มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถาน
โบราณสถานส่วนใหญ่ในจังหวัดชลบุรีดเป็นวัดในพระพุทธศาสนาได้แก่ วัดเขาบางทราย
วัดใหญ่ อินทารามวรวิหาร วัดสวนตาล วัดบางพระวรวิหาร วัดโบสถ์ วัดอ่างศิลา
วัดบางเป้ง เป็นต้น
สระสี่เหลี่ยม
อยู่ในเขตตำบลสวระสี่เหลี่ยม อำเภอพนัสนิคม มีลักษณะเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้างด้านละ ๑๐ เมตร ขอบสระเป็นศิลาแลง เป็นสระน้ำที่มีมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า
เป็นอารยธรรม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๙ ในสมัยทวารวดี ถึงสมัยลพบุรี
ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเจ้าพ่อหลายเจ้าพ่อเช่น เจ้าพ่อหลงคง
เจ้าพ่อหลวง และฮึมอีก เมื่อถึงฤดูยทรงเจ้า บรรดาคนทรงจะมาร่วมชุมนุมทำพิธีทรงเจ้าที่บริเวณสระสี่เหลี่ยมนี้เป็นประจำ
ชาวบ้านเรียกว่า สระพระรถ
ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
ตึกมหาราชและตำหนักราชินี
ตั้งอยู่ริมทะเลด้านตะวันตกของตำบลอ่างศิลา สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อใช้เป็นที่พักฟื้นของผู้ป่วย ต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แล้วพระราชทานนามตึกหลังใหญ่ว่า
ตึกมหาราชและตึกหลังเล็กว่าตึกราชินี
แหล่งโบราณสถานคดี
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดชลบุรีได้แก่ ถ้ำเขาชะอางห้ายอด โคกพนมดี
โคกระกา โคกกระเหรี่ยง เมืองพระรถ เมืองพรกแร่ เมืองศรีพโล รายละเอียดได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีใต้น้ำ
จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่เกาะครามและเกาะรางเกวียน ได้พบโบราณวัตถุจำพวกเครื่องสังคโลกสุโขทัย
เครื่องถ้วยจีนและเวียดนามเป็นจำนวนมาก เครื่องถ้วยไทยที่พบมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๙ - ๒๒ มีจาน ชาม ถ้วย กระปุก ส่วนเครื่องถ้วยจีนก็มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
มีทั้งเครื่องถ้วยสามสีสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องถ้วยจากหลงฉวน มณฑลเจ้อเจียง
ได้แก่ ชาม กระปุก เคลือบสีเขียวไข่กา เครื่องถ้วยอันนัม นอกจากนี้ยังพบเหรียญจีน
ปืนใหญ่ ก้อนแร่ งาช้าง หินบด เต้าปูนสำริด
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้มีการสำรวจพื้นที่อ่าวไทยทางตะวันตกของเกาะสีชัง ตามคำบอกเล่าของชาวประมง
พบแหล่งเรือจมสองบริเวณด้วยกันให้ชื่อว่า แหล่งเรือสีชัง ๑ และแหล่งเรือสีชัง
๒ จมอยู่ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร
- แหล่งเรือสีชัง ๑
อยู่ห่างจากเกาะสีชังไปวทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร พบเปลือกเรือและไม้โครงสร้างเรือโผล่อยู่เหนือพื้นทราย
พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจได้แก่เครื่องถ้วยลายครามจีนคุณภาพดี เตาเชิงกรานแบบอยุธยา
หม้อหุงต้ม อ่างขนาดต่าง ๆ กาน้ำแบบมอระกู่ ชิ้นส่วนเคื่องเงินพื้นสีดำลอยลายมังกร
จุกไม้ปิดฝาไห ฯลฯ
- แหล่งเรือสีชัง ๒
ตัวเรือและบริเวณรอบ ๆ และหลักฐานที่โผล่เหนือพื้นทรายถูกอวนลากของชาวสประมงกวาดติดไปหมด
วัตถุที่พบเป็นเครื่องสังคโลกลายปลา ลายพันธุ์พฤกษาจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
และเครื่องเคลือบเซราค่อนของแหล่งเตาหลงฉวน และพบเหรียญจีนสมัยราชวงศ์หมิง
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
- แหล่งเรือสีชัง ๓
พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ จมอยู่ใต้ทะเลในระดับความลึกประมาณ ๒๔ เมตร โบราณวัตถุที่พบในเรือส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาประเภทไหสี
หูเคลือบสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี
รวมทั้งไหปากกว้างขนาดย่อม และขวดปากแบนขนาดเล็ก ไหดังกล่าวเป็นภาชนะบรรจุสินค้าประเภทไข่
ยางสน (ผงชัน) เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในมณฑลทางใต้ของจีนและในเวียดนามมีพบอยู่บ้าง
นอกจากนี้กรมศิลปากรได้ร่วมกับกองทัพเรือขุดค้นศึกษาแหล่งเรือจมที่พัทยา พบซากเรือและระวางสินค้าถึงเจ็ดระวาง
สินค้าสำคัญในเรือมีก้อนตะกั่วทรงปิรามิด หรือตะกั่วนม รวมทั้งภาชนะดินเผาหลายประเภท
แหล่งประวัติศาตร์
และย่านประวัติศาตร์
แหล่งประวัติศาสตร์ คือ สถานที่เกิดเหตุการณ์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราว
หรือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ส่วนย่านประวัติสาตร์คือ ย่านชุมชนที่อยู่อาศัย
หรือย่านค้าขายที่เคยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมาแต่อดีต
สะพานหัวค่าย
หรือสะพานกลป้อมค่าย ในปัจจุบันเป็นสถานที่พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
นำไพร่พลมาตั้งค่ายที่พักแรมอยู่บริเวณนี้ เมื่อครั้งกลับมาจากระยองเพื่อจัดการเรื่องนายทองอยู่
นกเล็ก ก่อนไปจันทบุรีเพื่อรวบรวมกำลังพลกลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า
ท่าเกวียน อยู่ในเขตตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง ฯ อยู่ระหว่างวัดใหญ่อินทาราม
และวัดต้นสน เคยเป็นสถานที่ที่บรรดาชาวไร่ชาวสวน นำผลผลิตของตนบรรทุกเกวียนมาขาย
บรรดาเกวียนและโคกระบือที่บรรทุกผลผลิตจะมาพักรวมกันอยู่ในบริเวณนี้ จึงเรียกว่า
ท่าเกวียน
หน้าเก๋ง หรือศาลเจ้าเก๋ง
อยู่ริมถนนวชิรปราการฝั่งตะวันออก ระหว่างศาลเจ้าพ่อสาครกับเชิงสะพานหัวค่าย
ในสมัยที่ยังไม่เลิกโรงบ่อนเบี้ย มีโรงบ่อนเบี้ยตั้งอยู่ตรงข้ามศาลเจ้าเก๋ง
ลงไปทางทะเลประมาณ ๑๐๐ เมตร นายอากรบ่อนเบี้ยจะจัดให้มีการละเล่น เช่น งิ้ว
ลิเก ให้ประชาชนชมทุกวัน เพื่อเรียกคนให้มาเที่ยวและเล่นการพนัน มีพ่อค้าแม่ค้านำของมาขาย
ในที่สุดก็กลายเป็นตลาด ต่อมาเมื่อยกเลิกอากรบ่อนเบี้ยแล้ว โรงบ่อนจึงกลายเป็นโรงยาฝิ่น
และมีการสร้างโรงภาพยนต์ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งบันเทิงของชาวเมืองชลบุรีในอดีต
บ้านอ่างศิลา เป็นหมู่บ้านชายทะเลอยู่ระหว่างเขาสามมุขกับบางปลาสร้อย
เป็นชุมชนที่มีความสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะชายทะเลของอ่างศิลาได้เป็่นที่จอดพักเรือสินค้าในฤดูมรสุม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังสร้างสะพานหินยื่นลงไปในทะเล
เพื่ออำนวยความสะดวกในการจอดพักเรือสินค้า
บ้านหัวถนน
อยู่ในเขตตำบลหัวถนน อำเภอพนัสนิคม มีเรืองเล่าสืบกันมาวา ที่บ้านหัวถนนมีถนนสายหนึ่งเชื่อมระหว่างตำบลหมอนนาง
กับตำบลสระสี่เหลี่ยม ถนนสายนี้ พระรถ เคยนำไก่ไปตีพนันน
และไปพักให้น้ำไก่ที่สระสี่เหลี่ยม ต่อมาลาวอาสาปากน้ำได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน
ทำมาหากินด้วยการทำนาทำให้ถนนดังกล่าวถูกทำลายไป เหลือเพียงแนวถนนเป็นเนินสูง
เพราะส่วนที่อยู่ในบริเวณวัดหัวถนน และบริเวณหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า
หัวถนน
ท่าบุญมี หมู่บ้านท่าบุญมี
เป็นหมู่บ้านเก่ามีขนาดใหญ่ ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ได้อาศัยน้ำจากคลองหลวงในการดำรงชีพ
ส่วนการคมนาคมทางบก ซึ่งใช้เกวียนเป็นพาหนะ ก็ต้องเดินทางผ่านคลองหลวง จุดรวมของกองคาราวานเกวียนลากไม้คือ
ท่าน้ำที่อยู่ติดกับบ้านของแม่เฒ่าบุญมี ซึ่งเป็๋นคนใจบุญ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้เดินทางทั้งเรื่องที่พัก
น้ำดื่มและข้าวปลาอาหาร ผู้คนจึงมักเรียกติดปากว่า ท่าแม่เฒ่าบุญมี ต่อมาได้กลายเป็นท่าบุญมี
บ้านท่าตะกูด
อยู่ในเขตอำเภอพานทอง เป็นย่านชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต เพราะเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองพนัสนิคม
เป็นศูนย์รวมของการค้าขาย และการขนส่งผลไม้และพืชผลการเกษตรต่าง ๆ ลงเรือไปขายที่กรุงเทพ
ฯ และมืองอื่น ๆ โดยใช้เส้นทางจากท่าตะกูดไปตามลำน้ำพานทอง ไปออกแม่น้ำบางปะกง
ออกอ่าวไทยไปยังกรุงเทพ ฯ
บ้านท่ากระดาน (อยู่ในเขตตำบลโคกเพลาะ
อำเภอพนัสนิคม) บริเวณนี้เดิมเป็นท่าเกวียนสำหรับเข็นซุงลงคลองของชาวบ้าน
ในหลาย ๆ หมู่บ้าน การขนซุงต้องเข็นลงคลอง เพื่อนำซุงไปเลื่อยเป็นไม้กระดาน
จึงเรียกคลองนี้ว่า คลองกระดาน ต่อมากลายเป็นชื่อหมู่บ้านท่ากระดาน
บ้านท่าข้าม
อยู่ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม เดิมไม่มีถนนหนทางเป็นป่าอ้อ ป่าแขม และมีร่องน้ำลึกเรียกว่า
ลำซวด มีที่ตื้นอยู่เฉพาะบริเวณบ้านท่าข้ามเท่านั้น ผู้ที่เดินทางจะต้องเดินข้ามลำซวด
บริเวณตรงนี้เท่านั้นเพราะน้ำตื้นพอข้ามได้ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า ท่าข้าม
แหล่งอุตสาหกรรม
แหล่งผลิตเกลือ
อยู่ในเขตตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมือง ในอดีตจังหวัดชลบุรีมีแหล่งทำนาเกลืออยู่สองแห่งคือ
ที่ตำบลเสม็ด และตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมือง ฯ
แหล่งผลิตน้ำปลา
อยู่ในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี และเขตเทศบาลตำบลแสมสูง มีโรงงานขนาดใหญ่ผลิตน้ำปลาและน้ำซอส
ออกจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แหล่งผลิตกะปิ
อยู่ในเขตตำบลมะขามหย่ง ตำบลบ้านสวน
แหล่งผลิตน้ำตาล
มีทั้งน้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลทรายขาว แหล่งผลิตอยู่ในเขตตำบลหนองซาก ตำบลบ้านบึง
ตำบลหนองอีรุณ ตำบลหนองไผ่แก้ว
แหล่งผลิตมันสำปะหลัง
อยู่ในเขตตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง ตำบลบ้านสวน ตำบลหนองรี ตำบลเหมือง ตำบลห้วยกะปิ
อำเภอเมือง ฯ การผลิตมีหลายรูปแบบ ทั้งมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง
แหล่งผลิตไม้แปรรูป
ในอดีตชลบุรีมีโรงงานผลิตไม้แปรรูปอยู่ที่ตำบลสศรีราชา อำเภอศรีราชา คือ บริษัทป่าไม้ศรีราชา
ปัจจุบันคือ บริษัทศรีมหาราชา จำกัด
แหล่งผลิตหินแกะสลัก
อยู่ในเขตตำบลอ่างศิลา และแหลมแท่น ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง ฯ มีอยู่ประมาณ
๕๐ ครัวเรือน ผลิตภัณฑ์หินแกะสลักได้แก่ ครกโม่ ในเสมา ลูกนิมิตร ป้ายสุสาน
และรูปสัตว์ต่าง ๆ
สถาปัตยกรรมดีเด่น
สถาปัตยกรรมดีเด่น หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่ทรงคุณค่าในทางศิลปสถาปัตยกรรมที่สืบทอดกันมา และศิลปสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ในจังหวัดชลบุรีส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างในพระพุทธศานาได้แก่ พระอุโบสถวัดใหญ่อินทารามวรวิหาร
หอพระพุทธศิหิงค์ ฯ หอพระไตรปิฎก วัดใต้ต้นลาน พระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางค์
พระอุโบสถวัดญาณสังวรราม ฯ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรพิพัฒน์ พระพุทธมณฑป ภปร.
สก. เป็นต้น ซึ่งจะได้นำเสนอในมรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาลาเทศบาทชลบุรี
อยู่ในเขตตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง ฯ เดิมเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด
สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
ชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นอาคารขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยา ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่น
ส่วนบนของมุขก่ออิฐเป็นแผงยกขึ้นไปสูงเท่าความสูงของหลังคา ตอนบนทำเป็นซุ้มโค้ง
แบบตะวันตก ที่เรียกว่ามงกุฎ มีเสาหลอกลดหลั่นกันไป หัวเสาประดิษฐ์เป็นรูปหม้อน้ำแบบตะวันตก
ส่วนกลางใต้ซุ้มโค้งมีรูปสัญญลักษณ์ของจังหวัดชลบุรี
อาคารสามัญศึกษาจังหวัด
เดิมเป็นที่ตั้งศาลจังหวัด สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจออมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยา ส่วนหน้าของอาคารยกสูงมีลักษณะเป็นมงกุฎ
ตรงกลางมีสัญญลักษณ์ตราแผ่นดิน มีเสาหลอกขนาดเล็ก ลดหลั่นกันทั้งสองข้าง เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมตะวันตก
ตึกพระพันวสา
ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
มีทั้งส่วนที่เป็นสองชั้นและชั้นเดียว หลังคาเป็นแบบผสมผสานคือ หลังคาทรงปั้นหยา
และแบบหน้าจั่วตัดมุม หลังคายกสูง ชั้นบนและชั้นล่างมีส่วนที่เป็นมุขยื่นและระเบียงลายลูกมะหวด
มีการตกแต่งด้วยช่องระบายอากาศใต้ชายคา มีค้ำยันระหว่างช่วงเสารับกับชายคา
|