อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน
อยู่ที่บ้านเกาะเสม็ดงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง อยู่ริมแม่น้ำ ห่างจากปากแม่น้ำจันทบุรีประมาณ
๖ กิโลเมตร มีหลักฐานซากเรือสำเภาและร่องรอยของการเป็นอู่ต่อเรือคือเป็นแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่หลายแห่ง
ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่ง ในบริเวณดังกล่าวพบท่อนไม้ขนาดใหญ่ และตะกรับโลหะจำนวนมาก
ชาวบ้านเล่ากันว่า บริเวณนี้เคยเป็นอู่ต่อเรือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เมื่อครั้งเตรียมการยกกองทัพไปกู้กรุงศรีอยุธยา
กรมศิลปากรได้สำรวจและขุดตรวจสอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ และ พ.ศ.๒๕๓๒ พบหลักฐานทางวิชาการจำนวนมาก
เช่น ซากเรือสำเภาจีนขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ตัวเรือทำด้วยไม้สนเมืองหนาว
ตามร่องกระดานมีหมันยาชันที่ใช้อุดมีร่องรอยฐานรอบเสากระโดง ใช้ตะปูเหล็กในการตอกยึด
น่าจะเป็นเรือสำเภาจีนสามเสาขนาดเล็ก ใช้หางเสือกลางท้าย จอดขึ้นคานรอซ่อมอยู่ในอู่
พบไม้ค้ำกราบเรือสำหรับใช้ในอู่เรือ เครื่องมือช่างไม้ เช่น ขวาน เลื่อย
มีเศษภาชนะดินเผาทั้งของไทย และเครื่องลายครามจีนเป็นจำนวนมาก มีอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๒ - ๒๓
กำแพงเมืองจันทบูร ค่ายตากสิน
เมืองเก่าจันทบุรีอยู่บนเนินดินสูงริมแม่น้ำจันทบุรี ฝั่งขวามีคลองท่าช้างซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำจันทบุรี
ไหลผ่านทางด้านเหนือ มีบางส่วนของตัวเมืองเก่าอยู่ภายในค่ายตากสิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารนาวิกโยธิน
และกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี - ตราด
ในค่ายตากสินทางทิศตะวันตกยังปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดินอยู่หลายแห่งที่ใช้วิธีพูนดินขึ้นเป็นคันกำแพง
คูน้ำ บางส่วนขุดลงไปในพื้นศิลาแลง ส่วนที่อยู่นอกค่ายตากสินยังพอมีร่องรอยแนวคูน้ำคันดิน
พบอยู่ในบริเวณศาลากลางจังหวัด และที่ทำการไปรษณีย์ ขนาดของตัวเมืองจันทบุรีควรมีขนาดกว้าง
๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๒,๐๐๐ เมตร
วังสวนบ้านแก้ว
อยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี วังสวนบ้านแก้วมีประวัติความเป็นมาคือ
เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้ทรงหาที่พักผ่อนพระอิริยาบถ ในปี
พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อเสด็จ ฯ มาจันทบุรี ได้เสด็จมาพบสถานที่ที่ต้องพระราชหฤทัย
ที่ทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี และทางไปยังจังหวัดตราด จึงทรงตัดสินพระทัยกู้เงินจากธนาคาร
เพื่อทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจากเจ้าของที่ดินหลายรายรวมกันได้เกือบ ๗๐๐
ไร่ เป็นที่ดินอยู่สองฝั่งคลองบ้านแก้ว และพระราชทานนามที่ดินตามชื่อตำบลว่า
สวนบ้านแก้ว
พระตำหนัก
พระตำหนักหลังแรกเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากแบบเรือนชาวบ้านในชนบททั่ว ๆ ไป
ทรงปลูกเป็นเรือนแถว เป็นเรือนไม้ไผ่ หลังคาจากล้อมรอบที่ประทับ อีก ๔ - ๕
หลัง ผู้ที่ตามเสด็จมีอยู่หลายท่านด้วยกัน
หลังจากที่ประทับอยู่เรือนหลังคามุงจากได้ไม่นาน ก็ได้มีรับสั่งให้สร้างเรือนไม้เล็ก
ๆ ขึ้นสองหลัง เรียกว่า เรือนเทา เรือนแดง และได้สร้างเรือนแบบบังกาโล
ขนาดของบ้านชาวบ้านธรรมดาขึ้นอีกหลังหนึ่งเรียกว่า เรือนเขียว
เรือนเทาที่อยู่ตรงกลางเป็นที่ประทับของพระองค์ เรือนเขียวเป็นของราชเลขา
และใช้เป็นที่รับแขกด้วย ส่วนเรือนแดงเป็นที่พักของผู้ติดตาม อาคารสามหลังนี้นับว่าเป็นอาคารถาวรชุดแรก
พระตำหนักใหญ่หรือตำหนักเทา
เป็นคฤหาสน์ขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังแบบชั้นครึ่ง ชั้นบนเป็นห้องบรรทม
ถัดจากห้องบรรทม เป็นห้องโถงสามห้องขนาดใหญ่ เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและรับแขก
อีกสองห้องใช้เป็นห้องเครื่องฝรั่ง และห้องเตรียมเครื่องเสวย
จากตำหนักเทาจะมีทางเดินต่อมาทางห้องเครื่องซึ่งเป็นอาคารอีกสองหลัง ด้านหลังของตำหนักเทาจะปูอิฐเป็นลาดลดหลั่นกันไป
มีการปลูกต้นไม้ดอกประดับสวยงาม และทำเป็นธารน้ำตกไหลลดหลั่นลงไปสู่ลำห้วย
ตำหนักเทาใช้เวลาสร้างเกือบสามปีจึงแล้วเสร็จ และใช้เป็นที่ประทับตลอดมา
พระตำหนักดอนแด (ตำหนักแดง)
เป็นอาคารทรงยุโรปสองชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดงคล้ำ ใช้เป็นบ้านของ
ราชเลขานุการ และรองราชเลขานุการในพระองค์ พระองค์ได้เคยเสด็จมาประทับ ณ ตำหนักแดงในบางโอกาส
วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (โบสถ์วัดคาทอลิก)
สร้างขึ้นสมัยที่ชาวญวนประมาณ ๓๐ คน อพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรีครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ในช่วงปี พ.ศ.๒๒๑๕ - ๒๒๗๕ ได้สร้างวัดคาทอลิกขึ้นที่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบุรี
เมื่อก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเล็กน้อย วัดคาทอลิกแห่งนี้ได้เป็นแหล่งอพยพที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์
ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ มีกลุ่มบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรี และในปี
พ.ศ.๒๓๑๐ อธิการสามเณรลัยชาวตะวันตก และชาวญวนได้อพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรี
มีบันทึกไว้ว่าเมืองจันทบุรีเป็นหนทางเหมาะสำหรับหนีไปที่อื่นได้ง่าย
ตัวโบสถ์ปัจจุบันนับเป็นหลังที่ห้า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ เป็นศิลปะโกธิค
กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร เคยมียอดแหลมที่หอสองข้าง ต่อมาได้เอาออก เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๓ เนื่องจากเป็นจุดเด่นเมื่อมีการโจมตีทางอากาศในสมัยกรณีพิพาทอินโดจีน
ตัวอาคารมีการประดับกระจกสีแบบสเตนกลาสเป็นภาพนักบุญ มีความสวยงามและมีคุณค่าทางศิลปะ
อาคารประวัติศาสตร์กรณีพิพาท ร.ศ.๑๑๒
อาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองจันทบุรี ตามอนุสัญญาข้อ
๖ ต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม และกรุงฝรั่งเศส วันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๙๓
(ร.ศ.๑๑๒)
ปัจจุบันอาคารดังกล่าวอยู่ในบริเวณค่ายตากสิน เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนเรียบ
เป็นสถาปัตยกรรมตามแบบของยุโรปทั้งรูปทรง และลวดลายของอาคาร
อาคารคลังกระสุนของทหารฝรั่งเศส
ปัจจุบันอยู่ในค่ายตากสิน เป็นอาคารสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูน ยกพื้นสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรป
ศาลหลักเมืองจันทบุรี
ตั้งอยู่หน้าค่ายตากสินด้านซ้าย สร้างขึ้นหลังจากย้ายมาจากบ้านหัววัง (ตำบลพุงทะลายเดิม)
ศาลเดิมคงจะสร้างด้วยศิลาแลง แต่ได้ชำรุดหักพังไปหมด
เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้วได้มีศาลไม้อยู่ระหว่างต้นข่อย ที่โคนต้นข่อยมีก้อนศิลาแลงอยู่
ศาลหลักเมืองดังกล่าว เป็นศาลหลักเมืองที่ทางจังหวัดจันทบุรี ได้กำหนดให้เป็นศาลหลักเมือง
ปัจจุบันจึงได้มีการสร้างศาลหลักเมือง ฝังศาลหลักเมือง และหล่อองค์เจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นใหม่
บ้านพระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน)
พระยาวิสูตรโกษา ให้ชื่อบ้านหลังนี้ว่า ทับสาณะเสน อยู่ในตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง
ฯ มีพื้นที่ ๑๖ ไร่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์พระยาวิสูตรโกษา
ทับสาณะเสนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ขนาดกว้างประมาณ ๑๓ เมตร ยาวประมาณ
๑๗ เมตร สูงประมาณ ๑๔ เมตร พื้นเป็นไม้ตะเคียน หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตัวอาคารก่อสร้างแบบใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก ช่วงหน้าต่างโค้ง
ประตูโค้งมองทะลุในแนวเดียวกันตลอด ลายฉลุช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่างมีรูปทรงเป็นลายเครือเถาที่ประดิษฐ์เป็นลายไม้
ผูกพันสอดเกี่ยวกันอย่างสวยงามเป็นชั้นเชิงแปลกตา ลายปูนปั้นของตัวอาคารสะท้อนอดีตในสมัยมณฑลจันทบุรียังรุ่งเรือง
จากหลักฐานกรรมสิทธิที่ดินแสดงถึงการซื้อที่ดิน ๑๖ ไร่ รวมสี่แปลงในปี พ.ศ.๒๔๕๖
- ๒๔๕๙ ดังนั้นบ้านหลังนี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีมาแล้ว
|