ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > เที่ยวไปชมไป

เที่ยวไปชมไป มุ่งสู่อิสาน ขึ้นเหนือ



| หน้าแรก | | ย้อนกลับ |


ชมเวียงกุมกามนครโบราณใต้พิภพ


            รุ่งเช้า เตรียมไปชมเวียงกุมกามกันอีกครั้ง ตอนนี้ไม่เสียเวลาอีกแล้ว ออกจากที่พักก่อนเวลาที่พิพิธภัณฑ์ และศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามเปิดทำการเล็กน้อย ใช้เวลาเพียงประมาณ ๑๕ นาที ก็เดินทางถึงเพราะการจราจรตอนเช้าในวันหยุดของเชียงใหม่ยังไม่คับคั่ง เมื่อไปถึงพบว่ามีผู้มาถึงก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก รถยนต์จอดเต็มลานจอดรถ เหลือที่ให้รถของเขาเป็นคันสุดท้าย เข้าไปทบทวนข้อมูลในศูนย์ข้อมูลอีกครั้งแล้ว การเดินทางไปชมออกเป็นสองพวก ผู้สูงอายุสองคนตกลงใช้ยานพาหนะรถยนต์ ส่วนคนหนุ่มไฟแรงอีกสองคนพอใจที่จะใช้จักรยานที่ทางศูนย์ข้อมูลมีไว้ให้เช่าเที่ยวละ ๒๐ บาท การติดต่อสื่อสารระหว่างกันใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีอยู่ประจำตัวครบทุกคน ใช้ตรวจสอบผลการเข้าชมของทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้ตกหลุ่น หาโบราณสถานได้ไม่ครบถ้วน
            การเดินทางไปชมเวียงกุมกาม เริ่มจากศูนย์ข้อมูล ฯ เมื่อออกถนนใหญ่แล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็จะมีถนนเข้าสู่เวียงกุมกาม เมื่อไปถึงแยกแรกจะมีเครื่องหมายลูกศรชี้ทางไปเวียงกุมกาม วิ่งรถไปตามทิศทางของลูกศรไปเป็นระยะพอสมควร ก็มาถึงวัดช้างค้ำ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า วัดกานโถม เป็นวัดเก่าแก่ที่สุด ที่พญาเม็งรายเมื่อมาประทับที่เวียงกุมกามได้โปรดให้สร้างวัด กานโถมขึ้น โดยสร้างวัดเดิมซึ่งคงชำรุดทรุดโทรมแล้ว ชุมชนบริเวณวัดกานโถม จึงมีผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่องมาตลอด
            เมื่อเรามาชมเวียงกุมกามโดยมาเริ่มต้นที่วัดช้างค้ำ (กานโถม) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใจกลางเวียงกุมกาม แล้วก่อนที่จะไปชมรายละเอียด ณ โบราณสถานต่าง ๆ อันเป็นมรดกทางพระพุทธศาสนา เราก็ควรทราบเรื่องของเวียงกุมกามโดยสังเขปก่อน
            เวียงกุมกาม เป็นเมืองที่พญามังรายกษัตริย์แห่งนครโยนก ได้สถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๓๗ ก่อนที่พญามังรายจะไปสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ และหลังจากที่พญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชย ได้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ แต่เนื่องจากเวียงกุมกามอยู่ริมแม่น้ำปิง และประสพปัญหาน้ำท่วมทุกปี ดังนั้น เมื่อเป็นเมืองหลวงอยู่ไม่นาน พญามังรายจึงโปรดให้สร้าง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งมีชัยภูมิดีกว่า เป็นเมืองหลวงใหม่ของลานนา เวียงกุมกามจึงกลายเป็นเมืองบริวารได้ใกล้ชิดกับเมืองเชียงใหม่จนสิ้นราชวงศ์มังราย
            เวียงกุมกามได้ล่มสลายลงเนื่องจากถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ในระหว่างที่อยู่ในอำนาจของพม่า (พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๗) ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมอยู่ใต้ตะกอนดินที่กระแสน้ำปิงพัดพามา ประกอบกับน้ำท่วมในครั้งนั้นแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนร่องน้ำไม่ไหลผ่านเวียงกุมกาม เวียงกุมกามจึงถูกทิ้งร้างให้จมอยู่ใต้ดินตะกอนดินมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และชื่อของเวียงกุมกามก็ได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ จนเชื่อกันว่าเวียงกุมกามเป็นเพียงเมืองในตำนาน
            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ หน่วยศิลปากรที่ ๔ ได้ขุดแต่งวิหารกานโถม ที่วัดช้างค้ำ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม ปรากฏเป็นจริงขึ้น และจากการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ทำให้เชื่อแน่ได้ว่าโบราณสถานในเขต หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๕ กิโลเมตรนั้นคือ เวียงกุมกาม หรือเวียงเก่า ก่อนจะมีเวียงเชียงใหม่
            จากการสำรวจเวียงกุมกามพบว่า เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวตาลำแม่น้ำปิง (ปิงห่าง หรือปิงเดิม) โดยตัวเวียงแนวทะแยงทิศตะวันออกเฉียงใต้กับทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กำแพงเวียงด้านเหนือเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำปิง กำแพงเวียงเป็นคันดินปัจจุบันถูกทำลายไปเกือบหมด กำแพงเวียงมีสองชั้นโดยมีคูเมืองอยู่กลาง ขนาดของกำแพงกว้างประมาณชั้นละ ๑๐ เมตร คูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร เป็นคูชั้นเดียว โดยชักน้ำในแม่น้ำปิงเข้ามาเก็บไว้ในคูเมือง


            โบราณสถานในเวียงกุมกาม  เมื่อได้ทราบประวัติความเป็นมาโดยสังเขปของเวียงกุมกามแล้ว ก็จะได้ไปชมโบราณสถานของเวียงกุมกาม ซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เนื่องจากสิ่งก่อสร้างอื่น แม้แต่วังของกษัตริย์ก็สร้างด้วยไม้ย่อมผุพัง หรือถูกเผาไหม้ไปไม่เหลือซาก คงมีแต่ศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน ยังคงสภาพปรากฏต่อมาจนถึงปัจจุบัน
            จากการดำเนินการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานของหน่วยศิลปากรที่ ๔ หรือสำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๖ เชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๔๕ ได้พบโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายร้อยปี ได้ขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน จำนวน ๑๑ แห่ง ได้แก่วัดกานโถม วัดกู่คำ วัดหัวหนอง วัดกุมกาม วัดธาตุขาว วัดปู่เบี้ย วัดอีด่าง วัดน้อย วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดไม้ซ้ง และวัดกู่ขาว


            วัดกานโถม  เชื่อกันว่าเป็นวัดเดียวกันกับวัดช้างค้ำในปัจจุบันซึ่งได้รับการบูรณะ อยู่ในสภาพดีเยี่ยม มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ ตามตำนาน และตามพงศาวดารท้องถิ่น วัดนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยที่พญาเม็งราย ประทับและปกครองอยู่ที่เวียงกุมกาม โดยโปรดให้ช่างชื่อกานโถมปรุงเครื่องไม้จากเมืองเชียงแสนนำมาสร้างวิหาร ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ในเวียงกุมกามที่วิหารส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
            วัดกานโถม  เป็นวัดสำคัญของเวียงกุมกามควบคู่กับวัดกู่คำ พญาเม็งรายยังโปรดหให้กานโถมสร้างพระพุทธรูปห้าองค์ เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ นอกจากนั้นพญาเม็งรายยังทรงสร้างเจดีย์กานโถม โดยได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากศรีลังกา เจดีย์กานโถมได้รับการบูรณะซ่อมแซมตลอดมา ครั้งสุดท้ายอยู่ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผลการซ่อมแซมมาตามลำดับ ให้ให้เจดีย์กลายเป็นศิลปะพม่าไป คือเป็นเจดีย์รูปช้างค้ำ เลยกลายเป็นที่มาของชื่อวัดช้างค้ำ จากศิลาจารึกวัดกานโถม เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒ กล่าวถึงชาวลัวะมีหน้าที่เป็นข้าวัดกานโถม


            วัดกู่คำ หรือวัดเจดีย์เหลี่ยม  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงกุมกาม พญาเม็งรายโปรดให้ก่อสร้าง และสถาปนาขึ้น โบราณสถานสำคัญของวัดคือ องค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑป ลดห้าชั้น จัดเป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกของอาณาจักรล้านนา การก่อสร้างแต่เดิมใช้ศิลาแลง การก่อด้วยอิฐซึ่งอยู่ด้านนอก เป็นการบูรณะภายหลังซึ่งเป็นการบูรณะภายหลัง รูปลักษณะของพระเจดีย์กู่คำเป็นเหลี่ยม มีพระพุทธรูปด้านละ ๑๕ องค์ แต่ละด้านจะมีซุ้มพระชั้นละ สามองค์ มีห้าชั้น รวมทั้งหมดบนองค์เจดีย์จึงมีพระพุทธรูป ๖๐ องค์
            เมื่อพิจารณาถึงรูปทรงของกู่คำ จะเห็นได้ว่าเลียนแบบเจดีย์กู่กุด ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูนด้วยรูปทรงเป็นเหลี่ยม มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งองค์เจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างตามแบบศิลปะทวาราวดี ผสมกับลพบุรี เจดีย์กู่คำได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงโยนการวิจิตร คหบดีชาวพม่าเป็นผู้ซ่อม การซ่อมได้เพิ่มซุ้มพระที่ฐานทั้งสี่ด้าน ด้านละหนึ่งองค์ จากการซ่อมครั้งนี้ทำให้พระพุทธรูป และซุ้มพระ ลวดลายพรรณพฤกษาของวัดกลายเป็นศิลปะพม่า แต่รูปทรงยังรักษาให้เป็นสี่เหลี่ยมตามเดิม


            วัดหัวหนอง  อยู่ทางด้านทิศเหนือค่อนไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย ใกล้กับวัดช้างค้ำ ตัวโบราณสถาน อยู่ลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ประกอบด้วยซุ้มประตูอุโบสถ มณฑป และวิหารใหญ่ประกอบองค์เจดีย์ พบหลักฐานว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมซ้อนทับของเดิมอย่างน้อยสองครั้ง สมัยแรกสิ่งก่อสร้างอยู่ลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ ๔๐ เซนติเมตร มีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอบในท่าคู้ขาหน้า ปล่อยงวงจรดพื้นโผล่ออกมาครึ่งตัว จากฐานหน้ากระดานชั้นที่สามมีช้างทั้งหมดยี่สิบตัวอยู่รอบฐานเจดีย์ ส่วนการก่อสร้างสมัยหลังได้ก่ออิฐถือปูนปิดทับตัวช้างทั้งหมด
            จากการขุดค้นพบเศษศิลาจารึก ข้อความในจารึกเป็นภาษาไทยภาคกลางโบราณ นอกจากนั้นยังพบเจดีย์ข้างวิหาร มีองค์ระฆังเป็นแบบกลีบมะเฟือง ซึ่งเป็นศิลปะภาคกลาง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเวียงกุมกามกับดินแดนภาคกลางของไทย


            วัดกุมกาม  อยู่ทางด้านเหนือของเวียงกุมกาม ห่างจากวัดช้างค้ำไปเล็กน้อย โบราณสถานของวัดมีวิหาร และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จากการขุดแต่งพบว่ามีการก่อสร้างสองสมัย สมัยแรกเป็นสมัยเดียวกับเจดีย์แปดเหลี่ยม วิหารสมัยที่สองสร้างทับวิหารสมัยแรก วิหารสมัยที่สองสร้างในสมัยพญาแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) ตามที่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ ส่วนการสร้างสมัยแรกยังไม่สามารถกำหนดอายุได้


            วัดธาตุขาว  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศเหนือของเวียงกุมกาม และอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างขึ้นเมื่อใด ที่เรียกว่าวัดธาตุขาวเนื่องจากแต่เดิมในขณะที่เจดีย์ยังอยู่ในสภาพดีผิวเจดีย์ฉาบปูนสีขาว
            โบราณสถานของวัดมีวิหาร อุโบสถ เจดีย์ และมณฑป จากการขุดแต่งบูรณะพบว่ามีการก่อสร้างอยู่สองระยะ ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป


            วัดปู่เปี้ย  อยู่ทางทิศใต้วัดธาตุขาว ห่างกันเล็กน้อย เป็นวัดที่งดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม ชื่อปู่เปี้ยเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน ไม่ทราบชื่อเดิมว่าชื่ออะไร ตัวโบราณสถานอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน ประมาณสองเมตร มีวิหาร อุโบสถ เจดีย์ ใกล้กับอุโบสถมีศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา วิหารมีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมกันมาหลายสมัย องค์เจดีย์มีเรือนธาตุสูงรับกับองค์ระฆังขนาดเล็ก มีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์สวยงามมาก


            วัดอีค่าง  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดปู่เปี้ยไปเล็กน้อย ไม่มีตำนานกล่าวถึงจึงไม่ทราบว่าเดิมชื่อวัดอะไร สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณวัดล้วนมีขนาดใหญ่ วิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน จากการขุดแต่งพบว่าวิหารปัจจุบันมีร่องรอยสร้างทับวิหารเดิม ส่วนเจดีย์เป็นแบบองค์ระฆังกลม เมื่อพิจารณาลักษณะของตัวอักษรบนแผ่นอิฐ ซึ่งพบจากการขุดแต่งนักภาษาโบราณวิเคราะห์ว่า เป็นตัวอักษรที่เขียนขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑


            วัดธาตุน้อย  ตั้งอยู่ใกล้กับวัดกานโถมไปทางด้านทิศตะวันตก โบราณสถานมี วิหาร และเจดีย์ วิหารหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวิหารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร ด้านหลังวิหารเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งเหลืออยู่เพียงส่วนหน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร เจดีย์วัดธาตุน้อยมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างด้านละ ประมาณ ๑๓.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๑.๖๐ เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๖.๒๐ เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก สภาพเจดีย์พังทลายลงไปมาก สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่มีเรือนธาตุประดับซุ้มพระ ประมาณว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐


            วัดพระเจ้าองค์ดำ  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดธาตุขาวห่างออกไปเล็กน้อย จากการขุดแต่งพบซากโบราณสถานเจ็ดแห่ง ส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มโขงประตูและแนวกำแพงซึ่งเหลืออยู่แห่งเดียว อยู่ทางด้านทิศเหนือติดกับลำน้ำปิงห่าง  ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์ วิหารเหลือเฉพาะฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๖ เมตร เจดีย์อยู่หลังวิหาร มีฐานแยกจากกัน เจดีย์คงเหลือแต่ฐานเรือนธาตุพังทลายลงมาหมดแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ปรากฏชื่อวัดนี้ในเอกสารประวัติศาสตร์
            โบราณวัตถุที่พบเป็นพระพุทธรูปและชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริดที่ชำรุดเป็นจำนวนมาก เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และมีพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีอยู่สองชิ้น นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะดินเผาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง พบเครื่องถ้วยของจีนสมัยราชวงศ์หมิง พบท่อน้ำดินเผาเป็นจำนวนมาก มีร่องรอยการใช้ปูนยาเชื่อมที่ปลายท่อ
            วัดพญามังราย  อยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดพระเจ้าองค์ดำ ก่อนการขุดแต่งพื้นที่บริเวณวัดทั้งสองดังกล่าวเป็นเนินดินอยู่สองแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญาเม็งราย และเนินพระเจ้าองค์ดำ เมื่อมีการขุดแต่งแล้วจึงแยกออกเป็นสองวัด


            วัดไม้ซ้ง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงกุมกาม ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดไม้ซ้ง ไม่ทราบชื่อเดิมว่าชื่อวัดอะไร เนื่องจากไม่มีเอกสารใดกล่าวถึง โบราณสถานได้แก่วิหาร และเจดีย์ วิหารมีขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เจดีย์ตั้งอยู่ท้ายวิหารคงเหลือแต่ฐาน มีฐานซุ้มโขงพร้อมกับกำแพง


            วัดกู่ขาว  ตั้งอยู่ทางมุมด้านตะวันตกของเวียงกุมกามริมถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ในเขตตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ พบเจดีย์มีความสูงประมาณ ๕ เมตร รอบ ๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดิน วัดกู่ขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ลงสู่แม่น้ำปิงห่าง โบราณสถานมีสามแห่งคือ กำแพงแก้ว และซุ้มประตูอยู่หลังเจดีย์เป็นแนวกำแพงก่ออิฐกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ซุ้มประตูกว้าง ๑.๕๐ เมตร เจดีย์ประธานเป็นศิลปะล้านนา ส่วนฐานล่างรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสลดหลั่นสามชั้น ชั้นล่างสุดกว้างด้านละ ๘.๖๐ เมตร ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะสูงก่อทึบทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๒ ส่วนวิหารมีร่องรอยการสร้างสองครั้ง


            วัดกู่ป่าต้อม  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเวียงกุมกาม ชื่อวัดนี้ตั้งขึ้นตามชื่อเจ้าของที่ดิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อเดิมในประวัติศาสตร์ โบราณสถานที่พบมีขนาดใหญ่ ได้แก่ วิหาร มีฐานใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหารทางด้านทิศตะวันออก มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐาน มีกำแพงแก้วก่อล้อมกำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง สันนิษฐานว่าวัดนี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ โบราณสถานแห่งนี้ยังอยู่ใต้ดินลึกประมาณสองเมตร ในลักษณะถูกทรายฝังกลบ
            วัดโบสถ์  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเวียงกุมกาม โบราณสถานที่พบได้แก่วิหาร ขนาดกว้างประมาณ ๑๑ เมตร ยาวประมาณ ๒๔ เมตร เหลืออยู่เพียงฐาน มีร่องรอยการก่อสร้างสองสมัย เจดีย์ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างด้านละประมาณ ๘ เมตร เหลือเพียงส่วนฐาน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑


            วัดกู่อ้ายหลาน  เป็นวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเวียงกุมกาม ใกล้กับวัดกุมกาม พบวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเหลืออยู่เพียงฐาน มีแท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
            วัดกู่อ้ายสี  เป็นวัดขนาดเล็ก เดิมชาวบ้านเรียกกู่สันนา เพราะตั้งอยู่กลางทุ่งนา ใกล้กับวัดกานโถม ห่างไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ ๒๐๐ เมตร โบราณสถานที่พบได้แก่ วิหาร และเจดีย์ ซึ่งเหลืออยู่เพียงฐาน
            วัดกู่มะเกลือ  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเวียงกุมกาม และทางด้านตะวันออกของวัดกู่อ้ายสี ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร ชื่อวัดเรียกตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนโบราณสถาน พบเจดีย์และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา
            วัดกู่ลิดไม้  ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเวียงกุมกาม โบราณสถานที่พบได้แก่ วิหาร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก เจดีย์ตั้งอยู่ทางหลังวิหารเหลืออยู่เพียงฐาน และเจดีย์รูปแปดเหลี่ยมคล้ายกับที่พบที่วัดปู่เปี้ย มีซุ้มประตูโขง และกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            วัดกู่จ็อกป็อก  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงกุมกาม โบราณสถานที่พบได้แก่วิหาร และเจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑
            นอกจากวัดดังกล่าวแล้ว ยังมีวัดศรีบุญเรือง และวัดเสาหิน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเวียงกุมกามเป็นวัดที่อยู่ในสภาพดี และมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เช่นเดียวกับวัดช้างค้ำ และวัดเจดีย์เหลี่ยม
            การเดินทางไปชมวัดต่าง ๆ ไม่ค่อยเป็นระบบ แม้ว่าจะพยายามขับรถเวียนซ้ายหรือขับรถเวียนขวาในตัวบริเวณเวียงกุมกาม เนื่องจากมีถนนสายเล็กสายน้อยตัดผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก และมีบ้านผู้คนอยู่เต็มพื้นที่ ดังนั้นเมื่อขับพบวัดไหนก็แวะวัดนั้น บางวัดก็พบโดยบังเอิญ บางวัดก็ไปตามป้ายบอกทาง ดังนั้นจึงมีการผ่านวัดใหญ่ ๆ ที่อยู่บนเส้นทางหลัก เช่นวัดกานโถม (ช้างค้ำ) วัดศรีบุญเรือง และวัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) หลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งทะลุออกมายังถนนใหญ่สายเชียงใหม่หางดง (ถนนวงแหวนรอบกลาง) ที่ถนนภายในเวียงกุมกามตัดมาบรรจบบริเวณใกล้ ๆ ศูนย์ข้อมูล ฯ ก็ต้องขับกลับเข้าไปใหม่ ทำให้การชมเวียงกุมกามแบบกระวีกระวาด ต้องใช้เวลาไปประมาณครึ่งวัน และทำเวลาได้ใกล้เคียงกับคณะคนหนุ่มที่ท่องเวียงกุมกามด้วยรถจักรยาน แต่เราก็ได้ตรวจสอบการเดินทางระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยโทรศัพท์มือถือ มีการพบกันและแยกกันหลายครั้งในเวียงกุมกาม และไปตั้งหลักกินข้าวหลามที่ซื้อเตรียมมาที่วัดพญาเม็งราย


เตรียมตัวเดินทางกลับ

            เมื่อมาพร้อมกันที่ศูนย์ข้อมูล ฯ ด้วยเวลาไล่เรี่ยกันแล้ว ก็เดินหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งตั้งเป็นร้านจำหน่ายอยู่ในบริเวณศูนย์ข้อมูล ฯ หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด ล้วนแต่น่าซื้อหามาไว้เป็๋นที่ระลึก ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง จึงมีผู้ไปอุดหนุนกันหนาตา
            ออกจากเวียงกุมกามกลับเข้าเวียงเชียงใหม่ ตามเส้นทางถนนวงแหวนรอบกลาง เมื่อไปถึงถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ที่ตัดผ่านก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายนี้ เพราะถ้าตรงไปก็จะลอดถนนสายนี้ก็จะไปตัดกับถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มาเมื่อเช้า เส้นทางถนนวงแหวนรอบกลางมีชื่อเป็นทางการว่า ถนนโยธาธิการ ซึ่งจะตัดเป็นวงแหวนขนานกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ไปจนจรดถนนโชตนา ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนานี้เชื่อมต่อกับถนนช้างเผือก ที่ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปอำเภอแม่ริม และต่อไปอำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย อันเป็นทางหลวงหมายเลข ๑๐๑
            ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ ก็ต้องแวะตลาดวโรรสเจ้าเก่า เพื่อซื้ออาหารพื้นเมืองจำพวก น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู และแหนม เป็นต้น ทำให้ต้องเพิ่มสัมภาระในการหิ้วกลับมากกว่าตอนขามาอีกหลายชิ้น ลืมเล่าไปว่าเมื่อวันก่อนตอนกลับจากไปชมน้ำตกแม่สา ตรงปากทางที่ถนนสายสะเมิงแม่ริมมาบรรจบถนนสายเชียงใหม่ - แม่อาย มีร้านขายผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรตั้งเป็นแผงลอยอยู่หลายแผง มีทั้งผลไม้คือ สตรอเบอรี่ที่ปลูกที่เชียงใหม่และน้ำสตรอเบอรี่บรรจุขวดสวยงาม นอกจากนั้นยังมีไวน์ที่ผลิตจากผลไม้ชนิดต่าง ๆ ตั้งขายให้เลือกทดลองชิมดูรสชาดก่อนซื้อนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรที่ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง
            การเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ มีทางเลือกใช้รถรับจ้างอยู่สองชนิดเท่านั้นคือ รถสามล้อเครื่อง และรถสี่ล้อแดง ไม่มีรถแท็กซี่ และรถเมล์โดยสาร ทั้ง ๆ ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่มีผู้คนอยู่มาก จังหวัดใหญ่อื่น ๆ ที่เคยผ่านไปเช่นนครราชสีมา อุบลราชธานี ลพบุรี ฯลฯ ล้วนมีรถโดยสารประจำทางทั้งนั้น เคยถามเรื่องนี้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนก็ได้คำตอบที่ไม่กระจ่างนัก สรุปแล้วจนป่านนี้ก็ยังไม่มีอนาคตว่าจะมีรถแท็กซี่ และรถประจำทางที่เชียงใหม่เมื่อใด
            ขบวนรถไฟออกจากสถานีเชียงใหม่ตรงตามเวลาคือ ๑๘.๐๐ น.และเช่นเดียวกับขาไป หลังจากที่สั่งอาหารเย็นมากินกันตามอัธยาศัยแล้ว พอประมาณสองทุ่มก็เริ่มกางเตียงกัน และเมื่อกางเตียงแล้วก็ย่อมไม่มีที่นั่ง ถ้าคู่ใดยังไม่กางเตียงก็นั่งกันต่อไปจนอยากนอนเมื่อใดก็ไปบอกเจ้าหน้าที่ประจำตู้ให้มากางเตียงให้ ส่วนคู่ใดที่กางเตียงแล้วถ้าคนใดคนหนึ่งยังไม่ง่วงแต่จำเป็นต้องนอนก็เอาหนังสือมานอนอ่านไปจนกว่าจะหลับไปเอง
            ขบวนรถไฟมาถึงสถานีดอนเมืองเมื่อฟ้ายังไม่สางคือประมาณ ๐๕.๓๐ น. เริ่มมีผู้โดยสารทะยอยลง และเริ่มมีการเก็บเตียง และเก็บได้หมดก่อนถึงสถานีบางซื่อ มีผู้โดยสารลงมากขึ้น รถมาจอดที่สถานีสามเสนมีผู้โดยสารลงมากเช่นกัน เพราะมีความสะดวกในการต่อรถโดยไม่ต้องเดินไกล
            ขบวนรถไฟมาถึงสถานีปลายทางที่หัวลำโพงเมื่อเวลา ๐๖.๒๐ น.ตรงตามเวลา นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ขบวนรถไฟด่วน ซึ่งเดินทางมาเป็นระยะไกล ถึงสถานีปลายทางได้ตรงเวลา เพราะปกติจะเกินเวลาไปพอสมควร ถึงประมาณหนึ่งชั่วโมงก็เคยพบ จึงขอเชิญชวนผู้ที่เบื่อหน่ายรถไฟลองหันมาใช้บริการรถไฟในยุคปัจจุบันดู คงไม่ผิดหวัง
            จากสถานีหัวลำโพงเดินมาขึ้นรถแท็กซี่ทางด้านหน้าได้สะดวก สภาพการจราจรตอนเช้าวันหยุดเบาบางจึงเดินทางถึงที่พักได้อย่างรวดเร็ว และสดวกสบาย เป็นอันจบการขึ้นเหนือ (เชียงใหม่) แต่เพียงนี้

...................................



| หน้าแรก | | ย้อนกลับ | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์