอร์ส และหมู่เกาะมาเดียรา ซึ่งเป็นดินแดนของโปร์ตุเกสด้วย โปร์ตุเกสมีพื้นที่ ๘๘,๕๐๐ ตาราง กม.
                    ลักษณะทางภูมิศาสตร์  ส่วนใหญ่ของโปร์ตุเกสเป็นที่ต่ำประมาณร้อยละ ๑๑.๖ ของพื้นที่เท่านั้นที่สูงกว่า ๖๙๐ เมตร แม่น้ำทากุสไหลผ่านแยกโปร์ตุเกสออกเป็นสองส่วน แม่น้ำนี้มีต้นน้ำอยู่ในประเทศสเปน ทางตอนใต้เป็นที่ราบและที่ราบสูงระดับต่ำกับมีที่ราบลุ่มแม่น้ำกว้างขวางหลายแห่ง พื้นดินมีลักษณะเป็นลูกคลื่น เนินเขามีน้อย มีภูเขาเพียงเทือกเดียว สูงประมาณ ๙๘๐ เมตร ทางภาคเหนือพื้นดินมีระดับสูงกว่าทางภาคใต้กว่าร้อยละ ๙๐ ของภาคเหนือสูงกว่า ๓๙๐ เมตร เป็นที่ราบสูงที่กว้างใหญ่มีหุบเขาลึกตัดผ่านอยู่หลายแห่ง ภูเขาทางภาคเหนือนี้สูงกว่า ๙๘๐ เมตร แม่น้ำสำคัญส่วนใหญ่มีต้นน้ำอยู่ในประเทศสเปนแล้วไหลผ่านมาในโกรกธาร แม่น้ำสายยาวที่สุดที่ไหลผ่านโปร์ตุเกส คือ แม่น้ำดูโร ยาว ๓๒๐ กม. ต้นน้ำอยู่ในประเทศสเปน
                    ชายฝั่งทะเลเป็นชายฝั่งตรงเป็นส่วนใหญ่  ทำให้มีท่าเรือธรรมชาติน้อยมาก ที่สำคัญคือ เมืองลิสบอนที่ปากแม่น้ำทากุส และเซตูบัลที่ปากแม่น้ำซาโด
                    ภูมิอากาศ  โปร์ตุเกสตั้งอยู่สุดทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรป ทำให้มีภูมิอากาศมีลักษณะผสมของภูมิอากาศภาคพื้นทะเล และภูมิอากาศเมดิเตอเรเนียน
                    พลเมือง  ชาวโปร์ตุเกสจัดเป็นพวกเชื้อชาติผสม พวกที่มีเชื้อสายมัวร์ ซึ่งเข้ามาปกครองโปร์ตุเกสอยู่ระยะหนึ่งจะมีตาสีแก่ พวกทางเหนือตาสีฟ้าหรือสีเทา แถบชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ พลเมืองมีลักษณะของพวกนิโกรสืบเนื่องมาจากการค้าทาส ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๐๐ - ๒๔๐๐
                    ภาษาโปร์ตุเกสอยู่ในกลุ่มภาษาละตินคล้ายกับภาษาสเปน แต่มีคำในกลุ่มภาษาเยอรมัน และภาษาเซมิติกปนอยู่เป็นจำนวนมาก ภาษาโปร์ตุเกสใช้กันทั่วไปในประเทศ มีทางตะวันออกเฉียงเหนือที่มีภาษาถิ่น ชาวโปร์ตุเกสส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
                    ชาวโปร์ตุเกสอพยพไปตั้งหลักแหล่งในต่างประเทศอยู่เรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ไปประเทศฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก รองลงมาไปประเทศบราซิล แคนาดา เวเนซูเอลา และสหรัฐอเมริกา
                    ศิลปะและวัฒนธรรม  วัฒนธรรมโปร์ตุเกส เป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยโรมันและมัวร์เข้ารุกราน วัฒนธรรมจึงมีลักษณะผสมผสาน
                    ประวัติ  โปร์ตุเกสเป็นราชอาณาจักรอิสระ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองในปี พ.ศ.๑๖๘๒ ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๓ - ๒๑๘๓ โปร์ตุเกสถูกรวมเข้ากับสเปน แล้วจึงแยกออกมาเป็นโปร์ตุเกสอย่างเดิม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ จึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
            ๓๖๑๖. โปรแตสแตนต์  แปลว่าฝ่ายคัดค้าน เป็นชื่อเรียกกลุ่มผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายหนึ่งในสามนิกายคือ นิกายคาทอลิก นิกายกรีกออร์โทดอกซ และนิกายโปรเตสแตนต์
                นิกายโปรเตสแตนต์ มีกำเนิดในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญของ มาร์ตินลูเทอร์ ชาวเยอรมัน (พ.ศ.๒๐๒๖ - ๒๐๘๙) คัดค้านความย่อหย่อนในการปฏิบัติธรรมของฝ่ายคาทอลิกที่กรุงโรม มีผู้ยอมรับความคิดปฎิรูปการปฏิบัติธรรมแพร่หลายรวดเร็วเข้าไปทั่วยุโรป มีฝรั่งเศสเป็นรอยต่อตอนต้น แล้วแยกออกเป็นนิกายย่อยอีกหลายนิกายในอีกหลายประเทศ
                โปรเตสแตนต์ แยกออกเป็นนิกายสำคัญสี่นิกายคือ ลูเทอร์น (ตามชื่อของลูเทอร์)  แคลวิน (ตามชื่อของแคลวิน ชาวฝรั่งเศส)  อังกลิคาน และเปรสไบทีเรียน
                    นิกายลูเทอรัน  หลักปฏิบัติธรรมที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ปฎิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของสันตะปาปา ว่าไม่ใช่ผู้แทนของพระเจ้า หรือสื่อพาคนให้ติดต่อกับพระเจ้า
                    ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า อาศัยศรัทธา ส่วนตนของมนุษย์เป็นฐาน อาศัยพระเมตตา หรือพระพรของพระเจ้า และอาศัยพระคัมภีร์ (ไบเบิล) แทนการอาศัยสันตะปาปา
                    ลูเทอร์นปฏิเสธการแสวงหาบุญหรือการสารภาพบาปด้วยการมอบกายถวายตัว ไม่ใช่เรื่องจริงของพระคัมภีร์ แต่เป็นเรื่องที่สันตะปาปาประกาศบัญญัติขึ้นเอง
                    นิกายแคลวิน  ยอมรับอำนาจของพระจิตว่าสามารถบันดาลให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แม้แต่พระคัมภีร์ รับความสูงสุด และความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์ รับว่าคัมภีร์เท่านั้นคือ บ่อเกิดของความจริง ศีลสำคัญมีเพียงสองคือ ศีลล้างบาปหรือศีลจุ่ม และศีลมหาสนิท พระเจ้าเป็นเจ้าชีวิตของสัตว์โลก พระพรของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ ชะตาชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระกรุณานี้ ใครไม่ทำตามคำสั่งของพระเจ้าถือว่าละหน้าที่ เป็นบาป การปฏิบัติธรรมอย่างอื่นเหมือนลูเทอร์น แต่เน้นหนักมากในเรื่องคัมภีร์
                    นิกายแองกลิคาน  หรือศาสนจักรแบบอังกฤษ เกิดในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด แห่งราชวงศ์สจ๊วต (พ.ศ.๒๐๕๒ - ๒๐๙๐) เมื่อโรมันคาทอลิกผ่านเข้ามาสู่เกาะอังกฤษ ราชวงศ์อังกฤษไม่พอใจความหรูหราของสำนักวาติกันประเทศฟื้นฟูศาสนาใหม่ ตามแนวปฏิบัติของลูเทอร์น ให้ศาสนาของอังกฤษเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสันตะปาปา กรุงโรม หัวหน้านักบวชเรียกอาร์ชบิชอบ พิธีต่าง ๆ ของโรมันคาทอลิกถูกตัดออกไปหลายพิธี มาตอนหลังการฟื้นฟูของอังกฤษ กลายเป็นเรื่องของรัฐไปหลายอย่าง ทำให้เกิดมีนิกายอื่นขึ้นมาอีก เช่นนิกายเปรสไบทีเรียน และเมทอดิสต์
                    นิกายเปรสไบทีเรียน  เกิดขึ้นเพราะรังเกียจศาสนจักรอังกฤษที่กลายเป็นเรื่องของรัฐ เปรสไบทีเรียนแปลว่า คณะนักบวชผู้ใหญ่ มีความมุ่งหมายให้มีการจัดการปกครองของพวกนักบวชให้มีระเบียบขึ้น มีบิชอบ หัวหน้านักบวชในกลุ่มเป็นประธาน มีมินนิสเตอร์ร่วมกันทำงานเหมือนสภาขึ้นตรงต่อบิชอบ ไม่ต้องการเปลี่ยนหลักเดิมของโปรเตสแตนต์
                        นิกายนี้แผ่เข้ามาสู่ประเทศสยาม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘        หน้า ๑๒๑๔๖
            ๓๖๑๗. โปลิเนเซีย  เป็นชื่ออาณาบริเวณกว้างใหญ่ หนึ่งในสามแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก อีกสองแห่งคือ เมลาเนเซีย และไมโครเนเซีย อาณาบริเวณทั้งสามแห่งนี้อยู่ต่อเนื่องกัน โดยโปลิเนเซียเป็นส่วนที่อยู่ทางด้านตะวันออกสุด โปลิเนเซียประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อาณาบริเวณนี้ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอย่างคร่าว ๆ มีหมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะนิวซีแลนด์ และเกาะอีสเตอร์ อยู่ที่มุมด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออกของรูปสามเหลี่ยม ตามลำดับ
                ชาวโปลิเนเซีย มีเลือดผสมระหว่างชนหลายเชื้อชาติ ทั้งคอเคซอยด์ มองโกลอยด์ และนิกรอยต์ มีรูปร่างค่อนข้างสูง ผิวสีน้ำตาล ผมสีดำเหยียดตรง
                ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ชาวตะวันตกได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปปกครองดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ดินแดนส่วนนี้ต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศทางตะวันตก          หน้า ๑๒๑๕๒
            ๓๖๑๘. โปลิโอ - โรค  เรียกเป็นภาษาไทยว่าไข้ไขสันหลังอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นเชื้อที่ทนทานในอุณหภูมิต่ำ แต่จะตายถ้าต้มให้เดือดเพียง ๕ - ๑๐ นาที คนที่เคยเป็นโปลิโอชนิดหนึ่งแล้วจะไม่ติดเชื้อชนิดเดิมนั้นอีก แต่อาจติดเชื้ออีกสองชนิดที่แตกต่างออกไปนั้นได้
                โรคโปลิโอ ได้ระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ ต่อจากนั้นก็มีคนป่วยปรากฎทุกปี และเพิ่มจำนวนสูงขึ้นตามลำดับ อายุที่ป่วยเป็นโรคจะอยู่ในหมวดอายุต่ำกว่าห้าปี ประมาณร้อยละ ๘๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน เมื่อเข้าไปจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ที่เนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง บริเวณภายในคอ และเยื่อเมือก บุผนังลำไส้ เชื้อโรคจะค่อย ๆ บุกรุกเข้าไปในกระแสโลหิต และเดินทางเข้าสู่ระบบประสาทกลาง แล้วเข้าสู่สมอง และไขสันหลังต่อไป ทำให้เกิดอาการอักเสบ ถ้าหากเซลล์ประสาทในไขสันหลัง ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ถูกทำลายก็จะแสดงอาการของโรคชนิดอัมพาต ถ้าเกิดสมองอักเสบ อาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อที่สำคัญเกี่ยวกับการกลืน การหายใจ ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้         หน้า ๑๒๑๕๓
            ๓๖๑๙. โปโลน้ำ  เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถทางด้านร่างกาย และทักษะการเล่นที่อยู่ในระดับสูงอย่างหนึ่ง เพราะได้นำเอาการเล่นของกีฬาหลาย ๆ อย่าง เช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล และอื่น ๆ มารวมเข้าเล่นด้วยกัน กีฬานี้ได้มีการคิดขึ้นเล่นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๓ และได้จัดให้มีการแข่งขันครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓
                โปโลน้ำ เป็นกีฬาที่เล่นในระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย ฝ่ายละเจ็ดคน โดยให้แบ่งเวลาการเล่นออกเป็นสี่ช่วง ช่วงละห้านาที และพักห้านาที และพักระหว่างช่วงสองนาที ผู้เล่นแต่ละคนจะมีตำแหน่ง และหมายเลขประจำตัวในการเล่น ติดไว้ที่หมวกคือ
                หมายเลข ๑ ผู้รักษาประตู หมายเลข ๒ หลังซ้าย หมายเลข ๓ หลังขวา หมายเลข ๔ กลาง หมายเลข ๕ หน้าซ้าย หมายเลข ๖ หน้ากลาง หมายเลข ๗ หน้าขวา           หน้า ๑๒๑๖๕
            ๓๖๒๐. โปสุพลา  เป็นชื่อแม่ทัพพม่า ที่ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ามังระ ให้คุมกำลังพล ๕,๐๐๐ คน มาช่วยเจ้าบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เมื่อครั้งที่เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงพระบาง ยกทัพมาล้อมเมืองเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๓๑๔ โปสุพลา สามารถตีเมืองหลวงพระบางได้ และได้รับคำสั่งมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ คอยช่วยเหลือโปมะยุง่วน ป้องกันเมือง เมื่อกองทัพไทยจะยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ โปสุพลาได้แบ่งกองทัพส่วนหนึ่งเข้ามาตีเมืองลับแล และเลยมาถึงเมืองพิชัย ตอนปลายปี พ.ศ.๒๓๑๕ แต่ถูกฝ่ายไทยตีแตกกลับไป
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๖ ได้เกิดวิวาทกันเองในเมืองเวียงจันทน์ โปสุพลาต้องยกทัพไประงับการขัดแย้งที่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อสิ้นฤดูฝนโปสุพลายกทัพกลับจากเวียงจันทน์ จึงถือโอกาสเลยมาตีเมืองพิชัยอีก แต่ก็ถูกทัพไทยตีแตกกลับไป           หน้า ๑๒๑๖๗
            ๓๖๒๑. โป๊ะ  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำเป็นเครื่องมือประจำที่ชนิดหนึ่ง สำหรับการจับปลาในทะเล ส่วนประกอบทำด้วยไม้จริง ไม้ไผ่ และไม้รวก โดยการลงหลักปักเสาเป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เมตร แล้วล้อมด้วยเฝือกแน่นหนา ขันราประกอบเป็นชั้น ๆ ประมาณ ๔ - ๕ ชั้น เรียกว่า ลูกโป๊ะ ต่อจากลูกโป๊ะ ใช้ไม้ปักทำเป็นรูปคล้ายหูช้างสองแห่งเรียกว่า ห้องลวง ทำหน้าที่ขังปลาไม่ให้หนีออกจากโป๊ะ มีไม้ปักเป็นปีก หันหน้ารับกระแสน้ำลง ทำมุมซึ่งกันและกันจำนวนห้าปีกคือ ปีกใหญ่สองปีก ปีกแซงอีกสองปีก กับปีกกลางอีกหนึ่งปีก ปีกกลางและปีกใหญ่สองปีก เป็นปีกที่ยาวที่สุด อาจยาวมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร เวลาจับปลาใช้อวนรุกในขณะน้ำลงงวด          หน้า ๑๒๑๖๙
            ๓๖๒๒. โป๊ะจ้าย - เรือ  เป็นเรือทะเลประเภทเรือต่อ มีรูปร่างอย่างแบบยุโรป คล้ายเรือกำปั่นใบ มีเครื่องเสาเพลาใบแบบจีน มีเสาหัวกลางและท้าย สำหรับชักใบตอนท้าย เรือมีบาหลีสำหรับเดินลงไปยังท้องเรือ เรือชนิดนี้ทางราชการเรียกว่า เรือโป๊ะ ต้องเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.๒๔๔๖ กำหนดว่าต้องมีขนาดบรรทุกได้มากกว่า ๑,๐๐๐ หาบ (๔๔.๗ ตัน) และเรือทะเลทุกชนิดต้องมีดาดฟ้าปิด          หน้า ๑๒๑๗๔
            ๓๖๒๓. ไปรษณีย์  หมายถึง วิธีการส่งหนังสือ และหีบห่อสิ่งของโดยมีองค์การที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่รับส่ง
                ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้คิดระบบไปรษณีย์ขึ้นมาคือ จักรพรรดิ์ดาริอุส แห่งเปอร์เซีย ซึ่งได้จัดม้าใช้ นำข่าวสารออกไปทั่วราชอาณาจักร และรับทราบความเป็นไปจากหน่วยทหารในทุกหนทุกแห่ง โดยกำหนดให้ม้าใช้ออกเดินทาง ในหนึ่งวันแล้วเปลี่ยนม้าและคนใหม่ ไปเรื่อยเป็นทอด ๆ จนกว่าจะถึงที่หมาย
                สามัญชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการไปรษณีย์ ในราวปี พ.ศ.๑๙๔๓ ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๑  แห่งประเทศฝรั่งเศส
                   กิจการไปรษณีย์ของไทย  ในสมัยโบราณการส่งหนังสือไปมาถึงกัน ระหว่างเมืองต่อเมือง ส่วนมากมีอยู่แต่ในทางราชการเท่านั้น  โดยคนเดินหนังสือใช้วิธีส่งต่อกันเป็นทอด ๆ โดยเปลี่ยนคนเดินหนังสือในแต่ละเมือง
                    ต่อมาทางการได้จัดให้มีคนเดินหนังสือประจำตามหัวเมืองสำคัญเรียกว่า "คนเร็ว" มีหน้าที่ส่งหนังสือโดยเฉพาะ ส่วนหนังสือราชการที่จะต้องส่งไปยังราชการต่างประเทศ โดยมากจะใช้วิธีมอบไปกับพ่อค้าสำเภา ที่มีเกียรติควรแก่การเชิญหนังสือราชการนั้น แต่ถ้าเป็นพระราชหัตถเลขา หรือพระราชสาสน์ถึงประมุขของประเทศ ก็ต้องแต่ตั้งทูตอัญเชิญพระราชหัตถเลขา หรือพระราชสาสน์ นั้นโดยเฉพาะ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๘  ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยเจ้านาย ๑๑ พระองค์ โดยการนำของ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ทรงร่วมกันออกหนังสือรายวันฉบับหนึ่ง เพื่ออ่านกันในหมู่เจ้านายชื่อ "ข่าวราชการ" เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก ผู้รับหนังสือจึงให้มีบุรุษเดินหนังสือขึ้นและให้มีตั๋ว "แสตมป์" เพื่อแสดงว่าได้เสียค่าเดินหนังสือแล้วด้วย นับว่าเป็นตราไปรษณียากรที่ประเทศไทยมีใช้เป็นครั้งแรก
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๓ เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ผู้ซึ่งเคยไปเห็นกิจการไปรษณีย์ในต่างประเทศมาแล้ว ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ห้า ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย จึงได้มีการประกาศรับฝากส่งจดหมาย หรือหนังสือเป็นการทดลองในเขตพระนคร และธนบุรีขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๒๖ มีที่ทำการอยู่ ณ ไปรษณียาการ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ฯ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์และโทรเลข
                    การให้บริการไปรษณีย์โทรคมนาคมและการเงิน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ดำเนินมาได้ระยะเวลา ๙๔ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๑๙ แยกงานส่วนปฏิบัติการของกรมไปรษณีย์โทรเลขออกมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีชื่อว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ส่วนกรมไปรษณีย์โทรเลขยังคงมีฐานะเป็นส่วนราชการฝ่ายพลเรือนระดับกรมตามเดิม มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสื่อสารในระดับอำนวยการ       หน้า ๑๒๑๗๕


            ๓๖๒๔. ผ พยัญชนะตัวที่ ๒๘ ของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรสูง เป็นตัวที่สามของวรรคที่ห้า ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือ มีเสียงไม่ก้อง
                ผ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบ ร่วมกับพยัญชนะอื่น ๆ อีกหกตัวคือ บ ป ฝ พ ฟ ภ แต่ในภาคปฏิบัติแล้วไม่ปรากฎว่าใช้ตัว ผ เป็นตัวสะกดในคำไทยในที่ใด ๆ          หน้า ๑๒๑๘๙
            ๓๖๒๕. ผกากรอง  เป็นไม้พุ่ม ใบสากคาย มีกลิ่นค่อนข้างเหม็นเขียว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปใบคล้ายรูปหัวใจ แต่โคนใบไม่เว้า ดอกออกตรงซอกใบเป็นช่อ เกือบกลมมีหลายสี ดอกย่อมมีขนาดเล็กออกเบียดกันจนแน่นช่อ แต่ละดอกมีใบประดับเล็ก ๆ รองรับที่โคน ผลรูปกลมสีเขียวเมื่อแก่สีดำ          หน้า ๑๒๑๘๙
            ๓๖๒๖. ผดุงกรุงเกษม  เป็นชื่อคลองในกรุงเทพ ฯ ขุดเป็นคูชั้นนอก คราวขยายเขตพระนครออกไปในรัชกาลที่สี่ ปากคลองตอนบนแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายใต้วัดเทวราชกุญชร ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ถึงคลองมหานาค ลงทางใต้ปากคลองตอนล่าง ออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ที่ว่าการเขตสัมพันธวงศ์ ยาว ๕.๕ กม. ขุดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ เสร็จ พ.ศ.๒๔๙๕ มีถนนกรุงเกษมขนานกับคลองทางฝั่งขวา          หน้า ๑๒๑๙๐
            ๓๖๒๗. ผมนาง - ปลา  เป็นปลาทะเล ปลาในวงศ์นี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารที่รู้จักกันดีคือ ปลาสีกุน หรือปลาหางแข็ง เป็นต้น ปลาพวกนี้ชอบอยู่เป็นฝูง หากินตามชายฝั่ง          หน้า ๑๒๑๙๑
            ๓๖๒๘. ผลิตกรรม  หมายถึง กระบวนการของกิจกรรม ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสินค้าเศรษฐกิจ โดยการใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์          หน้า ๑๒๑๙๓
            ๓๖๒๙. ผลึก ๑ - แก้ว  ๑. แร่ควอตซ์ หรือหินเขี้ยวหนุมานที่มีลักษณะเป็นแท่งผลึกรูปหกเหลี่ยม บางครั้งอาจพบปลายแหลมทั้งสองข้าง
                    ๒. ก. แก้วเจียระไน แก้วที่มีคุณสมบัติพิเศษ และมีการเจียระไนเป็นเหลี่ยมมุมแบบผลึก ใช้ทำเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้
                         ข. ความใสแบบแก้วหรือกระจก ซึ่งแร่หลายชนิดมีคุณสมบัติดังกล่าวได้
                    ๓. แก้วหรือกระจกใส ที่ใช้ปิดหน้าปัดนาฬิกาข้อมือหรือนาฬิกาทั่ว ๆ ไป
                    ๔. สารแข็งที่มีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือมีสมมาตร
                    ๕. วัตถุที่เกิดโดยการแข็งตัวในสภาวะที่เหมาะสมของธาตุทางเคมี เป็นสารประกอบและของผสม ที่มีเนื้อเดียวกันและมีการจัดตัวภายในอะตอมที่เป็นระเบียบซ้ำ ๆ กัน จนทำให้วัตถุนั้นมีผิวหน้าต่าง ๆ เป็นระนาบเรียบ ให้เห็นได้จากภายนอก
                    ๖. วัตถุที่มีเนื้อใสเหมือนน้ำสะอาด มีลักษณะเป็นผลึกโปร่งใส ไม่มีสี           หน้า ๑๒๒๐๑
            ๓๖๓๐. ผลึก ๒  เป็นชื่อเมืองในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ เดิมเมืองผลึกมีสัมพันธภาพกับเมืองลังกา เพราะนางสุวรรณมาลีธิดาท้าวสิลราช ผู้ครองเมืองผลึกเป็นคู่หมั้นของอุศเรน โอรสของเจ้าลังกา แต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้สมรสกัน และสัมพันธภาพระหว่างเมืองทั้งสองได้สิ้นสุดลง เมื่อพระอภัยมณีได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองผลึกสืบต่อจากท้าวสิลราช และได้นางสุวรรณมาลีเป็นมเหสี
                เมื่อพระอภัยมณีออกผนวชที่เขาสิงคุตร สินสมุทรโอรสพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่สืบต่อมา          หน้า ๑๓๒๐๕
            ๓๖๓๑. ผัก ๑  เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกพืชบางชนิด ส่วนมากมีขนาดใหญ่ บางชนิดอาจบริโภคเป็นอาหารเช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักบุ้ง บางชนิดอาจใช้เป็นสมุนไพรได้ด้วยเช่น ผักแพ้วและผักปรังเป็นต้น ผักบางชนิดเป็นวัชพืชเช่น ผักเบี้ย ผักโจมหิน ผักปราบ เป็นต้น          หน้า ๑๒๒๐๗
            ๓๖๓๒. ผัก ๒  พืชบางชนิดที่นำมาใช้บริโภคเป็นอาหารประเภทให้วิตามิน และเกลือแร่เป็นสำคัญ บางทีเรียกพืชผักอาจใช้ใบดอก ผล ลำต้น ราก หรือใช้ทั้งหมดก็ได้          หน้า ๑๒๒๐๘
            ๓๖๓๓. ผักชี  (ดูชี ๒ - ลำดับที่ ๑๗๒๙)          หน้า ๑๒๒๐๘
            ๓๖๓๔. ผักตบ  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์เช่นเดียวกับผักตบชวา มีส่วนที่คล้ายกันตรงที่เป็นกก เป็นกอในน้ำจืดเท่านั้น
                ผักตบมีเหตุที่เจริญดี และแตกแขนงได้ฝังอยู่ใต้ดิน ใบรูปร่างคล้ายหัวลูกศร แต่ค่อนข้างกว้าง ก้านใบยาว ไม่โป่งพองเป็นกระเปาะเหมือนผักตบชวา ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตรงกลาง ๆ ก้านใบ มีใบประดับสีเขียวเป็นกาบหุ้มอยู่ ดอกสีน้ำเงินหรือสีฟ้าแกมน้ำเงิน          หน้า ๑๒๒๐๘
            ๓๖๓๕. ผักตบชวา  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ อายุหลายฤดู ต้นสูง ๑๐ - ๑๕ ซม. แตกหน่อใหม่อย่างรวดเร็ว รากฝอยออกเป็นกระจุกตรงโคนต้น แตกแขนงมากมาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนเป็นเกลียวรอบต้น แผ่นใบรูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง ๕ - ๑๕ ซม. และยาวใกล้เคียงกัน ดอกออกเป็นช่อ ที่ยอดช่อละ ๕ - ๑๐ ดอก สีม่วง           หน้า ๑๒๒๐๘
            ๓๖๓๖.  ผักบุ้งฝรั่ง  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นกึ่งไม้พุ่มและไม้เลื้อย ต้นโตเต็มที่สุดได้ถึง ๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ขนาดกว้าว ๔ - ๑๗ ซม. ยาว ๖ - ๒๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด และตรงซอกใบลักษณะคล้ายดอกผักบุ้ง แต่มีขนาดใหญ่กว่า สีชมพูอ่อนเกือบขาว ผลรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน          หน้า ๑๒๒๑๐
            ๓๖๓๗. ผักไห่  อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ทำนาเป็นพื้น อำเภอนี้มีปลาชุม มีชื่อว่าเป็นปลาดี
                อ.ผักไห่ สมัยอยุธยาแบ่งการปกครองออกเป็นแขวง ๆ ผักไห่ เป็นแขวงหนึ่งเรียกว่า แขวงขุนเสนา สมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเป็นแขวงเสนา ต่อมาในรัชกาลที่สาม ได้แยกออกเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ แยกแขวงเสนาใหญ่ตอนเหนือเป็น อ.เสนาใหญ่ ตอนใต้เป็น อ.เสนากลาง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ผักไห่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙          หน้า ๑๒๒๑๑
            ๓๖๓๘. ผัน - บัว  เป็นชื่อบัวชนิดหนึ่งใบ และดอกคล้ายบัวสาย แต่ดอกเล็กกว่า มีสีม่วงครามอ่อน ดอกบานตอนกลางวัน           หน้า ๑๒๒๑๒
            ๓๖๓๙. ผ้า  มีบทนิยามว่า "วัสดุที่เกิดจากการใช้เส้นใย และ / หรือ เส้นด้ายมาทำเป็นผืนไม่กำหนดขนาด โดยการทอ ถัก อัด และอื่น ๆ ซึ่งมีความหนาและเหนียวพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้"
                ผ้ามีมากมายหลายชนิด และมีการเรียกชื่อของผ้าต่าง ๆ นานา เช่น จำแนกตามชนิดของเส้นใยที่ใช้ทำ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าลินิน ผ้าขนสัตว์ ฯลฯ จำแนกตามกรรมวิธีที่ทำ ได้แก่ ผ้าทอ ผ้าถัก ผ้าอัด ผ้าย้อม ผ้าพิมพ์ ฯลฯ จำแนกตามแหล่งที่ทำผ้า  ได้แก่ ผ้าป่านสวิส ผ้าเกาะยอ ผ้าแพรจีน ผ้าพุมเรียง ฯลฯ จำแนกตามประเภทการใช้งาน ได้แก่ ผ้าตัดเสื้อ ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้ามุ้ง ผ้าเตนท์ ฯลฯ จำแนกตามลักษณะของเนื้อผ้า สีสันและลวดลาย ได้แก่ ผ้าลายสอง ผ้าขาว ผ้าหนังไก่ ผ้าตาข่าย ฯลฯ และจำแนกตามชื่อ หรือดัดแปลงจากชื่อภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ผ้าจอร์เจีย ผ้าชีฟอง ผ้าเสิร์จ ผ้าสาลู ผ้ายีน ฯลฯ
                มนุษย์รู้จักการทำผ้า และใช้ผ้ามานานนับพันปี จากตำนานของจีนกล่าวว่า เมื่อประมาณ ๒,๑๙๗ ปี ก่อนพุทธศักราช ในสมัยจักรพรรดิ์ฮ่องตี้ ของจีน พระนางลิหลิง ผู้เป็นมเหสีเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงไหม และประดิษฐ์เครื่องทอผ้าไหม ราวปี ๑๙๕๗ ก่อนพุทธศักราช บันทึกทางศาสนาของอินเดีย ได้อ้างถึงผ้าไหมที่มีสี และผ้ายกลายทอง หลักฐานในหลุมศพเบนิ - ฮาซาน ของอิยิปต์โบราณ เป็นภาพเขียนแสดงถึงการทอผ้าแบบต่าง ๆ ในราว ๑๙๕๗ ปีก่อน พ.ศ.
                ในประเทศไทยพบหลักฐานว่า คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักทอผ้าใช้แล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี คือ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ถึงยุคโลหะ ดังเช่นที่ได้ค้นพบแวดินเผา ที่ใช้สำหรับปั่นเส้นด้าย เข็มเย็บผ้าทำจากกระดูกสัตว์ พบที่บ้านเก่า อ.เมือง ฯ จ.กาญจนบุรี หินทุบผ้าเปลือกไม้ พบที่ จ.ชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพบร่องรอยของเศษผ้าฝ้าย และผ้าไหม ติดอยู่กับกำไล และขวานสำริด ที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นต้น          หน้า ๑๒๒๑๒
            ๓๖๔๐. ผาก  เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้ไผ่ ที่พบในประเทศไทยมีสามชนิด ผากเป็นไม้ไผ่ที่พบขึ้นทั่วไปในประเทศไทย พบมากทางภาคใต้ ลักษณะเป็นกอ สูงเต็มที่ได้ถึง ๑๒ เมตร ลำต้นกลมไม่มีหนาม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ ซม. สามารถดัดโค้งได้ง่าย จึงนิยมใช้ทำตะกร้า กระจาด กระด้ง ตะแกรง นอกจากนั้น ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษด้วย          หน้า ๑๒๒๒๔
            ๓๖๔๑. ผากอง ๑ - พระยา  เป็นกษัตริย์ไทยเมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัง) สมัยสุโขทัย พระยาผากอง (ผู้ปู่) ครองเมือง ปี พ.ศ.๑๘๖๓ - ๑๘๙๒ และพระยาผากอง (ผู้หลาน) ครองเมือง พ.ศ.๑๙๐๔ - ๑๙๒๙)
                จารึกหลักที่ ๘ (ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๑) ได้กล่าวถึง อาณาเขตของสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไท ว่าจดกับอาณาเขตของเจ้าพระยาผากอง เจ้าเมืองน่าน เมืองพลัว และตามจารึกหลักที่ ๙ พระเจ้าลิไทย ยกไปตีเมืองแพร่ได้ในปี พ.ศ.๑๙๐๒ - ๑๙๐๓ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ได้กล่าวถึงเรื่องท้าวผาคอง มาช่วยสุโขทัยรบกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง ที่เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ และทัพท้าวผาคองแตก จับได้ตัวท้าวพระยา และเสนาขุนหมื่น ครั้งนั้นมาก
                จารึกหลักที่ ๖๔ (พ.ศ.๑๙๓๕) ได้กล่าวถึงเมืองน่าน เมืองพลัว เมืองแพร่ และเมืองงาว ว่าอยู่ในอาณาเขตของกษัตริย์น่าน
                พระยาผากองมาสร้างเมืองน่าน ที่เวียงกุมบ้านห้วยไค้ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๙ และเจ้าผาแสง ครองเมือง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๐๒ ในฐานะเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อจากนั้น เชียงใหม่ส่งคนมาครองเมืองน่าน           หน้า ๑๒๒๒๔
            ๓๖๔๒. ผากอง ๒ - เมือง  (ดู เขลางคนคร - ลำดับที่ ๗๙๐)          หน้า ๑๒๒๒๖
            ๓๖๔๓. ผ้าขี้ริ้ว ๑ - งู  เป็นงูที่อยู่ในสกุลเดียวกับงูงวงช้าง แต่งูงวงช้างอาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนงูผ้าขี้ริ้ว อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม และน้ำกร่อย ที่ค่อนข้างเค็มจัด มีชุกชุมตามทะเลโคลน และตามปากน้ำ ที่ติดต่อกับทะเล เลื้อยหากินตามผิวพื้นโคลนทรายใต้น้ำ เป็นงูไม่มีพิษ เหตุที่ชื่อว่า งูผ้าขี้ริ้ว เพราะพื้นตัวเป็นสีเทาหม่น มีลายสีน้ำเงินเข้ม หรือเทาดำ ทำให้ดูคล้ายตัวสกปรก          หน้า ๑๒๒๒๖

            ๓๖๔๔. ผ้าขี้ริ้ว ๒  คือ กระเพาะส่วนหนึ่งของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ เมื่อลูกสัตว์แรกเกิดมีระบบกระเพาะคล้ายสัตว์กระเพาะเดียว แต่พอลูกสัตว์เริ่มหัดกินหญ้ากระเพาะส่วนหน้าจะค่อย ๆ ขยายตัวเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็นสี่ส่วนด้วยกัน มีชื่อเรียกตามลำดับ คือ
                    ๑.กระเพาะผ้าขี้ริ้ว  ๒.กระเพาะรังผึ้ง  ๓.กระเพาะสามกลีบ  ๔.กระเพาะแท้  กระเพาะผ้าขี้ริ้วผนังด้านในมีลักษระเป็นขุย เป็นกระเพาะขนาดใหญ่ที่สุดอาจจะได้ ๑๐๐ - ๑๒๐ ลิตร มีผนังกระเพาะแข็งแรง ใช้เป็นกระเพาะสำคัญในการย่อยอาหารพวกพืช โดยการหมักบูด ในขณะสัตว์ยังเล็ก กระเพาะนี้มีขนาดเล็กมาก และใช้งานไม่ได้ กระเพาะแรกของลูกสัตว์ จะขยายโตอย่างรวดเร็วจนลูกสัตว์มีอายุ ๔ - ๖ สัปดาห์ จึงจะพอทำการย่อยหญ้าได้บ้าง และจะใช้ย่อยหญ้าได้สมบูรณ์ เมื่ออายุ ๔ เดือนขึ้นไป กระเพาะนี้ไม่มีน้ำย่อย หรือเอนไซน์ของตัวเอง ฉะนั้นการย่อยและการเปลี่ยนแปลงอาหารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระเพาะนี้จึงเป็นการหมักบูดอันเป็นการทำงานของจุลินทรีย์           หน้า ๑๒๒๒๗
            ๓๖๔๕. ผ่าด้าม  เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งพบขึ้นทั่ว ๆ ไปตามป่าโปร่ง รูปร่างลักษณะคล้ายต้นพุด เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็ก ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปไข่ กลีบดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกตอนโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบห้ากลีบ ผลรูปไข่ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีสันตามความยาวของผลห้าสัน   หน้าที่  ๑๒๒๒๙
            ๓๖๔๖.  ผ้าดิบ  มีคำนิยามว่า "ผ้าทอ หรือผ้าถักที่ตัดออกจากเครื่องยังไม่ตกแต่ง" เดิมก่อนที่คนไทยจะมีเครื่องจักรทอผ้า การทอผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ทำโดยใช้หูกหรือกี่ ทอด้วยมือทั้งสิ้น คำว่า ผ้าดิบ มีความหมายแคบเฉพาะหมายถึง ผ้าฝ้ายที่ทอจากฝ้ายดิบ ด้วยเครื่องทอมือดังกล่าว แล้วตัดออกมาใช้โดยไม่มีการต้มฟอก หรือตกแต่งใด ๆ           หน้า ๑๒๒๓๐
            ๓๖๔๗. ผาติกรรม  มีบทนิยามว่า "การทำให้เจริญ ใช้ในวินัยว่าการจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกของที่ดีกว่า ให้แก่สงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไปบ้าง รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้"
                คำผาติกรรมนี้เป็นภาษาพระวินัยต้นเหตุเรื่องนี้มีมาในบาลีเสนาสนะขันธกะ จุลวรรค พระวินัยปิฎก ความว่า สมัยหนึ่งผ้าต่างชนิดมีจำนวนมากมาย มีผู้ถวายเป็นบริขารประจำเสนาสนะ พระสงฆ์ใช้ไม่ทันทั้งห้ามแจกด้วย ปล่อยไว้ก็จะทำให้ศรัทธาของทายกตกไปทั้งของก็อาจจะเสียหาย พระพุทธเจ้าโปรดให้ประชุมสงฆ์ ทรงอนุญาตให้แลกเปลี่ยนได้ด้วยวิธีผาติกรรม
                ผาติกรรมนั้นสงฆ์เป็นผู้ทำ บุคคลทำไม่ได้ จะทำได้แต่ในนามของสงฆ์ของนั้นก็ต้องเป็นของสงฆ์ สงฆ์ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์           หน้า ๑๒๒๓๑
            ๓๖๔๘. ผ้าป่า  มีบทนิยามไว้ว่า "ผ้า (พร้อมทั้งเครื่องบริขารถ้ามี) ที่นำไปวางทอดไว้เสมือนว่า เป็นผ้าที่ทิ้งอยู่ในป่า เพื่อให้พระชักเอาไปเป็นทำนองผ้าบังสุกุล มักทำเป็นปรกติต่อท้ายทอดกฐินเรียกว่าทอดผ้าป่า"
                ผ้าที่เรียกว่า "ผ้าป่า" นั้นมีเค้าเรื่องพอที่จะถือได้จากคัมภีร์จีวรขันธกะ มหาวรรค พระวินัยปิฎก           หน้า ๑๒๒๓๑
            ๓๖๔๙. ผาเผือก (ดูไกรลาส - ลำดัที่ ๖๖๗)           หน้า ๑๒๒๓๘
            ๓๖๕๐. ผาเมือง - พ่อขุน  เป็นพระสหายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม ราชวงศ์พ่อขุนนาวนำถมครองเมืองเชลียง (สวรรคโลกเก่า)  อยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๖๒ มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงเมืองฉอด ลำพูน เชียงแสนและพะเยา ต่อมาได้เมืองสุโขทัยเพิ่มขึ้น
                พ่อขุนผาเมืองได้ไปครองเมืองราด ส่วนพระยาคำแหงพระรามผู้เป็นพระอนุชาได้ไปครองเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก)  พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมมือกันตีเมืองต่าง ๆ รอบสุโขทัย ซึ่งขอมสบาดโขลญลำพงครองอยู่ได้ พ่อขุนบางกลางหาวยึดเมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลกเก่า)  พ่อขุนผาเมืองยึดเมืองสุโขทัยได้แล้ว ยกให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว (ประมาณปี พ.ศ.๑๗๘๑ - ๑๗๙๒)  และอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นกษัตริย์
                จากข้อความในจารึกหลักที่สองเมืองราด อยู่ในกลุ่มเดียวกับเมืองสระคา และเมืองลุมบาจาย (เมืองหล่มเก่า)  อยู่บริเวณแควป่าสัก           หน้า  ๑๒๒๓๘
            ๓๖๕๑. ผาลาเพียงไหล่  เป็นชื่อท่ารำไทยท่าหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในการรำเพลงช้า คือ การรำที่เป็นแบบฝึกหัดรำเบี้องต้น
                การรำตามตำรานี้เรียกกันในวงการนาฏศิลป์ว่า "รำแม่บท" และเรียกตำราของเก่าที่มีสิบแปดคำกลอนว่า "แม่บทใหญ่" เรียกกลอนในเรื่องรามเกียรต์ตอน พระนารายณ์ปราบนนทุกว่า "แม่บทเล็ก"           หน้า ๑๒๒๔๐
            ๓๖๕๒. ผาสายเส้า  (ดูตรีกุฏ - ลำดับที่ ๒๐๘๙)           หน้า ๑๒๒๔๒
            ๓๖๕๓. ผาหอม  (ดูคันธมาทน์ - ลำดับที่ ๙๙๗)            หน้า ๑๒๒๔๒
            ๓๖๕๔. ผ้าห้อยคอ  เป็นผ้าที่เจ้าสาวนำมาให้เจ้าบ่าวนุ่งผลัดในพิธีแต่งงานสมัยโบราณ คือ นำมาให้นุ่งผลัดตอนที่ทำพิธีซัดน้ำ (สาดน้ำ) ที่เรือนหอจนเสร็จแล้ว และนำเอามาให้นุ่งผลัดตอนที่เจ้าบ่าวนอนเฝ้าหออีกหนหนึ่ง เจ้าบ่าวต้องให้ของชำร่วยเพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้นำมา            หน้า ๑๒๒๔๒
            ๓๖๕๕. ผ้าไหว้  เป็นผ้าที่ฝ่ายชายหรือฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปไหว้ผีปู ย่า ตา ยายและพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หรือฝ่ายเจ้าสาว เพื่อแสดงความเคารพ และขอให้อยู่เย็นเป็นสุขในเวลาแต่งงาน ตามปรกติมีสามสำรับ            หน้า ๑๒๒๔๕
            ๓๖๕๖. ผำ  เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ เป็นพืชที่มีดอกเล็กที่สุด มีใบเลี้ยงใบเดียว คนไทยภาคกลางเรียกว่า ไข่น้ำ หรือไข่แหน            หน้า ๑๒๒๔๘
            ๓๖๕๗. ผี ๑  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือให้โทษได้ มีทั้งดีทั้งร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า เรียกคนที่ตายแล้วว่า ผี...."
                เรื่องผีเป็นคติความเชื่อครั้งดั้งเดิมของมนุษย์ระยะเริ่มแรก ที่จะคลี่คลายมาเป็นศาสนา เมื่อเกิดมีศาสนาขึ้นเชื่อกันว่าผีคือ วิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ไปเกิดอยู่ในพวกโอปปาติกกำเนิด ซึ่งเกิดผุดขึ้นเป็นรูปร่าง และมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งในทันทีทันใด พวกผีสางนางไม้ เทวดา พรหม ตลอดทั้งพวกเปรต และพวกอบายภูมิอื่น ๆ ทั้งหมด ทางพระพุทธศาสนารวมเรียกว่า พวกโอปปาติกะ ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นโอปปาติกะนั้นถือว่าเป็นชีวิตที่เกิดใหม่ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิญญาณ ด้วยอำนาจการปรุงแต่งของกรรม การเกิดแบบนี้ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ ไม่ต้องอาศัยธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยอาหารอย่างมนุษย์และสัตว์           หน้า ๑๒๒๔๙
            ๓๖๕๘. ผี ๒ - หนู  หนูผีบ้านเป็นสัตว์เล็ก ๆ สัตว์ในวงศ์นี้มีในโลกถึง ๒๔ สกุล แยกออกได้เป็น ๒๙๐ ชนิด ในไทยมี ๙ ชนิด แต่ที่รู้จักกันดีทั่วไปก็เฉพาะแต่หนูผีบ้าน ซึ่งเป็นหนูผีที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ ส่วนนอกนั้นเป็นหนูผีชนิดเล็ก ๆ อีก ๗ ชนิด ไม่ค่อยมีใครสนใจและมักเรียกรวม ๆ กันว่า หนูผีป่า
                หนูผีทุกชนิด มีฟันแบบสัตว์กินแมลงไม่มีฟันแทะอย่างหนูทั่วไป           หน้า ๑๒๒๕๓
            ๓๖๕๙. ผีตองเหลือง  เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่จวนจะสูญพันธุ์ พบในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย คือ จังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่ ผีตองเหลืองเรียกตนเองว่า มราบรี ชื่อแปลว่า คนป่า
                การที่เรียกว่า ผีตองเหลือง เพราะชอบอาศัยอยู่แต่ในป่า และไม่ยอมปรากฏตัวให้เห็น นอกจากจำเป็นต้องเข้ามาแลกของใช้ ที่พักนิยมสร้างด้วยใบไม้สดเป็นเพิงกันฝน และน้ำค้าง พอใบไม้แห้งเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก็จะพากันย้ายที่อยู่
                ภาษาของผีตองเหลืองเป็นภาษาออสโตรเอเชียติกในกลุ่มมอญ - เขมร ซึ่งคล้ายกับภาษาลาว ไทยเหนือ แม้ว ว้า และขมุ           หน้า ๑๒๒๕๔
            ๓๖๖๐. ผีตากผ้าอ้อม  เป็นปรากฏการณ์ของแสงแดดที่เห็นเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำของบางวัน แสงที่เห็นจะมีสีส้มแดงเป็นส่วนหนึ่ง ของแสงสีขาวที่ถูกโมเลกุลของอากาศ แยกออกเป็นหลายสีแล้วแผ่กระจายไปในทิศทางต่าง ๆ แสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่น แสงสีน้ำเงินจะแผ่กระจายสู่ท้องฟ้ามาก จึงทำให้ฟ้ามีสีน้ำเงิน แต่แสงที่มีคลื่นยาว เช่น แสงสีแดงจะถูกบรรยากาศทำให้แผ่กระจายน้อยจึงสองมาเข้าตา โดยเฉพาะขณะดวงอาทิตย์ อยู่ใกล้ขอบฟ้าจึงเห็นดวงอาทิตย์มีสีแดง เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าเล็กน้อย แสงสีแดงจะยังส่องมาทิศทางเดิม คือ เกือบจะเป็นแนวเดียวกับแสงแดดส่องมาที่โลก แสงสีแดงส่วนนี้เองที่สะท้อนมาเข้าตาอีกต่อหนึ่ง โดยฝุ่นละอองและโมเลกุลของอากาศที่อยู่ทางทิศตะวันตก ปรากฏเป็น "ผีตากผ้าอ้อม" ซึ่งจะเห็นอยู่ได้นานประมาณครึ่งชั่วโมง ชื่อเรียกอย่างอื่น คือ แสงโพ้ลเพ้ล แสงพลบค่ำ หรือแสงสนธยา           หน้า ๑๒๒๖๒
            ๓๖๖๑. ผีบุญ  มีบทนิยามว่า "ผู้อวดคุณวิเศษว่าผีฤทธิ์ทำได้ต่าง ๆ อย่างผีสางเทวดาให้คนหลงเชื่อ"
                ผีบุญที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ผีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลอีสานเป็นการใหญ่โต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ถึงกับกลายเป็นขบถขึ้น มีคนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษเห็นว่า มีคนนับถือกลัวเกรงมาก ก็เลยแสดงตนเป็นท้าวพระยาธรรมิกราช ที่จะมาดับยุคเข็ญตามคำพยากรณ์ ยกกำลังจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานีแต่ถูกทางการปราบปรามลงได้           หน้า ๑๒๒๖๓
            ๓๖๖๒. ผีปันน้ำ  ทิวเขาผีปันน้ำได้ชื่อนี้เพราะเป็นสันปันน้ำที่แบ่งน้ำไหลแยกกันไปสองทาง ทางหนึ่งไปสู่อ่าวเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งไปสู่อ่าวแม่โขง เขาย่อย ๆ หลายทิวประกอบขึ้นเป็นทิวเขาผีปันน้ำของแม่ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นแควของแม่น้ำเจ้าพระยา ทิวเขาทั้งทิวครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด ของตอนกลางของภาคเหนือในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันตกของทิวเขานี้เป็นทิวเขา ซึ่งเรียงตัวกันตามแนวเส้นแวง ยอดเขาที่สำคัญคือ เขา (ดอย)  ขุนออน เขา (ดอย)  ผาโจ้ และเขา (ดอย)  ขุนตา  เขา (ดอย)  ขุนตาล เป็นภูเขาหินแกรนิต ซึ่งตั้งขวางเส้นทางรถไฟสายเหนือ ทำให้ต้องเจาะลอดสันเขาทางใต้ของทิวเขานี้
                ทิวเขาผีปันน้ำเริ่มจากทิวเขาแดนลาว ตอนแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศพม่า เริ่มจากทางทิศตะวันออกของช่องกิ่วผาวอก ห่าง ๒ กม. เป็นทิวยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านถนนสายเชียงใหม่ - ฝาง ตรงที่สูงที่สุดในถนนสายนี้ เรียกว่า ปางหัวโต รวมทิวเขาผีปันน้ำยาว ๔๑๒ กม.            หน้า ๑๒๒๗๓
            ๓๖๖๓. ผีเรือน  หมายถึง ผีพ่อแม่ ปู ย่า ตา ยาย หรือผีบรรพบุรุษที่สิงอยู่ในเรือน เป็นผีไม่มีศาลหรือหอเป็นเฉพาะ มักถือกันว่าผีเรือนนั้นสิงอยู่ที่เสาเอกของเรือน ถ้าเป็นเรือนมีเสาดั้ง คือ เสากลางด้านสกัดก็ถือว่าสิงอยู่ที่เสานั้น           หน้า ๑๒๒๗๙
            ๓๖๖๔. ผีเสื้อ ๑ - แมลง  เป็นแมลงที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะมีปีกสองคู่ ปีกทั้งสองมีลักษณะเป็นไผ่บาง ปากของผีเสื้อบางชนิดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น เพราะไม่จำเป็นต้องกินอาหาร เมื่อโตเต็มที่แล้ว ตาโตเห็นได้ชัด มีการเจริญเติบโตเป็นสี่ขั้นตอน คือ แม่ผีเสื้อออกไข่ ไข่จะฟักเป็นตัวหนอน เมื่อพ้นระยะเป็นตัวหนอนก็จะเข้าดักแด้ เมื่อถึงกำหนดจึงจะฟักตัวออกจากดักแด้กลายเป็นตัวโตเต็มวัยคือตัวผีเสื้อ
                ผีเสื้อมีเป็นชนิดต่าง ๆ ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ชนิด จัดเป็นอันดับที่ใหญ่เป็นที่สองของพวกแมลงด้วยกัน ประกอบด้วย ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ซึ่งมีมากกว่าผีเสื้อกลางวันหลายเท่าตัว            หน้า ๑๒๒๘๑
            ๓๖๖๕. ผีเสื้อ ๒ - ปลา  เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกปลาทะเลหลายชนิดที่มีลักษณะลำตัวกว้างค่อนข้างสั้น สีสันและลวดลายสดใสสวยงามคล้ายผีเสื้อ ปลาผีเสื้อจัดอยู่ในวงศ์ต่าง ๆ ถึงสามวงศ์ด้วยกัน บางชนิดมีชื่อเสริมต่อท้ายว่าผีเสื้อ เพื่อบ่งบอกลักษณะพิเศษเฉพาะตัวลงไปอีก            หน้า ๑๒๒๘๕
            ๓๖๖๖. ผีเสื้อน้ำ  หมายถึง พวกยักษ์ พวกรากษสที่สิงอยู่ในน้ำ มีหน้าที่รักษาน้ำที่ตนสิงอยู่            หน้า ๑๒๒๘๙
            ๓๖๖๗. ผีเสื้อยักษ์ - แมลง  เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่อยู่ในประเภทของผีเสื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อกางปีกจะมีขนาดยาว ๒๑ - ๒๕ ซม.
                แม่ผีเสื้อยักษ์วางไข่ใบเดียวเป็นกลุ่มตามใบพืชที่เป็นอาหาร ไข่เหล่านี้จะฟักเป็นตัวหนอนภายในเวลา ๕ - ๘ วัน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาว ๑๒ ซม. เป็นตัวหนอนอยู่หนึ่งเดือน ก็จะเข้าดักแด้เป็นเวลาประมาณ ๓ - ๔ สัปดาห์ก่อนที่จะออกมาเป็นผีเสื้อต่อไป
                รังไหมที่ผีเสื้อยักษ์ถักขึ้นเพื่อหุ้มตัวเวลาเข้าดักแด้นั้น ชาวบ้านนิยมนำมาปั่นเป็นเส้นเชือกสำหรับใช้ตกปลา เพราะป็นเส้นไหมที่เหนียวมาก            หน้า ๑๒๒๙๓
            ๓๖๖๘. ผีเสื้อสมุทร  มักเป็นนางยักษ์อยู่ในมหาสมุทร ตามที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี เช่น ในเรื่องรามเกียรติ์ นางผีเสื้อสมุทรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาด่านหลังมหาสมุทรและถูกหนุมานฆ่าตาย เมื่อคราวหนุมานไปสืบหานางสีดา ในเรื่องพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทรอยู่ในถ้ำใต้น้ำบริเวณน่านน้ำอโนมาน ได้พบพระอภัย ฯ ก็หลงรัก จึงเข้าอุ้มพาพระอภัย ฯ พาไปยังถ้ำของนาง ได้พระอภัย ฯ เป็นสวามี และมีโอรสชื่อ สินสมุทร            หน้า ๑๒๒๙๕
            ๓๖๖๙. ผีหลอก - เรือ  เป็นเรือที่ใช้ในการทำการประมง โดยทั่วไปเป็นเรือขุด หรือเรือต่อ มีลักษณะยาวเพรียว ยาว ๘ - ๑๐ เมตร กว้าง ๐.๓๐ - ๐.๕๐ เมตร ลึก ๐.๒๐ - ๐.๓๐ เมตร ประกอบด้วยแผ่นกระดานไม้หน้ากว้าง ๑๐ ซม. ตอกเรียงกัน ๓ - ๔ แผ่น ทาสีขาวทั่วแผ่นนำไปติดกับแคมเรือด้านหนึ่ง แคมเรืออีกด้านหนึ่งมีอวนหรือตาข่ายยาว ๕ - ๘ เมตร สูง ๑.๐ - ๑.๕ เมตร ขึงพยุงไว้กับหลักไม้ สูงเท่ากับเนื้ออวน หรือข่ายตอนท้ายเรือมีคนแจวหนึ่งคน
                การออกจับสัตว์น้ำจะกระทำในเวลากลางคืนเดือนมืด จึงจะได้ผลดี ชาวประมงจะแจวเรือจับปลาตามชายฝั่งทะเล หรือตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ขณะทำการชาวประมง จะเอียงเรือด้านที่มีไม้กระดานสีขาว เป็นมุมกับพื้นราบประมาณ ๗๕ - ๘๐ องศา แผ่นกระดานสีขาวจะขยับเกิดประกายทำให้ปลาที่อยู่ใกล้ ๆ ตกใจกระโดดขึ้นเรือ ถ้าตัวใดกระโดดแรงไปก็จะไปปะทะกับอวนหรือข่ายที่ขึงไว้อีกด้านหนึ่งตกลงในเรือ            หน้า ๑๒๒๙๙
            ๓๖๗๐. ผีอำ  มีบทนิยามว่า "อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำ หรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น
                ผีอำต่างกันกับผีสิง กล่าวคือ ผีอำจะรู้สึกว่านอนครึ่งหลับครึ่งตื่น ซึ่งเรียกว่า เคลิ้ม คือ หลับไม่สนิท บางทียังรู้สึกมองเห็นร่างคนที่ปลุกปล้ำหรือยึดคร่าเป็นราง ๆ แต่กระดุกกระดิกกายไม่ได้ พูดไม่ออก ส่วนผีสิงผู้ถูกสิงไม่ได้นอนเคลิ้ม ยืนหรือนั่งอยู่ก็หมดความรู้สึกล้มทั้งยืน และนั่งแล้วหมดสติไป มีอาการนัยน์ตากลอกไปมา น้ำลายไหล ดิ้นรนกระสับกระส่าย เมื่อผีออกไป และได้สติแล้วจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองไม่ได้
                กล่าวกันว่าผีอำนั้นเกิดแก่คนนอนเคลิ้มได้ทั้งกลางวัน กลางคืนไม่ว่าที่ไหน และว่าเป็นเพราะส่วนใหญ่ ผู้ที่ถูกผีอำมักไปทำผิดผีผิดประเพณี ที่เขานับถือว่าสำคัญ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ ห้ามละเลยหรือล่วงเกิน ผีที่อำนั้นส่วนใหญ่ได้แก่ พระภูมิเจ้าที่
                ผีอำยังเกิดแก่ผู้ทำผิดประเพณีต้องห้ามอีกหลายอย่าง เช่น ห้ามนอนขวางธรณีประตู ห้ามนอนตรงรอด ตรงขื่อ หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ห้ามนอนเหยียดเท้าไปทางสิ่งเคารพบูชา และห้ามนอนเอามือกอดหน้าอก            หน้า ๑๒๓๐๐
            ๓๖๗๑. ผึ้ง ๑ - แมลง  เป็นแมลงจำพวกหนึ่งอยู่ในพวกต่อ แตน มด เป็นแมลงประเภทที่มีปีกบางใสสองคู่ ปากมีลักษณะที่สามารถใช้ทั้งกัดอาหารให้ขาด และรวมทั้งดูดน้ำหวานกินได้ มีวงจรชีวิตในลักษณะที่มีไข่ฟักเป็นตัวหนอนเข้าดักแด้แล้วจึงเป็นตัวเต็มวัย ส่วนผึ้งนั้นรวมเอาแมลงที่มีลักษณะพิเศษคือ มีขนปกคลุมตามลำตัวตั้งแต่หัวจนถึงท้องและขา มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคม กล่าวคือ มีการรวมกลุ่มกันอยู่ และแบ่งสรรหน้าที่ในรวงรังให้ต่างวรรณะต่างทำ มีอยู่สามวรรณะด้วยกัน คือมี วรรณะผึ้งงาน ผึ้งผู้ ผึ้งเมีย หรือแม่รัง
                ผึ้งงานเป็นผึ้งตัวเมีย มีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่เจริญแต่อวัยวะสำหรับต่อย เพื่อการต่อสู้ป้องกันศัตรูเจริญดี ผึ้งงานเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัง ทำหน้าที่ในการสร้างรวงรังเก็บน้ำหวาน และเกสรดอกไม้มาเลี้ยงดูรังและลูกในรัง ทำความสะอาด และปกป้องรักษารัง ฯลฯ ผึ้งงานมีขนาดเล็กกว่าผึ้งผู้ และผึ้งแม่รัง
                ผึ้งผู้มีลำต้วป้อม และโตกว่าผึ้งงาน ในรังหนึ่งมีหลายตัว ผึ้งผู้ไม่ต้องทำงาน มีชีวิตคอยแต่กิน และผสมพันธุ์ เมื่อถึงเวลาเท่านั้น เมื่อเลยฤดูผสมพันธุ์แล้ว มักจะถูกผึ้งงานไล่ หรือขจัดให้ออกจากรังไป
                ผึ้งแม่รังมีเพียงตัวเดียวประจำรัง จะเกิดใหม่ก็ต่อเมื่อถึงเวลาแยกรัง ผึ้งเมียเกิดจากไข่ที่ผสม และได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารพิเศษ ทำให้มีรูปร่างใหญ่โตกว่าผึ้งพวกเดียวกันในวรรณะอื่น มีรังไข่ที่สมบูรณ์ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งทำหน้าที่วางไข่เพื่อสร้างลูกรัง หรือประชากรของรังเป็นหลัก และไม่ต้องทำหน้าที่ด้านอื่น ๆ ในรัง โดยปรกติผึ้งแม่รังมักจะมีชีวิตยืนยาวกว่าผึ้งวรรณะอื่น ๆ คืออาจจะมีชีวิตอยู่ได้ ๒ - ๓ ปี ในขณะที่ผึ้งวรรณะอื่นมีอายุอยู่ไม่ถึงปี การผสมพันธุ์นั้นเกิดขึ้นกลางอากาศ การแยกรังจะเกิดขึ้นเมื่อผึ้งมีประชากรหนาแน่น ทำให้เกิดความคับแคบในรัง จึงจะเกิดการแยกรังขึ้น รังที่แยกออกไปนี้ จะมีแม่รังไม่น้อยกว่าหนึ่งตัว แยกออกไปพร้อมกับพลพรรคลูกรัง ที่เป็นผึ้งงานเป็นส่วนใหญ่ รังที่สร้างขึ้นทำด้วยผึ้งขี้ผึ้ง
                ผึ้งเป็นแมลงที่ให้ประโยชน์ทั้งในด้านช่วยผสมพันธุ์ ทำให้ได้ผลผลิตของพืชต่าง ๆ สูงขึ้นและให้ประโยชน์โดยการให้น้ำผึ้งและขี้ผึ้ง            หน้า ๑๒๓๐๖
            ๓๖๗๒. ผึ้ง ๒ - ปลา  เป็นปลาชนิดเดียวกันกับปลาปากใต้ ลูกผึ้ง รากกล้วย (ดูปากใต้ - ปลา ลำดับที่...)            หน้า ๑๒๓๑๖
            ๓๖๗๓. ผุสดี - พระนาง  ในมหาเวสสันดรชาดกพระนางผุสดีเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามัทราชเป็นอัครมเหสีในพระเจ้ากรุงสญชัย และเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร
                พระนางผุสดีนี้ในพระชาติก่อนเป็นอัครมเหสีของท้าวสักเทวราชในเทวโลก และในพระชาติสุดท้าย ได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ และพระนางยโสธรา ในกรุงเทวทหะทรงพระนามว่า สิริมหามายา ผู้เป็นพระพุทธมารดา (ดูสิริมหามายา - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย)            หน้า ๑๒๓๑๖
            ๓๖๗๔. ผู้ไทยหรือภูไท  เป็นคนไทยเผ่าหนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว ในประเทศไทยอยู่ใน จ.สกลนคร นครพนม และร้อยเอ็ด เดิมทีเดียวชาวผู้ไทย หรือผู้ไทยขาว มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูในแคว้นสิบสองจุไทย จากการรุกรานของพวกฮ่อ ผู้ไทยจำนวนหลายหมื่นคนได้อพยพลงมาทางใต้เข้าอาศัยอยู่ที่เมืองวังในแขวง เมืองสุวรรณเขตในประเทศลาวปัจจุบัน ต่อมาเมืองวังเกิดปัญหาทางการเมือง จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านโพธิ์สามต้น และบ้านพระกลางทุ่งในเขตอำเภอธาตุพนม ต่อมาได้อพยพไปอยู่บริเวณหนองหาน จ.สกลนคร แล้วอพยพไปอยู่ที่บ้านดงหวายสายบ่อแก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เวียงเว เวแปลว่าอพยพไปมา และได้ชื่อใหม่คือ เรณูนคร ในรัชกาลที่สาม
                เป็นที่น่าสังเกตุว่าไทยขาว ไทยดำ และไทยแดง บางทีก็เรียกรวมว่าผู้ไทยเช่นกัน            หน้า ๑๒๓๒๐
            ๓๖๗๕. ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นชื่อตำแหน่งผู้ปกครองราษฎรในเขตหมู่บ้าน โดยให้ราษฎรในหมู่บ้าน เลือกคนที่ตนเห็นว่าเหมาะสมขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในสมัยสุโขทัย ไม่ปรากฏผู้ปกครองตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด ต่อมาในสมัยอยุธยา พอค้นหาหลักฐานได้ว่า การปกครองท้อง ที่ภายในเขตเมืองหนึ่ง ๆ มีเค้าเรื่องในกฎหมายหลายบท เริ่มตั้งแต่การปกครองหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกตั้งเป็นหัวหน้าหลายบ้านรวมเป็นตำบลมีกำนันเป็นหัวหน้า
                รูปการปกครองท้องที่ดังกล่าว คงใช้เรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  และได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ห้า ได้ตรา พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ ได้วางหลักการจัดกระเบียบตำบล หมู่บ้านรวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างละเอียด            หน้า ๑๒๓๒๖
            ๓๖๗๖. เผด็จการ  มีบทนิยามว่า "การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด" เป็นปรากฏการณ์ของสภาพที่ไร้ความมั่นคงอย่างมาก หรือสภาพปฏิวัติรุนแรง ดังที่พบเห็นในประเทศต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับการสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างแสนสาหัส อาจกล่าวได้ว่า เผด็จการเป็นการปกครองแบบหนึ่งในยุโรป และลาติน อเมริกา
                เผด็จการเป็นการปกครองที่ได้เคยมีมาแล้วในสมัยอาณาจักรโรมัน ระหว่างปีพ.ศ.๓๔ - ๕๑๖ ในสมัยนั้นวุฒิสภาหรือเซเนต มอบอำนาจอย่างไม่จำกัดขอบเขต ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ปกครองบ้านเมือง เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ อันเป็นภัยร้ายแรงไปได้ ครั้นได้ปฏิบัติภารกิจนี้ได้เรียบร้อยแล้ว การใช้อำนาจเผด็จการก็สิ้นสุดลง ปรากฏว่าในระยะประมาณ ๓๐๐ ปี แรกของอาณาจักรโรมันได้มีการปกครองแบบเผด็จการถึง ๘๘ ครั้ง
                ในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันเผด็จการเป็นการปกครองแบบถาวรจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อผู้เผด็จการถึงแก่กรรม หรือลาออกหรือถูกโค่นล้ม            หน้า ๑๒๓๓๔
            ๓๖๗๗. เผาะ ๑ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในสกุลพวกเดียวกับปลาสวาย เทโพ เทพา หรือสายยุ ปลาเผาะมีรูปร่างลำตัวค่อนข้างเพรียวยาว ส่วนหัวโต ลำตัวเล็กเรียวไปทางหาง            หน้า ๑๒๓๔๕
            ๓๖๗๘. เผาะ ๒ - เห็ด  เป็นเห็ดชนิดหนึ่งคล้ายเห็ดยาง บริโภคไม่ได้ เห็ดสกุลนี้มีหลายชนิด หลายพันธุ์ เห็ดเผาะส่วนมากขึ้นอยู่ใต้ผิวดิน บางชนิดขึ้นอยู่เหนือผิว เมื่อเวลาเป็นดอกเห็ดอ่อน มีลักษณะเป็นก้อนกลมสีขาวเล็ก ๆ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือคล้ำลงดิน
                เห็ดเผาะที่คนนิยมบริโภค รูปร่างกลมค่อนข้างรี อีกชนิดหนึ่งค่อนข้างกลม นิยมบริโภคกันในระยะที่เป็นดอกเห็ดอ่อน            หน้า ๑๒๓๔๗
            ๓๖๗๙. เผือก  เป็นพืชที่มีหัวใต้ดิน มีถิ่นกำเนิดแถบอินเดียตอนเหนือ เป็นพืชล้มลุก สูง ๑ - ๒ เมตร ส่วนหัวมีใบเรียงอยู่โดยรอบ โดยมีก้านใบตั้งขึ้น หัวเผือกมักมีรูปทรงกระบอกยาวถึง ๓๐ ซม. กว้าง ๑๕ ซม. ดอกโดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบลักษณะดอกคล้ายดอกหน้าวัว พันธุ์เผือกในประเทศไทยมี ๓ - ๔ ชนิด คือ เผือกตาแดง เผือกเหลือง เผือกไม้ และเผือกหอม
                เผือกอาจแบ่งเป็นอีกสองประเภท คือ เผือกน้ำ มีการปลูกแบบทำนาดำ เผือกดอนปลูกโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก            หน้า ๑๒๓๕๐
            ๓๖๘๐. เผื่อน - บัว  (ดูบัว - ลำดับที่ ๓๐๒๒)            หน้า ๑๒๓๕๒
            ๓๖๘๑. แผน - ขุน  เป็นนามบุคคลสำคัญในเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน อันเป็นวรรณคดีที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทย เป็นนิยายอิงพงศาวดารมีการอ้างหลักฐาน คือ สถานที่ไว้หลายแห่ง
                ขุนแผนเมื่อเกิดมามีชื่อว่าพลายแก้ว บิดาคือ ขุนไกรพลพ่าย มารดาคือ นางทองประศรี ประมาณว่าตัวตนอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๐๗๒ และมีเนื้อความประกอบในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า ในยุคนั้น พระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคราว
                คำว่าขุนแผนเป็นราชทินนามที่พลายแก้วได้รับพระราชทานจากพระพันวสา เมื่อคราวรบศึกเชียงใหม่ครั้งแรก เมื่อมีอายุได้ ๑๘ ปี ราชทินนามเดิมน่าจะเป็นขุนแผนแสนสะท้าน
                ขุนแผนเป็นชายรูปงามมีคาถาอาคมเป็นเลิศ เป็นทหารเอกที่มีฝีมือไม่เคยรบแพ้ใคร เป็นผู้ถือสัจจะยิ่งยวด มีระเบียบวินัย และซื่อตรงจงรักภักดี ต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นเลิศ เป็นมีกตัญญู และเป็นคนเจ้าชู้มีเสน่ห์เป็นที่ต้องใจหญิง มีภริยาหลายคน ได้แก่ นางพิมพิลาไลย หรือวันทอง นางลาวทอง นางสายทอง นางบัวคลี่ และนางแก้วกิริยา ขุนแผนมีอาวุธประจำกายคือ ดาบฟ้าฟื้น มีม้าสีหมอก เป็นพาหนะประจำ และมีกุมารทอง เป็นผีพรายคอยช่วยเหลือ
                ช่วงชีวิตตอนแรกเป็นพลายแก้ว ตอนที่สองเป็นขุนแผน ตอนที่สามได้เป็นพระสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี มีบุตรชายกับนางวันทอง คือ พลายงาม ได้เป็นหัวหน้ามหาดเล็ก ตำแหน่งจมื่นไวยวรนาถ มีลูกชายกับนางแก้วกิริยา ชื่อ พลายชุมพล ต่อมาได้เป็นที่หลวงนายฤทธิ์ ส่วนลูกชายกับนางบัวคลี่กลายเป็นกุมารทอง
หน้า ๑๒๓๕๒
            ๓๖๘๒. แผ่นดินไหว  มีสาเหตุจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อน และตามพลังงานในลักษณะคลื่นความสั่นสะเทือนออกไปทุกทิศทาง เป็นสามลักษณะ คือ
                        ก. คลื่นแรก  คลื่นนี้เคลื่อนไปมาตามยาว เป็นคลื่นที่ผ่านตัวกลางเป็นของแข็งของเหลว หรือแก๊สได้ มีอัตราเร็วที่เปลือกโลกประมาณ ๘ กม./วินาที
                        ข. คลื่นรอง  เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่ตามขวาง สามารถเคลื่อนที่ไปได้เฉพาะตัวนำที่เป็นของแข็งเท่านั้น เรียกว่า คลื่นแรงเฉือน มีอัตราเร็วในเปลือกโลกประมาณ ๕ กม./วินาที
                        ค. คลื่นผิว  จะเคลื่อนไปตามเปลือกโลกมีความเร็วประมาณ ๓ กม./วินาที และจะเกิดเมื่อความลึกของจุดศูนย์แผ่นดินไหวอยู่ในระดับตื้นไม่เกิน ๕๐ กม. คลื่นพื้นผิวจะทำความเสียหายได้มาก โดยเฉพาะอาคารสูง ๆ หรือสะพานยาว ๆ
                        จุดที่เกิดการเคลื่อนของรอยเลื่อนเรียกว่า ศูนย์แผ่นดินไหว มักจะอยู่ใต้ดินลึกลงไปถึง ๖๐๐ กม. และจุดบนผิวโลกที่อยู่ในแนวดิ่งเหนือศูนย์แผ่นดินไหวเรียกว่า จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว ในกรณีที่ต้องการทราบศูนย์แผ่นดินไหว ขณะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ก็หาได้โดยตั้งสถานีตรวจแผ่นดินไหวหลาย ๆ แห่ง
                ความรุนแรงของแผ่นดินไหว วัดได้สองแบบ คือ
                        ๑. การวัดความเข้ม  โดยอาศัยการสังเกตการพังทลายของอาคารสถานที่เฉพาะแห่ง ซึ่งจะมีความเข้มแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
                        ๒. การวัดขนาด  คือ การวัดพลังงานที่ปลดปล่อยตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งจะมีค่าเดียวไม่ว่าจะวัดจากสถานีใกล้หรือไกล มาตราที่นิยมใช้เป็นของริคเตอร์ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ ๑ - ๘.๕
                    กรุงเทพ ฯ ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วในอดีต คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒ มีบันทึกว่าคนตื่นตกใจกันทั้งแผ่นดินที่อยู่เรือนก็เหมือนจะทลาย ที่อยู่แพก็โยนไปมาเหมือนลูกคลื่น น้ำในแม่น้ำก็เทไปฟากโน้นแล้วเทมาฟากนี้ ฯลฯ
                    ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๓ มีรายละเอียดแผ่นดินไหวที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้รวบรวมไว้ คือ
                        วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๗๓ ละติจูด ๑๗ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๖.๕ ํ ตะวันออกขนาด ๗.๓ ศูนย์แผ่นดินไหวที่พม่า ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ vi
                        วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๓ ละติจูด ๑๘ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๖.๕ ํ ตะวันออกขนาด ๗.๓ ศูนย์แผ่นดินไหวที่พม่า ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ v
                        วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ละติจูด ๑๓.๗ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๖.๕ ํ ตะวันออก ขนาด ๕.๖ ศูนย์แผ่นดินไหวที่ทะเลอันดามัน ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ v
                        วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๘ ละติจูด ๑๔.๗ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๖.๑ ํ ตะวันออก ขนาด ๕.๕ ศูนย์แผ่นดินไหวที่ทะเลอันดามัน ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ v
                        วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ละติจูด ๑๗.๖ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๗.๕ ํ ตะวันออก ขนาด ๕.๖ ศูนย์แผ่นดินไหวที่ อ.แม่สอด ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ v
                        วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๖ ละติจูด ๕.๔ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๔.๘ ํ ตะวันออก ขนาด ๖.๘ ศูนย์แผ่นดินไหวที่ตอนเหนือของสุมาตรา ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ II
                        วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ ละติจูด ๑๔.๙ ํ เหนือ ลองจิจูด ๙๙.๑ ํ ตะวันออก ขนาด ๕.๘ ศูนย์แผ่นดินไหวที่ จ.กาญจนบุรี ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ v - vi
                        วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๖ ละติจูด ๒๒.๑ ํ เหนือ ลองจิจูด ๑๐๔.๖ ํ ตะวันออก ขนาด ๖.๖ ศูนย์แผ่นดินไหวที่พรมแดน ญวน - จีน ความเข้มที่กรุงเทพ ฯ III ที่หนองคาย v - vi            หน้า ๑๒๓๕๘
            ๓๖๘๓. แผนที่  หมายถึง สิ่งที่ใช้แสดงลักษณะพื้นผิวโลกและสิ่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก ทั้งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ และที่มนุษย์ทำขึ้นทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน โดยแสดงไว้บนแผ่นวัสดุที่เลือกสรรแล้ว ด้วยการย่อให้มีขนาดเล็กลงตามอัตราส่วนที่ประสงค์ให้คงรักษารูปร่างลักษณะที่คล้ายของจริงไว้ หรือใช้สัญลักษณะทดแทน แบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ โดยอาศัยชนิดของรายละเอียดที่แสดงไว้ในแผนที่เป็นหลักในการแบ่งได้เป็นสองชนิด คือ แผนที่ภูมิประเทศ และแผนที่เฉพาะเรื่อง
หน้า ๑๒๓๗๐
            ๓๖๘๔. แผนผัง  หมายถึง รูปลายเส้นที่เขียนขึ้น เพื่อแสดงรูปร่างลักษณะขนาด ขอบเขต พร้อมรายละเอียดแห่งส่วนต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปที่เรียกว่าเป็นแผนผัง จะต้องมีคุณลักษณะสำคัญ โดยเฉพาะในประการสำคัญสองประการ คือ
                ประการแรก แผนผังต้องแสดงขอบเขตและขนาดด้วยมาตราส่วนหรือวัดตรวจสอบได้
                ประการที่สอง แผนผังต้องเป็นรูปลายเส้นที่คมชัดเจนโดยแต่ละเส้นต้องมีขนาด และน้ำหนักเท่ากันทุกส่วนตลอดเส้น            หน้า ๑๒๓๘๐
            ๓๖๘๕. แผ้ว - เสือ  เสือแผ้วเป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันมานานแล้ว บางคนเรียกเสือไฟว่าเสือแผ้ว จัดเป็นเสือขนาดเล็กมีขนาดสูงเท่าสุนัขบ้าน แต่ขายาวกว่า มีสีขนตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดง ไม่มีลาย นอกจากที่หน้าซึ่งมีลายดำ ๆ ขาว ๆ อย่างแมวป่าอื่น ๆ ปลายหางสีดำ ชอบจับสัตว์เล็ก ๆ ตามพื้นเดินกินเป็นอาหารตกลูกตามโพรงต้นไม้ที่ล้มอยู่กับพื้น            หน้า ๑๒๓๘๙
            ๓๖๘๖. ไผ่  เป็นพันธุ์ไม้จำพวกเดียวกับหญ้า เดิมนักพฤกษศาสตร์จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับหญ้า
                ไม้ไผ่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในเขตร้อนในประเทศไทยมีอยู่ ๑๒ สกุล ๔๑ ชนิด ไผ่ขึ้นเป็นกอ ลำต้นส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ส่วนที่พ้นดินตั้งตรง ลำต้นมักจะกลวงมีข้อ และปล้อง ผิวแข็ง
                ไม้ไผ่มีประโยชน์ใช้สร้างที่พักอาศัยและทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้หลายอย่าง หน่ออ่อนเรียกว่าหน่อไม้ใช้เป็นอาหารบริโภค            หน้า ๑๒๓๘๙



            ๓๖๘๗. ฝ. เป็นพยัญชนะตัวที่ ๒๙ ของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรสูง เป็นตัวที่สี่ของวรรคที่ห้า ตั้งขึ้นเพื่อให้พอแก่การใช้สำเนียงในภาษาไทย เช่น ฝน ฝัน ใฝ่ และไม่มีใช้เป็นตัวสะกดในคำไทย จัดเป็นพวกอโฆษะ คือมีเสียงไม่พ้อง            หน้า ๑๒๓๙๑
            ๓๖๘๘. ฝน  เป็นหยาดน้ำฟ้าชนิดหนึ่งที่รวมตัวกัน มีขนาดใหญ่ขึ้นจนมีน้ำหนักมากกว่าแรงต้านทานของกระแสอากาศที่ไหลขึ้น จึงตกลงมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ ส่วนมากจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม.ขึ้นไป ตามธรรมดาเส้นผ่าศูนย์กลางของเม็ดฝนมีค่าประมาณ ๒ มม.            หน้า ๑๒๓๙๑
            ๓๖๘๙. ฝนแสนห่า  เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปใบยาวรีปลายใบแหลม ดอกเล็กมาก ออกเป็นช่อตามซอกใบสีเหลืองอ่อนกลิ่นหอม ผลเล็กลูกกลมมีเมล็ดสองเมล็ด
                ฝนแสนห่าเป็นพืชสมุนไพรใช้เป็นยาขับเหงื่อและแก้ไข้ทั้งปวง เนื้อไม้กินเป็นยาขับเหงื่ออย่างแรง กินแล้วทำให้รู้สึกหนาว            หน้า ๑๒๔๐๐
            ๓๖๙๐. ฝรั่ง ๑ - มัน  อยู่ในวงศ์เดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ และยาสูบในประเทศไทยปลูกมานานตามภูเขาในภาคเหนือ
                มันฝรั่งเป็นพืชล้มลุก ลำต้นสูง ๔๕ - ๗๕ ซม. ใบ เป็นใบประกอบลักษณะรูปรี ปลายแหลม ดอก มีกลีบดอกห้ากลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ห้าอัน เกสรตัวเมียหนึ่งอัน สีของดอกขึ้นอยู่กับพันธุ์ หัวมันฝรั่งเกิดจากลำต้นใต้ดินขยายใหญ่ขึ้น มันฝรั่งมีตาเกิดบนหัวใช้ขยายพันธุ์ได้            หน้า ๑๒๔๐๐
            ๓๖๙๑. ฝรั่ง ๒ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๓ - ๘ เมตร มักแตกกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้เหนียว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันมีกลิ่นฉุน ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้น ๆ ๒ - ๓ ดอก ตามง่ามใบ ผลกลมรูปไข่กลาย ๆ เนื้อนุ่มสีขาว รสหวานอมเปรี้ยว            หน้า ๑๒๔๐๑
            ๓๖๙๒. ฝรั่ง ๓  เป็นคำที่คนไทยมักเรียกชนต่างชาติผิวขาวที่มาจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลียว่า "ฝรั่ง" มีบทนิยามว่า "ชนชาติผิวขาว, ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่งผลกินได้, เป็นคำประกอบชื่อของสิ่งของบางอย่างที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายของไทย เช่น ขนมฝรั่ง ละมุดฝรั่ง มันฝรั่ง ผักบุ้งฝรั่ง แตงฝรั่ง ชื่อเพลงพวกหนึ่งขึ้นต้นด้วยคำฝรั่ง เช่น ฝรั่งดวง ฝรั่งรำเท้า..."            หน้า ๑๒๔๐๓
            ๓๖๙๓. ฝรั่งมังฆ้อง ๑ ในแง่ของวรรณคดีเป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แปลและเรียบเรียงขึ้น เป็นกษัตริย์คู่สงครามกับกษัตริย์มอญ คือ พวกเจ้าราชาธิราช ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองอังวะ เป็นราชบุตรของพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา
                หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าราชาธิราชได้สองปี พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๕ พระราชบุตรชื่อมังสูสีขึ้นครองราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรี            หน้า ๑๒๔๐๙
            ๓๖๙๔. ฝรั่งมังฆ้อง ๒  ในแง่ประวัติศาสตร์เป็นกษัตริย์พม่าที่ได้ทำสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชแห่งอาณาจักรมอญหรือหงสาวดี
                ตามหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศาสตราจารย์ ดี.ยี.อี ฮอลล์ ว่ามีกษัตริย์พม่าที่ครองกรุงอังวะทรงพระนามว่า พระเจ้ามังฆ้องสองพระองค์ องค์แรกครองกรุงอังวะ พ.ศ.๑๙๔๔ - ๑๙๖๕ องค์ที่สองครองราชย์ พ.ศ.๒๐๒๔ - ๒๐๔๕            หน้า ๑๒๔๑๒
            ๓๖๙๕. ฝรั่งเศส  เป็นสาธารณรัฐตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของทวีปยุโรปด้านเหนือ ติดกับช่องแคบอังกฤษทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับเบลเยี่ยม และลักเซมเบอร์กทางตะวันออก ติดต่อกับประเทศเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ทางด้านใต้ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสเปน และทางด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ ๕๔๓,๙๖๕ ตารางกม.
                ชาวฝรั่งเศสเป็นชนผิวขาวเผ่าคอเคซอยด์ กลุ่มแอลไพน์ และบางส่วน โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นกลุ่มเมดิเตอเรเนียน ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
                คนไทยรู้จักชาวฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ บาทหลวงเดอ ลามอตต์ลัง แบรต์ บิชอบ แห่งเบริตได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา และได้ตั้งศูนย์คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก หรือศาสนาคริสตัง โดยอาศัยคณะบาทหลวงของบิชอบผู้นี้เป็นสื่อกลาง กรุงศรีอยุธยาได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้แต่งคณะทูตไทยรวมสี่ครั้งไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๘๖ - ๒๒๕๘ ฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ทรงแต่งตั้งทูตมาเจริญทางราชไมตรี บาทหลวงของฝรั่งเศสได้เผยแพร่ศาสนาของตนสืบต่อมา ถึงสมัยรัตรโกสินทร์
                ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ โดยมี นายเดอ มองติญยี เป็นราชทูตฝรั่งเศส มาลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศไทยซึ่งเป็นสนธิสัญญาแบบเบาริง สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการแก้ไข เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ปัจจุบันไทยกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ตามสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ พ.ศง๒๔๘๐ ซึ่งมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาเสมอภาค
                ฝรั่งเศสได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่พระเจ้าฮุกส์คาเปต์ ทรงตั้งราชวงศ์ครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๓๐ - ๑๕๓๙ ซึ่งมีอาณาเขตแดนระหว่างเซน กับแม่น้ำลัวร์ โดยอาศัยกรุงปารีสและเมืองออร์เลียงส์ เป็นศูนย์กลางสืบต่อมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟิลิปที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๖๐๓ - ๑๖๕๑) พระราชอำนาจของกษัตริย์ได้แผ่ออกไปทั่วทั้งราชอาณาจักร โดยได้อาศัยรัฐสภาเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ พระเจ้าฟิลิปที่สี่ (พ.ศ.๑๘๒๘ - ๑๘๕๑)  ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๑๘๔๕ สมาชิกประกอบด้วย ผู้แทนคณะบาทหลวง ผู้แทนขุนนาง และผู้แทนสามัญชน
                ต่อมาในสมัยราชวงศ์ลัวส์ (พ.ศ.๑๘๗๑ - ๒๐๔๑)  ได้ขับไล่อังกฤษให้สละดินแดนทั้งหมดในฝรั่งเศส เนื่องจากได้ชัยชนะในการสงครามร้อยปี (พ.ศ.๑๘๘๑ - ๑๙๙๘)  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๑ ราชวงศ์บูร์บองได้ครองฝรั่งเศส มีพระเจ้าอังรีที่สี่ เป็นปฐมกษัตริย์ มีการสืบสันตติวงศ์ต่อมาได้แก่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๘๖)  พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๑๘๖ - ๒๒๕๘)  พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๒๕๘ - ๒๓๑๗)  และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๓๑๗ - ๒๓๓๕) ซึ่งประสบเคราะห์กรรมถูกพวกก่อการปฎิวัติครั้งใหญ่ จับไปสำเร็จโทษในกรุงปารีส
                พวกปฎิวัติได้ประกาศตั้งฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐครั้งที่หนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๓๕ แต่พระเจ้านโปเลียนที่หนึ่ง แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต ทรงฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย ตั้งฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๕๗ พระเจ้านโปเลียนพ่ายแพ้หมดอำนาจในการสงครามกับฝ่ายสหพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษ ปรุสเซีย ออสเตรีย และรุสเซีย เป็นกำลังส่วนใหญ่ เจ้านายแห่งราชวงศ์บูร์บอง กลับมาครองฝรั่งเศสอีกครั้ง ภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๓๕๗ - ๒๓๖๗) พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๗๑)  และพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป (พ.ศ.๒๓๗๓ - ๒๓๙๑)  ล้วนแต่เป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ
                ราชวงศ์บูร์บอง สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการปฎิวัติในปี พ.ศ.๒๓๙๑ มีผลให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐครั้งที่สอง อยู่ได้เพียงสี่ปี (พ.ศ.๒๓๙๑ - ๒๓๙๕)  แล้ว เจ้าชายหลุยส์นโปเลียน เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดี ได้เปลี่ยนฐานะฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิ์ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ แต่ก็ต้องสลายตัวลงด้วยความปราชัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม ในการสงครามกับประเทศปรุสเซีย  ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ปรุสเซียได้กลายเป็นจักรวรรดิ์เยอรมัน ส่วนประเทศฝรั่งเศสได้เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.๒๔๑๔
                สาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่สาม มอบอำนาจนิติบัญญัติให้แก่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อำนาจบริหารมอบให้แก่ประธานาธิบดี โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ ฝรั่งเศสขณะนั้นเป็นมหาอำนาจ ได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ในระยะแรกของสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ และต่อมาได้ขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสยอมจำนนต่อเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ กองทัพเยอรมันได้ยึดครองภาคเหนือ และภาคตะวันตกของฝรั่งเศส จอมพล อังรี ฟิลิปป์ เปแดง ประมุขฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐบาล ณ เมืองวิชี และนายพล ชาร์ล เดอโกล จัดตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๗ กรุงปารีสได้กลับมาอยู่ใต้การปกครองของคณะบริหารของ นายพล เดอโกล
                รัฐบาลฝรั่งเศสของ นายพล ชาร์ล เดอโกล ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญตั้งฝรั่งเศส เป็นสาธารณรัฐครั้งที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ และใช้ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงได้มีการเสนอรัฐธรรมนูญแบบประธานาธิบดี ให้ราษฎรออกเสียงลงประชามติ มีผลทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐครั้งที่ห้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ มาจนถึงปัจจุบัน           หน้า ๑๒๔๑๗
            ๓๖๙๖. ฝอยทอง ๑  เป็นไม้เลื้อยพวกกาฝาก ลำต้นเป็นเส้นกลมเล็ก ๆ สีเหลืองคล้ายฝอยทอง เลื้อยพาดพันอยู่บนพืชอื่นเป็นกลุ่ม ๆ ไม่มีใบ ส่วนที่เป็นรากเห็นเป็นปุ่มเล็ก ๆ ฝังลงไปในลำต้นของพืชที่ขึ้นอยู่ เพื่อดูดน้ำและอาหาร ดอกเล็กออกเป็นช่อสีขาว ผลรูปกลม           หน้า ๑๒๔๒๗
            ๓๖๙๗. ฝอยทอง ๒  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ที่ชาวโปร์ตุเกสสมัยอยุธยาได้ประดิษฐขึ้นทำด้วยไข่ กับน้ำตาลทรายผสมกันตีจนได้ที่แล้ว นำมาโรยน้ำเชื่อมที่ละลายแล้ว ตั้งไฟให้เดือดจนสุดท้ายได้เป็นขนมมีเส้นสีเหลือง             หน้า ๑๒๔๒๘
            ๓๖๙๘. ฝักแค  เป็นสายชนวนกลมหรือแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑ ซม. ความยาวแล้วแต่ที่ต้องการ ทำด้วยกระดาษสาหรือกระดาษข่อย นำมาห่อหุ้มถ่านผสมอย่างเดียวกับดินปืน เมื่อถูกไฟจะเกิดแรงอัดดัน ทำให้ระเบิดเป็นไฟลุกพรึบขึ้น วิ่งไปตามสายจึงเรียกว่า สายฝักแค ใช้เป็นชนวนในการจุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ
               การทำฝักแค ใช้ในราชการนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่การงานอยู่ในพวกช่างสิบหมู่ ต่อมาในรัชกาลที่ห้าได้มีการปรับปรุงราชการกระทรวงทบวงกรม บางหน่วยในกรมช่างสิบหมู่ ก็หมดหน้าที่ไป พวกที่มีฝีมือในการทำดอกไม้ไฟได้ไปประกอบอาชีพทำดอกไม้ไฟต่าง ๆ จำหน่ายที่เรียกว่า ตำบลบ้านดอกไม้ (ไฟ) ใกล้วัดสระเกศ แถวบริเวณฝั่งคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพ ฯ
                ส่วนมากการจุดดอกไม้เพลิง จะมีในงานฉลองสมโภชหรือจุดถวายเป็นพุทธบูชา และในการฌาปนกิจศพ ชนวนฝักแคใช้เป็นสายชนวน ล่ามติดต่อจากพุ่มดอกไม้เพลิง
                ถ้าการจุดดอกไม้เพลิงเป็นพระราชพิธีของหลวง คันชนวนดังกล่าวนี้เรียกว่า คันทรง ตอนต้นที่ทรงถือหุ้มผ้าขาว ในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ผู้ที่มิได้มีฐานะเป็นพระราชวงศ์ แต่ได้รับหีบทองหรือโกศแปดเหลี่ยมประกอบศพ จะทรงจุดฝักแคซึ่งเป็นสายชนวนล่ามโยงมาจากเชื้อขนวนเพลิงที่วางไว้ที่กองพื้นฐานเผา หรือจิตกาธานที่ตั้งรองรับหีบโกศศพ โดยตั้งเสาฐานติดตัวพญานาค และเชื้อชนวนอุดอยู่ในปากพญานาค ห่างจากตัวเมรุ ๒๐ - ๓๐ เมตร
            ๓๖๙๙. ฝักบัว ๑ - ฝี  เป็นฝีที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน แล้วลุกลามลงไปในชั้นใต้ผิวหนัง เกิดเป็นหนองคั่งอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง กินอาณาเขตกว้างขวาง ผิวหนังที่คลุมข้างบนจะเปื่อยยุ่ย ทำให้แตก หนองทะลุผ่านผิวหนังออกมาหลาย ๆ รู แต่ละรูจะมีหนองสีเขียวหรือเหลืองปนเลือดไหลออกมาคลุมอยู่ ทำให้เห็นลักษณะของฝีชนิดนี้เหมือนกับฝักบัว          หน้า ๑๒๔๓๑
            ๓๗๐๐. ฝักบัว ๒  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาล ทอดในน้ำมันร้อน ๆ มีลักษณะเป็นแผ่นแบนยาวและกลม ตรงกลางขนมจะนูนและนุ่ม ตรงริมมีขอบขึ้นเล็กน้อย ลักษณะคล้ายฝักบัว
                ขนมฝักบัว เป็นขนมหวานของคนไทยทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ใช้ขนมฝักบัวนี้ในงานประเพณีทำบุญเดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นขนมที่นิยมของบรรพบุรุษแต่โบราณ          หน้า ๑๒๔๓๒
            ๓๗๐๑. ฝัน  มีบทนิยามว่า "การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ โดยปริยายหมายถึงการนึกเห็นในขณะที่ตื่นอยู่ ซึ่งไม่อาจเป็นจริงได้ เห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ, นึกเห็น, นึกเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้"
                ความฝันคือ เรื่องหรือภาพหรือนิมิต ซึ่งได้ปรากฎเห็นในเวลาหลับและปรากฎแก่ใจหรือจิตโดยตรง กล่าววอีกนัยหนึ่งคือกิริยาที่คนหยั่งลงสู่ความหลับ แล้วเห็นภาพที่มาปรากฎทางใจ           หน้า ๑๒๔๓๓
            ๓๗๐๒. ฝากบำเรอ คำนี้มีปรากฎอยู่ในกฎหมายเก่าลักษณะผัวเมียคู่กับคำหลบฝาก"
                จากข้อความตามกฎหมายเก่าลักษณะผัวเมียนี้เป็นเรื่องรับใช้งานคือชายสู่ขอหญิงแล้วก็ดี หรือไม่ได้สู่ขอก็ดี ชายเข้าไปอาสารับใช้การงานในบ้านหญิงเรียกว่า หลบฝาก ถ้าชายหญิงได้เสียกันเองในระหว่างที่ชายเข้าไปอาสารับใช้การงานในบ้านผู้ปกครองอย่างนี้เรียกว่า ฝากบำเรอ   หน้า ๑๒๔๔๐
            ๓๗๐๓. ฝาง ๑  อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดประเทศพม่า มีทิวเขาแดนลาวเป็นเขาปันเขตแดน ภูมิประเทศมีภูเขาล้อมทั้งสี่ด้าน มีที่ราบอยู่ตอนกลาง เหมาะแก่การทำนา ส่วนที่เป็นภูเขามีประโยชน์ในการทำป่าขอนสัก ในอำเภอนี้มีบ่อน้ำมัน ซึ่งสำรวจแล้วว่าเป็นน้ำมันขี้โล้ กลั่นเป็นน้ำมันเบนซินได้
                อ.ฝาง เคยเป็นเมือง แล้วยุบเป็น อ.เมืองฝาง ขึ้น จ.เชียงราย แล้วโอนไปขึ้น จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ฝาง           หน้า ๑๒๔๔๔
            ๓๗๐๔. ฝาง ๒  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม มักจะสูงไม่เกิน ๑๐ เมตร มีหนามแหลมแข็งโค้งอยู่ทั่วไป ตามลำต้นและกิ่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนานเนื้อไม้สีเหลืองส้ม แข็ง ละเอียด ปานกลาง ตกแต่งชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือนได้ แก่นไม้ฝางมีสารสีแดง ใช้เป็นสีใส่อาหาร เครื่องดื่มและยา เพื่อให้มีสีแดง เช่น ยาอุทัย และยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ต่าง ๆ เนื้อไม้ยังใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเกิดจากเสมหะดี โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ขับหนอง เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี และเป็นยาขับฤดูอย่างแรง            หน้า ๑๒๔๔๔
            ๓๗๐๕. ฝาด ๑  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ตามป่าเลนน้ำเค็ม ฝาดแดงมีรากช่วยในการค้ำจุนลำต้น และแลกเปลี่ยนแก๊ส โผล่ขึ้นมาพ้นที่เลน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับรอบกิ่งแบบบันไดเวียน ดอกเล็กสีแดง ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลรูปยาว
                ฝาดขาวไม่มีรากเหมือนฝาดแดง ดอกสีขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ซอกใบ          หน้า ๑๒๔๔๖
            ๓๗๐๖. ฝาด ๒  เป็นรสหนึ่งในหลายรส รสฝาดในทางการแพทย์มักหมายถึง รสอันเกิดจากแทนนิน ซึ่งเป็นแก่นยา หรือสารสำคัญได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ใช้เป็นยาห้ามเลือด เฉพาะในการแต่งแผลไฟไหม้ ใช้เป็นยาแก้พิษในรายท้องเดิน และรายที่มีการอักเสบของลำไส้อย่างเรื้อรัง (ดูแทนนิน - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย)
                ทางการแพทย์แผนโบราณ มีการใช้รสฝาด เพื่อจุดปรนะสงค์หลายประการคือ
                    ๑. ใช้เพื่อต้องการฤทธิ์สมานแผล
                    ๒. ใช้เป็นยาดิบพิษและใช้แก้ไข้
                    ๓. ใช้เป็นยาหอม ยาชูกำลัง
                    ๔. ใช้ช่วยในทางธาตุ
                    ๕. ใช้เป็นยาแก้ในทางปัสสาวะ
                    ๖. ใช้เป็นยาระบาย ยาถ่าย
                    ๗. ใช้เป็นยาที่แก้ในทางโลหิตและน้ำเหลือง
                    ๘. ใช้เป็นยาเบ็ดเตล็ด           หน้า ๑๒๔๔๘
            ๓๗๐๗. ฝาแฝด  (ดูแฝด ๑ - ลำดับที่ ...)           หน้า ๑๒๔๕๐
            ๓๗๐๘. ฝาย  เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับทดน้ำ ในทางน้ำซึ่งมียอดน้ำของตัวเอง เพื่อส่งไปใช้เพาะปลูกในโครงการเหมือง ฝาย ซึ่งเป็นชื่อมาแต่เดิมในภาคเหนือ ปัจจุบันมีชื่อว่า "โครงการทดและส่งน้ำ"
                งานในโครงการทดและส่งน้ำ แบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ หัวงานกับระบบการส่งน้ำ
                   หัวงาน  คือ สิ่งที่สร้างกั้นทางน้ำ สำหรับทดน้ำ เวลาที่มีน้ำมาน้อย ระดับน้ำต่ำให้สูงขึ้นเท่าที่ต้องการ เพื่อที่จะส่งน้ำไปสู่พื้นดินได้เร็วขึ้นได้แก่ เขื่อนทดน้ำ หรือฝาย และหมายรวมถึง
                    สิ่งสร้างขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะส่งเข้าคลองส่งน้ ซึ่งภาคเหนือเรียก เหมือง ได้แก่ ประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่
                   ระบบการส่งน้ำ  คือ งานที่นำน้ำไปส่งให้พื้นที่เพาะปลูกในโครงการ ได้แก่ คลองส่งน้ำ คลองส่งน้ำที่ขุดน้ำจากเหนือเขื่อนทดน้ำเรียก คลองส่งน้ำสายใหญ่ หรือเหมืองสายใหญ่ กับอาจมีคลองซอย และคลองแยกซอย และมีสิ่งก่อสร้าง เพื่อควบคุมน้ำ ตามคลองส่งน้ำตักผ่านทางน้ำสายอื่น และทางคมนาคม ตลอดจนมีคูน้ำจากคลองส่งน้ำ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกต่อไป
                    ฝายแตกต่างกับเขื่อนทดน้ำคือ ฝาย เป็นทำนบเตี้ย ๆ สูงเท่ากับระดับน้ำที่ต้องการทดขึ้น ซึ่งเรียกว่า ระดับน้ำเก็บกัก ไม่มีช่องระบายปิด เปิดเป็นสิ่งขัดขวางทางน้ำอย่างถาวร โดยให้น้ำที่เหลือจากความต้องการท้นขึ้น แล้วไหลข้ามลินฝายไป ส่วนเขื่อนทดน้ำมีช่องระบายปิดเปิดให้น้ำไหลผ่านไปได้
                    โครงการเหมืองฝายนี้ คนไทยในภาคเหนือได้จัดสร้างขึ้นใช้มานานแล้ว ปรากฎว่าในรัชสมัยพ่อขุนเม็งราย ฯ มีอำนาจในลุ่มน้ำปิงนั้น กิจการนี้ได้เจริญแพร่หลายแล้ว ถึงกับมีกล่าวไว้ในมังรายศาสตร์ ซึ่งตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ เช่น "ทำฝายเอาน้ำใส่นา"           หน้า ๑๒๔๕๐
            ๓๗๐๙.  ฝ้าย  เป็นไม้ยืนต้น หรือไม่ล้มลุก ซึ่งแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม สูงประมาณ ๐.๖ - ๓.๐ เมตร ใบเดี่ยว ขอบใบหยักเว้า เป็นแฉกตื้น ๆ ๓ - ๕ แฉก ดอกคล้ายดอกชบา สีเหลืองซีด หรือเหลืองเข้ม ผลฝ้ายเรียกว่า สมอฝ้าย มี ๓ -๕ พู เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดสีดำ ซึ่งมีเส้นใยสีขาวเป็นปุย ปกคลุมทั้งเมล็ด
                ฝ้าย เจริญเติบโตได้ทั้งในดินที่ค่อนข้างเป็นกรด จนถึงดินที่เป็นด่างอ่อน ๆ ชอบที่ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทราย และระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นที่ปลูกจากเมล็ด จะเก็บผลจริงได้ใน ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน โดยเก็บเมื่อสมอแตก ปุยฟูเต็มที่แล้ว นำไปผึ่งให้แห้งสนิท แล้วนำไปหีบแยกปุยฝ้ายออกจากเมล็ด เส้นใยที่ได้มีสองชนิดคือ เส้นใยยาวใช้ทำด้วยและผ้า ส่วนเส้นใยสั้น ๆ นำไปใช้ทำผ้าห่ม พรม และเบาะ เส้นใยยาวที่นำไปหีบ จะนำไปอัดให้แน่นเป็นลูก เรียกว่า เบลฝ้าย โดยใช้เครื่องอัดเบล ฝ้ายที่อัดเป็นเบล สำหรับส่งขายต่างประเทศ จะมีน้ำหนัก ๒๒๓.๓ กก. ( ๕๐๐ ปอนด์) รวมทั้งน้ำหนักผ้าหุ้ม และเหล็กรีดเบล ด้วย
                เมล็ดฝ้าย นำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช โดยสกัดได้น้ำมันเมล็ดฝ้าย ซึ่งเมื่อผ่านการสกัดใสแล้ว จะมีสีเหลืองอ่อน ๆ ไม่มีกลิ่น มีกรดไขมัน ไม่อิ่มตัว ร้อยละ ๖๖ - ๘๐ และกรดไขมันอิ่มตัว ร้อยละ ๑๙ - ๓๓ น้ำมันชนิดนี้มีคุณภาพดี ใช้เป็นน้ำมันประกอบอาหาร น้ำมันสกัด เนยเทียม และสบู่ กากที่เหลือเมื่อสกัดสารพิษออกแล้ว ใช้เป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย            หน้า ๑๒๔๖๕

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์