มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
พระมงคลมิ่งเมือง
เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตั้งอยู่ที่พุทธอุทยาน ในเขตอำเภอเมือง
ฯ มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลของศิลปะอินเดียเหนือ แคว้นปาละ ซึ่งได้แผ่อิทธิพลด้านศิลปะมายังภาคอีสานของไทย
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๖ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง
๑๑ เมตร ส่วนสูงจากฐานถึงยอดเปลว ๒๐ เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ผิวนอกฉาบปูน ปูประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง สร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดใกล้เคียง
ทุกปีในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม (วันมาฆบูชา) ชาวบ้านจะจัดงานนมัสการ
พระมงคลมิ่งเมือง เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัด
พระเหลาเทพนิมิต
เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดพระเหลาเทพนิมิต ในเขตอำเภอพนา สร้างด้วยอิฐถือปูน
สูง ๒.๗๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๒.๘๕ เมตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง
และมีอภินิหารเป็นที่เล่าลือกัน ในบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไปมานานกว่า
๒๐๐ ปี
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ทั้งโบสถ์และองค์พระประธาน เป็นสถาปัตยกรรมในศิลปะลาว
มีอายุอยู่ประมาณปี พ.ศ.๒๒๖๓
ในวันเพ็ญเดือนสาม ของทุกปี ถือว่าเป็นเทศกาลปิดทององค์พระเหลาเทพนิมิต จะมีพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ
หลั่งไหลกันมานมัสการ และบำเพ็ญบุญ โดยนำปราสาทผึ้งมาถวาย นำดอกไม้ธูปเทียนมาเคารพสักการะ
เป็นประเพณีสืบต่อกันมา
พระเจ้าใหญ่ศรีเจริญ
ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ วัดพระศรีเจริญ ที่บ้านหัวตะพาน ตำบลพระศรีเจริญ อำเภอหัวตะพาน
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑.๓๐ เมตร
สูงเฉพาะองค์พระ ๒.๐๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามประวัติกล่าวว่า
สร้างมาแล้ว ๗๕๐ ปี
ในวันขึ้นแปดค่ำ และสิบห้าค่ำ เดือนสี่ ของทุกปี ชาวบ้านจะจัดงานนมัสการปิดทององค์พระ
เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
กลุ่มใบเสมาวัดโพธิศิลา
อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ ปักอยู่บริเวณเนินศาสนสถาน
บนใบเสมาสลักเป็นรูปหม้อน้ำ หรือบูรณฆฏะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม
พบมากในศิลปะอินเดียแบบอมราวดี
นับเป็นกลุ่มใบเสมาหินทรายที่มีความเก่าแก่ที่สุด ในภาคอีสาน
กลุ่มใบเสมา วัดป่าเรไร
อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ นับเป็นกลุ่มใบเสมาที่มีความหนาแน่น
แห่งหนึ่งในภาคอีสาน เป็นใบเสมาที่ทำด้วยศิลาแลง ไม่มีการสลักลวดลายมากนัก
เพียงแต่ตกแต่งรูปร่างให้เป็นใบเสมา และมีการสลักฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีสันนูนคล้ายยอดสถูปตรงกลาง
กลุ่มใบเสมา หลังโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง
อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ กลุ่มใบเสมาปักล้อมฐานหินทรายที่ตั้งรูปเคารพ
และพระพุทธรูปปางสมาธิ ทวารวดีตอนปลายองค์หนึ่ง ใบเสมาไม่มีลวดลาย แต่ตรงกลางเป็นแกนสันที่เรียวไปถึงยอด
ศาสนสถานแห่งนี้ น่าจะมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ และนับเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่
ที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง
ใบเสมา ที่บ้านโพนเมือง
อยู่ในตำบลไม้กลอน อำเภอพนา เป็นใบเสมาหินทราย ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับใบเสมาหินทรายที่พบในภาคอีสาน
คือ เป็นหินทรายสีชมพู บางชิ้นมีร่องรอยการจำหลักลงรูปเจดีย์ จำลองเจดีย์องค์เล็ก
ๆ เป็นใบเสมาที่อยู่ในสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
ใบเสมา วัดดงเฒ่าเก่า
อยู่ที่บ้านหนองเรือ ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง ฯ เป็นการปักใบเสมาในพื้นที่กว้าง
มีการสลักลวดลายนูนต่ำ เป็นรูปดอกไม้ รูปหม้อน้ำ และตอนบนเป็นรูปวงกลมคล้ายธรรมจักร
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ และในบริเวณดังกล่าวยังพบพระพุทธรูปหินทราย
แบบทวารวดีตอนปลายด้วย
|