พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเขตจังหวัดเชียงราย
ภูมิประเทศของจังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ภูเขาสลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์
เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ พื้นที่ราบลุ่มที่สำคัญตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขา
มีลำน้ำไหลผ่านลงมาบรรจบแม่น้ำโขง แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำอิง แม่น้ำกก
และแม่น้ำลาว
ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง
อยู่บริเวณตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย เริ่มตั้งแต่บริเวณรอบ ๆ เทือกเขาดอยหลักล้าน
และดอยด้วน ด้านทางทิศตะวันออก
ผ่านที่ราบลงสู่กว๊านพะเยา
ในเขตจังหวัดพะเยาตอนใต้ บริเวณรอบกว๊านพะเยาเป็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำเหมืองไหลจากที่สูงลงมาหล่อเลี้ยงหลายสาย
ทางด้านทิศเหนือ และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกว๊านพะเยา เป็นเนินสูงที่ลาดลงมาจากเทือกเขา
เหมาะในการสร้างบ้านเมือง เพราะนอกจากน้ำจะท่วมไม่ถึงแล้ว ยังเป็นทำเลที่สามารถป้องกันข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี
ปรากฏร่องรอยเมืองต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันหลายแห่ง เช่น เวียงพะเยา
เวียงต๋อม เวียงปู่ลาม และเวียงแก๊ว
ทางด้านทิศตะวันออกของกว๊านพะเยาเป็นที่ลุ่มต่ำ ลำน้ำอิงตอนนี้เรียกว่า แม่น้ำสายตา
ไหลออกจากกว๊านพะเยาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบลุ่มระหว่างดอยหลักล้าน
ทางด้านทิศตะวันตก และดอยแม่นะ
กับดอยกิ่งแก้ว
ทางด้านทิศตะวันออก ไหลผ่านบ้านต้นแหน แล้ววกไปทางด้านทิศตะวันออก ผ่านบ้านหัวขั้ง
ซึ่งมีร่องรอยเมืองเวียงลออยู่
เป็นเมืองโบราณที่มีลำน้ำอิงไหลผ่านกลาง พบร่องรอยพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐ และพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา
อยู่ในบริเวณวัดหลายแห่ง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนี้ มีเมืองโบราณขนาดเล็กอีกสองแห่ง
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจุน ในเขตบ้านขั้งน้ำจุน และเขตบ้านดอยไชย พบพระพุทธรูปหินทรายแบบสกุลช่างพะเยา
ต่อจากเวียงลอในเขตบ้านหัวขั้ง ลำน้ำอิงไหลขึ้นเหนือผ่านที่ราบลุ่มระหว่างดอยจิกจ้อง
และดอยปางกก ทางทิศตะวันตกกับดอยบ่อส้มทางด้านทิศตะวันออก
เข้าไปในเขตอำเภอเทิง บริเวณนี้มีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีเมืองเวียงเทิงตั้งอยู่ริมดอยพระธาตุจอมอ้อ
ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำอิง บนยอดเขาทางด้านทิศตะวันตก และทางด้านทิศใต้มีวัด
และพระเจดีย์ตั้งอยู่ เช่น พระธาตุจอมซิ่น
จากเมืองเทิงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๙ กิโลเมตร มีร่องรอยเมืองโบราณแห่งหนึ่ง
อยู่ในเขตบ้านใหม่ยาเหนือเชิงดอยซามู
จากนั้นลำน้ำอิงก็ไหลต่อไปทางด้านทิศเหนือเข้าไปในเขตอำเภอเชียงของ ณ บริเวณดังกล่าวนี้พบเมืองโบราณสองแห่ง
อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือเมืองเชียงของ
ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตอนใกล้ปากน้ำอิงที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง ในเมืองมีวัดอยู่หลายแห่ง
บางวัดพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายแบบสกุลช่างพะเยา
ที่ราบลุ่มแม่น้ำลาว
เป็นที่ราบลุ่มในหุบเขาที่แคบ อยู่ระหว่างเทือกเขาดอยเวียงผา
ทางด้านทิศตะวันตก กับเทือกเขาดอยหลงทางด้านทิศตะวันออก
เริ่มตั้งแต่เขตบ้านโป่งน้ำร้อน ใกล้กับเขตอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ลำน้ำแม่ลาวไหลจากทางด้านขึ้นทางด้านทิศเหนือ
ผ่านบ้านแม่เจดีย์
ซึ่งเป็นเมืองโบราณอยู่บนเนินเขาติดกับห้วยแม่เจดีย์ ต่อจากนั้นลำน้ำแม่ลาวก็ไหลผ่านบ้านแม่ขะจาน
เข้าสู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่กว้างใหญ่ ทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำมีเมืองโบราณเมืองหนึ่ง
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำชื่อเมืองเวียงกาหลง
อยู่บนเนินเขาดอยคง
เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญในย่านลุ่มแม่น้ำลาว ห่างจากเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ประมาณ ๓ - ๔ กิโลเมตร พบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือคือ
เตาเวียงกาหลง
ลำน้ำแม่ลาวไหลผ่านเข้าไปในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า เมืองเวียงป่าเป้า
ตั้งอยู่บนเนินดินทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำ ลักษณะของเมืองเป็นรูปรีเล็ก
มีกำแพงล้อมสามชั้น ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัดเก่าอยู่
๒ - ๓ แห่ง เป็นฝีมือช่างแบบพะเยา
ต่อจากเวียงป่าเป้าขึ้นไปทางด้านทิศเหนือเป็นที่สูง ลำน้ำแม่ลาวไหลผ่านช่องแคบ
ๆ ลงสู่ที่ราบลุ่มในเขตอำเภอแม่สรวย พบเมืองโบราณตั้งอยู่บนเนินเขาทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำลาวในเขตบ้านใหม่
และบ้านห้วยส้ม คงจะเป็นเมืองแม่สรวยเดิม ต่อจากนั้นลำน้ำแม่ลาวก็ไหลผ่านช่องเขาไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เข้าสู่ที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่ ในเขตจังหวัดเชียงราย มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายจากเขตอำเภอพาน
ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ไหลเข้ามาบรรจบ บริเวณตั้งแต่เหนือเขตอำเภอแม่ใจ ขึ้นมาจนถึงอำเภอพาน
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มกว้าง พบเมืองโบราณอยู่สี่เมือง บางเมืองอยู่บนเนินเขา
บางเมืองอยู่บนที่ราบ มีวัดร้าง เศษภาชนะดินเผาที่พบในอำเภอใกล้เคียงกัน ล้วนเป็นของที่มาจากแหล่งแต่เมืองพานทั้งสิ้น
ลำน้ำแม่ลาวขึ้นไปจนถึงบ้านท่าสายใกล้เมืองราย พบเมืองโบราณสองแห่ง ตั้งอยู่บริเวณบ้านสันมะแฟงทางด้านตะวันตกของลำน้ำเมืองหนึ่ง
อีกเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงใกล้ลำห้วยแม่ม้อยในเขตกลางเมือง จากบ้านท่าสายขึ้นไป
แม่น้ำลาวไหลไปบรรจบกับแม่น้ำกกในเขตบ้านร่องเสือเต้น
ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก
ลำน้ำกกมีกำเนิดจากเทือกเขาในเขตรัฐฉาน และเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอฝาง
จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตอำเภอฝาง มีลำน้ำฝางไหลมาบรรจบ ลำน้ำฝางมีชุมชนโบราณตั้งอยู่เช่น
เมืองฝาง เมืองเวียงส้มสุก
ในเขตเมืองเชียงราย มีเมืองโบราณตั้งอยู่ใต้เมืองเชียงราย
ตามลำน้ำกกมีเมืองโบราณอยู่สองแห่ง อยู่ในเขตบ้านยาง และบ้านร้องเสือเต้น
ถัดขึ้นไปตามลำน้ำกกมีเมืองโบราณอีกสามแห่ง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
ตั้งแต่เขตบ้านห้องฮี ถึงบ้านทุ่งกอ ล้วนอยู่ทางฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำกก
ทางด้านเหนือของเมืองเชียงรายฝั่งเหนือของแม่น้ำกก พบเมืองโบราณตั้งอยู่บริเวณเนินเขาใกล้
ๆ กันสามแห่ง ตั้งแต่วัดจอมศักดิ์ขึ้นไปจนถึงบ้านโป่งพระบาทนอก เหนือขึ้นไปในเขตบ้านป่าซางมีเมืองโบราณอยู่บนที่สูงเช่นกัน
แม่น้ำกกไปบรรจบแม่น้ำโขงบริเวณสบกก ใต้เมืองเชียงแสนลงมาเล็กน้อย ในบริเวณนี้มีเมืองเชียงแสนน้อย
หรือเวียงปรักษา
ตั้งอยู่ มีวัดและโบราณสถานอยู่หลายแห่ง
ที่ราบลุ่มเชียงแสน
มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน คือลำน้ำแม่จันไหลผ่านเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปบรรจบลำน้ำแม่ดำ ซึ่งไหลผ่านดอยแม่สะแหลบทางด้านทิศตะวันออก
ผ่านไปในเขตอำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง บริเวณใต้เมืองเชียงแสนเล็กน้อย
มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลจากบริเวณเทือกเขา ซึ่งกั้นเขตแดนไทย - พม่า มีดอยที่สำคัญคือ
ดอยตุง ดอยจ้อง และดอยเวา
บริเวณส่วนยอดของที่ราบลุ่มเชียงแสนคือ อำเภอแม่สาย มีแม่น้ำสายไหลจากทิศตะวันออกมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า
แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำรวก ซึ่งไหลมาจากทางเหนือของพม่ารวมกันเป็น ลำน้ำรวกไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ไปบรรจบแม่น้ำโขงที่สบรวก
เมืองโบราณที่พบในที่ราบลุ่มนี้จะตั้งอยู่ตามบริเวณที่เป็นขอบคือ ที่อำเภอแม่จัน
พบเมืองโบราณอยู่บนเนินเขาทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอ ในเขตบ้านเวียงหวายแห่งหนึ่ง
และเวียงมโนราห์
ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างออกไปประมาณ ๙ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่งในเขตบ้านหนองครก
และบ้านกิ่วพร้าว เมืองเชียงแสน
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปทางสบรวกมีเมืองเวียงเชียงเมี่ยง
และเมืองเวียงแก้ว
หรือเวียงสีทวง
ตั้งอยู่บนเนินเขา
ในเขตอำเภอแม่สาย มีเวียงพางคำ
ตั้งอยู่บนเนินเขาดอยเวา
ริมแม่น้ำแม่สาย เป็นเมืองใหญ่ มีร่องรอยเมืองขนาดเล็กอยู่บนที่ราบลุ่มในเขตบ้านเหมือด
อยู่ทางตอนใต้ของเวียงพางดำอีกแห่งหนึ่ง
ที่ราบลุ่มเชียงแสน เป็นบริเวณที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ระยะสังคมล่าสัตว์ต่อเนื่องมาระยะสังคมเกษตรกรรม พบเครื่องมือหินกะเทาะและหินขัดเป็นจำนวนมากที่ดอยดำ
ริมแม่น้ำดำ ห่างจากเมืองเชียงแสนไปทางใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร
หลักฐานทางโบราณคดีสมัยสังคมเกษตรกรรม พบในเขตเมืองเชียงแสน ตามที่ลาดไหล่ดอย
เชิงดอย และที่ราบรอบ ๆ เมืองเชียงแสน เช่น ที่ราบเชิงดอยจอมกิตติ
ที่ราบเชิงดอยจำปี
และที่ราบเชิงดอยคำ
โดยพบปะปนกับเครื่องมือหินระยะสังคมล่าสัตว์ บริเวณเชิงดอยคำพบขวานหินขัด
และเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบบนชั้นดิน เหนือชั้นที่มีเครื่องมือหินกะเทาะ
ยังไม่พบหลักฐานการหล่อโลหะในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่เชื่อว่าน่าจะมีมนุษย์อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย
ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และได้พัฒนามาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และยกฐานะเป็นบ้านเมืองประมาณ
พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
เชียงรายในยุคต่าง
ๆ จากตำนานพื้นเมือง
จากพงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลาน ใช้ตัวอักษรธรรมล้านนา ตำนานเมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน
หรือที่บางแห่งเรียกว่า ตำนานโยนก นครราชธานีไชยบุรีศรีช้างแสง เช่นตำนาน
สิงหนวัติ์ เป็นต้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโยนก จึงเรียกชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า
พงศาวดารโยนก
ตามแนวความคิดเรื่องถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยว่า น่าจะอยู่ทางประเทศจีนมาก่อน
เมื่อชนชาติไทยตั้งนครหลวงอยู่ที่แคว้นเมา และหนองแสนั้น พื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงราย
เป็นที่อยู่ของชาวป่าชาวเขาพวกหนึ่งเรียกว่า ลัวะ
หรือละว้า และชาวป่าพวกอื่น
ๆ อาศัยอยู่
ประมาณปี พ.ศ.๕๐ ชาวไทยเผ่าหนึ่งเรียกว่า อ้ายลาว
ตั้งอาณาจักรอยู่ที่นครปา ถูกจีนรุกรานจึงได้อพยพมาตั้งอยู่ที่เมือง เล็ม
เชียงรุ้ง เชียงลาว ริมแม่น้ำสาย ตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองสืบต่อกันมา จนถึงสมัย
ลวจังกราช จึงได้มาตั้งเมืองที่ตำบลยางเสี่ยงใกล้ดอยตุง เรียกว่า เชียงลาว
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ มีชนชาวไทยอพยพลงมาจากจีนตอนใต้มาสมทบที่เมืองเชียงลาวมากขึ้น
จึงได้ขยายเมืองให้กว้างขวางขึ้นเรียกว่า แคว้นยุงซาง
หรือยวนเซียง มีอาณาเขตแผ่ไปถึงหลายเมือง เช่น เวียงกาหลง (ปัจจุบันคือเวียงป่าเป้า)
เวียงฮ่อ ดงเวียง เวียงวัง แจ้ห่ม เชียงแสน
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขอมมีอำนาจมาถึงอาณาจักรโคตรบูรณ์ จึงได้ยกกำลังเข้ามาตีแคว้นยวนเซียง
แล้วตั้งเมืองขึ้นที่เชียงแสนเรียกว่า สุวรรณโคมคำ
ณ บริเวณที่เคยเป็นเมืองเชียงลาว ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง และได้สร้างเมืองอุมงคเสลา
ที่เมืองฝาง ต้นลำน้ำกก อาณาเขตสุวรรณโคมคำของขอมในครั้งนั้น ทางด้านทิศเหนือจดเมืองหนองแส
ทิศใต้จดฝายนาค (แก่งลี่ผี) ทิศตะวันออกถึงแม่น้ำแตก (แม่น้ำแท้) ทิศตะวันตกถึงแม่น้ำตู
ชนชาติไทยทนการปกครองของขอมไม่ได้ จึงได้อพยพจากเมืองสุวรรณโคมคำไปตั้งเมืองอุมงคเสลา
ทิ้งให้เมืองสุวรรณโคมคำเป็นเมืองร้าง
ต่อมาพระเจ้าสิงหนวัติ
โอรสพระเจ้าเทวกาล กษัตริย์เมืองหนองแส (ตาลีฟู) หลานพ่อขุนบรม
ได้อพยพชาวไทยประมาณแสนครัว จากเมืองหนองแส
มาสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร
ต่อมาเรียกว่า นาเคนทร์นคร นาคบุรี โยนกนาคนคร และโยนกนครหลวง พระเจ้าสิงหนวัติครองราชย์อยู่ได้
๕๒ ปี ก็สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๓๖๗ ได้มีกษัตริย์สืบต่อกันมาอีกหลายองค์ ที่สำคัญคือ พระเจ้าอชุตราช ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้สร้างมหาสถูปดอยตุง
เจ้ามังรายนราช เป็นองค์ที่ ๔ มีโอรสสององค์ คือ พระองค์เชือง กับพระองค์ไชยนารายณ์
พระองค์เชืองเป็นองค์ที่ ๕ ส่วนองค์ไชยนารายณ์ ได้ไปสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลดอนมูล
ริมแม่น้ำลาว (แม่น้ำกาหลง) เรียกว่า มืองไชยนารายณ์
พระองค์ไชยนารายณ์ ได้มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกหลายองค์จนถึงพระยาเรือนแก้ว
พระสัสสุระ พระเจ้าพรหมมหาราช
ส่วนพระองค์เชืองได้มีกษัตริย์สืบต่อมาอีก จนถึงองค์ที่ ๒๗ มีพระนามว่า พระองค์พังคราช ขอมซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุมงคเสลา ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองโยนกนาคนคร พระองค์พังคราชหนีไปอยู่เมืองเวียงสีทวง
ตั้งแต่นั้นมาไทยก็เป็นเมืองขึ้นของขอม
ในปี พ.ศ.๑๔๓๖ พระมเหสีพระองค์พังคราช ประสูติเจ้าพรหมกุมาร ต่อมาเมื่อเจ้าพรหมกุมารมีพระชนมายุได้
๑๗ พรรษา ทรงมีความแกล้วกล้าในการรบพุ่ง ได้ขับไล่ขอมออกไปได้สำเร็จ เมื่อปี
พ.ศ.๑๔๗๙ แล้วเชิญพระราชบิดาครองเมืองโยนกนาคนครต่อไป เจ้าพรหมกุมารตีเมืองอุมงคเสลา
ซึ่งมีอำนาจอยู่ถึง ๕๐๐ ปีได้ แล้วขับไล่ขอมไปจนถึงเมืองหริภุญไชย และเมืองกำแพงเพชร
พระองค์ได้สร้างเมืองอุมงคเสลาขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า เมืองไชยปราการ
ในปี พ.ศ.๑๔๗๙ นั้นเอง ส่วนเมืองโยนกนาคนครก็เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า เวียงไชยบุรี
พระเจ้าพรหมสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๕๓๙ พระเจ้าไชยศิริ
ราชโอรสได้ครองราชย์ต่อมา จนถึงประมาณ ปี พ.ศ.๑๖๘๒ ก็เสียเมืองให้แก่ขุนเสือขวัญฟ้า
พระเจ้าไชยศิริ จึงให้เผาเมืองไชยปราการ แล้วอพยพผู้คนมาทางใต้ไปตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง
ส่วนราชวงศ์จังกราช ลาวจก
หรือลาวจง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ ได้ขยายอำนาจลงมาถึงเมืองเงินยาง รวบรวมบ้านเป็นปึกแผ่นแล้วให้ชื่อเมืองว่า
หิรัญนครเงินยาง
มีกษัตริย์สืบต่อกันมาอีกหลายองค์
จากตำนานหรือพงศาวดารดังกล่าวมาแล้ว เป็นเหตุการณ์ก่อนสร้างเมืองเชียงราย
เมื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว พอจะแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ได้ดังนี้
ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
มีเรื่องปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก เริ่มตั้งแต่มีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า
เทวะกาละ
ครองราชย์ในเมืองนครไทยเทศ อันมีเมือง ราชคหะ เป็นเมืองหลวง มีราชโอรส ๓๐
องค์ ราชธิดา ๓๐ องค์ ราชโอรสองค์แรกมีพระนามว่า พิมพิสารราชกุมาร ราชโอรสองค์ที่สองมีพระนามว่าสิงหนวัติกุมาร
ราชโอรสและราชธิดาให้จับคู่กันแล้วแยกย้ายไปตั้งบ้านเมืองอยู่ในที่ต่าง ๆ
เจ้าสิงหนวัติกุมารได้แบ่งเอาราชสมบัติพร้อมไพร่พลแสนหนึ่ง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
เดินทางไปได้สี่เดือน ก็มาถึงเขตเมืองสุวรรณโคมคำเก่าที่ร้างไปแล้ว เห็นสถานที่กว้างขวางไม่ไกลจากแม่น้ำใหญ่
แม่น้ำฮาม และแม่น้ำน้อยมากนัก อยู่ห่างจากแม่น้ำโขง ๗,๐๐๐ วา จึงสร้างเมืองขึ้น
ณ ที่นั้นให้ชื่อว่า เมืองพันธุ์สิงหนวัตินคร
แล้วให้บรรดาพวกขุนหลวงมิลักขุทั้งหลายที่อยู่ในอาณาบริเวณนั้นมาสวามิภักดิ์
ต่อมาอีกสามปี เมืองอุมงคเสลานคร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศหรดีต้นแม่กก อยู่ห่างออกไปเป็นระยะเดินทางสี่วัน
เป็นที่อยู่ของชาวขอม เป็นเมืองที่สร้างมาพร้อมกับเมืองสุวรรณโคมคำ ยังไม่เคยเป็นเมืองร้างเลย
พระยาขอมเจ้าเมืองยังไม่ยอมเข้ามาสวามิภักดิ์ เจ้าสิงหนวัติจึงยกกำลังไปตีเอาเมืองอุมงคเสลานครได้
หลังจากตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินครได้ห้าปี สามารถปราบได้ล้านนาไทยมาอยู่ในอำนาจทั้งหมด
บรรดาเสนาอำมาตย์ พราหมณ์อาจารย์ไพรไทยทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันราชาภิเษกเจ้าสิงหนวัติราชกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์
ขนานนามว่า เจ้าพระยาสิงหนวัติราชกษัตริย์ มีราชอาณาเขตดังนี้
ทิศตะวันออก จดแม่น้ำโขง (ขรนที) ทิศตะวันตกจดดอยรูปช้างชุนน้ำย้อยมาหาแม่คง
ทิศเหนือจดเขื่อนหนองแส ทิศใต้จดรัฐลวะ
พระเจ้าสิงหนวัติครองราชย์ได้ ๑๐๒ ปี พระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีก
๔๕ องค์ ถึงองค์ที่ ๔๖ คือ พระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงล่มสลาย คือเมืองได้ถล่มลงไปกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
มีผู้สันนิษฐานว่า หนองน้ำดังกล่าวอาจจะเป็นทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน
เวียงหนองล่ม ในเขตอำเภอแม่จัน หรือไม่ก็เป็นหนองหลวงในเขตอำเภอเวียงชัย
หลังจากเมืองล่มสลายแล้ว ชาวเมืองจึงได้พร้อมใจกันยกขุนลัง
ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ได้มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงชื่อ
เวียงปรึกษา
(เวียงเปิ๊กษา) มีผู้ปกครองสืบต่อกันมา ๑๕ คน เป็นระยะเวลา ๙๓ ปี
ยุคหิรัญนครเงินยาง
ในยุคดังกล่าวถึง ลวจังกราช หรือ ลวจักกราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ลาว สันนิษฐานว่า
เดิมมีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว บริเวณดอยตุง และแม่น้ำสาย ต่อมาได้ขยายมาสู่เมืองเงินยาง หรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่า เมืองเงินยางอยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน
หรืออาจจะเป็นบริเวณเดียวกัน เมืองเงินยางมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า หิรัญนคร
ลวจังกราช (ลาวจง) มีราชบุตร ๓ องค์ คือ ลาวครอบ ลาวช้าง และลาวเก๊าแก้วมาเมือง
ลาวจังกราช ได้ส่งราชบุตรออกไปสร้างบ้านแปงเมืองคือ ให้ลาวครอบไปครองเมืองเชียงของ
ลาวช้างไปครองเมืองยอง ส่วนลาวเก๊าแก้วมาเมืองให้ครองเมืองเชียงลาวสืบต่อมา
กษัตริย์ราชวงศ์ลาวมีสืบต่อมาถึง ๒๔ องค์ ในระหว่างนั้นหลายองค์ได้มีการส่งราชบูตรของตนออกไปครองเมืองต่าง
ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ เมืองล้านช้าง เมืองน่าน
ฯลฯ เป็นการกระจายราชวงศ์ลาวไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ
มาถึงสมัย ลาวเมง
กษัตริย์องค์ที่ ๒๔ ของราชวงศ์ลาว ลาวเมืองผู้เป็นพระราชธิดาได้สู่ขอ
นางอั่วมิ่งจอมเมือง
หรือนางเทพคำขยาย
ธิดาท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าครองนครรุ้ง อันเป็นเมืองใหญ่ในแคว้นสิบสองปันนามาอภิเษกเป็นชายาของเจ้าลาวเมง
มีราชบุตร เมื่อปี พ.ศ.๑๗๘๒ ทรงพระนามว่า เจ้ามังราย
ยุคเชียงราย
(มังราย)
พญามังราย ขึ้นครองราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๒ เมื่อพระชนมายุ
๒๐ พรรษา ได้ทำการรวบรวมเมืองต่าง ๆ เข้ามาให้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน โดยวิธีการให้เจ้านครทั้งหลายไปถวายบังคม
เมืองใดขัดขืนไม่ยอมมาอ่อนน้อม ก็จะแต่งกองทัพออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ
เมืองไร เมืองเชียงคำ แล้วปลดเจ้าเมืองออก จากนั้นได้แต่งขุนนางให้อยู่รั้งเมืองเหล่านั้น
เมื่อรวบรวมเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว คิดปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงได้ลงไปอยู่ที่เมืองเวียงเต่ารอง
เผอิญช้างมงคลของพญามังรายได้พลัดไป พญามังรายเสด็จตามช้างไปถึงยอดจอมทอง ริมแม่น้ำกก เห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิดีจึงให้สร้างพระนครไว้ ณ ที่นั้นก่อปราการโอบล้อมดอยจอมทองไว้กลางเมือง
ขนานนามว่า เมืองเชียงราย
เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๕ แล้วมาประทับอยู่ที่เชียงราย และได้ไปตีเมืองเชียงตุงในปีเดียวกัน อีกสามปีต่อมาได้ไปประทับอยู่ที่เมืองฝาง
(เวียงไชยปราการ) โดยประสงค์จะขยายอาณาเขตไปทางล้านนา หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี
ก็ได้ยกกองทัพไปตีเมืองผาแดง เมืองเชียงของ
อีก ๖ ปีต่อมา ได้ยกทัพไปตีเมืองเชิง
หลังจากนั้นก็ตีได้เมืองหริภุญไชย
จากพระยายีบา ตีได้เมืองเขลางค์นคร
จากพระยาเบิกซึ่งเป็นน้องพระยายีบา
ในปี พ.ศ.๑๘๑๘ พญามังรายได้ให้ขุนเครื่องราชบุตรองค์ใหญ่มาครองเมืองเชียงราย
ต่อมาขุนเครื่องคิดกบฏ จึงถูกลวงมาฆ่าตายที่เมืองฝาง แล้วพญามังรายก็กลับไปครองเมืองเชียงราย
อีกครั้งหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๑๘๑๙ พญามังรายยกกองทัพไปตีเมืองพะเยา
พระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยาต้อนรับอย่างไมตรี แล้วยกตำบลปากน้ำให้ ปฏิญาณเป็นมิตรกัน
ต่อมาได้ยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี
พระยาหงสาวดีสุทธโสม ยกนางปายโค พระธิดาให้เป็นราชธิดา เพื่อขอเป็นพระราชไมตรี
ต่อมาได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามอังวะ
เจ้าเมืองอังวะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นพระราชไมตรีด้วย ในครั้งนั้นได้นำเอาช่างต่าง
ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างคำ ช่องทอง กลับมาด้วย พร้อมทั้งได้บำรุงพระพุทธศาสนา
โดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ
ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ และขนามนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
พระองค์ได้มาประทับที่เมืองเชียงใหม่จนสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๐ พระยาไชยสงคราม
(ขุนคราม) ราชโอรสได้ครองเมืองเชียงรายต่อมา และให้พระยาแสนภู
โอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๑ ต่อมาใน ปี พ.ศ.๑๘๗๐ พระยาไชยสงครามทิวงคต
พระยาแสนภูได้ให้เจ้าคำฟู
ราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ ตัวพระยาแสนภูเองกลับมาครองเมืองเชียงราย ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๑๘๗๑ พระยาแสนภูประสงค์จะสร้างพระนครใหม่ ได้สำรวจหาได้เมืองเก่าริมแม่น้ำโขง
คือเมืองโบราณเวียงไชยบุรี จึงให้สร้างนครใหม่ขึ้น ณ ที่นั้น โดยเอาแม่น้ำโขงเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันออก
ขนานนามเมืองใหม่ว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน
คนในระยะหลังต่อมาเรียกว่า เชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอเชียงแสนปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองปรากฏอยู่
พระยาแสนภู ครองเมืองเชียงแสนอยู่ได้ ๗ ปี ก็ทิวงคต พระยาคำฟู ราชโอรสที่ครองอยู่เชียงใหม่
ได้ครองเมืองเชียงแสนต่อมา และได้ให้ท้ายผายุราชโอรส
ไปครองเมืองเชียงใหม่แทน เมื่อพระยาคำฟูทิวงคต ท้ายผายู ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่ได้ให้ท้าวกือนา
(ตื้อนา) ราชโอรส มาครองเมืองเชียงรายแทน นับแต่นั้นมาเมืองเชียงราย รวมทั้งเมืองเชียงแสนด้วย
ก็เริ่มมีฐานะคล้ายเมืองลูกหลวง โดยมีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง มีเชื้อพระวงศ์ปกครองสืบต่อมาอีกหลายองค์
สุดท้ายในสมัยพระยากลม
เป็นเจ้าเมืองเชียงแสนพระเจ้าเมกุฏครองเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.๒๑๐๑ เมืองเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนเสียให้แก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
อาณาจักรล้านนาจึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ตั้งแต่นั้นมา มีบางครั้งก็เป็นอิสระ
บางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เป็นระยะประมาณ ๒๐๐ ปี จนถึงสมัยกรุงธนบุรี
ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต
ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกกองทัพออกไปขับไล่พม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ
แต่ยังไม่สำเร็จเด็ดขาด ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ แล้วให้เผาเมืองเสีย
กวาดต้อนผู้คน ประมาณ ๒๓,๐๐๐ ครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นห้าส่วน ให้ไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
นครลำปาง นครน่าน เมืองเวียงจันทน์ และกรุงเทพ ฯ ในส่วนที่มากรุงเทพ ฯ มีบางส่วนให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี
และมีราชบุรี เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายขึ้นมาใหม่
เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ ป้องกันภัยจากพม่าโดยมีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่
พระเจ้าโหตรประเทศ
เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ให้ญาติพี่น้อง มีเจ้าหลวงธรรมลังกาเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย
เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสามเจ้าพูเกี๋ยงเป็นพระยาราชบุตร
มีราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองขึ้นของพม่า พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมืองสี่เมืองคือ
เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ ๑,๐๐๐ ครอบครัว นำมาสร้างบ้านเมือง
ได้มีการสร้างกำแพงเมืองเพิ่มเติมจากของเก่าสมัยพญามังราย ให้เป็นเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต
มีสะดือเมืองอยู่ที่วัดจันทโลก (วัดกลางเวียง) ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่มีชื่อว่า
เมืองรัตตนติงสาวภิวนบุรี การปกครองเมืองเชียงรายในสมัยนี้เป็นยุคที่เรียกว่า
เจ้าขัน ๕ ใบ ซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้าเจ็ดตน
ที่ได้รับแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์
นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพ ฯ ว่า ชาวพม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง
ประมาณ ๓๐๐ ครอบครัว อพยพมาอยู่ที่เมืองเชียงแสน ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย
จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าว ให้ถอยออกไปจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงราย
และนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๗ เจ้าอินทรไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่
ได้เกณฑ์กำลังจากนครเชียงใหม่ นครลำปาง เมืองลำพูน จำนวน ๔,๕๐๐ คน ยกจากเชียงใหม่มาที่เชียงราย
และเชียงแสน ไล่ต้อนพวกดังกล่าวออกไปจากเชียงแสน ทำให้เชียงแสนเป็นเมืองร้างอีกครั้งหนึ่ง
จนถึง ปี พ.ศ.๒๔๒๓ จึงได้ให้เจ้าอินต๊ะบุตรเจ้าบุญมา
เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน เป็นหัวหน้า นำราษฎรชาวลำพูนและเชียงใหม่ ประมาณ ๑,๕๐๐
ครอบครัว ขึ้นไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองเชียงแสน โดยได้ตั้งถิ่นฐานทำกิน อยู่ตามลำแม่น้ำคำ
ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง ในเขตประเทศลาดในปัจจุบัน
ต่อมาเจ้าอินต๊ะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงแสน
มีเจ้าเมืองบริเวณหัวเมือง ๕ หัวเมือง พระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง พระยารัตนเขดต์ เจ้าเมืองเชียงราย พระยาราชเดชดำรง
เจ้าเมืองเชียงแสน และพระยาจิตวงศ์วรยศรังษี เจ้าเมืองเชียงของ
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีสหเทพ (เส็ง
วิริยสิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพใหม่ เมืองใหญ่มีเก๊าสนามหลวงเป็นศูนย์กลางจัดให้มีแคว่นแก่บ้าน
(กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน) แต่ละแคว่นขึ้นกับเมือง เรียกผู้ปกครองเมืองว่า เจ้าเมือง
เมืองขึ้นกับบริเวณ เรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า ข้าหลวงบริเวณ
ข้าหลวงบริเวณขึ้นกับเก๊าสนามหลวง ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ มีความว่า
"แต่เดิมเมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้
อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัด เรียกว่า
จังหวัดพายัพภาคเหนือ
ต่อมาเมืองเหล่านี้เจริญขึ้น สมควรเลื่อนการปกครองขึ้นให้สมกับราชการ และความเจริญในท้องถิ่น
จึงให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ
อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวา
เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ
เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพ ฯ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพภาคเหนือ
เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย"
|