www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > ประเทศเพื่อนบ้านของไทย
กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย
| ย้อนกลับ |
การเมืองและการปกครอง ประเทศจีนไม่เหมือนกับประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น ๆ พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงอยู่ได้ พรรคการเมืองสำคัญที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์มีอยู่ ๘ พรรค ด้วยกันคือ พรรคกรรมการปฎิวัติของก๊กมินตั๋ง (Revolutionary Commillee of the Kuomintang) มีกำเนิดจากพรรคสมาคมสหายลัทธิไตรราษฎร ของ ดร.ซุนยัดเซ็น แยกตัวจากพรรคก๊กมินตั๋ง ของเจียงไคเช็ก ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ พรรคนี้สนับสนุนหลักประชาธิปไตยแบบใหม่ของเหมา เจ๋อตุง สมาชิกส่วนมากเป็นข้าราชการเก่า สันนิบาตประชาธิปไตยจีน (China Democratic League) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นปัญญาชน และข้าราชการเสรีนิยมเป็นส่วนใหญ่ พวกนี้ประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งพลังที่สาม ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๔๙๖ เมื่อจีนแยกออกเป็นสองรัฐบาล พวกหนึ่งตามไปอยู่ไต้หวัน เป็นพรรคสังคมประชาชาติปัจจุบัน ส่วนที่เหลือในผืนแผ่นดินใหญ่ ยังมีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาพรรคประชาธิปไตยทั้งหลาย สมาคมสถาปนาประชาธิปไตยจีน (China Democratic National Consrruction) พรรคนี้รวบรวมสมาชิกจากนักธุรกิจระดับชาติ ที่มีหัวคิดเสรีนิยม (National Bourgeoisie) พรรคประชาธิปไตยชาวนาและกรรมกรจีน (China Peasants and workers Democratic Party) สมาชิกส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ช่างเทคนิค นำโดยแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในวงการแพทย์ สมาคมส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน (China Association for Promoting Demoting) สมาชิกส่วนมากเป็นปัญญาชนผู้ก้าวหน้า สมาคมสามกันยายน (Chiu San Society) ใช้ชื่อเรียกตามวันที่ชาวจีนถือว่า มีชัยชนะต่อญี่ปุ่น (๓ กันยายน) สมาชิกส่วนมากเป็นกรรมกร นักศึกษา และผู้นำด้านวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า พรรคจื้อกุง (Chih Kung Tang) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลเสียเป็นส่วนมาก สันนิบาตประชาธิปไตยเพื่อปกครองตนเองของไต้หวัน (Taiwan Democratic Self- Goverment League) เป็นพรรคที่เกิดก่อนการจัดรัฐบาลจีน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ พรรคต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับเชิญจากรัฐบาลจีน ให้มีส่วนร่วมในรัฐบาลผสม หรือรัฐบาลแนวร่วม (United - Front Goverment) ซึ่งเป็นวิถีทางต่อสู้กับศัตรูการเมือง ตามนโยบาย "ประชาธิปไตยแผนใหม่" ของเหมา เจ๋อ ตุง ทุกพรรคยอมรับฐานะการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไม่มีเจตนาที่จะแข่งขันเพื่อชิงอำนาจ ในการปกครอง ดังพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่ประการใด นอกจากนั้นยังไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกด้วย การปล่อยให้กลุ่มการเมืองดังกล่าว คงอยู่ได้เป็นแบบอย่างที่แปลกกว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในรัฐบาลที่จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ และ พ.ศ.๒๔๙๗ มีผู้นำของพรรคดังกล่าวได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีหลายคน ในด้านทฤษฎี เหมา เจ๋อ ตุ่ง อ้างว่าจีนมิใช่เป็นเผด็จการ โดยชนชั้นกรรมาชีพ แต่เป็นเผด็จการโดยประชาชน ประชาชนยังประกอบด้วย ชนชั้นต่าง ๆ กัน แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า การคงอยู่ของกลุ่มการเมืองดังกล่าว จะมีอายุในตัวของมันเอง หรือเมื่อใดที่ชนชั้นได้หมดไป มันก็ล้มเลิกก่อกรรมไปเอง ซึ่งไม่ผิดกับวิธีการจัดการกับศาสนาคือ เมื่อสภาพเปลี่ยนแปลงไป ก็จะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ แล้วก็จะสลายตัวไปเอง รัฐบาล เมื่อคอมมิวนิสต์ยึดผืนแผ่นดินใหญ่จีนได้ใหม่ ๆ พวกเขายึดถือหลักการร่วมกัน (Common Program) เป็นแนวทางการปกครองประเทศ หลักการนี้เป็นธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ประชุมตกลงกัน ร่างขึ้นและประกาศใช้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ กลุ่มการเมืองดังกล่าวมีชื่อว่า ชมรมที่ปรึกษาการเมืองของชาวจีน (The Chinese People ' s Political Consultative Conference) ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ๙ พรรค กลุ่มการเมืองย่อย ๆ ๑๔ กลุ่ม หน่วยทหาร ๖ หน่วย และเอกชนที่มีชื่อเสียง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลปฎิวัติชั่วคราว ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน ๓๓ คน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ๑๙ คน และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก รัฐสภานี้ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ และได้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่รัฐบาลได้บริหารประเทศ โดยมิได้ยึดหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และได้รับอนุมัติจากรัฐสภาชุดที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาให้กระทำ ๕ ปีต่อครั้ง วาระของสภาประชาชนประจำมณฑล หรือเทียบเท่ามีกำหนด ๕ ปี เช่นเดียวกับรัฐสภา ส่วนวาระของสภาประชาชนประจำอำเภอ หรือเทียบเท่า และคอมมูน หรือเทียบเท่ามีกำหนด ๓ ปี และ ๑ ปี ตามลำดับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนในระดับต่าง ๆ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับสมาชิกสภาผู้แทน ในระดับสูงได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนในระดับต่ำลงไป และประชาชนโดยทั่วไป มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตน ในระดับต่ำสุดเท่านั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีผู้สมัครที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประมาณ ๑ ใน ๓ เท่านั้น อีก ๑ ใน ๓ เป็นของพรรคการเมืองอื่น ๆ และผู้นำองค์กรมวลชน รวมทั้งกรรมกรผู้ชำนาญพิเศษ กรรมกรตัวอย่าง ฯลฯ รัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๗ ของจีน กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภา และอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งประธานของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีนั้น ในทางปฎิบัติ คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้เสนอ โดยได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ก่อนการปฎิวัติวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ คณะรัฐมนตรีมีหน่วยงาน ๔๘ กระทรวง ทบวง คณะกรรมการ และสำนักงานที่เทียบเท่า ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย ๒๖ กระทรวง ๓ ทบวง การปกครองท้องถิ่น แบ่งการบริหารออกเป็น ๓ ระดับใหญ่ ๆ คือ ระดับมณฑล มี ๒๒ มณฑล เขตปกครองตนเอง ๕ เขต เทศบาลมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอีก ๒ เทศบาล ระดับอำเภอหรือเทียบเท่า มีอยู่ประมาณ ๒,๓๐๐ หน่วย ทั่วทั้งประเทศ ระดับประชาคมหรือเทียบเท่า (โรงงานมีฐานะเทียบเท่าประชาคม) ประชาคมแบ่งออกเป็นกองการผลิต องค์กรของรัฐในระดับต่าง ๆ ถัดจากระดับชาติลงไป มีโครงสร้างเหมือนกันคือ มีสภาประชาชน (People Congress) ที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาประชาชนในระดับต่ำกว่า ระบบข้าราชการ เป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารนโยบายของพรรค มีสายการบังคับบัญชา ตามหน้าที่และตามท้องที่ และผู้ภายใต้การบงการของพรรค ระบบศาลและอัยการ ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ศาลและอัยการเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการร่วมกัน แต่ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๑๘ ให้โอนอำนาจของอัยการไปอยู่กับองค์การรักษาความมั่นคงในระดับต่าง ๆ ในด้านหลักการ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ใช้ลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน และความคิดของเหมา เจ๋อ ตุง แทนปรัชญากฎหมายที่มีอยู่เดิม พรรคใช้อำนาจปฏิวัติ ประกาศยกเลิกกฎหมายเดิม และประกาศกฎหมายบางฉบับออกมาแทน นอกจากนั้นคำสั่ง และมติของคณะรัฐมนตรี หรือองค์กรชั้นสูงสุดของรัฐก็มีผลใช้ได้ดังกฎหมาย กฎหมายและศาล มีบทบาทรับใช้การปฏิวัติ พรรคได้ปรับปรุงระเบียบศาลใหม่ มีศาลสูงสุดของประชาชน (Supreme People s Court) ในระดับชาติ มีศาลสูง ศาลชั้นกลาง และศาลชั้นต้นในส่วนภูมิภาค นอกจากนั้นยังมีศาลพิเศษได้แก่ศาลทหาร ศาลการคมนาคม การรถไฟ และศาลการคมนาคมทางน้ำ ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ประธานศาลสูงสุดของประชาชนได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสามัญประจำรัฐสภา อยู่ในตำแหน่งวาระ ละ ๕ ปี รองประธานศาล และผู้พิพากษาศาลสูง ได้รับการแต่งตั้งและถูกปลดได้ โดยคณะกรรมการสามัญของรัฐสภา ประธานของศาลระดับรองลงไป ได้รับแต่งตั้งและถอดถอนโดยคณะกรรมการปฏิวัติในระดับนั้น ๆ กล่าวโดยสรุป ระบอบกฎหมายและศาลมีบทบาทจำกัดมาก ทั้งนี้เพราะเวลามีการรณรงค์มวลชนขึ้นมา กลไกศาลหยุดชะงัก นอกจากนั้นคดีต่าง ๆ อาจตกลงกันโดยผ่ายคณะกรรมการไกล่เกลี่ยของประชาชน นักกฎหมายทั้งหลายไม่มีสิทธิที่จะร้องผลประโยชน์ให้แก่เอกชนต่อต้านผลประโยชน์ของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในฐานะเป็นผู้นำทั้งในหน่วยรัฐการพลเรือน รัฐฝ่ายทหาร และองค์กรมวลชน บุคคลชั้นนำในหน่วยต่าง ๆ ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นบุคคลชั้นนำของพรรคในระดับเดียวกัน ในทางทฤษฎีสายการบังคับบัญชาของพรรคและของรัฐบาลแยกอิสระจากกัน องค์กรของรัฐบาลรับผิดชอบในการบริหารงานตามนโยบาย ส่วนองค์กรของพรรครับผิดชอบในด้านนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.๒๕๑๘ สารบาญ คำปรารภ หมวด ๑ หลักทั่วไป หมวด ๒ องค์การแห่งรัฐ ส่วนที่ ๑ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ส่วนที่ ๒ คณะรัฐมนตรี ส่วนที่ ๓ สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค และคณะกรรมการปฎิวัติระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค ส่วนที่ ๔ องค์การปกครองตนเองแห่งภูมิภาคปกครองตนเองของชนชาติ ส่วนที่ ๕ องค์การตุลาการ และองค์การอัยการ หมวด ๓ สิทธิและหน้าที่พื้นฐานของพลเมือง หมวด ๔ ธงชาติ เครื่องหมายประจำชาติ นครหลวง คำปรารภ การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ
คำปรารภ การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ
| ย้อนกลับ | บน |