ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น พม่า ฟิลิปปินส์   มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย


 



การเมืองและการปกครอง

            ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายล่าเมืองขึ้น โดยเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในแหลมอินโดจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๑ และได้เข้ามายึดครองลาวไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ในระหว่างที่ปกครองลาวอยู่ ฝรั่งเศสไม่ได้สร้างความเจริญที่เป็นแก่นสารให้แก่ลาวเลย มีแต่กอบโกยทรัพยากรของลาวออกไป
            ต่อมาในสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองลาว และประกาศยกเลิกการปกครองของฝรั่งเศส ญี่ปุ่นได้ให้ลาวปกครองตนเอง โดยมีเจ้าเพชรรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี
            หลังจากญี่ปุ่นแพ้ในสงครามมหาเอเซียบูรพาแล้ว ฝรั่งเศสก็ได้กลับมาปกครองลาวอีกในปี พ.ศ.๒๔๘๘  การกลับมาของฝรั่งเศส สร้างความไม่พอใจ ให้แก่ประชาชนลาวเป็นอย่างมาก ได้มีการต่อต้านฝรั่งเศส และร่วมมือกับเวียดนามในการกอบกู้อิสรภาพพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของเวียดนาม ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งพรรคฟื้นฟูชาติลาวขึ้นมา เพื่อให้ดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับตน ส่วนประชาชนลาวอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ได้จัดตั้งพรรคประชาชนลาว ที่ได้ยึดถือแนวทางของมาร์กซ์ เลนิน ขึ้นมา เจ้าเพชรรัตน์เป็นผู้หนึ่งซึ่งไม่ยินยอมให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามาอีก แต่พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์ลาวได้ทรงผ่อนผัน ให้ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวอีก จึงทำให้เจ้าเพชรรัตน์ต้องลี้ภัยทางการเมือง เข้ามาอยู่ในประเทศไทย และต่อมาได้จัดตั้งขบวนการลาวอิสระขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเรียกร้องให้ลาวพ้นจากอารักขาของฝรั่งเศส และเพื่อให้ลาวซึ่งมีความแตกแยก เนื่องจากมีผู้นำหลายกลุ่ม มารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
            ขบวนการลาวอิสระได้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ประกอบด้วย เจ้าสุวรรณภูมา  เจ้าสุภานุวงศ์  ท้าวกระต่ายโดมสะโสฤทธิ์ ท้าวภูมีหน่อสวัน  ร้อยเอก อ้วน ราทิกุล  แต่กองกำลังของเจ้าสุภานุวงศ์ ซึ่งได้รับการฝึกฝน และได้รับการสนับสนุนด้านเสบียงอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์จากเวียดนาม ยังคงปฏิบัติการแบบกองโจรต่อฝรั่งเศสในภาคตะวันออกของลาว ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเวียดนาม ในห้วงเวลานั้นฝ่ายฝรั่งเศสได้แต่งตั้งเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ขบวนการลาวอิสระได้เกิดการแตกแยกกันเป็นสองพวก พวกหนึ่งต้องการเดินสายกลาง ยอมรับการประนีประนอมกับฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาพวกนี้ได้เข้ามาร่วมกับฝ่ายกษัตริย์ลาว อีกพวกหนึ่งต้องการใช้แนวทางแข็งกร้าวต่อต้านฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข พวกนี้มีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้นำ ต่อมาเจ้าสุภานุวงศ์ได้เดินทางไปเจรจากับโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสในเวียดนามที่มีชื่อว่า สันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม หรือเวียดมินห์ เพื่อขอให้สนับสนุน การจัดตั้งขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสในลาว ขบวนการนี้เป็นขบวนการที่อยู่ภายใต้การชี้นำอย่างใกล้ชิดของเวียดนามและได้พัฒนาสถาบันทางการเมือง และการบริหารตามแบบอย่างเวียดนามตลอดมา
            หลังจากที่ฝรั่งเศสได้ตัดสินใจมอบเอกราชให้แก่ลาว พวกขบวนการอิสระที่ต้องการเดินสายกลางก็สลายตัว เจ้าสุวรรณภูมาได้เดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์ และได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์ก็ได้หนีไปอยู่ที่ซำเหนือ และหลังจากที่ได้ติดต่อกับโฮจิมินห์ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ แล้วก็ได้จัดตั้งรัฐบาลต่อต้านรัฐบาลของขบวนการประเทศลาวขึ้น โดยมีตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นายภูมี วงศ์วิจิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นายไกสอน พมวิหาน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
            ขบวนการประเทศลาว ได้ยึดครองดินแดนทางเหนือของลาวไว้ แล้วดำเนินการรุกรานลงทางใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดมินห์ ประเทศไทยได้เรียกร้องให้มีการประชุมนานานชาติขึ้นที่นครเจนีวา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ เพื่อยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมิ และรัฐบาลของเจ้าสุภานุวงศ์ ที่ประชุมได้ตกลงให้ยุติการสู้รบโดย
                - ให้เวียดมินห์ ถอนทหารออกไปจากดินแดนของประเทศลาว
                - ให้ขบวนการประเทศลาว ถอนไปอยู่ในแนวแขวงซำเหนือ และพงสาลี
                - ให้มีคณะกรรมการสงบศึก ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศอินเดีย โปแลนด์ และแคนาดา
            การประชุมครั้งนี้ เท่ากับมีผลให้ขบวนการประเทศลาว ได้รับการรับรองจากนานาชาติโดยปริยาย ขบวนการประเทศลาวได้ส่งคนไปศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่เวียดนามเหนือ และขณะเดียวกันก็เสริมสร้างกำลังของตนให้เข้มแข็ง และยังมีการสู้รบอยู่
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาเพื่อขอสงบศึกกับขบวนการประเทศลาว ที่นครเวียงจันทน์ ซึ่งก็ได้ข้อตกลงกันว่าจะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และดำเนินนโยบายเป็นกลาง ห้ามมีฐานทัพต่างชาติในลาว และต้องร่วมมือกับนานาประเทศ
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการขัดแย้งกันในเรื่องการคุมกำลังกองทัพ และทหารของขบวนการประเทศลาว ได้สะสมอาวุธและตั้งตนเป็นขบถต่อรัฐบาล ท้าวผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้จับเจ้าสุภานุวงศ์และคณะ ไปขังฐานเป็นขบถ แต่เจ้าสุภานุวงศ์และคณะหนีจากที่คุมขังได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ แล้วได้ไปอยู่ที่กรุงฮานอย และกรุงปักกิ่ง
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ร้อยเอกกองแล ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลซึ่งมีเจ้าสมสนิท เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เสนอให้เจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลใหม่ โดยให้มีขบวนการประเทศลาวร่วมในรัฐบาลด้วย แต่เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และนายพลภูมี หน่อสวัน ไม่เห็นด้วย และได้ยึดอำนาจคืนจาก นายพลกองแล ในปีเดียวกัน นายพลกองแล จึงได้หนีไปอยู่ทางเหนือ และได้เข้าร่วมกับขบวนการประเทศลาว ที่ทุ่งไหหิน ส่วนเจ้าสุวรรณภูมา หนีไปอยู่ในกัมพูชา และได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากโซเวียด จีนแดง และเวียดนามเหนือ
            กองกำลังของลาวทั้งสามฝ่าย ได้มีการสู้รบกันอยู่ตลอดเวลา ลาวจึงไม่มีเวลาสงบ ดังนั้น อังกฤษ และสหภาพโซเวียดรัสเซีย ในฐานะที่เป็นประธานร่วมที่นครเจนีวา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ จึได้เสนอแนะให้ลาวทั้งสามฝ่าย จัดประชุมเพื่อยุติการสู้รบ การประชุมได้จึดขึ้นที่นครเจนีวา ในปี พ.ศ.๒๕๐๔  มีประเทศที่เข้าร่วมประชุม ๑๔ ประเทศ คือ อังกฤษ สหภาพโซเวียดรัสเซีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีนแดง โปแลนด์ อินเดีย แคนาดา พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และลาว ที่ประชุมได้ตกลงให้ลาวเป็นกลาง โดยได้รับการประกันจากบรรดาประเทศที่เข้าร่วมประชุม

            ข้อตกลงที่ได้จัดทำขึ้นมานี้เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ เรียกว่าได้ข้อตกลงเจนีวา ๒๕๐๕ (๑๙๖๒) จากข้อตกลงนี้ทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาจากสามฝ่ายคือ ฝ่ายขวา ได้แก่ เจ้าบุญอ้อม ณ จำปาศักดิ์ ฝ่ายเป็นกลาง ได้แก่ เจ้าสุวรรณภูมา และฝ่ายซ้าย ได้แก่ เจ้าสุภานุวงศ์
            จากการที่ลาวต้องผูกพันกับข้อตกลงเจนีวา ๒๕๐๕ นี้เอง ทำให้ลาวไม่สามารถเข้าร่วมในองค์การต่าง ๆ ได้เช่น แอสแคป เป็นต้น
            สภาพการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ภายหลังเมื่อฝรั่งเศสได้มอบเอกราชให้กับลาว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ แล้ว การเมืองภายในของประเทศลาว ก็มีแต่ความยุ่งเหยิง แบ่งเป็นฝ่ายขวา ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายซ้าย มีการรบพุ่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาพัฒนาประเทศ เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ลาว เป็นประเทศที่ล้าหลังในทุกด้าน และเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้ลาว เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาเป็นระบบสาธารณรัฐแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ โดยมี นายไกสอน พมวิหาน เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อประเทศจากราชอาณาจักรลาว เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
            คณะรัฐบาลกลาง ภายใต้การนำของ นายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีประกอบด้วยสามฝ่ายคือ ฝ่ายซ้ายจัดรุนแรง ได้แก่ นายไกสอน พมวิหาน นิยมเวียดนาม ฝ่ายชาตินิยม ได้แก่ เจ้าสุภานุวงศ์ นิยมโซเวียด และฝ่ายเป็นกลาง ได้แก่ นายคำอ้วน บุปผา นิยมจีนแดง
            การเมืองระหว่างประเทศ  ลาวเป็นประเทศเล็กไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จึงขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นหลักในเกือบทุกด้าน เปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้าไปมีอิทธิพลเหนือลาวอยู่มาก โดยเฉพาะเวียดนาม และรัสเซีย
            การดำเนินนโยบายต่างประเทศของลาว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่ ระบอบสังคมนิยมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา ได้เข้าไปผูกพันกับประเทศ ในกลุ่มสังคมนิยมมากขึ้น นอกจากนั้นยังเข้าไปผูกพันกับประเทศ ผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
            การดำเนินนโยบายทางการทูตของลาว มักจะอยู่ภายใต้การชี้นำของสหภาพโซเวียด และเวียดนาม
            สำหรับความสัมพันธ์กับจีน นับว่าเสื่อมโทรมลงไปมาก หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า จีนชุมนุมกำลังทหารจำนวนมาก บริเวณพรมแดนทางตอนเหนือของลาว ซึ่งต่อมาลาวได้ขอร้องให้จีนยุติการสร้างถนน ทางตอนเหนือของลาวเป็นการชั่วคราว เป็นผลให้จีนต้องถอนเจ้าหน้าที่เทคนิค และวิศกรเกือบประมาณ ๕๐๐ คน ออกจากลาวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ และต่อมาในปีเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศลาว ได้แจ้งให้สำนักข่าวซินหัวของจีนประจำเมืองเวียงจันทน์ ปิดสำนักงานเป็นการชั่วคราว และให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าว เดินทางออกจากลาว และต่อมาได้ยื่นบันทึกเรียกร้องต่อสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำเมืองเวียงจันทน์ ให้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ลงเหลือเพียง ๑๒ คน อีกทั้งไม่ให้มีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทางทหารอื่น ๆ อยู่ในลาว
            รัฐบาลลาว เคยสั่งให้ยุบสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของประเทศฝ่ายโลกเสรี ประจำเวียงจันทน์สี่ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ไทย ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส จึงเหลือสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ที่ยังคงปฎิบัติหน้าที่อยู่ในลาว เพียงสองประเทศคือ สหภาพโซเวียด และเวียดนาม
ความสัมพันธ์ไทย- ลาว
            ในระยะแรก ที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๒๐ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว ไม่สู้ราบรื่นนัก โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้มีนักศึกษากับนักการเมืองฝ่ายซ้าย หลบหนีข้ามไปฝั่งลาว และจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยขึ้น โดยลาวให้การสนับสนุน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว เสื่อมลงจนถึงขั้นลาวขอยุบสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของไทย ประจำเวียงจันทน์ และมีการกระทบกระทั้งตามแนวชายแดน และในลำน้ำโขงบ่อยครั้งขึ้น
            ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๑ ถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว ดีกว่าในระยะเวลาอื่น เนื่องจากลาวได้เปลี่ยนท่าที เป็นกระชับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๑ ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันหลายครั้ง และได้มีการตกลงร่วมมือติดต่อทางเขตไทย การคมนาคมขนส่ง การบินพลเรือน และการไปรณีย์ ซึ่งลาวได้ยึดถือเป็นพื้นฐานในการติดต่อสัมพันธ์กับไทย ในระยะต่อมา
            ได้มีการออกแถลงการณ์เมื่อ ๖ มกราคม ๒๕๒๓ สรุปสาระสำคัญว่า
                - จะระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี ตามกฎบัตรสหประชาชาติ โดยจะละเว้นการคุกคาม หรือการใช้กำลังต่อกัน
                - จะไม่ยอมให้ผู้อื่นใช้ดินแดนของตน เป็นฐานทัพเพื่อแทรกแซง คุกคาม หรือรุกรานประเทศอื่น
                - กำหนดให้แม่น้ำโขง ส่วนที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศ เป็นแม่น้ำแห่งสันติภาพ และใช้ประโยชน์ร่วมกัน
            ปัญหาชายแดนไทย - ลาว  แนวพรมแดนไทย - ลาว มีความยาวประมาณ ๑,๗๖๐ กิโลเมตร เป็นแนวพรมแดนที่ทอดไปตามสันปันน้ำ สองตอนคือ ตอนเหนือ ในเขตจังหวัดเชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ และจังหวัดเลย ยาวประมาณ ๔๖๐ กิโลเมตร  ตอนใต้ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร
            ส่วนแนวพรมแดนที่ทอดไปตามลำน้ำ มีอยู่สามตอนคือ ตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงตอนบน ในเขตจังหวัดเชียงราย ประมาณ ๙๔ กิโลเมตร ตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหียงงา และแม่น้ำเหียง ประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร กับตามลำน้ำโขงตอนล่าง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๘๘๐ กิโลเมตร รวมเป็นแนวพรมแดนตามสันปันน้ำประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร กับตามลำน้ำประมาณ ๑,๑๑๐ กิโลเมตร
            แนวพรมแดนไทย - ลาว ตอนที่เป็นสันปันน้ำ ไม่ปรากฎว่าได้มีการปักปัน หรือปักหลักเขตแดนกันไว้เลย คงมีแต่แผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดน ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ - ๑๙๐๘ (พ.ศ.๒๔๕๐ - ๒๔๕๑) มาตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ เท่านั้น
            ส่วนแนวพรมแดนตามลำน้ำแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น มีบทวิเคราะห์ในการกำหนดแนวพรมแดน อยู่ในสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๒๖ (พ.ศ.๒๔๖๙) และแผนที่แสดงแนวพรมแดนในแม่น้ำโขง ค.ศ.๑๙๓๑ (พ.ศ.๒๔๗๔) มาตราส่วน ๑/๒๕๐,๐๐๐
                ปัญหาแนวพรมแดน  ปัญหาแนวพรมแดนที่เกิดขึ้นทางด้านลาวนั้น เป็นผลมาจากความไม่เหมาะสม ของแนวพรมแดนตามลำแม่น้ำโขง ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาที่รัฐบาลไทย ทำไว้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งมีบทวิเคราะห์แนวพรมแดนตามลำน้ำโขงไว้ดังนี้
                ตามลำน้ำโขง ที่แยกเป็นหลายสาย เพราะมีเกาะซึ่งออกจากฝั่งสยาม โดยมีกระแสน้ำไหลสะพัดอยู่ในระหว่างนั้น จะเป็นเวลาหนึ่งเวลาใดในขวบปีก็ตาม ให้ถือร่องน้ำของสายแยกที่ใกล้ฝั่งสยามที่สุดนั้น เป็นเขตแดน
                บรรดาถิ่นที่ลำน้ำที่อยู่ใกล้ฝั่งสยามที่สุดนั้น เขินขึ้นด้วยทรายทับถมฤาตื้นแห้ง ขึ้นจนกระทำให้เกาะซึ่งแต่ก่อนอยู่ห่างจากฝั่งนั้น เชื่อมต่อกันเป็นนิจกับฝั่งนั้น  ตามหลักนิยมเส้นเขตแดนจักต้องเดินตามร่องน้ำเดิม ของสายลำน้ำแยกที่เขินขึ้นด้วยทรายทับถมฤาได้พื้นแห้งขึ้นนั้น  แต่ทว่าถ้าแม้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว จะต้องร้องขอต่อคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขง ให้พิจารณาแต่ละกรณี ตามเหตุการณ์ที่เป็นจริง และในกรณีเช่นนี้ คณะข้าหลวงใหญ่ จะแนะนำให้ย้ายเส้นเขตแดน ไปไว้ยังร่องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุด ของลำแม่น้ำก็ได้ ถ้าหากวินิจฉัยเห็นว่า การย้ายเช่นนั้นเป็นอันพึงประสงค์ ดังเช่นที่ได้ตกลงกันแล้ว
                คณะข้าหลวงใหญ่จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายก่อน จึงจะย้ายเขตแดนได้ การกำหนดเช่นว่านี้ จะต้องรวมทั้งการเขียนเส้นเขตแดน ลงในแผนที่ลำแม่น้ำโขง โดยมิกระเสียนมาตราส่วนหนึ่งในหมื่น กับทั้งจะต้องทำเครื่องหมายปักเส้นเขตแดน ลงไว้ตามลำแม่น้ำโขงทุกตอนที่เห็นว่า เป็นความจำเป็นนั้นด้วย
                การกำหนดเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง ตามอนุสัญญาดังกล่าว มิได้เป็นไปตามหลักความยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่เป็นไปตามความต้องการของฝรั่งเศส ซึ่งมีอำนาจอยู่ในยุคนั้นเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นได้จาก
                - ลำน้ำโขงตอนที่มีเกาะแก่งนั้น กำหนดให้เส้นเขตแดนอยู่ที่ร่องน้ำลึกใกล้ฝั่งไทยมากที่สุดโดยไม่คำนึงว่าร่องน้ำลึกนั้น ๆ จะเป็นร่องน้ำลึกในตอนนั้นหรือไม่
                - การกำหนดดังกล่าว ทำให้เกาะในลำน้ำโขงทั้งหมด ยกเว้นเกาะดอนแปดแห่งที่ระบุแน่ชัดในอนุสัญญา ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ฝั่งไทยสักเพียงใดจะต้องอยู่ในเขตลาว
                - ถึงแม้ร่องน้ำลึกที่ใกล้ฝั่งไทยเหล่านั้นจะตื้นเขิน จนเกาะดอนที่แยกจากฝั่งติดต่อกับชายฝั่งแล้ว ก็ยังให้ถือว่าแนวพรมแดนยังคงอยู่ ณ ร่องน้ำเดิม นอกจากจะมีการกำหนดขึ้นใหม่ แต่การกำหนดขึ้นใหม่ก็ยังต้องใช้ร่องน้ำที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นแนวพรมแดน
                จากข้อกำหนดดังกล่าว จึงก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในลำน้ำโขง ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับเจ้าหน้าที่ลาวบ่อยครั้ง
                ปัญหาผู้อพยพลี้ภัย  ในบรรดาผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองจากอินโดจีนประมาณ ๑๖๗,๐๐๐ คนนั้น เป็นผู้อพยพชาวลาวมากที่สุด ประมาณ ๑๔๙,๕๐๐ คน เนื่องจากเข้ามาได้สะดวก
                ในบรรดาผู้อพยพชาวลาวนั้น ได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลาว และได้ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลลาว เป็นเหตุให้รัฐบาลลาวเข้าใจผิด คิดว่าทางเจ้าหน้าที่ของไทยให้การสนับสนุน
                ปัญหาการลักลอบค้าของหนีภาษี  ก่อนที่ลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๕๑๘  การไปมาหาสู่กันทำได้สะดวก ต่อมาเมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเหตุให้เกิดขัดแย้งทางการเมืองกับไทย ฝ่ายไทยจึงได้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจบีบบังคับ เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองทางการเมือง ในการนี้ได้ลดจำนวนจุดผ่านแดนลง ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นในลาว ทำให้มีการลักลอบค้าของหนีภาษีตามชายแดนไทย - ลาวมากขึ้น
                ต่อมาไทยได้ประกาศจุดฝ่านแดนไทยลาวรวมสามจุดคือ
                    จุดผ่านแดนท่าเสด็จและท่าแพขนานยนต์จังหวัดหนองคาย  ประกาศเปิดเมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ เพื่อให้มีการติดต่อไทยส่งสินค้าเข้า - ออก และสินค้าผ่านแดน รวมทั้งการสัญจรไปมาระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำโขง
                    จุดผ่านแดนมุกดาหาร จังหวัดนครพนม  ประกาศเปิดเมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ จุดนี้อนุญาตให้เฉพาะการส่งสินค้าระหว่างกัน ไม่รวมถึงการเข้าออกของประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำโขง
                    จุดผ่านแดนชั่วคราวบริเวณช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี  โดยรัฐบาลลาวได้ขอร้องอย่างเป็นทางการเพื่อขอให้บริษัทวารินยนต์ทำการขนส่งสินค้าเข้า - ออก
ลำดับและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
                - ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ  กลุ่มชนที่พูดภาษาไทยได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตประเทศลาว และที่ราบสูงอีสาน รวมถึงพวกไท - กะไต กับม้ง - เมี่ยน ที่เป็นบรรพบุรุษของลาวลุ่ม  และพวกม้งกับเย้าที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาสูง กลุ่มชนเหล่านี้ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองยังไม่ปรากฏ แต่เมื่อชนเผ่าต่าง ๆ ทั้งไท พม่าและเวียดนามอพยพลงใต้เข้าไปในเขตเทือกเขา และหุบเขาทางตอนเหนือของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความจำเป็นในการสร้างบ้านแปงเมืองก็เริ่มมีขึ้น
                ชนเผ่าไทย (รวมทั้งลาว) ได้พัฒนาวัฒนธรรมการทำนาแปลงโดยการกักเก็บน้ำ และได้ตั้งรกรากถาวรอยู่ในเขตหุบเขา และที่ราบลุ่ม โดยละทิ้งเขตเทือกเขาสูงไว้ ให้กับกลุ่มชนที่จะอพยพตามเข้ามาภายหลัง
                - อาณาจักรล้านช้าง
                    พ.ศ.๑๗๔๓ - ๑๘๔๓ ชาวไทรวมตัวกันก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นและค่อย ๆ สร้างอำนาจอิทธิพลขึ้นแทนพวกมอญ และเขมร
                    พ.ศ.๑๘๙๖ เจ้าฟ้างุ้มทรงก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างขึ้นบนดินแดนที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงกับเทือกเขาอันนัม และทรงปกครองอาณาจักรแห่งแรกของลาว อยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๑๖ โดยในระยะแรกมีฐานะเป็นกึ่งเมืองขึ้นของอาณาจักรขอม หรือเขมร ต่อมาเมื่อได้สร้างสมอำนาจขึ้น จนมีฐานะเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเอกราชอย่างเต็มรูปแบบหลังจากได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาของกษัตริย์ขอมแล้ว ได้ทำศึกยึดครองเมืองเวียงจันทน์ เมืองเชียงขวาง และเมืองหลวงพระบาง ตลอดจนนำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเข้ามาประดิษฐานไว้ในราชอาณาจักร มีเมืองเชียงของเป็นเมืองหลวง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นหลวงพระบาง
                    พ.ศ.๑๙๖๔ - ๒๐๖๓ เมื่อเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์  พระยาสามแสนไทไตรภูวนารถ ผู้เป็นราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา อาณาจักรล้านช้างต้องตกต่ำลง เพราะการสงครามชิงอำนาจและการก่อกบฏต่าง ๆ เป็นเวลาเกือบร้อยปี
                    พ.ศ.๒๐๖๓ พระเจ้าโพธิสารขึ้นครองราชย์ ได้รวบรวมแผ่นดินลาวขึ้นใหม่ให้เป็นปึกแผ่น ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวงพระบางมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เพื่อให้ไกลจากการรุกรานของพม่า พระองค์ได้สร้างความรุ่งเรืองให้กับราชอาณาจักรนานัปการ
                    พ.ศ.๒๑๐๓ ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เวียงจันทน์
                    พ.ศ.๒๑๘๐ - ๒๒๓๗ ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช นับว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านช้างที่มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์
                    พ.ศ.๒๒๔๓ หลังจากพระเจ้าสุริยวงศา ฯ สิ้นพระชนม์ จนถึงปี พ.ศ.๒๒๕๖  อาณาจักรล้านช้างแตกแยกออกเป็นสามอาณาจักร คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์และจำปาสัก และตกไปอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรข้างเคียงรวมทั้งจีนและอาณาจักรอยุธยา
                - ยุคความแตกแยกและตกต่ำ
                    พ.ศ.๒๓๐๖ - ๒๓๑๒ กองทัพราชอาณาจักรสยามสมัยกรุงศรีอยุธยาพิชิตหัวเมืองลาวตอนเหนือลงได้ แล้วผนวกหลวงพระบาง เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา ส่วนอาณาจักรเวียดนามในราชวงศ์เหงียน ก็แผ่อำนาจเข้าครอบงำหัวเมืองลาวทางตอนกลางของแม่น้ำโขง รอบ ๆ เมืองเวียงจันทน์
                    พ.ศ.๒๓๒๑ ราชอาณาจักรสยามสมัยกรุงธนบุรีเข้ายึดครองหัวเมืองทางตอนใต้ของลาว
                    พ.ศ.๒๓๔๓  ราชอาณาจักรสยาม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของลาว
                    พ.ศ.๒๓๖๕ เจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ วางแผนก่อกบฎ ยกกำลังมายังภาคอีสานมาถึงเมืองโคราช แต่ไม่ประสพผลสำเร็จ
                    พ.ศ.๒๓๗๐ ทางกรุงเทพ ฯ ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้
                    พ.ศ.๒๔๒๘ เกิดศึกจีนฮ่อ โดยพวกจีนฮ่อจากมณฑลยูนานของจีน ยกกำลังมารุกรานลาว ตีหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนเหนือของลาวมาตามลำดับ จนถึงเมืองเวียงจันทน์
                - ยุคการล่าอาณานิคม
                    พ.ศ.๒๓๓๖ - ๒๔๕๐ ฝรั่งเศสใช้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม บังคับให้ราชอาณาจักรสยาม ให้ยกดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ที่เป็นของประเทศลาวในปัจจุบัน ให้เป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส
                    พ.ศ.๒๔๔๓ - ๒๔๘๒ เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากได้อพยพเข้ามอยู่ในลาว และกัมพูชา ฝรั่งเศสถือว่าลาวเป็นดินแดนบ้านป่าล้าหลัง ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
                    พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๘ เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศส และได้ตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสขึ้นที่เมืองวีซ์ คณะข้าหลวงฝรั่งเศสในอินโดจีนให้การหนุนหลังรัฐบาลวิซ์ และตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประเทศไทยยึดแขวงไชยะบุรี และจำปาสักกลับคืนมาเป็นของไทย ญี่ปุ่นสนับสนุนให้ลาวเป็นประเทศเอกราช แต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง กองทัพฝรั่งเศสก็กลับมาครองอินโดจีนอีก
                    พ.ศ.๒๔๙๐ ลาวกลับมาปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ภายใต้การกำกับดูแลของฝรั่งเศส
                    พ.ศ.๒๔๙๓ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ฯ ให้การรับรองว่าลาวเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพฝรั่งเศส แต่ขบวนการประเทศลาวที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ปฎิเสธไม่ยอมรับสถานะดังกล่าว และได้ตั้งขบวนการแนวร่วมรักชาติขึ้น โดยได้รับการหนุนหลังจากโฮจิมินห์ และพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม
                - ลาวกับสงครามอินโดจีน
                    พ.ศ.๒๔๙๕ ชาวลาวในหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มก่อการจลาจลต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามเหนือ ที่กรุงฮานอย
                    พ.ศ.๒๔๙๖ ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากประเทศลาว ซึ่งแยกออกเป็นฝ่ายสนับสนุนระบบกษัตริย์ ในนครเวียงจันทน์ (ฝ่ายขวา) กับฝ่ายขบวนการประเทศลาว (ฝ่ายซ้าย)
                    พ.ศ.๒๔๙๘ ลาวได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
                    พ.ศ.๒๕๐๐ เจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำรัฐบาลผสมในนครเวียงจันทน์
                    พ.ศ.๒๕๐๓ พวกนิยมคอมมิวนิสต์ประเทศลาว ก่อการจลาจลขึ้นในภาคเหนือ และภาคตะวันออกของลาว
                    พ.ศ.๒๕๐๖ เวียดนามเหนือใช้เส้นทางโฮจิมินห์ในภาคตะวันออกของลาว เป็นเส้นทางหลักในการส่งกำลัง ไปปราบปรามพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ มีกองกำลังต่างชาติเข้ามาปฎิบัติการในลาว
                    พ.ศ.๒๕๑๖ สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากเวียดนาม การปฎิบัติการในลาวก็ยุติลงไปด้วย
                    พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากเวียดนามเหนือมีชัยชนะเวียดนามใต้ได้ไม่นาน ขบวนการประเทศลาวซึ่งเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ก็ยึดอำนาจในลาวได้ทั้งหมด ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ พระเจ้าสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตของลาวถูกปลดจากราชบัลลังก์ รัฐบาลลาวยกเลิกระบอบกษัตริย์ และมีการปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
                - การพัฒนาประเทศลาวในระยะต่อมา
                    พ.ศ.๒๕๒๐ ลาวและเวียดนาม ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน ลาวหันไปอิงโซเวียตรัสเซีย อันนำไปสู่ภาวะสงครามตึงเครียดกับจีน และประกาศความเป็นศัตรูกับกัมพูชาอย่างเปิดเผย
                    พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๓๒ ลาวนำนโยบายสังคมนิยมอันเข้มงวดมาใช้ปกครองประเทศ เป็นผลให้ปัญญาชนและชนชั้นกลางจำนวนมาก หนีอออกนอกประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์พยายามล้มล้างพระพุทธศาสนา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
                    พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ ระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลาย นำไปสู่การเปิดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และการเมือง
                    พ.ศ.๒๕๓๕ ลาวเริ่มฟื้นฟูเสรีภาพส่วนบุคคล ด้วยการสนับสนุนให้ผู้อพยพชาวลาว โดยเฉพาะพวกนักธุรกิจที่หนีออกนอกประเทศ ให้กลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน และเปิดประเทศให้ชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในลาว
                    พ.ศ.๒๕๓๗ เปิดสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างไทยกับลาวที่จังหวัดหนองคายของไทย ข้ามไปยังลาวในเขตนครเวียงจันทน์
                    พ.ศ.๒๕๔๒ ลาวเริ่มประสานความสัมพันธ์กับไทย ให้กลับคืนมาทีละน้อย อิทธิพลของเวียดนามต่อลาวค่อย ๆ ลดน้อยลง แต่จีนยังคงมีอิทธิพลครอบงำดินแดนภาคเหนือของลาวอยู่

..........................................................


 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์