มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนาสถาน
วัดพลับ
ตั้งอยู่ในตำบลบางจะกะ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดสุวรรณติมพรุธาราม
แปลว่าวัดที่มีผลมะพลับทอง เนื่องจากมีผลมะพลับใหญ่โต เมื่อเวลาสุกมีสีเหมือนสีทอง
ต่อมาประชาชนนิยมเรียกกันว่า วัดพลับ
ภายในวัดมีพระปรางค์ ซึ่งมีเจดีล้อมรอบ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระองค์ได้เสด็จมาประทับพักแรมอยู่ที่วัดนี้ ก่อนจะยกทัพเข้าตีเมืองจันทบูร
และได้ทรงพระราชทานพระยอดธงแก่กองทหาร
พระยอดธงที่เหลือได้นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ ต่อมาเจดีย์หักพังลงมา จึงได้นำพระยอดธงส่วนหนึ่ง
ไปบรรจุไว้ในพระปรางค์องค์นี้ ในวงการพระเครื่องเรียกพระยอดธงนี้ว่า พระยอดธงกู้ชาติ
มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ต้องการของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
นอกจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงพระราชทานพระยอดธงให้แก่หมู่ทหารแล้ว
บรรดาทหารทั้งหลายยังได้รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์
ซึ่งในสมัยต่อมาน้ำพระพุทธมนต์ที่ประกอบพิธีในอุโบสถวัดพลับถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จะต้องประกอบด้วยน้ำพระพุทธมนต์จากวัดพลับนี้ด้วย
โดยนำน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์จากถ้ำพระนารายณ์ ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง
ฯ และน้ำจากสระแก้วที่วัดสระแก้ว ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ มารวมกันทำพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์
เป็นเวลาสามวันสามคืนจนเสร็จพิธี
ตามทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร โบราณสถานวัดพลับที่ขึ้นทะเบียนไว้ประกอบด้วย
วิหารไม้
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ตัววิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด
เป็นอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาทรงจตุรมุข ประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก
เครื่องลำยองหรือปั้นลม (แผ่นไม้ปิดหัวแปโครงหลังคา) เป็นไม้แกะสลักสวยงาม
ช่องลมทั้งสี่ด้านฉลุเป็นลวดลาย ฝีมือช่างพื้นบ้าน
หอไตร
เป็นหอไตรขนาดกลาง สร้างอยู่ในสระน้ำ เป็นอาคารทรงไทยหลังคาสองชั้น ทรงจั่ว
มีระเบียงรอบหอ โครงสร้างเป็นไม้ตกแต่งด้วยเครื่องลำยองไม้ ยังพอเห็นการตกแต่งเสาและบริเวณด้านหน้าที่เคยเป็นลวดลายลงรักปิดทองแบบลายรดน้ำ
พระปรางค์
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ องค์พระปรางค์สูงประมาณ ๒๐ เมตร มีซุ้มประตูสี่ทิศ
เหนือประตูเป็นรูปราหูอมจันทร์ องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสองชั้น มีบันไดทางขึ้นสี่ทาง
ส่วนยอดปรางค์มีการซ้อนขั้น มีชั้นเชิงบาตรรองรับตัวปรางค์ขนาดเล็ก มีรูปปั้นหัวช้างประดับทั้งสี่ทิศ
ลักษณะส่วนบนซึ่งเป็นยอดปรางค์และตรีศูล เป็นลักษณะที่ไม่ได้พบมากนักในภาคตะวันออก
โบสถ์
ตัวโบสถ์มีการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วหลายครั้ง ปัจจุบันมีลักษณะเหมือนโบสถ์ทั่วไป
หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑ เครื่องตกแต่งหลังคาเป็นปูนปั้น
เจดีย์กลางน้ำ
เป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ ๗ เมตร ไม่ประดับกระเบื้อง ยกฐานสูง
ตัวองค์ระฆังขนาดเล็ก มีส่วนประกอบแบบองค์ระฆังทรงกลมทั่วไป ลักษณะศิลปะแบบอยุธยาตอนกลางได้รับการบูรณะ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
วัดเขาพลอยแหวน
ตั้งอยู่ที่เชิงเขาพลอยแหวน ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ สร้างโดยพระยาจันทบุรีชื่อสองเมือง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพื้นที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ภายในวัดมีอุโบสถ
ที่สร้างขึ้นใหม่
เจดีย์และมณฑป
ทรงกลมแบบลังกาภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์สูงประมาณ ๑๓ เมตร ฝีมือช่างพื้นเมือง
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ โดยพระยาไชยบดีณรงฤาชัย
ใกล้เคียงกันมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕
ส่วนมณฑปพระพุทธบาท ยังสร้างไม่สมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน ในเดือนห้า จะมีประชาชนไปนมัสการแและชมทิวทัศน์โดยรอบที่สามารถมองเห็นทั้งภูเขา
แม่น้ำจันทุบรี และทะเล
วัดทองทั่ว
อยู่ในตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง ฯ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ
๕ กิโลเมตร มีเรื่องราวก่อนสร้างวัดเล่าสืบต่อกันมาว่า มีวัดอยู่วัดหนึ่งอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไปทางทิศใต้ประมาณ
๔๐๐ เมตร ชื่อวัดเพนียด ต่อมากลายเป็นวัดร้าง และได้มาสร้างวัดใหม่ชื่อวัดทองทั่ว
วัดทองทั่ว เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เมื่อพิจารณาจากหลักฐานแวดล้อม
วัดทองทั่วอาจสร้างในสมัยที่เมืองจันทบุรียังตั้งอยู่ในแถบนี้ โดยเจ้าเมืององค์ใดองค์หนึ่งและได้มีการสร้างต่อ
ๆ กันมา
อุโบสถหลังเก่าน่าจะสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังเกตุได้จากลายปูนปั้นประดับเป็นซุ้มโค้งเหนือขอบประตูหน้าต่าง
ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น โบสถ์หลังนี้ได้สร้างทับไปบนศานสถานแบบขอม
ทางทิศตะวันออกหน้าโบสถ์มีสิงห์นั่ง แกะสลักด้วยหินทรายสีแดง สูง ๙๐ เซนติเมตร
หน้าประตูมีชิ้นส่วนธรณีประตูทำด้วยหินทรายสีขาว
โบราณสถานและโบราณวัตถุของวัดทองทั่วได้แก่
๑. ใบเสมา เป็นรูปเสมาคู่
๒. ซากอิฐหัก สันนิษฐานว่า อาจเป็นซากเจดีย์เก่าหรือซากอาคารเก่า
๓. เจดีย์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย
ในโบสถ์หลังเก่าปัจจุบันเป็นที่เก็บทับหลังหินทรายสีขาว แกะสลักเป็นศิลปะแบบกาลาบริวัตร
ต่อลมโบรไพรกุก (พ.ศ.๑๑๕๐) อีกชิ้นหนึ่งคือ ทับหลังหินทรายสีขาว แกะสลักเป็นรูปลายพรรณพฤกษาและพวงมาลัย
ลักษณะศิลปะแบบไพรกแมง (พ.ศ.๑๑๘๐ - ๑๒๕๐) และยังมีเสาประดับกรอบประตูเทวสวถาน
ลักษณะศิลปะนครวัด มีโกลนพระคเณศแกะไม่เสร็จ จึงยังกำหนดรูปแบบศิลปะไม่ได้
แต่ร่องรอยด้านหลังที่เป็นรอยเศียรนาคคือ การดัดแปลงพระพุทธรูปปางนาคปรกให้เป็นเทวรูป
แสดงให้เห็นถึงลักษณะศิลปะทวารวดีที่ปะปนกับขอม ลักษณะแบบนี้พบในเมืองโบราณหลายแห่งทางภาคตะวันออก
เช่นเมืองพระรถ เมืองศรีมโหสถ เมืองดงละคร และโคกกระโดน
วัดไผ่ล้อม
เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ในตำบลจันทนิมิตร อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำจันทบุรี
มีพื้นที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ ได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
และ พ.ศ.๒๕๑๔ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
จากการสำรวจพระอุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แบบทรงสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะอาคาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
อุโบสถมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีช่องทางเข้าทั้งสี่ด้าน ชนวนด้านหลังมีเสารองรับห้าต้น
ไม่มีบัวหัวเสา ฐานอาคารเป็นเส้นตรง มีเจดีย์มุมอยู่ในกำแพงแก้ว เป็นเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เขียนภาพเต็มผนังตลอดทั้งสี่ด้าน บริเวณกรอบหน้าต่างด้านล่าง และบริเวณช่องระหว่างหน้าต่างชำรุดลบเลือนไปมาก
เขียนภาพต้นไม้ประเภทบอนไซและดอกไม้เมืองจีน เหนือช่องหน้าต่างทั้งสองด้านเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องทศชาติ
โดยแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ด้านละห้าช่อง ด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติโดยเขียนต่อกันไปบนผนัง
ไม่มีฉากหรือเส้นแบ่งกั้นเป็นตอน ๆ ด้านหลังพระประธานเขียนเป็นภาพเทพอำนวยพร
ลักษณะการเขียนน่าจะเป็นจิตรกรรมหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เนื่องจากมีชาวต่างชาติปรากฎอยู่เป็นจำนวนมากในภาพวาด
ด้านหลังโบสถ์ทางด้านทิศตะวันตกมีเจดีย์ทรงระฆัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
มีทางเข้าทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสูง ลักษณะเจดีย์เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์
สูงประมาณ ๑๐ เมตร
พระอุโบสถ
เป็นอาคารเลียนแบบศิลปะตะวันตก อาคารเป็นตัวตึกห้องเดียว หลังคาแบบเรือนมลิลา
แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับอาคารภายในวัด โดยเติมหลังคาจั่วแหลมขึ้นไป ผนังอาคารประดับด้วยเสาติดผนัง
โดยใช้เสาเซาะช่องยื่นออกมาจากผนังเพียง หนึ่งในสี่ มีเสารองรับหลังคาตลอดทั้งสี่ด้าน
ภายในประดิษฐานพระสาวกสำริด หน้าตักกว้าง ๖๐ เซนติเมตร
พระพุทธไสยยาสน์
เป็นปูชนียวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องจากในภาคตะวันออกยังไม่มีพระพุทธไสยาสน์
ให้ศาสนิกชนในภาคนี้กราบไหว้ได้เริ่มก่อสร้างวิหารพร้อมองค์พระพุทธไสยาสน์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ องค์พระพุทธไสยาสน์ยาว ๙ วา ๙ นิ้ว หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก
มีพุทธลักษณะเป็นประติมากรรมผสมค่อนไปทางศิลปะสุโขทัย สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
ฉาบแต่งผิวแล้วลงรักปิดทอง มีแท่นฐานเป็นบัวคว่ำ บัวหงาย ยาวกว่าองค์พระเล็กน้อย
พระวิหารครอบองค์พระเป็นอาคารสองชั้นทรงไทยประยุกต์ ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล้ก
กว่าง ๓๒.๔๙ เมตร ยาว ๕๔.๑๙ เมตร บริเวณโดยรอบวิหารมีรั้วรอบแทนกำแพงแก้ว
มีประตูเข้าออกห้าประตู พื้นวิหารปูด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งหลัง หลังคาเทคอนกรีตมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย
|