|
จังหวัดชลบุรี
จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีชายฝั่งทะเลยาวตลอดด้านตะวันตก
ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ยาวประมาณ ๑๕๗ กิโลเมตร จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง
คือด้านบนกว้าง ส่วนด้านล่างยาวแคบขนานไปกับชายฝั่งตั้งแต่อำเภอเมือง ฯ อำเภอศรีราชา
อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ ลักษณะชายฝั่งมีรูปร่างเป็นอ่าวโค้งครึ่งวงกลม
จำนวนสี่อ่าว มีพื้นที่จังหวัดประมาณ ๔,๓๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๗๒๗,๐๐๐
ไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของจังหวัดในภาคตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอท่าใหม่
จังหวัดจันทบุรี กิ่งอำเภอวังจันทร์และอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง กิ่งอำเภอวังจันทร์ อำเภอแกลง
อำเภอบ้านค่ายและอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
มีลักษณะภูมิประเทศที่แบ่งเป็นลักษณะต่าง ๆ ได้ดังนี้
ที่ราบสูงและเนินเขา
มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๖๔ ของพื้นที่จังหวัด พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดในเขตอำเภอบ้านบึง
อำเภอพนัสนิคม อำเภอหนองใหญ่ อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ และอำเภอบ่อทอง
เป็นบริเวณที่ติดต่อจากชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีความสูงประมณ ๕๐
- ๑๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
ที่ราบชายฝั่งทะเล
ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ถึงอำเภอสัตหีบ ประกอบด้วยที่ราบแคบ ๆ ชายฝั่งทะเล
มีภูเขาลูกเล็ก ๆ สลับเป็นบางตอน ลักษณะชายฝั่งเป็นหาดโคลนในเขตอำเภอเมือง
ฯ ซึ่งเกิดจากการพัดพาตะกอนมาทับถมของแม่น้ำบางปะกง มีโคลนทับถมติดต่อกันไปในทะเลประมาณ
๒ กิโลเมตร
บริเวณก้นอ่าวเป็นที่ตั้งของจังหวัด ปลายสุดของอ่าวมีภูมิประเทศเป็นแหลมได้แก่
แหลมสามมุขและแหลมแท่น
พื้นที่ระหว่างแหลมทั้งสองดังกล่าวมีลักษณะเป็นอ่าวตื้น มีการทับถมของตะกอนทรายกว้าง
๕๐๐ เมตร อันเป็นที่ตั้งของชายหาดบางแสน
ระหว่างแหลมฉบังกับแหลมสามมุข
มีอ่าวเล็ก ๆ ใกล้แหลมฉบังคือ อ่าวไผ่และอ่าวอุดม
ในเขตอำเภอศรีราชา ชายฝั่งทะเลในช่วงนี้มีภูเขาติดชายทะเล ไม่มีตะกอน ท้องทะเลลึกจากชายฝั่ง
๑ - ๕ เมตร และห่างฝั่ง ๒ กิโลเมตร ท้องทะเลลึกถึง ๒๐ เมตร ชายฝั่งทะเลบริเวณนี้มีความเหมาะสมสำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
ระหว่างแหลมฉบังถึงแหลมพัทยา ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๒๔ กิโลเมตร มีแหลมควานกั้นอยู่ทำให้เกิดอ่าวขึ้นสองอ่าวคือ
อ่าวนาเกลือและอ่าวตาคุ้ม
ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง
พื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดชลบุรีอยู่ติดกับแม่น้ำบางปะกง มีลำน้ำสำคัญคือ
คลองหลวง
ยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอบ่อทอง แล้วไหลผ่านเขตอำเภอพนัสนิคม
อีกสายหนึ่งต้นน้ำอยู่ที่ห้วยใหญ่ อำเภอบ้านบึง ไหลมาบรรจบกันเป็นคลองพานทอง
แล้วไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง ที่ปากคลองพานทอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทำให้พื้นที่ตั้งแต่อำเภอบ้านบึงไปจนถึงอำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม และทิศตะวันออกของอำเภอบ่อทอง
มีลักษณะเป็นที่ราบุล่ม
ที่สูงชันและภูเขา
เป็นเขตที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๐๐ เมตร ขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและทางด้านตะวันออก
ตอนกลางของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านบึง บางส่วนของอำเภอศรีราชา
อำเภอหนองใหญ่ และอำเภอบ่อทอง มีเทือกเขาทอดตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้ กับตะวันตกเฉียงเหนือ
อยู่สามเทือกเขาขนานกัน เทือกเขาในเจตอำเภอศรีราชาเป็นต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ
นอกจากนั้นยังพบหย่อมเทือกเขากระจัดกระจายอยู่ในเขตอำเภอสัตหีบ เทือกเขาสำคัญได้แก่
เขาเขียว - เขาชมพู่ เขาเจ้า เขาเรือแตกและเขาชะอาง ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ภูเขา
ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินทราย เป็นหย่อมเล็ก ๆ กระจายตลอดทั่วทั้งจังหวัด
เกาะ
บริเวณชายฝั่งทะเลชลบุรี มีเกาะอยู่ ๔๖ เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะคราม
เกาะสีชัง และเกาะล้านตามลำดับ
- เกาะสีชัง
อยู่ห่างจากฝั่งอำเภอศรีราชาไปทางตะวันตกประมาณ ๘.๕ กิโลเมตร มีรูปร่างยาว
วางตัวในแนวเหนือ - ใต้ โดยรอบประกอบด้วยเกาะขามใหญ่ เกาะขามน้อย เกาะโปลง
และเกาะร้านดอกไม้ ทางด้านทิศตะวันออกมีเกาะสัมปันยื้อ ทางด้านทิศเหนือและทางด้านทิศใต้มีเกาะยายท้าว
เกาะค้างคาว และเกาะท้ายตาหมื่น เกาะสีชังมีพื้นที่ประมาณ ๖.๕ ตารางกิโลเมตร
ท้องทะเลรอบ ๆ เกาะมีแนวปะการังและหินใต้น้ำ
- เกาะนก
อยู่ทางใต้ของเกาะสีชัง ห่างออกไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตร เป็นเกาะเล็ก ๆ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเกือบทั้งเกาะ
- เกาะล้าน
อยู่ห่างจากชายฝั่งพัทยาประมาณ ๗.๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๕.๓ ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาเกือบทั้งเกาะ มียอดเขาสูงสุดคือเขาใหญ่ สูง ๒๐๕
เมตร
- เกาะสาก
อยู่ทางตอนเหนือของเกาะล้าน มีรูปร่างยาวคล้ายสาก มีพื้นที่ประมาณ ๐.๑ ตารางกิโลเมตร
รอบ ๆ เกาะมีปะการังอยู่ทั่วไป
- เกาะครก
อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะล้าน มีพื้นที่ประมาณ ๐.๐๔ ตารางกิโลเมตร มัสัณฐานด้านข้างคล้ายครก
ชายฝั่งรอบเกาะมีปะการังอยู่เป็นจำนวนมาก
- เกาะเกร็ดแก้ว
อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๕๕๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๐.๓ ตารางกิโลเมตร กว้างประมาณ
๓๐๐ เมตร ยางประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร
- เกาะครามน้อย
อยู่ทางตอนเหนือของเกาะคราม มีพื้นที่ประมาณ ๐.๑ ตารางกิโลเมตร รอบเกาะเต็มไปด้วยโขดหินจำนวนมาก
- เกาะคราม
เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ตารางกิโลเมตร ลักษณะชายฝั่งเว้าแหว่ง
ประกอบด้วยอ่าวและหาดทราย รอบ ๆ เกาะมีกรวดและหินใต้น้ำมาก ภูมิประเทศโดยรอบเป็นเนินเขาเตี้ย
ๆ เช่นเขาตะเคียน เขาสะเดา เขากระทิง และเขาหาดเล็ก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
และอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของกองทัพเรือ
- เกาะอีร้า
อยู่ระหว่างเกาะครามกับเกาะตะเภา มีพื้นที่ประมาณ ๐.๒ ตารางกิโลเมตร บริเวณชายฝั่งทับถมด้วยทรายและหินโดยรอบเกาะ
- เกาะเตาหม้อ
อยู่ทางใต้ของสถานีทหารเรือสัตหีบ มีพื้นที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นเนินเขา
ทางตะวันตกมีการทับถมของทราย และทางใต้มีประการัง
- เกาะพระ
อยู่ทางใต้ของสถานีทหารเรือสัตหีบ มีพื้นที่ประมาณ ๐.๕ ตารางกิโลเมตร
ทางด้านทิศใต้ของเกาะมีปะการังอยู่ทั่วไป
- เกาะอีเลาและเกาะยอ
อยู่ทางใต้ของเกาะเตาหม้อ เกาะอีเลา มีพื้นที่ประมาณ ๐.๕ ตารางกิโลเมตร เกาะยอมีพื้นที่ประมาณ
๐.๒ ตารางกิโลเมตร ชายฝั่งรอบเกาะทั้งสองมีปะการังและสัตว์ทะเลาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
- เกาะหมู
อยยู่ทางทิศตะวันตกของสนามบินน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๐.๒ ตารางกิโลเมตร มีเนินเขาอยู่ตรงกลาง
รอบ ๆ เกาะมีปะการังและหินอยู่โดยรอบ
- เกาะจระเข้
อยู่ทางทิศใต้ของสนามบินน้ำ ชายฝั่งรอบเกาะเป็นทรายและหิน
- เกาะแสมสาร
อยู่ทางทิศใต้ของอ่าวแสมสาร มีพื้นที่ประมาณ ๔.๒ ตารางกิโลเมตร รูปร่างของเกาะค่อนข้างยาว
ชายฝั่งมีหาดกรวดอยู่แคบ ๆ
- เกาะขาม
อยยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะแสมสาร มีพื้นที่ประมาณ ๐.๒ ตารางกิโลเมตร รอบ ๆ
เกาะมีการทับถมของกรวดและเปลือกหอย
- เกาะแรด
อยู่ทางทิศใต้ของเกาะแสมสาร มีพื้นที่ประมาณ ๐.๗ ตารางกิโลเมตร ชายฝั่งรอบเกาะมีปะการังอยู่เกือบรอบเกาะ
ตอนเหนือของเกาะมีกระโจมไฟตั้งอยู่
- เกาะดาวเหนือ
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะแสมสาร มีพื้นที่ประมาณ ๐.๔ ตารางกิโลเมตร
- เกาะจวง
อยู่ทางทิศใต้ของเกาะแสมสาร มีพื้นที่ประมาณ ๑.๒ ตารางกิโลเมตร ท้องทะเลรอบเกาะลึกมาก
มีการทับถมของหาดกรวด ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะเพียงแห่งเดียว
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติ บนผิวดินส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดในเขตอำเภอพนัสนิคม
และอำเภอบ่อทาง เช่น คลองเชิด คลองใหญ่ คลองหลวง เป็นต้น ซึ่งได้ไหลไปบรรจบกันเป็นคลองพานทองแล้วไหลไปทางทิศตะวันตกไปบรรจบกับแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนั้นมีคลองบางพระ คลองบางละมุง คลองแพร่ง ห้วยชากนอกและห้วยใหญ่เป็นต้น
สำหรับึคลองอื่น ๆ ได้แก่คลองยายดำ คลองบางหัก คลองบางทิว และคลองบางนาง
บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของพื้นที่จังหวัดมีทางน้ำต่าง ๆ เช่น คลองร่ำ คลองระเริง
คลองปลวกแดง และคลองดอกกราย เป็นต้น ไหลมารวมกันเป็นคลองใหญ่ก่อนที่จะไหลมาทางใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองระยอง
นอกจากนี้จาอำเภอเมือง ฯ จนถึงอำเภอสัตหีบ ยังมัทางน้ำสั้น ๆ เล็ก ๆ ไหลลงสู่อ่าวไทยหลายสายเช่น
คลองบางปลาสร้อย คลองบางละมุง คลองห้วยใหญ่ และคลองบางเสร่ เป็นต้น
- แหล่งน้ำธรรมชาติ
ที่สำคัญคือ แม่น้ำ ลำห้วย ลำธาร ลำคลอง ๔๑๒ สาย ใช้งานได้ในฤดูแล้ง ๓๖๘ สาย
มีหนองบึง ๙๔ แห่ง ใช้ได้ในฤดูแล้ง ๔๘ แห่ง มีน้ำพุ น้ำซับ ๑ แห่ง ใช้ได้ในฤดูแล้ง
นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอื่นอีก ๙๔ แห่ง ใช้งานได้ในฤดูแล้ง ๘๘ แห่ง
- แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
เนื่องจากจังหวัดชลบุรีไม่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน จึงต้องมีการสร้างแหล่งเก็บน้ำเช่น
อ่างเก็บน้ำ ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีอ่างเก็บน้ำ ๑๒ อ่าง เก็บน้ำได้ประมาณ
๑๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดคือ อ่างเก็บน้ำบางพระ
อำเภอศรีราชา เก็บน้ำได้ประมาณ ๑๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ยังมีโครงการชลประทานขนาดเล็ก
อีกประมาณ ๔๙ แห่ง
ทรัพยากรป่าไม้
เดิมสภาพป่าไม้ในจังหวัดชลบุรีเคยเป็นป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าชายเลน โดยเฉพาะที่เขาเขียวเคยมีสัตว์ป่าชุกชุม
จังหวัดชลบุรีมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่ ๙ ป่า เป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๔๕๐ ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ ๙๐๖,๐๐๐ ไร่ แต่จากข้อมูล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ พบว่าเหลือพื้นที่ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่ประมาณ
๒๔๖ ตารางกิโลเมตร ประมาณร้อยละ ๕.๖ ของพื้นที่ป่าสงวน
- ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางละมุง
อยู่ในเขตอำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลตะเคียนเตี้ย
ตำบลเขาไม้แก้ว ตำบลโป่ง และตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง และในเขตตำบลสัตหีบ
อำเภอสัตหีบ ปัจจุบันไม่มีสภาพป่าเหลืออยู่ ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
ก่อนหน้านี้ได้ประกาศเป็นป่าคุ้มครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕
- ป่าสงวน ป่าเขาเขียว
อยู่ในเขตอำเภอศรีราชา อำเภอบ้านบึง และอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๕๖,๐๐๐
ไร่ ในเขตตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ตำบลหนองซ้ำซาก ตำบลบึง ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง
และตำบลหนองรี ตำบลหนองข้าวตอก อำเภอเมือง ฯ มีสภาพป่าสมบูรณ์เกือบทั้งหมด
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
- ป่าสงวน ฯ ป่าท่าบุญมี - บ่อทอง
อยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคม และอำเภอบ่อทอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๑,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลท่าบุญมี
ตำบลสระสี่เหลี่ยม ตำบลหนองปรือ ตำบลหนองเหียว และตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม
และตำบลเกษตรสุวรรณ อำเภอบ่อทอง มีสภาพป่าที่เสื่อมโทรม เหลือพื้นที่ภูเขาบางส่วนที่ยังมีสภาพป่าเหลืออยู่
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
- ป่าสงวน ฯ ป่าคลองตะเคียน
อยู่ในเขตอำเภอบ่อทอง มีพื้นที่ประมาณ ๓๗๙,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลบ่อทอง ตำบลพลวงทอง
ตำบลเกษตรสุวรรณ ตำบลธาตุทองและตำบลกวางทอง สภาพป่าเหลืออยู่แต่พื้นที่บนภูเขา
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
- ป่าสงวน ฯ ป่าแดง - ชุมชนกลาง
อยู่ในเขตอำเภอหนองใหญ่ และอำเภอบ้านบึง มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๑,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลคลองกิ่ว
อำเภอบ้านบึง และตำบลคลองพลุ ตำบลห้างสูง ตำบลหนองเสือช้าง ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
- ป่าสงวน ฯ ป่าเขาชมพู่ อยู่ในเขตอำเภอบ้านบึง
และอำเภอศรีราชา มีพื้นที่ประมาณ ๒๙,๐๐๐ ไร่ ในเขตตำบลหนองกิ่ว อำเภอบ้านบึง
และตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
- ป่าสงวน ฯ ป่าเขาพรุ
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอศรีราชา มีพื้นที่ประมาณ ๕,๕๐๐ ไร่ ในเขตตำบลเหมือง
อำเภอเมือง ฯ และตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา มีสภาพป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
- ป่าสงวน ฯ ป่าเขาหินดาด - เขาไผ่
อยู่ในเขตอำเภอบ้านบึง มีพื้นที่ ๒,๑๒๕ ไร่ ในเขตตำบลหนองอิรุณ สภาพป่าเหลือเพียงพื้นที่บนภูเขา
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑
- ป่าสงวน ฯ ป่าเรือแตก
อยู่ในเขตอำเภอบ้านบึง และอำเภอศรีราชา มีพื้นที่ ๑,๕๐๐ ไร่ สภาพป่าเหลือเพียงพื้นที่บนภูเขา
ได้ประกาศเป็นป่าสงวน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
- ป่าชายเลน
มีเหลืออยู่ประมาณ ๙๐๐ ไร่ อยู่บริเวณคลองตำหรุถึงคลองเกลือ ในเขตอำเภอเมือง
ฯ มีลักษณะเป็นหย่อมเล็ก ๆ มีความสมบูรณ์ของป่าในระดับต่ำมาก
ประชากร
ลักษณะโครงสร้างประชากร ชาติพันธุ์ ภาษา
ศาสนา ประชากรที่ตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิมได้แก่
ชาวจีน และชาวอินเดีย ซึ่งมีความชำนาญในการเดินเรือมาแต่โบราณ ชนสองกลุ่มดังกล่าวได้อาศัยอยู่ปะปนกับชนพื้นเมืองมานาน
นับศตวรรษจนผสมกลมกลืนเป็นชนกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีชาวลาวได้เข้ามาตั้งรกรากในสมัยรัตนโกสินทร์
แถบอำเภอพนัสนิคม มีขนบประเพณีและแนวทางดำเนินชีวิตในทางพระพุทธศาสนา และประเพณีจีน
มีวิถีชีวิตที่เห็นชัดเจนในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับทะเล และการเกษตร
- ภาษา
ที่ใช้เป็นภาษาไทยกลาง
- ศาสนา
ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายประชากรจากเขตมีนบุรี
และหนองจอก กรุงเทพ ฯ เข้าไปในจังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์
และศาสนาซิกข์ จากต่างประเทศที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองพัทยาด้วย
อาชีพ
จากที่ตั้งของจังหวัดชลบุรี เอื้ออำนวยให้เกิดอาชีพต่าง ๆ ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
พาณิชกรรม และบริการต่าง ๆ ทำให้ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น
ๆ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างจังหวัดเข้ามามาก ทั้งในภาคอุตสาหกรรม
เกษตรกรรม และบริการ
- จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ
๑๘๒๒,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๖๔ ของพื้นที่จังหวัด เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่มากที่สุด
รองลงมาคือ ปลูกไม้ยืนต้น ทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์
- การเพาะปลูก
ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นพืชเศรษฐกิจใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาช่วย
มันสัมปะหลัง
ปีหนึ่ง ๆ ทำรายได้หลายร้อยล้านบาท ปลูกได้ทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอเกาะสีชัง
ปลูกมากในอำเภอบางละมุง อำเภอพนัสนิคม อำเภอศรีราชา และอำเภอบ่อทอง ในปี พ.ศ.๒๕๔๐/๔๑
มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นประมาณ ๒๒๙,๐๐๐ ไร่
ข้าว
เป็นข้าวนาปี เป็นการปลูกแบบนาดำประมาณร้อยละ ๘๐ และแบบนาหว่านร้อยละ ๒๐ ไม่มีการปลูกข้าวนาปรัง
เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำ และมีการส่งเสริมให้ปลูกผลไม้แทน
อ้อย
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ ๒๑๕,๐๐๐ ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๗,๓๐๐
ไร่ ผลผลิตประมาณ ๑๕๗๑,๐๐๐ ตัน มีพื้นที่ปลูกทั่วไปทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอสัตหีบและอำเภอเกาะสีชัง
อำเภอที่ปลูกมากคือ อำเภอบางละมุง รองลงไปคือ อำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง อำเภอหนองใหญ่
อ้อยปลูกครั้งเดียวให้ผลผลิตเป็นอ้อยต่อได้สามครั้ง ระยะเวลาปลูกและการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับกำหนดเวลาปิด
- เปิด หีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลเป็นสำคัญ
สัปปะรด
มีพื้นที่ปลูกในปี พ.ศ.๒๕๔๐ อยู่ประมาณ ๓๓,๐๐๐ ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๗,๕๐๐
กก./ ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ ๒๔๗,๐๐๐ ตัน ผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดส่งขายต่างประเทศประมาณกว่า
๒๐ ประเทศ ตลาดสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส
และญี่ปุ่น
- การเลี้ยงสัตว์
เป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญของประชากร ปีหนึ่ง ๆ สามารถทำรายได้หลายพันล้านบาท
มีการเลี้ยงไก่เนื้อมากที่สุดในประเทศ รองลงมาคือ การเลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ สุกร
โค กระบือ
สุกร เป็ด ไก่ มีการเลี้ยงมากในเชิงพาณิชย์ และยังมีการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมได้แก่
ช้าง ม้า ห่าน แพะ แกะ มีการเลี้ยงสัตว์ทุกอำเภอ อำเภอที่เลี้ยงสัตว์มากได้แก่
อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ่อทอง อำเภอพานทอง อำเภอบ้านบึง อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง
การเลี้ยงสุกร จังหวัดชลบุรีเป็นแหล่งเลี้ยงสุกรที่สำคัญจังหวัดหนึ่ง
มีผู้นิยมเลี้ยงกันมากและเลี้ยงเป็นธุรกิจการค้า ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดกลาง
เพราะนอกจากเลี้ยงเพื่อการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว ร้อยละ ๘๐ ยังส่งไปจำหน่ายในตลาดกรุงเทพ
ฯ
การเลี้ยงไก่เนื้อ
ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบประกันราคามากกว่าเลี้ยงแบบอิสระเนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน
แต่ราคาประกันจะต่ำกว่าราคาตลาดประมาณกิโลกรัมละ ๓ - ๔ บาท การเลี้ยงแบบนี้เกษตรกรจะต้องปลูกโรงเรือนและจัดหาอุปกรณ์การเลี้ยงเอง
บริษัทจะจัดหาลูกไก่ อาหาร ยา และแนะนำด้านวิชาการแก่เกษตรกร เมื่อไก่โตได้ขนาดบริษัทจะมาจับไก่เอง
แล้วหักต้นทุนที่บริษัทจัดหามาให้ ที่เหลือเป็นรายได้ของเกษตรกร
การเลี้ยงโค
มีทั้งโคเนื้อ และโคนม มีจำนวนประมาณ ๒๖,๐๐๐ ตัว อำเภอที่เลี้ยงมากที่สุดคือ
อำเภอบางละมุง รองลงมาคือ อำเภอพนัสนิคม
- การประมง
แบ่งออกเป็นสามประเภทคือ ประมงทะเล (ประมงน้ำเค็ม) ประมงน้ำจืด และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
(ประมงน้ำกร่อย)
ประมงน้ำเค็ม
เป็นอาชีพสำคัญของประชากรจังหวัดชลบุรี แหล่งทำประมงน้ำเค็มคือบริเวณห้าอำเภอ
ที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายทะเลคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง
อำเภอสัตหีบ และอำเภอเกาะสีชัง มีท่าเทียบเรือของชาวประมงอยู่เป็นจำนวนมาก
ประมงน้ำจืด
เป็นอาชีพเสริมอาชีพหนึ่งสามารถทำรายได้ให้แก่ประชากรใน ๙ อำเภอ อำเภอที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดคือ
อำเภอพานทอง จับได้ประมาณ ๒๑,๒๕๗ ตัน รองลงมาคือ อำเภอพนัสนิคม จับได้ประมาณ
๗,๑๐๐ ตัน
- อุตสาหกรรม
โรงงานส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่หนาแน่นในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านบึง และอำเภอศรีราชา
อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุดได้แก่ อุตสาหกรรมด้านปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
โรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตโลหะ รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า
และอีเลคทรอนิค อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก และยาง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง
และผลิตภัณฑ์จากไม้ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ชลบุรีมีโรงงาน ๑๓๐ แห่ง เป็นเงินลงทุนประมาณ
๒๐,๓๐๐ ล้านบาท
นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
อยู่ในเขตตำบลทุ่งศาลา อำเภอศรีราชา มีพื้นที่ประมาณ ๓,๕๖๐ ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป
อุตสาหกรรมส่งออก เขตพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณูปโภคและบริการอื่น
ๆ ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ๑๑๖ ราย เงินลงทุนประมาณ ๗๒,๐๐๐ ล้านบาท มีการจ้างงานประมาณ
๔๙,๐๐๐ คน ดำเนินการโดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อริน)
ตั้งอยู่ที่อ่าวอุดม อำเภอศรีราชา มีพื้นที่ประมาณ ๓,๑๘๐ ไร่ แบ่งเขตต่าง
ๆ เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ๔๔ ราย เงินลงทุนประมาณ
๒๗,๓๐๐ ล้านบาท จ้างงานประมาณ ๔,๕๐๐ บาท
นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง
ตั้งอยู่ที่ กม.๕๗ ถนนบางนา-ตราด มีพื้นที่ประมาณ ๓,๔๑๐ ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป
เขตพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณูปโภคและบริการ ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ที่ดิน
เงินลงทุนประมาณ ๓๘,๖๔๐ ล้านบาท จ้างงานประมาณ ๑๘,๙๐๐ คน
นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
มีพื้นที่ประมาณ ๓,๖๐๐ ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย
พื้นที่สาธารณูปโภคและบริการ
นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง
อยู่ในเขตตำบลหนองค้อ อำเภอศรีราชา มีพื้นที่ประมาณ ๒๑๐ ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป
เขตพาณิชยกรรมและที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณูปโภค บริการอื่น ๆ
ท่าเรือพาณิชยกรรมแแหลมฉบัง
อยู่ในเขตตำบลทุ่งศาลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง มีพื้นที่ประมาณ
๖,๓๔๐ ไร่ เพื่อรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้าและเรือสินค้า กองเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าเทียบที่ท่าเรือกรุงเทพ
ฯ ได้ มีพื้นที่ในทะเล ๕๐ ตารางกิโลเมตร
โครงการท่าเรือน้ำลึกสีชัง
โครงสร้างพื้นฐาน ถังเก็บสินค้าเหลวความจุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ลานกองตู้คอนเทนเนอร์นำเข้า
ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก ตู้คอนเทนเนอร์เปล่า และสินค้าห้องเย็น มีพื้นที่รวมทั้งหมด
๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร สามารถกองตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ตู้ คลังสินค้าหีบห่อมีพื้นที่
๔๐,๐๐๐ ตารางเมตร คลังสินค้าเปิดมีพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร อาคารทำการศูนย์ควบคุมทางน้ำ
ศูนย์วางแผนการจัดการและลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ อาคารที่ทำการเจ้าหน้าที่ศุลกากร
๑ สรรพสามิต อาคารซ่อมบำรุงไฟฟ้า น้ำ และเครื่องอุปโภค ระบบสื่อสารโทรคมนาคม
และสาธารณูปโภคอื่น ๆ เครื่องอำนวยความสะดวกหลัก เรือลาก และดันเรือใหญ่เข้าเทียบท่า
แขนต่อท่อ (Loading Arm) ระหว่างท่ากับเรือระหว่างขนถ่ายสินค้าเหลว ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าและเครื่องจักรอื่น
ๆ
การบริหารการปกครอง
อำเภอและกิ่งอำเภอ
- อำเภอเมือง ฯ
เดิมชื่อว่าอำเภอบางปลาสร้อย มาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
ลักษณธภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบเนินเขาติดชายฝั่งทะเล เหมาะแก่การเพาะปลูก
การทำนาเกลือ และการประมง
- อำเภอพนัสนิคม
เดิมเป็นเมืองโบราณ มีกำแพงเมืองและวัตถุโบราณเหลืออยู่ เคยเป็นเมืองรุ่งเรืองมาก่อน
ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ยกเป็นหัวเมืองเรียกว่า เมืองพนัสนิคม และในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับจังหวัดชลบุรีจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดจากด้านทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงใต้
และทิศใต้เป็นเนินสูงมีป่าเขาเหมาะแก่การทำไร่อ้อย ทำนา และปลูกมันสัมปะหลัง
- อำเภอศรีราชา
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลาด มีภูเขาเล็ก
ๆ กระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่เหมาะสำหรับทำการเกษตร มีที่ราบลุ่มทำนาได้บางส่วน
- อำเภอบางละมุง
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบต่ำ มีภูเขาเล็ก ๆ กระจายอยู่หลายแห่ง
เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ ด้านที่อยู่ติดกับทะเลอ่าวไทยมีชายหาดพัทยา และหาดนาจอมเทียนที่สวยงาม
มีเกาะต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไปคือ เกาะล้าน เกาะไผ่ และเกาะสาก
- อำเภอบ้านบึง
มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีส่วนน้อยเป็นภูเขาเหมาะแก่การประกอบอาชีพการเกษตร
- อำเภอพานทอง
เดิมชื่ออำเภอท่าตะกูด เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพานทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา
และที่ดอนสำหรับปลูกพืชล้มลุก
- อำเภอสัตหีบ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขามีภูเขาเล็ก ๆ กระจายอยู่หลายแห่ง และอยู่ติดชายทะเลเหมาะแก่การปลูกพืชไร่
และทำการประมง
- อำเภอบ่อทอง
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงทางด้านทิศตะวันออก มีภูเขา เนินดินและป่าไม้
เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร
- อำเภอหนองใหญ่
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับเนินสูง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่อ้อย และทำสวนยางพารา
- อำเภอเกาะสีชัง
เป็นเกาะใหญ่อยู่ตรงข้ามอำเภอศรีราชา เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอเมือง ฯ ต่อมาได้โดอนมาขึ้นกับอำเภอศรีราชา
และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีเกาะน้อยใหญ่อยู่ในเขต ๘ เกาะ
ภูมิประเทศเป็นโขดหินมีที่ราบเป็นส่วนน้อย
- กิ่งอำเภอเกาะจันทร์
เดิมอยู่ในการปกครองของอำเภอพนัสนิคม แยกออกมาเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
พื้นที่เป็นที่ราบสลับเนินเขา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน
เมืองพัทยา
การบริหารราชการเมืองพัทยาเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
พ.ศ.๒๕๒๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วยสภาเมืองพัทยา และปลัดเมืองพัทยา
สภาเมืองพัทยา ประกอบด้วยสมาชิกสองประเภทคือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน
มีจำนวน ๙ คน และสมาชิกจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน
๘ คน สภาเมืองพัทยาจะเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นนายกเมืองพัทยา มีหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาตามนโยบายของสภาเมืองพัทยา
ปลัดเมืองพัทยา มาจากการแต่งตั้งโดยสภาเมืองพัทยา ตามที่นายกเมืองพัทยาเสนอ
จากผู้ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาอย่างน้อยสองคน แต่ไม่เกินสามคน
|
|