ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภูมิปัญญาชาวบ้าน
            ชัยภูมิ  เป็นเมืองที่มีประชากรจากภาคอื่น และชุมชนอื่น อพยพมาทำมาหากิน เนื่องจากการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสิ่งของ จากอีสานตอนเหนือเป็นทางผ่านสู่ภาคกลาง การสร้างหลักแหล่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษชาวชัยภูมิได้ใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองชัยภูมิ ในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก
            การทำมาหากิน  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเพาะปลูก และงานหัตถกรรม
                การเพาะปลูก  ทำกันตามที่ราบลุ่มแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำชี และตามที่ราบหุบเขาในตอนเหนือ และที่ราบทิศตะวันตกของจังหวัด

                    การทำนา ในอดีตอาศัยแรงงานสัตว์ได้แก่ ควาย ช่วยในการเตรียมดิน มีการทำนาดำ นาหว่าน เป็นส่วนใหญ่ ตอนบนของพื้นที่จังหวัดจะปลูกข้าวเหนียวเป็นส่วนมาก ส่วนพื้นที่ทางตอนล่างของจังหวัดตามลุ่มแม่น้ำชี จะปลูกข้าวเจ้าเป็นส่วนมาก
                    การทำนาในที่ลุ่ม การทำนาดำ เป็นการทำนาในที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การนำน้ำเข้านาใช้กระโซ่ และระหัดวิดน้ำ ขั้นตอนการทำนาดำ โดยสังเขปมีดังนี้
                        - การเตรียมดิน  มีการไถฮูด (ไถดะ) ในต้นฤดูทำนา แล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เพื่อทำลายวัชพืช เมื่อมีน้ำพอทำนาได้จึงไถโค่น (ไถแปร) แล้วคราดดินให้ละเอียด กลบวัชพืชโดยอาศัยแรงสัตว์ช่วย ส่วนมากใช้ควาย
                        - การตกกล้า  เป็นการหว่านเมล็ดข้าวที่นำไปแช่น้ำให้ชุ่มแล้ว ประมาณ ๒ - ๓ วัน จนออกรากงอก และเจริญเติบโตเป็นต้นกล้า เพื่อนำไปปักดำในแปลงนา ที่เตรียมดินไว้ การเตรียมดินตกกล้าใช้การไถฮูด ไถโค่นและคราดทำดินให้ละเอียด ทำหน้าดินให้เรียบ แล้วระบายน้ำออกให้เป็นโคลนเปียก  แล้วยกเป็นแปลง ความกว้างของแปลงพอที่จะหว่านเมล็ดข้าวได้ทั่วถึง แล้วนำเมล็ดข้าวที่แช่น้ำจนมีรากงอกไปหว่านในแปลงกล้า ใช้เมล็ดข้าวประมาณ ๕๐ กิโลกรัม ต่อแปลงกล้า ๑ ไร่ เมื่อต้นกล้างอกงามอายุประมาณ ๑ เดือน ก็สามารถถอนไปปักดำได้
                        - การปักดำ  เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ ๑ เดือน ชาวนาจะถอนจากแปลงกล้า มามัดรวมกันเป็นมัด ๆ ล้างดินที่รากออกให้หมด ตัดปลายใบทิ้งเพื่อลดการคายน้ำ แล้วนำไปปักดำในแปลงนาที่เตรียมดินเอาไว้ โดยวิธีหยิบเป็นกอ ๆ ละ ๓ - ๔ ต้น เริ่มมีปักกล้าจากต้นลมดำไปตามทิศทางของลมพัด เพื่อป้องกันต้นกล้าล้มไม่เป็นระเบียบ กอหนึ่ง ๆ ห่างกันประมาณ ๒๕ เซนติเมตร จึงจะทำให้ได้รวงโต ผลผลิตสูง
                        - การบำรุงรักษา  ต้องดูแลระดับน้ำให้หล่อเลี้ยงต้นข้าวได้พอเพียง ถ้าปล่อยให้น้ำท่วมยอดข้าว จะทำให้ต้นข้าวเน่าเปื่อย คอยดูแลกำจัดวัชพืชซึ่งจะตัดหรือถาง หรือเกี่ยวให้วัชพืชเสมอน้ำ หรืออยู่ใต้น้ำ  เป็นการควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช จะทำให้วัชพืชเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยของต้นข้าวต่อไป ส่วนการใส่ปุ๋ยนั้น ในสมัยก่อนใช้ปุ๋ยคอก เช่น ขี้วัว ขี้ควาย

                        - การเกี่ยวข้าว  เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโต ได้ประมาณ ๒ - ๓ เดือน ก็จะออกดอก (ออกรวง)  เมื่อดอกข้าวบานผสมเกษรเป็นรวงข้าว มีเมล็ดสมบูรณ์แล้วประมาณ ๓๐ - ๓๕ วัน เมล็ดข้าวจะเริ่มแก่มีสีทอง รวงกับได้ที่ ชาวนาจะเริ่มเกี่ยวข้าว โดยใช้เคียวเกี่ยว เมื่อเกี่ยวเต็มกำมือแล้ว จะวางไว้เป็นกำ ๆ เรียงบนซังข้าว ประมาณ ๕ - ๖ กำ ผึ่งแดดให้แห้งประมาณ ๒ - ๓ วัน จึงใช้ซังข้าว (ต้นฟางข้าว) หรือตอกมัดรวมเป็นฟ่อน (มัด) แล้วขนไปลานนวดข้าว โดยนำฟ่อนข้าวไปเรียงเป็นแถว ใช้หัวฟ่อนข้างชนกัน ให้หางฟ่อนส่วนที่เป็นรวงข้าวออกข้างนอก เรียงเป็นแถวใส่ใส้ตรงกลางจนแน่น เรียงแต่ละชั้นเหลื่อมกันขึ้นไปเล็กน้อย จนสุดท้ายเป็นจั่วเหมือนหลังคา เรียกว่า ลอมข้าว (กองข้าว)  ป้องกันข้างเปียกฝนได้ คือ เมื่อฝนตกน้ำฝนจะไหลตามรวงข้าว ออกมาข้างนอกเหมือนไหลตามร่องหลังคา ทำให้ฟ่อนข้าวข้างในไม่เปียกฝน ป้องกันเมล็ดข้าวเสียหาย แตกหน่อก่อนกำหนด
                        การขนฟอนข้าวสมัยก่อนมักใช้คานหลาวหาบ ไม้คานดังกล่าวทำจากลำไผ่ที่แก่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๕ - ๗ นิ้ว ยาวประมาณ ๔ เมตร เหลาลบข้อระหว่างปล้องให้เรียบร้อย เฉือนปลายทั้งสองประมาณหนึ่งในสามของความยาว ให้เป็นปลายแหลมเรียงมน เพื่อใช้เสียบตรงหัวฟ่อนใต้จุดที่ตอกมัดอยู่ การเฉือน จะต้องปาดอยู่คนละด้าน
                        ลานนวดข้าวสมัยก่อน จะมีการนำขี้ควายมาละลายน้ำให้ทั่วพื้นลาน จนพื้นเรียบทิ้งให้แห้ง เพื่อกันเม็ดดินปนในเมล็ดข้าว และป้องกันเมล็ดข้าวตกลงไปในรอยแตกของดิน
                        - การนวดข้าว  เดิมนวดข้าวแบบกำฟาด (ตีข้าว) โดยใช้แรงคือ ใช้ไม้ที่เหลากลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ - ๓ นิ้ว สองตัว ยาวตัวละประมาณ ๑ เมตร มีหนังหรือเชือกมัดไว้ที่ปลายไม้ เพื่อใช้รัดฟ่อนข้าว ฟาดลงบนพื้นลาน ให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง การนวดข้าวจะใช้เวลาและแรงงานมาก แต่ได้เมล็ดข้าวมากกว่าวิธีอื่น ๆ
                        ในอดีต ชาวนาจะมีประเพณีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยวิธีลงแรงกันที่เรียกว่า "ลงแขก" ซึ่งชาวนาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน จะลงแขกเวียนกันไป เป็นการประหยัดเวลาในการนวดข้าว
                        - การนวดฟางข้าว  เมื่อนวดฟางข้าวแล้ว จะเหลือฟ่อนฟางที่หัวฟ่อน จะยังมีรวงข้าวที่หักขาดติดอยู่ ชาวนาจะแก้ฟ่อนฟางให้กระจายออก กองรวบรวมกันเป็นกอง ๆ แล้วนำไปนวดหรือไม้ตะขอ ซึ่งทำจากแขนงไม้ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓ - ๔ เซนติเมตร สองอัน อันหนึ่งตัดแต่งให้แขนงเหลือไว้เป็นตะขอ สำหรับเกี่ยวฟางขึ้นกอง อีกอันหนึ่งจะเหลาให้สะอาด และตรง ใช้สำหรับตีฟาดบนรวงข้าว ที่อยู่ในกองฟางให้ร่วงออกมาจากรวง และยังทำให้ฟางนุ่ม ให้วัว ควายกินได้ง่ายขึ้น และหลังจากนั้น ชาวนาจะเก็บฟางไว้เป็นกอง มีไม้หลักกันเป็นแกนกลาง สำหรับให้ฟางยึด
                        กองฟางจะทำฐานใหญ่ ปลายเรียวขึ้นไปเหมือนทรงเจดีย์ เพื่อให้น้าฝนไหลลงตามฟางด้านนอก ไม่ให้ไหลเข้าไปข้างใน ซึ่งจะทำให้ฟางเน่าเสียง่าย เป็นการเก็บฟางไว้เป็นอาหารวัวควายในฤดูแล้ง
                        - การทำาความสะอาดเมล็ดข้าว  เมล็ดข้าวที่ได้จากการนวดข้าวด้วยแรงคน จะมีสิ่งเจือปนอยู่มาก เช่น เมล็ดลีบ ดิน กรวด ทราย และฟางข้าวที่ปนอยู่กับเมล็ดข้าว ชาวนามีวิธีทำความสะอาดอยู่สามวิธีคือ
                        กรณีที่มีลม จะใช้พลั่วชามหรือถังตักเมล็ดข้าวสาดขึ้นไปบนอากาศ ให้ลมพัดเอาเมล็ดข้าวที่ลีบและฟางข้าวที่เบากว่าปลิวออกไป วิธีต่อมาคือการใช้ฝัด ที่สานด้วยตาไม้ไผ่มีด้ามจับใช้ฝัดแรง ๆ เพื่อให้เมล็ดข้าวลีบและฟางปลิวออกไป อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้กระด้างฝัดข้าว เหมาะสำหรับกรณีที่เมล็ดข้าวมีจำนวนน้อย
                        - การเลือกพันธุ์ข้าว  จะเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่กล่าวคือ  ในพื้นที่ราบเชิงเขาหรือที่เน ิน ซึ่งเป็นที่ราบสูงน้ำท่วมไม่ถึง จะเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอายุผลผลิตระยะสั้น ตั้งแต่ปักดำจนถึงให้ผลผลิต อายุประมาณ ๑ - ๓ เดือน เรียกว่า ข้าวเบา หรือข้าวดอ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว กข.๖ เป็นต้น
                        ส่วนพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ก็จะเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอายุการให้ผลผลิตระยะยาว และลำต้นข่าวสามารถยืดตามระดับน้ำได้ จะใช้พันธุ์ข้าวอายุ ๒ - ๔ เดือน เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวลอย เป็นต้น
                        - การเก็บข้าว  ชาวนาในอดีตส่วนใหญ่ทำนาแล้ว จะเก็บข้าวไว้เป็นอาหารกินตลอดปี เหลือจากนั้นจึงนำไปขาย การเก็บข้าวจะเก็บไว้ในยุ้ง (ชัยภูมิ เรียก เล้าข้าว)  ซึ่งสร้างไว้ใกล้บ้านพักอาศัย
                        ยุ้งข้าว สร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูง จากพื้นดินประมาณ ๑.๕๐ - ๒.๕๐ เมตร จะใช้ไม้ไผ่ทำเป็นริ้ว ขนาดกว้าง ๓ - ๕ เซนติเมตร ตีปิดระหว่างช่วงต่อของกระดานพื้น ไม่ให้เมล็ดข้าวหลุดร่วงลงไปได้ ฝาจะใช้ไม้ไผ่ลำที่แก่จัดสับออกเป็นแผ่น เรียกว่า ฟากไม้ไผ่ หรือทำเป็นตอกใหญ่สานเป็นลายสองลายสาม ใช้ขี้ควายละลายน้ำทาที่ฝาเพื่อป้องกันมิให้ข้าวรั่วออกมาได้
                        การเก็บข้าวเปลือกจะต้องเก็บข้าว ซึ่แงห้งดีจากลานนำใส่เกวียน นำไปเก็บไว้ในยุ้ง ที่เก็บข้าวต้องมีหลังคาที่มั่นคงฝนไม่รั่ว ก่อนนำข้าวไปเก็บไว้ในยุ้ง จะมีพิธีกรรมเชิญข้าวตาแฮก ที่เกี่ยวมัดไว้ประมาณ หนึ่งกำมือ ขึ้นยุ้งก่อนเพื่อเป็นสิริมงคล เพราะมีความเชื่อว่าผีตาแฮก ช่วยดูแลข้าวให่มีเต็มยุ้งอยู่เสมอ
                    การทำไร่ทำสวน  ได้แก่ การทำไร่ปอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด พริกและถั่วเหลือง ที่ทำกันมาแต่เดิม ต่อมาได้มีการปลูกอ้อยมากขึ้น ส่วนการทำสวนจะปลูกผลไม้ที่เจริญเติบโตได้ตามสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ได้แก่ หมาก ที่อำเภอคอนสาร มะขามหวาน ที่อำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอคอนสาร มะม่วงแก้ว ปลูกในอำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านเขว้า อำเภอจตุรัส อำเภอเทพสถิต และกิ่งอำเภอซับใหญ่ ส้มโอ ปลูกในอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบ้านแท่น

                    การทำไม้ดัด  ไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นไม้ดัด เป็นไม้ยืนต้นพื้นเมืองขนาดกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไป เช่น ต้นตะโก ต้นข่อย ต้นโมก เป็นต้น
                        - ต้นตะโก  เป็นต้นไม้ที่นำมาทำเป็นไม้ดัดมากที่สุด เนื่องจากหาง่าย เป็นไม้เนื้อแข็ง และเหนียว มีอายุยืนยาว เปลือกเป็นสีดำและมีรอยแตกดูสวยงาม มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ปลูกเลี้ยงง่ายและตายงาก พื้นที่ทำตะโกดัด เป็นอาชีพอยู่ที่บ้ายแข้ อำเภอภูเขียว มีรูปแบบการดัดอยู่หกรูปแบบคือ
                        - ไม้ดัดจุก  เป็นตะโกที่มีรูปร่างสวยงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องคัดกิ่งอีก โดยจะตัดกิ่งที่ไม่ต้องการออก ตัดปลายกิ่งและยอดให้กิ่งแตกออกมาใหม่ เพื่อทำพุ่มใบ
                        - ไม้บวช  เป็นตะโกที่มีทรงต้นสวยงาม แต่กิ่งก้านไม่สวย ขุดมาตัดกิ่งก้านออกให้หมด นำมาฝังดินไว้ให้แตกกิ่งใหม่ เลือกตำแหน่งกิ่งให้มีช่องไฟสวยงาม จึงทำการตัดกิ่งทำช่อ ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะสวย
                        - ไม้ธรรมชาติ  เป็นตะโกที่พุ่มต้นเล็ก แคระแกรน ใบเล็กสวยงามตามธรรมชาติอยู่แล้ว ขุดมาก็สามารถขายได้เลย
                        - ไม้ดัดสานกิ่งให้เป็นพุ่ม  เป็นตะโกที่ไม่ความงามตามธรรมชาติอยู่เลย มีลำต้นอยู่ใต้ดิน หรือเหนือผิวดินเพียงเล็กน้อย แต่มีกิ่งก้านมาก เมื่อขุดมาแล้วต้องนำกิ่งเล็ก กิ่งน้อยมาสานให้เป็นพุ่มแล้วใช้เชือกมัด ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
                        - ไม้แคระหรือบอนไซ  เป็นตะโกที่มีขนาดเล็ก แต่มีทรงต้นสวยงาม นำมาเลี้ยงกิ่ง และใช้ลวด ดัดกิ่งให้เหมือนธรรมชาติ ต้องใช้เวลานานมาก
                        - ไม้ดัดเป็นรูปสัตว์  เป็นตะโกที่ไม่มีความสวยงามตามธรรมชาติ แต่มีกิ่งก้านมาก ขุดขึ้นมาแล้ว เด็ดใบออกให้หมด นำกิ่งมาสานให้เป็นรูปสัตว์ที่ต้องการ
                        - การขุดตะโก  จะเลือกขุดในฤดูแล้ง เพราะเป็นช่วงที่ตะโกอดอาหารและจะทิ้งใบ แตกขึ้นใหม่ ในการขุดเริ่มจากกิ่งที่ไม่ต้องการออก และปลิดใบออกให้หมด มัดกิ่งรวมกันเพื่อสะดวกในการขุด ใช้จอบหรือเสียมขุดให้เป็นรูปเบ้า ขนาดเบ้าขึ้นอยู่กับระบบรากและขนาดกระถาง จากนั้นใช้เลื่อยตัดรากแก้ว หรือรากแขนงที่มีขนาดใหญ่ แล้วห่อดินโดยรอบให้แน่น ไม่ให้กระทบกระเทือน หรือแตกได้ แล้วนำไปตกแต่งตามรูปแบบที่ต้องการ แล้วทาด้วยน้ำผลมะเกลือ เพื่อให้เปลือกต้นตะโกมีสีดำ
                        - การทำช่อ  ขึ้นอยู่กับรูปแบบตามตำราและรูปทรงของต้น ไม่ควรให้มีมากเกินไป ให้ห่างกันพองาม ได้สัดส่วนสัมพันธ์กับช่อใบอื่น ๆ
                        - การตัดพุ่มใบ  ไม่ควรตัดจนกลมอย่างลูกแก้ว ควรตัดอย่างลูกจันทร์แป้น หรืออย่างน้อยก็ตัดทำนองจอกคว่ำ โดยใช้กรรไกรตัดกิ่ง
                        - การบำรุงรักษา  หลังจากปลูกต้นตะโกลงกระถาง หรือลงดิน เรียบร้อยแล้ว ระยะแรก ๆ ควรรดน้ำให้ความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ แต่อย่าให้แฉะ จากนั้น ๑ - ๒ เดือน เริ่มแตกใบออกมาก็ลดการให้น้ำลง จากนั้นก็หมั่นแต่งกิ่ง และช่อใบให้ได้ทรงพิมที่ต้องการ อย่างน้อยใช้เวลาสองปีขึ้นไป เมื่อพุ่มใบที่ดัดแต่งไว้เป็นเวลานาน ๆ จะแคระแกรน หรือใบมีสีเขียวไม่สด อาจใช้มือรูดใบออกให้หมด เพื่อให้แตกใบใหม่ ควรทำในฤดูฝน
           งานหัตถกรรม  เป็นงานที่แสดงถึงวิถีชีวิตในอดีตของบรรพบุรุษ และสภาพแวดล้อมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ มีหัตถกรรมหลายประเภท ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันคือ
                การทอผ้าไหม  เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนสลับซับซ้อน การทอผ้าไหมเริ่มตั้งแต่ปลูกต้นหม่อน สำหรับเลี้ยงตัวไหม การสาวไหม ย้อมสีเส้นไหม จนถึงการทอเป็นผืนผ้า
                การเลี้ยงไหม  และทำผ้าไหม มีอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นหัตถกรรมในครัวเรือน แหล่งที่ทำกันมากจนเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ คือ ผ้าไหมอำเภอบ้านเขว้า  นอกจากนี้ ยังมีที่อำเภอคอนสวรรค์บางหมู่บ้าน ในอำเภอจตุรัสบางหมู่บ้าน และที่อำเภอภูเขียว บางหมู่บ้าน
                    การเลี้ยงไหม  เป็นการทำมาหากินในครัวเรือน สืบทอดพัฒนามาเป็นลำดับ มีขั้นตอนการเลี้ยงดังนี้
                        - คัดฝักหลอก (รังไหม)  รวมไว้ในกระด้งแล้วเอาผ้าหี่ (ผ้าคลุม) ไว้ให้ดีเพื่อกันตัวก้วง (แมลงวันหัวเขียว หรือแมลงวันลาย) มารบกวน คลุมไว้จนรังไหมออกตัวบี้ ปล่อยให้บี้ตัวผู้กับตัวเมียผสมพันธุ์กัน ๔ - ๕ ชั่วโมงจึงเอาตัวผู้ออก สังเกตดูตัวผู้จะผอมและเล็กกว่า เอาผ้าคลุมตัวเมียไว้หนึ่งคืน ตัวบี้ก็จะออกไข่
                        - แยกตัวบี้ตัวเมียออก  ปล่อยให้ไข่อยู่ในกระด้ง เอาผ้าคลุมไว้ให้มิดชิดประมาณหนึ่งสัปดาห์ ไข่บี้จะกลายเป็นตัวไหม (ตัวหนอน)
                        - ขยายตัวไหม  ให้ตัวไหมอยู่ห่างกันพอสมควร และเลี้ยงด้วยใบหม่อนโดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เลี้ยงวันละสามเวลา คือเช้า กลางวัน เย็น  เลี้ยงอยู่สี่วัน เรียกว่า ไหมนอนวัยหนึ่ง
                        - แยกตัวไหม  คือ แยกจากหนึ่งส่วนเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ในกระด้งเดิมโดยทำความสะอาดกระด้งบ่อย ๆ และใช้ผ้าคลุมให้มิดชิดเสมอ  ส่วนที่สองไปใส่ไว้ในกระด้งใหม่ เลี้ยงประมาณสี่วัน เรียกว่า ไหมนอนวัยสอง
                        - แยกตัวไหมจากสองส่วนเป็นสี่ส่วน  เมื่อตัวหนอนสามารถกินใบหม่อนทั้งใบได้ก็จะแยกตัวไหมอีกครั้งหนึ่ง ระวังอย่าให้ตัวก้วงเกาะตัวไหม มันจะกิน หรือเลียตัวไหมให้เน่าหรือดำ ๆ ด่าง ๆ อาจตายได้ ถึงขั้นนี้จะเลี้ยงอีกประมาณสี่วันเรียกตัวไหมว่า นอนวัยสาม และคงเลี้ยงเช่นเดิม จนถึงนอนวัยสี่ รวมเวลา ๑๖ วัน ตัวไหมจะเริ่มสุก

                        - ตัวไหมสุก  ตัวไหมอาจสุกไม่พร้อมกันทั้งกระด้ง คำว่าสุกคือตัวไหมเปลี่ยนจากสีเดิมเป็นสีเหลือง เลือกเอาเฉพาะตัวสีเหลืองไปใส่ในกระจ่อ ซึ่งก็คือกระด้งขนาดใหญ่ ภายในใช้ไม้ไผ่ที่จักเป็นตาสานเป็นทางยาวเป็นวงกลมคดไปมาจนเต็มจ่อ เพื่อให้ตัวไหมชักใยเกาะ
                        ตอนนี้เราไม่เลี้ยงตัวไหมด้วยใบหม่อน ให้ตัวไหมดมเพียงกลิ่นหม่อนก็พอ ตัวไหมในกระจ่อจะให้ทางใย (ชักใย) อยู่ ๒ - ๓ วัน ก็จะเป็นฝักหลอก เอาฝักหลอกออกสามวันก็สาวไหมได้

                            การสาวไหม  เมื่อตัวไหมชักใยจนสุดแล้วจึงนำเอารังไหมออกจากจ่อ มาทำความสะอาดฝักหลอก (รังไหม) เรียกว่า ปิดหลอก ในการสาวไหมมีอุปกรณ์สำคัญคือ หม้อสำหรับต้มฝักหลอก พวงสาวไหมประกอบด้วยไม้ไผ่ทำเป็นรูปโค้ง (เกือกม้า) ต่อจากหูหม้อทั้งสอง ข้างในมีไม้เนื้อแข็งเจาะรูเล็ก ๆ สำหรับสอดใส่เส้นไหม สอดระหว่างไม้โค้งเพื่อยึดไม้โค้งทั้งสองข้างเหนือขึ้นไปอยู่ระหว่างไม้โค้งจะเป็นพวงรอกสำหรับสาวเส้นไหมให้เคลื่อนที่ ไม้คืบสำหรับสาวไหม ส่วนมากทำจากไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๖๐ - ๘๐ เซนติเมตร ปลายกว้างประมาณ ๖ - ๘ เซนติเมตร ตรงกลางควั่นเป็นร่องเล็ก ๆ เข้าไปตามยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับให้เส้นไหมจากฝักหลอกในหม้อ รวมเข้าในช่องนี้เป็นเส้นเดียวกัน และมีกระบุงสำหรับรองรับเส้นไหม ที่สาวจากหม้อต้มผ่านพวงสาวไหม
                        - วิธีสาวไหม  มีอยู่สองขั้นตอนใหญ่ ๆ  ขั้นตอนที่หนึ่งต้องต้มน้ำจวนจะเดือด เอารังไหมที่ทำความสะอาดแล้วใส่ลงหม้อ แล้วสาวไหม โดยผ่านไม้คืบสำหรับสาวไหม ผ่านพวงสาวไหม แล้วใส่เส้นไหมไว้ในกระบุง
                        ตอนแรก สาวไหมขึ้นมาจะเป็นไหมใหญ่คือไหมที่อยู่รอบนอกของฝักหลอก ภาษาโบราณเรียกว่าไหมถับแถบคือ เส้นไหมปนขี้ไหม
                        ขั้นตอนที่สอง เมื่อสาวไหมรอบนอกของฝักหลอกเสร็จหมดก็จะเก็บไหมใหญ่ไว้ในกระบุงเดิม โดยเอากระบุงใบใหม่มารองไหมน้อย (เป็นไหมเส้นเล็ก ไม่มีขี้ไหมติด) และการสาวไหมน้อยต่อไปจนเสร็จทั้งหมด เมื่อได้เส้นไหมดิบแล้วจะต้องนำไปฟอกปรับเส้นแล้วย้อมก่อน จึงจะนำไปทอเป็นผ้าได้

                        - การปรับเส้น  เป็นการนำเส้นไหมจากกระบุงมากวักใส่เหล่งให้เป็นไจเป็นปอยก่อน แต่เดิมสีของเส้นไหมจะเป็นสีเหลือง เมื่อฟอกด้วยด่างสำหรับฟอกเส้นไหม จะเป็นสีขาว นำมาผึ่งแดดให้เส้นไหมแห้ง ต้องการเส้นไหมเข้ากันดีต้องนำมาปั่นใส่หลอด
                        - การเตรียมเส้นไหมเพื่อการทอ  นำเส้นไหมที่ปรับเส้นแล้วมาเตรียมเส้นไหมเป็นสองชนิดคือ เส้นยืนคือ เส้นที่เป็นโครงสร้างของผืนผ้าไหม ตามความยาวทั้งหมด ส่วนมากจะย้อมสีพื้นเป็นสีต่าง ๆ แล้วแต่ว่าจะให้ผ้าไหมเป็นสีอะไร ส่วนอีกชนิดหนึ่งจะเตรียมเป็นเส้นพุ่ง หรือเส้นขีด จะมีสีต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
                        ในการย้อมไหมเพื่อใช้ทอเป็นลวดลาย จะนำเส้นไหมที่ปรับเส้นแล้วมามัดให้แน่นเป็นเปลาะๆ ตามแบบลวดลายและสีที่กำหนดเรียกว่า มัดหมี่ แล้วนำไปย้อมสีทีละสีตากให้แห้ง แล้วนำมากรอใส่หลอดเพื่อนำไปใส่ให้ห้องกระสวย สำหรับนำไปใช้ทอเป็นเส้นขัดต่อไป
                        - การจัดเส้นไหมเข้ารูปโครงกี่  นำเส้นไหมยืนมาจัดเข้ากี่ ซึ่งเดิมใช้กี่มือ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นกี่กระตุก จะนำเส้นไหมผูกกับโครงกี่ตามความกว้างขนาดของพื้นที่ จะใช้ทอโดยจะเลือกขนาดผืนตามความกว้างของหน้าผ้าที่ต้องการ แล้วร้อยเส้นไหมผ่านฟีม ดึงเส้นด้ายไปจนสุดความยาวที่ต้องการ
                        ใช้หวี หวีเส้นไหมเพื่อให้เส้นไหมเรียบไม่ติดกัน ม้วนเส้นไหมเข้ากับแกนเก็บที่มีปลายทั้งสองยึดกับโครงกี่ด้านคนทอจนเกือบหมด แล้วเก็บตะกอเพื่อแยกเส้น เป็นเส้นบนกับเส้นล่าง ผูกโยงตะกอกับไม้เท้าเหยี่ยบที่ส่วนล่างของกี่
                        - การทอผ้าไหม  นำไหมเส้นพุ่งที่กรอใส่หลอดแล้วมาเข้ากระสวย ทำการทอโดยใช้เท้าเหยียบให้ตะกอยกขึ้น ใช้มือพุ่งกระสวยไส่หลอดเส้นไหม พุ่งไปจนสุดแล้วเหยียบตะกอเปลี่ยนให้เส้นไหมไขว้สานขัดกับเส้นยืน แล้วกระตุกพืบ (ฟันหัว) ตีเส้นไหมขัดเข้าหาตัว ทำให้เส้นไหมขัดกันแน่น

                  การทอผ้ามัดหมี่  เป็นศิลปะการทำผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่ง มีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ที่เรียกว่ามัดหมี่ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะต้องนำเส้นไหมหรือด้ายมามัดเป็นเปลาะ เหมือนการทำเส้นหมี่ จากนั้นจึงนำเส้นไหมหรือด้ายไปย้อมสีที่ต้องการ ไหยหรือด้ายในส่วนที่ถูกมัดจะไม่ติดสีที่ย้อม ทำให้เกิดสีแตกต่างและเกิดลายบนเส้นไหมหรือด้ายฝ้าย การมัดเชือกคือการกำหนดลาย การย้อมสีต้องทำทีละสี และตากให้แห้งก่อน จึงจะนำมามัดและย้อมสีอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป
                        ลายผ้าเกิดจากแรงบันดาลใจ และภูมิปัญญาชาวบ้าน มีดังนี้
                        วัตถุทางศาสนา  เช่น บันไดโบสถ์ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ค้นทวย ตลอดถึงสัตว์ในจินตนากาล และใบเสมา มาสร้างลวดลายได้แก่ลายหอ สายปราสาท ลายพุ่มข้าวบินฑ์ ลายบุษบก ลายเทียน ลายใบส้ม (เสมา) ลายธรรมาสน์ ลายนาคเกี้ยว ลายนาคอุ้มหน่วย ลายนาคชูกาบหลวง ลายสิงโต
                        คนและสัตว์  เช่น ลายนกยูง ลายแมงมุม ลายผีเสื้อ ลายจอนฟอน (พังพอน)  ลายแมงงอด (แมงป่อง)  ลายไลแมงงอด (เหล็กในแมงป่อง) ลายงูเหลือม ลายเขี้ยวปลา และลายปีกไก่ ลายตะขาบ ลายรังผึ้ง ลายคน ลายม้า ลายช้าง ลายหางกระรอก ลายไก่ ลายนก และลายอึ่ง
                        พรรณไม้และดอกไม้  เช่น ลายกาบหมาก ลายดอกพุดซ้อน ลายงา ลายเนื้อไม้ ลายดอกแก้ว ลายเหลี่ยมอ้อ ลายกาบหลวง ลายกุด ลายดอกจัน (สีดอกสีใบ)  ลายดอกตุ้มหมายจับ (ตุ้มมะจับ)  ลายดอกพิกุล ลายก้านแย่งประจำยาม ลายดอกขิก (ดอกขจร) ลายใบไผ่ ลายใบไผ่ใหญ่ ลายดอกกุหลาบ ลายต้นสนหรือใบบุ่น ลายข้าวตอก ลายกาบมะลิ ลายตำลึง ลายหมากเบ็ง ลายดอกพวง ลายเม็ดแต่ง ลายดอกด้วง ลายหนามแท่ง ลายดอกบานเย็น ลายดอกฮินถวา ลายผักแว่น ลายข้อตรง และลายข้อหวาย
                        แบบประดิษฐ์  ได้แก่ ลายขิดเสา ลายสานไม้ใหญ่ ลายขอเครือ ลายกาบ ลายกาบเครือ ลายขันหมากเบ็ง ลายตะเภาหลงเกาะ ลายกาบใหญ่ ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายโคมเก้า ลายกุญแจ ลายขอพลั่ว ลายลูกโซ่ ลายขัดตา ลายกงน้อย ลายกงน้อยห้า ลายฟองน้ำ ลายหมี่ร่าย ลายกงน้อยเจ็ด ลายผสม ลายหมี่เชิง ลายกุญแจ ลายเผ่า ลายโบคว่ำโบหงาย และลายอัมปรม

                ผ้าลายขิดโนนเสา  ผ้าขิดเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เป็นรูปธรรมประเภทถักทอ การทอมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการทอผ้าปกติ เพราะต้องใช้กรรมวิธีสร้างสรรค์ ให้ผ้าปรากฏลวดลายในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ โดยการยกทอเส้นหลักหรือเส้นเครือด้วยไม้แบนปลายเรียวมน (ไม้เก็บขิด) แล้วสอดเส้นสานกันให้เกิดเป็นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะมีลักษณะลายคม ชัดเจน จึงเรียกลายที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ว่า ลายขิด
                คำว่าขิด หมายถึง การขัดซ้อนขึ้น หมายถึงการทอผ้าที่มีลวดลายด้วยการใช้ไม้งัดซ้อนเส้นหลักเพื่อให้เป็นช่องเส้นสาน หรือเส้นสอดเข้าไปตามลายที่ไม้นั้นงัดขึ้นไว้แล้ว
                    กระบวนการทอ ค่อนข้างจะยุ่งยากและยืดยาว ผู้มีประสบการณ์โดยตรงเท่านั้นจึงจะเข้าใจ ผู้ที่สามารถทำลายขิดได้นั้น จะทำได้จากการสาธิต ประกอบคำอธิบายส่วนตัว ประกอบไปด้วย ดังเช่นที่ชาวบ้านได้ทำการฝึกสอนลูกหลานเป็นลำดับต่อมาจากอดีตถึงปัจจุบัน
                    ลวดลายของผ้า มีส่วนประกอบลักษณะต่าง ๆ คือ เป็นจุด เป็นเส้นตรง เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม  ความแตกต่างของสีฝ้ายจากเส้นสาน และเส้นหลักที่ขัดประสานกันให้เกิดเป็นรูปแบบต่าง ๆ เมื่อทำเป็นผืนแล้วมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลาย หน่วย ลายดอก ลายขอ ลายกาบ ลายผสม ลายธรรมชาติ เป็นต้น
                    ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ผ้าขิดบ้านโนนเสลา มีผลผลิตประมาณ ๒๐๐ ลาย แต่ลายที่เป็นที่ต้องการมากคือลายงูเหลือม ลายลูกศร ลายข้าวหลามตัด ลายดอกพิกุล ลายขอดาว ลายดอกแก้ว ลายหัวพญานาค ลายดอกรัง และลายคทา
            ภาษาและวรรณกรรม  ในสังคมของชาวอีสานมีภูมิปัญญาอันเกิดจากแนวคิดของบรรพบุรุษ เป็นเชิงสั่งสอน ให้คติสอนใจ ให้ข้อคิด ข้อห้ามแก่บุคคลในสังคม ที่พ่อแม่ใช้สั่งสอนลูกหลานสืบทอดกันมา ดังนี้
                ภาษิตสำนวนพื้นบ้าน  เต็มไปด้วยคำอุปมาอุปมัย เปรียบเทียบให้แง่คิด เช่น
                        ให้อ่อนอย่างกบให้นบอย่างเขียด (ให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน)
                        ให้เย็นอย่างผักฟักให้หนักอย่างหิน (ให้เป็นคนใจเย็นและหนักแน่น)
                        ใกล้ไฟมักฮ้อนใกล้ค้อนมักเจ็บ (ไม่ควรเข้าไปใกล้กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตราย)
                        เดือนหกให้หว่านกล้า เดือนห้าให้แต่งไถ (ให้มีการวางแผนในการทำงาน รู้จังหวะเวลาการทำงาน)
                        ต้นไม้ใหญ่บ่มีผี สางผู่ดี๋บ่มีซู่ ธรณีบ่อกแตกหรือ (คนสวยไม่มีคู่รักจะเชื่อได้อย่างไร)
                        ใส่บาตรอย่าถามเจ้าหัว (ฟังรู้ว่าอะไรควรให้ไม่ควรให้)

ฯลฯ
                    - นิทานพื้นบ้าน  นอกจากความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์แล้วยังมีคติธรรม และปรัชญาการดำเนินชีวิตแฝงอยู่ นิทานพื้นบ้านมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น สองพี่น้อง หลวงพ่อกับเณรน้อย แตงอ่อน ภูแลนคา บ้านโนนพระดำ กาลีกับย่า นางหล่านางฉุน นางผมหอมเป็นต้น
    ศาสนาและประเพณี
                ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ถือเอาวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม เป็นวันเริ่มทำพิธี ด้วยเชื่อว่าในวันดังกล่าวฟ้าจะไข (เปิด) ประตูฝนสู่โลกมนุษย์ เกษตรกรต่างคอยฟังเสียงฟ้าร้อง ครั้งแรกว่ามาจากทิศใด เพื่อที่จะพยากรณ์ลักษณะของฝนที่จะมีมาในปีนั้น ๆ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ตำราโบราณ ซึ่งได้บันทึกไว้เป็นสถิติบอกเล่ากันสืบต่อมาว่า เมื่อเริ่มร้องในทิศทางใดจากแปดทิศเรียกว่า ฟ้าไขประตูน้ำฝน จะมีคำพยากรณ์ไว้ในหนังสือใบลาน (หนังสือก้อน) อย่างครบถ้วน
                ในประเพณีบุญเบิกฟ้า จะมีพิธีกรรมบูชาพระแม่โพสพและการสู่ขวัญข้าว เรียกว่า ประเพณีตุ้มปากเล้า ซึ่งยึดถืออย่างเคร่งครัดกันมาว่า ถ้ายังไม่ตุ้มปากเล้า ห้ามตักข้าวในยุ้งฉาง

               ประเพณีบุญบั้งไฟ  เป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสาน ตามหมู่บ้านในชนบทนิยมทำกันในเทศกาลเดือนห้าฟ้าหก (ประมาณ เมษายน - พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะตกลงมา ชาวนาเตรียมไถนาแฮกนา (แรกนา) เพื่อรอฝนและเตรียมการทำนา จากความเชื่อเรื่องพญาแถน ที่อยู่บนสวรรค์ เชื่อว่าพญาแถนสามารถบันดาลให้ฝนตกฟ้าร้องได้ จึงมีการจัดประเพณีบูชาพญาแถนทุกปี เพื่อขอฝนมาใช้ในการกสิกรรม ทำนา
                   การผลิตบั้งไฟ  ช่างบั้งไฟแต่ละคนจะถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์รุ่นต่อรุ่น ในการเลือกไม้มาเผาทำเป็นขี้เถ้าผสมทำมึ่ง (ดินปืน) การอัดดินปืนและสูตรผสมต่าง ๆ ที่จะทำให้บั้งไฟขึ้นได้สูงและไม่ระเบิดเวลาจุด
                   ผลด้านสังคม  เป็นการเชื่อมความสามัคคีให้คนในบ้านในเมืองได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดความรักใคร่สามัคคีกัน
               ประเพณีการเลี้ยงตาปู่บ้าน (ดอนปู่ตา)  ตาปู่บ้านหรือดอนปู่ตา เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของผีปู่ย่าตายาย ผู้เป็นบรรพบุรุษ มีอยู่ทุกหมู่บ้านในชัยภูมิ มีพื้นที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป พื้นที่ของดอนปู่ตาต้องเป็นเนินสูง โนนโคก หรือดอน ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าไม้หนาทึบร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชุม มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ทำให้ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ การทำพิธีเลี้ยงผี ต้องผ่านเฒ่าจำ (ผู้ติดต่อกับวิญญาณปู่ตา)  พิธีเลี้ยงผีตาปู่บ้านจะทำประมาณเดือนเจ็ด
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์