ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น พม่า ฟิลิปปินส์   มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย


 


ประเทศกัมพูชา

            ประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมอินโดจีน มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ความกว้างจากเหนือจดใต้ประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตกประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดยมีศูนย์กลางของประเทศอยู่ใกล้กับจังหวัดกัมปงทม พื้นที่ทางตอนเหนือกว้างแล้วค่อย ๆ สอบลงมาทางตอนใต้ มีความสัมพันธ์ที่ได้สัดส่วนของพรมแดน โดยรอบทั้งสี่ด้าน
            พรมแดน และเส้นเขตแดนของประเทศกัมพูชา ส่วนใหญ่กำหนดขึ้นโดยฝรั่งเศส มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศข้างเคียง อยู่สามประเทศคือ ไทย ลาว และเวียดนาม
                ทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศไทยในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี และติดต่อกับประเทศลาว ในแขวงอัตตะปือ และแขวงจำปาศักดิ์
                ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศเวียดนาม ในเขตจังหวัดเปลกู ดาร์ลัค และกวางดั๊ก
                ทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้  ติดต่อกับประเทศเวียดนามเขตจังหวัดฟุคลอง บินห์ลอง เทนินห์ ฟุคทุย เคียนเทือง เคียนพง อันเกียง เคียนเกียง และอ่าวไทย
                ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก  ติดต่อกับประเทศไทยในเขตจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี
                เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศมีความยาวประมาณ ๒,๖๐๐ กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศไทยประมาณ ๙๓๐ กิโลเมตร ประเทศลาวประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร ประเทศเวียดนามประมาณ ๑,๐๓๐ กิโลเมตร และอ่าวไทย ประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร



ลักษณะภูมิประเทศ
            ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปมีทั้งที่ราบลุ่ม ที่ราบสูง และภูเขา พื้นที่ภูมิประเทศมีลักษณะคล้ายอ่างเก็บน้ำ กล่าวคือ พื้นที่ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำบาสสัค (Bassac) และมีทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนรอบ ๆ ประเทศมีเทือกเขาสลับซับซ้อน ติดต่อกันเป็นแนวยาวสูงประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร อยู่ติดกับประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดจันทบุรีทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตลอดไปทางด้านทิศเหนือ ส่วนภูเขาที่เป็นหย่อม ๆ มีอยู่บริเวณเกาะกง กำปงโสม และกำปงสะบือ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
            บริเวณภาคกลางของประเทศ  สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๓๐ เมตร เริ่มตั้งแต่พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดพระตะบอง ไปถึงกำปงธม ไปรเวียง สวายเวียง และตาแก้ว ทางตอนใต้จดเขตแดนเวียดนาม แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ลักษณะคือ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ทะเลสาบ บริเวณที่ลุ่มลำคลอง หนองบึง บริเวณที่ทำนา และบริเวณเนินเขาขนาดเล็ก
            ที่ราบสูงภาคเหนือ  เริ่มตั้งแต่จังหวัดกระแจะ สตึงเตรง และรัตนคีรี ต่อจากที่ราบลุ่มภาคกลาง พื้นที่ค่อย ๆ สูงขึ้นตามลำดับ จนสูงกว่า ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แบ่งออกเป็นสามตอนคือ
                บริเวณที่ราบสูงตอนเหนือ  ในเขตจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ กัมปงธม มีภูเขาผ่านกลางบริเวณเป็นภูเขาลูกโดด ๆ
                บริเวณที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ  อยู่ในเขตจังหวัดสตึงเตรง กระแจะ แยกจากที่ราบสูงภาคเหนือด้วยแม่น้ำโขง พื้นที่เป็นเนินเขาดินอยู่ทั่วไป
                บริเวณที่ราบสูงกัมปงจาม  สูงประมาณ ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะล
            บริเวณที่ราบสูงตามเขตชายแดน  อยู่ทางทิศเหนือติดต่อกับที่ราบสูงของไทย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นเชิงชายเทือกเขาจากเวียดนาม แบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ
                บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก  ซึ่งมีสันปันน้ำแบ่งเขตแดนกับประเทศไทย
                บริเวณเทือกเขาคอนทูม (Kontum) เป็นแนวเส้นเขตแดนลาวกับกัมพูชา มีเชิงชายเทือกเขาอยู่ในเขตกัมพูชา ทางใต้ลงมาเป็นที่ราบสูงบ่อแก้ว สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ เมตร
                บริเวณที่ราบสูงโชลองเหนือ  เป็นแนวเส้นกั้นเขตแดนเวียดนามกับกัมพูชา มีความสูงระหว่าง ๔๐๐ ถึง ๙๐๐ เมตร
            บริเวณทิวเขากระวาน  รวมเทือกเขากระวาน และเทือกเขาช้าง ทิวเขานี้เริ่มต้นจากเขตจังหวัดจันทบุรีของไทย เป็นพืดติดต่อกันไป จนถึงจังหวัดกัมปอตของกัมพูชา ทิวเขานี้แบ่งออกเป็นสามตอนคือ
                เทือกเขากระวานตะวันตก  เริ่มจากเขตอำเภอไพลิน จังหวัดพระตะบอง ไปถึงแม่น้ำโพธิสัตว์ มียอดเขาที่สำคัญอยู่หลายยอด ที่สูงเกนิ ๑,๐๐๐ เมตร ยอดสูงสุด ๑,๕๖๓ เมตร
                เทือกเขากระวานกลาง  มียอดเขาที่สูงเกิน ๑,๐๐๐ เมตร อยู่หลายยอดด้วยกัน ยอดสูงสุดสูง ๑,๗๔๙ เมตร
                เทือกเขากระวานตะวันออก  แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
                    - เทือกเขาโพธิสัตว์กับกัมปงสะบือ ยอดเขาสูงสุด ๑,๘๑๓ เมตร
                    - เทือกเขา Au Malou อยู่ระหว่างกัมปงสะบือ กับ Sre Umbell มีที่ราบสูงคีรีรม อยู่ข้างบน
                    - เทือกเขาช้าง แยกออกจากเทือกเขา Au Malou มียอดสูง ๑,๐๗๕ เมตร
           บริเวณที่เป็นหย่อมเขา  คือ บริเวณที่ล้อมรอบทิวเขากระวาน มีภูเขาสูงปานกลาง โดยทั่วไปสูงไม่เกิน ๘๐๐ เมตร แบ่งออกเป็น ๖ ตอนคือ
                    - บริเวณชายทะเล เป็นพื้นที่ราบลาดสูงขึ้นไป บรรจบกับทิวเขากระวาน และติดต่อกับที่ราบตอนกลางได้สามทาง
                    - บริเวณหย่อมเขาทางทิตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
                    - บริเวณหย่อมเขาระหว่างจังหวัดโพธิสัตว์กับกัมปงชนัว
                    - บริเวณหย่อมเขากัมปงสะบือ
                    - บริเวณหย่อมเขาระหว่างกัมปงสะบือกับกัมปอต
                    - บริเวณหย่อมเขาระหว่างกัมปอตกับตาแก้ว
แม่น้ำลำธารและทะเลสาบ
            กัมพูชาเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยแม่น้ำลำธาร ห้วยหนอง คลองบึง และมีทะเลสาบใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ บริเวณลุ่มน้ำสำคัญ ๆ มีอยู่สามแห่งด้วยกันคือแม่น้ำโขง ทะเลสาปและแม่น้ำทะเลสาป ติดต่อกับแม่น้ำบาสสัค (Bassac) กับแม่น้ำทางฝั่งทะเล
            แม่น้ำโขง  มีต้นน้ำจากประเทศธิเบต ไหลผ่านประเทศจีน พม่า ไทย ลาว เข้าสู่เขตแดนกัมพูชาที่หมู่บ้านอินนัง ทางภาคเหนือของกัมพูชา แล้วไหลผ่านจังหวัดสตึงเตรง กระแจะ กัมปงจาม และพนมเปญ  และไหลเข้าเขตแดนเวียดนามที่หมู่บ้านรินฮือ แม่น้ำโขงมีความยาวทั้งหมดประมาณ ๔,๕๐๐ กิโลเมตร  ในส่วนที่ไหลผ่านกัมพูชายาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑ - ๒ กิโลเมตร ความลึกเป็นไปตามฤดูกาล ในฤดูน้ำบางตอนลึกถึง ๓๐ เมตร น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลเชี่ยวในฤดูน้ำ ลักษณะแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านกัมพูชาแบ่งออกได้เป็นสามตอนคือ
                ช่วงที่ไหลผ่านระหว่างหมู่บ้านวินนังมาจนถึงจังหวัดกระแจะ  แม่น้ำโขงตอนนี้ไหลเชี่ยวเป็นตอน ๆ เช่น แซมบอดทางเหนือจังหวัดกระแจะประมาณ ๑๕ กิโลเมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยวมากเป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร บางจุดกระแสน้ำไหลเชี่ยวมากประมาณ ๖๐ กิโลเมตร และยังมีเกาะแก่งอยู่ทั่วไปเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ในช่วงนี้มีลำน้ำเสสาน และลำน้ำเสรปกไหลมาบรรจบแม่น้ำโขงที่จังหวัดสตึงเตรงด้วย
               ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดกระแจะถึงพนมเปญ  มีความยาวประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร มีเกาะแก่งและเนินทรายใต้น้ำอยู่เป็นบางแห่ง กระแสน้ำไม่เชี่ยว สามารถใช้เดินเรือได้ทุกฤดูกาล แม่น้ำโขงในช่วงต่อจากพนมเปญ ไหลแยกออกเป็นสี่สาย  เรียกว่า  จตุรมุข คือ
                    - สายที่ ๑  คือ แม่น้ำโขงเดิม
                    - สายที่ ๒  คือ แม่น้ำโขงที่ไหลไปลงทะเลทางด้านทะเลจีนตอนใต้
                    - สายที่ ๓  คือ แม่น้ำบาสสัค
                    - สายที่ ๔  คือ แม่น้ำที่ไหลจากทะเลสาป เรียกว่า แม่น้ำทะเลสาป
               ช่วงที่ไหลผ่านพนมเปญถึงหมู่บ้านวินฮือ  แม่น้ำโขงช่วงนี้มีความยาวกว้างกว่า ๒ กิโลเมตร กระแสน้ำไหลเชี่ยว
แต่ยังสามารถใช้เดินเรือได้ทุกฤดูกาลจนถึงปากน้ำ ความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูน้ำและฤดูแล้งประมาณ ๑๐ เมตร
                แม่น้ำโขงนอกจากให้ประโยชน์แก่ประเทศกัมพูชาในด้านเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ในด้านการกสิกรรมและการประมงด้วย เนื่องจากในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำโขงได้ท่วมท้นไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อน้ำลดก็ได้ทิ้งปุ๋ยอันโอชะต่อพืชไว้ และในขณะเดียวกันก็มีปลาชุกชุมอยู่ตามบึงต่าง ๆ และในแม่น้ำโขงเอง


            แม่น้ำทะเลสาป (Tonle sap)  เป็นแม่น้ำที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาป มีความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลผ่านแม่น้ำสายนี้ลงสู่ทะเลสาป
            แม่น้ำบาสสัค (Bassac)  เป็นแม่น้ำสายเดียวกับแม่น้ำทะเลสาป ต่อจากแม่น้ำทะเลสาปที่หน้าพระราชวังกรุงพนมเปญ แล้วไหลไปยังประเทศเวียดนามที่บ้านบินห์ดี แล้วไหลผ่านเขตประเทศเวียดนามลงสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำสายนี้แคบกว่า แม่น้ำทะเลสาป มีความยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ใช้ในการเดินเรือได้ตลอดปี
            ทะเลสาป  นับว่าเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับว่าเป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ มีทิวเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลสาปโดยรอบ ในฤดูแล้ง ทะเลสาปจะมีความยาว ๑๕๐ กิโลเมตร ตอนกว้างที่สุด ๓๒ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ในฤดูน้ำหลากเต็มที่ประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ทะเลสาปจะมีพื้นที่ใหญ่กว่า ในฤดูแล้งประมาณสามเท่าคือ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร บริเวณน้ำท่วมจึงอยู่ระหว่างถนนรอบทะเลสาป ในด้านความลึก ฤดูน้ำจะลึกประมาณ ๑๒ - ๑๔ เมตร ในฤดูแล้ง น้ำที่ตื้นสุดประมาณ ๐.๘๐ เมตร ถึง ๒.๐๐ เมตร ลักษณะพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งจะเป็นดินตะกอน บริเวณที่ดอนเป็นที่โล่งแจ้ง ตามขอบทะเลสาปเป็นป่าละเมาะและป่าน้ำท่วม พื้นที่ทางด้านตะวันตกของทะเลสาปแบ่งออกได้เป็นสามตอนคือ
                ลานเลน  เป็นตอนที่ตื้นเขินในฤดูแล้ง โคลนเลนนี้จะกั้นทะเลสาปให้เป็นตอน ๆ ในฤดูแล้ง
                ทะเลสาปน้อย  เป็นตอนที่อยู่ทางด้านเหนือของลานเลน มีความยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร กว้าง ๒๕ กิโลเมตร ตามบริเวณชายฝั่งปกคลุมไปด้วยพงหญ้า
                ทะเลสาปใหญ่  เป็นตอนที่อยู่ทางเหนือของทะเลสาปน้อย มีความยาวประมาณ ๗๕ กิโลเมตร และกว้าง ๓๒ กิโลเมตร
                ทะเลสาปของประเทศกัมพูชามีประโยชน์ต่อการกสิกรรม การเดินเรือ และการประมงในประเทศเป็นอย่างมาก ในฤดูฝนสามารถใช้เดินเรือขนาดต่าง ๆ ได้ แต่ในฤดูแล้งจะใช้เดินเรือได้เฉพาะเรือขนาดเล็กเท่านั้น ในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ป่าจะถูกน้ำท่วม เมื่อน้ำลดก็จะทิ้งปุ๋ยอันเป็นประโยชน์ต่อพืช ทะเลสาปอุดมไปด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                ลำน้ำทางอ่าวไทย  ลำน้ำหลายสายมีต้นกำเนิดมาจากทิวเขากระวาน แล้วไหลลงสู่ทะเล ส่วนมากเป็นลำน้ำเล็ก ๆ และสั้น มีความกว้างประมาณ ๑๕ - ๒๐ เมตร


ฝั่งทะเลและเกาะ
            ประเทศกัมพูชามีฝั่งทะเลยาวประมาณ ๔๔๐ กิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในหกของเส้นพรมแดนทั้งประเทศ เป็นฝั่งทะเลที่อยู่ในอ่าวไทยทั้งสิ้น เป็นพรมแดนซึ่งกั้นประเทศกัมพูชา ออกจากแหลมมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะชวา
            ฝั่งทะเลของประเทศกัมพูชามีลักษณะเว้าแหว่ง ประกอบด้วยสองแหลมใหญ่ ๆ คือ แหลมสามิต (Semit, Smach) และแหลมวีลเรนห์ (Veal Renh)  โดยทั่วไปความลึกใกล้ฝั่งทะเลด้านนี้มีความลึกประมาณ ๕ - ๑๐ เมตร
            ความแตกต่างของระดับน้ำทะเลขึ้นลงไม่เกิน ๒ เมตร ลักษณะของฝั่งทะเลจากเขตแดนไทยถึงปากน้ำ Koki เป็นที่ราบลุ่มมีหนองบึงมาก จากปากน้ำ Koki ถึงแหลม Sorivong มีหินระเกะระกะอยู่ทั่วไป บริเวณกัมปงโสมไปถึงพรมแดนเวียดนาม มีลักษณะเป็นหาดเลน โขดหิน และหาดทรายสลับกันไป พื้นทะะเลส่วนใหญ่ มีลักษณะราบ และแบน แต่ในที่บางแห่ง เช่น ที่แหลมโต๊ะ ซึ่งอยู่ที่ฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันออก มีเนินใต้น้ำสูงถึง ๕๐ เมตร และมีเกาะสลัด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะฟูก๊ก มีเนินเปลือกหอยปกคลุมอยู่ เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ
            ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) ท้องทะเลในอ่าวไทย จะมีลักษณะราบเรียบ แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พฤษภาคม - พฤศจิกายน) กระแสลมพัดมาปะทะฝั่งประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดคลื่นจัด ทำให้การเดินเรือยาก และมีอันตราย
            ฝั่งทะเลประเทศกัมพูชา มีอ่าวใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก อ่าวที่สำคัญอ่าวหนึ่งคือ อ่าวกัมปงโสม อยู่บริเวณจากแหลมสามิต (Semit) ไปทางทิศตะวันออก ชายหาดเป็นโคลนโดยทั่วไป ที่ปากอ่าวมีเกาะรง และเกาะรงสามแหลม เป็นที่กำบังเคลื่อนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อ่าวนี้มีบริเวณเหมาะแก่การตั้งท่าเรือ บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเรียม ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร มีท่าเรือชื่อ สีหนุ ฝั่งทะเลจากท่าเรือสีหนุไปมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ติดต่อกันไปจนถึง อ่าวเรียม ที่ปากอ่าวเรียมมีเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ ทำให้ท่าเรือเรียม อยู่ในที่กำบังลมอย่างดี จากท่าเรือเรียมมีถนนเลียบฝั่งทะเล ขึ้นไปทางเหนือ และไปบรรจบถนนมิตรภาพที่เขื่อนท่าเรือสีหนุ กับกรุงพนมเปญ นอกจากนี้ยังมีถนนแยกเลียบฝั่งทะเลไปทางทิศตะวันออก จนถึงเมืองกัปปอตด้วย
            มีเกาะขนาดใหญ่ที่มีราษฎรอาศัยอยู่สองเกาะคือ เกาะกง และเกาะฟูก๊ก

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์