www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เที่ยวไปชมไป
เที่ยวไปชมไป
มุ่งสู่อิสาน
ขึ้นเหนือ
อุทยานแห่งชาติภูพาน
อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๕ และเป็นอุทยานแห่งชาติ
ลำดับที่ ๗ มีพื้นที่ประมาณ ๖๖๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๑๖,๐๐๐ ไร่
อยู่ในเขตสองจังหวัดคือ จังหวัดสกลนครในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอพรรณานิคม อำเภอภูพาน
และอำเภอกุดบาก และจังหวัดกาฬสินธุ์ ในเขต อำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง และอำเภอกุฉินารายณ์
ป่าเขาภูพาน หรือที่เรียกกันว่าป่าเขาชมพูพาน สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาหินปูนมีความสูง
เฉลี่ยประมาณ ๕๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ตามสันเขา และไหล่เขาบางแห่งเป็นทุ่งหญ้า
บางบริเวณมีหินโผล่พ้นระดับดิน มีความสวยงามตามธรรมชาติ และบางแห่งเป็นหน้าผาสูงชัน
ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป มีไม้พลวง ไม้เหียง ไม้ส้าน
ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นพันธุ์ไม้สำคัญ มีป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของป่าเต็งรัง
มีป่าดงดิบขึ้นอยู่ตามบริเวณลำห้วย ไม้พื้นล่างประกอบด้วยไม้ไผ่ และหวายต่าง
ๆ บริเวณทุ่งหญ้าอันกว้างขวางมีหญ้าเพ็ก หญ้าคา และหญ้าคมบาง ขึ้นอยู่ทั่วไป
สัตว์ป่าที่สำรวจพบมีอยู่ประมาณ ๑๖๐ ชนิด เช่น ช้างป่า หมูป่า กระต่ายป่า
ลิง ค่าง บ่าง ชะมด กระรอกบิน ไก่ป่า และนกมากกว่า ๗๐ ชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำของลำธาร
และลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำอูน เช่น ห้วยหินลาด ห้วยปุ่น ห้วยโคก
ห้วยม่วง ห้วยเลา ห้วยหินปูน ห้วยอีคอน และห้วยวังปลา เป็นต้น
มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และน่าสนใจอยู่เป็นอันมาก แต่การเดินทางไปยังที่ต่าง
ๆ ดังกล่าว ซึ่งกระจายกันอยู่ในพื้นที่ของอุทยาน ฯ ต้องใช้เวลามาก หลายแห่งรถเข้าไปไม่ถึง
ต้องใช้วิธีเดินไปตามทางเดินชม และศึกษาธรรมชาติ พอประมวลได้ดังนี้
ผานางเมิน
อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยาน ฯ ห่างออกไปประมาณ ๑๐๐ เมตร มีทางรถเข้าไปเกือบถึงบริเวณหน้าผา
ผานางเมินเป็นแนวหน้าผาทอดตัวไปทางทิศตะวันตก เป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ไกลออกไปทางด้านทิศตะวันตก
และเหมาะที่จะไปชมดวงอาทิตย์ตกตอนเย็นได้ดีมาก บริเวณกว้างใหญ่พอสมควร เหมาะแก่การพักผ่อน
ชมทิวทัศน์ และตั้งค่ายพัก มีสิ่งอำนวยความสดวกของอุทยาน ฯ พอสมควร
ถ้ำเสรีไทย
อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ที่ไปสู่ตัวจังหวัดสกลนคร โดยมีทางแยกออกไปทางซ้ายมือลึกเข้าไปเล็กน้อยเส้นทางลาดยางอย่างดี
สุดเส้นทางที่รถจะเข้าได้แล้ว มีทางเดินเท้าลงไปยังหุบเขาข้างล่าง ประมาณ
๓๐๐ เมตร จะข้ามลำห้วยซึ่งน้ำจะแห้งในฤดูแล้ง จากลำห้วยจะมีทางเดินไปบนลานหินสูงขึ้นไปตามลำดับ
อีกประมาณ ๒๐๐ เมตร ก็จะถึงถ้ำเสรีไทยซึ่งปากถ้ำมีขนาดไม่ใหญ่นัก ถ้ำแห่งนี้เมื่อครั้งสงครามมหาเอเซียบูรพา
พวกเสรีไทยได้ใช้เป็นแหล่งสะสมอาวุธ เพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ยังมีร่องรอยการขุดแต่งเพื่อใช้เป็นที่หลบภัย
ผาเสวย
อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ทางซ้ายของเส้นทางหลวง หมายเลข ๒๑๓ เมื่อมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดสกลนคร
เป็นหน้าผาที่หันออกไปทางด้านทิศตะวันตก อยู่บริเวณใต้สุดของอุทยาน ฯ เป็นจุดชมวิวธรรมชาติที่สวยงาม
ณ ผาแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกร
จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า
ผาเสวย
จุดดูนกแก้วมดแดง
เป็นจุดที่อยู่เหนือผาเสวยขึ้นมาทางที่ทำการอุทยาน ฯ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข
๒๑๓ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร อยู่เข้าไปทางด้านซ้ายของทางหลวง
เป็นจุดที่มีนกอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น นกขุนแผน นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกกระเบื้องผา
ฯลฯ
น้ำตกคำหอม
อยู่ทางซ้ายของทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ที่มุ่งเข้าสู่สกลนคร อยู่เลยถ้ำเสรีไทยไปเล็กน้อย
และอยู่ใกล้พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นน้ำตกที่สวยงาม และมีชื่อเสียงของจังหวัดสกลนคร
และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของจังหวัดใกล้เคียง จะมีน้ำมากในฤดูฝน
สะพานหินธรรมชาติ
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ที่มุ่งเข้าสู่สกลนคร
ประมาณ ๕ กิโลเมตร มีทางลูกรังแยกไปทางซ้ายมืออีกประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร อยู่เลยถ้ำเสรีไทยไปทางเหนือ
มีลักษณะเป็นสะพานหินที่เชื่อมต่อ ระหว่างหินสองกลุ่ม มีความกว้างประมาณ ๑.๕
เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร ข้างใต้สะพานเป็นเวิ้งถ้ำกว้างขวาง ใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้
เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปลกตาอย่างหนึ่ง
น้ำตกปรีชาสุขสันต์
ตั้งอยู่ทางด้านเหนือสุดของเขตอุทยาน ฯ ทางเข้าอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๒
จากสกลนครไปอุดรธานี เป็นน้ำตกที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นลานหินที่ลาดเอียงประมาณ
๓๐ - ๔๐ องศา ยาวประมาณ ๑๒ เมตร มีน้ำไหลผ่านแผ่นหินนี้ตลอดทั้งแผ่นเสมอกัน
เหมือนกระดานลื่นธรรมชาติ
พระธาตุภูเพ็ก
อยู่ทางด้านเหนือสุดของเขตอุทยาน ฯ ระดับเดียวกันกับน้ำตกปรีชาสุขสันต์ ทางเข้าอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข
๒๒ จากสกลนครไปอุดรธานี เป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยขอมมีอำนาจ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน
ที่ระดับความสูงประมาณ ๕๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล สร้างด้วยศิลาแลงในลักษณะเทวาลัย
ภายในมีพระพุทธรูปโบราณที่เพิ่งขุดค้นพบ
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ก่อนเข้าสู่ตัวจังหวัดสกลนคร เป็นเส้นทางที่พาดผ่านแนวอุทยานแห่งชาติภูพาน
ทางด้านทิศตะวันออกเกือบตลอดแนว นอกจากจุดที่น่าสนใจในเขตอุทยาน ฯ ดังกล่าวแล้ว
ยังผ่านพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งอยู่ติดกับอุทยาน
ฯ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ขึ้นไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข
๒๑๓ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
แยกซ้ายออกไปจากเส้นทางเล็กน้อย ผ่านประตูพระตำหนักชั้นนอก เมื่อไปถึงประตูพระตำหนักชั้นในจะมีกองรักษาการณ์อยู่
ผู้เข้าไปชมพระตำหนักจะต้องแลกบัตรประจำตัวเพื่อรับบัตรผ่านเข้าไปชมภายในบริเวณพระตำหนัก
ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. เป็นต้นไป ภายในบริเวณพระตำหนักมีไม้ใหญ่
และไม้ดอกเป็นจำนวนมากที่ให้ร่มเงา และความงามให้ชมได้ทั่วบริเวณ ผู้ที่นำรถไปจะมีลานจอดรถอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้อย่างพอเพียง
สู่ตัวเมืองสกลนคร
เลยพระตำหนักภูพานไปตามเส้นทางหลวงสายเดิม สู่สกลนครไม่มากนัก จะพบหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีขนาดใหญ่กว่าเสาหลักกิโลเมตรธรรมดา ประมาณ ๓ เท่า ตรงบริเวณนั้นถนนจะเลี้ยววนเป็นโค้งไปมาเป็นรูปตัว
S และมีลานจอดรถให้ชมบริเวณนั้น ซึ่งมีแปลงไม้ดอกปลูกไว้งดงาม
พระธาตุเชิงชุม เมื่อถึงตัวจังหวัดสกลนคร
สิ่งแรกที่ควรกระทำคือ ไปนมัสการพระธาตุเชิงชุม
ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดเชิงชุมวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้หนองหาร ในตัวเมืองสกลนคร
มีประวัติว่า พระเจ้าภิงคาระได้สร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทที่ภูเข้าน้ำลอดเชิงชุม
อันเป็นที่ชุมนุมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ในภัทรกัป คือ พระพุทธเจ้านามพระกกุสันธะ
พระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมน พระพุทธเจ้าพระนามกัสสป และพระโคตมนีพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าพระธาตุเชิงชุมที่
๑ องค์พระธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยมสูง ๒๔ เมตรเศษ
ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน
ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง
ส่วนที่เป็นอยู่ปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ครอบองค์เดิมไว้ ไม่ปรากฏว่าสร้างสมัยใด
ประตูด้านทิศตะวันออกเชื่อมติดกับพระวิหาร ภายในพระวิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
พระธาตุนารายณ์เจงเวง
ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ
๖ กิโลเมตร เป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยเดียวกันกับพระธาตุเชิงชุม แต่ศิลปะการก่อสร้างผิดไปคนละแบบ
องค์พระธาตุสร้างด้วยศิลาแลงเป็นปรางค์แบบขอม ส่วนที่เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงก้อนขนาดใหญ่
องค์เจดีย์มีรูปทรงสี่เหลี่ยม มีประตูและซุ้มประตูด้านละประตู ภายใต้ซุ้มข้างบนสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
ประดับด้วยกนกด้านขด มุมทั้งสี่ด้านขององค์พระธาตุ เป็นรูปนาคห้าเศียร รายละเอียดดูได้จากเรื่องพระธาตุในกลุ่มศาสนา
หนองหาน
การไปชมหนองหานที่ใกล้ที่สุดก็คือจุดที่อยู่ห่างจากพระธาตุเชิงชุมไม่มาก หนองหานเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่
มีน้ำตลอดปีมีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ ๑๕๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ รองลงจากบึงบรเพ็ด ในภาคกลาง และกว๊านพะเยา
ในภาคเหนือ
จากตัวเมืองสกลนครใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๓
มุ่งไปสู่อำเภอธาตุพนม
จังหวัดนครพนม ระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร แวะไปนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญที่สุดของภาคอีสาน
|